เราใช้อะไรบังคับช้าง

Socail Like & Share

มนุษย์เราที่ยกย่องกันเองว่า เจริญกว่าสัตว์ทั้งหลาย ก็เพราะว่านอกจากรู้จักใช้ความคิด และสืบต่อความคิดตกทอดมาเป็นมรดกให้ลูกหลานแล้ว ยังรู้จักใช้มือ และใช้สิ่งอื่นเป็นเครื่องมือทำการอย่างใดอย่างหนึ่งได้ด้วย การที่คนเราเอาสัตว์ตัวโตกว่าเรามาใช้งานนั้นเราต้อง มีเครื่องมือบังคับในบางครั้ง เครื่องมือนี้เราประดิษฐ์คิดค้นขึ้นใช้สุดแต่ชนิดของสัตว์ที่เราจะฝึกหรือบังคับ เช่นม้าปฏักเราก็มีแส้สำหรับหวดเมื่อจะให้ม้าวิ่งหรือเดิน มีบังเหียนคอยรั้งเมื่อจะให้หยุด วัวควายก็มีปฏักคอยทิ่มแทงเมื่อจะบังคับให้ลากไถหรือเกวียนหรือสิ่งของอื่นๆ แต่เดี๋ยวนี้เราจะไม่ค่อยเห็นปฏักกันบ่อยนัก เพราะเราใช้ไม้เรียวแทนปฏัก ด้วยว่าปฏักนั้นทำให้ วัวควายได้รับความเจ็บปวดมากกว่า เป็นการทารุณสัตว์เกินไป วัวควายที่ต้องลงปฏักก็มีแต่ตัวที่ดื้อขี้เกียจเท่านั้น และคำว่าต้องลงปฏักก็เป็นสำนวนมาใช้กับคนที่หัวหน้างานต้องคอยบังคับหรือจ้ำจี้ใช้ให้ทำงาน ไม่เช่นนั้นเป็นไม่ทำทีเดียว ผู้ที่ต้องถึงกับลงปฏักจึงไม่ค่อยเป็นมงคลแก่ตัวนัก ถ้าเป็นข้าราชการละก็ ตอนปลายปีจะขอความดีความชอบก็ต้องลำบากนิดหน่อย หรือหัวหน้าอาจจะลืมชื่อเสียเลยก็ได้

การลงปฏักวัวควายนั้นก็คือเอาปฏักทิ่มแทงตรงตะโพกนั่นเอง นายตำรวจผู้หนึ่ง เล่าให้ฟังว่าถ้าพบว่าวัวควายที่มีรอยถูกทิ่มแทงที่ตะโพกละก็ เป็นเชื่อได้ว่าวัวควายนั้นถูกลัก ขโมยมาแน่นอน เพราะว่าเจ้าของวัวควายจะไม่ทำทารุณแก่สัตว์ ส่วนพวกโจรนั้นเพื่อจะไปให้เร็วที่สุด เพื่อหนีการจับกุม ก็ย่อมทำทุกอย่างเพื่อให้วัวควายวิ่งไปเร็วๆ รอยที่พบที่ตะโพกวัวควายที่ถูกขโมยมานี้เป็นรอยที่เกิดจากปลายมีดปลายแหลมที่ถูกคนร้ายแทงนั้นเอง คือ ใช้มีดปลายแหลมแทนปฏัก

เครื่องบังคับสัตว์ใหญ่คือช้าง เราเรียกว่าตะขอ หรือขอช้างคือเหล็กที่งอมีด้ามสำหรับสับช้าง มีหลายอย่าง ขอช้างที่มีปลายโค้งเรียกว่าขอ เกราะ ขอช้างที่มีปลายเป็นยอดปิ่นเรียกว่าขอปิ่น และขอช้างที่มีปลายเป็นง้าวเรียกว่าของ้าว อย่างพระแสงของ้าวของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่ทรงฟันพระมหาอุปราชของพม่าขาดคอช้าง คราวทรงทำยุทธหัตถี เสร็จสงครามขนานนามว่า “พระยาแสนพลพ่าย” เป็นต้น การที่จะใช้ขอช้างบังคับช้างนั้นไม่ใช่ว่าใครๆ จะใช้ก็ได้ การใช้ขอบังคับช้างเป็นวิชาการที่ต้องศึกษาเล่าเรียน คนที่บังคับช้างได้เก่งนั้น สามารถที่จะสับขอช้างให้ช้างที่แตกตื่นหยุดทันทีทันใดเหมือนเราห้ามล้อรถยนต์ทีเดียว สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเล่าไว้ในเรื่องจับช้าง ในหนังสือ โบราณคดีตอนหนึ่งว่า

ในรัชกาลที่ ๕ เมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๔๑๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอม เกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสในแขวงจังหวัดราชบุรี และกาญจนบุรี เวลานั้นตัวฉันอายได้ ๑๒ ปี ยังไม่ได้โกนจุก พระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดให้ฉันตามเสด็จด้วย ทางเสด็จประพาสครั้งนั้น จะต้องเดินป่าไปจากเมืองราชบุรี ประทับแรมทาง ๒ คืน จนถึงตำบลท่าตะคล้อริมแม่น้ำไทรโยคในแขวงจังหวัดกาญจนบุรีจัดราชพาหนะที่เสด็จไปมีทั้งขบวนม้าและขบวนช้าง พระเจ้าอยู่หัวโปรดเสด็จด้วยขบวนม้า จึงใช้พาหนะช้างเป็นขบวนพระประเทียบ (คือขบวนของฝ่ายใน-ผู้เขียน) ซึ่งกรมสมเด็จพระสุภารัตน์ราชประยูรทรงเป็นประมุข ก็ขบวนช้างนั้นเป็นช้างหลวง กรมพระคชบาลคุมไปจากเพนียดสัก ๑๐ เชือก มีช้างพลายผูกสัปคับกูบสี่หน้าลายทอง เป็นช้างพระที่นั่ง ทรงนำหน้าเชือกหนึ่งแล้ว ถึงเหล่าช้างพังผูกสัปคับกูบสองหน้าสำหรับนางในตามไปเป็นแถว มีพวกกรมช้างและกรมการหัวเมือง เดินแซงสองข้างขบวนหนึ่ง ต่อนั้นถึงขบวนช้างเชลยศักดิ์ซึ่งเกณฑ์ในเมืองนั้นเอง มีทั้งช้างพลายและช้างผูกสัปคับสามัญ สำหรับพวกผู้หญิงพนักงานและจ่าโขลนข้าหลวง ตามไปเป็นขบวนหลังกว่า ๑๐ เชือก สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัตติวงศ์ กับตัวฉันเป็นเด็ก เขาจัดให้ขึ้นช้างพลายตัวที่เตรียมเป็นช้างพระที่นั่งไปในขบวนพระประเทียบ หลวงคชศักดิ์ (ค้าง วสุรัตน์ ภายหลังได้เป็นที่พระศรีภวังค์) ตัวหัวหน้าผู้คุมขบวนช้างหลวงเป็นหมอขี่คอ หลวงคชศักดิ์คนนี้ขึ้นชื่อลือเลื่องมาแต่ในรัชกาลที่ ๔ จนตลอดชีวิต ว่าเป็นคนขี่คอช้างแข็ง และคล้องช้างแม่นยำอย่างยิ่ง เวลานั้นอายุเห็นจะราว ๔๐ ปี แต่รูปร่างผอมกริงกิว ดูไม่น่าจะมีแรงสมกับฝีมือที่ลือกันว่าเชี่ยวชาญ แต่แกชอบเด็กๆ เวลาสมเด็จพระนริศ ฯ กับฉันนั่งไปบนหลังช้าง ไต่ถามถึงป่าดงฟังแกเล่าไปจนคุ้นกันแต่วันแรก ถึงวันที่ ๒ เมื่อเดินขบวนไปจากที่ประทบแรม ณ ตำบลหนองบัวค่าย (ครั้งพระเจ้ากรุงธนบุรีรบพม่า) ได้สัก ๒ ชั่วโมง เกิดเหตุด้วยลูกช้างเชลยศักดิ์ที่เดินตามแม่มาข้างท้ายขบวนตัวหนึ่ง ตื่นไฟวิ่งร้องเข้าไปในขบวน พาช้างเชลยศักดิ์ที่อยู่ในขบวนพลอยตื่น วิ่งเข้าป่าไปด้วยสักสี่ห้าตัว บางตัวสัปคับไปโดนกิ่งไม้ผู้หญิงตกช้างก็หลายคน ช้างขบวนข้างหน้าก็พากันขยับจะตื่นไปด้วย แต่พอช้างพลายตัวที่ฉันขี่ตั้งท่าจะออกวิ่ง หลวงคชศักดิ์แกเอาขอฟันทีเดียวก็หยุดชะงัก ยืนตัวสั่นมูตรคูถทะลักทลายไม่อาจก้าวเท้าไปได้ ช้างพังข้างหลังเห็นข้างหน้าอยู่กับที่ ก็ยืนนิ่งอยู่ เป็นแต่หันเหียนบ้างเล็กน้อย อลหม่านกันอยู่สัก ๕ นาทีก็เคินขบวนต่อไปโดยเรียบร้อย ตัวฉันก็ตกใจอยู่เพียงประเดี๋ยว แต่พอสงบเรียบร้อยกลับไปนึกสงสารช้างที่ถูกหลวงคชศักดิ์ฟันเลือดไหลอาบหน้าลงมาจนถึงงวง แต่ได้ยินพวกที่เขาเดินกำกับไปพากันชมหลวงคชศักดิ์ ที่สามารถป้องกันมิให้เกิดร้ายกว่านั้นได้” นี่เป็นเรื่องของควาญช้างที่ได้ฝึกฝนเล่าเรียนมาในเรื่องใช้ขอบังคับ ให้หยุดได้โดยใจชอบ ซึ่งหาได้ไม่ง่ายนัก

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี