เจ้าจอมมารดาทับทิม

Socail Like & Share

พระสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

เจ้าจอมมารดาทับทิมเป็นธิดาของพระยาอัพภันตริกามาตย์ (ดิศ โรจนดิศ) กับขรัวยายอิ่ม เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๐๐ ชีวิตในวัยเยาว์นั้น ด้วยเหตุที่บิดาเป็นข้าหลวงเดิมในพระบาท
สมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ประกอบกับพี่สาวต่างมารดา คือ เจ้าจอมมารดาเที่ยง ดำรงตำแหน่งเป็นพระสนมเอกอยู่ในราชสำนัก เจ้าจอมมารดาทับทิมจึงได้มีโอกาสถวายตัวเป็นข้าราชสำนักตั้งแต่อายุ เพียง ๖ ขวบ เป็นผลให้ท่านได้รับการศึกษาอบรมวิชาความรู้ต่างๆ รวมทั้งฝึกหัดกิริยามารยาทตามแบบอย่างกุลสตรีชาววังเป็นอย่างดีเจ้าจอมมารดาทับทิม

ในเวลาต่อมา เจ้าจอมมารดาเที่ยง ผู้เป็นพี่สาวได้ฝากเจ้าจอมมารดาทับทิมเข้าเป็นศิษย์ในสำนัก คุณท้าววรคณานันท์ (หุ่น) เจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ซึ่งขณะนั้นถือว่า เป็นเจ้าสำนักฝ่ายในที่มีชื่อเสียงเป็นเอกทางด้านละคร ครั้งนั้นคุณท้าววรคณานันท์ (หุ่น) ให้ความเมตตาเจ้าจอมมารดาทับทิมเป็นพิเศษ โดยรับเป็นผู้อุปการะเสมือนบุตรหลานของท่านคนหนึ่ง เนื่องจากท่าน เล็งเห็นว่า เจ้าจอมมารดาทับทิมเป็นศิษย์ที่มีความอุตสาหะพากเพียรในการศึกษาหาความรู้อย่างจริงจัง จึงมีความเอ็นดูรักใคร่มากกว่าศิษย์อื่นๆ ในรุ่นราวคราวเดียวกัน

นอกจากนี้ เจ้าจอมมารดาทับทิมยังเป็นสตรีที่มีใจรักในด้านการศึกษา และใฝ่เรียนรู้อยู่เป็นนิจ จึงสามารถหัดเรียนเขียนอ่านหนังสือได้อย่างแตกฉาน ปรากฏแววเฉลียวฉลาดตั้งแต่อายุยังน้อย ประจวบกับในเวลานั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ที่จะฝึกหัดละครใน หรือละครหลวงรุ่นเล็กขึ้นใหม่ ครั้งนั้นเจ้าจอมมารดาทับทิมก็เป็นท่านหนึ่งที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้ารับราชการฝ่ายในและ เริ่มฝึกหัดวิชาการละครในอย่างจริงจัง นับแต่นั้นเป็นต้นมา ท่านได้รับการคัดเลือกให้ฝึกหัดเป็น “ตัวนาง” โดยขึ้นครูกับเจ้าจอมมารดาลูกจันท์ในรัชกาลที่ ๒ และเจ้าจอมอรุ่นบุษบาในรัชกาลที่ ๔ ซึ่งมีศักดิ์เป็น หลานของคุณท้าววรคณานันท์ (หุ่น) ครั้งนั้น เจ้าจอมมารดาทับทิมได้รับการถ่ายทอดฝึกหัดวิชาการละครใน จากครูทั้งสองท่าน จนกระทั่งมีความชำนิชำนาญขึ้นโดยลำดับ

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายถึงคุณสมบัติพิเศษของผู้ที่ได้รับการคัดเลือกฝึกหัดวิชาการละครใน จากหนังสือประวัติเจ้าจอมมารดาทับทิม ความตอนหนึ่งว่า
“ระบำและละครผู้หญิงซึ่งเรียกกันว่า “ละครใน” นั้น หัดแต่ลูกผู้ดีที่ถวายตัวอยู่ในพระราชวังมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา สำหรับเล่นในการพระราชพิธี เช่น บวงสรวง และสมโภชเป็นต้น…มักเลือกที่มีแววฉลาดแต่อายุยังเยาว์ เพราะเป็นการยากต้องฝึกหัดนานจึงจะทำได้..”

ในตอนปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อละครหลวงชั้นเล็กเริ่มออกแสดง เจ้าจอมมารดาทับทิมได้มีโอกาสแสดงความสามารถให้เป็นที่ปรากฏเป็นครั้งแรก ครั้งนั้นท่านได้รับคำชมเชย จากบุคคลในราชสำนักโดยทั่วไปว่า ท่านรำได้งดงามอ่อนช้อยกว่าคนอื่นๆ

ถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เวลานั้นเจ้าจอมมารดาทับทิม อายุเพียง ๑๑ ขวบ ยังคงรับราชการเป็นละครหลวงอยู่เช่นเดิม แต่มีฝีมือรำละครเป็นเอก ตลอดจนความงามของท่านนั้น เป็นที่เลื่องลือกันทั่วไปในราชสำนัก

ในเวลาต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าจอมมารดาทับทิมเข้ารับราชการสนองพระเดชพระคุณในตำแหน่งเจ้าจอม ครั้งนั้นเจ้าจอมมารดาเที่ยงผู้เป็นพี่สาว ดำริให้พระธิดาองค์ใหญ่ คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสมรรัตนสิริเชษฐ ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นพระองศ์เจ้าหญิงโสมาวดี เสด็จฯ มารับเจ้าจอมมารดาทับทิมจากสำนักคุณท้าววรคณานันท์ (หุ่น) มา อยู่ที่เรือน ในบริเวณพระตำหนักของพระองค์ พร้อมทั้งทรงมอบบริวารไว้ให้ใช้สอยเหมาะสมกับฐานะของท่านในเวลานั้น

พ.ศ. ๒๔๑๙ เจ้าจอมมารดาทับทิมตั้งครรภ์พระเจ้าลูกยาเธอ ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ลาออกจากการเล่นละครใน พร้อมทั้งพระราชทานตำหนักเจ้านายหมู่หนึ่งให้อยู่เป็นอิสระ เจ้าจอมมารดาทับทิมมีพระราชโอรสและพระราชธิดา รวม ๓ พระองค์ คือ

๑. พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้า จิรประวัติวรเดช (จอมพล พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช) ประสูติเมื่อวันอังคาร ที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๑๙ สำเร็จการศึกษาวิชาทหารบกจากประเทศเดนมาร์ก ขณะที่ทรงประทับอยู่ยุโรป ทรงดำรงตำแหน่งเป็นราชทูตพิ เศษต่างพระองค์ด้วย ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นทรงกรม เป็นกรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นนายพลเอกราชองครักษ์ ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ พ.ศ. ๒๔๕๓ ถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. ๒๔๕๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นจอมพลทหารบก ตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหม สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๖ พระชันษา ๓๗ ปี ทรงเป็นต้นราชสกุล “จิรประวัติ”

๒. พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าประเวศวรสมัย ประสูติเมื่อวันอังคารที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๒๒ และสิ้นพระชนม์ ในรัชกาลที่ ๘ เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๗ พระชันษา ๖๔ ปี

๓. พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าวุฒิไชยเฉลิมลาภ (พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร) ประสูติเมื่อวันพุธที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๒๖ สำเร็จการศึกษาวิชาทหารเรือจากประเทศอังกฤษ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายพลเรือ ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือชายทะเล ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นกรมหมื่นสิงหวิกรมเกรียงไกร ตำแหน่งราชองครักษ์ พ.ศ. ๒๔๕๕ เลื่อนเป็น นายพลเรือโทราชองครักษ์ ตำแหน่งเลขาธิการทหารเรือ แล้วเป็นจเรทหารเรือ เลื่อนเป็นกรมขุนสิงหวิกรมเกรียงไกร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๓ แล้วเลื่อนเป็นนายพลเรือเอกเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๗ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นเสนาบดีกระทรวงกลาโหม ต่อมาทรงสถาปนาเป็นกรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๔ สิ้นพระชนม์ในรัชกาลปัจจุบัน เมื่อ วันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ พระชันษา ๖๔ปี ทรงเป็นต้นราชสกุล “วุฒิชัย”

เจ้าจอมมารดาทับทิมเป็นผู้ที่ยึดถือการดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย ประพฤติปฏิบัติตนอย่างเสมอต้นเสมอปลาย มิได้ทะนงตนว่าเป็นที่โปรดปรานมากกว่าผู้อื่นแต่ประการใด แม้ว่าท่านจะได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องยศ ยกขึ้นเป็นชั้นพระสนมเอกก็ตาม ท่านยังคงยึดมื่นในอัธยาศัยอันสุภาพ อ่อนโยนละมุนละม่อม ตลอดจนมีความอ่อนน้อมถ่อมตนอยู่เป็นนิจ จึงเป็นที่ชื่นชมรักใคร่ของบุคคลทั่วไปในราชสำนัก

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวสรรเสริญในลักษณะนิสัยของเจ้าจอมมารดาทับทิม ความตอนหนึ่งว่า

“…ได้ยินแต่คนชมอยู่เสมอ ว่าท่านเป็นผู้มีอัธยาสัยดี ไม่มีใครเกลียดชัง มีแต่คนชอบทั้งวัง และว่าท่านทำราชการด้วยมีความจงรักภักดีต่อใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาทมาก ข้อนี้มีหลักฐานด้วย ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานเครื่องยศยกขึ้นเป็นชั้นพระสนมเอกอันสูงศักดิ์กว่าเจ้าจอมมารดาสามัญ…”

ในฐานะพระมารดา เจ้าจอมมารดาทับทิมได้อภิบาลพระราชโอรสและพระราชธิดาด้วยความรัก และเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดทุกพระองค์ ขณะเดียวกันท่านก็ต้องถวายงานสนองเบื้องพระยุคลบาทในพระบรม มหาราชวังด้วย ครั้นต่อมาเมื่อพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไยยศรีสุรเดช พระราชโอรสองค์ใหญ่ทรงสำเร็จการศึกษาและเสด็จกลับพระนคร ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระชนกนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวังพระราชทาน ณ บริเวณริมคลองผดุงกรุงเกษมตอนต่อกับปากคลองมหานาค และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เจ้าจอมมารดาทับทิมออกไปช่วยดูแลเป็นธุระในวังของพระราชโอรสเป็นครั้งคราว จนต่อมาเมื่อโปรดให้มีการย้ายสถานที่ประทับจากพระบรมมหาราชวัง ไปประทับที่พระราชวังดุสิต ครั้งนั้นเจ้าจอมมารดาทับทิมจึงได้ขอพระบรมราชานุญาตไปพำนักที่วังของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช นับแต่นั้นมา

ต่อมาเมื่อพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร พระราชโอรสองค์เล็กทรงสำเร็จการศึกษาและเสด็จกลับมาถึงพระนครอีกพระองค์หนึ่ง ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรง พระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวังพระราชทานพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร เพิ่มอีกวังหนึ่ง ในบริเวณพื้นที่ติดกันกับวังของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช ด้วยเหตุนี้ เจ้าจอมมารดาทับทิมจึงสามารถรับเป็นธุระดูแลความเป็นอยู่ให้แก่พระราชโอรสทั้งสองพระองค์ได้โดยสะดวก จนกระทั่งเมื่อพระราชโอรสทั้งสองพระองค์ทรงเสกสมรส มีพระชายารับภาระในวังแล้ว ท่านจึงค่อยคลายความห่วงใย ปล่อยให้เป็นเรื่องภายในครอบครัว มิได้เข้าไปเกี่ยวข้องก้าวก่ายแต่ประการใด

อย่างไรก็ตาม เจ้าจอมมารดาทับทิมยังคงทำหน้าที่พระมารดาไปมาหาสู่ดูแลทุกข์สุขของลูกหลาน พร้อมทั้งช่วยเหลือในยามจำเป็น โดยเฉพาะการไปช่วยดูแลพระอาการประชวรของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช เนื่องจากพระองค์ทรงมุ่งมั่นคร่ำเคร่งกับพระภารกิจในราชการ จนกระทั่งทรงละเลยต่อพระสุขภาพ ครั้งนั้นแม้ว่าเจ้าจอมมารดาทับทิม พระมารดาจะว่ากล่าวตักเตือนก็ไม่เป็นผล ดังนั้นในเวลาต่อมา เจ้าจอมมารดาทับทิม ซึ่งมิเคยจะกราบทูลร้องขอสิ่งใด แต่ด้วยความรักและห่วงใยในพระสุขภาพของพระราชโอรส จึงได้กราบทูลร้องทุกข์ต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อขอ พระเมตตาให้ทรงว่ากล่าวตักเตือนพระราชโอรสให้ทรงคำนึงถึงพระสุขภาพบ้าง แต่พระอาการประชวรทรุดลงโดยลำดับ จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. ๒๔๕๖

