เรื่องของช้างเอราวัณ

Socail Like & Share

ทีนี้จะว่าเรื่องช้างเอราวัณต่อไป ช้างเอราวัณนในหนังสือไตรภูมิว่าช้างนี้ชื่อ ไอยราพรต และว่าไม่ใช่สัตว์เดรัจฉาน เพราะบนสวรรค์สัตว์เดรัจฉานขึ้นไปอยู่ไม่ได้ ช้างไอยราพรตเป็นเทพบุตรองค์หนึ่งชื่อเอราวัณเทพบุตร เมื่อพระอินทร์จะเสด็จไปแห่งใด เอราวัณเทพบุตรก็นิมิตนเป็นช้างเผือกตัวหนึ่งใหญ่นัก โดยสูงได้ ๑,๒๐๐,๐๐๐ วามีหัว ๓๓ หัว หัวน้อยๆ สองหัวอยู่ข้างหัวใหญ่ เพราะฉะนั้นจึงเป็นชุดละ ๓ หัว หัวใหญ่ได้ ๒,๐๐๐ วา หัวถัดเข้าไปทั้งสองข้างหัวละ ๓,๐๐๐ วา ถัดเข้าไปช้างเอราวัณหัวละ ๔,๐๐๐ วา ถัดเข้าอีกหัวละ ๕,๐๐๐ วา และ ๖,๐๐๐ วาตามลำดับ ส่วนหัวใหญ่อยู่ตรงกลางหัวทั้งหลาย ชื่อสุทัศน์ เป็นพระที่นั่งของพระอินทร์ กว้างได้ ๒,๔๐๐,๐๐๐ วา คือกว้างสองเท่าของความสูงทั้งตัว เหนือหัวช้างมีแท่นแก้วอันหนึ่งกว้างได้ ๙๖,๐๐๐ วา มีปราสาทกลางแท่นแก้วสูงได้ ๘,๐๐๐ วา มีราชอาสน์หนา พร้อมด้วยหมอนใหญ่ หมอนน้อย หมอนอิง องค์พระอินทร์สูงได้ ๖,๐๐๐ วา เสด็จประทับ เหนือแท่นแก้ว มีเทพยดาขี่ ๒๒ หัว (ทำไมไม่ขึ้นทั้ง ๓๓ หัวก็ไม่ทราบ อาจจะจดตัวเลข ๓๓ ผิดเป็น ๒๒ ก็ได้) ช้าง ๓๓ หัว แต่ละหัวมีงา ๗ อัน งาแต่ละอันยาวได้ ๔๐๐,๐๐๐ วา งา แต่ละงามีสระได้ ๗ สระ สระแต่ละสระมีกอบัวได้ ๗ กอ บัวแต่ละกอมีดอกได้ ๗ ดอก แต่ละดอกมีกลีบได้ ๗ กลีบ แต่ละกลีบมีนางฟ้ายืนจับระบำ ๗ คน นางแต่ละนางนั้นมีสาวใช้ ๗ คน รวมยอดช้าง ๓๓ หัว มีงาได้ ๒๓๑ งา มีสระได้ ๑๖๑๗ สระ มีกอบัวได้ ๑๑,๓๑๙ กอ ดอกบัวได้ ๗๙1๒๓๓ ดอก กลีบบัวได้ ๕๕๔,๖๓๑ กลีบ นางฟ้าได้ ๓,๘๘๒,๔๑๗ คน และสาวใช้นางระบำหรือนางฟ้าได้ ๒๗,๑๗๖,๙๑๖ คน และในงาช้างเอราวัณนั้นมีสถานที่สำหรับนางระบำและสาวใช้อยู่ โดยกว้าง ๕๐ โยชน์ คิดดูพลเรือนของพระอินทร์ที่อยู่บนงาช้างเอราวัณแล้วเกือบเท่ากับจำนวนพลเมืองของประเทศไทยปัจจุบัน แต่เนื้อที่มีเพียง ๕๐ โยชน์ เห็นจะต้องเบียดเสียดยัดเยียดกันหน่อย แต่อย่าไปเอานิยายอะไรกับจำนวนเลขใน
หนังสือเก่าเลย เพราะต้องการแสดงให้เห็นว่ามีคนมากน่าสนุกสนานเท่านั้นเอง

เรื่องของช้างเอราวัณนี้มีปรากฏในหนังสือเรื่องรามเกียรติ์ฉบับพระราช นิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒ ตอนหักคอช้างเอราวัณ ว่าอินทรชิตแปลงกายเป็นพระอินทร์ และพวกนายและไพร่พลแปลงกายเป็นช้างเอราวัณ และเทพบุตรเทพธิดา กลอนตอนนี้มีว่า

“ให้การุณราชกุมภัณฑ์    เป็นเอราวัณตัวกล้า
สามสิบสามเศียรอลงกา    เศียรหนึ่งเจ็ดงางามงอน

งาหนึ่งเจ็ทสระโกสมภ์        สระหนึ่งมีปทุมเกษร
เจ็ดดอกชูก้านอรชร        กอหนึ่งบานสลอนเจ็ดผกา

ดอกหนึ่งเจ็ดกลีบสุบงกช        กลิ่นรสซาบซ่านนาสา
กลีบหนึ่งมีเทพธิดา            เจ็ทนางกัลยายุพาพาล

แต่ละองค์ทรงโฉมอรชร        รำฟ้อนจำเรียงเสียงหวาน
นางหนึ่งล้วนมีบริวาร            เจ็ทองค์เยาวมาลย์วิไลวรรณ

เผือกผ่องพึงพิศอำไพ        เหมือนช้างเจ้าไตรตรึงษ์ในสวรรค์
มีวิมานทุกเศียรคชกรรม์    พรายพรรณล้วนแก้วมณี”

รามเกียรติ์ตอนอินทรชิตแปลงนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระราชนิพนธ์ใหม่เป็นกาพย์ฉบัง ลองฟังดูว่ากะทัดรัดกว่ากลอนพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๑ มากและไพเราะเพียงไร กาพย์ตอนนี้มีว่า

“อินทรชิตบิดเบือนกายิน    เหมือนองค์อัมรินทร์
ทรงคชเอราวัณ

ช้างนิมิตฤทธิ์แรงแข็งขัน    เผือกผ่องผิวพรรณ์

สีสังข์สะอาดโอฬาร์

สามสิบสามเศียรโสภา        เศียรหนึ่งเจ็ดงา
ดังเพชรรัตน์รูจี

งาหนึ่งเจ็ดโบกขรณี        สระหนึ่งย่อมมี
เจ็ดกออุบลบันดาล

กอหนึ่งเจ็ดดอกดวงมาลย์        ดอกหนึ่งเบ่งบาน
มีกลีบเจ็ดกลีบผกา

กลีบหนึ่งมีเทพธิดา        เจ็ทองค์โสภา
แน่งน้อยลำเพานงพาล

นางหนึ่งย่อมมีบริวาร        อีกเจ็ดเยาวมาลย์
ล้วนรูปนิมิตมายา

จับระบำรำร่ายส่ายหา        ชำเลืองหางตา
ทำทีดังเทพอัปสร

มีวิมานแก้วงามบวร        ทุกเกศกุญชร
ดั่งเวชยันต์อัมรินทร์”

เป็นอย่างไรบ้างครับ เรื่องพิสดารบนเศียรช้างเอราวัณของพระอินทร์ ดูไปแล้วก็ละครโรงหนึ่งนั่นเอง

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี