หลักแห่งกระบวนความพรรณนา

Socail Like & Share

พรรณนา แปลตามปทานุกรมว่า เล่าความขยายความ แต่เมื่อเป็นคำเทคนิคทางประพันธศาสตร์ ก็หมายถึง การเล่าให้นึกเห็นภาพอันใดอันหนึ่งได้ คำว่า “ภาพนี้’’ คลุมถึง

ก. รูปร่างลักษณะทองสิ่งต่างๆ อาทิเช่น คน สัตว์ บ้านเรือน วัตถุ สิ่งของ ภูมิประเทศ

ข. สิ่งที่สัมผัสทางหู ได้แก่ เสียงต่างๆ

ค. สิ่งที่สัมผัสทางจมูก ได้แก่ กลิ่นต่างๆ

ง. สิ่งที่สัมผัสทางลิ้น ได้แก่ รสต่างๆ

จ. สิ่งที่สัมผัสทางกาย ได้แก่ ลักษณะ นุ่ม หยาบ ละเอียด แข็ง คาย คม เปียก ฯลฯ

บรรดาสิ่งต่างๆ ที่เราได้ผ่านพบมาโดยประสาทสัมผัส จะโดยทาง ตา ทางหู ทางจมูกก็ดี ถ้าเราต้องการให้ผู้อ่านได้เห็น ได้รู้สึกอย่างเดียวกับ เราแล้ว นักประพันธ์ย่อมทำได้โดยกระบวนความพรรณนา ถ้าเรากินส้มโอแล้วต้องการให้ผู้อ่านรู้สึกรสของส้มโอนั้น โดยไม่ต้องกินส้มโอลูกนั้นด้วย เราก็ต้องว่า ส้มโอนั้นรสเปรี้ยว หวาน หวานปะแล่มๆ หวานแหลม ฯลฯ ตามรสที่เรารู้สึกด้วยลิ้น อันความรู้สึกในรสต่างๆ เหล่านี้ ผู้อ่านย่อมรู้สึก นึกเห็นได้ทุกคน และถ้านักเขียนรู้จักเลือกสรรถ้อยคำมาใช้ได้เหมาะสมแล้วผู้อ่านก็จะเข้าใจได้ทันที

ในการเขียนเรื่อง เราจะหลีกไปจากการกล่าวถึงเรื่องของบุคคล (ตัว ละครในเรื่อง) ภูมิประเทศ วัตถุต่างๆ หรือลักษณะความเป็นไปในกาลสมัยหนึ่งๆ เสียมิได้ และก็การที่ผู้อ่านจะเข้าใจเรื่องของเราถนัดชัดเจน เราต้องทำให้ภาพของสิ่งเหล่านี้ปรากฏขึ้นในมโนคติทองผู้อ่านอย่างเด่นชัด พูด อย่างภาษาสามัญ คือ ให้หลับตาเห็นได้ เราจะทำได้ดังนี้ โดยใช้ถ้อยคำพรรณนา

หลักเบื้องต้น และเป็นหลักสำคัญที่นักประพันธ์พึงยึด มีอยู่ ๒ ข้อ
คือ
๑. จงพูดตามความเป็นจริง (Truth)
๒. จงมีสัจธรรม (Sincerity)

จงพูดตามความเป็นจริง
เคล็ดสำคัญของหลักนี้คือการสังเกตพิจารณา ถ้าท่านต้องการเป็น นักเขียนที่ดี ท่านต้องเป็นคนพิถีพิถัน ละเอียดลออ ฟังให้ชัด ดูอะไรให้เห็นถี่ถ้วนทุกแง่ทุกมุม อย่ามองแต่เผินๆ หรือฟังแต่แว่วๆ นี่คือหลักแห่งการสังเกตพิจารณา เมื่อท่านรับประทานอาหารอิ่มแล้ว แม่ครัวยกจานกับข้าวกลับไป ท่านยังจำได้ไหมว่า กับข้าวจานไหนตั้งตรงไหน และในจานผักจิ้มนั้นมีผักอะไรวางเรียงกันอย่างไร ถ้าท่านยังนึกเห็นภาพออก เรียกว่าท่าน มีความสังเกตพิจารณาดี การสังเกตพิจารณานี้ บางคนก็มีอุปนิสัยเป็นเอง บางคนต้องฝึกอบรมตนเอง จนมีคุณสมบัติอันนี้ประจำตัว ถ้าท่านไม่เอาใจใส่ กับการสังเกตพิจารณาแล้วจะพรรณนาอะไรให้ถูกต้องตามความเป็นจริงไม่ได้เลย

สัจธรรม
หมายถึง ความแท้ ความซื่อตรง ในที่นี้จะพูดเฉพาะที่เกี่ยวกับการพรรณนาก่อน ในการที่จะพรรณนา ถึงสิ่งอันใด นอกจากจะให้เป็นไปตามความเป็นจริงของสิ่งนั้นๆ ยังต้องทำให้น่าเชื่อได้ด้วย และก็การที่ให้ “น่าเชื่อ” ได้นี้ ผู้เขียนต้องมีความซื่อตรงต่อตนเอง ดังนี้คือ สัจธรรม นักเขียนต้องบอกผู้อ่านตามที่นักเขียน เห็น และต้องชวนให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกอย่างเดียวกับผู้เขียน อย่าไปยืม ความรู้สึกของผู้อื่นมาใช้ หรือนึกเอาเองว่าควรจะเป็นอย่างนั้นๆ ถ้าท่านเดินไปกลางทุ่งยามเที่ยงในฤดูร้อน เห็นแสงแดดเป็นประกายยิบๆ ร้อน จนแสบผิวหนัง ท่านก็ว่าไปตามที่ท่านเห็นและรู้สึก ไม่จำเป็นเลยที่จะพูดว่า “ร้อนราวจะเผาผลาญสิ่งต่างๆ บนพื้นโลกให้ไหม้เกรียม” อย่างนี้เป็นการพรรณนาที่เฝือเต็มที และเป็นสำนวนอย่างตื้นๆ

เพื่อให้เป็นไปตามข้อแนะนำเบื้องต้นนี้ นักประพันธ์มีวิธีปฏิบัติในเชิงพรรณนานี้อย่างไรบ้าง

๑. ความเฉพาะและรูปธรรม
การที่ท่านจะให้สิ่งที่ท่านพรรณนาเป็นไปตามจริง และเด่นชัดได้นั้น ท่านจะต้องรู้จักหยิบลักษณะความเฉพาะของสิ่งนั้นๆ มากล่าว บรรดา บุคคล สถานที่ วัตถุต่างๆ ย่อมมีลักษณะเฉพาะประจำ ซึ่งทำให้สิ่งนั้น บุคคลนั้นแตกต่าง และแยกออกจากสิ่งหรือบุคคลทั่วๆ ไป ในบทก่อนท่านได้อ่านตัวอย่างเรื่องเมืองเวนิส พอเริ่มต้นผู้เขียนก็หยิบเอาลักษณะเฉพาะของเมืองเวนิสมากล่าวก่อนทีเดียว แล้วพรรณนาลักษณะอื่นๆ ละเอียดออกไป

การพรรณนาลักษณะของสิ่งต่างๆ โดยละเอียดนั้น ก็เพื่อจะทำให้เกิดภาพในความนึกชัดเจนและจำกัดภาพให้เด่นขึ้น ว่าสิ่งนั้นอยู่ที่นั่นๆ ใน สมัยนั้นๆ ถ้าไม่ทำอย่างนี้ สิ่งที่เราพรรณนาก็พร่า

ปัญหาอีกข้อหนึ่งก็คือ การพรรณนาของท่านนั้นรู้สึกว่าเป็นจริงเป็นจัง หรือไม่ ท่านได้ทำให้ผู้อ่านเห็นและรู้สึกได้เช่นเดียวกับท่านหรือเปล่า ท่าน จะแก้ปัญหานี้ได้โดยใช้คำที่มีความหมายเกี่ยวกับสิ่งที่เป็น รูปธรรม รูปธรรม คู่กับ นามธรรม รูปธรรม คือ สิ่งที่อาจได้ยิน ชิม ดม สัมผัส หรือแลเห็นได้

คำที่ความหมายเกี่ยวกับรูปธรรม เช่นดังนี้
ก. ทางหู โครมคราม ซู่ซ่า เกรียวกราว ฯลฯ
ข. ทางลิ้น เปรี้ยว ขม ขื่น ฝาด ฯลฯ
ค. ทางจมูก หอม ฉุน เหม็น ฯลฯ

ส่วนคำที่มีความหมายเกี่ยวกับนามธรรมนั้น ได้แก่พวกคำ เช่น ชั่ว ดี น่าฟัง สวย งาม โหดร้าย เมตตา กรุณา เพ่งเล็ง ในทางความรู้สึกทาง ใจ เป็นคำที่ไม่เหมาะสำหรับการพรรณนา ให้สังเกตไว้ด้วยว่า ที่พูดว่า ไม่เหมาะนี้ มิได้หมายความว่าบังคับเด็ดขาด ไม่ให้ใช้คำเช่นนี้ถ้าใช้ถูกที่ของมันก็ไม่มีเสียหายอย่างไร

ตัวอย่าง
๑. ชายคนนี้ร่างสูง มีข้อลำ ผิวสีนํ้าตาล ไว้ผมเปีย ซึ่งเขลอะไปด้วยน้ำมัน ห้อยลงมาพาดที่ไหล่เสื้อสีนํ้าเงิน ซึ่งดำมอมแมม มือทั้งสองของ เขาเป็นริ้วรอยและเต็มไปด้วยแผลเป็น เล็บนิ้วมือดำและแตก แก้มทั้งสองมีรอยแผลดาบพาดตลอดผิวหน้าซีดช้ำๆ

(แปลจากเรื่อง เกาะมหาสมบัติ (Treasure Island) ของสตีเวนสัน ตอนนี้ เป็นตอนที่เขาพรรณนาลักษณะของตัวละครสำคัญในเรื่อง ขอให้สังเกตถึงความถี่ถ้วนลักษณะเฉพาะ และหาคำที่เป็นคำมีความหมายทางรูปธรรมทั้งสิ้น)

๒. ขนาดของเวตาลนั้นสูงประมาณ ๒ ถึง ๓ ฟุต กว้างฟุตครึ่ง
หนาตั้งแต่อกถึงหลังครึ่งฟุตถึงหนึ่งฟุต ผมบนหัวยาวและดก ขนที่ตัวยาวและยืดเหยียด หัวกลม หน้ารูปไข่ ตากลมและถลน จมูกยาวเป็นขอเหมือนปากเหยี่ยว ปากอ้า แก้มตอบ คางและขาตะไกรกว้าง ฟันเป็นซ่อม แขน และมือสั้น ขาสั้น ท้องพลุ้ย เล็บคม ปีกมีแรงมาก

(พรรณนาลักษณะตัวเวตาลในหนังสือเวตาล การพรรณนาโดยให้ผู้อ่านหลับตานึกเห็นภาพ หรืออาจเขียนเป็นรูปภาพขึ้นได้นั้น เรียกกันว่า ภาพปลายปากกา (Pen-Picture) หรือเขียนภาพด้วยหนังสือ)

๓. วันนี้ท้องฟ้า สลัว แดดอ่อน มีลมเย็น ทะเลราบเหมือนหน้ากระจกสีนํ้าเงินใสแจ่ม

๔. ปลาบางพวกชอบซุกๆ นอนซ้อนๆ กันอยู่ หรือนอนอยู่บนต้นปะการังซึ่งอ่อน เยิ่น กระดิกตัวก็ไหว ดูตัวมันจะเบาเต็มที่ ซ้อนกันลงไป สองสามตัวก็ไม่เห็นว่าไรกัน มีกุ้งทะเลตัวใหญ่ตัวหนึ่ง น่าดูเต็มที สีก็เป็น สีนํ้าเงินอ่อนงาม เจ้าพวกกุ้งทั้งปวงที่เดินถอยหลังกรูดๆ ตะกลาม มากกว่าเพื่อน ปลาซาดินทั้งตัวทิ้งลงไป กอดไว้ตามไล่แย่งกันโดด โหยงๆ ตะพาบนํ้าพึ่งได้แลเห็นว่ามันว่ายนํ้าอย่างไร มันไม่ได้ว่ายแบน ๆ เช่นคะเนว่าจะเป็นเช่นนั้น ว่ายตัวตั้ง เอาหัวขึ้นสองมือตะกาย เวลาจะหยุดพักไม่ใช่ลงไปแบนๆ อยู่กับพื้น เอาหลัง แหมะ เข้ากับฝาเฝืองอะไรก็ได้ แล้วทิ้งเค้เก้ ลอยอยู่เช่นนั้น ไม่เห็นลงถึงพื้น

(ข้อ ๓-๔ ได้จากพระราชนิพนธ์เรื่อง ไกลบ้านให้สังเกตคำที่ใช้ตัวพิมพ์ หนาว่า ให้ความหมายชัดเจนเพียงใด ในข้อ ๓ นั้นพรรณนาถึงกุ้งปลาที่เขาชัง ไว้ในตู้กระจกสวนสัตว์นํ้า ซึ่งเรียกว่าอะควาเรียม)

๒. จงระวังคำที่มีความหมายพร่าเลือน
ผู้เริ่มฝึกต้องจำใส่ใจไว้อย่างหนึ่งว่าเราเขียนเรื่องให้ผู้อื่นอ่าน ฉะนั้น จงพิเคราะห์ดูว่าที่เราเขียนไปแล้ว ผู้อ่านจะเข้าใจได้เพียงใด อย่านึกว่าถ้า เราอ่านเข้าใจเองแล้วผู้อื่นจะเข้าใจด้วย แม้ตัวเราเองถ้าลองพิเคราะห์ข้อความที่เราเขียนให้ถี่ถ้วน บางทีจะรู้ว่า ตัวเราเองอ่านแล้วก็มีปัญหาเหมือนกัน

คำบางคำ ความหมายไม่ค่อยรัดกุม เช่นคำว่า ดี หรือ ชั่ว คำทั้งสองนี้ใช้กันอย่างพร่ำเพรื่อ และใช้ได้ในความหมายมากอย่าง เช่น คนดี อาหาร ดี ขายดี พูดดี คิดชั่ว คนชั่ว อาจมีความหมายสองแง่หรือคลุมเครือ เช่น อาหารดี อาจหมายความว่า อาหารที่มีประโยชน์ อาหารอร่อย อาหารที่ ไม่เน่าก็ได้ ท่านพึงพยายามหาคำที่มีความหมายใกล้ชิด หรือตรงกับที่ท่านต้องการมากที่สุด

๓. เอกภาพ ความมุ่งหมาย และการลำดับความ
สมมุติว่าท่านจะพรรณนาฉากในท้องเรื่องของท่าน ซึ่งเป็นสถานี ท่านอาจหยิบสมุดดินสอตรงไปยังสถานีรถไฟ (ถ้าท่านอยู่ใกล้กับสถานที่ นั้น) แล้วจดอะไรทุกๆ อย่างที่ท่านได้สังเกตเห็นลงไป เมื่อได้ทำดังนี้แล้ว ท่านอาจรู้สึกว่าท่านคงจะได้วาดภาพสถานีรถไฟตามความจริงแล้ว แต่เหตุต่อไปนี้จะทำให้ท่านผิดหวัง

ก. สิ่งอันใดก็ตาม ถ้าเราเข้าไปอยู่ใกล้ชิด เราจะเห็นให้ทั่วไม่ได้ เรียกในภาษาช่างเขียนว่าเปอร์สเปกตีฟ (Perspective) คือการเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดโดยทั่วจากที่ไกล เช่นถ้าท่านอยู่ที่เชิงเขา หรือที่ตอนหนึ่งตอนใดของภูเขา ท่านจะแลเห็นภูเขาลูกนั้นไม่ได้เลยว่ารูปร่างทั้งหมดเป็นอย่างไร ท่านต้องออกมาให้ไกล จึงจะเห็นรูปร่างภูเขาลูกนั้นได้ ถ้าท่านอยู่ในป่า บางทีท่านอาจไม่เห็นป่าเห็นแต่ต้นไม้ คือว่า “เห็นพฤกษ์ แต่ไม่เห็นไทร” ฉะนั้นการเห็นอะไรให้ทั่วถึงในคราวเดียว ท่านต้องดูจากที่ไกล

ข. ท่านอาจพรรณนาละเอียดจนเกินความจำเป็น บรรดาสิ่งต่างๆ มีรูปร่างลักษณะสีสันร้อยแปดประการ นักประพันธ์ต้องรู้จักหยิบเฉพาะสิ่งที่เขาต้องการ ที่เป็นประโยชน์กับท้องเรื่องมาพูด รายละเอียดอื่นๆ ตัดทิ้งหมด

ค. ท่านอาจจะเขียนอย่างสับสน เหมือนภาพที่ระบายสีเปรอะไปหมด เมื่อเป็นดังนี้ผู้อ่านจะเห็นภาพชัดเจนไม่ได้

ข้อ ก. ข. และ ค. นี้หมายถึง เอกภาพ ความมุ่งหมายและการลำดับ
ความ

เอกภาพ (Unity) นี้ ท่านเคยผ่านมาแล้ว หมายถึงลักษณะที่เป็นอย่างหนึ่งอย่างเดียว เมื่อท่านจะพรรณนา ฉาก หรือสิ่งอันหนึ่งอันใด ท่าน ควรถามตัวเองเสียก่อนว่า ท่านพรรณนาเพื่อผลอันใด สิ่งที่ท่านหยิบยกขึ้นมากล่าวต้องเป็นประโยชน์แก่ท้องเรื่อง สิ่งอะไรที่เผินๆ ดาดๆ เป็นสิ่งสามัญ ที่เมื่อพูดแล้วไม่ให้ความอะไรชัดเจน หรือไม่เป็นประโยชน์แก่ท้องเรื่อง ท่านก็ต้องละเว้น อย่านำมากล่าว

อนึ่งในการพรรณนานั้น ที่จริงก็นั่งเขียนอยู่กับโต๊ะนั่นเอง ใช่ว่าท่านจะไปเขียนอยู่ ณ สถานที่ต่างๆ เมื่อไร ฉะนั้นท่านจึงต้องเรียกภาพ ความรู้สึกต่างๆ ที่ได้เคยผ่านหูผ่านตาของท่านขึ้นมาปรากฏในดวงความนึกคิด อย่างที่เรียกในภาษาจิตวิทยาว่าสร้างมโนภาพ เมื่อท่านแลเห็นสิ่งต่างๆ ในมโนภาพชัดเจนแล้ว จึงหยิบเอาสิ่งที่จะเป็นประโยชน์กับท้องเรื่องมากล่าว และกล่าวให้เป็นลำดับ อย่าให้สับสน เช่นถ้าจะพูดถึงเรือน ก็กล่าว ถึงรูปร่างส่วนรวมก่อนว่าเป็นเรือนทรงอะไร กล่าวถึงหลังคา ฝา หน้าต่าง ประตู พื้น และห้องภายในเรือน ถ้าจะพูดถึงหลังคาก็พูดเสียให้หมดความ แล้วจึงพูดถึงสิ่งอื่น ไม่ใช่พูดกลับไปกลับมา ที่ท่านจะเรียกมโนภาพต่างๆ ให้ปรากฏขึ้นได้อย่างเด่นชัดนั้น ก็เพราะคุณสมบัติอย่างเดียวในตัวท่าน คือเป็นคนช่างสังเกต

๔. ประดิษฐการ (Invention)
คำว่า ประดิษฐการ (Invention) นี้ หมายถึง การสร้างของใหม่ขึ้น เช่น การทำบอมบ์อะตอมิกเป็นประดิษฐการทางวิทยาศาสตร์ ในทางการ ประพันธ์ก็มีเหมือนกัน แต่ในที่นี้จะพูดเฉพาะที่เกี่ยวกับการพรรณนา

ในการพรรณนานั้น ท่านอาจจะกล่าวถึงสิ่งที่เคยผ่านหูผ่านตา หรือ มีความชัดเจน (Experience) มาแต่ก่อนอย่างหนึ่ง และอาจจะต้องกล่าว ถึงสิ่งที่ท่านยังไม่เคยพบเห็นอีกอย่างหนึ่ง ท่านอาจถามว่าสิ่งที่เรายังไม่เคยพบเคยเห็น เราจะพูดให้แลเห็นเป็นจริงเป็นจังได้อย่างไร ข้อนี้จะทำได้โดยวิธีประดิษฐการ

สมมุติว่า ท่านไม่เคยเห็นบ้านร้างเลย แต่ในท้องเรื่องที่ท่านแต่งนั้น จำต้องกล่าวถึงบ้านร้าง ท่านจะทำอย่างไร ข้อแรกทีเดียวท่านนึกว่า บ้านร้างควรมีสภาพอย่างไร การนึกนี้ก็คือการระลึกถึงความรู้สึกพิมพ์ใจ (Im¬pression) ต่างๆ ที่เกิดแก่ท่านในเวลาที่ล่วงมาแล้ว ความรู้สึกพิมพ์ใจนั้น ท่านอาจได้จากการพบเห็นสิ่งต่างๆ ได้จากการอ่านหนังสือ ท่านอาจจะเคยได้เห็นหน้าอันแดงระเรื่อ ตาฉ่ำเป็นประกายของเจ้าสาว ท่านก็รู้สึกว่า เขากำลังเต็มไปด้วยความสุข นี่เป็นภาพพิมพ์ใจอันหนึ่ง

ในชั้นต้น ท่านนึกเห็น “บ้าน” จะเป็นบ้านหลังหนึ่งหลังใดที่ท่านเคยเห็นมาแล้ว หรือจะเป็นบ้านในมโนภาพของท่าน ไม่เฉพาะเจาะจงถึงบ้านหลังใดๆ ทั้งสิ้น ครั้นแล้วท่านนึกถึงคำว่า “ร้าง” สภาพของความร้าง ท่านคงเคยเห็นเคยผ่านมาบ้างแล้ว ทั้งรู้สึกในความหมายของคำนี้ ร้างนี้ หมายความว่า ไม่มีคนอยู่ หมายถึงการทิ้งจากไป หมายถึงการปล่อยปละละเลย ยังหมายถึงความรกรุงรัง ความผุพัง ความสกปรก ท่านลองนึกถึงสิ่งต่างๆ ที่อยู่ในสภาพเช่นนี้ แล้วนำไปคาบเกี่ยวกับ “บ้าน” หลังนั้น ท่านยิ่งใช้เวลานึกตรึกตรองนาน ภาพ “บ้านร้าง” ที่เกิดก็จะชัดเจนยิ่งขึ้น

ประดิษฐการนี้ได้แก่การเก็บรวบรวม และเลือกเฟ้นภาพพิมพ์ใจเก่าๆ มาสร้างเป็นภาพใหม่ขึ้นนั่นเอง การที่นักค้นคว้าประดิษฐ์เครื่องบินขึ้น ในชั้นต้น เขาก็เก็บเอาภาพพิมพ์ใจซึ่งได้จากเห็นอาการบินของนก มาเป็นฐานแห่งการประดิษฐ์นั้นเอง ฉะนั้น ควรจดจำไว้ว่า การประดิษฐ์พรรณนา สภาพหรือฉากใดๆ ก็ตาม ต้องมีความจริงเป็นรากฐาน สภาพหรือฉากอย่างหนึ่งอย่างใด แม้มันจะเป็นความจริงไม่ได้ แต่ถ้าท่านเขียนโดยมีหลักความจริงหนุนอยู่ ผู้อ่านก็จะนึกว่ามันน่าจะเป็นจริงได้ ถึงแม้เขายังไม่เชื่อก็ตาม

เพื่อให้ท่านเห็นวิธีนึกและลำดับภาพต่างๆ จะยกอุทาหรณ์ให้เห็น คือสมมุติว่า ข้าพเจ้าจะเขียนเรื่อง และพรรณนาฉากบ้านร้าง ซึ่งมีในท้องเรื่อง ข้าพเจ้าจะทำอย่างไร

บ้านหลังที่ข้าพเจ้าต้องการพรรณนานี้ อยู่ในชนบท ตั้งลํ้าเข้าไปจาก ทาง ยืนที่ถนนจะมองตัวบ้านไม่เห็น เพราะต้นไม้สูงขึ้นบัง มีทางแยกจากถนนไปยังบ้าน แต่เป็นทางอ้อมวก บ้านหลังนี้ใหญ่โตดังบ้านคนร่ำรวย มีสนาม สวนดอกไม้ และบริเวณบ้านกว้าง เมื่อนึกได้รายละเอียดดังนี้แล้ว จึงเขียนเป็นบันทึกเลาๆ ไว้ เพื่อจะเป็นหลักให้การพรรณนาจับอยู่กับเรื่อง ไม่เถลไถลไปทางอื่น สำหรับการบันทึกนี้ บางคนก็บันทึกโดยสมองไม่ต้องเขียนลงเป็นตัวหนังสือเลย

การบันทึกพฤติการณ์ต่างๆ ที่จะช่วยให้ภาพที่พรรณนา แลเป็นจริงเป็นจังขึ้น เช่น ฤดูกาล-สมมุติว่าฤดูฝน เวลา-ก่อนพระอาทิตย์ตกเล็กน้อย ดินฟ้าอากาศมีฝนปรอย จะระลึกถึงทิศทางต่างๆ เพราะอาจจะต้องอ้างถึง แล้วทำเป็นรายการ

เหล่านี้เป็นรายการที่คิดจัดลำดับขึ้น เพื่อให้การพรรณนาเด่นชัด ไม่ คลุมเครือ แต่ดังได้พูดแล้วสำหรับผู้มีความชำนาญ สิ่งต่างๆ ย่อมสำเร็จได้ภายในหัวสมอง

เมื่อได้รายการต่างๆ ดังนี้แล้ว ขั้นที่สองก็คือ เอารายการต่างๆ นี้มาเรียบเรียงให้เป็นลำดับ มีเนื้อเรื่องโยงติดต่อกัน แต่ใช่ว่า จะเขียนลงไปในเรื่องทุกรายการก็หามิได้ แต่อาจหยิบยกเอามาเฉพาะสิ่งที่จะเป็นประโยชน์แก่เรื่องเท่านั้น การเลือกเฟ้นนี้เป็นสิ่งสำคัญยิ่งในการพรรณนา การพรรณนาฉากนี้เพื่อต้องการให้เรื่องเป็นจริงขึ้น และผู้อ่านก็ไม่ต้องการเห็นอะไรละเอียดมากไปกว่าที่จะให้เข้าใจเรื่องเท่านั้น บรรยากาศ (Atmosphere) ของฉากจะต้องเข้าเค้ากับท้องเรื่อง กล่าวคือ ฉากบ้านร้างนี้ ถ้าท้องเรื่องเกี่ยวกับภูตผีปีศาจ ก็จะต้องพรรณนาให้มีบรรยากาศแตกต่างจากท้องเรื่องที่เกี่ยวกับผู้ร้ายเข้ามาอาศัยทำการทุจริต

การลำดับความว่าจะพูดอะไรก่อนหลังนี้ ไม่มีหลักตายตัว ข้อสำคัญก็คืออย่าให้ความสับสน เช่น ในเรื่องบ้านร้างนั้น เริ่มแต่ปากทางที่เข้าไปยังตัวบ้านผ่านถนน ต้นไม้ริมถนน ตอนหัวโค้งและบันไดบ้านตามลำดับ

รายการ

ภาพ

ความรู้สึก

ประตูบ้าน

ถนน

 

เหล็ก-สนิม-บานพับฝืด ถนนโรยกรวด หญ้าขึ้นรก ใบไม้แห้งหล่นเกลื่อน กิ่งไม้ยื่นออกมาขวางถนนสองข้างทางมีต้นมะขามบ้าง มะม่วงบ้าง มีต้นก้ามปูใหญ่ร่มครึ้ม แปลกใจ

 

ขณะที่เดินไปตามถนน เงียบ-ได้ยินแต่เสียงใบไม้ เสียงนกเล็กๆ ในสุมทุม ได้กลิ่นใบไม้เน่า รู้สึกครึ้มๆ วังเวง
เมื่อเลี้ยวโค้งถึงตัวตึก เห็นมุขกว้าง บันไดทำด้วยหินก้อนใหญ่ๆ มีเถาวัลย์เลื้อยตามเสา ที่หินมีตะไคร่น้ำ

ฯลฯ

        ฯลฯ                  ฯลฯ

ฯลฯ

การที่จะเขียนฉากทองเรื่องเช่นนี้ให้ถูกต้อง ท่านจำเป็นต้องอาศัย หนังสือที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และโบราณคดี ต้องดูภาพเรื่องโบราณคดี ดูแผนที่ เป็นต้น ระวังอย่าเขียนอย่างงมๆ และเลื่อนลอย ถ้าท่านไม่มีความรู้ความเข้าใจในฉาก และเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์อย่างถ่องแท้แล้ว ระวังอย่าเขียนเรื่องที่จำต้องพรรณนาฉากเป็นอันขาด ท่านอาจจะเขียนเรื่องทำนองประวัติศาสตร์ได้บางเรื่อง โดยไม่จำต้องพรรณนาฉากอะไรมากมายนักในข้อ ๔ กล่าวถึงประดิษฐการแห่งการพรรณนาถึงสิ่งที่อยู่ไกลหู ไกลตา เป็นการคิดวาดภาพขึ้นเอง แต่อย่างไรก็ดี สิ่งที่ท่านวาดขึ้นนั้นเกิดจากผลแห่งความจัดเจนแห่งการที่ท่านได้เคยผ่านพบมาแล้ว แต่ถ้าเผอิญ ท้องเรื่องของท่านเกิดขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา สมมุติว่า พ.ศ.๒๓๐๐ ท่านจะทำอย่างไร อยู่เฉยๆ ท่านจะหลับตาเห็นภาพกรุงศรีอยุธยาเมื่อร้อยๆ ปี มาแล้วไม่ได้เลย แล้วท่านจะเขียนให้ถูกต้องชัดเจนได้อย่างไร

สมมุติว่า ท่านจะต้องเขียนเรื่องอันเกิดขึ้นในสมัยพ่อขุนรามคำแหง และท่านจำเป็นจะต้องสร้างฉากถนนหนทาง บ้านเรือน และความเป็นอยู่ ของคนในสมัยนั้น ท่านควรค้นหาหลักฐานบางอย่างดังต่อไปนี้

๑. ท่านควรรู้จักภูมิฐานของนครสุโขทัยสมัยพ่อขุนรามคำแหง โดยดูหลักฐานจากศิลาจารึก หนังสือเรื่องเที่ยวเมืองพระร่วง-พระราชนิพนธ์ รัชกาลที่ ๖ ดูให้รู้แผนที่ของเมือง ดูภาพโบราณวัตถุของสุโขทัย และถ้าทำได้ ท่านควรเข้าไปเยี่ยมพิพิธภัณฑ์ดูโบราณวัตถุสมัยสุโขทัย สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้มโนภาพของท่านกระจ่างขึ้น

๒. หาหลักฐานในที่ต่างๆ ที่พอจะให้ความรู้แก่ท่านในเรื่องลักษณะของถนนหนทาง บ้านช่อง ร้านรวง พาหนะ เครื่องแต่งกาย ขนบธรรมเนียม ต่างๆ

๓. เมื่อท่านได้หลักฐานเพียงพอแล้ว จึงลงมือวาดภาพฉาก สิ่งสำคัญ ในตอนนี้ คือท่านต้องทำให้ผู้อ่านเลื่อนลอยจากสภาพปัจจุบัน เข้าไปอยู่ในสมัยพ่อขุนรามคำแหง ในข้อนี้ท่านต้องเป็นผู้นำ เมื่อท่านพรรณนาฉาก ต้องเขียนให้เป็นประหนึ่งว่า ท่านเป็นคนในสมัยนั้นจริงๆ ท่านอาจจะ “มุข” ละครตัวหนึ่งตัวใดในเรื่องขึ้นแทนท่านก็ได้ ให้ตัวละครตัวนี้เป็นผู้บอก เล่าชักนำความรู้สึกของผู้อ่านเข้าไปอยู่ในสมัยที่กล่าวแล้ว

การเขียนเรื่องทำนองประวัติศาสตร์ ผู้เขียนควรจะมีพื้นความรู้ทาง โบราณคดีอยู่บ้าง และควรมีความรู้รอบตัวหลายอย่าง

๖. พาเทติก ฟาลาซี (Pathetic fallacy)
พาเทติก แปลว่า ความซาบซึ้งใจ ฟาลาซี แปลว่า คลาดเคลื่อน
ผิดความจริง คำ พาเทติก ฟาลาซี (Pathetic fallacy) นี้ รัชกิน (Ruskin) ได้กำหนดขึ้น สำหรับโวหารในการพรรณนา กล่าวคือ ภาพธรรมชาติ หรือ ปรากฏการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ทำให้นักเขียนเกิดอารมณ์ซึ้งใจ และนักเขียนรู้สึกว่าสิ่งนั้นๆ คงจะมีอารมณ์เช่นเดียวกับตัวเขา ซึ่งตามที่แท้จริงแล้ว สิ่งนั้น ไม่มีชีวิตวิญญาณอันใดเลย

นักศิลป์ กวี นักประพันธ์ มักมีอารมณ์พิเศษกว่าคนธรรมดา เสียง และรูปที่เข้าสู่สัมผัสของเขา มักไม่เหมือนกับที่เราเห็นและได้ยิน บางทีเขา ยังได้แลเห็นภาพและฟังเสียงซึ่งพ้นไปจากประสาทสัมผัสของเราขึ้นไป ยืนบนสะพานพุทธยอดฟ้า ทอดสายตาไปตามลำนํ้า ท่านจะเห็นกระแสนํ้า เรือแพและตึกรามบ้านช่องทั้งสองฝั่ง มันก็เป็นทิวทัศน์ธรรมดานั่นเอง ลองสวมแว่นสีเขียวแดงหรือเหลือง สิ่งที่เราเห็นจะมีลักษณะแปลกออกไป อาการ เห็นของนักเขียนมักจะเป็นไปทำนองนี้ สำหรับนักเขียนแม้สิ่งต่างๆ จะไม่มีอารมณ์ ไม่มีชีวิต แต่เขาก็มีความรู้สึกว่า สิ่งเหล่านั้นมีอารมณ์ได้เหมือนเขา เมื่อนักเขียนเดินเข้าไปในสำเพ็งในยามดึกสงัด คนเขาอาจเห็นไปว่า ห้องแถวสองฟากพยักพเยิดแก่กัน บางทีเขาจะเห็นว่าลมที่พัดหมวกปลิวจากศีรษะหญิงเป็นลมอันซุกซน เหล่านี้แหละที่เรียกว่า พาเทติก ฟาลาซี ท่าน อาจจะพบ พาเทติก ฟาลาซี ในโวหาร เช่น

พระจันทร์ลอยเศร้าอยู่ในท้องฟ้า
พระอาทิตย์อาลัยที่จะจากโลกไป
ใบหญ้าซบเซาอยู่ในแสงแดด
ดอกกุหลาบยิ้มรับแสงแดดเช้า

การพูดโดยโวหาร พาเทติก ฟาลาซี นี้ มิใช่ของง่าย ถ้าเราไม่มีอารมณ์ที่แท้จริงเกิดขึ้นแล้ว ก็จะทำให้รู้สึกเขินๆ และกลายเป็นของขัน ถ้าท่านจะพูดว่า “พระอาทิตย์อาลัยที่จะจากโลกไป” ท่านต้องมีความรู้สึกซึ้ง และเข้าใจในคำที่ท่านพูด อย่าเขียนโดยนึกว่ามันคงจะอย่างนั้นๆ หรือเอาความรู้สึกของผู้อื่นมาเป็นของท่าน หรือใช้โวหารดาดๆ ตื้นๆ ข้อที่พึงจำไว้ คือ

เมื่อท่านไม่มีอารมณ์อะไร ก็อย่าเขียนอย่างว่าท่านมีอารมณ์นั้น มันจะเป็นความจริงไม่ได้

ถ้าท่านมีอารมณ์แรงเกินไป อารมณ์ก็จะท่วมตัวท่าน แล้วท่านก็จะ เขียนอะไรให้ผู้อ่านเข้าใจไม่ได้เลย คนที่โกรธจัดย่อมจะพูดอะไรไม่ถูก ถ้านักเขียนมีความโกรธ เกลียด ริษยา โลภ รัก พยาบาท ท่วมตัวแล้ว เขาย่อมจะพรรณนาลักษณะเหล่านี้ให้ชัดเจนไม่ได้เลย นักเขียนมีอารมณ์ต่างๆ รุนแรงก็จริง แต่เขาย่อมเป็นนายแห่งอารมณ์นั้นๆ

ตัวอย่าง
(๑)
“สักครู่หนึ่งถึงกลางป่าช้า พระราชาทอดพระเนตรเห็นสิ่งซึ่งเป็นที่น่ารังเกียจต่างๆ อยู่ล้อมกองไฟ ซึ่งได้เผาศพใหม่ๆ ภูตผีปีศาจปรากฏแก่ตารอบข้าง เสือคำรามอยู่ก็มี ช้างฟาดงวงอยู่ก็มี หมาในซึ่งขนเรืองๆ อยู่ในที่มืดก็กินซากศพ ซึ่งกระจัดกระจายเป็นชิ้นเป็นท่อน หมาจิ้งจอกก็ต่อสู้กันแย่งอาหาร คือ เนื้อและกระดูกมนุษย์ หมีก็ยืนเคี้ยวกินตับแห่งทารก ในที่ใกล้กองไฟเห็นรูปผีนั่งยืน และลอยอยู่เป็นอันมาก ทั้งมีเสียงลมและฝน เสียงสุนัขเห่าหอน เสียงนกเค้าแมวร้อง และเสียงกระแสนํ้าไหลกลบกันไป”

