โวหารในการเรียงความ

Socail Like & Share

บรรยาย*โวหาร  โวหาร แปลความว่า สำนวน และ บรรยายโวหาร แปลว่า สำนวนที่อธิบายเรื่องราวโดยถี่ถ้วน หมายถึงสำนวนที่เล่าเรื่องยืดยาว ตามความรู้ของผู้แต่ง ตรงข้ามกับสำนวนชนิดที่ว่า บันทึก ซึ่งแปลว่า ย่อ และสำนวนที่แต่งเป็นบรรยายโวหารนั้น มีประเภทดังนี้

๑. การเล่าเรื่องราวต่างๆ  เช่นเล่านิทานซึ่งเล่ากันต่อๆ มา เช่น เรื่องศรีธนญชัย หรือเรื่องนิทานอีสป เป็นต้น
๒. ประวัติต่างๆ เช่น พระราชประวัติ ประวัติบุคคล ประวัติวัตถุ ประวัติสถานที่ และพระราชพงศาวดาร เป็นต้น
๓. ตำนานต่างๆ ซึ่งได้แก่ประวัติแกมนิทาน เช่น ตำนานพระแก้วมรกต เป็นต้น
๔. รายงานหรือจดหมายเหตุ  ที่เล่าถึงการเดินทาง การตรวจสถานที่หรือกิจการอื่นๆ (รายงานหมายถึงข้อความที่เสนอผู้ใหญ่เหนือตน แต่จดหมายเหตุนั้นหมายถึงข้อความที่เล่าเป็นส่วนตัว ตลอดจนจดหมายไปมาถึงกันที่เล่าเรื่องเช่นนี้)

ข้อสำคัญในการแต่งบรรยายโวหารนั้น คือต้องมีความรู้ทั้งทางภาษและ เรื่องราวดี และมีศิลปะในการแต่งดี เช่น แต่งให้เข้าใจง่าย ให้เหมาะสมกับอัธยาศัยคน รู้จักประมาณและกาลเทศะ เช่น แต่งให้เหมาะกับเวลาที่กะให้ ข้อใดไม่ควรเล่าก็งดเสีย หรือเล่าคลุมๆ สั้นๆ พอไม่ให้เสียเค้าเรื่องดังนี้เป็นต้น

อนึ่ง บรรยายโวหารนี้ นอกจากจะแต่งเป็นคำร้อยแก้วตามหัวข้อข้างบนนี้แล้ว ยังใช้แต่งเป็นคำประพันธ์ด้วยเหมือนกัน เนื้อเรื่องที่จะแต่งก็เป็นไปตามหัวข้อข้างบนนี้นั้นเอง โดยมากมักจะใช้บทประพันธ์ง่ายๆ เช่น ร่าย สำหรับกลอนลิลิต และกาพย์ฉบัง สำหรับฉันท์ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อจะเล่าได้ถูกต้องหรือย่อให้สั้นเข้าได้ง่าย ยิ่งเป็นหนังสือกลอนสุภาพสำหรับอ่านเล่นแล้ว ยิ่งมีบรรยาย
………………………………………………………………………………………….*บรรยาย ตรงกับบาลีว่า ปริยาย แปลว่า ข้อความอันรอบคอบ หรือความที่อ้อมค้อม คู่กับคำ นิปฺปริยาย แปลว่าข้อความที่ไม่อ้อมค้อม คือความที่พูดตรงไปตรงมา แต่เฉพาะ บรรยาย ในภาไทยเราทั่วๆ ไป หมายความ อธิบายถี่ถ้วน ดังข้างบนนี้
………………………………………………………………………………………….
โวหารเป็นพื้นเรื่องทีเดียว เช่นคำกลอนอ่านเล่นบางตอน ดังเรื่องพระอภัยมณีต่อไปนี้

“อุศเรนเอนเอกเขนกสนอง         ตามทำนององอาจไม่ปรารถนา
เราก็รู้ว่าท่านเจ้ามารยา        ที่เรามาหมายเชือดเอาเลือดเนื้อ
ไม่สมนึกศึกพลั้งลงครั้งนี้        จะกลับดีด้วยศัตรูอดสูเหลือ
เราก็ชายหมายมาดว่าชาติเชื้อ    ไม่เอื้อเฟื้อฝากตัวไม่กลัวตาย
จงห้ำหั่นบั่นเกล้าเราเสียเถิด        จะไปเกิดมาใหม่เหมือนใจหมาย”
เป็นตน

เนื้อเรื่องเช่นนี้ ก็ใช้อยู่ในข้อ ๑ คือเล่าเรื่องนั่นเอง

พรรณนา*โวหาร คือสำนวนที่พูดรำพันถึงสิ่งต่างๆ ตามที่ตนพบเห็นว่าเป็นอย่างไรก็ดี หรือรำพันถึงความรู้สึกของตนหรือของผู้อื่นว่าเป็นอย่าง นั้นอย่างนี้ก็ดี ตามความคิดเห็นของผู้แต่ง ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้ความรู้ค้นคว้าเหตุผลต้นเดิมเท่าใดนัก

พรรณนาโวหารนี้คล้ายคลึงกับบรรยายโวหารที่กล่าวแล้ว แปลกก็แต่ยกเอาท้องเรื่องในบรรยายโวหาร ข้อใดข้อหนึ่งขึ้นพรรณนาให้ละเอียดยิ่งขึ้น ตัวอย่าง เช่น บรรยายโวหารกล่าวไว้เพียงเที่ยวประพาสป่า ก็นำมาพรรณนากล่าวรำพันให้พิสดารยิ่งขึ้น เช่น รำพันถึงชื่อต้นไม้ต่างๆ และรำพันถึงนกและเนื้อ (สัตว์จตุบาท) ในป่านั้นว่ามีลักษณะต่างๆ ฯลฯ ตามแต่จะรำพันให้สนุกสนานน่าฟัง ดังนี้เป็นต้น

ข้อความที่ยกขึ้นกล่าวเป็นพรรณนาโวหารนั้นมักมีดังนี้:-

ก. ยอพระเกียรติ คือพรรณนายกย่องเกียรติคุณต่างๆ เช่น ชมบ้านเมือง ว่ามีปราสาทราชฐานงามสง่า มีป้อมกำแพงแข็งแรง ฯลฯ ชมพระเจ้าแผ่นดินว่าทรงทศพิธราชธรรมมีพระเดชปราบศัตรูราบคาบ ฯลฯ ชมฝีมือช่างต่างๆ ชมรูปลักษณะ เช่นชมความงามของสตรี ฯลฯ เหล่านี้ เป็นต้น

ข. ภูมิประเทศ เช่นรำพันถึงสถานที่อยู่ว่า อยู่ที่ไหน ติดต่อกับอะไร มี
………………………………………………………………………………………….
*คำพรรณนาในภาษาไทยที่กล่าวนี้เพี้ยนกับบาลีอยู่บ้าง  เพราะในบาลี (วณุณนา) มีความหมายเหมือนคำ “อธิบายข้อความ” ด้วย
………………………………………………………………………………………….
สระ มีสวน มีตึกเป็นอย่างไร น่าอยู่เพียงไร ฯลฯ หรือรำพันถึงป่า มีต้นไม้ มีเขา มีลำธาร ฯลฯ หรือรำพันถึงทะเลมีเกาะมีคลื่นมีลม ฯลฯ เหล่านี้เป็นต้น

ค. ความคิดต่างๆ เช่นรำพันถึงความรัก ความโศกเศร้า ความว้าเหว่ใจ ความแค้นใจ ความพยาบาท ฯลฯ หรือรำพันถึงกิจการที่เคยทำมาต่างๆ นานา ฯลฯ หรือวิตกไปถึงกาลข้างหน้าว่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ต่อไป ฯลฯ เหล่านี้เป็นต้น

การแต่งพรรณนาโวหารนี้มีความมุ่งหมายอยู่ ๒ อย่าง คือ

ก. อยากให้ผู้อ่านผู้ฟังเข้าใจข้อที่รำพันนั้นให้ชัดเจน เพื่อช่วยให้เข้าใจ เรื่องราวทราบซึ้งยิ่งขึ้น ซึ่งมักมีในเรื่องร้อยแก้วในพุทธศาสนา เช่นเรื่องมหาชาติกัณฑ์จุลพน มหาพน เป็นต้น และเรื่องร้อยแก้วอ่านเล่น ในปัจจุบันบางตอน

ข. เพื่อเล่นสำนวนให้เพราะพริ้ง – เพื่อให้ผู้อ่านผู้ฟังรู้สึกตื่นเต้นในเชิง ประพันธ์ ซึ่งโดยมากมักเป็นคำประพันธ์ซึ่งกวีโบราณนิยมกัน ข้อนี้ไม่นิยมความจริงเท่าใดนัก เอาแต่ความเพราะพริ้งในเชิงประพันธ์เป็นประมาณ ดังจะยกตัวอย่างมาพอเป็นที่สังเกตต่อไปนี้

ก. ยอพระเกียรติ (โคลง) ปราสาทเสียดยอดเฟื้อย แฝงโพยม เรืองรัตนมาศโสม สุกย้อย ฯลฯ

ข. ภูมิประเทศ (เพลงฉ่อย) นั่นต้นขานางข้างเคียงไข่เน่า แก้วเกดกันเกรากร่างไกร ชมไม้เดือนหกฝนตกใบแตก ยิ่งชมก็ยิ่งแปลกตาไป ฯลฯ

ค. ความคิด (เพลงโคราช) –พี่เคยตักน้ำหาบเอามาอาบด้วยกัน แก้ห่อขมิ้นชันเอามายื่นให้ชู้ พูดกันพลางฝนพลางน้องยังผินหลังให้พี่ถูทา ฯลฯ

เทศนาโวหาร คำ เทศนา นี้เป็นศัพท์เดียวกันกับ เทศนา ที่พระท่านแสดง แต่ เทศนา ชองพระท่านมีความหมายเหมือนปาฐกถาคือท่านจะใช้โวหารใดๆ ก็ได้แล้วแต่จะเหมาะกับเรื่องราวของท่าน

แต่ เทศนาโวหาร ในที่นี้ หมายถึงสำนวนที่ใช้แสดงหรืออธิบายข้อความให้กว้างขวางออกไป โดยเอาเหตุผลหรือหลักฐานมาประกอบตามความรู้ความเห็นของผู้แต่งด้วยความมุ่งหมายจะให้ผู้อ่านผู้ฟังเข้าใจ ความหมายชัดเจนและเพื่อให้เห็นจริงและเชื่อถือตามเป็นข้อใหญ่ ดังนั้นข้อความที่ใช้เทศนาโวหารนี้ จึงมักเป็นข้อปัญหา ความเห็น วิชาและข้อจรรยา หรือสุภาษิต ฯลฯ ซึ่งผู้แสดงต้องการจะให้ผู้อ่านผู้ฟังเชื่อถือ ซึ่งมีลักษณะย่อๆ ดังนี้

ก. จำกัดความและอธิบายความ

ข. พิสูจน์ข้อเท็จจริง เช่น ครูชี้แจงให้ศิษย์เห็นจริง เรื่องน้ำถูกความร้อน ย่อมกลายเป็นไอ ฯลฯ ทางวิทยาศาสตร์ หรือตระลาการชี้แจงข้อเท็จจริงของโจทก์จำเลย ตามหลักฐานพยานเป็นต้น

ค. ชี้แจงเหตุผล เช่นชี้เหตุแห่งยุงชุมว่า เกิดจากปล่อยให้มีน้ำขังอยู่บน พื้นดินมาก และชี้ผลแห่งการดื่มน้ำโสโครกว่าจะเป็นโรคอหิวาต์ โรคบิด และไข้รากสาด เป็นต้น

ฆ. อธิบายคุณและโทษ เช่นชี้แจงคุณของไฟว่า ให้ความอบอุ่น ให้ ประโยชน์ในการหุงต้มอาหาร ฯลฯ หรือชี้แจงโทษว่า ถ้าพลั้งเผลอก็อาจจะไหม้บ้านได้ เป็นต้น

ง. แนะนำสั่งสอน ได้แก่ กล่าวสั่งสอน ให้ผู้อ่านผู้ฟังเชื่อฟัง และ ประพฤติตามด้วยอุบายต่างๆ เป็นต้น

หลักสำคัญของการแต่งเทศนาโวหาร ข้อแรกก็คือ ผู้แต่งจะต้องมีความรู้ให้มาก และจะต้องมีศิลปะ คือพูดให้เข้าใจตามความคิดของตัว ทั้งจะต้องล่วงรู้จิตใจของผู้อ่านผู้ฟังว่า เรื่องที่แสดงนั้นจะถูกใจเขาหรือไม่ ดังนี้เป็นต้น

ข้อสังเกต เทศนาโวหารนี้ ถ้าผู้แต่งต้องการจะอธิบายข้อความที่ยากให้ เขาเข้าใจและเห็นจริงด้วย เช่น ข้อ ก. ข. ข้างต้นนี้แล้ว จะต้องแต่งเป็นร้อยแก้ว เพื่อเลือกใช้คำพูดสะดวก แต่ถ้าต้องการจะปลูกศรัทธาให้มีความรักใคร่หรือเชื่อฟังอย่างข้อ ง. ท่านมักแต่งเป็นคำประพันธ์ เพราะเอาความเพราะพริ้งเข้าช่วย แม้แต่สุภาษิตต่างๆ เช่น เวลานํ้ามาฝูงปลากินมด เวลานํ้าลดฝูงมดกินปลา เป็นต้น ท่านก็มักจะผูกให้คล้องจองกันเพื่อจำง่าย

อนึ่ง การเรียงความหรือแต่งเรื่องราวต่างๆ ไม่จำเป็นจะต้องแต่งโวหารใด โวหารหนึ่งในโวหารทั้ง ๓ นี้ จนจบเรื่อง ผู้แต่งอาจจะเลือกแต่งได้ให้เหมาะกับข้อความ เห็นโวหารใดไม่เหมาะจะไม่แต่งก็ได้ โดยมากเรื่องหนึ่งมักจะมีโวหารทั้ง ๓ นี้ปะปนกันไป เช่น ในเรื่องมหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์ทศพร หิมพานต์ มักเป็นบรรยายโวหาร กัณฑ์จุลพน มหาพน นั้น เป็นพรรณนาโวหาร และเทศนาโวหาร มักมีทั่วไป เช่นแหล่หญิงม่ายในทานกัณฑ์ เป็นต้น ทั้งนี้แล้วแต่ผู้แต่งจะเห็นเหมาะ

สาธกโวหาร ยังมีโวหารแทรกเข้ามา เพื่อสนับสนุนโวหาร ทั้งสามที่กล่าวแล้วอีก ๒ โวหาร คือ (๑) สาธกโวหาร และ (๒) อุปมาโวหาร ดังจะนำมาอธิบายต่อไปดังนี้

สาธกโวหาร คำว่า สาธก บาลี แปลว่า ผู้ทำให้สำเร็จ เอาความภาษาไทยว่า ยกตัวอย่าง เช่น สาธกนิทาน หมายความว่า นิทานที่ยกมาเป็นตัวอย่างดังนี้ สาธกโวหาร ทางบาลีว่า โวหารที่ทำให้สำเร็จ ถึงความมุ่งหมายทางภาษาไทยเราก็เป็นเช่นนั้น กล่าวคือ เราแสดงข้อความใดๆ ที่เห็นว่ายากแก่ผู้ฟัง เราจึงยกตัวอย่างหรือหาข้อเปรียบเทียบมาให้เขาฟังง่ายๆ ให้เข้าใจและเชื่อถือ เพื่อให้สำเร็จผลในการแสดงเช่นเดียวกัน

สาธกโวหาร ที่จะยกมาอ้างเพื่อสนับสนุนเรื่องราวของตนจะต้องมีลักษณะ คือเป็นเรื่องฟังเข้าใจง่าย และเป็นที่เชื่อฟังนับถือของผู้ฟังทั่วไป หรือเป็นเรื่องเกี่ยวกับบุคคลที่ผู้ฟังเคารพนับถือ หรือเป็นเรื่องที่จะพิสูจน์ให้เห็นจริงได้ในทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งทำให้ผู้เชื่อถือตามด้วยเหตุผล ซึ่งถ้าจะแยกออกเป็นชนิดก็ได้ดังนี้

ก. ประวัติศาสตร์ เช่น แนะนำผู้ฟังให้ประพฤติอย่างไร ก็ยกเอาประวัติศาสตร์ ตอนที่มีผู้ประพฤติอย่างนั้นและได้รับผลเช่นนั้น มาเล่าให้ฟัง นับว่าเป็นข้อส่งเสริมดีอย่างหนึ่ง

