เครื่องหมายประกอบในการเรียงความ

Socail Like & Share

เครื่องหมายวรรคตอนโบราณ  ในการเรียบเรียงภาษาเป็นลายลักษณ์อักษรนั้น จะต้องมีเครื่องหมายต่างๆ ประกอบด้วย เพื่อจะให้อ่านได้ถูกต้องตามต้องการ ดังนั้นเครื่องหมายวรรคตอนจึงนับว่าเป็นข้อสำคัญส่วนหนึ่งในการเรียงข้อความ ซึ่งผู้ศึกษาภาไทยควรรู้ ดังนั้นจึงนำเอาเครื่องหมายวรรคตอนโบราณมากล่าวก่อนดังนี้

หนังสือโบราณของไทยเรามี ๒ อย่าง คือ เป็นใบลานซึ่งจารึกพระธรรมหรือตำราบางอย่างที่นับถืออย่างหนึ่ง และเป็นสมุดไทยหรือกระดาษเพลา๑ ซึ่งใช้เขียนเรื่องราว เช่น กฎหมายตลอดไปจนเรื่องราวต่างๆ ของชาวเมืองอีกอย่างหนึ่ง จึงทำให้ใช้เครื่องหมายวรรคตอนแตกต่างกันไปบ้าง แล้วแต่สะดวกในการเขียน ดังนี้

ก. หนังสือใบลาน  ใช้เครื่องหมายวรรคตอน ๓ อย่าง คือ (๑) เว้นวรรค คือ เมื่อหมดความตอนหนึ่งๆ แต่ยังไม่จบประโยค ก็ใช้เว้นวรรคเป็นระยะไป (๒) เมื่อหมดประโยคหนึ่งก็ใช้เครื่องหมาย ขั้นเดี่ยว ดังนี้ ฯ๒ เรื่อยไป (๓) เมื่อจบเรื่องความใหญ่ก็ใช้ขั้นคู่ ดังนี้ ๚ เป็นต้น

ข. หนังสือสมุดไทยหรือกระดาษเพลา  นิยมใช้เครื่องหมาย ฟองมัน รูปดังนี้ ๏๓ ขึ้นต้นบทย่อย อย่างเดียวกับขั้นเดี่ยวในใบลานและใช้ ฟองมัน ฟันหนู ดังนี้ ๏” ขึ้นต้นข้อใหญ่ และเมื่อจบข้อใหญ่ ก็ใช้ขั้นคู่ ๚ แล้วขึ้น ๏” ต่อไปใหม่ และเมื่อจบตอนใหญ่กว่านั้นก็ใช้ดังนี้ ๚ และเมื่อจบเรื่องทีเดียวก็ใช้เครื่องหมายโคมูตร (เยี่ยวโค) เติมท้ายดังนี้ ๚ะ ๛ ส่วนการเว้นวรรคในระหว่างก็ใช้เช่นเดียวกัน ข้อสำคัญ คือ เว้นวรรคให้เหมาะกับการกลั้นหายใจของผู้อ่าน
………………………………………………………………………………………….
๑ กระดาษเพลา คือกระดาษโบราณที่ไทยทำขึ้นใช้เอง โดยมากทำด้วยเปลือกข่อย ดังนั้นบางทีก็เรียก กระดาษข่อย และสมุดไทยที่ทำด้วยกระดาษนี้ บางทีก็เรียกว่า สมุดข่อย

๒ เครื่องหมายนี้ครูสอนให้เรียก อังคั่น (จะเป็น องคันต์ ว่า สุดตอน กระมัง) ท่านตายเสียนานแล้ว สืบก็ไม่ได้ความ จึงใช้เพียง ขั้น ตามภาษาไทย

๓ ๏ ฟองมัน เขมรว่า ฟองมัน-ไข่ไก่ และฟองมันฟันหนู ๏” เรียกตามมูลบทแต่ในประถมมาลาท่านเรียกเครื่องหมายที่อยู่บนฟองมันว่า ฝนทอง เช่น “ฟองมันอยู่ต้น ฝนทองอยู่บน อนุสนธิ์สารศรี” แต่ ฝนทอง เป็นเครื่องหมายเขียนขีดเดียว (l) ที่กล่าวมานี้ท่านจะใช้ขีดเดียวเป็น ๏ กระมัง แต่ก็ไม่เคยเห็น ควรใช้ตามที่ใช้กันมากคือ ๏”
………………………………………………………………………………………….
หมายเหตุ  เครื่องหมายขั้น ในสันสกฤตเขาใช้เขียนท้ายประโยคเป็นรูปขีดลงดังนี้ l แต่เขาใช้เขียนข้างหน้าก็มี เช่น l นมตฺถุ l เฉพาะขึ้นต้น ต่อไปก็ใช้คล้ายคลึงกับของเรา  เมื่อจบข้อความจึงจะใช้ขั้นคู่ แต่ของเขาใช้ในคำประพันธ์ คือกึ่งโศลกหรือคาถาใช้ขั้นเดี่ยว l เมื่อจบโศลกใช้ขั้นคู่ดังนี้ l l เป็นพื้นส่วนคำประพันธ์ที่ใช้ในสมุดไทยของเราใช้อย่างข้อ ข. ที่กล่าวแล้ว แต่ถ้าใช้กำหนดบรรทัดด้วย เช่น โคลงสี่ใช้บาทละบรรทัด ๔ บรรทัดจบบทหนึ่ง ดังนี้ เราใช้ฟองมันขึ้นต้น แล้วใช้ขั้นเดี่ยวลงท้าย เมื่อจบโคลงบทหนึ่งๆ ต่อจบโคลง ๔ ทั้งหมดจึงใช้ขั้นคู่ ๚ หรือจะแถมวิสรรชนีย์ ๚ะ ด้วยก็ได้เมื่อจบข้อความสำคัญยิ่งขึ้นไป และเมื่อจบเรื่องก็ใช้โคมูตรแถมท้าย ๚ะ ๛ ดังกล่าวแล้ว

หรือจะใช้ขึ้นต้นด้วยย่อหน้า และเมื่อจบใช้มหัพภาค . ตามเครื่องหมายแบบใหม่ซึ่งจะกล่าวต่อไปนี้ก็ได้

เครื่องหมายวรรคตอนปัจจุบัน  เครื่องหมายวรรคตอนแบบใหม่นี้ ตั้งขึ้นตามแบบภาษาอังกฤษ ซึ่งเขาใช้ตัวอักษรโรมัน เขียนหมดคำหนึ่งก็เว้นวรรคทีหนึ่ง เขาจึงจำเป็นต้องมีเครื่องหมายจุกจิกมาก ตามที่ท่านตั้งชื่อไว้ในตำราเครื่องหมายวรรคตอนของกระทรวงศึกษาธิการ ดังนี้
silapa-0309
ที่คัดมาทั้งหมดนี้ ต้องการให้รู้จักชื่อที่ใช้กันในภาษาไทยเป็นข้อใหญ่ ที่จริงเครื่องหมายเหล่านี้หาได้ใช้หนังสือไทยทุกอย่างไม่ เพราะหนังสือไทยเราไม่ได้เขียนเว้นระยะคำอย่างเขา ดังนั้นเราจึงเลือกใช้แต่เฉพาะบางอย่าง ซึ่งเหมาะแก่การเขียนของเรา  ดังจะคัดมาอธิบายเฉพาะที่เราจำเป็นจะต้องใช้ให้ทราบย่อๆ ดังต่อไปนี้

(ถ้าต้องการทราบพิสดาร จงดูในตำราเครื่องหมายวรรคตอนของกระทรวงศึกษาธิการต่อไป)

(๑) จุลภาค (,) บอกเว้นวรรคตอนในประโยคเดียวกัน ตรงกับการใช้เว้นวรรคของเรา  ดังนั้นเราจึงใช้เว้นวรรคของเราแทนอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นใช้ทั่วไป ควรใช้เฉพาะแต่เว้นวรรคที่ปลายบรรทัดเท่านั้น เพื่อให้ผู้อ่านทราบแน่นอนว่าเว้นวรรคตรงนั้น ถึงจะใช้ในที่เว้นวรรคทุกแห่งก็ได้ แล้วแต่ชอบ

(๒) อัฒภาค (;) ใช้ในประโยคซ้อนที่ข้อความมีประโยคแต่งหลายประโยคซับซ้อนกันยืดยาว หรือใช้แยกประโยคเปรียบเทียบออกจากกันให้เห็นชัด แต่ก็ใช้ในที่จบประโยค มหัพภาคจึงไม่ใคร่ใช้ (เครื่องหมายนี้ท่านบอกวิธีใช้ไว้ด้วยเหมือนกัน แต่ไม่เห็นมีใครใช้จึงไม่อธิบาย)

