หลักตัดสินคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนา

Socail Like & Share

พระพุทธเจ้าทรงทราบดีว่าต่อไปภายหน้าจะต้องมีผู้นำคำสั่งสอนภายนอกเติมเข้ามาในสัตถุศาสน์ของพระองค์แน่ ดังนั้น เพื่อให้มีเครื่องตัดสินว่าคำสอนนั้นๆ เป็นคำสอนของพระองค์ หรือเป็นคำสอนที่พระพุทธศาสนาควรยอมรับว่า ใช้ได้ หรือถูกต้องเข้ากันได้หรือไม่ พระพุทธองค์ทรงวางหลักสำหรับตัดสินไว้เป็นหลักทั่วไปก็มี เป็นหลักตัดสินเฉพาะพระวินัยก็มี เป็นหลักตัดสินสำหรับโลกุตรธรรมก็มีดังนี้

ในเภสัชชขันธกะมหาวรรคแห่งวินัย ทรงแสดงข้ออ้างอิงสำหรับเป็นหลักตัดสินทางวินัย ๔ ประการ เพื่อเป็นเครื่องวินิจฉัยว่าอะไรควร อะไรไม่ควร เช่น

สิ่งใดมิได้ทรงห้ามว่าไม่ควร แต่เข้ากับของที่ควรขัดกับของที่ไม่ควร สิ่งนั้นควร๑ สิ่งใดมิได้ทรงห้ามว่าไม่ควร แต่เข้ากับสิ่งที่ไม่ควร ขัดกับของที่ควร สิ่งนั้นไม่ควร๑ สิ่งใดมิได้ทรงอนุญาตว่าควร แต่เข้ากับของที่ควรขัดกับของที่ไม่ควร สิ่งนั้นควร๑ สิ่งใดมิได้ทรงอนุญาตว่าควร เข้ากับของที่ไม่ควร ขัดกับของที่ควร สิ่งนั้นไม่ควร๑ เช่น ฝิ่นเป็นของเสพติด ทำลายสุขภาพ มิได้ทรงห้ามว่าไม่ควร เพราะครั้งพุทธกาลไม่มี แต่เข้ากับของที่ไม่ควร คือ สุรา ขัดกับของที่ควร ฝิ่น จึงไม่ควรกับบรรพชิต เป็นต้น

ในมหาวรรค ทีฆนิกาย ทรงแสดงหลักการตัดสินธรรมวินัยทั่วไป ความไทยโดยย่อว่า

ถ้ามีผู้อ้างว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นสัตถุศาสน์ อย่าพึงรับหรือปฏิเสธก่อน พึงเทียบเคียง สอบสวนตามธรรมวินัย ถ้าไม่ลงกัน พึงเข้าใจว่า นั่นมิใช่สัตถุศาสน์ ถ้าลงกันทั้งธรรมทั้งวินัย พึงเข้าใจว่า นั่นเป็นสัตถุศาสน์

ในอัฏฐกนิบาต อังคุตตรนิกาย กับใน จุลวรรค ทรงแสดงหลักตัดสินสำหรับโลกุตรธรรม ความไทยโดยย่อดังนี้

ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อราคะ เพื่อประกอบทุกข์ เพื่อสะสมกิเลส เพื่อความมักใหญ่ เพื่อความไม่รู้จักพอ เพื่อความคลุกคลีด้วยหมู่ เพื่อความเกียจคร้าน เพื่อความเลี้ยงยาก ธรรมเหล่านี้ พึงรู้ว่า ไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่วินัย ไม่ใช่สัตถุศาสน์

ธรรมที่เป็นไปโดยนัยตรงกันข้าม พึงรู้ว่า เป็นธรรม เป็นวินัย เป็นสัตถุศาสน์

ความเชื่อ
ตามปกติแล้วคนทุกคนย่อมมีความเชื่อ(ศรัทธา) ศาสนาสำคัญบางศาสนาถือว่า ความเชื่อเป็นพื้นฐานสำคัญของศาสนานั้น โดยให้เชื่อก่อนแล้วรู้เอง ดังนั้น จึงต้องบังคับให้เชื่อ แต่ในพระพุทธศาสนาสอนให้รู้ก่อนแล้วจึงเชื่อ และจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ไม่บังคับ ทั้งกับสอนไม่ให้เชื่อ ดังนี้คือ

๑. อย่าเชื่อโดยฟังตามๆ กันมา
๒. อย่าเชื่อโดยเชื่อสืบๆ กันมา
๓. อย่าเชื่อโดยเขาเล่าว่า
๔. อย่าเชื่อโดยอ้างตำรา
๕. อย่าเชื่อโดยตรึกเอาเอง
๖. อย่าเชื่อโดยคาดคะเนเอา
๗. อย่าเชื่อโดยตรึกเอาตามอาการของเรื่องนั้นๆ

๘. อย่าเชื่อโดยเห็นว่าตรงกับความเห็นของตน
๙. อย่าเชื่อโดยเห็นว่าควรเชื่อได้
๑๐. อย่าเชื่อโดยเห็นว่าผู้พูดเป็นสมณะ หรือเป็นครูของตน

เรื่องนี้อยู่ในกาลามสูตร
พระพุทธเจ้าทรงสอนไม่ให้เชื่อในอาการดังกล่าว แต่พระองค์ทรงสอนให้เชื่อความจริง(ตัวเองก็ยังเชื่อไม่ได้) ด้วยให้รู้ก่อนจึงเชื่อ ดังนั้น ในที่ใดที่ทรงสอนเรื่องความเชื่อ ในที่นั้นต้องมีสอนให้ใช้ปัญญาพิจารณาหาความจริงด้วยทุกแห่ง เช่น ในปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต อังคุตตรนิกาย เป็นต้น

สิ่งที่ควรทำเมื่อมีคนติหรือชมพระพุทธเจ้า
เรื่องนี้พระองค์ทรงแสดงว่า พุทธบริษัทอย่าโกรธ อย่าตื่นเต้นดีใจ เมื่อใครเขาติเตียนหรือชมเชยพระพุทธองค์

จิต-ใจ
ร่างกายของเรานี้ประกอบไปด้วย กายกับจิต หรือใจ ก่อนอื่นควรทำความเข้าใจในคำว่า จิต ใจ มโน มนัส วิญญาณก่อน

มีคำบาลีว่า “จิตฺตํ มโน มนสํ วิญฺญาณํ หทยํ มนํ นามาเนตานิ โวหารปเถ วตฺตนฺติ หายโต” แปลว่า ชื่อว่า จิต มนะ มนัส วิญญาณ หทัย เหล่านี้ ย่อมเป็นไปตามสำนวนโวหารสำหรับเรียกโดยมาก และในมหาวรรคขุททกนิกายก็แสดงว่า จิต มโน วิญญาณ เป็นต้นเป็นอย่างเดียวกันดังนี้ จิตฺตํ มโน มานสํ หทยํ ปณฺพรํ มนายตนํ มนินฺทฺริยํ วิญฺญาณํ วิญฺญาณกฺขนฺโธ มโนวิญฺญาณธาตุ เป็นต้น แปลว่า คำว่าจิต มนะ มนัส หทัย บัณฑร มนายตนะ มนินทรีย วิญญาณ วิญญาณักขันธ มโนวิญญาณธาตุ เป็นไวพจน์(เป็นชื่อเรียก) ของมนะ(ใจ) หมายความว่า เป็นอย่างเดียวกัน แต่ที่ต่างกันนั้นเพราะเรียกให้ต่างกันไปตามอาการและหน้าที่ ซึ่งแล้วแต่จะพิจารณา (แต่ไม่ควรมาขัดใจกันเพราะทิฏฐิความเห็นในเรื่องนี้ เพราะคนพ้นทุกข์ได้มิใช่เพราะมาเถียงกันว่า จิตกับวิญญาณนั้น เป็นอย่างเดียวกันหรือต่างกัน มีแต่ยิ่งเถียงกันยิ่งเกิดทุกข์)

ก็สิ่งหนึ่งเรียกว่า จิต เพราะทำหน้าที่สะสมและคิด เรียกว่า วิญญาณ เพราะทำหน้าที่รู้ เรียกว่า มโน มนัส มนะ เพราะทำหน้าที่นึกคิด และเรียกว่าหทัย คือ หัวใจ คำว่า ใจ เป็นคำไทยแท้ คำว่าจิต-มโนวิญญาณธาตุนั้นเป็นคำบาลี ที่เรานำมาใช้เป็นคำไทย เมื่อเรานับถือพระพุทธศาสนา ถ้าเป็นคำไทยแท้ดั้งเดิมแล้ว ก็ใจคำเดียว ใจทำหน้าที่อย่างไหน เช่น คิด นึก รู้ สะสม อะไรก็เรียกกันไปตามภาทางศาสนาก็แล้วกัน เพื่อตัดปัญหา ในที่นี้ขอใช้คำไทยว่า ใจ แทนจิต เป็นต้น

เรื่องใจเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ดังมีพุทธพจน์ปรากฏในธรรมบท ขุททกนิกาย ความไทยว่า อะไรๆ ก็มีใจเป็นสำคัญ ขึ้นอยู่กับใจ ใจมักดิ้นรน กวัดแกว่ง รักษายาก ห้ามยาก ไปได้ไกล การข่มใจได้ ย่อมให้สำเร็จประโยชน์ ใจที่คุ้มครองรักษาได้ ย่อมนำความสุขมาให้ ดังนี้เป็นต้น

พูดถึงความดีความร้าย ใจของเรานี้ ย่อมนำความดีความร้ายมาให้เรายิ่งกว่าผู้ดีผู้ร้ายเสียอีก ในข้อนี้พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในธรรมบท ขุททกนิกาย ความไทยว่า โจรเห็นโจร คู่เวรเห็นคู่เวร ย่อมทำความร้ายให้แก่กันเป็นอันมาก แต่ใจที่ตั้งไว้ผิด(คือความคิดเลว หรือเห็นผิดเป็นชอบ) ย่อมทำความร้ายแก่คนยิ่งกว่านั้น และว่าใจที่ตั้งไว้ถูกต้อง ย่อมทำความดีให้ ยิ่งกว่าพ่อแม่ญาติ และคนอื่นทำให้เสียอีก

พูดถึงความหลุดจากกิเลส ใจเป็นผู้หลุดพ้น ไม่ใช่กาย ดังความไทยในตอนสุดท้ายของอนัตตลักขณสูตรในมหาขันธกมหาวรรคว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระธรรมเทศนาจบ ใจของพระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ก็หลุดพ้นจากอาสวกิเลส และมีในธรรมบท ขุททกนิกาย อีกความไทยว่า เมื่อใจเศร้าหมอง ย่อมหวังไปทุคติ เมื่อใจผ่องแผ้ว ย่อมหวังไปสุคติ ดังนี้เป็นต้น

พระพุทธเจ้าตรัสเรื่องใจนี้ไว้มากอย่างยิ่ง ทำให้ความสำคัญของใจมีมากยิ่งขึ้น รวมความว่า คนจะดีจะชั่วจะไปสุคติ ไปทุคติ ถึงความดับกิเลส คือนิพพาน ก็อยู่ที่ใจเป็นตัวการสำคัญ ดังนั้น จึงต้องระวังใจ ควบคุมไว้ฝึกเอาไว้ ก็จะเป็นประโยชน์ยิ่งนัก

(ถ้าจะถามว่า เหตุใดในบาลีจึงกล่าวว่า จิตหลุดพ้นจากกิเลส ไม่กล่าวว่า วิญญาณหลุดพ้น ข้อนี้ขอชี้แจงว่าก็เพราะจิตทำหน้าที่สะสม เก็บรับกิเลส วิญญาณมีหน้าที่รู้ สิ่งที่พ้นจากกิเลส จึงต้องใช้คำว่า จิต และอย่าลืมว่าจิตนั้นเป็นสังขาร เมื่อเป็นสังขารก็ต้องไม่เที่ยงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ แม้เป็นนิพพานจิต พระนิพพานมิใช่จิต จิตก็ไม่ใช่พระนิพพาน ดังนั้น จิตก็คงเป็นสังขารอยู่นั่นเอง)

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา