สมเด็จพระราชปิตุจฉาเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร

Socail Like & Share

เป็นพระราชธิดา ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เมื่อวันพุธที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๒๗ มีพระนามเดิมว่าเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ สมเด็จเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ นรินทรเทพยกุมารี มีพระเชษฐภคินีร่วมพระมารดา ๘ พระองค์ คือ

๑. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร
๒. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์
๓. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าวิจิตรจิรประภา
๔. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์
๕. สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร
๖. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าศิริภรณ์โสภณ
๗. สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
๘. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าหญิง (พระชนมายุ ๔ วัน)

สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร ทรงเป็นผู้นำสตรีไทย เข้าสู่ยุคใหม่ในหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมการศึกษาให้แก่สตรีไทย การส่งเสริมให้สตรีไทยมี บทบาทในการพัฒนาสังคม ส่วนพระองค์เองทรงเป็นผู้รอบรู้เชี่ยวชาญการศึกษาทั้งภายในและต่างประเทศเป็นอย่างดี ทรงเป็นผู้นำที่ทันสมัยทั้งในด้านการแต่งกาย การเข้าสมาคมในระดับสากล

เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ ด้วยเหตุที่พระเชษฐภคินีสิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์หลายพระองศ์ ประกอบกับสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ซึ่งเป็นสมเด็จพระราชมาตุจฉา ก็ทรงสูญเสียพระราชธิดาในเวลาไล่เลี่ยกัน ๒ พระองค์ เป็นเหตุให้ทรงโทมนัสมาก เนื่องจากมีพระประสงค์อย่างแรงกล้าที่จะมีพระราชธิดา สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวีจึงประทานสมเด็จเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ฯ ให้เป็นพระราชธิดา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๑ และทรงอยู่ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ มาตลอด ทรงขานพระนามว่า “สมเด็จแม่” ในขณะที่ทรงเรียกสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวีว่า “สมเด็จป้า” แทน

ในด้านการศึกษา ทรงได้รับการศึกษาตามแบบแผนประเพณีในพระราชสำนัก กล่าวคือทรงศึกษา กับพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) และครูสตรีท่านอื่นๆ ในวิชาการแขนงต่างๆ

เมื่อมีพระชนมายุย่าง ๑๒ พรรษา ทรงเข้าพิธีโสกันต์ เมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๙ มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้สถาปนาเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ นรินทรเทพยกุมารี ทรงสนพระทัยในด้านการศึกษาเป็นอย่างมาก ทรงศึกษาแตกฉานทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ สามารถตรัสภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศสได้อย่างคล่องแคล่ว ทรงมีความรู้รอบตัวกว้างขวางทัน เหตุการณ์โลก นอกจากนี้ยังโปรดให้ผู้อื่นได้รับการศึกษาอย่างดีด้วย โดยเฉพาะข้าหลวงในพระองค์ ทรงส่งเสริมจนบางคนสำเร็จการศึกษาชั้นสูงจากต่างประเทศ ส่วนเยาวชนก็ทรงส่งเสริมให้ได้รับการศึกษา อย่างดีด้วยการทะนุบำรุงทั้งด้านวิชาการและสนับสนุนปัจจัยเสริม ทรงตระหนักว่าสตรีในยุคต่อไปจะต้องพึ่งพาตนเองและเป็นกำลังสำคัญเท่าเทียมกับบุรุษ ในการพัฒนาประเทศชาติ จึงได้เป็นกำลังสำคัญสนองพระราชกรณียกิจ ในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ในการดำเนินการโรงเรียนราชินี เมื่อโรงเรียนราชินีมีสถานที่คับแคบลง ได้ทรงสร้างโรงเรียนราชินีบนขึ้นใหม่ เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ โดยทรงสนับสนุนและทะนุบำรุงทุกวิถีทาง ประทานเงินอุดหนุนโรงเรียนทุกปี นอกจากนี้ ยังได้ทรงอุปถัมภ์โรงเรียนฝึกหัดครูเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ เพื่อจะได้ผลิตบุคลากรครูเป็นกำลังสำคัญต่อการศึกษาของชาติ

ในต่างจังหวัด ทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์โรงเรียนเบญจมเทพอุทิศ จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งก่อตั้งด้วยเงินบริจาคของราษฎร ได้ประทานทรัพย์ให้สร้างอาคารเรียนใหม่ รวมทั้งจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในโรงเรียน ทรงทะนุบำรุงโรงเรียนสหายหญิง จังหวัดสระบุรี โรงเรียนเฉลิมขวัญสตรี จังหวัดพิษณุโลก

