เครื่องดนตีประเภท:เครื่องเป่า

Socail Like & Share

เครื่องเป่า

ขลุ่ย

ขลุ่ย  คงจะเป็นเครื่องเป่าดั้งเดิมของไทยคิดทำขึ้นเอง  แต่รูปร่างไปเหมือนกับ “มุราลี” ของอินเดีย  ขลุ่ยของเราทำด้วยไม้รวกปล้องยาว ๆ ไว้ข้อทางปลายแต่เจาะทะลุข้อและใช้ไฟย่างให้แห้งตบแต่งผิวให้ไหม้เกรียมเป็นลวดลายสวยงาม  ด้านหน้าเจาะรูกลม ๆ เรียงแถวกัน ๗ รู  สำหรับนิ้วปิดเปิดเพื่อเปลี่ยนเสียง ตรงที่ใช้เป่าไม่มีลิ้นอย่างลิ้นปี่  เขาทำไม้อุดเต็มปล้องแต่ปาดด้านล่างไว้ ด้านหนึ่งให้มีช่องไม้อุดนั้นเรียกกันว่า “ดาก” ด้านหลังใต้ดากลงมาปากตอนล่างเป็นทางเฉียง  ไม่เจาะทะลุตรงเหมือนด้านข้างและด้านหน้า รูนี้เรียกว่า “รูปากนกแก้ว” ใต้รูปากนกแก้วลงมาเจาะรูอีก ๑ รู เรียกว่า “รูนิ้วค้ำ” เพราะเวลาเป่า  ต้องเอานิ้วหัวแม่มือค้ำปิดเปิดที่รูนั้น  เหนือรูนิ้วค้ำเบื้องหลังและเหนือรูบนของ ๗ รูด้านหน้าแต่ อยู่ทางด้านขวาเจาะรูอีกรูหนึ่งเรียกว่า “รูเยื่อ” เพราะโดยปรกติ แต่ก่อนใช้เยื่อในปล้องไม้ไผ่ ปิดรูนั้น ทางปลายเลาของขลุ่ย มีรูอีก ๔ รู เจาะตรงกันข้าม แต่เหลื่อมกันเล็กน้อย รูหน้ากับรูหลังตรงกันแต่อยู่สูงขึ้นมานิดหน่อย รูขวารูซ้ายเจาะตรงกันอยู่ใต้ลงไปเล็กน้อย  รูขวากับรูซ้ายนี้ โดยปรกติใช้ร้อยเชือกสำหรับแขวนเก็บหรือคล้องมือถือ  จึงเลยเรียกกันว่า “รูร้อยเชือก” รวมทั้งหมดขลุ่ยเลาหนึ่งมี ๑๔ รูด้วยกัน

ขลุ่ย  นอกจากเป่าเล่นเป็นการบันเทิงแล้ว  ยังใช้เป่าร่วมในวงเครื่องสายและวงมโหรีกับในวงปี่พาทย์  ไม้นวมและวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์อีกด้วย

ขลุ่ยมี ๓ ชนิด คือ

ก.  ขลุ่ยหลีบ

ข.  ขลุ่ยเพียงออ

ค. ขลุ่ยอู้

ปี่

ปี่  เห็นจะเป็นเครื่องดนตรีของไทยแท้  ชาวไทยเรารู้จักประดิษฐ์ขึ้นใช้มาแต่ก่อนเก่า  เพราะวิธีเป่าและลักษณะการเจาะรู  ไม่เหมือนหรือซ้ำแบบกับเครื่องเป่าของชาติใด ๆ ตามปรกติทำด้วยไม้แก่นหรือไม้จริง เช่น ไม้ชิงชัน และไม้พะยุง  กลึงให้เป็นรูปบานหัวบานท้ายและตรงกลางป่องเจาะภายในกลวงตลอดเวลา  ทางหัวที่ใส่ลิ้นเป็นช่องรูเล็ก ทางปลายปากรูใหญ่ตอนหัวและตอนท้ายนี้เขาเอาชันหรือวัตถุอย่างอื่นมาหล่อเสริมขึ้นอีกราวข้างละครึ่ง ซม. เรียกว่า “ทวน” ทางหัวเรียกว่า “ทวนบน” และทางท้ายเรียกว่า “ทวนล่าง”  ตอนป่องกลางนั้นเจาะรูนิ้วสำหรับเปลี่ยนเสียงเรียงลงมาตามข้างเลาปี่ ๖ รู คือ รูตอนบนเจาะเรียงลงมา ๔ รู แล้วเว้นระยะเล็กน้อยเจาะรูล่างอีก ๒ รู  ตอนกลางเลาตรงป่องกลางมักกลึงขวั้นเป็นเกลียวคู่ ๑๔ คู่ไว้ระยะพองามที่รูเป่าตอนทวนบนใส่ลิ้นปี่สำหรับเป่าลิ้นปี่ทำด้วยใบตาลซ้อน ๔ ชั้น  ตัดกลมผูกติดกับท่อลมเล็ก ๆ ซึ่งเรียกว่า “กำพวด” เรียวยาวสัก ๕ ซม. กำพวดนี้ทำด้วยทองเหลือง หรือด้วยเงิน ด้วยนาคหรือโลหะอย่างอื่น

ปี่ชนิดนี้ แต่เดิมคงจะใช้เป่านำวงดนตรีสำหรับบรรเลงประกอบการเล่นหนัง(ใหญ่) ประกอบการแสดงโขนและละครนอก เรียกปี่นอกมีระดับเสียงสูง  ต่อมาเมื่อมีการปรับปรุงละครใน จึงแก้ไขเครื่องดนตรีให้เหมาะสมกับผู้หญิงแสดง เรียก ปี่ใน มีระดับเสียงต่ำ ส่วนปี่ที่ใช้เป่าประกอบการเล่นหนัง (ใหญ่) ซึ่งมีขนาดและสำเนียงอยู่กลางระหว่างปี่นอกกับปี่ในนั้น เรียกว่า “ปี่กลาง”

ปี่อ้อ

ปี่อ้อ เป็นปี่โบราณของไทยอย่างหนึ่ง ตัวปี่(เลา) ทำด้วยไม้รวกปล้องเดียวไม่มีข้อยาวประมาณ ๒๔ ซม. เขียนลวดลายด้วยการลนไฟให้ไหม้เกรียม เฉพาะที่ต้องการหัวท้ายเลี่ยมด้วยทองเหลืองหรือเงินเพื่อป้องกันมิให้แตกเจาะรูสำหรับปิดเปิดนิ้วเรียงตามลำดับด้าน ๗ รู และมีรูนิ้วค้ำด้าน หลัง ๑ รู เช่นเดียวกับขลุ่ย  ลิ้นทำด้วยไม้อ้อลำเล็ก ๆ เป็นเครื่องดนตรีที่ร่วมอยู่ในวงเครื่องสายมาก่อน  ขลุ่ยเพียงออและขลุ่ยหลีบ

ปี่ซอ

ปี่ซอ ทำด้วยลำไม้รวก มีขนาดยาวสั้นและเล็กใหญ่ต่าง ๆ ตามแต่เสียงที่ต้องการสำหรับหนึ่ง ๆ มี ๓ เล่ม, ๕ เล่ม หรือ ๗ เล่ม (เรียก “เล่ม” ไม่เรียก “เลา”) ปี่ซอขนาดเล็กยาวประมาณ ๔๕ ซม. ขนาดอื่น ก็โตขึ้นไป

ปี่ซอที่ใช้ ๓ เล่มนั้น เล่มเล็กเป็นปี่เอก เรียกว่า ปี่ต้อย เล่มต่อไปเรียกว่าปี่กลาง  ส่วนเล่มใหญ่ก็เรียกว่า ปี่ใหญ่  ลักษณะของการเล่นอาจแบ่งออกตามทำนองเพลงได้เป็น ๕ อย่าง คือ ๑. ใช้กับทำนองเชียงใหม่มักใช้ “ซึง” ซึ่งเป็นเครื่องดีดชนิดหนึ่ง บรรเลงร่วมด้วย ๒.  ใช้กับทำนองเพลงเงี้ยว จะใช้ปี่ ๓ เล่มล้วนก็ได้ แต่ตามปรกติเขาใช้ปี่เอก หรือปี่ต้อยเล่นร่วมกับ “ซึง” ตัดปี่กลางกับปี่ใหญ่ออก ๓.  ใช้กับเพลงจ๊อย เป็นเพลงรำพันรักสำหรับไปแอ่วสาวใช้สี “สะล้อ” เข้ากับปี่เล็กคือปี่เอกเป็นเครื่องบรรเลงคลอ นิยมเล่นในตอนค่ำ ๆ เวลามีอากาศสดชื่น พวกชายหนุ่มก็พากันไปตามบ้านที่มีสาว แล้วบรรเลงขับร้องหรือไม่ก็พากันเดิน “จ๊อย” ไปตามทางในละแวกบ้าน เพลงจ๊อยนี้เล่นกันเฉพาะแต่หมู่ผู้ชาย  ผู้หญิงไม่ต้องตอบ ๔. ใช้กับทำนองพระลอเป็นการใช้ประกอบในการขับเรื่องพระลอ โดยเฉพาะอีกแบบหนึ่ง  ถ้ายักย้ายนำไปใช้กับเรื่องอื่นมักขัดข้อง ๕. ใช้กับเพลงทำนองพม่า เช่นมีสร้อยเพลง “เซเลเมา”

ปี่ชนิดนี้ เรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่า “ปี่จุม” หรือ ปี่ “พายัพ” ชาวไทยในท้องถิ่นจังหวัดลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ และเชียงราย ซึ่งเป็นภาคพายัพของประเทศไทย  นิยมเล่นกันมาก

แคน

แคน  เป็นเครื่องเป่าของชนชาวไทยนิยมเล่นกันมาแต่โบราณ ทำด้วยไม้ซางลำขนาดสักเท่านิ้วมือ  ใส่ลิ้นตรงกลางลำ  และทำลิ้นแบบเดียวกับลิ้นปี่ซอแล้วเอามาเรียงลำดับผูกติดกันเข้าเป็น ๒ แถว ๆ ละ ๗ ลำ เรียงลำใหญ่ไว้เป็นคู่หน้า ลำย่อมไว้เป็นคู่ถัด ๆ ไปรวม ๗ คู่ แคนเลาหนึ่งก็ใช้ไม้ซาง ๑๔ ลำ ทุกลำเจาะข้อทะลุตลอด และต้องเรียงให้กลางลำ ตรงที่ใส่ลิ้นนั้นอยู่ระดับเดียวกัน  แล้วเอาไม้จริงมาถากเจาะรูสำหรับเป่า เรียกว่า “เต้า” หรือ “เต้านม” เอาลำไม้ซางที่เรียงไว้ ๗ คู่นั้น สอดให้เต้าประกบอยู่ตรงที่ใส่ลิ้นไว้  แล้วเอาชันหรือรังแมงขี้สูด หรือขี้ผึ้ง พอกมีให้ลมที่เป่าออกและสูดเข้ารั่ว

แคนของไทยเราอาจเรียกได้ว่า MOUTH ORGAN มีรูปลักษณะตลอดจนวิธีเป่าคล้ายกับของญี่ปุ่น คือ ใช้อุ้งมือทั้งสองประคองตรงเต้าและใช้นิ้วมือปิดเปิดรูไม้ซาง เอาปากเป่าตรงหัวเต้าที่เจาะรูไว้ ชาวไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และพี่น้องชาวลาวในประเทศลาว นิยมใช้เป่าประกอบการเล่นพื้นเมือง ที่เรียกว่าหมอลำหมอแคน

ปี่ไฉน

ปี่ไฉน ทำเป็น ๒ ท่อน ถอดออกจากกันได้  ท่อนบนเรียวยาวเรียกว่า “เลาปี่” ท่อนล่างบานปลายเรียกว่า “ลำโพง” เมื่อนำมาสวมกันเข้า จะมีรูปร่างเรียวบานปลายคล้ายดอกลำโพง ทำด้วยไม้และงาก็มี ยาวประมาณ ๑๙ ซม. ลิ้นปี่ไฉนก็ทำเหมือนลิ้นปี่ไทย คือมีกำพวดปลายผูกลิ้นใบตาล  ตอนที่สอดใส่ในเลาปี่เคียนด้วยเส้นด้าน  แต่เหนือเส้นด้ายที่เคียนนั้น เขาทำ “กระบังลม” แผ่นกลม ๆ บาง ๆ ด้วยโลหะ หรือกะลาสำหรับรองริมฝีปากเพื่อเวลาเป่าจะได้ไม่เมื่อยปาก

ปี่ไฉนนี้ เข้าใจว่า เราได้แบบอย่างมาจากเครื่องดนตรีของอินเดียพบในหนังสือเก่าของเรา เช่น ในโคลงนิราศหริภุญชัย เรียกเครื่องเป่าชนิดนี้ว่า “สละไนย” และในลิลิตยวนพ่าย เรียกว่า “ทรไน”  ส่วนในไตรภูมิพระร่วงพูดถึง “ปี่ไฉนแก้ว” แสดงว่าเราคงรู้จักและนำมาใช้ตั้งแต่สมัยสุโขทัย หรือก่อนนั้น

ปี่ไฉน ที่ไทยนำเอามาใช้ อาจนำไปใช้ในการประโคมคู่กับแตรสังข์ เช่น เวลาพระมหากษัตริย์เสด็จออกในพระราชพิธีนำไปใช้ในกระบวนแห่ซึ่ง “จ่าปี่” ใช้เป่านำกลองชนะในกระบวนแห่พระบรมศพ และศพเจ้านายคู่กับปี่ชวา

ปี่ชวา

ปี่ชวา  ทำเป็น ๒ ท่อนเหมือนปี่ไฉน รูปร่างลักษณะก็เหมือนปี่ไฉนทุกอย่าง แต่มีขนาดยาว ทำด้วยไม้จริงหรืองา ที่ทำต่างจากปี่ไฉนก็คือตอนบนที่ใส่ลิ้นปี่ ทำให้บานออกเล็กน้อยลักษณะของลิ้นปี่มีขนาดยาวกว่าปี่ชวาเล็กน้อย เรานำเอาปี่ชวามาใช้แต่เมื่อไรไม่อาจทราบได้  แต่คงจะนำมาใช้คราวเดียวกับกลองแขก  และเมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น  เช่นมีกล่าวถึงใน “ลิลิตยวนพ่าย” ว่า

สรวญศรัพทคฤโฆษฆ้อง

กล้องไชย

ทุมพ่างแตรสังข์ ชวา

ปี่ห้อ

ซึ่งคงจะหมายถึง ปี่ชวา และปี่ห้อหรือปี่อ้อ  ปี่ชวาใช้คู่กับกลองแขก เช่น เป่า ประกอบการเล่นกระบี่กระบองและประกอบการแสดงละครเรื่องอิเหนาตอน รำกริช และใช้ในวงปี่พาทย์นางหงส์  กับใช้ในวงดนตรีที่เรียกว่าวง “ปี่ชวากลองแขก” หรือ วง “กลองแขกปี่ชวา” วงเครื่องสายปี่ชวา และวง “บัวลอย”  ทั้งนำไปใช้เป่าในกระบวนแห่ ซึ่ง “จ่าปี่” เป่านำกลองชนะในกระบวนพยุหยาตราด้วย

ปี่มอญ

ปี่มอญ ทำเป็น ๒ ทอ่นเหมือนปี่ชวา แต่ขนาดใหญ่กว่าและยาวกว่าคอท่อน “เลาปี่” ทำด้วยไม้จริงกลึงจนเรียว ยาวประมาณ ๕๐ ซม. ตอนใกล้หัวเลาปี่ระยะสัก ๖ ซม. กลึงเป็นลูกคั่น ด้านบนเจาะรูเรียงนิ้ว ๗ รู กับมีรูค้ำ ๑ รูด้วย ส่วนท่อน “ลำโพง” ยาวประมาณ ๒๓ ซม. ทำด้วยทองเหลืองหรือโลหะอย่าง  ช่องปากลำใหญ่กว้าง 10 ซม.  ปี่มอญ ใช้บรรเลงในวงปี่พาทย์มอญ  หรือ  ที่ ปรากฏในหมายรับสั่ง แต่ก่อนเรียกไว้ว่า “ ปีพาทย์รามัญ ”  และบรรเลงร่วมกับกลองแอว์ บางกรณีด้วย

แตร

แตร  เป็นชื่อที่ใช้เรียกเครื่องเป่าชนิดที่ทำด้วยโลหะทั่ว ๆ ไป แตรที่ใช้ในงานพระราชพิธีของไทยแต่โบราณมามี ๒ ชนิดคือ

ก.  แตรงอน

แตรงอนนี้เข้าใจว่าเราได้แบบอย่างมาจากอินเดีย  เพราะอินเดียมีแตรรูปนี้ใช้สำหรับเป่าเป็นสัญญาณในกระบวนแห่และในงานพระราชพิธี  แตรงอนใช้อยู่ในพระราชพิธีของเราทำด้วยโลหะชุบเงิน  และทำเป็น ๒ ท่อน สวมต่อกัน ท่อนเป่าหลอดเป่าลมโค้งเรียวเล็กยาวประมาณ ๒๒ ซม.  ปากตรงที่เป่าทำบานรับริมฝีปาก วัดผ่านศูนย์กลางราว ๓ ซม. ท่อนลำโพงยาวประมาณ ๒๘ ซม. ปากกว้างราว ๗ ซม. มีเส้นเชือกหรือริบบิ้นผูกโยงท่อนเป่ากับท่อนลำโพงไว้ด้วยกัน

ในหนังสือสมุทรโฆษคำฉันท์เรียกแตรงอนว่า “กาหล”  และใช้ประโคมในกระบวนรบ เช่นกล่าวว่า

กึกก้องด้วยกาหลและสังข์

ขประนังทั้งเภรี

และในหนังสือปุณโณวาทคำฉันท์  ก็เรียกว่า “กาหฬ”  ใช้บรรเลงในขบวนพยุหยาตรา ทางชลมารค เช่นกล่าวว่า

เสด็จดลฉนวนพระอรณพ

ขนานน่าวาสุกรี

แตรสังข์ประโคมดุริยดนตรี

มหรธึกและกาหฬ

ข.  แตรฝรั่ง

แตรฝรั่งนั้น  ในหนังสือกฎมนเทียรบาลโบราณเรียกว่า แตรลงโพง ปรากฎในหมายรับสั่งครั้งรัชกาลที่ ๑ เรียกว่า แตรวิลันดา  คงจะเป็นแตรที่ฝรั่งฮอลันดาเป็นชาติแรก  นำเข้ามาให้เรารู้จัก แตรที่ระบุชื่อไว้ว่า แตรลำโพงก็ดี  แตรฝรั่งก็ดี แตรวิลันดาก็ดี คงหมายถึงแตรอย่างเดียวกันนั่นเอง

สังข์

สังข์  เป็นหอยทะเลชนิดหนึ่งเปลือกขรุขระ  ต้องเอามาขัดให้เกลี้ยงเกลาเสียก่อนแล้วเจาะก้นหอยให้ทะลุ เป็นรูเป่า ไม่มีลิ้น ต้องเป่าด้วยริมฝีปากของตนเอง  ปรากฎว่า ในอินเดียนำมาใช้เป็นเครื่องเป่ากันแต่ดึกดำบรรพ์  และนับถือเป็นของศักดิ์สิทธิ์

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *