เครื่องประกอบการลากพระ

Socail Like & Share

ของเดิมที่ข้าพเจ้าเคยเห็นทำกันเช่นนี้คือ  ตัดไม้มาทำเป็นรูปคล้ายเรือโกลน ๒ ท่อน  ทำให้หัวท้ายสูงคล้ายเรือโกลนยาวประมาณ ๕-๖ เมตร แล้วเจาะที่ปักเสา  สร้างเป็นรูปเหมือนรูปเวชยันต์  มี ๒ ชั้น ๆ ล่างใช้เชือกประกอบดึงกันด้วย  ขันชะเนาะให้แน่น ตอกหลักปักเสาให้แข็งแรงกันมิให้หลุดได้  ส่วนชั้นบนนั้นเรียบด้วยกระดานหรือฟากทำด้วยไม้ไผ่  และมีพะนักหรือฝาล้อมรอบ  สูงจากพื้นบนประมาณเสมอสะเอว  ภายนอกทั้งชั้นล่างและชั้นบนมีฝาปิดมิดชิด  เรียกว่าแผง  แผงนี้มีการประกวดฝีมือ  สานด้วยไม่ไผ่ให้มีลวดลายต่าง ๆ

บนชั้นบนมีสิ่งหนึ่งรูปเหมือนธรรมาสน์ที่พระนั่งเทศนา  วางอยู่ส่วนหลัง  ข้างบนมียอดรูปคล้ายยอดปราสาทชาวพื้นเมืองเรียกว่า “ยอดนม”  ยอดนมนี้ทำประกวดกันมาก  มีลวดลายและวิธีทำต่าง ๆกัน  มักเลือกเอาฝีมือช่างที่ดี  เพื่อเวลาลากพระไปเทียบกันหลาย ๆวัดจะได้ไม่น้อยหน้าวัดอื่น ๆ  ภายในธรรมาสน์นี้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนในวันลากพระ ซึ่งจะได้กล่าวต่อไปตามข้าง ๆ โดยรอบของชั้นบนมีธง ๓ ชายปักไว้  มีสีต่าง ๆ กัน  เมื่อถึงวันลากเอากลองใหญ่ ๑ ใบ (ตะโพน) บางที ๒ ใบ วางไว้ที่มุมข้างหน้า แล้วมีกลองเล็ก ๑ ใบ มีคนนั่งตีอยู่ข้างหน้าพระเป็นกลองนำ  ตีคล้ายเวลาคุมพระ  แล้วยังมีฉิ่งและระฆังเล็กอีกสำหรับเป็นเครื่องประโคมในวันลากนั้น  กับางทียังมีโทนอีกซึ่งชาวพื้นเมืองเรียกว่า “ทับ” ตีเข้าจังหวะกับกลองก็น่าฟังอยู่บ้าง

ส่วนเรือโกลนซึ่งข้าพเจ้าได้กล่าวมาแล้วนั้น  เป็นส่วนที่ติดกับพื้นดินทั้ง ๒ ข้าง  สำหรับรองลาก  คนพื้นเมืองเรียกว่า “หัวเรือ”  ทำเป็น ๔ เหลี่ยม หัวท้ายสูงเป็นรูปงอนขึ้นไป  ที่หัวเรือนี้ ถ้าที่ตัวทำเป็นรูปเกล็ดพระยานาค  ที่หัวก็มีนาคแกะเป็นลวดลายสวยงามมาก บางทีทำเป็นหัวจระเข้  และหัวสัตว์ต่าง ๆ ตามที่คิดเห็นว่าตัวมันยาวให้สมกัน  บางทีก็ทำโกลนไว้เฉย ๆ ให้หัวสูงเป็นแต่งอนขึ้นก็มีแต่ไม่สวยงาม  ส่วนข้างหัวเป็นอย่างไร  ท้ายมักเป็นหางของสิ่งนั้น เช่น หัวนาค หางก็เป็นหางของสิ่งนั้น เช่น หัวนาค หางก็เป็นหางนาคดังนี้ เป็นต้น

ส่วนเชือกที่ใช้ลาก ฟั่นด้วยหวาย โตประมาณเท่าข้อมือ  ยาวประมาณ ๑๐ วา  ผูกเข้ากับหัวเรือทั้ง ๒ ข้าง  เชือกลากนี้ถ้ารวมเข้าแล้วคนหนึ่งแบกไม่ไหว ต้องให้หาม ๒ คน  เครื่องประกอบจนเป็นรูปร่างขึ้นทั้งหมดนี้  ข้าพเจ้าขอเรียกว่า “รถลาก” ต่อไป  (ชาวพื้นเมือง เรียกว่า ร้านม้า)

เครื่องประกอบทั้งหลายที่กล่าวมานี้ล้วนแต่ทำกันแข็งแรงแน่นหนา เพราะครั้งโบราณไม่มีถนน  การลากพระต้องลากไปตามท้องนาและแนวทาง  ต้องขึ้น ๆ ลง ๆ จะทำล้อลากไปเหมือนเวชยันต์นั้นไม่ได้  จึงต้องใช้เชือกและทำรถลากอย่างแข็งแรง มาสมัยนี้มีถนนหนทางไปมาสะดวกเข้า  วัดที่ตั้งอยู่ริมถนนก็หาวิธีลากให้ได้เร็วและไม่ต้องใช้คนลากมาก จึงใช้ล้อแทนเป็นการเร็วและสะดวกดี

ส่วนลากทางเรือนั้น  การประกอบอย่างอื่นก็คล้าย ๆกัน  ผิดกันแต่ไม่ต้องมีแผงและหัวเรือ  เพราะสิ่งทั้งหมดนั้นใช้เรือแทน  เรือที่ใช้แทนนั้นถ้าเป็นแม่น้ำใหญ่ก็ใช้เรือใหญ่ ถ้าแม่น้ำเล็กก็ใช้เรือเล็ก ๆ ลงไปตามต้องการ  แต่ข้าพเจ้าจะไม่กล่าวพิศดารสำหรับการลากพระเรือ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *