สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี

Socail Like & Share

เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระวิมาดาเธอ กรมพระสุทธาสินินาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา ประสูติเมื่อวันเสาร์ เดือนอ้าย ขึ้น ๙ ค่ำ ปีจอ อัฐศก จ.ศ. ๑๒๔๘ ตรงกับวันที่ ๔ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารีธันวาคม พ.ศ. ๒๔๒๙ ซึ่งสายราชสกุลทางพระชนนี เป็นพระเจ้าหลานเธอในรัชกาลที่ ๓ พระธิดากรมหมื่นภูมินทรภักดี พระโอรสในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ต้นราชสกุล “ลดาวัลย์”

เมื่อยังทรงพระเยาว์ทรงมีแววฉลาดเฉลียวหลักแหลม สมเด็จพระชนกนาถ โปรดให้อยู่ใกล้ชิดพระองค์ ทรงเรียกว่า “ลูกหญิงน้อย” ทรงอบรมสั่งสอนวิชาความรู้ภาษาไทยและภาษาอังกฤษด้วยพระองค์เอง เป็นที่ถูกพระราชหฤทัยที่สามารถเล่าเรียนเข้าใจ และรอบรู้ได้รวดเร็วแตกฉาน ยิ่งเมื่อเจริญวัย สมเด็จพระชนกนาถ ก็ยิ่งทรงเอาพระทัยใส่มากขึ้น ทรงสั่งสอนทั้งงานของบ้านเมืองและวิชาหนังสือ โปรดให้ทรง พระอักษรและให้ทำหน้าที่ราชเลขาธิการฝ่ายใน ดังประกาศพระเกียรติคุณของพระองค์ในหนังสือเฉลิมพระยศเจ้านาย ว่า

“…พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระเมตตากรุณามาก ด้วยพระปัญญาอุตสาหะศึกษาวิชาการตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ สมเด็จพระพุทธเจ้า หลวง ทรงสังเกตเห็นอุปนิสัยว่า ทรงพระสติปัญญาสูงมาก จึงเอาเป็นพระราชธุระทรงฝึกสอนพระราชทานเอง ต่อมาเมื่อทรงพระเจริญวัยขึ้นรอบรู้กิจและวิชาการ สามารถรับราชการตำแหน่งราชเลขาธิการฝ่ายใน ได้สนองพระเดชพระคุณสมเด็จพระบรมชนกนาถ อยู่ใกล้ชิดติดพระองค์มาจนเสด็จสวรรคต สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระเสน่หา ไว้วางพระราชหฤทัยในสมเด็จฯ เจ้าฟ้านิภานภดลฯ เป็นยิ่งนัก…”

พระราชภาระในสมเด็จพระชนกนาถเช่นนี้ทำให้สมเด็จฯ เจ้าฟ้านิภานภดลฯ ทรงพัฒนาขวนขวายพระองค์ให้มีความรู้อยู่เสมอ ไม่ว่าพระราชกิจใหญ่น้อยประการใด ก็สามารถปฏิบัติได้ลุล่วง โดยเฉพาะภาษาอังกฤษทรงศึกษาเพิ่มเติมและหมั่นฝึกฝนด้วยพระองค์เอง ทรงอ่านได้อย่างคล่องแคล่ว สมัยที่มีภาพยนตร์เงียบไม่มีคำสนทนาออกเป็นเสียง แต่จะเขียนคำบรรยายเป็นตัวหนังสือไว้ใต้ภาพเป็นตอนๆ ส่งเข้ามาเผยแพร่ในเมืองไทย พระองค์ทรงเป็นผู้พากย์ถวายพระราชวงศ์ที่ร่วมทอดพระเนตรอยู่ด้วย เป็นที่สนุกสนานและชื่นชมในพระปรีชาสามารถยิ่งนัก

เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ ๒ ในปี พ.ศ. ๒๔๕๐ มีพระราชประสงค์จะให้ตามเสด็จด้วย หากแต่มีความขัดข้องจึงระงับไว้ และได้ปรากฏว่า ขณะที่เสด็จพระราชดำเนินไปถึงแห่งใด จะมีพระราชหัตถเลขาถึงพระราชธิดา เล่าเรื่องพระราชกิจนานาตลอดทั้งความเป็นไปในการเสด็จพระราชดำเนินส่งมาถึงสมเด็จฯ เจ้าฟ้านิภานภดลฯ ทุกเที่ยวเมล์ เป็นหนังสือถึง ๔๓ ฉบับ มีความยาวถึง ๑,๘๕๐ หน้า ความนั้นถ้าได้กล่าวถึงผู้ใด สมเด็จฯ เจ้าฟ้านิภานภดลฯ จะคัดลอกส่งไปถวายให้ผู้นั้นทอดพระเนตรทั้งสิ้น และต่างกราบบังคมทูลว่า เรื่องราวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชหัตถเลขามานั้น มีประโยชน์มาก น่าจะได้รวมพิมพ์เป็นเล่มหนังสือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้ดำเนินงาน เรียกหนังสือเล่มนี้ว่า ไกลบ้าน ด้วยพระอุตสาหวิริยะและความเอาพระทัยใส่ของราชเลขานุการในพระองค์นี้เอง วงการหนังสือไทยจึงได้มีหนังสือจดหมายเหตุลักษณะนำเที่ยวขึ้นเป็นหลักฐานอีกเล่มหนึ่ง

