โคลงกลอนเกี่ยวกับปลา

Socail Like & Share

ปลานั้นมีชื่อต่างๆ กัน ตามลักษณะที่คนเรามองเห็น เช่นปลาแก้มช้ำ ก็เพราะตรงแก้มของมันเป็นสีดำเหมือนแก้มช้ำ กวีของเราชมปลาแล้วเปรียบเทียบกับคนรักไว้หลายท่านเหมือนกัน ท่านหนึ่งคือเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ กวีสมัยกรุงศรีอยุธยาซึ่งทรงนิพนธ์เห่ชมปลาไว้ว่าปลาตะเพียน

พิศพรรณปลาว่ายเคล้า        คลึงกัน
ถวิลสุดาดวงจันทร์            แจ่มหน้า
มัศยายังพัวพัน                พิศวาส
ควรฤพรากน้องข้า        ชวนเคล้าคลึงชม

พิศพรรณปลาว่ายเคล้า    คิดถึงเจ้าเศร้าอารมณ์
มัศยายังรู้ชม            สมสาใจไม่พามา
นวลจันทร์เป็นนวลจริง     เจ้างามพริ้งยิ่งนวลปลา
คางเบือนเบือนหน้ามา    ไม่งามเท่าเจ้าเบือนชาย

เพียนทองงามดั่งทอง        ไม่เหมือนน้องห่มตาดพราย
กระแหแหห่างชาย        ดังสายสวาสดิ์คลาดจากสม

แก้มช้ำช้ำใครต้อง        อันแก้มน้องช้ำเพราะชม
ปลาทุกทุกข์อกตรม        เหมือนทุกข์พี่ที่จากนาง

น้ำเงินคือน้ำยวง            ขาวพรายช่วงสีสำอาง
ไม่เทียบเปรียบโฉมนาง        งามเรืองเรื่อเนื้อสองสี

ปลากรายว่ายเคียงคู่            เคล้ากันอยู่ดูงามดี
แต่นางห่างเหินพี่                เห็นปลาเคล้าเศร้าใจจร

ทีนี้มาลองฟังสำนวนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ดูบ้างซิครับว่าคารมไพเราะพอๆ กันหรือไม่

หางไก่ว่ายแหวกว่าย        หางไก่คล้ายไม่มีหงอน
คิดอนงค์องค์เอวอร        ผมประบ่าอ่าเอี่ยมไร

ปลาสร้อยลอยล่องชล        ว่ายเวียนวนปนกันไป
เหมือนสร้อยทรงทรามวัย    ไม่เห็นเจ้าเศร้าบ่วาย

เนื้ออ่อนอ่อนแต่ชื่อ        เนื้อน้องฤาอ่อนทั้งกาย
ใครต้องข้องจิตชาย        ไม่วายนึกตรึกตรึงทรวง

ปลาเสือเหลือที่ตา        เลื่อมแหลมกว่าปลาทั้งปวง
เหมือนตาสุดาดวง        ดูแหลมล้ำขำเพราคม

แมลงภู่คู่เคียงว่าย        เห็นคล้ายคล้ายน่าเชยชม
คิดความยามเมื่อสม        สนิทเคล้าเจ้าเอวบาง

หวีเกศเพศชื่อปลา        คิดสุดาอ่าองค์นาง
หวีเกล้าเจ้าสระสาง        เส้นเกศาสลวยรวยกลิ่นหอม

ชะแวงแฝงฝั่งแนบ        ชะวาดแอบแปบปนปลอม
เหมือนพี่แนบแอบถนอม    จอมสวาทดินาฎบังอร

พิศดูหมู่มัจฉา            ว่ายแหวกมาในสาคร
คะนึงนุชสุดสายสมร        มาด้วยพี่จะดีใจ

เห่ชมปลาตอนหลังนี้เข้าใจกันว่าเป็นพระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

นี้ด้วยด้วยปลาในทัศนของกวี ทีนี้มาดูปลาในทัศนของนักปราชญ์บ้าง เรื่องนี้ก็เห็นจะหนีไม่พ้นคำพังเพยที่เกี่ยวกับปลาซึ่งก็มีอยู่ ๒-๓ คำ

“ปลากระดี่ได้น้ำ” –คำนี้หมายความว่า แสดงกิริยาท่าทางดีใจดีดดิ้นร่าเริงเหมือนฝนตกน้ำไหลใหม่ๆ พวกปลากระดี่พากันดีใจแหวกว่ายทวนน้ำอย่างร่าเริง

“ปลาข้องเดียวกัน” –มีความหมายว่า ปลาซึ่งเก็บไว้ในที่เดียวกัน ถ้าเน่าเสียตัวหนึ่งก็พลอยทำให้ปลาตัวอื่นเน่าไปด้วย เหมือนคนทำงานอยู่ในที่แห่งเดียวกัน คนหนึ่งทำความชั่วคนก็เหมาเอาว่าคนในที่ทำงานนั้นชั่วเหมือนกันหมด

“ปลาหมอตายเพราะปาก” –มีความหมายว่า พูดพล่อยๆ ไปจนตัวเองต้องเป็นอันตราย ทำไมจึงว่าปลาหมอตายเพราะปาก ก็เพราะว่าธรรมดาปลาหมอนั้น ชอบขึ้นมาหายใจทำปากปะหงับๆ ให้คนเห็นว่าอยู่ที่ไหน คนก็เอาแหเหวี่ยงลงไปจับมาเป็นอาหารเสียนั่นเอง

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี