พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุปสมบทนาคหลวง

Socail Like & Share

ประเพณีของพุทธศาสนิกชนชาวไทยก่อนจะถึงเทศกาลเข้าพรรษา กุลบุตรที่มีอายุครบ ๒๐ ปีหรือมากกว่านี้ นิยมอุปสมบทในพระบวรพุทธศาสนาเพื่อรับการอบรมบ่มนิสัย ศึกษาและปฏิบัติพระธรรมวินัยอุปสมบทนาคหลวง

พระราชพิธีทางบำเพ็ญพระราชกุศลอุปสมบทนาคหลวง มีหลักฐานปรากฏในพระราชพงศาว¬ดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ ได้ประดิษฐานพระบรมราชวงศ์จักรี และโปรดให้สร้างพระบรมมหาราชวังเป็นที่ประทับ พร้อมกับสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามไว้ในพระบรมมหาราชวังสำหรับประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕ ครั้นถึงปี พ.ศ. ๒๓๓๑ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร(รัชกาลที่ ๒) ทรงผนวช ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม นับเป็นนาคหลวงพระองค์แรก

ตั้งแต่นั้นมาจึงเป็นราชประเพณีที่พระบรมราชวงศ์จะต้องทรงผนวชในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนาคหลวง ทั้งนี้ มีหลักฐานพระราชนิยมของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในหนังสือพระราชพิธี ๑๒ เดือน ว่า

“การทรงผนวชเจ้านายในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งเป็นพระองค์แรกทีเดียวนั้นคือ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เพราะฉะนั้นบรรดาเจ้านายภายหลังที่เป็นเจ้าฟ้า พระองค์เจ้า หม่อมเจ้า ทั้งในวังหลวงวังหน้าไม่มีพระองค์ใดที่ได้ทรงผนวชที่อื่น นอกจากวัดพระศรีรัตนศาสดารามเลย เว้นแต่พิการเป็นที่รังเกยจอย่างหนึ่งอย่างใด เพราะฉะนั้นจึงได้ถือกันว่า ถ้าเจ้านายองค์ใดไม่ได้ทรงผนวชในวัดพระศรีรัตนศาสดารามแล้ว ย่อมเป็นคนที่เสียแล้ว หรือจะเสียคนต่อไปเป็นแน่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงถือจนชั้นบวชเณร…..”

ส่วนนาคหลวงที่เป็นมหาดเล็กและข้าราชบริพารนั้น ในรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๔ ไม่มีหลักฐานว่ามีผู้ใดได้รับพระราชทานพระมหากรุณา มามีหลักฐานปรากฏในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าโปรดเกล้าฯ ให้จมื่นสราภัยสฤษฎิการ (เจิม แสง-ชูโต ต่อมาได้เลื่อนบรรดาศักดิ์ เป็น จอมพล เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี) บุตรพระยาสุรศักดิ์มนตรี (แสง แสง-ชูโต) เป็นนาคหลวง อุปสมบทต่อท้ายหม่อมเจ้า จึงถือเป็นหลักเกณฑ์ว่า ข้าราชการผู้มีบรรดาศักดิ์ที่เป็นบุตรข้าราชการชั้นผู้ ใหญ่ หรือเป็นราชสกุล เมื่อจะอุปสมบทต้องกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตก่อนและเมื่อความทราบฝ่าละอองพระบาทแล้วได้ทรงพระราชดำริว่า บุคคลเหล่านั้นเป็นผู้รับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนาคหลวง อุปสมบทในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

นาคหลวงในสมัยนั้นมี ๔ ประเภท คือ
๑. พระราชวงศ์ ราชสกุล ราชินิกุล มีพิธีสมโภชในพระที่นั่งแล้วแห่ไปอุปสมบทในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
๒. ข้าราชการชั้นสัญญาบัตร ไม่มีพิธีสมโภช เมื่อปลงผมแล้วเข้าอุปสมบทในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม นาคหลวงประเภทนี้ถ้าทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เป็นพิเศษ ก็มีพิธีสมโภชในพระที่นั่งเหมือนกัน
๓. ข้าราชการที่ตํ่ากว่าสัญญาบัตร พระราชทานเครื่องบริขารไปอุปสมบท ณ วัดใดวัดหนึ่ง ตามความประสงค์ของผู้อุปสมบท (นาคหลวงประเภทนี้ปัจจุบันเรียกว่า นาคในพระบรมราชานุเคราะห์)
๔. ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สามเณรปลด กิติโสภโณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม สอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนาคหลวง อุปสมบท ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และทรงพระราชศรัทธาให้จัดรถม้าหลวงไปส่งยังวัดที่จำพรรษา แล้วโปรดเกล้าฯ ให้ถือเป็นราชประเพณี ถ้าสามเณรรูปใดสอบได้เปรียญ ๙ ประโยค เมื่อมีอายุครบอุปสมบทโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนาคหลวงอุปสมบท ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และจัดรถหลวงไปส่งยังวัดที่จำพรรษาตั้งแต่นั้นมาจนปัจจุบัน

การอุปสมบทนาคหลวงตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ จนถึงรัชกาลที่ ๔ ซึ่งมีคณะสงฆ์ธรรมยุตเกิดขึ้น สมเด็จพระสังฆราชเป็นพระอุปัชฌาย์ไม่ว่านาคหลวงจะไปจำพรรษา ณ วัดที่คณะสงฆ์เป็นมหานิกาย หรือธรรมยุต คณะสงฆ์ที่นั่งหัตถบาสจึงมีทั้งมหานิกายและธรรมยุตรวมกัน แล้วพระภิกษุนาคหลวงที่ไปจำพรรษา ณ วัดฝ่ายธรรมยุตไปทำทัฬหิกรรม ณ พระอุโบสถของวัดที่จำพรรษาเป็นการภายใน

ต่อมาในรัชกาลที่ ๖ ผู้เป็นนาคหลวงต่างก็ขอพระราชทานทรงผนวชและอุปสมบทไปจำพรรษา ณ วัดที่เป็นฝ่ายธรรมยุต คณะสงฆ์ในพิธีจึงมีแต่ฝ่ายธรรมยุตทั้งนั้น และได้เว้นว่างการอุปสมบท นาคหลวงฝ่ายมหานิกายมาหลายปี ต่อมาปีใดมีนาคหลวงขอพระราชทานอุปสมบทฝ่ายมหานิกาย จึงได้แยกอุปสมบทนิกายละวันหรือนิกายละเวลา การอุปสมบทก่อนหรือหลังย่อมแล้วแต่ความเหมาะสม แต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหรือพระบรมวงศ์ชั้นสมเด็จเจ้าฟ้าทรงผนวช ประกอบพระราชพิธีตามราชประเพณีที่มีคณะสงฆ์รวมกันทั้ง ๒ นิกาย เป็นสังฆมณฑลในการทรงผนวช แล้วจึงเสด็จไป ทำทัฬหิกรรมเป็นฝ่ายธรรมยุตที่พระอุโบสถพระพุทธรัตนสถาน ตามที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชนิยมไว้

การทีพระราชวงศ์จะทรงผนวชในรัชกาลก่อนๆ นั้น พระราชวงศ์ผู้มีศรัทธาจะทรงผนวช ต้องกราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาต หรือกราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตให้พระโอรสนัดดาทรงผนวชอุปสมบทเป็นนาคหลวง ต่อมาในรัชกาลที่ ๖ รัชกาลที่ ๗ กระทรวงวังได้ออกหมายหรือทำเป็นแบบกราบบังคมทูลถามพระบรมราชวงศ์ แล้วกระทรวงวังจึงรวบรวมจำนวนนาคหลวงขึ้นกราบบังคมทูลกำหนดการทรงผนวช ส่วนราชสกุล ข้าราชบริพาร หรือบุตรข้าราชการชั้นผู้ใหญ่นั้นย่อมแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนาคหลวง

การทรงผนวชและอุปสมบทนาคหลวงซึ่งเป็นงานพระราชพิธีในรัชกาลก่อนๆ นั้น กำหนด ๓ วัน คือ วันเฝ้าฯ กราบถวายบังคมลา วันสมโภช และวันทรงผนวชอุปสมบท

วันกราบถวายบังคมลา
กระทรวงวังจะแจ้งกำหนดเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทกราบถวายบังคมลาให้พระราชวงศ์และข้าราชการที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนาคหลวงทราบ เพื่อเข้าเฝ้าฯ พร้อมกันในวันที่เสด็จออก ขุนนางซึ่งสมัยก่อนเสด็จออกสัปดาห์ละ ๑ ครั้ง ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท หรือพระที่นั่งอนันตสมาคม การเฝ้าฯ ถ้าที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับ พระราชอาสน์หน้าพระแท่นนพปฎลมหาเศวตฉัตร ผู้เป็นนาคหลวงนำพานดอกไม้ ธูป เทียนแพ เข้าไปกราบถวายบังคม ณ ที่ประทับเป็นรายบุคคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราโชวาท จบแล้วเสด็จขึ้น นาคหลวงกลับ

วันสมโภช
กำหนดก่อนวันทรงผนวชอุปสมบท ๑ วัน ส่วนมากสมโภชในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เจ้าพนักงานจัดโต๊ะลายทองตั้งบายศรีแก้ว บายศรีทอง บายศรีเงิน คลุมด้วยเยียรบับ และตั้งโต๊ะเงินบรรจุเครื่องคาว โต๊ะเงินบรรจุเครื่องหวาน โต๊ะเงินบรรจุเครื่องเคียง พร้อมด้วยแว่นแก้ว ทอง เงิน ขันเหมแป้งหอม น้ำวัก พลูคะแนน สำหรับเวียนเทียนสมโภชนาคหลวงพระราชวงศ์ ส่วนนาคหลวงที่มิใช่พระราชวงศ์ตั้งโต๊ะบายศรีตอง ๕ ชั้น ๑ คู่ คลุมด้วยผ้าขาว พร้อมด้วยแว่นโลหะ แป้งหอม น้ำมันหอม น้ำวัก พลูคะแนน และจัดโต๊ะวางเครื่องอัฐบริขารสำหรับนาคหลวง คือผ้าไตร บาตร ย่าม กรวยอุปัชฌาย์

เวลาบ่ายพระราชวงศ์ที่ทรงผนวชเจริญพระเกศาที่ทิมคดด้านตะวันออกหน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ขณะเจริญพระเกศาทรงพระภูษาแดงคลุมด้วยแพรเพลาะขาว เจริญพระเกศาเสร็จแล้วไปประทับ ณ ตั่งหุ้มผ้าขาว ในแท่นสรง มีขันสาครบรรจุนํ้าสำหรับสรง ส่วนราชสกุล ข้าราชการ ชั้นสัญญาบัตร ที่โปรดเกล้าฯ ให้สมโภช ปลงผมที่ทิมคดด้านตะวันตกหน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ขณะปลงผมนุ่งผ้าแดงคลุมด้วยผ้าขาว แล้วไปนั่งบนแท่นมีขันสาครบรรจุนํ้าสำหรับอาบ เสร็จแล้วนาคหลวงพระราชวงศ์ตั้งแต่หม่อมเจ้าขึ้นไปทรงผ้าเยียรบับขาวฉลองพระองค์ชั้นในแขนยาวลดไหล่ขวา คาดรัดพระองค์สายทอง ฉลองพระองค์ครุยลดไหล่วงเฉวียนแบบผ้าสไบเฉียง และมีหมายรับสั่ง ให้กรมพระคลังมหาสมบัติจัดพระธำมรงค์ประจำวันสวมนิ้วพระหัตถ์ ๘ วง (พระหัตถ์ขวา ๔ วง พระหัตถ์ซ้าย ๔ วง) แล้วทรงพระเสลี่ยงกั้นพระกลด ส่วนนาคหลวงที่มิใช่พระราชวงศ์นุ่งผ้าเยียรบับ ผ้าม่วงหรือผ้าขาว สวมเสื้อชั้นในแขนยาวลดไหล่ขวาและสวมเสื้อครุยลดไหล่ขวาวงเฉวียนแบบผ้าสไบเฉียง มีหมายรับสั่งให้กรมพระคลังมหาสมบัติจัดแหวนประจำวันสวมนิ้วเช่นเดียวกัน เสร็จแล้วนั่งแคร่มีเจ้าพนักงานกั้นสัปทนแดงออกจากชาลาทิมคดหน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ไปหยุดที่หน้าพระทวารเทเวศร์รักษา เข้าไปนั่งเก้าอี้(บุแพรเหลืองไม่มีพนักหมุนได้รอบ) หลังโต๊ะบายศรี ในพระที่นั่งอมรินทรวินิฉัย

เวลาประมาณ ๑๗ นาฬิกา ๓๐ นาที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนิน ออก ณ ท้องพระโรงพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ประทับพระราชอาสน์หน้าพระแท่นนพปฎลมหาเศวตฉัตร นาคหลวงเข้าไปเฝ้าฯ กราบถวายบังคมแล้วกลับไปนั่งที่เดิม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พราหมณ์ เบิกแว่นเวียนเทียนสมโภชนาคหลวง เจ้าพนักงานประโคมฆ้องชัย สังข์ แตร ดุริยางค์ เมื่อเวียนเทียน ครบรอบที่ ๑ พราหมณ์คลี่ผ้าเยียรบับที่คลุมบายศรีแก้ว ทอง เงิน ออกนำไปมอบให้นาคหลวงพระราชวงศ์ทรงถือไว้และคลี่ผ้าขาวที่คลุมบายศรีตองออกนำไปมอบให้นาคหลวงข้าราชการถือไว้ ครั้นเวียนเทียนครบ ๕ รอบ พราหมณ์ดับเทียนแล้วถวายเจิมที่พระหัตถ์ และเจิมที่มือนาคหลวงพระราชวงศ์ และข้าราชการ แล้วป้อนนํ้ามะพร้าวอ่อน เสร็จแล้วนาคหลวงทั้งหมดเข้าไปกราบถวายบังคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานนํ้าด้วยพระมหาสังข์ทักษิณาวัฏที่พระเศียรนาคหลวงพระราชวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไป พระราชทานใบมะตูมให้ทัดที่พระกรรณขวาและทรงเจิมที่พระนลาฏ นาคหลวงราชสกุลพระราชทานหลั่งนํ้าด้วยสังข์เดิม พระราชทานใบมะตูมและทรงเจิมที่หน้าผาก ส่วนนาคหลวง ข้าราชการพระราชทานหลั่งนํ้าด้วยพระสังข์นคร พระราชทานใบมะตูมและทรงเจิมที่หน้าผาก เสร็จแล้วนาคหลวงแต่ละคนกลับไปนั่งที่เดิม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินกลับ นาคหลวง ทั้งหมดไปกราบถวายบังคมพระราชอาสน์ที่หน้าพระแท่นนพปฎลมหาเศวตฉัตร แล้วนาคหลวงพระราชวงศ์ออกไปทรงพระเสลี่ยง นาคหลวงข้าราชการขึ้นแคร่ออกจากพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยกลับไปเปลื้องเครื่องยังทิมคดหน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

วันทรงผนวชอุปสมบท
ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หน้าธรรมาสน์ศิลาทอดเครื่องนมัสการทองใหญ่ ชิดผนังด้านเหนือตั้งอาสนสงฆ์ยกพื้นโดยเว้นช่องกลางและทำสะพานลด ชิดผนังด้านใต้ทอดพระราชอาสน์ ตั้งเก้าอี้สำหรับพระราชวงศ์และข้าราชการ ชิดผนังหุ้มกลองด้านพระทวารหน้าพระอุโบสถตั้งโต๊ะสำหรับวางพานผ้าไตร และตั้งเก้าอี้สำหรับนาคหลวง กลางพระอุโบสถตั้งโต๊ะวางเครื่องบริขาร

เวลาประมาณ ๑๖ นาฬิกา นาคหลวงพระราชวงศ์และข้าราชการแต่งองค์และแต่งกายที่ทิมคด หน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทเหมือนวันสมโภช นาคหลวงพระราชวงศ์ทรงพระเสลี่ยงกั้นพระกลด นาคหลวงข้าราชการนั่งแคร่กั้นสัปทนแดง ออกจากชาลาหน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทไปออกประตูพิมานไชยศรีเลี้ยวไปสนามหลังวัดพระศรีรัตนศาสดารามขึ้นเกยที่ตั้งไว้ในสนามเพื่อโปรยทาน ก่อนโปรยทานนาคหลวงถอดพระธำมรงค์และแหวนออกมอบคืนเจ้าหน้าที่ เมื่อโปรยทานแล้วเดินเข้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ขึ้นสู่พระอุโบสถทางพระทวารกลางไปจุดธูปเทียนบูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ที่หน้าฐานพุทธบัลลังก์แล้วออกมาถวายกรวยดอกไม้ ธูป เทียนแพ เป็นพุทธบูชาโดยวางบนธรรมาสน์ศิลา แล้วออกไปนั่งหน้าพระราชอาสน์ถวายบังคมเสร็จแล้วไปนั่งยังเก้าอี้ที่จัดไว้

เวลาประมาณ ๑๗ นาฬิกา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเข้าในพระอุโบสถทรงจุดธูปเทียนท้ายที่นั่งบูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระพุทธรูปฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระพุทธรูปฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แล้วทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการทองใหญ่บูชาพระรัตนตรัย ประทับพระราชอาสน์แล้ว นาคหลวงเข้าไปเฝ้าฯ ถวายบังคมรับพระราชทานผ้าไตรไปขอบรรพชาอุปสมบทต่อพระอุปัชฌาย์ตามลำดับ เมื่อบรรพชา อุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว พระภิกษุนาคหลวงถวายจตุปัจจัยไทยธรรมแก่พระอุปัชฌาย์ พระกรรมวาจาจารย์และพระอันดับ เรียบร้อยแล้วไปนั่งต่อท้ายอาสนสงฆ์ พระสงฆ์ทั้งหมดจัดระดับที่นั่งหันไปยังที่ประทับ พร้อมแล้วพระภิกษุนาคหลวงลงจากอาสนสงฆ์ไปยังที่ประทับหน้าพระราชอาสน์ พระบาทสมเด็จพระ เจ้าอยู่หัวทรงประเคนเครื่องบริขารแก่ภิกษุราชภัฏ และโปรดให้พระภิกษุนาคหลวงไปรับของถวายจากพระราชวงศ์ฝ่ายในที่หน้าพระฉากแล้วไปนั่งที่อาสนสงฆ์ที่เดิม พระราชวงศ์ฝ่ายหน้าและข้าราชการที่มาเฝ้าฯ ถวายของตามสมควร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหลั่งทักษิโณทก พระภิกษุนาคหลวงกรวดนํ้า พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินกลับ

การพระราชกุศลทรงผนวชและอุปสมบทนาคหลวงในรัชกาลที่ ๖ รัชกาลที่ ๗ เป็นงานออกหมายกำหนดการ เพื่อให้กระทรวง ทบวง กรม จัดข้าราชการมาเฝ้าฯ

พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุปสมบทนาคหลวงในปัจจุบัน
ผู้ที่เป็นข้าราชการทั่วไปเมื่อมีจิตศรัทธาจะอุปสมบทในพระบวรพุทธศาสนา ทางราชการมีระเบียบกำหนดไว้ให้มีสิทธิ์ลาอุปสมบทได้ไม่เกิน ๑๒๐ วัน โดยเสนอใบลาอุปสมบทต่อผู้บังคับบัญชาในสังกัดตามลำดับ เมื่อได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาแล้วนำใบอนุญาตไปแสดงต่อพระอุปัชฌาย์เป็นหลักฐานและเมื่อลาสิกขาบทเป็นฆราวาสกลับเข้ารับราชการจะต้องทำหนังสือเสนอต่อผู้บังคับบัญชาเพื่อขอถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สำหรับข้าราชการที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนาคหลวงเมื่อลาสิกขาบทแล้วต้องทำหนังสือเสนอต่อผู้บังคับบัญชาเพื่อทำหนังสือกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการที่ผู้อุปสมบทขอถวายพระราชกุศล

ส่วนข้าราชการในพระองค์มีความประสงค์จะขอพระราชทานพระมหากรุณาในการอุปสมบท สำนักพระราชวังได้วางระเบียบไว้ดังนี้

คำสั่งสำนักพระราชวัง
ที่ ๓๕/ ๒๕๑๒
เรื่อง ระเบียบการขอพระราชทานพระมหากรุณาในการอุปสมบท

โดยที่ได้พิจารณาเห็นว่าระเบียบหลักเกณฑ์การขอพระราชทานพระมหากรุณาในการอุปสมบท ที่ได้วางไว้แต่ พ.ศ. ๒๔๘๘ นั้น ยังไม่เป็นการเหมาะสม เนื่องจากได้กำหนดอายุราชการของผู้ที่ประสงค์จะขอรับพระราชทานพระมหากรุณาไว้มากเกินไป การอุปสมบทนั้นเป็นคุณประโยชน์ในด้านการอบรมบ่มนิสัยของข้าราชการให้มีคุณธรรมยิ่งขึ้น จึงควรสนับสนุนได้ให้อุปสมบทในวัยอันควร ฉะนั้น จึงให้ยกเลิกคำสั่งสำนักพระราชวัง ที่ ๓๒/ ๒๔๘๘ เรื่องระเบียบหลักเกณฑ์การขอพระมหากรุณาในการอุปสมบทนั้นเสีย และให้ถือหลักเกณฑ์ใหม่ดังต่อไปนี้
๑. ข้าราชการพลเรือนในพระองค์ตั้งแต่ชั้นตรีขึ้นไป หรือข้าราชการพลเรือนในพระองค์ชั้นจัตวาที่เป็นราชตระกูล หรือราชินิกุล เมื่อได้รับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนในพระองค์มาครบ ๕ ปีบริบูรณ์แล้ว ขอพระราชทานพระมหากรุณาอุปสมบทเป็นนาคหลวงได้

๒. ข้าราชการพลเรือนในพระองค์ดังกล่าวในข้อ ๑ ถ้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนในพระองค์มาแล้ว ๓ ปีบริบูรณ์ หรือข้าราชการพลเรือนในพระองค์ชั้นจัตวา ซึ่งมิได้เป็นราชตระกูลหรือราชินิกุลแต่ได้รับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนในพระองค์ครบ ๕ ปีบริบูรณ์แล้ว ขอพระราชทานเครื่องสมณบริขารไปอุปสมบทได้
๓. ผู้ที่จะขอพระราชทานพระมหากรุณาอปสมบทเป็นนาคหลวงก็ดี หรือขอพระราชทานเครื่องสมณบริขารไปอุปสมบทก็ดี จะต้องเป็นผู้ที่ผู้บังคับบัญชาได้เลือกเฟ้นและรับรองแล้วว่าเป็นผู้ที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ราชการสนองพระมหากรุณาธิคุณมาด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มีความขยันหมั่นเพียรต่อหน้าที่ราชการมาแล้วเป็นอย่างดีสมควรได้รับพระราชทานพระมหากรุณาในการอุปสมบท
๔. ให้ผู้ที่จะขอพระราชทานพระมหากรุณารายงานแจ้งความประสงค์ที่จะขอพระราชทานพระมหากรุณาผ่านผู้บังคับบัญชาตามลำดับเพื่อพิจารณารับรองมาโดยลำดับ รายงานดังกล่าวนี้ให้เสนอถึงสำนักพระราชวังก่อนวันอุปสมบทไม่น้อยกว่า ๓ เดือน
๕. ผู้ที่ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาในการอุปสมบท จะต้องจำพรรษาในวัดที่มีการศึกษา พระธรรมวินัยอย่างน้อย ๑ พรรษาเต็ม
๖. การนับวันรับราชการให้นับตั้งแต่วันดำรงตำแหน่งเป็นข้าราชการพลเรือนในพระองค์จนถึงวันที่ยื่นเรื่องราวขอพระราชทานพระมหากรุณาในการอุปสมบท ห้ามมิให้นับเวลาที่เป็นข้าราชการวิสามัญเข้ามารวมด้วย

๗. ห้ามมิให้ผู้ที่รับราชการยังไม่ถึงขั้นหรือยังไม่ครบกำหนดเวลาตามที่ได้ระบุไว้ในหลักเกณฑ์ข้อ ๑ และ ๒ ยื่นเรื่องราวขอพระราชทานพระมหากรุณาในการอุปสมบท เว้นไว้แต่จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระมหากรุณาเป็นกรณีพิเศษ

สั่ง ณ วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๒
(ลงชื่อ) กัลย์ อิศรเสนา ณ อยุธยา
(นายกัลย์ อิศรเสนา ณ อยุธยา)
เลขาธิการพระราชวัง

สำหรับพระราชวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าเมื่อมีจิตศรัทธาจะทรงผนวช ตามราชประเพณีผู้ปกครอง หรือผู้ประสงค์จะทรงผนวชเองในฐานะพระราชวงศ์ต้องกราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาตทรงผนวชและย่อมจะได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนาคหลวง ส่วนราชสกุลและข้าราชการอื่นๆ แล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ การขอพระราชทานพระมหากรุณาเป็นนาคหลวงนั้นสำนักพระราชวังได้ถือเป็นหลักประกอบการพิจารณาตามประเพณีที่เคยปฏิบัติมาแต่ก่อน คือ ต้องเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ผู้มีตำแหน่งหน้าที่ในราชการใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทเป็นสำคัญ

นาคหลวงเฝ้าฯ กราบถวายบังคมลา
เมื่อสำนักพระราชวังรวบรวมจำนวนผู้ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนาคหลวงได้แล้วจึงกราบบังคมทูลขอพระราชทานกำหนดวันเฝ้าฯ กราบถวายบังคมลา ณ พระราชฐานที่ประทับ เช่นพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เป็นต้น ครั้นโปรดเกล้าฯ กำหนดวันให้เฝ้าฯ แล้ว สำนักพระราชวัง แจ้งให้ผู้ที่เป็นนาคหลวงจัดดอกไม้ ธูป เทียนแพ แต่งกายเครื่องแบบปรกติขาวตามยศและสังกัดไปยังพระราชฐาน กรมวังประจำที่ประทับจะเชิญผู้เป็นนาคหลวงเข้ายืนเรียงแถวตามลำดับ ข้างหน้านาคหลวงแต่ละคนมีโต๊ะปูผ้าขาววางพานดอกไม้ ธูป เทียนแพ เตรียมพร้อมจะเฝ้าฯ กราบถวายบังคมลา

ได้เวลากำหนดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกประทับ ณ หน้าแถวนาคหลวงที่เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทนาคหลวงทั้งหมดถวายความเคารพพร้อมกันกรมวังผู้ใหญ่ประจำที่ประทับกราบบังคมทูลเบิกผู้ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนาคหลวงแต่ละคน นาคหลวงเปิดกรวยกระทงดอกไม้และถวายคำนับตามลำดับจนครบทุกคนแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราโชวาท ถึงการที่จะอุปสมบท จบพระบรมราโชวาทแล้ว นาคหลวงถวายความเคารพพร้อมกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้น

ก่อนถึงวันอุปสมบท เจ้าหน้าที่กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง จะนัดนาคหลวงมาวัดศอกเพื่อทราบขนาดสำหรับเย็บสบง จีวร เข้าเป็นชุดไตรครองอุปสมบท และชี้แจงให้นาคหลวงแต่ละคน เตรียมจัดสิ่งของเครื่องใช้สำหรับปลงผม ผ้านุ่งอาบนํ้าและผลัด ๒ ผืน ผ้าเช็ดตัว ๑ ผืน สบู่ ๑ ก้อน แป้งฝุ่นโรยเมื่อปลงผม ผ้าสำหรับแต่งกายนาคจะเป็นเยียรบับ แพรไหมขาวหรือผ้าขาว ๑ ผืน เสื้อชั้นในแขนยาว ๑ ตัว เข็มขัดคาดเอว ๑ เส้น เข็มกลัดซ่อนปลายขนาดกลาง และเสื้อครุย ๑ ตัว แล้วเจ้าหน้าที่จะแจ้งให้ทราบว่าเครื่องอัฐบริขารตลอดจนเครื่องสักการบูชาในการอุปสมบท เช่น ธูป เทียนแพ กรวยอุปัชฌาย์กรวยคู่สวด จตุปัจจัยไทยธรรมเป็นของพระราชทานทั้งหมด เว้นแต่ผ้าคลุมไตรไม่มี เจ้าหน้าที่จะจัดผ้าปักไหมหรือผ้าเยียรบับห่อผ้าไตรไว้ให้ถ้านาคหลวงประสงค์จะมีดอกไม้คลุมไตรก็จัดมามอบเจ้าหน้าที่ได้

พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุปสมบทนาคหลวงปัจจุบันไม่ออกเป็นหมายกำหนดการ คงออกแต่หมายรับสั่งเฉพาะเจ้าหน้าที่ปฏิบัติและมีหน้าที่เฝ้าฯ โดยตำแหน่งเท่านั้น

พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุปสมบทนาคหลวง
การตั้งแต่งในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
กลางพระอุโบสถหน้าธรรมาสน์ศิลา ทอดเครื่องนมัสการทองใหญ่พร้อมที่ทรงกราบสำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และทอดเครื่องนมัสการทองทิศพร้อมที่ทรงกราบสำหรับสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

ชิดแนวผนังด้านเหนือข้างหน้าพระพุทธรูปฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ตั้งอาสนสงฆ์ยกพื้นสำหรับพระนั่งหัตถบาส ๓๐ รูป และตอนกลางเว้นช่องให้นาคหลวงเดินเข้าไปนั่งขอบรรพชา ท้ายอาสนสงฆ์ข้างฉากลับแลตั้งโต๊ะวางธูป เทียนแพ กรวยอุปัชฌาย์ กรวยคู่สวดและบาตร (ในบาตรบรรจุมีดโกน หินลับ ด้าย เข็ม ที่ตัดเล็บ)

ชิดผนังหุ้มกลองพระทวารหน้าพระอุโบสถ ท้ายอาสนสงฆ์ตั้งโต๊ะปูผ้าขาววางพานผ้าไตรครองสำหรับทรงผนวช อุปสมบท นาคหลวงพระราชวงศ์ผ้าไตรวางบนพานทอง ๒ ชั้น ส่วนนาคที่มิใช่พระราชวงศ์ผ้าไตรวางบนพานแว่นฟ้า มีดอกไม้คลุมหรือห่อด้วยผ้าปักไหมหรือเยียรบับ

ชิดผนังด้านใต้หน้าพระพุทธรูปฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทอดพระราชอาสน์และตั้งเก้าอี้พระบรมวงศ์ชั้นผู้ใหญ่เยื้องถัดไปเบื้องหลัง ต่อออกมาตั้งเก้าอี้พระราชวงศ์ องคมนตรี และข้าราชการที่มาเฝ้าฯ

กลางพระอุโบสถตรงกับพระทวารกลาง ตั้งโต๊ะวางเครื่องบริขารสำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประเคนพระภิกษุนาคหลวง มีรายการดังนี้
๑. ไตรอาศัย
๒. ตาลปัตรใบลาน
๓. ย่าม (บรรจุธูปเทียน)
๔. ธรรมกรก
๕. ที่บูชาเครื่องทองน้อยโลหะ
๖. ธูป ๒ กล่อง เทียน ๑๐๐ เล่ม
๗. โคมไฟ
๘. นาฬิกา
๙. ไฟฉาย
๑๐. กระเป๋าเอกสาร
๑๑. ผ้าอาบสรง
๑๒. ผ้าห่ม
๑๓. ผ้าเช็ดตัว
๑๔. หมอน
๑๕. ที่นอนนวมและผ้าปู
๑๖. พรมปูนอน
๑๗. มุ้ง
๑๘. พรมสันถัด
๑๙. ร่ม
๒๐. แปรงสีฟัน ยาสีฟัน สบู่ ขันนํ้า
๒๑. กาถังนวมและถ้วยชา
๒๒. คนโทและแก้วครอบ
๒๓. ใบชา
๒๔. ชามข้าว ช้อนซ่อม
๒๕. สำรับคาว
๒๖. สำรับหวาน
๒๗. รองเท้าหนัง
๒๘. กระโถน

เวลา ๙ นาฬิกาถึง ๑๑ นาฬิกา ผู้เป็นนาคหลวงมาพร้อมกัน ณ ศาลาสหทัยสมาคมในพระบรมมหาราชวัง หลังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เจ้าหน้าที่จัดโต๊ะวางพานเครื่องมือที่จะใช้ในการปลงผม นาคหลวงนั่งเก้าอี้ถือพานสำหรับรองรับผม ก่อนจะปลงผมเจ้าหน้าที่จะเชิญบิดามารดาผู้ปกครอง หรือญาติผู้ใหญ่ของนาคหลวงขลิบเส้นผมเป็นปฐม แล้วเจ้าหน้าที่ภูษามาลา แผนกราชูปโภค กองพระราชพิธี ปลงผมนาคหลวงแต่ละคนเสร็จแล้วจึงไปอาบนํ้าที่ขันสาคร แล้วนาคหลวงไปพักหรือรับประทานอาหารในห้องโถงซึ่งเจ้าหน้าที่จัดโต๊ะไว้รับรองโดยแต่ละนาคจัดอาหารมาเอง ต่อจากนั้นเริ่มแต่งกายนาค โดยนุ่งผ้าเยียรบับขาว (ถ้าไม่มีใช้ผ้าเยียรบับสี หรือผ้าม่วง หรือผ้าขาว) สวมเสื้อชั้นในแขนยาวใส่เฉพาะแขนซ้าย คาดเข็มขัด สวมเสื้อครุยทับใส่เฉพาะแขนซ้ายวงเฉวียนแบบผ้าสไบเฉียง พร้อมแล้วเจ้าหน้าที่จะเชิญออกไปเข้าแถวหน้าศาลาสหทัยสมาคม นาคหลวงพระราชวงศ์นำหน้ามีเจ้าหน้าที่กั้นกลดขาวลายทอง นาคหลวงข้าราชการตามหลังมีเจ้าหน้าที่กั้นสัปทนแดง

เวลา ๑๓ นาฬิกา นาคหลวงเดินออกจากหน้าศาลาสหทัยสมาคมเข้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทางประตูเกย ขึ้นสู่พระอุโบสถทางพระทวารกลาง (บิดามารดา ผู้ปกครอง จะจูงนาคเข้าพระทวารกลางไม่ได้ เพราะเป็นทางเสด็จพระราชดำเนิน) ขณะนั้นพนักงานประโคมฆ้องชัย ปี่พาทย์ทำเพลงช้า นาคหลวงไปจุดธูปเทียนบูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรที่ฐานพุทธบัลลังก์หลังธรรมาสน์ศิลาแล้วออกมารับกระทงดอกไม้ ธูป เทียนแพ จากเจ้าหน้าที่วางบนธรรมาสน์ศิลาเป็นการถวายสักการบูชา พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร แล้วออกไปคุกเข่าที่หน้าเครื่องนมัสการทองใหญ่ตามลำดับ พร้อมแล้วกราบพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรด้วยเบญจางคประดิษฐ์ เสร็จแล้วไปคุกเข่าเรียงแถวหน้าพระราชอาสน์ถวายบังคมพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากนี้กลับไปนั่งเก้าอี้ที่หลังโต๊ะวางพานผ้าไตรท้ายอาสนสงฆ์ตามลำดับ ปี่พาทย์หยุดบรรเลง

เมื่อสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ และพระสงฆ์นั่งหัตถบาสรวม ๓๐ รูป (ปีใดมีนาคหลวงอุปสมบทฝ่ายมหานิกาย พระหัตถบาสแบ่งเป็นฝ่ายละ ๑๕ รูป) ขึ้นนั่งบนอาสนสงฆ์พร้อมแล้ว เจ้าหน้าที่ภูษามาลาเชิญนาคหลวงไปคุกเข่าหน้าพระราชอาสน์ถวายบังคม ๓ ครั้ง แล้วหยิบผ้าไตรซึ่งเจ้าหน้าที่ภูษามาลาเชิญพานผ้าไตรไปวางไว้หน้าพระราชอาสน์เป็นการรับพระราชทาน นาคหลวงหยิบผ้าไตรอุ้มพาดระหว่างแขน ๒ ข้างมือพนมแนบกับอกถอยออกมายืนถวายคำนับ เจ้าหน้าที่สังฆการี กองศาสนูปถัมภ์ กรมการศาสนา คอยรับที่ท้ายอาสนสงฆ์ นำนาคหลวงอุ้มผ้าไตรเข้าไปยังชุมนุมสงฆ์เพื่อขอบรรพชาอุปสมบทคราวละ ๑ คน หรือ ๒ คน แล้วแต่จำนวนนาคหลวงจะมีมากหรือน้อย ซึ่งพระอุปัชฌาย์จะกำหนด นาคหลวงคุกเข่าหน้าสมเด็จพระสังฆราช แล้ววางผ้าไตรรับพานธูปเทียนแพจากเจ้าหน้าที่ถวายสมเด็จพระสังฆราช กราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ๓ ครั้ง แล้วอุ้มผ้าไตรประนมมือเปล่งวาจาขอบรรพชา จบแล้วน้อมกายถวายผ้าไตรแด่สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ เพื่อทรงตรวจสอบผ้าไตรถวายแล้วนาคหลวงนั่งประนมมือ สมเด็จพระสังฆราช ประทานพระโอวาท จบ นาคหลวงคุกเข่ากราบ ๓ ครั้ง แล้วสมเด็จพระสังฆราชทรงบอกปัญจกัมมัฏฐานให้พิจารณาว่าอาการทั้ง ๕ นี้ไม่ดีไม่งาม นาคหลวงว่าตาม สมเด็จพระสังฆราชทรงว่าทวนกลับอีกครั้ง นาคหลวงว่าตาม จบ สมเด็จพระสังฆราชทรงชักอังสะออกจากผ้าไตร นาคหลวงผู้บรรพชาก้มศีรษะเพื่อให้สมเด็จพระสังฆราชทรงคล้องอังสะแล้วนาคหลวงสวมสะพายด้วยตนเอง นาคหลวงรับผ้าไตรคืนจากสมเด็จพระสังฆราช อุ้มผ้าไตรพนมมือเดินออกจากที่ชุมนุมสงฆ์ ผ่านที่ประทับถวายคำนับ เข้าไปในพระฉากข้างฐานชุกชีพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรด้านเหนืออาสนสงฆ์ เปลื้องเครื่องแต่งกายแล้วห่มครองผ้ากาสาวพัสตร์ ขณะที่นาคหลวงครองผ้าพนักงานประโคมฆ้องชัย ปี่พาทย์บรรเลงเพลงสาธุการจนครองผ้าเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงหยุดประโคม

นาคหลวงเดินออกจากพระฉากเดินประสานมือถือผ้ากราบไปยังท่ามกลางสังฆมณฑลที่เดิม คุกเข่าปูผ้ากราบ แล้วรับดอกไม้ ธูป เทียน จากเจ้าหน้าที่ถวายสักการะแด่สมเด็จพระสังฆราช กราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ๓ ครั้ง แล้วเปล่งวาจาขอสรณะและศีล สมเด็จพระสังฆราชประทาน สรณคมน์ นาคหลวงว่าตามทีละบท จบแล้ว ประทานศีล ๑๐ นาคหลวงว่าตามทีละบท เมื่อรับศีลจบ ขณะนี้นาคหลวงได้บรรพชาเป็นสามเณรแล้ว สามเณรนาคหลวงกราบ ๓ ครั้ง ออกไปนั่งที่ท้ายอาสนสงฆ์ ถวายธูปเทียนแพแด่พระกรรมวาจาจารย์ พระกรรมวาจาจารย์สวดถาม จบแล้ว สามเณรนาคหลวง กราบรับบาตรจากเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังแล้วอุ้มบาตรเข้าไปนั่ง ณ ท่ามกลางสังฆมณฑล หน้าพระอุปัชฌาย์วางบาตรไว้ข้างซ้าย ปูผ้ากราบแล้วรับเทียนขอนิสัยและกระทงดอกไม้ จากเจ้าหน้าที่ สำนักพระราชวังถวายพระอุปัชฌาย์เพื่อขอนิสัย ถวายแล้วกราบ ๓ ครั้ง ประนมมือกล่าวคำขอนิสัย สมเด็จพระสังฆราชประทานนิสัยแล้วจะทรงบอกสามเณรนาคหลวงว่า ต่อไปนี้พระสงฆ์จะได้ทำอุปสมบทกรรม พระกรรมวาจาจารย์ส่งบาตรให้สามเณรนาคหลวงรับมาคล้องสะพายเฉียงไหล่ขวาตัว บาตรอยู่ข้างหลัง แล้วพระกรรมวาจาจารย์บอกอัฐบริขาร จบ พระกรรมวาจาจารย์บอกให้สามเณร นาคหลวงออกไปยืนที่ท้ายอาสนสงฆ์ห่างจากหัตถบาส ๑๒ คอก คือที่หน้าฉากกั้นบันไดข้างพระทวาร ร้านเหนือ ประนมมือหันหน้าไปสู่สังฆมณฑล พระกรรมวาจาจารย์กราบพระรัตนตรัย แล้วสวดวาจา สมมติตนในท่ามกลางสงฆ์ จบแล้วกราบสมเด็จพระสังฆราช ออกจากสังฆมณฑลไปยืนที่ผ้าขาว (พรมประกาศ) ข้างหน้าสามเณรนาคหลวงแล้วสอนซ้อมสามเณรนาคหลวง เสร็จแล้วพระกรรมวาจาจารย์ เข้าไปยังสังฆมณฑล กราบสมเด็จพระสังฆราช ๑ ครั้ง นั่งประนมมือสวดกรรมวาจาขออนุญาตเรียก สามเณรนาคหลวงเข้ามายังที่ประชุมสงฆ์ สามเณรนาคหลวงเดินเข้าไปยังสังฆมณฑลคุกเข่าตรงหน้าสมเด็จพระสังฆราช กราบ ๓ ครั้ง แล้วประนมมือเปล่งวาจาขออุปสมบท สมเด็จพระสังฆราชผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ทรงกล่าวเผดียงสงฆ์ จบแล้ว พระกรรมวาจาจารย์สวดกรรมวาจาสมมติตนในที่ชุมนุมสงฆ์จบ พระกรรมวาจาจารย์สวดถามสามเณรนาคหลวง เสร็จแล้วพระกรรมวาจาจารย์สวดญัตติจตุดถกรรมวาจา พระภิกษุนาคหลวงประนมมือฟังจนจบ แล้วกราบ ๓ ครั้ง ถอดบาตรออกวางไว้ ออกไปยืนที่หน้า ฉากท้ายอาสนสงฆ์ หันหน้าสู่สังฆมณฑล เจ้าพนักงานถอนบาตรไปตั้งที่ท้ายอาสนสงฆ์ สมเด็จพระสังฆราชเสด็จไปประทานอนุศาสน์ หรือบางกรณีก็โปรดให้พระอาจารย์ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดที่นาคหลวงไปจำพรรษาเป็นผู้บอกอนุศาสน์แทน สมเด็จพระสังฆราชประทานอนุศาสน์จบแล้วเสด็จไปประทับที่เดิม พระภิกษุนาคหลวงเข้าไปคุกเข่าหน้าสมเด็จพระสังฆราช กราบ ๓ ครั้งด้วยเบญจางคประดิษฐ์ แล้วคุกเข่าถวายไตรแด่พระอุปัชฌาย์ ถวายพานดอกไม้ ธูป เทียนแพ แด่พระกรรมวาจาจารย์ ถวายไทยธรรมแด่พระหัตถบาสแล้วกราบสมเด็จพระสังฆราชซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ ๑ ครั้ง แล้วหยิบผ้ากราบถือไว้ออกไปนั่งที่ท้ายอาสนสงฆ์

ในระหว่างพิธีอุปสมบทกรรม ถ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังมิได้เสด็จฯ มาประทับในพระอุโบสถ สำนักพระราชวังอนุญาตให้บิดามารดา ญาติมิตรของนาคหลวงเข้าไปนั่งอนุโมทนาในพระอุโบสถได้เมื่อใกล้เวลาเสด็จฯ จะได้เชิญออกไปเฝ้าฯ นอกพระอุโบสถ

เวลา ๑๖ นาฬิกา ๓๐ นาที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ไปยังพระบรมมหาราชวัง เข้าทางประตูวิเศษไชยศรี เทียบรถยนต์พระที่นั่งที่ประตูเกยหลังวัด พระศรีรัตนศาสดาราม เสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่พระอุโบสถทางพระทวารกลาง พนักงานประโคมฆ้องชัย สังข์ แตร ปี่พาทย์บรรเลงเพลงช้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจุดธูปเทียนเครื่องน้อยท้ายที่นั่งบูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระสัมพุทธพรรณี พระพุทธรูปฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และพระพุทธรูปฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการทองใหญ่ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการทองทิศ ที่หน้าธรรมาสน์ศิลา ทรงกราบแล้วประทับ พระราชอาสน์พนักงานหยุดประโคม เจ้าหน้าที่กองศาสนูปถัมภ์ กรมการศาสนา นำพระภิกษุนาคหลวงที่ได้อุปสมบทใหม่เข้าไปรับพระราชทานเครื่องบริขารยังที่ประทับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถวายเครื่องบริขาร มี ไตรอาศัย ตาลปัตร ย่าม และบริขารอื่นๆ ขณะนั้นพนักงานประโคมฆ้องชัย สังข์ แตร ปี่พาทย์บรรเลงเพลงช้า เมื่อพระภิกษุนาคหลวงรับพระราชทานเครื่องไทยธรรมจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว ไปรับพระราชทานผ้าไตรหรือไทยธรรมจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถและสมเด็จพระบรมวงศ์ฝ่ายในตามลำดับ แล้วพระภิกษุนาคหลวงกลับไปนั่งยังอาสนสงฆ์ ตามเดิม เจ้าหน้าที่จะได้เชิญพระราชวงศ์และข้าราชการผู้ใหญ่ผู้มีเกียรติบางท่านเข้าไปถวายไทยธรรม แด่พระภิกษุนาคหลวง เสร็จแล้วเจ้าหน้าที่จัดภาชนะแก้วสำหรับให้พระภิกษุนาคหลวงทุกรูปกรวดน้ำ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหลั่งทักษิโณทก พระภิกษุนาคหลวงกรวดนํ้าโดยเสด็จพระราชกุศล กรวดนํ้าแล้วพระภิกษุนาคหลวงประนมมือ ขณะทรงหลั่งทักษิโณทกพระสงฆ์ในสังฆมณฑลถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก จบ ออกจากพระอุโบสถ พนักงานประโคมฆ้องชัย สังข์ แตร ปี่พาทย์บรรเลงเพลงต้นกราวรำหรือพระเจ้าลอยถาด ส่วนพระภิกษุนาคหลวงยังคงนั่งอยู่ที่เดิมเป็นการเฝ้าฯ ส่งเสด็จ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ ไปทรงกราบ ที่หน้าเครื่องนมัสการ ทรงรับการถวายความเคารพของผู้มาเฝ้าฯ เสด็จฯ ออกจากพระอุโบสถไป ประทับรถยนต์พระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินกลับ พนักงานประโคมฆ้องชัย สังข์ แตร ปี่พาทย์บรรเลงเพลงกราวรำส่งเสด็จฯ พระภิกษุนาคหลวงไปกราบพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร แล้วออกจากพระอุโบสถทางพระทวารกลาง เจ้าหน้าที่กองศาสนูปถัมภ์ กรมการศาสนา และเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวัง นำไปขึ้นรถยนต์หลวงไปส่งยังวัดที่จำพรรษาพร้อมกับเครื่องบริขารที่ได้รับพระราชทาน

ที่มา:กรมศิลปากร