เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ (แพ)

Socail Like & Share

เป็นพระสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรง ยกย่องให้สูงศักดิ์กว่าพระสนมคนอื่นๆ ทั้งปวง ด้วยเป็นคู่ทุกข์คู่ยากมาตั้งแต่ครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ กรมขุนพินิตประชานาถ แม้การตรัสเรียกนามเจ้าคุณพระประยูรวงศ์นั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ตรัสเรียกแตกต่างจากเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ (แพ)เจ้าจอมคนอื่นๆ ซึ่งทรงเรียกว่า “นาง” นำหน้าชื่อ แต่ทรงเรียกเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ว่า “แม่แพ” ถ้าตรัสเรียกแก่ผู้อื่นทรงเรียกว่า “คุณแพ” เหมือนเช่นครั้งยังมิได้เสวยราชย์ นอกจากนี้ยังพระราชทานสิทธิ์พิเศษกับเจ้าคุณพระประยูรวงศ์เหนือพระสนมคนอื่นๆ เสมอ เช่น ได้รับใช้ใกล้ชิดพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเสวยราชย์แล้วเหมือนครั้งที่ยังมิได้เสวยราชย์ เป็นคนเดียวในหมู่พระสนมที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ตักบาตรถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะทรงผนวช ได้รับตรา เหรียญ สายสะพาย เครื่องยศ และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุกตระกูลตามฐานันดรศักดิ์พระสนมเอก เป็นต้น เจ้าคุณพระประยูรวงศ์จึงได้รับยกย่องว่าเป็นหัวหน้าของพระสนมทั้งปวง ดังที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระ นิพนธ์ไว้ในประวัติเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ ตอนหนึ่งว่า

“เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ (แพ) ป.จ. ม.ว.ม. รัตนาภรณ์ ป.ป.ร. ชั้นที่ ๒ ว.ป.ร. ชั้นที่ ๑ ปปร. ชั้นที่ ๒ เป็นเจ้าคุณจอมมารดา หัวหน้าพระสนมทั้งปวงโนรัชกาลที่ ๕’’

เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ (แพ) เกิดในสกุล “บุนนาค” เป็นธิดาของเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร) กับท่านผู้หญิงอิ่ม ซึ่งเป็นน้องท่านผู้หญิงอ่วม ภรรยาอีกคนหนึ่งของเจ้าพระยาสุรวงศไวยวัฒน์ มีพี่น้องร่วมบิดาและมารดา ดังนี้

พี่น้องร่วมบิดาเดียวกัน ซึ่งเกิดกับท่านผู้หญิงอ่วม ผู้เป็นป้า จำนวน ๓ คน คือ
๑. พระยาประภากรวงศ์วรวุฒิภักดี
๒. เจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์
๓. พระยาราชานุวงศ์

พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันจำนวน ๙ คนคือ
๑. เล็ก (ต่อมาได้เป็นภรรยาพระยาศรีศรราชภักดี : หนูเล็ก โกมารกุล ณ นคร)
๒. ฉาง
๓. เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ (แพ)
๔. หลวงจักรยานานุพิจารณ์ (เหมา)
๕. จ่ายวดยศสถิตย์ (หมิว)
๖. โหมด (ต่อมาได้เป็นเจ้าจอมมารดา พระสนมในรัชกาลที่ ๕)
๗. แม้น (ต่อมาได้เป็นหม่อม สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภานุพันธุวงศ์วรเดช)
๘. เมี้ยน
๙. มิด

เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ (แพ) เกิดเมื่อวันเสาร์ ขึ้น๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีขาล ตรงกับวันที่ ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๓๙๗ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ประวัติเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ ถึงมูลเหตุที่ท่านได้ชื่อว่า “แพ’’ ดังนี้

“ฉันเคยถามเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ว่า ฉันได้ยินเขาว่า ท่านชื่อม่วงอยู่ก่อน ต่อเมื่อจะเข้าไปอยู่ในวังจึงเปลี่ยนชื่อว่า แพ จริงหรือ ท่านตอบว่าความจริงไม่ใช่เช่นนั้น แล้วเลยเล่าถึงถิ่นฐานของท่านต่อไปว่า เดิมพวกสกุลของท่านตั้งบ้านเรือนอยู่ริมแม่นํ้าทางฝั่งธนบุรีด้วยกันทั้งนั้น สร้างบ้านปลูกเรือนอยู่ต่อๆ กันลงมาตั้งแต่คลองใต้บ้านฝรั่งกุฎีจีนจนคลอง ขนอนทางเข้าไปวัดพิชัยญาติทั้ง ๒ ฟาก ข้างหลังบ้านขึ้นไปบนบกก็ทำเป็นสวน เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสวยราชย์ ทรงสถาปนาเจ้าพระยาพระคลัง ปู่ทวดของท่านเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (เรียกกันว่า สมเด็จองค์ใหญ่) ทรงสถาปนาพระยาศรีพิพัฒน์ ปูทวดน้อยของท่านเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (เรียกกันว่า สมเด็จองค์น้อย) และทรงสถาปนาพระยาศรีสุริยวงศ์ จางวางมหาดเล็ก ปู่ของท่านเป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ เสนาบดีที่สมุหพระกลาโหม ทรงพระราชดำริว่า บ้านปู่ของท่านที่อยู่ต่อกับจวนสมเด็จองค์ใหญ่ทางข้างเหนือคับแคบนัก ไม่สมกับเป็นจวนของเสนาบดี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานจวนของเจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงหเสนี) สมุหนายก อันอยู่ทางฟากพระนครที่ริมคลองสะพานหัน (ตรงเวิ้งนาครเกษมบัดนี้) ซึ่งตกเป็นของหลวงเมื่อเจ้าของถึงอสัญกรรมในตอนปลายรัชกาลที่ ๓ ให้เป็นจวนที่อยู่ของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ เวลานั้นบิดาของท่านเป็นที่เจ้าหมื่นไวยวรนาถ ก็อพยพครอบครัวไป อยู่กับบิดาที่บ้านนั้น แต่เหย้าเรือนไม่พอกัน เพราะเรือนที่เจ้าพระยาบดินทร์เดชาสร้างไว้ชำรุดทรุดโทรมอยู่โดยมาก เมื่อแรกไปอยู่ครอบครัวของปู่และบิดาของท่าน ต้องเที่ยวหาที่อาศัยตามแต่จะอยู่ได้ บิดาของท่านไปอาศัยอยู่ที่ฉางข้าว พี่หญิงของท่านคลอดที่นั่นจึงได้ชื่อว่า “ฉาง” ต่อมาเมื่อซ่อมแซมเรือนแพที่ริมคลองแล้วย้ายมาอยู่ที่เรือนแพ ตัวท่านมาคลอดที่นั่นจึงได้ชื่อว่า “แพ”…ข้อที่กล่าวกันว่าท่านชื่อ “ม่วง” นั้น มีเรื่องเมื่อท่านเติบใหญ่ขึ้นจนวิ่งได้แล้ว มียายม่วงคนหนึ่งไปขายขนมที่บ้านเสมอ ท่านชอบกินขนมของยายม่วง จนเห็นว่าแกเป็นช่างทำขนมอย่างวิเศษ อยู่มาวันหนึ่งเวลานั่งเล่นอยู่ด้วยกันในพวกเด็กๆ เกิดถามกันขึ้นว่าใครอยากเป็นอะไร คนนั้นก็ว่าอยากเป็นนั่น คนนี้ก็ว่าอยากเป็นนี่ไปต่างๆ เมื่อถามมาถึงตัวท่าน ท่านตอบว่าอยากเป็นยายม่วง พวกเด็กๆ พี่น้องเห็นขันก็เลยเรียกท่านว่า “ม่วง” ล้อเล่นอยู่คราวหนึ่งหาใช่ชื่อจริงของท่านไม่”

พ.ศ. ๒๔๐๙ เมื่อเจ้าคุณพระประยูรวงศ์อายุได้ ๑๓ ปี สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ผู้เป็นปู่ ได้พาเข้าถวายตัวรับราชการฝ่ายใน โดยพาไปฝากกับเจ้าจอมมารดา เที่ยง พระสนมเอกในรัชกาลที่ ๔ เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ได้ไปอยู่กับพระเจ้าลูกเธอพระองศ์เจ้าโสมาวดีศรีรัตนราชธิดา ซึ่งต่อมาได้รับสถาปนาเป็นกรมหลวงสมรรัตนสิริเชษฐ์ การเข้าไปอยู่ในวังครั้งนี้เป็นเพราะโชควาสนาบันดาลหรือที่ภาษา ชาวบ้านเรียกกันว่าบุพเพสันนิวาส ทำให้เจ้าคุณพระประยูรวงศ์พบรักกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ดังที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราซานุภาพ ทรงบรรยายไว้ในประวัติเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ว่า

“เรื่องประวัติของเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ผิดกับนักสนมนารีคนอื่นๆ ในรัชกาลที่ ๕ ด้วยตัวท่านกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้รักใคร่ติดพันกันเองอยู่แล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงตรัสขอมาเป็นสะใภ้หลวง พระราชทานพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตั้งแต่ยังเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ แล้วอยู่ด้วยกันมาจนเสด็จเสวยราชย์ เรื่องประวัติตอนนี้ท่านจำไว้มั่นคงราวกับฝังอยู่ในใจท่านเป็นนิจ”

และอีกตอนหนึ่งว่า

“ฉันถามท่านว่า ฉันได้ยินเขาว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ แรกทอดพระเนตรเห็นท่าน เมื่อออกไปดูงานพระเมรุที่ท้องสนามหลวง โปรดติดพระหฤทัยตั้งแต่ยังไม่ทรงรู้จักว่าใคร แล้วจึงสืบรู้ชื่อและสกุลของท่านเมื่อภายหลัง จริงหรืออย่างไร ท่านว่า ไม่ได้เป็นเช่นนั้น เรื่องที่จริงนั้น ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นไป ประทับอยู่วังหน้า ดำรัสสั่งให้ละครวังหลวงขึ้นไปเล่นให้พวกชาววังหน้าดู (ฉันสันนิษฐานว่า เห็นจะเป็นเมื่อเดือน ๕ ปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๑๐) เวลานั้นท่านออกไปอยู่บ้าน พระองค์ใหญ่โสมมีรับสั่งให้คนไปรับท่านเข้ามาดูละคร วันนั้นเป็นครั้งแรกที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทอดพระเนตรเห็นท่านเมื่อถือหีบหมากเสวยตามพระองค์ใหญ่โสมไปวังหน้า เวลาดูละครตัวท่านนั่งอยู่ใกล้ๆ กับคนบอกบทตรงหน้าพลับพลา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ประทับอยู่บนพลับพลาเห็นมักทอดพระเนตรมาทางตัวท่านบ่อยๆ แต่ท่านก็ไม่รู้ว่าทรงมุ่งหมายที่ตรงตัวท่าน ดูละครแล้วก็กลับออกไปบ้านในเย็นวันนั้น แต่ประหลาด อยู่ที่ในค่ำวันนั้นจะเป็นด้วยบุรพนิมิตสังหรณ์หรืออย่างไรไม่ทราบ พอนอนหลับก็ฝันไปว่า มีงูตัวหนึ่งโตใหญ่หัวเหมือนพระยานาคที่เขาเขียนไว้ตัวมีเกล็ดสีเหลืองทั้งตัวตรงเข้ามาคาบที่กลางตัวท่าน แล้วเลื้อยพาไปทิ้งไว้ตรงหน้าเรือนเก่าที่ท่านเคยอยู่ ความฝันนั้นยังจำได้มั่นคง แต่เวลานั้นตัวท่านยังไม่รู้เรื่องบุรพนิมิตที่เขาถือกัน พอเช้าขึ้นไปที่บ้านคุณเล็กพี่สาว ซึ่งแต่งงานใหม่ ไปเล่าความฝันให้พวกผู้ใหญ่ฟังตามซื่อ ด้วยเห็นว่าแปลกประหลาดไม่เคยฝันเช่นนั้นมาแต่ก่อน พวกผู้ใหญ่ที่ได้ฟังเขาแลดูกันแล้วหัวเราะขึ้นฮาใหญ่ ท่านก็ยังไม่เข้าใจว่าเขาเห็นขันอย่างไรจึงหัวเราะฮากันเช่นนั้น

ท่านทราบเมื่อภายหลังว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทอดพระเนตรเห็น ท่านก็โปรด แต่ไม่ทรงทราบว่าเป็นใคร เข้าพระทัยแต่ว่าอยู่กับพระองค์ใหญ่โสม วันรุ่งขึ้น ตรัสถามพระองค์ใหญ่โสม จึงทรงทราบ แล้วตรัสขอให้พระองค์ใหญ่โสม ทรงคิดอ่านให้ได้ ทอดพระเนตรอีกครั้งหนึ่ง ครั้นวันกลางเดือนหก ปีเถาะนั้น พระองค์ใหญ่โสมตรัสชวนท่านให้ไปดูงานพิธีวิสาขะบูชา ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตัวท่านไม่รู้เรื่องอะไรก็ยินดีที่จะไป พระองค์ใหญ่โสมตรัสสั่งให้พี่เลี้ยงพาท่านไปนั่งดูเดินเทียนที่ตรงบันไดข้างหลังพระอุโบสถ เวลาเดินเทียนค่ำวันนั้น ท่านเห็นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงเดินเทียนถึงที่ท่านนั่งอยู่ทีไร ก็ทรงเพ่งพิศแต่ที่ตัวท่านทุกรอบจนผิดสังเกต จึงเริ่มรู้สึกว่าชรอยจะโปรดตัวท่านมาแต่ค่ำวันนั้น ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ พอเสด็จงานวิสาขะบูชาแล้ว ตรัสกระซิบขอเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ต่อพระองค์ใหญ่โสมฯ ก็ยอมถวายไม่ขัดขวาง แล้วตรัสบอกให้ท่านรู้ตัวด้วยว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ โปรดจะใคร่ได้เป็นหม่อมห้าม ตรงนี้คิดดูชอบกล ถ้าหากเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ไม่รักพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ
เมื่อพระองค์ใหญ่โสมตรัสบอกให้รู้ตัว ก็คงจะบอกแก่ผู้ใหญ่ในสกุลให้มารับไปบ้านเสียให้พ้นภัย ทื่รู้แล้วนิ่งอยู่ชวนให้เห็นว่า ฝ่ายท่านก็เกิดรักใคร่ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ตั้งแต่วันเดินเทียนวิสาขะบูชาเหมือนกัน จึงเริ่มเรื่องติดพันกันมา”

ในที่สุดพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ ใน พ.ศ. ๒๔๑๐ และประทับอยู่ที่พระตำหนักสวนกุหลาบในพระบรมมหาราชวังนั้น หลังจากอภิเษกได้ ๓ เดือน เจ้าคุณพระประยูรวงศ์เริ่มตั้งครรภ์ จึงต้องหาสถานที่ที่จะคลอดเนื่องจากธรรมเนียมราชประเพณีสามัญชน จะคลอดในพระราชวังไม่ได้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานวังอันเป็นที่เสด็จประพาส ณ สวนนันทอุทยาน ริมคลองมอญฝั่งธนบุรีให้เป็นทประทับ จนกระทั่งเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ครรภ์แก่ได้ ๗ เดือน จึงประสูติพระธิดา นับเป็นพระราชธิดาที่เกิดก่อนเสวยราชย์

พ.ศ. ๒๔๑๑ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตด้วยประชวรพระโรคไข้ป่า หลังจากเสด็จทอดพระเนตรสุริยุปราคาที่ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติในเวลาต่อมา เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ก็เปลี่ยนฐานะจากหม่อมห้าม เป็นเจ้าจอมมารดา จึงได้ย้ายจากพระตำหนักสวนกุหลาบเข้าไปอยู่ในพระบรมมหาราชวัง

จากการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเสวยราชสมบัติในครั้งนี้ เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ในฐานะที่เป็นคู่ทุกข์คู่ยากมาแต่เดิมจึงต้องเปลี่ยนฐานะและการวางตนใหม่ ซึ่งท่านทราบดีว่าในฐานะพระมหากษัตริย์คงจะต้องมีพระสนมคนอื่นๆ แวดล้อมอีกมาก เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ก็ปฏิบัติตนได้อย่างดี แม้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงเกรงใจ และยังเป็นที่เคารพนับถือเป็นที่ยำเกรงแก่พระบรมวงศานุวงศ์และบุคคลทั่วไปตลอดรัชกาลที่ ๕ และรัชกาลต่อๆ มาอีกด้วย สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าว่า

“ตรงนี้จะพรรณนาว่าแต่ด้วยประวัติของเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ก่อน พิเคราะห์ดูเหมือนเมื่อแรกท่านได้เป็นพระสนมเอก แทนที่จะอิ่มใจกลับได้พบความลำบากใจมิใช่น้อย เริ่มต้นแต่ในการบรมราชาภิเษกก็ถวายนักสนมนารีสำหรับปฏิบัติบำเรอพระเจ้าอยู่หัวเป็นหมู่ใหญ่ ตัวท่านติดพระองค์มาเหมือนอย่างพระจันทร์ที่โคจรอยู่รอบมนุษย์โลกแต่ดวงเดียว มากลายเป็นดาวดวงหนึ่งในจักรวาลอันรายล้อมดวงพระจันทร์อยู่ในท้องฟ้า นอกจากนั้น ยังมีท้าวนางบังคับบัญชาฝึกหัดให้เข้าแบบแผนนางในครั้งรัชกาลที่ ๓ ตัวท่านเองเคยฝึกหัดอบรมแต่ตามแบบแผนรัชกาลที่ ๔ และไม่เคยอยู่ในบังคับท้าวนางเหล่านั้นมาแต่ก่อน คงรังเกียจและเกิดลำบากใจเป็นธรรมดา ตัวท่านมีแต่พระเจ้าอยู่หัวเป็นที่พึ่งก็ได้แต่กราบทูลปรับทุกข์ร้อน ถ้าหากว่าเรื่องตามที่ฉันเคยได้ยินมาตรงตามความจริง น่าสรรเสริญเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ที่ท่านสามารถแก้ไขให้พ้นความลำบากด้วยสติปัญญาของท่านในครั้งนั้น เขาเล่าว่า ท่านกราบทูลพระเจ้าอยู่หัวว่าพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์จะมีพระสนมกำนัลมากสักเท่าใด ท่านก็ไม่เคียดขึ้งหึงหวงและไม่ปรารถนาจะมีอำนาจว่ากล่าวบังคับบัญชาผู้หนึ่งผู้ใด ขอแต่ให้ได้สนองพระเดชพระคุณเหมือนอย่างเมื่อเสด็จอยู่พระตำหนักสวนกุหลาบเท่านั้นก็พอใจ พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานพรดังท่านประสงค์ ตรัสห้ามมิให้ท้าวนางไปว่ากล่าวรบกวนเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ แล้วทรงสร้างพระที่นั่งเย็น เป็นที่สำราญพระราชอิริยาบถขึ้นหลังหนึ่งทางด้านตะวันออกพระมหามณเฑียร ให้แต่เจ้าคุณพระประยูรวงศ์คนเดียวเป็นผู้ปฏิบัติเมื่อเสด็จอยู่พระที่นั่งเย็นนั้น ท่านเล่าว่ามีแต่ตัวท่านคนเดียวที่นุ่งโจงขึ้นเฝ้าได้เสมอมิต้องเปลี่ยนนุ่งจีบตามแบบรัชกาลที่ ๓ นอกจากนั้นทรงพระกรุณาโปรดให้สร้างตำหนักหมู่ใหญ่พระราชทานเจ้าคุณพระประยูรวงศ์อีกแห่งหนึ่งข้างหลังพระมหามณเฑียรตรงที่เคยเป็นตำหนักพระสนมเอกครั้งรัชกาลที่ ๑ และที่ ๒ ผู้ที่เป็นนางในทันได้รู้เห็นเขาเล่าว่า ตั้งแต่เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ได้พระราชทานพรดังกล่าวมาแล้ว ท่านก็ถือว่าเป็นหน้าที่ของท่านที่จะปฏิบัติพระเจ้าอยู่หัวในบางเวลา คือเวลาเช้าตื่นบรรทม ท่านถวายเครื่องสำอางค์อย่างหนึ่ง ตั้งเครื่องพระกระยาหารต้มอย่างหนึ่ง เมื่อ เสวยเสร็จเสด็จออกจากห้องบรรทม ก็เป็นสิ้นหน้าที่ของท่านในตอนเช้า กลับลงไปตำหนักเสียครั้งหนึ่ง ถึงเวลากลางวันเมื่อนักสนมตั้งเครื่องถวายพระเจ้าอยู่หัวเสวยเสร็จแล้ว สิ้นเวลาคนเฝ้าแหน ท่านจึงขึ้นไปคอยรับใช้ในเวลาทรงพักพระราชอิริยาบถอีกเวลาหนึ่ง เมื่อเสด็จออกตอนบ่ายท่านก็กลับตำหนัก ไม่ขึ้นไปพระมหามณเฑียร จนเวลากลางคืนเมื่อพระเจ้าอยู่หัวเข้าที่บรรทมแล้ว ท่านจึงเข้าไปนอนในห้องที่บรรทมอยู่จนเช้า ตั้งเครื่องพระสำอางค์เหมือนวันหลัง นอกจากกินตามเวลาที่กล่าวมา เขาว่าท่านไม่เข้าไปเกี่ยวข้องในหน้าที่ของผู้อื่น ใครจะเฝ้าแหนหรือพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปประทับที่ไหน ท่านก็ไม่เข้าไปกีดขวาง เล่ากันมาอย่างนี้”

เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ มีพระราชธิดาทั้งสิ้น ๓ พระองค์ ได้แก่

๑. พระองค์เจ้าศรีวิลัยลักษณ์สุนทรศักดิ์กัลยาวดี (กรมขุนสุพรรณภาควดี) ประสูติ ณ สวนนันทอุทยาน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๑ (ประสูติในขณะที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ)

๒. พระองค์เจ้าสุวพักตร์วิไลพรรณ ประสูติ ณ พระบรมมหาราชวัง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๖

๓. พระองค์เจ้าบัณฑรวรรณวโรกาส ประสูติ ณ พระบรมมหาราชวัง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๘

เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ได้รับพระราชทานเครื่องยศเครื่องราชอิสริยาภรณ์ อันพระสนมเอกจะพึงได้ทุกตระกูล นอกจากนี้ยังได้สิทธิพิเศษเหนือพระสนมคนอื่นๆ อีกด้วย แม้ในรัชกาลต่อๆ มาก็ได้รับพระราชทานเหรียญ เครื่องยศ และเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันนางในจะพึงได้ทุกประการอีกด้วย ดังนี้

รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
๑. ได้รับพระราชทานเครื่องยศนักสนมชั้นที่ ๑ ที่เรียกว่า “พระสนมเอก” เป็นพานทองและหีบหมากลงยา ซึ่งเป็นพานหมากมีเครื่องในทองคำกับกระโถนทองคำใบหนึ่ง ตามแบบเครื่องยศในรัชกาลที่ ๔ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าว่า มีแต่ท่านคนเดียวที่ได้รับพระราชทานเครื่องยศพระสนมเอกตามแบบรัชกาลที่ ๔ ทั้งพานทองและหีบหมากลงยาหลังประดับเพชร และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังโปรดให้ทำหีบหมากขึ้นใหม่ เขื่องกว่าใบเก่าประดับเพชรทั้งที่ขอบฝาและเป็นตราพระเกี้ยวยอดอยู่บนพานสองชั้นกับฉัตรสองข้างบนหลังหีบ พระราชทานเพิ่มอีกใบหนึ่ง

๒. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้เปลี่ยนเครื่องในพานทองเป็นลงยาราชาวดี ซึ่งถือว่ามียศสูงกว่าพระสนมกำนัลทั้งปวง

๓. พ.ศ. ๒๔๑๖ ได้รับพระราชทานกล่องหมากเครื่องยศชั้นปฐมจุลจอมเกล้า ซึ่งเป็นเครื่องยศที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างพระราชทานแก่เจ้านายและข้าราชการฝ่ายใน

๔. พ.ศ. ๒๔๓๖ ได้รับพระราชทานดวงดารากับสายสะพายชั้นปฐมจุลจอมเกล้า

๕. พ.ศ. ๒๔๔๔ ได้รับพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ ชั้นที่ ๒ อันประดับเพชรรอบขอบเหรียญ

๖. พ.ศ. ๒๔๔๗ ได้รับพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ ๔ ชั้นที่ ๔

นอกจากนี้ยังได้รับพระราชทานตลับสิบปี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๐ กล่องหมากยี่สิบปี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๐ และหีบหมากสามสิบปี ชั้นที่ ๑ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐ มาโดยลำดับ สิ่งดังกล่าวเหล่านี้จะพระราชทานให้แก่เจ้าจอมผู้รับราชการสนองพระเดชพระคุณได้ถึง ๑๐, ๒๐ และ ๓๐ ปี ตามลำดับ ดังนี้

-รับราชการ ๑๐ ปี ได้รับพระราชทานตลับเครื่องในกล่องหมากชุดหนึ่ง ๓ ใบ

-รับราชการ ๒๐ ปี ได้รับพระราชทานกล่องหมากสำหรับใช้กับเครื่องในที่ได้พระราชทานแล้ว

-รับราชการ ๓๐ ปี ได้รับพระราชทานหีบหมากซึ่งสร้างขึ้นโดยเฉพาะพร้อมด้วยตลับเครื่องใน สำหรับหีบนั้นอีก ๓ ใบ แบ่งเป็น ๒ ชั้น
ชั้นที่ ๑ ทำด้วยทองคำลงยาประดับเพชร ชั้นที่ ๒ ทำด้วยเงินกาไหล่ทอง

รัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
๑. พ.ศ. ๒๔๕๓ได้รับพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ ๖ ชั้นที่ ๒ และ พ.ศ. ๒๔๕๗ ได้รับพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลที่ ๖ ชั้นที่ ๑

๒. พ.ศ. ๒๔๖๑ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาวชิรมงกุฎประดับเพชร

รัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
พ.ศ. ๒๔๖๘ ได้รับพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ ๗ ชั้นที่ ๒

เจ้าคุณพระประยูรวงศ์เป็นบุคคลที่ได้รับความเคารพนับถือจากบุคคลทั้งในพระราชวงศ์และบุคคลทั่วไปมาโดยตลอด ทั้งยังเป็นผู้ทำหน้าที่เบิกพระโอษฐ์ให้แก่พระเจ้าลูกยาเธอ (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและเจ้าฟ้าหญิงเพชรรัตนราชสุดาสิริโสภาพัณณวดี) กล่าวคือถวายนมให้ทรงประเดิมดูดเมื่อแรกประสูติ และประสิทธิ์สิริมงคลต่างๆ ให้แก่พระราชวงศ์ เมื่อเจ้าคุณพระประยูรวงศ์มีอายุครบรอบ ๖๐ และ ๗๐ ปี พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปร่วมในงานฉลองด้วย แม้กระทั่งเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยแล้วก็ตาม เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ ก็ยังได้รับเชิญให้เป็นประธานมอบรางวัลต่างๆ จากรัฐบาล และสมาคมต่างๆ อยู่เสมอ

คำประกาศเลื่อนเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ จากเจ้าคุณจอมมารดาแพเป็นเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๔ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ย่อมเป็นประจักษ์พยานอย่างดีถึงคุณความดีที่ท่านบำเพ็ญไว้นานาประการ ตั้งแต่เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ดำรงตำแหน่งหม่อมห้าม ใน พ.ศ. ๒๔๑๐ เจ้าจอมมารดา ใน พ.ศ. ๒๔๑๑ เจ้าคุณจอมมารดา ใน พ.ศ. ๒๔๔๗ และในที่สุดพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการให้เลื่อนเจ้าคุณจอมมารดาแพเป็น เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ ใน พ.ศ. ๒๔๖๔ ดังคำประกาศในราชกิจจานุเบกษา ดังนี้

“คำประกาศ”
เลื่อนเจ้าคุณจอมมารดาแพขึ้นเป็นเจ้าคุณพระประยูรวงศ์

มีพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่าเจ้าคุณจอมมารดาแพ เป็นผู้ที่ได้มีความดีความชอบมาเป็นอันมาก เริ่มต้นแต่สมเด็จพระบรมไอยยิการราชได้ดำรัสขอมาพระราชทาน เป็นบริจาริกในสมเด็จพระบรมชนกนาถเมื่อดำรงอยู่ในพระอิสริยยศสมเด็จเจ้าฟ้า กรมขุน พินิตประชานาถ ได้เป็นผู้ร่วมทุกข์ร่วมสุขตลอดมาแต่ในรัชกาลที่ ๔ ครั้นเมื่อได้เถลิงถวัลย์ราชสมบัติแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ชุบเลี้ยงไว้ในตำแหน่งพระสนมเอกเป็นเจ้าจอมมารดาผู้ใหญ่ ได้รับราชการฉลองพระเดชพระคุณด้วยความซื่อตรงจงรักภักดีสุจริต เป็นที่ ไว้วางพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่งยั่งยืนตลอดมา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกย่องให้มียศบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าคุณจอมมารดา เมื่อวันที่ ๒๑เมษายน พ.ศ. ๒๔๔๗ มีความดีความชอบแจ้งอยู่ในกระแสพระบรมราชโองการนั้นแล้ว เจ้าคุณจอมมารดาแพเป็นผู้มีหฤทัยสัตย์ซื่อ มั่นคงอยู่ในความกตัญญูกตเวที ต่อพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสมอมาตลอดจนสิ้นรัชกาลที่ ๕

แต่ส่วนความดีความชอบของเจ้าคุณจอมมารดาแพ ซึ่งได้มีมาแล้วเฉพาะในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท เริ่มแต่พระบรมราชสมภพได้เป็นผู้เบิกพระโอษฐ์ปฐมฤกษ์แห่งความเจริญพระราชศิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลเป็นเบื้องต้นสืบมา และทั้งเจ้าคุณจอมมารดาแพ มีความจงรักภักดีเฉพาะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ตั้งแต่ทรงพระเยาว์มาเป็นอย่างยิ่ง จนได้ทรงคุ้นเคยสนิทแต่ดั้งเดิมมา ครั้นได้เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติแล้วทรงประจักษ์แก่พระราชหฤทัยว่าเจ้าคุณจอมมารดาแพ มีความจงรักสวามีภักดิ์ต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทยั่งยืนเสมอ มีกมลจิตร์ ซื่อสัตย์สุจริตนับถือพระบรมราชวงศ์และโอบอ้อมอารีย์แก่ญาติวงศ์ ตลอดจนข้าทูลละอองธุลีพระบาททั่วไป ประกอบทั้งมีอัธยาศัยและมารยาทเรียบร้อยเป็นอันดี สมกับที่เป็นผู้ได้เนื่องอยู่ในราชินิกุลอันมีศักดิ์เป็นที่ทรงเคารพนับถือนัก สมควรจะเลื่อนยศบรรดาศักดิ์เพิ่มเกียรติยศให้ยิ่งขึ้น

จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้เลื่อนบรรดาศักดิ์เจ้าคุณจอมมารดาแพขึ้นเป็น “เจ้าคุณพระประยูรวงศ์” จงเจริญชนมายุพรรณสุข พล ศิริ สวัสดิ์พิพัฒนมงคลธนสารสมบัติบริวารสมบูรณ์ทุกประการเทอญ

พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ดำรัสสั่ง ณ วันที่ ๒๖ กันยายน พระพุทธศักราช ๒๔๖๔ เป็นปีที่ ๑๒ ในรัชกาลปัจจุบัน”

นอกจากนี้เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ ยังเป็นบุคคลที่นำสมัย และเป็นผู้นำการแต่งกายสมัยใหม่ ในขณะที่บ้านเมืองกำลังอยู่ในยุคของการเปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมประเพณี เพื่อให้ชาติตะวันตกเห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอารยธรรม และความเจริญแล้วเช่นกัน

ประการแรก เลิกไว้ผมปีก ซึ่งเป็นที่นิยมกันในยุคนั้นมาไว้ผมยาวแทน

ประการที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้เปลี่ยนเครื่องแต่งกายของผู้หญิงใหม่ เลิกนุ่งจีบเปลี่ยนเป็นนุ่งโจงกระเบนและใส่เสื้อแขนยาวชายเสื้อเพียงบั้นเอว ห่มแพรสไบเฉียงบ่านอกเสื้อ สวมรองเท้าบู๊ทและถุงเท้าหุ้มตลอดน่อง ต่อมาโปรดให้นางในขี่ม้าตามเสด็จ ตรัสสั่งให้เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ นำนางในขี่ม้า การขี่ม้าจึงต้องเปลี่ยนแปลงเครื่องแต่งกาย โดยห่มแพรแทนห่มสไบเฉียงและใส่หมวก “เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ จึงออกหน้านำใช้แบบแต่งตัวสะพายแพรเหมือนเช่นเคยนำเลิกตัดผมปีกอีกครั้งหนึ่ง แล้วเลยปล่อยปลายผมให้ยาวลงมาถึงชายบ่า ด้วยสมัยนั้นเจ้าคุณพระประยูรวงศ์จึงได้เป็นผู้นำแบบแต่งตัว Leader of Fashion ของนางในอยู่นาน”

แม้กระทั่งในสมัยหลังเมื่อครั้งจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เปลี่ยนแปลงแก้ไขวัฒนธรรมของไทย (พ.ศ. ๒๔๘๔) โดยการชักชวนให้สตรีไทยเปลี่ยนจากตัดผมสั้นเป็นไว้ผมยาว จากนุ่งผ้าโจงกระเบนเป็นนุ่งผ้าถุงและใส่หมวก ใส่รองเท้า เป็นต้น เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ก็ได้รับการทาบทามให้เป็นผู้นำในการแต่งกายอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งมีผลให้มีผู้อื่นปฏิบัติตามอย่างแพร่หลายเหมือนอย่างครั้งสมัยรัชกาลที่ ๕

จะเห็นได้ว่าเจ้าคุณพระประยูรวงศ์เป็นผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่บ้านเมืองในฐานะผู้สนับสนุนช่วยเหลือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในการแก้ไขขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ เพื่อให้ทัดเทียมกับชาติตะวันตก นับเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศในยุคที่ชาติตะวันตกกำลังล่าอาณานิคม และแม้แต่ในยุคที่ เปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วก็ตาม ท่านก็ยังมีส่วนช่วยส่งเสริมชาติบ้านเมืองในด้านวัฒนธรรมอีกครั้งหนึ่ง และแม้แต่ในด้านสุขอนามัยเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ได้บริจาคเงินสร้างสุขศาลาขึ้นหลังหนึ่ง พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ไฟฟ้า นํ้าประปา รั้ว และถนน ตลอดจนเรือนพนักงาน ภารโรง เป็นอนุสรณ์ในขณะที่ท่านมีอายุครบ ๘๐ ปี จากการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ในครั้งนี้ เป็นผลให้ราษฎรได้รับการบรรเทาทุกข์จากการเจ็บไข้ได้ป่วยสมดังเจตนารมณ์ของผู้สร้างสุขศาลาแห่งนี้ได้รับการขนานนามว่า “ศาลาเจ้าคุณพระประยูรวงศ์” เปิดทำการเมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๘ (ตั้งอยู่ข้างโรงเรียนศึกษานารี ปัจจุบันรื้อแล้ว)

โดยอุปนิสัยส่วนตัวท่านเป็นบุคคลที่มีจิตใจเข้มแข็งและกล้าหาญแม้จะชราภาพแล้วก็ตามก็ยังรักษาสุขภาพด้วยการไปเที่ยวพักผ่อนในต่างจังหวัดและต่างประเทศเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เคยขึ้นเครื่องบินกลับจากบันดุงประเทศอินโดนีเซีย แม้ขณะนั้นจะมีอายุ ๘๐ ปีแล้วก็ตาม และแม้กระทั่งครั้งสุดท้ายก่อนที่ท่านจะถึงแก่พิราลัยท่านก็ล่องเรือแปรสถานไปที่วัดเสาธงทอง จังหวัดนนทบุรี ตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ และเริ่มมีอาการป่วยในเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๘๖ รักษาพยาบาลจนหายป่วยในเดือนกุมภาพันธ์ และเริ่มมีอาการอ่อนเพลียอีกในเดือนมีนาคม จึงล่องเรือกลับกรุงเทพฯ จอดเรือ ณ บ้านหม่อมหลวงอนิรุทธเทวา จนกระทั่งวันที่ ๒๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๖ ก็สิ้นใจด้วยมีไข้สูงถึง ๑๐๓ องศา และอ่อนเพลียมาก อัญเชิญพระศพกลับไปที่ตำหนักสวนสุพรรณ ซึ่งเป็นที่พำนักของท่านครั้งรัชกาลที่ ๕ ทรงสร้างไว้ให้แก่เจ้าจอมมารดาที่ไม่มีพระโอรส (พ.ศ. ๒๔๔๗)

เจ้าคุณพระประยูรวงศ์มีอายุได้ ๘๙ ปี ๔ เดือน พระราชทานเพลิงที่พระเมรุในสุสานหลวง วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๖

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: เบญจมาส แพทอง