ครั้งนั้นนับเป็นช่วงเวลาที่เจ้าจอมมารดาทับทิมได้รับความเศร้าโศกที่สุดในชีวิตอีกครั้งหนึ่ง นอกเหนือจากเหตุการณ์ครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓ แต่ด้วย
เหตุที่ท่านเป็นผู้ที่ดำเนินชีวิตมาอย่างเรียบง่าย ยึดมั่นในพระบวรพุทธศาสนาอย่างมั่นคง ท่านจึงหันมาแสวงหาความสุขในการบำเพ็ญวัตรปฏิบัติธรรม สงเคราะห์คนยากไร้ และเกื้อกูลต่อญาติมิตรทั้งหลายตามกำลัง ที่สำคัญคือท่านยึดมั่นดำรงตนตามหลักธรรมคำสั่งสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าในเรื่อง “พรหมวิหาร ๔” อันประกอบด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา หลักธรรมดังกล่าวนี้ ท่านได้ยึดถือปฏิบัติอย่างมั่นคงสืบมาตลอดชีวิตของท่าน

นอกจากเจ้าจอมมารดาทับทิมจะมีจิตกุศลมุ่งมั่นศรัทธาในการช่วยเหลือทำนุบำรุงวัดวาอาราม ถือศีล ฟังธรรมและบริจาคบุญทานอยู่เป็นนิจแล้ว ท่านยังรับอุปการะช่วยเหลือผู้ที่มีความประสงค์จะ อุปสมบท แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ปัจจัย ความเลื่อมใสในการบำเพ็ญบุญกุศลของเจ้าจอมมารดาทับทิม อีกประการหนึ่งคือ การสร้างกุฏิถวายพระสงฆ์ตามหัวเมืองต่างๆ เฉพาะที่กรุงเทพมหานครนั้น ท่านมีจิตศรัทธาต่อพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์) เจ้าอาวาสวัดบรมนิวาสเป็นอย่างยิ่ง จึงได้สร้างกุฏิถวาย ๑ หลัง นามว่า “กุฏิปัทมราช” นอกจากนี้ ท่านยังนิยมถวายหนังสือเทศนาเกี่ยวกับหลักธรรมเรื่อง “พรหมวิหาร ๔” ให้แก่พระอารามต่างๆ เพื่อประโยชน์ต่อพระสงฆ์ในการศึกษาหาความรู้และเทศนาสั่งสอนแก่บรรดาพุทธศาสนิกชนสืบไป

อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งที่บุคคลทั่วไปล้วนประทับใจในตัวท่าน ได้แก่ ฝีมือการทำอาหารที่เลิศรส โดยเฉพาะฝีมือการทำขนมปั้นสิบ ซึ่งเป็นที่กล่าวขวัญเลื่องลือว่า มีรสชาติอร่อย ยากที่จะมีผู้ใดเทียบเทียมฝีมือได้

ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าจอมมารดาทับทิมกับบรรดาญาติมิตรและบริวารทั้งหลายนั้น เป็นที่ประจักษ์กันดีว่า ท่านเป็นผู้ใหญ่ที่มีอุปนิสัยกอปรด้วยนํ้าใจ มีความเมตตาอารี ชอบช่วยเหลือเกื้อกูลผู้ตกทุกข์ได้ยากและมีไมตรีจิตแก่ผู้อื่นโดยทั่วไป สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวถึงความมีนํ้าใจของท่านในหนังสือประวัติเจ้าจอมมารดาทับทิม ความตอนหนึ่งว่า

“…ท่านชอบเกื้อกูลญาติและมิตรด้วยประการต่างๆ แม้จนผู้เป็นแขก เมื่อมีใครไปหาท่าน หรือแม้ข้าราชการที่มีกิจธุระไปเฝ้าพระโอรสของท่านๆ พบปะก็ทักทายปราสัย แสดงไมตรีจิตต์โดยฐานที่เป็นผู้ใหญ่ แม้ใครไปใกล้เวลากินอาหาร ท่านก็ชอบหาอาหารเลี้ยง เพราะฉะนั้น คนทั้งหลายที่รู้จักกับท่าน โดยเฉพาะพวกข้าราชการ ทั้งทหารและพลเรือน จึงพากันเคารพนับถือ บางคนก็พาครอบครัวไปหาให้ท่านรู้จัก และเวลามีงานการอย่างใด ที่วังก็พร้อมใจกันไปช่วยข้างฝ่ายตัวท่าน ถ้าเขามีการงานก็ช่วยเหลือตอบแทนตามกำลัง ไม่เอาเปรียบผู้อื่นแต่ฝ่ายเดียว…’’

ในบั้นปลายชีวิตของเจ้าจอมมารดาทับทิม นอกจากการบำเพ็ญบุญกุศลแล้ว ท่านมักใช้เวลาส่วนใหญ่ท่องเที่ยวไปตามหัวเมือง เพื่อพักผ่อนและรักษาสุขภาพพลานามัย ทั้งนี้ การเดินทางท่องเที่ยวของ ท่านแต่ละครั้งจะเป็นไปอย่างเรียบง่าย ไม่เอิกเกริก เนื่องจากท่านไม่ประสงค์จะให้ผู้ใดรับรองอย่างเป็นทางการ เพราะตระหนักดีว่า การไปมาของท่านแต่ละครั้ง อาจสร้างความลำบากให้แก่ผู้อื่น ดังปรากฏหลักฐานความตอนหนึ่งว่า

“…ลักษณะการเที่ยวของท่านนั้น ถ้ามิใช่ทางไกลเช่นไปไทรโยค ถึงที่ไหนที่ท่านเห็นสบาย เช่น ที่บางปะอินก็มักจอดพักอยู่ที่นั้นนานๆ ลงเรือเล็กไปตามทุ่ง เที่ยวเก็บผักนํ้าต่างๆ หรือมิฉะนั้นไปเที่ยวซื้อหาเครื่องอาหารตามบ้านราษฎรมาทำครัวเลี้ยงพวกบริวาร เวลาพักอยู่ใกล้วัดก็ชอบไปทำบุญและฟังเทศน์ ไม่ยอมให้ใครรับรองอย่างเป็นทางราชการ… ”

เจ้าจอมมารดาทับทิมล้มป่วย และพักรักษาตัวอยู่ ณ บางปะอิน จนกระทั่งถึงอสัญกรรม เมื่อวัน อังคารที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ รวมอายุได้ ๘๒ ปี ครั้งนั้นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสิงหวิกรม เกรียงไกร พระราชโอรสพระองค์เล็กเชิญศพมาตั้งบำเพ็ญกุศลที่วังของพระองค์ ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานโกศประกอบลองไม้สิบสองเป็นเกียรติยศพิเศษ พร้อมกับพระราชทานเครื่องศพเสมออย่างเจ้าจอมมารดาชั้นพระสนมเอก และพระราชทานเพลิงศพ ณ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ (นับตามปีสากลปัจจุบัน คือ พ.ศ. ๒๔๘๒ เนื่องจากเดิมปีใหม่ไทย เริ่มต้นในเดือนเมษายน ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๘๓ จึงเริ่มปีใหม่ในเดือนมกราคม ตามแบบสากลนิยม)

ส่วนหนังสือที่ระลึกเพื่อเป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ คือ เรื่อง “สุภาสิตทุคคตะสอนบุตร” ซึ่งเป็นหนังสือกลอนสุภาษิตที่เจ้าจอมมารดาทับทิมชื่นชอบเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นเรื่องที่แสดงถึงหลักธรรม พรหมวิหาร ๔ อันเป็นหลักธรรมที่ท่านได้ยึดมั่น และถือปฏิบัติมาตลอดชีวิต ทั้งยังเคยปรารภไว้ล่วงหน้าว่า เมื่อท่านสิ้นแล้ว ขอให้พิมพ์หนังสือเล่มนี้แจกเป็นที่ระลึกในงานศพของท่าน สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายถึงเหตุผลที่เจ้าจอมมารดาทับทิมศรัทธาเลื่อมใสในหลักธรรมพรหมวิหาร ๔ เพื่อเป็นเครื่องเตือนสติแก่พุทธศาสนิกชนว่า

“…การที่เจ้าจอมมารดาทับทิมเลื่อมใสในพรหมวิหารธรรมสังวร ความเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เป็นวิหารธรรมของท่านนั้น พิเคราะห์ดูเหมือนจะมีในอุปนิสัยของท่านมาแต่เดิม จึงปรากฏว่าเมื่อท่านอยู่ในวัง หามีใครเกลียดชังไม่ ครั้นออกมาอยู่นอกวัง มีโอกาสได้ฟังพระธรรมเทศนาเนืองๆ ก็เกิดศรัทธาเลื่อมใสในพระธรรมหมวดพรหมวิหาร จน ถึงถือเป็นหลักในวัตรปฏิบัติของท่าน ข้อนี้เองเป็นเหตุให้มีคนเคารพนับถือท่านมากมาตลอดอายุ แม้จนเมื่อถึงอสัญกรรมแล้ว ข้าพเจ้าอยู่ไกลได้ยินว่า มีคนที่ระลึกถึงคุณและที่เคารพนับถือท่านพากันไปช่วยงานศพเป็นอันมาก ทั้งเมื่อทำบุญ ๗ วัน ๕๐ วัน และ ๑๐๐ วัน อันนี้เป็นผลของพรหมวิหารที่ท่านสังวรมาแต่หนหลัง ควรนับว่าท่านเป็นตัวอย่างดีในธรรมจารินีด้วยอีกสถาน ๑…”

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: อรวรรณ ทรัพย์พลอย