สังกรประโยค

Socail Like & Share

สังกรประโยค ๑  แปลว่าประโยคแต่ง ประโยคปรุง ซึ่งหมายความว่า เอกรรถประโยคที่ใช้เอกรรถประโยคด้วยกันทำหน้าที่เป็นส่วนใดส่วนหนึ่งของเอกรรถประโยคหน้า ซ้อนขึ้นอีกชั้นหนึ่ง เช่น ตัวอย่างเอกรรถประโยคว่า นายมีตาย นี้ ถ้าเอาคำหรือวลีมาแต่งเพิ่มเข้าเป็น “นายมี แก่ ตาย เมื่อวานนี้” ก็ยังนับว่าเป็นเอกรรถประโยคอยู่ แต่ถ้าเอาประโยคด้วยกันมาแต่งเข้าเป็น “นายมี ซึ่งเป็นเสมียน ตาย เมื่อฝนตก” ดังนี้ เอกรรถประโยคเดิมซึ่งเป็นประโยคเดียว ย่อมมีประโยคเล็กๆ มาแทรกเข้าอีก เป็นหลายประโยคขึ้น คือ นายมีตาย ประโยคเดิม และมีประโยค ซึ่งเป็นเสมียน ประโยคหนึ่ง และ เมื่อฝนตก อีกประโยคหนึ่ง แทรกเข้ามา จึงรวมความได้ว่า เอกรรถประโยคที่มีประโยคน้อยๆ เข้ามาแทรกอยู่ด้วย เป็นส่วนใดส่วนหนึ่งของประโยคเดิมดังตัวอย่างข้างบนนี้ เรียกว่า สังกรประโยค แต่ส่วนของสังกรประโยคนี้มีลักษณะอย่างเดียวกับส่วนของเอกรรถประโยคทุกประการ ต่างกันอยู่ก็แต่มีประโยคเล็กแทรกเข้ามาอย่างน้อยอีกประโยคหนึ่ง ดังจะอธิบายพิสดารต่อไปนี้

ส่วนของสังกรประโยค  สังกรประโยคที่กล่าวแล้วนี้จะต้องมี
(๑) มีประโยคใหญ่อยู่ประโยคหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า มุขยประโยค แปลว่า ประโยคหัวหน้า
(๒) และจะต้องมีประโยคน้อยแทรกเข้ามาเป็นส่วนใดส่วนหนึ่งของประโยคใหญ่นั้นอย่างน้อยประโยคหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า อนุประโยค (ประโยคน้อย) เช่นตัวอย่างข้างบนนี้ นายมีซึ่งเป็นเสมียนตายเมื่อฝนตก ดังนี้ประโยคเดิม คือ นายมีตาย นั้นเรียกว่า มุขยประโยค และประโยคเล็กที่แทรกเข้ามา เช่น ซึ่งเป็นเสมียน ก็ดี เมื่อฝนตก ก็ดี รวมเรียกว่า อนุประโยค ทั้งนั้น
………………………………………………………………………………………….
๑ สังกรประโยค อ่านว่า “สัง-กอ-ระ-ประโยค” คำ “สังกร” นี้เป็นแบบเดียวกับคำ “สังกร สังขรณ์” เช่นปฏิสังขรณ์ และ “สังขาร” ซึ่งแปลว่า แต่งหรือปรุง เช่นเดียวกัน ที่เห็นต่างกัน ก็เป็นด้วยนำไปใช้ในที่ต่างกันเท่านั้น
………………………………………………………………………………………….
ในสังกรประโยค ประโยคหนึ่งๆ ต้องมี มุขยประโยค เป็นหัวหน้าประโยคหนึ่ง ต่อไปก็มี อนุประโยค เป็นส่วนประกอบของมุขยประโยคนั้นมากหรือน้อยตามรูปความ และอนุประโยคนี้ ท่านแบ่งออกเป็น ๓ ประเภทตามหน้าที่ของมันคือ นามานุประโยค, คุณานุประโยค และ วิเศษณานุประโยค ซึ่งจะอธิบายโดยพิสดารต่อไปนี้

นามานุประโยค  คืออนุประโยคที่ใช้แทนนาม คำนามในที่นี้กินความไปถึงสรรพนาม หรือกริยาสภาวมาลา  ซึ่งมีหน้าที่ใช้แทนนามด้วย

ก่อนที่เราจะรู้ว่า นามานุประโยคเป็นอย่างไร เราจะต้องรู้หน้าที่ของนามดังกล่าวแล้วว่า นำมาใช้ในประโยคอย่างไรบ้างเสียก่อนดังนี้

คำนามมีหน้าที่ใช้ในประโยค เป็น ๔ ตำแหน่งคือ
(๑) ใช้เป็นบทประธาน เช่น “นักเรียน นอน”
(๒) ใช้เป็นบทกรรม เช่น “ฉัน เห็น นักเรียน”
(๓) ใช้เป็นบทวิกัติการกขยายนามด้วยกันอีกต่อหนึ่ง เช่น
ก. วิกัติการกขยายประธาน- “นาย ก. นักเรียน นอน”
ข. วิกัติการกขยายกรรม-“ฉันเห็นนาย ก. นักเรียน”
ค. วิกัติการกขยายนามอื่นๆ-“เสื้อของนาย ก. นักเรียน ขาด”
ฆ. ใช้เป็นบทวิกัติการกช่วยวิกตรรถกริยา (เป็น ฯลฯ) เช่น “เขาเป็น นักเรียน”

(๔) และยังมีนามที่ใช้ตามหลังบุพบท ซึ่งรวมเรียกว่าวิเศษณการกอีกพวกหนึ่งสำหรับขยายส่วนต่างๆ ของประโยค  แต่ประโยคที่ทำหน้าที่แทนวิเศษณการกเหล่านี้ ไม่เรียกว่า นามานุประโยค ดังจะกล่าวต่อไปข้างหน้า

อนุประโยคที่มีหน้าที่แทนนามตามตำแหน่ง ๓ ข้างต้นข้างบนนี้ ย่อมนับเป็นามานุประโยคได้ทั้งนั้น เว้นแต่ข้อ (๔) ที่ทำหน้าที่วิเศษณการกเท่านั้น ดังจะอธิบายทีละตำแหน่งดังต่อไปนี้

(๑) นามานุประโยคแทนบทประธาน  คือหมายความว่าเอาอนุประโยคมาใช้เป็นนามบทประธาน เช่นตัวอย่าง
ก. “เธอแสดงกิริยาเช่นนี้ เป็นการไม่ดี”
ข. “เหี้ยเข้าบ้าน เป็นลางร้าย”
ค. “คนกินข้าว เป็นประโยค”

หรือจะมีประพันธ์วิเศษณ์เชื่อมก็ได้ เช่นตัวอย่าง “ที่เธอแสดงกิริยาเช่นนี้ เป็นการไม่ดี” หรือจะเอาไว้ท้ายประโยคก็ได้ เช่น “เป็นการไม่ดี ที่เธอแสดงกิริยาเช่นนี้” และ คำ ซึ่ง อัน ก็ใช้ทำนองเดียวกัน เช่น “อันเหี้ยเข้าบ้าน เป็นการไม่ดี” ดังนี้เป็นต้น

หมายเหตุ  บทประธานย่อมมีคำวิกัติการกหรือคำวิเศษณ์เป็นบทขยายได้เช่น “เด็ก มัน ไม่ดี” หรือ “เด็ก นั้น ไม่ดี” เป็นต้น ดังนี้ฉันใด นามานุประโยคที่เป็นบทประธาน ก็มีคำวิกัติการกหรือคำวิเศษณ์เป็นบทขยายได้ฉันนั้น เช่นตัวอย่าง “ที่เธอแสดงกิริยาเช่นนี้ มัน เป็นการไม่ดี” “ที่เหี้ยเข้าบ้าน นั้น เป็นการไม่ดี” หรือ “มัน เป็นการไม่ดี ที่เหี้ยเข้าบ้าน” ดังนี้เป็นต้น

(๒) นามานุประโยคแทนบทกรรม  คือหมายความว่าเอาอนุประโยคมาใช้แทนกรรม เช่นตัวอย่าง

“ฉันไม่ชอบ เธอทำเช่นนี้” หรือเอาไว้ข้างหน้าว่า “เธอทำเช่นนี้ ฉันไม่ชอบ” ก็ได้ หรือจะใช้ประพันธวิเศษณ์เป็นบทเชื่อม อย่างในบทประธานว่า “ฉันไม่ชอบ ที่เธอทำเช่นนี้” หรือ “ที่เธอทำเช่นนี้ ฉันไม่ชอบ” หรือจะละประธานของประโยคเสียว่า “ห้าม คนเดิน” หรือ “ห้าม ซึ่งคนเดิน” (คือ “เขาห้าม คนเดิน”) เป็นต้นก็ได้

ข้อสังเกต  ถ้าประโยคเหล่านี้มีคำประพันธสรรพนามเชื่อมอยู่ข้างหน้า เช่น “การ ที่เธอทำเช่นนี้ ไม่ดี” หรือ “ฉันไม่ชอบการ ที่เธอทำเช่นนี้” เป็นต้น เช่นนี้ไม่ใช่เป็นนามานุประโยค แต่เป็นคุณานุประโยค เพราะ ที่เธอทำเช่นนี้ แต่ง คำ การ ดังจะแสดงต่อไปนี้ข้างหน้า

(๓) นามานุประโยคที่กรรมมี “ให้” และ “ว่า” เป็นบทเชื่อม

อีกประการหนึ่ง อนุประโยคที่มีคำ ให้ หรือ ว่า เป็นบทเชื่อมซึ่งอยู่ท้ายสกรรมกริยา เช่น “ฉันไม่ชอบ ให้เขาตาย” หรือ “ฉันไม่รู้ ว่าตามีตาย” ก็นับว่าเป็นนามานุประโยคแทนบทกรรมเหมือนกัน เพราะประโยคเหล่านั้น ทำหน้าที่แทนนามเช่นเดียวกับประโยคว่า “ฉันไม่ชอบ เรื่องนี้” หรือ “ฉันไม่รู้เรื่องนี้” เหมือนกัน

ข้อสังเกต  อนุประโยคที่มีบทเชื่อม ว่า หรือ ให้ ที่เป็นนามานุประโยคนี้ ก็มีเฉพาะที่อยู่ท้ายสกรรมกริยา  จึงทำหน้าที่เป็นนามกรรมการก แต่ถ้าอยู่ท้ายอกรรมกริยา หรือสกรรมกริยาที่มีการรมการกอยู่แล้ว ก็เป็นวิเศษณานุประโยค

(๔) นามานุประโยคแทนบทวิกัติการกต่างๆ คือ หมายความว่า เอาอนุประโยคมาทำหน้าที่เป็นบทวิกัติการกต่างๆ แทนนาม เช่น

ก. ขยายประธาน “ข่าว คือตามีตาย ไม่จริง”
หรือ “ข่าว ว่าตามีตาย ไม่จริง”
หรือ “ข่าว ที่ว่าตามีตาย ไม่จริง” เป็นต้น

คำ คือ ว่า ที่ว่า นับว่าเป็นบทเชื่อมทั้งนั้น และประโยคว่า ตามีตาย ย่อมทำหน้าที่นามวิกัติการกของคำ ข่าว เช่นเดียวกับประโยคว่า “ข่าว การตายไม่จริง” เหมือนกัน

และประโยคเช่นนี้ จะใช้แทนนามวิกัติการก และประกอบคำอื่นๆ ก็ได้เช่นเดียวกัน คือ

ข. ขยายกรรม-“ฉันไม่ทราบข่าว ว่าตามีตาย”
ค. ขยายนามอื่นๆ-“หลักฐานของข่าว ว่าตามีตาย ยังมั่นคงอยู่”
ฆ. ช่วยกริยาเป็น-“ความเชื่อของเขาเป็น ว่าโลกนี้กลม”
หรือ “ความเชื่อของเขาเป็น อันว่าโลกนี้กลม”
หรือ “คำตัดสินเด็ดขาดเป็น อันให้จำเลยแพ้” ดังนี้เป็นต้น

หมายเหตุ  อนุประโยคที่ใช้แทนนาม ซึ่งเป็นวิเศษณการกนั้น โดยมากมักตามหลังบุพบท เพื่อ หรือ สำหรับ เป็นพื้น เช่น “เขาพูด เพื่อให้เราเสีย” หรือ “เขาเลี้ยงลูก เพื่อว่าลูกจะได้เลี้ยงเขา” ดังนี้คำ เพื่อ ซึ่งเคยเป็นบุพบทนั้น เมื่อมาทำหน้าที่เชื่อมประโยครวมกับคำ ให้ หรือ ว่า เป็น เพื่อให้ เพื่อว่า ก็กลายเป็นประพันธวิเศษณ์ไป และประโยคที่อยู่ท้ายประพันธวิเศษณ์นก็กลายเป็นวิเศษณานุประโยค ซึ่งจะกล่าวข้างหน้าต่อไป หาใช่เป็น นามานุประโยคดังกล่าวแล้วไม่ และถึงแม้จะละคำ เพื่อ เสียว่า เขาพูด ให้ เราเสีย ฯลฯ ก็ได้ นับว่าเป็นวิเศษณานุประโยคเช่นเดียวกัน

ข้อสังเกต คำ “ให้ ว่า ที่ว่า” คือที่เป็นบทเชื่อมนามานุประโยคข้างบนนี้ก็นับเป็นประพันธวิเศษณ์ ซึ่งทำหน้าที่เชื่อมวิเศษณานุประโยค ซึ่งจะกล่าวต่อไปเหมือนกัน ข้อสำคัญอยู่ที่ว่าอนุประโยคที่อยู่หลังบทเชื่อมเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นนามก็เป็นนามานุประโยค แต่ถ้าทำหน้าที่แทนวิเศษณ์แล้วก็ต้องเป็นวิเศษณานุประโยคได้เหมือนกัน ขอให้สังเกตต่อไปข้างหน้าอีก

คุณานุประโยค คือ อนุประโยคซึ่งทำหน้าที่แทนบทวิเศษณ์ สำหรับประกอบนามหรือสรรพนามที่มีอยู่ในมุขยประโยคอีกทีหนึ่ง ประโยคชนิดนี้มีประพันธสรรพนาม ที่ ซึ่ง อัน เป็นบทเชื่อม คู่กันกับวิเศษณานุประโยคที่มีประพันธวิเศษณ์เป็นบทเชื่อม ดังตัวอย่างต่อไปนี้

“คน ที่เกียจคร้าน ย่อมลำบาก”
“ฉันไม่ชอบคน ซึ่งเกียจคร้าน”
“ผลของการ อันเหลวไหล ย่อมไม่แน่นอน”

หมายเหตุ คุณานุประโยคที่อยู่ท้ายลักษณนามวิกัติการก บางทีก็ละประพันธสรรพนามเสียบ้าง เช่น

“ม้าตัว ที่ท่านชอบ ตายเสียแล้ว” หรือบทเชื่อมว่า
“ม้าตัว ท่านชอบ ตายเสียแล้ว” ดังนี้เป็นต้น

อีกอย่างหนึ่ง บุพบทวลีของเรา มักละบุพบทเสียโดยมาก เช่น เขาเกิดในปีจอ ก็ละว่า เขาเกิดปีจอ เป็นต้น และคุณานุประโยคที่แต่งบุพบทวลีเหล่านี้ บางทีก็ละบทเชื่อมเสียด้วยดุจกัน เช่น เขาเกิดในปีที่ฉันเข้ารับราชการก็ใช้พูดสั้นๆ ว่า เขาเกิดปีฉันเข้ารับราชการ ดังนี้เป็นต้น นับว่าคล้ายคลึงกับข้างบนนี้

ข้อสังเกต  คุณานุประโยคจะต้องมีประพันธสรรพนามเป็นบทเชื่อมแทบทั้งนั้น จะมีละบทเชื่อมอยู่บ้างก็มีเล็กน้อยดังตัวอย่างข้างบนนี้ และบทเชื่อมของคุณานุประโยคต้องติดอยู่กับนาม หรือสรรพนามเสมอ แต่ถ้าบทเชื่อมอยู่กับคำ คือ ก็ดี หรือมีบทเชื่อมขึ้นก่อนลอยๆ ไม่มีนามหรือสรรพนามนำหน้าก็ดี ย่อมเป็นอนุประโยคชนิดอื่น หาใช่เป็นคุณานุประโยคไม่ ดังตัวอย่างที่อ้างไว้ในข้ออธิบายนามานุประโยคว่า “ฉันไม่ชอบ ที่ท่านทำเช่นนี้” หรือว่า “ที่ท่านทำเช่นนี้ ฉันไม่ชอบ” ประโยคที่ว่า ที่ท่านทำเช่นนี้ ข้างบนนี้ เป็นนามานุประโยคทั้งนั้น ถ้าจะให้เป็นคุณานุประโยคต้องเติมคำนามหรือสรรพนามต่อเข้าข้างหน้า เช่น “ฉันไม่ชอบ การ ที่ท่านทำเช่นนี้” หรือว่า “การ ที่ท่านทำเช่นนี้ฉันไม่ชอบ” เพราะประโยค ที่ท่านทำเช่นนี้ ทำหน้าที่เป็นบทขยายนาม คือ การ หาใช่เป็นประโยคทำหน้าที่กรรมดังก่อนไม่

วิเศษณานุประโยค  คืออนุประโยคซึ่งทำหน้าที่เป็นวิเศษณ์สำหรับประกอบกริยา หรือคำวิเศษณ์ด้วยกัน อันเป็นส่วนหนึ่งของประโยคสำคัญคือ มุขยประโยค ดังตัวอย่างต่อไปนี้

ก. “ฉันมา เมื่อเธอหลับ” เมื่อเธอหลับ แต่ง กริยา มา
ข. “คนอ้วน จนเขาเดินไม่ไหว ไม่ดี” จนเขาเดินไม่ไหว แต่งวิเศษณ์ อ้วน
ค. “เขาพูดเร็ว จนฉันฟังไม่ทัน” จนฉันฟังไม่ทัน แต่งวิเศษณ์ เร็ว

บทเชื่อมของวิเศษณานุประโยคนี้ ก็คือคำ เมื่อ จน เพราะ ทาง ตาม ฯลฯ ซึ่งเมื่อนำหน้านาม เช่น เมื่อเช้า จนเย็น เพราะ ธุระ ทาง บ้าน ตามถนน ฯลฯ ก็นับว่าเป็นบุพบท แต่เมื่อได้เชื่อมวิเศษณานุประโยคก็กลายเป็นประพันธวิเศษณ์  ซึ่งทำหน้าที่เป็นบทเชื่อมไปอย่างเดียวกับคำประพันธสรรพนาม ที่ ซึ่ง อัน ซึ่งเชื่อมคุณานุประโยคฉะนั้น เช่น

ก. “เขามา เมื่อ เช้า” เมื่อ เป็นบุพบท
“เขามา เมื่อ เธอหลับ” เมื่อ เป็นประพันธวิเศษณ์

ข. “ปลาหมอตาย เพราะ ปาก” เพราะ เป็นบุพบท
“ปลาหมอตาย เพราะ ปากไม่ดี” เพราะ เป็นประพันธวิเศษณ์

ค. “เขาอยู่ ทาง บ้าน” ทาง เป็นบุพบท
“เขาไป ทาง เราเดิน” ทาง เป็นประพันธวิเศษณ์ดังนี้เป็นต้น

ข้อสังเกต  ให้ผู้ศึกษาสังเกตไว้เป็นหลักว่า คำภาษาไทยย่อมไม่คงที่ ย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามหน้าที่ ที่นำมาใช้ เช่น คำ เมื่อ และ ทาง แต่เดิมก็เป็นนาม เช่น “เขาสบายทุก เมื่อ” หรือ “ข้าศึกมาทุก ทาง” แต่ถ้านำมาใช้นำหน้านาม เช่น “เขามาเมื่อเช้า” หรือ “เขาอยู่ทางบ้าน” ก็เป็นบุพบทไป และถ้านำไปใช้เป็นบทเชื่อมวิเศษณานุประโยค เช่น “เขามา เมื่อ ฝนตก” หรือ “เขามา ทาง เราเดิน” ก็กลายเป็นประพันธวิเศษณ์ไป แล้วแต่หน้าที่ใช้ประกอบ และไม่ควรลืมด้วยว่า คำประพันธวิเศษณ์นั้น มีหน้าที่ใช้เชื่อมวิเศษณานุประโยค

ลักษณะของวิเศษณานุประโยค  ตามที่กล่าวมาแล้วว่า วิเศษณานุประโยคย่อมมีหน้าที่เหมือนคำวิเศษณ์นั้น ที่จริงหามีลักษณะเหมือนกันทีเดียวไม่ คือวิเศษณานุประดยคย่อมบอกหน้าที่ตามลักษณะดังต่อไปนี้

ก. บอกลักษณะ เช่น “เขาทำเลขคณิต ตามฉันสอนเขา” หรือ “เขาทำได้ ตามครูทำ” “เขาแสดงตน ให้คนนับถือเขา” “เขารู้ใจฉันดี ว่าฉันไม่กลัวเขา” “เขาอนุญาต ให้ฉันไปบ้าน” “เขาห้ามฉัน ไม่ให้ฉันไปบ้าน” เป็นต้น

ข. บอกกาล เช่น “เขามา เมื่อฝนตก” เป็นต้น

ค. บอกสถาน เช่น “กระเบื้องตก ตรงฉันนอน” หรือ “เขาทะเลาะกัน ใกล้ฉันนั่งอยู่” เป็นต้น

ฆ. บอกเหตุ เช่น “ยุงชุม เพราะน้ำเน่า” หรือ “เด็กร้องไห้ เพราะหิวนม” เป็นต้น

ง. บอกผล เช่น “น้ำเน่า จนยุงชุม” หรือ “เด็กหิวนม จนร้องไห้”

จ. บอกความเปรียบ คือ
(ก) เท่ากัน เช่น “เรือแล่น เหมือนลมพัด” หรือละว่า “เรือแล่นเหมือนลม” “เขาทำได้ อย่างฉันทำ” หรือละว่า “เขาทำได้ อย่างฉัน” “เขารู้หนังสือ เท่าฉันรู้หนังสือ” หรือละว่า “เขารู้หนังสือ เท่าฉัน” “ดาวล้อมเดือนในท้องฟ้า ดังนางสนมล้อมเรียมในปราสาท” เป็นต้น

(ข) ไม่เท่ากัน เช่น “เขารักเมียมาก กว่าเขารักน้อง” หรือละว่า “เขารักเมียมาก กว่าน้อง” “เขาสูง กว่าฉันสูง” หรือละว่า “เขาสูง กว่าฉัน” “เขากินข้าวจุ กว่าฉันกินข้าวจุ” หรือละว่า “เขากินข้าวจุ กว่าฉัน” เป็นต้น

วิธีบอกสัมพันธ์สังกรประโยค  การบอกสัมพันธ์สังกรประโยคนั้น ทำอย่างเดียวกันกับอเนกรรถประโยค

ที่มา:พระยาอุปกิตศิลปสาร