(๓) มหัพภาค (.) ก. ใช้บอกจบประโยค ซึ่งโบราณใช้ขั้นเดี่ยวจะนำมาใช้ในปัจจุบันนี้ก็ได้ เพราะยังมีผู้ใช้อยู่บ้างเหมือนกันแต่ใช้น้อย มหัพภาคนี้ท่านให้ใช้เว้นวรรคแทนก็ได้ แต่ต้องให้ห่างกว่าจุลภาค คะเนว่าจุลภาคเว้น ๒ ชั่วตัวอักษร มหัพภาคต้องเว้น ๖ ชั่วตัวอักษร แต่เป็นการคะเนลำบาก ใช้เครื่องหมายดีกว่า

ข. ในบทประพันธ์ ใช้ขึ้นต้นด้วยการย่อหน้าบรรทัด ที่เรียกว่า มหรรถสัญญา แทนฟองมันของโบราณ และใช้มหัพภาคในท้ายบทประพันธ์ แทนขั้นของโบราณเป็นคู่กันทุกบทไป ไม่จำเป็นจะต้องให้จบประโยคอย่างคำร้อยแก้ว ดังข้อ ก.ข้างบน

ค. ใช้กำกับอักษรย่อ เช่น พ.ศ. จาก พุทธศักราช พ.ร.บ. จาก พระราชบัญญัติ เป็นต้น หรือใช้กับส่วนต้นของคำ ซึ่งย่อส่วนเบื้องปลายไว้ เช่น ย่อชื่อเดือนว่า เม.ย., พ.ค., มิ,ย., ก.ค., ส.ค., ก.ย., ต.ค., พ.ย., ธ.ค., ม.ค., ก.พ., มี.ค., เป็นต้น

ข้อสังเกต  การย่อคำเป็นตัวอักษรนั้น ควรเอาพยัญชนะต้นของคำ หรือวลี มาย่อทุกแห่งไป เช่น มหันตโทษ ควรย่อเป็น ม.ท. (ม. จากมหันต. ท. จากโทษ. ไม่ใช่ ม.ห.) แต่คำที่เป็นสระเข้าสนธิกัน เช่น ชิโนรส (ชิน+โอรส) ควรย่อเป็น ช.’ ร. เครื่องหมายหน้า ( ’ ) แสดงว่าพยางค์หน้าหายไปในคำต้น. ถึงจะย่อว่า ช.อ. ก็ถูกเหมือนกัน แต่คิดค้นยาก สู้ย่อว่าดังนี้ไม่ได้ ค้นง่าย และ บุปฝาราม (บุปผ-อาราม) = บ.’ ร. มหรรณพาราม (มหา+อรรณพาราม)=ม.’ ณ. เป็นต้น

(๔) ปรัศนี (?) เครื่องหมายนี้ ถึงโบราณไม่มีก็จริง แต่บัดนี้เรานิยมใช้แพร่หลายแล้ว จึงจำเป็นต้องใช้ แต่ต้องใช้เฉพาะคำถามเท่านั้น ถึงจะเป็นบทเช่นเดียวกันก็ตาม ถ้าไม่ใช่คำถามก็ไม่ต้องใช้ปรัศนี ดังตัวอย่างต่อไปนี้
silapa-0311 - Copy
และยังมีบทคำถามอีกมาก รวมความว่า ไม้ปรัศนี ต้องใช้ที่สุดประโยคคำถามทุกแห่ง

(๕) อัศเจรีย์ (!) แปลว่าเครื่องหมายบอกความมหัศจรรย์ ใช้ใส่เบื้องหลังคำอุทานที่คนพูดขึ้น เป็นการแสดงอาการต่างๆ เช่น ประหลาดใจ เป็นต้น เช่น โอ! เอ๊ะ! พุทโธ! อนิจจา! เป็นต้น หรือคำอื่นๆ ก็ดี วลีก็ดี และประโยคก็ดี ที่ผู้พูดกล่าวขึ้นด้วยลักษณะอาการคล้ายคำอุทานข้างบนนี้ ก็ใช้ไม้อัศเจรีย์ได้ เช่น ตัวอย่างกล่าวด้วยความตกใจว่า

ไฟ! เสือ! หรือ ตายจริง! แล้วกันท่าน! หรือ ช่วยด้วยเจ้าข้า! เสือมาเจ้าข้า! ไฟไหม้เจ้าข้า! ดังนี้เป็นต้น

ข้อสังเกต  ความมุ่งหมายในการใช้ไม้อัศเจรีย์ ก็ต้องการจะให้ผู้อ่านทำเสียงให้ถูกสำเนียงของคนที่กล่าวขึ้นด้วยความประหลาดใจ หรือตกใจเป็นต้น ซึ่งไม่สามารถจะเขียนให้ถูกต้องด้วยตัวหนังสือได้ จึงใช้เครื่องหมายไม้อัศเจรีย์บอกไว้ข้างท้าย เพื่อให้ผู้อ่านทำเสียงเอาเองให้ถูกกับสำเนียงที่เป็นจริง  ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้อ่านจะต้องอ่านให้ถูกต้องด้วย  ดังได้อธิบายไว้ในอักขรวิธีแล้ว

(๖) นขลิขิต (….) คือเครื่องหมายวงเล็บ ใช้คร่อมข้อความที่ผู้เขียนไม่ต้องการให้อ่านติดต่อกับข้อความนอกวงเล็บ คล้ายกับเป็นคำอธิบายนอกเรื่อง เพื่อให้ผู้อ่านผู้ฟังเข้าใจเป็นส่วนพิเศษ  ซึ่งหมายความว่าท้องเรื่องที่แต่งนั้นไม่ควรมีแต่ต้องการให้ผู้อ่านรู้เรื่องภายนอก จึงเขียนบอกไว้ในวงเล็บเป็นส่วนตัว เช่นตัวอย่าง “ครั้นข้าพเจ้าให้อัฐแก่คนแจวเรือจ้างสองไพ (ครั้งนั้นยังใช้อัฐคือ ๒ ไพเท่ากับ ๔ อัฐ เป็นราคา ๖ สตางค์) แล้วก็ขึ้นบก” ดังนี้ ข้อความในวงเล็บไม่ต้องอ่าน

ข้อสังเกต  ข้อความที่ต้องกรอกไว้ในวงเล็บนั้น ต้องเป็นข้อความที่เห็นว่าใช้ติดต่อกับท้องเรื่องไม่ได้จริงๆ เช่นตัวอย่างฉบับเดิมเขาไม่มี เราใส่ไว้ในวงเล็บเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจ หรือท้องเรื่องของเขาย่อๆ แต่จำเป็นต้องอธิบายให้ผู้อ่านเข้าใจ ครั้นจะเรียงติดต่อกับท้องเรื่องก็เสียสำนวนของเขา เราจึงเติมไว้ให้ในวงเล็บ เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจความอธิบายดังนี้เป็นต้น  จึงควรใช้วงเล็บ ถ้าเป็นเรื่องราวที่เราเรียงเอาเองแล้วไม่ควรให้มีวงเล็บดีกว่า  นอกจากเห็นว่าจำเป็นจริงๆ เท่านั้น

(๗) อัญประกาศ “….” สำหรับใช้คร่อมข้อความที่เป็นเลขใน ที่ใช้กันโดยมากมีเป็น ๒ ชั้น คือข้อความเป็นเลขในชั้นเดียว ก็ใช้อัญประกาศคู่ดังนี้ “….” เรียกว่า อัญประกาศชั้นนอก แต่ข้อความในอัญประกาศชั้นนอกนั้นมีเลขในซ้อนอยู่อีก ก็ใช้อัญประกาศเดี่ยว ดังนี้ ‘….’ เรียกว่า อัญประกาศใน

(๘) ยัตติภังค์ (-) คือเครื่องหมายแยกคำให้ห่างกัน สำหรับใช้ขีดท้ายส่วนต้นของคำ  ซึ่งจำเป็นจะต้องแยกกัน  แสดงว่ายังมีส่วนปลายคำอยู่อีก ตัวอย่างเช่นคำ เรื่องราม-เกียรติ์  เมื่อเขียนได้เพียง เรื่องราม ก็หมดบรรทัด แต่ยังไม่หมดคำจึงใช้ ยัตติภังค์ ขีดไว้ดังนี้ “เรื่องราม-” ซึ่งหมายความว่ายังไม่หมดคำ ต้องอ่านติดกันไปอีกในบรรทัดต่อไป  และอีกอย่างหนึ่งใช้ในคำประพันธ์ ซึ่งเขียนจบวรรคแล้วแต่คำยังไม่หมด จึงต้องเขียนยัตติภังค์ เพื่อแสดงว่ายังไม่หมดคำ เช่นเดียวกับคำสุดบรรทัด ดังตัวอย่างกลบทที่เรียกว่า ยัตติภังค์ ต่อไปนี้

“รื่นรื่นรวยรินหอมกลิ่นเสา- วคนธ์รสรสประทิ่นเหมือนกลิ่นเยาว- ยุพาพี่พี่นี้เฝ้ากระสันรัญ- จวนใจใจจงจำนงพิศ- วงหวังหวังคิด….ฯลฯ”

(๙) ยมก (ๆ) คำ ยมก แปลว่าคู่ หมายความว่าให้อ่านซ้ำอีกครั้งหนึ่ง คือ
ก. ซ้ำคำ-เงาะมักชอบสีแดงๆ อ่าน-สีแดงแดง
ข. ซ้ำวลี-เขามาที่นี่ทุกวันๆ อ่าน-ที่นี่ทุกวันทุกวัน
ค. ซ้ำประโยค-ต่างร้องว่าม้าดำชนะๆ อ่านว่า-ม้าดำชนะ ม้าดำชนะ เป็นต้น

ข้อสังเกต  การที่จะรู้ว่าจะต้องอ่านซ้ำคำซ้ำวลีหรือซ้ำประโยคนั้น ต้องอาศัยถ้อยคำที่เขาเคยพูดกันมาเป็นที่สังเกต เช่นตัวอย่างทั้ง ๓ ข้อข้างบนนี้ ถ้าเราอ่านซ้ำผิด เช่นซ้ำมากไปหรือน้อยไป ก็จะต้องขัดหูรู้ได้ว่า อ่านผิด ในส่วนการใช้ไม้ยมกนั้น ก็ต้องยึดเอาถ้อยคำอย่างข้างต้นนี้เป็นหลักเช่นกัน คือท่านห้ามไม่ให้ใช้ก้าวก่ายกันคนละบท หรือคนละความ เช่น

“เขาเคยมาทุกวัน วันนี้ไม่มา” ไม่ให้ใช้ว่า “เขาเคยมาทุกวันๆ นี้ไม่มา” เพราะเป็นคนละบท คือบทต้นเป็น วลี-ทุกวัน บทหลังเป็น คำ-วัน ถ้าใช้เข้าต้องอ่านว่า “เขาเคยมาทุกวัน ทุกวันนี้ไม่มา” ซึ่งผิดความหมายด้วย และเป็นคนละประโยคด้วย หรือ “ฉันไปสวน มิสกวัน วันนี้ ไม่ให้ใช้- “ฉันไปสวนมิสกวันๆ นี้” เพราะ มิสกวัน เป็นความหนึ่ง และ วัน เป็นอีกความหนึ่ง แต่ถ้าคำซ้ำที่มีความหมายอย่างเดียวกัน อยู่ในประโยคใหญ่ประโยคเดียวกัน ถึงจะอยู่ในประโยคเล็กต่างกัน ท่านก็ยอมให้ใช้ได้ เช่น “เขาภักดีต่อเจ้าพระยาจักรี เจ้าพระยาจักรีจึงเลี้ยงเขาไว้” ดังนี้ยอมให้ใช้ว่า “เขาภักดีต่อเจ้าพระยาจักรีๆ จึงเลี้ยงเขาไว้” เพื่อสงวนกระดาษและเวลา

(๑๐) ไปยาลน้อย (ฯ) ใช้ละคำที่รู้จักกันทั่วไปแล้ว โดยใช้เครื่องหมายขั้นติดไว้ข้างท้าย  แต่ไม่เขียนไว้กลางอย่างเครื่องหมายขั้นโบราณ เช่นตัวอย่าง
กรุงเทพมหานคร                 ใช้ว่า กรุงเทพฯ
พระราชวังบวรสถานมงคล    ใช้ว่า พระราชวังบวรฯ
โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม     ใช้ว่า  โปรดเกล้าฯ

ยังมีอีกมาก บางแห่งละได้หลายทางแล้วแต่ผู้อ่านจะคิดอ่านเอาเองเช่น
ข้าฯ ถ้าพูดกับคนทั่วไป ก็ละจาก ข้าพเจ้า ถ้าทูลเจ้านาย ละจาก ข้าพระพุทธเจ้า

เกล้าฯ ถ้าอยู่ต้นบทเป็นสรรพนาม และพูดกับขุนนางผู้ใหญ่ ก็ละจาก เกล้าผม เกล้ากระผม ถ้าทูลเจ้านายก็ละจาก เกล้ากระหม่อม ถ้าอยู่ท้ายบทใช้ละคำต้นบท กับ กระหม่อม เช่น “เหนือเกล้าฯ ล้นเกล้าฯ น้อมเกล้าฯ ละจาก “เหนือเกล้าเหนือกระหม่อม ล้นเกล้าล้นกระหม่อม น้อมเกล้าน้อมกระหม่อม” เป็นต้น

ข้อสังเกต  บทที่ใช้ไปยาลน้อย ต้องอ่านให้ครบทั้งนั้น จะอ่านเพียงที่ละไว้ไม่ถูก ถ้าจะให้อ่านเพียงที่เขียนไว้ เช่น โปรดเกล้า กรุงเทพ สำหรับคำประพันธ์ก็ดี ใช้ในความอื่น เช่น พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ดี ห้ามไม่ให้ใส่เครื่องหมายไปยาลน้อยลงไป ถ้าใส่ลงไปจะต้องอ่านเต็มดังกล่าวมาแล้ว ข้อนี้มักใช้ผิดพลาดมาก ควรระวัง

(๑๑) ไปยาลใหญ่ (ฯลฯ…หรือ) เครื่องหมายนี้โบราณใช้รูปนี้ ฯลฯ มีวิธีใช้เป็น ๒ อย่าง ดังนี้

ก. ใช้ละตอนปลายไม่มีกำหนด  ไม่ต้องอ่านข้อความที่ละไว้ เป็นแต่บอก “ละ” แทนเท่านั้น ตัวอย่าง

“ผักต่างๆ เช่น ผักกาด ผักกูด ฯลฯ” อ่าน- “ผักต่างๆ เช่น ผักกาด ผักกูด-ละ”

ข. ใช้ละตอนกลางบอกตอนจบ ไม่ต้องอ่านตอนกลางเหมือนกัน เป็นแต่บอกบทว่า “ละถึง” แทนเท่านั้น เช่น

“เขาเจริญพุทธคุณว่า อิติปิโส ฯลฯ ภควาติ” อ่าน “เขาเจริญพุทธคุณ ว่า อิติปิโส ละถึง ภควาติ”

ค. ละด้วยวิธีใช้จุดไข่ปลา ดังนี้ (………..) มักใช้หลายแห่ง คือตอนไหนไม่ต้องการให้อ่านก็จุดไข่ปลาไว้ เขียนเฉพาะที่ต้องการ เช่น

“จดหมายนั้นใช้คำหยาบหลายแห่งดังนี้- ‘………เจ้าดูถูกข้านัก………ใจเจ้าเป็นสัตว์……….เจ้าระวังตัวให้ดี………’  ซึ่งส่อว่าผู้เขียนโกรธ” อ่านตอนละว่า- ‘ละ เจ้าดูถูกข้านัก ละ ใจเจ้าเป็นใจสัตว์ ละ เจ้าจงระวังตัวให้ดี ละ’

ตัวอย่างข้างบนนี้ ข้อ ก. และ ข. เป็นของเก่า ข้อ ค. เป็นของใหม่ ที่จริงจะใช้อย่างเก่าหรืออย่างใหม่ก็ได้  แต่อย่างใหม่มักใช้ในสำนวนถ้อยความที่คัดลอกมาเป็นการด่วน

(๑๒) เสมอภาค (=) ทางคณิตศาสตร์ใช้ว่า สมการ (สะมะการ) ของเก่าใช้ในวิชาคำนวณว่า สมพล หมายความว่า เท่ากับ แต่ในวิชาหนังสือมีใช้ก็มักจะใช้ในทางอธิบายคณิตศาสตร์ เครื่องหมายเสมอภาคนี้ เมื่อใช้ในระหว่างข้อความใด ข้อความทั้งสองฝ่ายนั้นเสมอกัน เช่น ๑ ไร่ = ๔ งาน

(๑๓) สัญประกาศ (………………..) ใช้สำหรับข้อความตอนที่ผู้เขียนเห็นว่าสำคัญ  เพื่อให้ผู้อ่านสังเกตเป็นพิเศษ จึงขีดเส้นไว้ข้างใต้ข้อความตอนนั้นๆ

(๑๔) บุพสัญญา ( ,,) เครื่องหมายแทนคำเบื้องบนที่อยู่ตรงขึ้นไปในช่องตารางบัญชี จะใช้ตอนหนึ่ง สองตอน สามตอน ฯลฯ ก็ได้ แล้วแต่ความข้างบนน้อยหรือมาก เช่นตัวอย่าง
silapa-0316 - Copy
ข้อสังเกต  เครื่องหมายนี้ –,,– เป็นการผิดแบบ เพราะจะกลายเป็น (–) ซึ่งแสดงว่าไม่มีสิ่งที่ต้องขีด อย่างในช่องสตางค์ไป ผู้รักระเบียบควรเขียนให้ถูก

(๑๕) มหรรถสัญญา  หมายถึงเครื่องหมายขึ้นต้นข้อความใหญ่ เครื่องหมายนี้โบราณก็ใช้ฟันหนูฟองมัน (๏”) ดังกล่าวมาแล้ว แต่ปัจจุบันนี้ใช้วิธีย่อหน้าขึ้นบรรทัดใหม่แทน ไม่มีรูปร่างอย่างข้ออื่นๆ

แต่มหรรถสัญญานี้ หาได้ใช้เฉพาะขึ้นข้อความใหญ่ดังกล่าวแล้วนั้น แต่อย่างเดียวไม่ โดยมากใช้กันตามแบบแผนเพื่อให้รูปร่างลายลักษณ์อักษรนั้นงดงามอีกทางหนึ่งด้วย ดังจะเห็นได้ในวิธีเขียนจดหมาย ซึ่งผู้ศึกษาทราบอยู่ทั่วถึงกันแล้ว เป็นต้น

นอกจากจะได้อธิบายข้างบนนี้ ยังมีวิธีใช้มหรรถสัญญาอยู่อีก ดังจะอธิบายไว้พอเป็นที่สังเกต ดังต่อไปนี้

ก. การบอก ชื่อเรื่อง หรือ หัวข้อ ที่จะอธิบายต่อไปยืดยาว ซึ่งเรียกว่า จ่าหน้า ก็ใช้มหรรถสัญญา คือเขียนไว้กลางบรรทัดบน ถ้าเป็นข้อย่อยออกไปก็ย่อหน้าขึ้นบรรทัดใหม่ หรือจะใช้ขีดเส้นใต้ด้วยก็ได้

ข. ข้อความสำคัญที่จัดไว้เป็นข้อๆ เพื่อจะให้ผู้อ่านเห็นเป็นข้อสำคัญท่านก็ใช้มหรรถสัญญา คือย่อหน้าขึ้นบรรทัดใหม่ทุกข้อ และมีเลขหรือตัวอักษรกำกับหน้าข้อนั้นด้วยก็ได้ เช่น

ศีล ๕ ประการนั้น คือ
๑. เว้นฆ่าสัตว์
๒. เว้นลักทรัพย์ ฯลฯ

ค. ในส่วนคำประพันธ์นั้นยังนิยมใช้เครื่องหมายโบราณอยู่บ้าง ดังกล่าวมาแล้ว  ถ้าจะใช้แบบปัจจุบันก็ควรใช้ขึ้นต้นด้วยมหรรถสัญญาแทน ฟันหนูฟองมัน (๏”) หรือฟองมันเปล่าๆ (๏) และเมื่อจบบทหนึ่งๆ ก็ควรใช้มหัพภาคแทนเครื่องหมายคั่น (ฯ) ดังจะชักตัวอย่างมาเทียบไว้ให้สังเกตต่อไปนี้

แบบโบราณอย่างไม่นิยมบรรทัด
– “๏” ยานี ๑๑ ๏” สธุสะจะขอไหว้ พระศรีไตรสรณา พ่อแม่และครูบา เทวดาในราศี๏ ข้าเจ้าเอา ก ข เข้ามาต่อ ก กา มี แก้ไขในเท่านี้ ดีมิดีอย่าตรีชา๏ จะร่ำ…….” ดังนี้เรื่อยไปจนจบบทยานี ก็ใช้ฟองมันใหม่ ดังนี้

“๏” ฉบับ ๑๖ ๏” พระไชยสุริยาภูมี พาพระมเหสี, มาที่ในสำเภา ๏ข้าวปลา……” ดังนี้เรื่อยไป เมื่อจบเรื่องก็ใช้ดังนี้ ๚ ๛

แบบปัจจุบันใช้เครื่องหมายโบราณ
“ยานี ๑๑
๏ สธุสะจะขอไหว้        พระศรีไตรสรณา
พ่อแม่แลครูบา            เทวดาในราศีฯ”

ดังนี้เรื่อยไป เมื่อจบบทยานีให้ขั้นคู่ (๚) และขึ้นบทใหม่ก็ใช้ทำนองนี้จนจบเรื่อง

แบบปัจจุบันใช้เครื่องหมายปัจจุบัน  เมื่อขึ้นต้นบทคำประพันธ์ ต้องใช้มหรรถสัญญาทุกบทไป และใช้เว้นวรรคตามข้อบังคับของคำประพันธ์ ส่วนเครื่องหมายจุลภาค หรือมหัพภาคมักไม่ใคร่ใช้กัน ที่จริงจะใช้ก็ได้เพื่อเป็นเครื่องหมายบอกส่วนประโยคทางไวยากรณ์  แต่ต้องใช้ให้ติดต่อกันอย่าให้เสียวรรคของคำประพันธ์ เมื่อจบบทประพันธ์บทหนึ่ง ถ้ายังไม่จบประโยคไวยากรณ์ก็ทิ้งไว้เฉยๆ ไม่ต้องใช้มหัพภาค ดังตัวอย่างต่อไปนี้