ข. เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่นข่าวหนังสือพิมพ์หรือเหตุการณ์ที่ตนพบเห็นมา ถ้าเป็นเรื่องที่ผู้ฟังรู้ดีอยู่แล้ว ก็นับว่าเป็นตัวอย่างที่เหมาะชนิดหนึ่งเหมือนกัน เพราะผู้ฟังเห็นได้ง่ายและทันควัน

ค. เรื่องนิทานต่างๆ ถ้านิทานที่ยกมานั้นเหมาะกับเรื่องที่อธิบายและมี คติขบขันดี ก็อาจจะทำให้ผู้ฟังจดจำได้ดีอย่างแนบแน่นเหมือนกัน ดังนั้นในคำเทศน์ทางศาสนาท่านจึงชักนิทานชาดกคือเรื่องพระพุทะเจ้าในชาติก่อนมาเป็นตัวอย่างเสมอๆ นับว่าเป็นวิธีที่ดีของการแสดงธรรมทีเดียว เพราะผู้ฟังนับถือพระพุทธเจ้าอยู่แล้ว และก็เป็นธรรมดาที่จะต้องนับถือความประพฤติของท่านด้วย นับว่าเป็นการส่งเสริมศรัทธาของผู้ฟังได้มากมาย

เรื่องสาธกโวหารนี้ โดยมากมักเป็นบรรยายโวหารซึ่ง ผู้แสดงนำมากล่าวไว้ตอนท้ายของเรื่องราวที่เป็นเทศนาโวหาร เช่นตัวอย่างผู้แสดงกล่าวอธิบายถึงความกล้าว่ามีคุณอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วก็ยกตัวอย่างในประวัติศาสตร์ ที่มีเรื่องทำนองนั้น เช่นตอนพระนเรศวรคาบพระแสงดาบปีนค่ายข้าศึก เป็นต้น และถึงท้องเรื่องสาธกโวหารนี้จะเป็นสำนวนบรรยายโวหารก็จริง แต่จะใช้พรรณนาโวหาร หรือเทศนาโวหารบ้างก็ได้ ตามควรแก่เรื่อง ข้อสำคัญก็คือ เป็นเรื่องยกมาเป็นตัวอย่างเพื่อส่งเสริมความเข้าใจความเชื่อถือให้ยิ่งขึ้นเท่านั้น และสาธกโวหารที่ชักมาแทรกท่ามกลางเรื่องก็มี ซึ่งผู้แต่งต้องการจะให้ผู้ฟังเข้าใจเรื่องตอนนั้นๆ ให้แจ่มแจ้ง โดยมากมักจะใช้เป็นเรื่องเปรียบเทียบที่เรียกว่า อุปมาโวหาร ดังจะกล่าวต่อไปนี้

อุปมาโวหาร เรื่องสาธกที่ยกมาเป็นตัวอย่างดังอธิบายมาแล้วข้างต้นนั้น บางเรื่องก็ไม่เหมาะกับข้อความที่แสดงนั้นๆ ดังนั้นท่านจึงเอาข้อ เปรียบเทียบซึ่งเรียกว่า อุปมาโวหาร เข้ามาเป็นสาธกโวหารแทน เพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจในเชิงอุปมา ดังจะกล่าวต่อไปนี้

อุปมาโวหาร คำ อุปมา แปลว่า ข้อเปรียบเทียบ ใช้คู่กับ อุปไมย ซึ่งแปลว่า ข้อความที่ต้องมีข้อเปรียบเทียบ สองศัพท์นี้ใช้เป็นคู่กันเสมอ เพราะตามธรรมดาเราอธิบายข้อความใดๆ ให้เขาเข้าใจไม่ได้ก็จะต้องหาข้อเปรียบเทียบที่เห็นว่าง่ายมาเปรียบเทียบให้ฟัง เช่นเราพูดถึง ใบจำปี ซึ่งจะอธิบายถึงรูปร่างหรือขนาดก็ลำบากจึงยกตัวอย่างว่า คล้ายคลึงกับใบมะม่วง เป็นข้ออุปมา และเมื่อมีข้ออุปมาขึ้นดังนี้ ข้อความที่พูดถึงใบจำปีเบื้องต้น ก็ต้องเรียกว่าข้อ อุปไมย ขึ้นเป็นคู่กัน ดังนั้น ศัพท์ว่า อุปมาโวหาร ในที่นี้ก็หมายความว่าสำนวนเปรียบเทียบนั่นเอง และอุปมาโวหารนี้ย่อมใช้กันมากมายทั้งสำนวนร้อยแก้ว และคำประพันธ์ เพราะเป็นข้อความที่ช่วยให้เข้าใจข้อความเบื้องต้นที่เรียกว่า อุปไมย นั้นชัดเจนดีมาก

ข้ออุปไมยที่จะต้องหาข้ออุปมา มาเปรียบเทียบนั้น โดยธรรมดาต้องเป็นของอธิบายยาก ซึ่งมีลักษณะดังต่อไปนี้

ก. ลักษณะของสิ่งต่างๆ ซึ่งจะอธิบายก็เข้าใจยากอย่างหนึ่ง และอยาก จะให้เป็นของดีหรือเลว ซึ่งจะอธิบายก็เข้าใจยากอย่างหนึ่ง จึงเอาสิ่งที่ผู้ฟังเห็นได้ง่ายมาเปรียบเทียบ เช่น สีผมดำ เหมือนนิล, ตัวดำ เหมือนกา หรือดวงหน้างาม เหมือนดวงจันทร์เพ็ญ ซึ่งทางกวีนิยมว่างาม และหน้าน่ากลัว เหมือนหน้าผี เป็นต้น ซึ่งทำให้ผู้ฟังเข้าใจและเห็นไปด้วยง่าย ตามความนิยม ฯลฯ

ข. อาการของสิ่งต่างๆ เช่น-เขารบว่องไว ดังจักรผัน (ล้อหมุน) องอาจ ดังราชสีห์ ซึ่งทางกวีนับถือกันว่ามีสง่าที่สุด, คนทำบาปทีละน้อยๆ ผลบาปย่อมมากขึ้นโดยไม่รู้สึกตัว เหมือนดินพอกหางหมู เป็นตน

ค. ความรู้สึกต่างๆ เข่น-เจ็บใจ เหมือนเอาหอกมาแทงหัวใจ หรือแสดงความรักลูกเมีย เหมือนดวงตาดวงใจ เป็นต้น

ฆ. ความน่าอายพูดไม่ได้ ก็ใช้ข้อความอื่นๆ มาเปรียบให้ผู้ฟังนึกเอาเอง เช่น บทอัศจรรย์ในคำกลอนเรื่องต่างๆ ฯลฯ

ง. การติชม ที่ต้องการให้เห็นกว้างขวางลึกซึ้ง ก็มักจะหาเรื่องที่เข้าใจง่ายและนิยมกันมาเปรียบเทียบ เช่นแสดงถึงการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของพระเวสสันดร โดยชักเอาแม่น้ำทั้ง ๕ เข้ามาเปรียบเทียบ ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นการส่งเสริมข้ออุปไมยได้อย่างลึกซึ้งทีเดียว

ข้อสำคัญในการใช้อุปมาโวหาร ข้อแรกก็คือมีความรู้เป็นหลักสำคัญ ต่อไปก็ต้องมีศิลป์ในเชิงประพันธ์ และในเชิงเลือกข้ออุปมาให้เหมาะแก่ข้ออุปไมย กล่าวคือ ให้ง่ายและเข้ากันสนิทกับข้ออุปไมย ทั้งจะต้องคะเนให้เป็นที่ถูกใจของผู้ฟังทั่วๆ ไปด้วย เช่นตัวอย่าง (ย่อจากคาถาธรรมบท)

ข้ออุปไมย-ทุกข์ที่เกิดจากประพฤติทุจริต ย่อมตามผู้ประพฤตินั้นไป
ข้ออุปมา-เหมือนล้อเกวียนที่ตามเท้าโคซึ่งลากเกวียนนั้นไป

ดังนี้จะเห็นว่าข้ออุปมาง่ายกว่าข้ออุปไมย เพราะใครๆ ก็เห็นโคลากเกวียนกันแทบทั้งนั้น และมีลักษณะเข้ากันสนิท คือล้อเปรียบกับทุกข์ เท้าโคเปรียบกับผู้ประพฤติทุจริต และอาการที่ล้อเกวียนหมุนตามเท้าโคที่ลากเกวียนไป ก็เปรียบกับความทุกข์ที่ติดตามผู้ประพฤติทุจริตไปอย่างเดียวกัน ดังนี้ เป็นต้น และข้อที่ว่าให้ถูกใจผู้ฟังนั้น ผู้แสดงจะต้องรู้จักกาลเทศะ กล่าวย่อๆ  ก็คือไม่เอาข้ออุปมาที่แสลงใจ เข้ามาอ้าง ซึ่ง อาจจะกลาย เป็นทำคุณบูชาโทษไป ก็ได้ เป็นต้น

ข้อสังเกต ควรหาอุปมาให้ง่าย ซึ่ง ผู้ฟังเข้าใจแจ่มแจ้งดีเป็นไปตามกาล เทศะ เช่นตัวอย่าง ฝรั่งเขาเปรียบของขาวว่าขาว ดังหิมะ แขกว่า ขาว ดัง นํ้านม หรือสังข์ ซึ่งเป็นของที่รู้จักกันทั่วไป ถ้าเราจะเอาสำนวนเช่นนั้นมาเปรียบให้คนไทยฟัง ก็คงจะไม่เข้าใจซึมซาบอย่างเขา ดังนั้นเราควรเปรียบว่าขาวดังสำลี ซึ่งคนไทยรู้ทั่วกันอยู่แล้ว ดังนี้เป็นต้น เว้นไว้แต่เรื่องที่เราแปลของเขามา ซึ่งจำเป็นจะต้องแปลถ้อยคำของเขาตรงไปตรงมานั้นเป็นอีกทางหนึ่ง

อุปมาโวหารเป็นสาธกโวหารทางอ้อม เป็นธรรมดาว่า เมื่อเราอธิบาย เรื่องราวใดๆ ให้เขาฟังไม่ได้ เราจำเป็นต้องหาตัวอย่างมาให้เขาดู เพื่อให้เข้าใจได้ดีขึ้น เช่นพาไปดูของจริงหรือเขียนรูปให้ดู ซึ่งนับ เป็นตัวอย่างดีมาก แต่ที่ทำเช่นนี้ไม่ได้ก็มี บางเรื่องต้องเล่าเรื่องที่เรียกว่า สาธกโวหารให้ฟัง เป็นตัวอย่างว่าผู้ที่ทำอย่างนั้นๆ ได้รับผลมาแล้วเป็นอย่างนั้นๆ เช่นตัวอย่างที่มีมาในประวัติศาสตร์บ้าง ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันตามที่พบปะมาบ้างก็ได้ ทั้งนี้นับว่าเป็นสาธกโวหารโดยตรง เพราะเป็นตัวอย่างที่มีมาเช่นนั้นจริงๆ

แต่ถ้าหาตัวอย่างเช่นนั้นไม่ได้จริงๆ จึงเอาของที่คล้ายคลึงกันมาเปรียบเทียบให้ดู  เช่นต้องการอธิบายเรื่องเสือ แต่เอาแมวมาให้ดูเป็นตัวอย่างเปรียบเทียบ หรือหาเรื่องที่คล้ายคลึงกันมาเล่าเปรียบเทียบเป็นอุปมาโวหารให้ฟัง เช่นเรื่องนิทานเป็นต้น ซึ่งที่จริงก็สำเร็จความประสงค์ของผู้เล่าเหมือนกัน จึงนับเรื่องอุปมาโวหารเหล่านี้เป็นสาธกโวหารทางอ้อม หรือจะว่าเรื่องสาธกโวหารโดยใช้ข้ออุปมาก็ได้

ประโยชน์ของสาธกโวหาร และอุปมาโวหาร มีอย่างเดียวกัน คือส่งเสริม ให้เข้าใจแจ่มแจ้งยิ่งขึ้น ส่งเสริมศรัทธาและความเลื่อมใสให้มากขึ้น ถ้ารู้จักใช้ให้เหมาะกับกาลเทศะดังกล่าวมาแล้ว ก็นับว่าเป็นประโยชน์ในการแต่งเทศนาโวหารมากทีเดียว ดังนั้นเมื่อพระท่านแสดงเทศนาว่าด้วยข้อธรรมะใดๆ ก็ดี ท่านจึงยกสาธกโวหารหรืออุปมาโวหาร ที่เรียกว่าชาดกหรืออดีตนิทานมาอ้างไว้ข้างท้ายโดยมาก เพื่อประโยชน์ข้อนี้ ถ้าครูผู้สอนจรรยาแก่ศิษย์จะยกสาธกโวหารที่เหมาะแก่เรื่องมาเล่าให้ศิษย์ฟังด้วยแล้ว จะเป็นประโยชน์มากทีเดียว ดังจะคัดตัวอย่างมาให้ดูเพื่อยึดเป็นหลักสักเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นคำของสมเด็จพระวันรัตน์วัดป่าแก้ว ผู้พาพระสงฆ์ไปเฝ้าพระนเรศวร เพื่อทูลขอโทษนายทัพนายกอง ซึ่งมีโทษประหารชีวิตตามกฎอัยการศึก กล่าวคือปล่อยให้พระนเรศวรกับพระเอกาทศรถผู้อนุชา เข้าไปรบกับพระมหาอุปราชาในท่ามกลางกองทัพพม่า แต่ลำพังสองพระองค์เท่านั้น ต่อเมื่อทรงชนะข้าศึกแล้วกองทัพไทยจึงตามไปทัน โดยท่านอธิบายเป็นใจความว่า

“ทั้งนี้เป็นบุญบารมีอันยิ่งใหญ่ ที่จะให้โลกเห็นว่าทรงชนะศึก เฉพาะ สองพระองค์พี่น้อง ไม่ต้องอาศัยกำลังรี้พลเลย จึงบันดาลให้รี้พลตามไปไม่ทัน” แล้วท่านชักสาธกโวหารว่า “เหมือนครั้งสมเด็จพระพุทธองค์ประทับ อยู่เหนือบัลลังก์ใต้ต้นมหาโพธิ์ เมื่อพญามารยกพลมหึมามาประจญ พระองค์ก็บันดาลให้เทวดาและพรหม ซึ่งแวดล้อมอยู่ที่นั้นหนีไปหมด เหลืออยู่แต่พระพุทธองค์พระองค์เดียว ซึ่งทรงประจญพญามารและพลแห่งมารให้พ่ายแพ้ไปได้ด้วยพระบารมีปรากฏพระเกียรติคุณมาจนบัดนี้”

ข้อสาธกนี้ ทำให้พระนเรศวรทรงเลื่อมใส เต็มตื้นไปด้วยพระปรีดา ปราโมทย์ ถึงแก่ประทานอภัยโทษแก่นายทัพนายกองทั้งหมด จึงนับว่าเป็นข้อสาธกที่เหมาะแก่กาลเทศะในสมัยนั้น เพราะสมัยนั้นพระราชาย่อมเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นล้นพ้น และทรงบำเพ็ญพระองค์เป็นพระโพธิสัตว์อยู่แล้วเช่นนั้น เมื่อได้ฟังสาธกโวหารอันเหมาะสมกับเรื่องของพระองค์เข้าเช่นนั้นจึงทำให้พระองค์ทรงพระศรัทธาเลื่อมใสอย่างเต็มที่ ทั้งนี้นับว่าเป็นสาธกโวหารที่ดีเรื่องหนึ่งในสมัยโน้น ควรจำไว้เป็นตัวอย่าง

มีเรื่องราวบางเรื่องที่ผู้แต่งต้องการจะแต่งให้สาธกโวหารเป็นเรื่องสำคัญ จึงย่อข้อความเดิมซึ่งเป็นต้นเรื่องไว้พอเป็นเค้าเท่านั้น แล้วแต่งขยายเรื่องสาธกโวหารให้เป็นเรื่องใหญ่โต โดยต้องการให้เรื่องนั้นเด่นเพื่อจะได้เป็นคติต่อไปก็มี หรือเพื่อเป็นการแสดงฝีปาก ในเชิงประพันธ์ก็มี เช่นเรื่องอิลราชคำฉันท์ และเรื่องสามัคคีเภทคำฉันท์ เหล่านี้เป็นต้น

ที่มา:พระยาอุปกิตศิลปสาร