คัดจากเรื่อง เวตาล ของ น.ม.ส. ตอนพระราชาวิกรมาทิตย์ และพระราชบุตรดำเนินเข้าไปในป่าช้า

ข้อสังเกต
๑. จะเห็นว่าคำที่ใช้เป็นคำที่มีความหมายทางรูปธรรมเกือบทั้งหมด

๒. เมื่อเราอ่าน เราจะรู้สึกเหมือนว่าเราได้เข้าไปอยู่ที่นั่นด้วย ทั้งนี้เพราะผู้เขียนตั้งให้พระราชาวิกรมาทิตย์ทำหน้าที่เห็นสิ่งต่างๆ แทนท่าน

๓. เรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับสิ่งลี้ลับอัศจรรย์ ภาพที่พรรณนานี้ ล้วนเกิดจากประดิษฐการทั้งสิ้น

(๒)
เรื่องต่อไปนี้คัดจากพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๕ เรื่องพระทันตธาตุ เมื่อ
รัชกาลที่ ๕ เสด็จเมืองแกนดี และได้เสด็จไปนมัสการพระบรมธาตุ ได้ทรงพรรณนาถึงลักษณะพระบรมธาตุ และสถานที่ประดิษฐาน นับเป็นการพรรณนาจากของจริง ตัวอย่างนี้เพื่อให้ผู้ศึกษาแลเห็นอำนาจแห่งการสังเกตพิจารณา

“พระธาตุนั้นร้อยอยู่ในห่วงลวด ซึ่งปักอยู่ในกลางดอกอุบลทำด้วย ทองคำ มีพระเจดีย์ครอบเป็นชั้นๆ จนถึงชั้นในที่สุดเป็นกล่องประดับด้วย เพชรพลอย พระเจดีย์บางองค์ในเจ็ดชั้นนั้นประดับเพชรพลอยงามดี องค์นอกที่สุดมีสังวาลหลายอย่าง สังเกตได้แต่ว่าเป็นอย่างพม่านั้นสายหนึ่งสวมอยู่ สัณฐานพระธาตุก็ไม่ผิดอันใดกับที่จำลองนัก แต่จะเป็นด้วยเก่าหรือสีดอกพิกุลแห้ง จึงได้มีสีคลํ้ามัวเหมือนงาที่ทำเครื่องมืออันใดใช้เก่าๆ แต่ไม่เป็นสีเดียวเสมอกัน

ที่ซึ่งเก็บนั้นเป็นห้องไม่มีหน้าต่าง มีแต่ประตูด้านเดียว มีกุญแจ สามดอก ผู้ซึ่งรักษาวัดซึ่งเรียกว่า รเตมหัตตเมยะ ซึ่งแต่งตัวนุ่งผ้ายาว ๒ วา เก็บดอกหนึ่ง พระเก็บสองดอก ในนั้นมีสิ่งอื่นๆ ที่มีราคาหลายอย่าง แต่ยากที่จะเห็นได้ถนัด เพราะมืดต้องจุดไฟ และไม่จุดหลายดวงนัก ดูเหมือนเจ้าพนักงานผู้รักษาจะพอใจให้เป็นเช่นนั้นด้วย การที่จะบูชาด้วยประทีป ย่อมไม่สู้เป็นที่ต้องใจของผู้รักษา

ข้าพเจ้าได้เห็นหนังสือเขียนด้วยลานทองสองผูก ผูกหนึ่งซึ่งเข้าใจว่า ส่งไปแต่สมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์กรุงสยาม ๑๕๐ ปีเศษมาแล้ว ข้าพเจ้า พลิกดู ร้อยลานกลับต้นเป็นปลาย เขียนด้วยอักษรขอม ขึ้นต้นเป็นวิธีอุปสมบท และกฐิน ผูกและถอนสีมา ข้างปลายมีบานแผนกเขียนแปลร้อย ได้คัดที่จารึกนั้นมา ศักราชลงว่า ๑๐๐๕ ถ้าจะเข้าใจโดยคำว่าพันห้า ก็เป็นก่อนเวลาแผ่นดินบรมโกษฐ์ และทั้งสังเกตดูถ้อยคำในนั้นประกอบด้วยรูปตัวอักษรเห็นเป็นหนังสือขอมที่เขมรเขียน หาใช่ไปจากกรุงสยามไม่ อีกผูกหนึ่งนั้น ไม่ได้ดูด้วยผู้รักษาหวงแหนเสียเหลือเกิน ราวกับว่าผู้หนึ่งผู้ใด จะวิ่งราวไปจากที่นั้น

ยังมีพระแก้วอีกองค์หนึ่ง ซึ่งหน้าตักกว้างประมาณ ๔ นิ้ว สังเกต ดูไม่ใช่ฝีมือลังกา สีคล้ายมรกตส่องโปร่ง มีที่ชำรุดบ้าง จะสังเกตว่าเป็นเนื้อศิลาหรืออันใดก็ยาก ด้วยสว่างไม่พอ และเขาไม่สู้จะให้ดูนานนัก ทั้งในห้องนั้นก็ไม่มีทางลมซึ่งจะหายใจได้มาก คนก็เข้าไปเต็มแน่น ถ้าผู้ใด
ยืนอยู่ช้าอาจเป็นลมได้ ด้วยต้องการลมสำหรับหายใจ…”

(๓)
ตอนนี้คัดจาก “Romance ซ้อนเรื่องจริง” นวนิยายขนาดสั้นของ “ดอกไม้สด” ตอนที่คัดมานี้เป็นตอนที่ตัวละครในเรื่องพากันไปฟังเทศน์มหาชาติที่วัด สมณาราม ซึ่งตั้งอยู่บนเขาวัง

“…ระยะทางไม่ถึงเส้นก็ถึงตีนเขา ขึ้นบันไดซีเมนต์สูงไม่ใช่น้อย จึงบรรลุถึงอาราม ทางซ้ายมือมีกุฏิสงฆ์เล็กๆ ปลูกอยู่เป็นหมู่ ทางขวามือ มีต้นสนขึ้นเป็นหย่อมๆ เดินตรงไปอีกถึงประตูช่องกุฏิ ต่อจากนั้นจึงเห็นองค์พระอุโบสถเล็กกะทัดรัด ตั้งอยู่บนเขาเล็กยอดหนึ่ง แต่ในเวลากลางคืน แสงจันทร์ขับสีขาวที่ฝาโบสถ์นั้นให้เด่นชัดขึ้นกว่าสิ่งใดๆ จึงดูประดุจว่า พระอุโบสถนั้นลอยเด่นอยู่กลางอากาศ พอเข้าเขตพัทธสีมาก็ได้เห็นแสงสว่างแห่งโคมและเทียนส่องจ้าออกมาตามหน้าต่าง ภายในพระอุโบสถมีคนสดับพระสัทธรรมเทศนาอยู่แออัดจนล้นหลามออกมาถึงภายนอกประตู เมื่อพระยานรราชและคณะไปยืนอยู่ที่ตรงประตูนั้น ได้ทำให้สมาธิอุบาสกอุบาสิกาเลื่อนลอยไปครู่ใหญ่ โดยที่ทุกคนพากันหันมามองดูท่าน ครั้นเห็นลักษณะว่าเป็นคนใหญ่โตก็หลีกทางให้เข้าไปข้างใน ขณะนั้นพระสงฆ์กำลังแสดงเทศนา เรื่องประถมสมโพธิ สำเนียงของท่านแปร่งอย่างสำเนียงชาวเพชรบุรี จึงทำให้ฟังเข้าใจยาก ดังนั้นชาวกรุง เว้นแต่เจ้าคุณนรราชจึงนั่งสอดส่ายดูสิ่งต่างๆ ในโบสถ์นั้นแทนที่จะฟังเทศนา
แท้จริงภาพภายในพระอุโบสถนี้เป็นภาพที่แปลกกว่าความงามใดๆ ทั้งสิ้น แสงโคมที่ห้อยลงมาจากเพดานรวมทั้งแสงเทียนบนที่บูชาส่องแสงสว่างจ้าทั่วบริเวณ พระประธานองค์ใหญ่ทรงไว้ซึ่งรัศมีอันไพโรจน์ ลวดลายที่เขียนด้วยทองตามฝาผนังและเพดานเบ่งสีสุกปลั่งขึ้น เทียนขึ้ผึ้งเล่มใหญ่ หลายสิบเล่มล้วนแต่ถูกหุ้มห่อด้วยดอกไม้สดสีต่างๆ อันชาวบ้านได้ร้อยกรองอย่างเต็มฝีมือตามวิสัยบ้านนอก ผ้ากาสาวพัสตร์สีเหลืองที่พระภิกษุครองอยู่ ธรรมาสน์ปิดทองล่องชาด สิ่งเหล่านี้รวมกันเข้าแล้วดูเป็นภาพที่สดใสและตระการตาน่าชมยิ่งนัก นอกจากนั้นในสีหน้าของอุบาสกอุบาสิกา ที่มาชุมนุมกันในที่นี้ ล้วนแต่มีลักษณะเคร่งขรึมเยือกเย็นปานๆ กันทั้งสิ้น

อุบาสกมีทั้งแก่และหนุ่ม แต่งก่ายด้วยเสื้อผ้าเก่าๆ แต่กระนั้นก็ยังดูสะอาดตา อุบาสิกาที่เป็นชี สวมเครื่องแต่งกายขาวบริสุทธิ์ ชาวเมืองที่สาวๆ สวมเครื่องแต่งกายสีฉูดฉาด พวกลาวซ่งนุ่งซิ่นพื้นดำลายขาว สวมเสื้อดำทั้งตัว แต่มีกระดุมเงินขัดเป็นมันวาวติดอยู่ที่หน้าอกเป็นระดับตั้งแต่เอวจนถึงคอ นอกเสื้อมีสไบสีชมพูแก่หรือสีแสดแช้ด สไบเฉียงตัดกับสีดำของเสื้อ และ สีขาวของลูกกระดุม บนศีรษะประดับด้วยดอกไม้สีเดียวกับผ้าห่ม ทุกๆ คน นั่งพับเพียบพนมมือ ตาจ้องจับอยู่ที่หน้าของพระสงฆ์ ผู้สถิตอยู่บนธรรมาสน์”

ขอให้สังเกตการลำดับความ และการพรรณนาสภาพของตอนนี้ ตอนที่พรรณนาการแต่งกายของลาวซ่ง นับว่าชัดเจนดี

คำและความบางอย่างที่ท่านควรรู้
๑. ลม (กริยา) โกรก พัด โชย กระโชก กระพือ
ฝน (กริยา) ตก โปรย พรำ สาด เท

๒. สงัด กับ เงียบ ไม่เหมือนกัน
เงียบ มักหมายถึง เงียบเสียง ส่วน สงัด หมายถึง เงียบหมด สงบนิ่ง ไม่มีผู้คน อย่างเช่นในคำที่ว่า ดึกสงัดสัตว์สิงห์ไม่ส่งเสียง -ดึกสงัดลมพัดมาอ่อนๆ -ครั้นเวลาดึกสงัดเขาสะพัดสามรอบเข้าล้อมเขตนิเวศนวัง

๓. ฤดูใบไม้ผลิได้โปรยปรมาณูสีเขียวสดลงมาจากห้องฟ้าสีคราม เบื้องบน
ท่านเข้าใจว่ากระไร ถ้าไม่เข้าใจลองถามคนอื่น ถ้าใครๆ ไม่เข้าใจ ท่านอย่าเขียนข้อความเช่นนี้

๔. หล่อนโถมเข้ากอดร่างของข้าพเจ้าระดมจูบกราวลงมาที่แก้มและตา
โวหารเผ็ดร้อนดี และคำว่า กราว ก็ให้ความหมายดี

๕. ดอกเห็ดร่วงโรย
พิเคราะห์ดูว่า ดอกเห็ดจะร่วงได้หรือไม่

๖. เสียงเพลงสะวิงตํ่าๆ ภาษาต่างประเทคอ้อแอ้ๆ ออกมาจากห้องพักหัวมุม
ประโยคนี้ความไม่ชัด คำ อ้อแอ้ หมายถึงเสียงเด็กหรือคนเมา

ภาษาต่างประเทศนี้ถ้าใช้ เพลงฝรั่งจะแคบเข้า ต่างประเทศนั้น นอกจากไทยแล้ว เป็นต่างประเทศทั้งนั้น เสียงเพลงสะวิง ต่ำๆ ความพร่ามาก

(ท่านควรมีสมุดเล่มหนึ่ง บันทึกคำที่ท่านอ่านแล้วสะดุดใจ หรือเป็นที่ ชอบใจของท่าน)

ที่มา:เปลื้อง ณ นคร