ในรัชกาลที่ ๕ งานที่พระวิมาดาเธอกรมพระสุทธาสินีนาฏฯ พระชนนีสมเด็จฯ เจ้าฟ้านิภานภดลฯ ทรงปฏิบัติประจำ คือ งานห้องเครื่องเสวยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และการจัดดอกไม้เครื่องสดถวายพระศพ พระบรมวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ทุกพระองค์ตลอดเวลา บำเพ็ญกุศล ๗ วัน ซึ่งจะต้องเปลี่ยนดอกไม้ทุกวันจนครบ ๗ วัน โดยมิทรงรับค่าตอบแทน ไม่ว่าจะเป็นเงินทองหรือสิ่งใด การจัดดอกไม้ต้อง ออกแบบคิดลวดลายตกแต่งทั้งเครื่องเย็บเครื่องร้อย เครื่องตั้งเครื่องแขวน ประดับพระโกศเครื่องประกอบอิสริยศักดิ์และสถานที่ เช่น บานประตู หน้าต่าง โดยรอบที่ตั้งพระศพ ปรากฏว่าการจัดดอกไม้สดเป็นงานภายใต้ความอำนวยการของสมเด็จฯ เจ้าฟ้านิภานภดล กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี ทรงเป็นแม่งานแทนพระชนนีโดยตลอด เป็นที่ยกย่องว่ามีพระอัจฉริยะในการคิดแบบออกลาย และมีฝีพระหัตถ์ที่ยอดเยี่ยมวิจิตรประณีตสวยงามเหลือประมาณ ทั้งการเขียนลายและการประดิษฐ์ ซึ่งการตกแต่งแต่ละครั้งไม่เคยปรากฏว่ามีลวดลายที่ซํ้ากันเลย ถ้าผู้ที่เคยเห็นงานฉลองพระนครครบ ๑๕๐ ปี และได้ชมการตกแต่งสะพานพระพุทธยอดฟ้า หรือได้เห็นมาลัยสดพระบรมรูปทรงม้าทุกๆ ปี สมัยเมื่อครั้งที่ยังมีพระชนมชีพอยู่แล้ว ก็จะบรรยายได้ดีว่า ฝีพระหัตถ์ของพระองค์นั้นยากที่จะมีผู้ใดทัดเทียมได้

พระจริยวัตรของสมเด็จฯ เจ้าฟ้านิภานภดล กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี คือ โปรดทรงบำเพ็ญพระกุศล เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว ในรัชกาลที่ ๖ ได้ประทับ ณ ตำหนักในวังสวนสุนันทา ปัจจุบันคือวิทยาลัยครูสวนสุนันทา เมื่อทรงหมดพระภาระหน้าที่ราชการ ก็ทรงหันมาสนพระทัยที่จะบำเพ็ญพระองค์ให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นและบ้านเมือง

ด้านการศึกษา

ทรงสร้าง “โรงเรียนนิภา” ในบริเวณตำหนักวังสวนสุนันทาเพื่อชุบเลี้ยงเด็กและข้าหลวงให้มีการศึกษาอย่างดี ทรงให้ครูไทยจากโรงเรียนวัฒนาซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงในเวลานั้นมาสอนทั้งภาษาไทยและอังกฤษ หาครูแหม่มมาสอนพิเศษ ได้เปิดสอนตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ นักเรียนที่เรียนชั้นมัธยม ๖ ทรงคัดเลือกผู้ที่เรียนเก่งไปสมทบสอบที่โรงเรียนสายปัญญา เมื่อนักเรียนผู้ใดสอบสำเร็จได้คะแนนดี ก็จะทรงทำเข็มกลัดทองคำลงยาประทานเป็นรางวัล ผู้ที่ทรงอุปการะชุบเลี้ยง ปรากฏว่าได้สำเร็จการศึกษาระดับสูง โดยเฉพาะได้รับปริญญาเป็นจำนวนมากมายทีเดียว