“ยานี ๑๑ (จะเอาไว้กลางบรรทัดก็ได้)
สธุสะจะขอไหว้             พระศรีไตรสรณา
พ่อแม่แลครูบา                 เทวดาในราศี
ข้าเจ้าเอา ก ข              เข้ามาต่อ ก กา มี
แก้ไขในเท่านี้                  ดีมิดีอย่าตรีชา

ฆ. มหรรถสัญญาซ้อน  หนังสือบางเรื่องมีข้อความซับซ้อนกันเป็นชั้นๆ ลงไป จะใช้มหรรถสัญญาตามอธิบายมาข้างต้นนี้ ก็จะทำให้อ่านเข้าใจความยาก ดังนั้นควรใช้มหรรถสัญญาให้ลดเหลื่อมกันเป็นชั้นๆ ลงไป และใช้เครื่องหมายบอกข้อมหรรถสัญญาให้ต่างกันเป็นชั้นๆ ด้วย ดังตัวอย่างต่อไปนี้

เบญจศีล
ข้อ ๑ คือเว้นปาณาติบาต (แล้วอธิบายจำแนกข้อย่อยออกไปเป็น ๓ ข้อ)
(๑) การฆ่า (อธิบายแยกออกเป็น ๒ ข้อ คือ)
ก. ฆ่ามนุษย์ (อธิบายตามควร)
ข. ฆ่าสัตว์ดิรัจฉาน (อธิบายตามควร)

(๒) การทำร้ายร่างกาย (อธิบาย ถ้าไม่มีแยกข้อ ก. ข. ก็ขึ้นข้อ ๓ ต่อไป)

(๓) การทรมานสัตว์ (อธิบาย แยกเป็น ก. ข.) ฯลฯ
ก. ทรมานเพื่อสนุก (อธิบาย…..)
ข. ทรกรรมในเรื่องใช้งาน (อธิบาย…..) ฯลฯ

ข้อ ๒ เว้นอทินนาทาน (อธิบาย มีข้อแยกกี่ชั้นก็แยกอย่างข้างบนนี้) ดังนี้เป็นต้น

หมายเหตุ  การแยกข้อเหลื่อมกันเป็นชั้นๆ นี้ ทำให้ผู้อ่านเข้าใจเป็นหมวดหมู่แจ่มแจ้งดี ทั้งนี้เหมาะแก่เรื่องสั้นๆ ที่เห็นได้ง่าย แต่ถ้าเป็นเรื่องยืดยาวก็ไม่จำเป็นต้องตั้งข้อให้เหลื่อมกัน  เพราะแต่ละข้อยืดยาวมาก ไม่อาจจะให้เห็นการเหลื่อมหัวข้อให้เป็นรูปโครงพร้อมกันได้ จึงควรใช้ย่อหน้าเท่าๆ กันดีกว่า ใช้ตั้งเครื่องหมายให้ต่างกันเป็นชั้นๆ ลงไปก็พอแล้ว เช่น หัวข้อใหญ่ก็ใช้ย่อหน้า ตั้งหัวข้อว่า ข้อ ๑ ข้อ ๒ ฯลฯ รองลงมาก็ย่อหน้าตั้งหัวข้อว่า (๑) (๒) ฯลฯ  ถ้ามีข้อย่อยลงมาอีกก็ย่อหน้าตั้งหัวข้อว่า ก. ข. ฯลฯ ข้อสำคัญก็คือ ให้เครื่องหมายหน้าข้อนั้นต่างกันเป็นชั้นๆ ดังข้างบนนี้ เพื่อให้ผู้อ่านสังเกตได้เป็นหมวดหมู่กัน

เรื่องเครื่องหมายวรรคตอนแบบปัจจุบันนี้ ชักมาอธิบายในข้อที่จำเป็นจะต้องรู้เท่านั้น ถ้าต้องการรู้พิสดาร ควรดูในตำราเครื่องหมายวรรคตอนของกระทรวงศึกษาธิการต่อไป

ที่มา:พระยาอุปกิตศิลปสาร