ทางด้านวิชาการ ทรงเป็นผู้นำแบบอย่างการเรียนการสอนที่ทันสมัยตามที่ทรงมีประสบการณ์ เมื่อครั้งเสด็จประพาสต่างประเทศ นำมาดัดแปลงใช้ในประเทศ กำหนดให้มีวิชาวิทยาศาสตร์ พลศึกษา ใน หลักสูตรการเรียนการสอน ด้วยทรงมีพระดำริว่า สุขภาพพลานามัยเป็นสิ่งสำคัญเบื้องต้นของมนุษย์ทุกคน ดังนั้น โรงเรียนในพระอุปถัมภ์จึงมีอาคารสำหรับเล่นกีฬาของสตรีโดยเฉพาะ ทรงออกแบบเครื่องแต่งกายชุดพลศึกษาของนักเรียนหญิงด้วยพระองค์เอง ส่วนวิชาวิทยาศาสตร์เป็นวิชาที่ตั้งอยู่บนรากฐานแห่งความเป็นจริง และเป็นเครื่องแสดงออกถึงสติปัญญาความสามารถของมนุษย์ จึงกำหนดให้โรงเรียนสตรีสร้างห้องทดลองวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัย ให้นักเรียนสตรีมีโอกาสศึกษาค้นคว้าทดลองด้วยตนเอง

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ นรินทรเทพยกุมารี ทรงเป็นที่กล่าวขวัญในวงสังคมว่า เป็นสตรีที่นำสมัยที่สุด เริ่มตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ โปรดให้แต่งฉลอง พระองค์แบบฝรั่ง คือ สวมกระโปรง ไว้พระเกศายาว สวมพระมาลา จนได้รับสมญาจากชาววังในสมัยนั้นว่า ทูลกระหม่อมฟ้าหญิงแหม่ม เคยทรงประกวดแต่งกายแฟนซีได้ที่ ๑ ในงานวันพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงดำรงพระยศสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๖ ซึ่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงจัดให้และทรงบันทึกไว้ในจดหมายเหตุรายวันว่า “วันเกิดโตเรามีปาตี้เลี้ยงข้าวกลางวันให้เจ้านายที่มาแต่งตัวแฟนซีด้วย อยู่ข้างสนุก มีรางวัลแต่งตัว ผู้ตัดสิน ๕ คน คือ อากรมดำรง อากรมขุนนริศ อาสมมต อาไชยันต พระยาเทเวคร น้องหญิงได้ที่ ๑ แต่งตัวเปนลาว”

เมื่อทรงเจริญพระชันษาขึ้น ก็นับได้ว่าทรงเป็นผู้นำด้านการแต่งกายของสตรีในราชสำนัก ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชนิยมให้สตรีในราชสำนักฝ่ายในนุ่งซิ่น ก็ทรงดัดแปลงผ้าซิ่นธรรมดาให้เป็นผ้าถุงสำเร็จ โดยทรงออกแบบตัดเย็บให้เข้ากับรูปร่าง เป็นแบบที่เก๋ทันสมัยมากในยุคนั้น พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงเล่าไว้ใน “เกิดวังปารุสก์” ว่า

“เมื่อข้าพเจ้ายังเด็กๆ อยู่ จำได้ว่าทูลหม่อมอาหญิงนั้นท่านทั้งงามทั้งเก๋ ข้าพเจ้าชอบไปเฝ้าท่านบ่อยๆ ท่านทรงมีห้องประทับอยู่ทางอีกด้านหนึ่งของตำหนักพญาไท ท่านมีหนังสืออังกฤษประกอบรูปเป็นอันมาก ซึ่งข้าพเจ้าชอบดู และเพราะข้าพเจ้าอ่านภาษาอังกฤษไม่ออก ท่านก็ทรงแปลและอธิบายถึงรูปต่างๆ ให้ข้าพเจ้าฟังเสมอ”

แม้แต่ข้าหลวงในตำหนักของพระองค์ ก็เป็นที่กล่าวขานกันว่า ไม่มีข้าหลวงตำหนักใดจะสวยเก๋ นำสมัยเท่าข้าหลวงของ สมเด็จฯเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ฯ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวไว้วางพระราชหฤทัยให้เข้าร่วมในงานพระราชทานเลี้ยงพระราชอาคันตุกะประเทศต่างๆ อยู่เนืองๆ ทรงทำหน้าที่กระชับสัมพันธภาพระหว่างประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น แม้จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ไว้วางพระราชหฤทัยให้เป็นที่ปรึกษาเรื่องแบบฉลองพระองค์หม่อมเจ้ารำไพพรรณี ในพระราชพิธีสถาปนาเป็นสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินี

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ มีพระบรมราชโองการ ประกาศสถาปนาเป็นกรมหลวง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ ตามความตอนหนึ่งว่า