ด้านการพระศาสนา
ทรงสร้างตึกนิภาให้เป็นสถานศึกษาพระธรรมวินัย ในวัดเทพศิรินทราวาส ตัวอาคารยังปรากฏอยู่จนปัจจุบันนี้ ทรงมีศรัทธาที่จะเกื้อหนุนกุลบุตรให้บวชในพระบวรพุทธศาสนาเป็นประจำทุกปี ปีหนึ่งๆ จำนวนหลายรูป พระจริยวัตรที่ทรงยึดมั่นอย่างสม่ำเสมอเช่นนี้ ได้เป็นแบบอย่างและปลูกฝังข้าหลวงผู้ใกล้ชิดทั้งปวง พลอยเจริญรอยตามเป็นนิสัย เรียกว่าแผ่ความใจบุญไปสู่ข้าหลวง ดังเช่น ข้าหลวงของพระองค์ท่านผู้หนึ่ง มีศรัทธาจัดการบวชให้สามเณรรูปหนึ่งเป็นพระภิกษุ ซึ่งต่อมาได้เจริญรุ่งเรืองมีสมณศักดิ์สูงถึงขั้นสมเด็จพระอริยวงศาศตญาณ ข้าหลวงผู้นั้นได้ชื่นชมว่า เป็นเพราะพระบารมีใน “สมเด็จหญิงน้อย” ที่ทรงเมตตาอบรมไว้

ในการทรงปฏิบัติธรรม พระองค์ทรงเลื่อมใสและศึกษาธรรมอย่างใกล้ชิดกับสมเด็จพระสังฆราซเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ แห่งวัดราชบพิธ และสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ แห่งวัดเทพศิรินทราวาส

พระจริยวัตรของสมเด็จฯ เจ้าฟ้านิภานภดล กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี นั้น เป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับผู้ใฝ่หาความรู้ความชำนาญและความเจริญ ด้วยทรงมีความสามารถเฉลียวฉลาด ทั้งวิชาการทางหนังสือและวิชาทางการเรือน การช่าง การเกษตร การฝีมือ เย็บปักถักร้อย ทำขนม ปลูกต้นไม้ จัดสวนให้มีศิลปะงดงาม มีความคิดทันสมัยก้าวหน้าตามความเจริญของวัฒนธรรมสมัยใหม่ โปรดการกีฬากอล์ฟ เทนนิส และทรงจักรยาน นอกจากนั้นโปรดการถ่ายภาพ ทรงมีความสามารถในการเล่นกล้องได้อย่างดี

ในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นช่วงที่บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตย พระราชวงศ์และพระประยูรญาติกระทบกระเทือนด้วยวิถีทางการเมืองได้ย้ายไป พำนักยังต่างประเทศหลายพระองค์ เป็นสาเหตุให้สมเด็จฯ เจ้าฟ้านิภานภดล กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารีต้องพลัดพรากจากพระญาติสนิทที่มีความคุ้นเคยกัน ประจวบกับพระชนนีและพระเชษฐาต่างก็สิ้นพระชนม์ หมดแล้ว จึงเสด็จตามพระเชษฐาต่างพระชนนี คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์ วรพินิต ไปประทับอยู่ที่ประเทศชวา โปรดให้ปลูกตำหนักอยู่ใกล้กับพระประยูรญาติ ได้รับความอบอุ่นอยู่ในระยะเวลาประมาณ ๒ ปีเศษ จากนั้นพระโรควักกะพิการซึ่งเป็นโรคที่เป็นสาเหตุให้สมเด็จพระชนกนาถ และพระเชษฐาหลายพระองค์ต้องจากไป เริ่มคุกคามพระพลานามัยทรงต้องทุกข์ทรมานด้วยความ เจ็บปวด อาการประชวรมิได้ลดละแม้จะได้เยียวยาอย่างใกล้ชิด ในที่สุดก็สิ้นพระชนม์ที่เมืองบันดง ประเทศชวาหรืออินโดนีเซียในปัจจุบัน เมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๘ พระชันษาได้เพียง ๔๙ ปี จากนั้นก็ได้เชิญพระศพกลับสู่ประเทศไทย

พระประวัติของพระองค์ แม้จะไม่แพร่หลายเพราะเนื่องด้วยทรงเป็นเจ้านายฝ่ายใน ทั้งๆ ที่ทรงพระปรีชาสามารถอย่างลํ้าลึก แต่ผลงานที่ทรงประกอบไว้ยังอยู่ในความทรงจำของผู้ใกล้ชิดทั้งปวง ความดีงามย่อมเชิดชูพระเกียรติคุณของพระองค์ให้เจิดจ้าเพื่อเป็นแบบแผนที่ดีงามแก่บุคคลรุ่นหลังต่อไป

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: สายไหม จบกลศึก