หม่อมเจ้าหญิงมัณฑารพ กมลาศน์

Socail Like & Share

พยาบาลเป็นงานที่สตรีนิยมประกอบอาชีพมากที่สุดอาชีพหนึ่ง ซึ่งในจำนวนสตรีที่ประกอบอาชีพนี้ ถือได้ว่า หม่อมเจ้าหญิงมัณฑารพ กมลาศน์ ทรงเป็นพยาบาลชั้นนำในยุคเริ่มต้นของการพยาบาลแผนปัจจุบัน เนื่องจากทรงปรับปรุงงานพยาบาลในหลายๆ ด้านให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศ ด้วยเหตุนี้ จึงสมควรเผยแพร่พระประวัติและผลงานของพระองค์ เพื่อเป็นเกียรติประวัติแก่สตรีไทยผู้บำเพ็ญประโยชน์แก่ประเทศชาติให้เป็นที่แพร่หลายสืบไปหม่อมเจ้าหญิงมัณฑารพ กมลาศน์

หม่อมเจ้าหญิงมัณฑารพ กมลาศน์ เป็นพระธิดาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นราชศักดิ์สโมสร กับหม่อมวาศน์ ประสูติเมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๒๕ มีพระอนุชาและพระกนิษฐาร่วมหม่อมมารดาเดียวกัน ๔ องค์ คือ หม่อมเจ้าฉลาดลบเลอสรร หม่อมเจ้าหญิงเฉลียววรรณมาลา หม่อมเจ้าศุขปรารภ และหม่อมเจ้าหญิงถวิลวิถาร

เมื่อหม่อมเจ้าหญิงมัณฑารพ กมลาศน์ทรงเจริญพระชันษาได้ ๕ ปี กรมหมื่นราชศักดิ์สโมสรก็ทรงจัดหาครูมาสอนวิชาความรู้เบื้องต้นแก่พระธิดา ณ วังที่ประทับนั้นเอง โดยทรงศึกษาหนังสือไทยกับครูเปลี่ยน และทรงศึกษาภาษาอังกฤษตอนต้นกับครูชาวอินเดีย ชื่อ บูรำสะมี้ ท่านโปรดการศึกษาเล่าเรียน มาก ประกอบกับกรมหมื่นราชศักดิ์สโมสรเองก็ทรงได้ชื่อว่า เป็นพระราชวงศ์ชั้นสูงพระองค์หนึ่งในขณะนั้น ที่เล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาของสตรีว่า มีความสำคัญเท่าเทียมกับบุรุษ ดังนั้น เมื่อหม่อมเจ้าหญิง มัณฑารพ กมลาศน์ เกศากันต์แล้ว กรมหมื่นราชศักดิ์สโมสร จึงโปรดให้เข้าเป็นนักเรียนอยู่ประจำในโรงเรียน สุนันทาลัย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงธรรมการ จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นสถานศึกษาสำหรับสตรีชั้นสูง

ระบบการเรียนการสอนของโรงเรียนสุนันทาลัยนั้น มีนโยบายจัดจ้างครูสตรีจากอังกฤษมาสอน เน้นการฝึกหัดในด้านภาษาและเรียนรู้การเข้าสังคมแบบตะวันตก ในขณะเดียวกันก็มีครูไทยเป็นเพียงผู้ช่วยครูฝรั่ง คอยให้คำแนะนำเรื่องการประพฤติปฏิบัติตนตามแบบอย่างวัฒนธรรมไทยที่ดีงาม ทำให้โรงเรียนสุนันทาลัย มีลักษณะใกล้ไปทางโรงเรียนของชาวอังกฤษมากกว่าคนไทย ภาษาที่อาจารย์ใช้พูดกับนักเรียน ก็ใช้ภาษาอังกฤษเป็นพื้น ประกอบกับจำนวนนักเรียนมีไม่มากนัก อาจารย์สามารถดูแลอบรมได้อย่างใกล้ชิด จึงเป็นผลให้นักเรียนของโรงเรียนนี้ซึ่งรวมทั้งหม่อมเจ้าหญิงมัณฑารพ กมลาศน์ สามารถอ่าน เขียน และ พูดภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี แม้จะยังเรียนไม่ถึงชั้นหกอันเป็นชั้นสูงสุดของโรงเรียน

ในขณะที่หม่อมเจ้าหญิงมัณฑารพ กมลาศน์ ทรงศึกษาอยู่ที่โรงเรียนสุนันทาลัยนี้ ทรงหาโอกาสระหว่างโรงเรียนหยุด ศึกษาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และบาลีเพิ่มเติมเสมอ กับครูสอนพิเศษ ด้วยมีพระทัย ใฝ่ในการเรียนเป็นอย่างยิ่ง ประกอบกับหม่อมวาศน์ มารดาของพระองค์ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้รักวิชาการ ได้กวดขันอบรมให้การศึกษาแก่บุตรธิดาเป็นประจำ จึงปรากฏผลว่าท่านทรงสอบไล่ได้คะแนนเป็นที่หนึ่งหลายครั้ง ครั้งที่สำคัญที่สุดคือครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นักเรียนชายของโรงเรียนราชวิทยาลัยและนักเรียนหญิงของโรงเรียนสุนันทาลัยที่สอบชั้นหกแล้ว เข้าสอบชิงทุนหลวงคิงสกอลาชิพ เพื่อไปศึกษาต่อต่างประเทศ ปรากฏว่าหม่อมเจ้าหญิงมัณฑารพ กมลาศน์ ทรงสอบได้ที่หนึ่ง แต่ขณะนั้นการส่งเจ้าหญิงไทยไปทรงศึกษา ณ ต่างประเทศ ยังไม่เป็นที่นิยม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงพระราชทานเงิน ๓๐ ชั่งเป็นรางวัลแทน

เมื่อหม่อมเจ้าหญิงมัณฑารพ กมลาศน์ ทรงสำเร็จการศึกษาแล้ว สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ โปรดเกล้าฯ ให้เข้าไปถวายพระอักษรภาษาอังกฤษแด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมมหาราชวัง พร้อมทั้งยังทรงมอบหมายให้รักษาการตำแหน่งอาจารย์ใหญ่โรงเรียนราชินิชั่วคราว ในระหว่าง พ.ศ. ๒๔๕๐ ด้วย ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๕๓ หม่อมเจ้าหญิงมัณฑารพ กมลาศน์ ทรงเข้ารับหน้าที่เป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนกุลสตรีวังหลัง และทรงได้รับมอบให้ดำเนินงานหนังสือพิมพ์แสงอรุณ หรือ Day Breakของโรงเรียนกุลสตรีวังหลังอีกหน้าที่หนึ่ง

ครั้นถึง พ.ศ. ๒๔๖๑ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ องค์อุปนายกผู้อำนวยการสภากาชาดสยาม หรือสภากาชาดไทยในปัจจุบัน มีพระดำริว่าการพยาบาลและโรงเรียนพยาบาลของสภากาชาด กำลังอยู่ในระยะเริ่มต้น ควรจะได้บุคคลผู้มีความรู้ ความสามารถ และความรับผิดชอบสูงเข้ามาช่วยทำงาน จึงทรงแนะนำให้พลตรี พระยาดำรงแพทยาคุณ (ชื่น พุทธิแพทย์) ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ไปชักชวนหม่อมเจ้าหญิงมัณฑารพ กมลาศน์ มาเป็นนักเรียนพยาบาล เพื่อจะได้มอบหมายหน้าที่การบริหารงานโรงเรียนพยาบาลของสภากาชาด เพื่อสร้างเสริมความเจริญก้าวหน้าให้แก่วงการพยาบาลต่อไป

ด้วยเหตุนี้หม่อมเจ้าหญิงมัณฑารพ กมลาศน์ จึงทรงลาออกจากโรงเรียนกุลสตรีวังหลัง มาสมัครเป็นนักเรียนนางพยาบาลของโรงเรียนนางพยาบาลสภากาชาดในปี พ.ศ. ๒๔๖๑ ทรงสอบไล่ได้ประกาศนียบัตรวิชาพยาบาลในปี พ.ศ. ๒๔๖๒ จากนั้นจึงทรงปฏิบัติหน้าที่ด้านงานพยาบาล ได้ทรงสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าให้แก่พยาบาลไทยในด้านต่างๆ ดังต่อไปนี้

ด้านการศึกษาของพยาบาล
แม้ว่าประเทศไทยจะได้เริ่มมีการตั้งโรงพยาบาลแผนปัจจุบันแห่งแรกมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๒๓ โดยรับบำบัดเฉพาะทหารที่เจ็บป่วยเท่านั้น จนถึง พ.ศ. ๒๔๒๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงพยาบาลศิริราชขึ้น เพื่อบริการรักษาผู้ป่วยเจ็บทั่วไปแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่มีบุคคลใดตระหนักถึงความสำคัญของพยาบาลและวิชาการพยาบาลแผนปัจจุบันเท่าที่ควร คงใช้คนงานสามัญปราศจากความรู้ หรือให้ญาติของคนไข้มาอยู่พยาบาลกันเอง จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๔๓๙ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนนางผดุงครรภ์ขึ้นเพื่อเปิดอบรมสั่งสอนวิชาพยาบาลเฉพาะทางการคลอดบุตรเพียงอย่างเดียว

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๗ เมื่อโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เริ่มเปิดบริการแล้ว สภากาชาดสยามจึงเริ่มจัดตั้งสถานศึกษา เพื่อสอนวิชาการพยาบาลอย่างสมบูรณ์ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศ เมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๗ โดยให้ชื่อว่า “โรงเรียนการพยาบาลสภากาชาดสยาม” โดยกำหนดหลักสูตรการศึกษาเพียง ๑ ปี รับหญิงผู้มีอายุระหว่าง ๑๖- ๓๐ ปี และมีพื้นความรู้อย่างต่ำชั้นมัธยม ๑ หรือ ๒ หรือเทียบเท่า อย่างไรก็ตาม การที่จะชักจูงหญิงให้มาสมัครเรียนเป็นนางพยาบาลในขณะนั้น เป็นสิ่งที่ยากยิ่ง เพราะถือกันว่าการใช้หญิงสาวไปพยาบาลคนอื่น ซึ่งไม่ใช่ญาติไม่เป็นการสมควร ทั้งเป็นงานที่พึงรังเกียจ

หลังจากหม่อมเจ้าหญิงมัณฑารพ กมลาศน์ ทรงสำเร็จการศึกษาวิชาพยาบาลแล้วก็ทรงได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้ากองโรงเรียนพยาบาล โดยทรงรับหน้าที่เป็นผู้ปกครองนักเรียนพยาบาล พร้อมทั้งเป็นครูสอนวิชาพยาบาลและวิชาภาษาอังกฤษด้วย ทรงพยายามปรับปรุงการจัดการศึกษาของพยาบาล เพื่อยกระดับวิทยฐานะของพยาบาลในสมัยนั้นให้สูงขึ้น โดยทรงจัดมาตรฐานการสอนวิชาพยาบาลให้ใกล้เคียงกับของต่างประเทศ ทรงสั่งตำราการสอนจากต่างประเทศมาแปลและดัดแปลงให้เหมาะสมกับการศึกษาของนักเรียนพยาบาล และทรงปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาวิชาพยาบาลเป็นระยะๆ ตลอดมาเพื่อให้นักเรียน มีความรู้และสามารถปฏิบัติหน้าที่รักษาพยาบาลได้ดีจริงๆ กล่าวคือ ใน พ.ศ. ๒๔๖๖ ได้เพิ่มระยะเวลาเรียนเป็น ๓ ปี และกำหนดคุณวุฒิผู้สมัครเรียนพยาบาลให้มีความรู้อย่างต่ำชั้นมัธยมปีที่ ๓ เมื่อสอบไล่ได้ก็จะรับประกาศนียบัตรวิชาพยาบาลและการผดุงครรภ์ และขึ้นทะเบียนประกอบโรคศิลปะสาขาการพยาบาลชั้น ๑ ได้ตามกฎหมาย

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๗๑ ได้เพิ่มระยะเวลาการเรียนเป็น ๓ ปี ๖ เดือน แบ่งการศึกษาเป็น ๒ ช่วง ช่วงแรกเรียนวิชาพยาบาล ๓ ปี สำเร็จการศึกษาได้รับประกาศนียบัตรวิชาพยาบาล และช่วงหลังเรียนวิชาผดุงครรภ์อีก ๖ เดือน สำเร็จแล้วได้รับประกาศนียบัตรวิชาผดุงครรภ์ เมื่อถึงปี พ.ศ. ๒๔๗๓ ได้ เปลี่ยนแปลงหลักสูตรการศึกษาอีกครั้งหนึ่ง โดยยังคงรักษาระยะเวลาเรียน ๓ ปี ๖ เดือน และแบ่งการศึกษาออกเป็น ๒ ช่วง ช่วงแรกเรียนวิชาพยาบาล ๓ ปีเช่นเดิม ส่วนในช่วงหลังได้เพิ่มเติมการเรียนเป็น วิชาผดุงครรภ์และอนามัย ๖ เดือน เมื่อสำเร็จแล้วได้รับประกาศนียบัตรวิชาผดุงครรภ์และอนามัย

ด้านการบริการพยาบาล
ในปี พ.ศ. ๒๔๗๐ สภากาชาดไทยได้รวมงานฝ่ายการพยาบาลทั้งหมดกับฝ่ายการศึกษาเข้าไว้ด้วยกัน และได้มอบให้หม่อมเจ้าหญิงมัณฑารพ กมลาศน์ เป็นหัวหน้ากองพยาบาล ทรงมีหน้าที่ควบคุม และรับผิดชอบงาน ทั้งด้านการบริการพยาบาลและโรงเรียนพยาบาลพร้อมกันไป ซึ่งในด้านงานโรงเรียนพยาบาลนั้น ทรงมีผลงานการปรับปรุงการศึกษาวิชาพยาบาลดังได้กล่าวมาแล้ว ส่วนงานด้านการบริการ พยาบาลของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ก็ได้ทรงปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็ง ทรงใฝ่พระทัยที่จะให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาพยาบาลเป็นอย่างดี ทรงจัดระเบียบแบบแผนการรักษาพยาบาลให้มีรูปแบบเดียวกับโรงพยาบาลในประเทศที่เจริญแล้ว โดยจัดหานางพยาบาลที่สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศมาเป็นผู้ช่วยปรับปรุงงานด้านนี้

นอกจากนี้แล้วหม่อมเจ้าหญิงมัณฑารพ กมลาศน์ ยังทรงตระหนักถึงความสำคัญที่จะให้ประชาชนเข้าใจในวิธีปฏิบัติทางการแพทย์และการพยาบาลอย่างสมัยใหม่ ทรงทำหน้าที่ติดต่อกับหนังสือพิมพ์รายวัน บางกอกไทม์ ฉบับภาษาอังกฤษ เพื่อเผยแพร่วิชาการ และชี้แจง แก้ไขความเข้าใจผิดระหว่างคนไข้กับเจ้าหน้าที่ ซึ่งมีผู้นำความไปลงเป็นทำนองติเตียนโรงพยาบาลและนางพยาบาล จากการที่ท่านมีมนุษยสัมพันธ์อันดีต่อบรรดาหนังสือพิมพ์ ดังนั้น ในเวลาต่อมา ก่อนที่บรรณาธิการจะนำเรื่องของพยาบาลไปลงก็จะสอบถามข้อเท็จจริงก่อน เป็นการช่วยเหลือสภากาชาด และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เป็นอย่างดี ในอันที่จะป้องกันมิให้ประชาชนเข้าใจผิดในเรื่องของงานพยาบาล เป็นผลให้ความนิยมเลื่อมใสในโรงพยาบาลดีขึ้นเป็นลำดับ

ด้านการบริหารสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย
ตั้งแต่เริ่มต้นจัดการศึกษาพยาบาลในปี พ.ศ. ๒๔๓๙ จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๖๙ รวมเป็นระยะเวลา ๓๐ ปี กิจการพยาบาลได้เจริญก้าวหน้าขึ้นกว่าเดิมเป็นอันมาก มีการตั้งสถานศึกษาของพยาบาลถึง ๓ แห่ง คือ โรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์และหญิงพยาบาลของสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ โรงเรียนพยาบาลสภากาชาดไทย และโรงเรียนพยาบาลแมคคอร์มิค จังหวัดเชียงใหม่ จำนวนนางพยาบาล ประกาศนียบัตรที่ศึกษาจบหลักสูตรพยาบาลและผดุงครรภ์ของโรงเรียนพยาบาลทั้งสามแห่งนี้มีจำนวนหลายร้อยคน เฉพาะที่จบจากโรงเรียนพยาบาลสภากาชาดไทยมีจำนวนถึง ๒๕๗ คน พลตรีพระยาดำรงแพทยาคุณ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ในขณะนั้น จึงพิจารณาเห็นว่าพยาบาลที่จบการศึกษาไปนานๆ ไม่ได้ทำการติดต่อกับโรงพยาบาลหรือแสวงหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ ความรู้ที่เคยศึกษาเล่าเรียนไป ก็ย่อมจะเสื่อมสูญ สมควรที่จะจัดตั้งสมาคมวิชาชีพนางพยาบาลขึ้น เป็นที่รวมแลกเปลี่ยนวิชาความรู้ เพื่อผดุงรักษาสถานภาพของนางพยาบาลไทยให้เจริญก้าวหน้า เหมือนดังเช่นสมาคมนางพยาบาลในประเทศญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์

ด้วยเหตุนี้ พลตรี พระยาดำรงแพทยาคุณ จึงได้เชิญนางพยาบาลชั้นหัวหน้าของไทย ทั้งฝ่ายโรงพยาบาลศิริราชและสภากาชาดไทยมาประชุมปรึกษาหารือกัน เพื่อจัดตั้ง “สมาคมนางพยาบาลแห่งกรุงสยาม” ขึ้นเมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๐ ซึ่งถือเป็นสมาคมวิชาชีพของสตรีแห่งแรกในประเทศไทย และหม่อมเจ้าหญิงมัณฑารพ กมลาศน์ ทรงได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมนางพยาบาลเป็นองค์แรก เนื่องจากทรงเป็นนางพยาบาลชั้นผู้ใหญ่ที่มีความรู้เชี่ยวชาญในวิชาพยาบาล ทรงไม่ถือพระองค์ในการพบปะวิสาสะกับเพื่อนร่วมอาชีพ มีมนุษยสัมพันธ์อันดี เป็นที่ชื่นชมของบรรดาบุคคลที่มาติดต่อโดยทั่วหน้า ทรงได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ที่มีสมรรถภาพเข้มแข็ง มีความอุตสาหะบากบั่นในการทำงานอย่างที่ผู้หญิงน้อยคนจะทำได้ ทรงมีนํ้าพระทัยดี สัตย์ซื่อ และเข้าพระทัยที่จะวางแผนการหรือโครงการเพื่อนำความเจริญมาสู่สมาคม ซึ่งเพิ่งจะวางรากฐานในเวลานั้น