“อนึ่ง ทรงพระราชดำริว่าสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ นรินทรเทพยกุมารี เป็นพระขนิษฐภคินี อันมีความทรงคุ้นเคยยิ่งกว่าพระภคินีพระองค์อื่น ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์มา ประหนึ่งว่าเป็นพระราชโสทรภคินีพระองค์ ๑ ได้ทรงสังเกต เห็นพระอัธยาศัยตลอดมา จึงทรงทราบชัดว่า สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอฯ กอปไปด้วยพระปรีชาสามารถในทางศึกษา ทรงรอบรู้ในศิลบ่วิทยาต่างๆ อันสมควรแก่ขัตติยราชกุมารี ทั้งทรงมีความไหวพริบและสามารถในกิจการต่างๆ ตามแบบอย่างพระบรมราชวงศ์ฝ่ายใน มีพระหฤทัยซื่อตรงจงรักภักดี และได้ทรงอุตสาหปฏิบัติกิจการในส่วนพระองค์ สมเด็จพระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี มิได้เห็นแก่ความยากลำบากแก่พระองค์ ได้ทรงช่วยบันดาลราชการฝ่ายในพระบรมมหาราชวัง ให้ดำเนินไปโดยสะดวกเรียบร้อย นับได้ว่าทรงช่วยผ่อนพระราชภาระอันใหญ่แห่งสมเด็จพระบรมราชินีได้ส่วนหนึ่ง ซึ่งทำให้เป็นที่พอพระราชหฤทัยแห่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างยิ่ง

อีกประการหนึ่งได้ทรงสังเกตว่า สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอฯ มีพระอัธยาศัยอันดี ทรงดำรงความไมตรีในระวางพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน ทรงตั้งพระองค์ไว้ในที่สมควรแก่ชนทุกชั้น ทรงมีความเคารพในที่ควรเคารพ และมีพระหฤทัยโอบอ้อมอารีแก่ผู้น้อย เป็นที่นิยมแห่งชนโดยมาก สมควรที่จะทรงพระกรุณายกย่องตั้งแต่งไว้ ให้ดำรงพระอิสสริยยศ เป็นเจ้าฟ้าต่างกรมฝ่ายในได้พระองค์ ๑

จึงมีพระบรมราชโองการ ดำรัสสั่งให้สถาปนาสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ เป็นสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอเจ้าฟ้าต่างกรม มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ นรินทรเทพยกุมารี กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร… ”

และโปรดพระราชทานพระยศ นายพันเอก ตำแหน่งผู้บังคับการพิเศษกรมทหารม้าที่ ๒ ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นผู้บังคับการพิเศษกองพันที่ ๒ กรมทหารม้าที่ ๑ และในโอกาสที่กองทัพบกจัดตั้งค่ายทหารขึ้นใหม่ ที่จังหวัดเพชรบุรี ได้ขอพระราชทานนามค่ายว่า ค่ายเพชรบุรีราชสิรินธรเพื่อเทิดพระเกียรติพระองค์

ต่อมา ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระเกียรติยศเป็นสมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๗

ในเบื้องปลายพระชนมชีพ ประชวรพระวักกะพิการ ทรงตัดสินพระทัยเสด็จไปรับการรักษา ณ ทวีปยุโรป ๒ ครั้ง สิ้นพระชนม์ในวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ดังความในหนังสือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ถึง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ลงวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ในสาส์นสมเด็จ ภาคที่ ๓๐ กราบทูลว่า

“จะกราบทูลต่อไปถึงข่าวสำคัญ อันยิ่งไปกว่านั้นอีก ซึ่งเป็นขึ้น คือ ทูลกระหม่อมหญิงสิ้นพระชนม์เสียแล้ว เมื่อวันที่ ๑๕ เวลา ๒๓.๑๕ นาฬิกา… พระอาการประชวรของทูลกระหม่อมหญิงนั้น พระวักกะพิการเรื้อรังเป็นเหตุ…แล้วมีพระอาการเพิ่มเติม ตามภาษาหมอเขาว่าหลอดลมฝอยอักเสบ ทูลตามที่เขาจดเป็นหนังสือฝรั่งไว้ว่า Broncho pneumonia จะเข้าพระทัยได้ดีกว่า ประชวรหนักมาเห็นจะตั้งแต่วันที่ ๑๓ มาโกลาหลกันเมื่อวันที่ ๑๔ ถึงวันที่ ๑๕ ก็สิ้นพระชนม์ สรงพระศพที่ตำหนักคันธวาส อันเป็นที่ประทับแล้วเชิญพระศพขึ้นรถมณฑป (คือรถจตุรมุขพิมานประกอบยอด) เข้าไปสู่พระบรมมหาราชวัง เชิญพระโกศขึ้นตั้งเหนือแว่นฟ้า ๓ ชั้น มีบัวคลุ่มฐานพระบุพโพฐานเขียง ประกอบพระลองทองใหญ่ (รัชกาลที่ ๕) ประดับประดาด้วยเบญจปฎล เศวตฉัตร และอภิรุมชุมสายทองแผ่ลวด มีผ้าไตร ๔๐ สดับปกรณ์แล้วเป็นเสร็จ…” พระชนมายุ ๕๔ พรรษา

ส่วนงานพระราชทานเพลิงพระศพ จัดขึ้นในวันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ณ พระเมรุท้องสนามหลวง

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: สุทธิพันธ์ ขุทรานนท์