เมื่อหม่อมเจ้าหญิงมัณฑารพ กมลาศน์ ทรงเข้ารับหน้าที่นายกสมาคมนางพยาบาลแล้วนั้น ได้ทรงพยายามสร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่สมาคมทุกวิถีทาง โดยทรงรวบรวมพยาบาลที่มีความรู้ความสามารถ มาช่วยกิจการของสมาคม ทรงริเริ่มจัดกิจกรรมทางวิชาการ เช่น การแสดงปาฐกถาหรือบรรยายต่างๆ ให้สมาชิกได้เพิ่มพูนความรู้ใหม่ๆ จัดการอบรมฟื้นฟูวิชาแก่พยาบาลทั่วไป และสนับสนุนให้พยาบาลเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศ ทรงเป็นผู้แทนของสมาคมเข้าร่วมในคณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ สาขาพยาบาล และทรงริเริ่มให้มีการออกหนังสือ “จดหมายเหตุนางพยาบาลไทยของสมาคมนางพยาบาล แห่งกรุงสยาม” ขึ้นเพื่อประชาสัมพันธ์ข่าวคราวและเผยแพร่ความรู้ต่างๆ ให้แก่บรรดาสมาชิก โดยทรงดำรงตำแหน่งบรรณาธิการของหนังสือ นอกจากนี้ยังทรงสร้างเสริมบทบาทของพยาบาลไทยให้กว้างขวางออกไปยังต่างประเทศ ด้วยการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ กับสภาพยาบาลระหว่างประเทศ ซึ่งผลจากการที่หม่อมเจ้าหญิงมัณฑารพ กมลาศน์ ทรงบริหารงานสมาคมนางพยาบาลให้เจริญก้าวหน้าทันสมัย ได้มีการเปลี่ยนแปลง แก้ไขวัตถุประสงค์ของสมาคมให้รัดกุมยิ่งขึ้น เป็นผลให้สมาคมสามารถบำเพ็ญประโยชน์ได้อย่างกว้างขวาง จึงนับได้ว่าสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยเป็นหนี้พระคุณท่านเป็นอันมาก

อนุสรณ์ในหม่อมเจ้าหญิงมัณฑารพ กมลาศน์
เมื่อถึง พ.ศ. ๒๔๘๑ หม่อมเจ้าหญิงมัณฑารพ กมลาศน์ ประชวรหนักด้วยโรคความดันโลหิตสูงและโรคพระหทัยพิการ จึงทรงลาออกจากราชการและเสด็จไปประทับรักษาพระองค์ที่วังหม่อมเจ้าสฤษดิเดช ชยางกูร ต่อมาทรงย้ายไปประทับ ณ วังหม่อมเจ้าพรปรีชา กมลาศน์ พระอาการทรงกับทรุดจนถึงวันสิ้นซีพิตักษัย เมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๑ รวมพระชันษาได้ ๔๖ ปี และด้วยพระทัยที่ทรงผูกพันต่อพยาบาลและสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย จึงประทานที่ดินส่วนพระองค์ ให้แก่สมาคมพยาบาล เพื่อ ไปดำเนินการหาผลประโยชน์ ซึ่งสมาคมพยาบาลได้นำเงินจากการขายที่ดินดังกล่าวมาตั้งเป็นทุนเริ่มแรก ของ “มูลนิธิหม่อมเจ้าหญิงมัณฑารพ กมลาศน์” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ใช้ดอกผลเป็นทุนการศึกษาและ การวิจัยแก่พยาบาล และมอบเงินอีกส่วนหนึ่งให้แก่สภากาชาดไทย เพื่อสร้างห้องรับแขกและห้องนั่งเล่นในหอพักพยาบาล ตึกจุฬาลัย โดยจารึกพระนามและติดพระรูปไว้เป็นอนุสรณ์ในห้องนั้นด้วย ในฐานะที่ทรงเป็นหัวหน้าพยาบาลองค์แรกของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และนายกสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยองค์แรก ดังนั้น แม้ว่าหม่อมเจ้าหญิงมัณฑารพ กมลาศน์ จะสิ้นชีพิตักษัยมาเป็นเวลากว่า ๗o ปีแล้วก็ตาม แต่ด้วยผลแห่งคุณความดีที่ทรงกระทำเพื่อประโยชน์แก่วงการพยาบาลไทยมาตลอดพระชนมชีพ ก็ยังคงอยู่ตลอดไป และส่งผลมาถึงพยาบาลไทยในปัจจุบันตราบนานเท่านาน

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย:อรสรา สายบัว