ความเห็นของนักวิทยาศาสตร์ที่ฝึกสมาธิ

Socail Like & Share

ฝึกสมาธิ

ประโยชน์ของการฝึกสมาธิในความเห็นของนักวิทยาศาสตร์ที่ฝึกสมาธิ
ขอยกตัวอย่างความเห็นของนายเฮิสเอลเลอร์ ชาวเยอรมันได้เขียนบทความในหัวข้อ “พระพุทธศาสนา ให้อะไรแก่เราบ้าง” มีใจความตอนหนึ่งว่า

“หลังจากที่เราได้ลงมือทำสมาธิและวิปัสสนาแล้ว ไม่ช้าผู้ปฏิบัติจะได้รับผลดังนี้คือ

๑. สามารถควบคุมและบังคับอารมณ์ต่างๆ ของเราได้ เช่น ตัณหาความอยาก ความต้องการ ความเกลียด ความกลัว ความเสียใจ ความหงุดหงิด เป็นต้น

๒. สามารถทำให้เกิดความสุขสงบได้ ทำให้เกิดการสมดุลในร่างกาย

๓. สามารถเห็นหรือหยั่งรู้ถึงความรู้สึก ความเป็นไปของเราในอดีตและอนาคตได้

๔. ทำให้เกิดสุขภาพดีขึ้น สมองก็มีความปกติ หรือสมดุลดี

ตอนท้ายกล่าวว่า ได้ประโยชน์ถึงเพียงนี้ ไม่ใช่การปฏิบัติที่คุ้มค่าดอกหรือ”

คำว่า สมดุล ก็คือมีการทำงานหรือทำหน้าที่ได้สัดส่วนสอดคล้องต้องกัน ไม่ขัดกัน

กล่าวโดยเหตุและผลที่เกี่ยวเนื่องกัน ก็คือ การฝึกสมาธิทำให้เกิดความสบาย ความสบายทำให้เกิดปีติ ปีติทำให้เกิดความสงบ ความสงบทำให้เกิดสมาธิ สมาธิที่ฝึกดีแล้วฝึกให้มากแล้วก็เป็นสัมมาสมาธิ คือสมาธิ ที่ถูกต้อง สมาธิที่ถูกต้องช่วยให้เกิดปัญญาขั้นสูง ระงับกายให้สงบอยู่และระงับใจให้ตั้งมั่นวางเฉย

กล่าวโดยสรุปให้สั้น ประโยชน์ของการฝึกสมาธิก็คือ

๑. ทำให้เป็นผู้มีศีล-สมาธิ-ปัญญา ตั้งแต่ระดับต้นจนถึงระดับสูงสุด ได้ วิชชา ๓ วิชชา ๘ และ อภิญญา ๖ (เช่น ระลึกชาติได้ แสดงฤทธิ์ได้ หูทิพย์ ตาทิพย์ รู้ทำกิเลสให้หมดไป ฯลฯ)

๒. ทำให้มีความสุขสมบูรณ์ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ เป็นผู้มีความสุขมีความสบาย จิตใจแจ่มใส และมีอารมณ์ดีอยู่เสมอ แม้เกิดเจ็บปวดทรมานหรือใกล้จะตายก็สามารถใช้สมาธิถอดจิตออกจากกายผละหนี จากกายได้เป็นการหนีความเจ็บปวดและความตายได้

๓. ทำให้เป็นผู้มีใจหนักแน่น อดทน และเข้มแข็งรอบคอบ เมื่อมีสัมมาสมาธิและปัญญาประกอบกันอีกด้วยแล้ว ก็เป็นเหตุให้มีความขยันหมั่นเพียรในการประกอบกิจการงานที่ดีไม่มีโทษ ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ตนและผู้อื่น ทั้งในด้านวัตถุและด้านจิตใจ ซึ่งจะเกิดผลดี เป็นพิเศษตามระดับของสมาธิ

๔. สามารถควบคุมอารมณ์และบังคับอารมณ์ต่างๆ ได้ดี พบเห็นได้ยินอะไรที่ทำให้เกิดอารมณ์เสีย เช่นความโกรธ ความเสียใจ ความกลัว ความโลภ ก็สามารถควบคุมจิตใจให้มีความสบายเป็นปกติได้ หรือให้มีอารมณ์เสียได้เพียงเล็กน้อยในระยะสั้น ส่วนอารมณ์ดีก็สามารถควบคุมรักษาไว้ได้

๕. การฝึกสมาธิ ทำให้เกิด “พลังจิต” คืออำนาจจิตเพิ่มมากขึ้นตามลำดับของสมาธิ โดยไม่ต้องตั้งใจให้เกิดก็เกิดขึ้นได้เองโดยธรรมชาติ พลังจิตที่เกิดขึ้นนั้นก็สามารถควบคุมให้อวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายทำหน้าที่ได้ดีขึ้นและทำหน้าที่สอดคล้องกัน พลังจิตช่วยเพิ่มความสุขสมบูรณ์ทางกายและทางใจได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังสามารถใช้พลังจิตให้เกิดประโยชน์ได้มากมายหลายอย่าง ทั้งในทางโลกและทางธรรม ในทางโลก เช่น ใช้ช่วยให้เรียนเก่ง ป้องกันโรค ช่วยให้ปัญญาดีขึ้น ช่วยแก้อารมณ์เสีย ช่วยป้องกันภัยต่างๆ เป็นต้น ในทางธรรมช่วยให้สุขภาพจิตดี ลดความโลภ โกรธ หลง เพิ่มความขยันหมั่นเพียร เพิ่มปัญญาให้รู้เห็นทุกอย่างตามความเป็นจริง เป็นต้น

พ.ศ. ๒๔๘๘ ซึ่งเป็นปีที่สงครามโลกครั้งที่ ๒ สงบลง คงจะเห็นภัยร้ายของสงครามปรมาณู เป็นเหตุให้ชาวอเมริกันกลุ่มหนึ่งมีความคิดตรงกันว่า เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดสงครามครั้งใหม่ขึ้นอีก จำเป็นต้องฟื้นฟูให้มีการสวดมนต์ภาวนา และให้มีการทำสมาธิขึ้นในหมู่ชนทุกชั้น ทุกอาชีพ แนวความคิดนี้เป็นเหตุให้มีการกำหนดเป็นระเบียบข้อบังคับในการดำเนินการประชุมองค์การสหประชาชาติให้มีการสงบจิตเพื่อสวดมนต์อธิษฐานและทำสมาธิ ทั้งนี้ได้จัดให้มีห้องทำสมาธิไว้ในสำนักงาน สหประชาชาติ ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งองค์การ

จิต ใจ วิญญาณ หรือ มโน มีความหมายถึง สิ่งเดียวกัน แต่นิยมใช้ในโอกาสต่างกันอยู่บ้าง เช่น จิตของคนที่ตายไปแล้วนิยมเรียกว่า วิญญาณ เป็นต้น จิต เป็นพลังงานพิเศษและเป็นธรรมชาติรู้

เมื่อจิตเป็นสมาธิก็จะมีอำนาจหรือพลังในตัวแต่มีอยู่ในอาการสงบ ทั้งจิตและอำนาจจิต เมื่อสมาธิสูงขึ้นอำนาจหรือพลังของจิตก็เพิ่มขึ้นตามส่วน การแบ่งขั้นตอนของสมาธิและอำนาจจิตแบ่งได้หลายอย่าง หลาย ประเภท แต่แบ่งแบบง่ายๆ ซึ่งเป็นที่รู้กันส่วนมากก็คือ สมาธิขั้นต้น ขั้นกลาง และขั้นสูง ส่วนอำนาจจิตก็เรียก เป็นอำนาจจิตขั้นต้น ขั้นกลาง และขั้นสูง

อำนาจจิต หรือจิตที่เป็นสมาธิอยู่ เมื่อควบคุมให้สงบนิ่งอยู่ได้นานๆ สมาธิก็สูงขึ้นได้ อำนาจจิตก็ค่อยๆ สูงขึ้นไปตามส่วน เมื่อใช้สมาธิหรืออำนาจจิตก็จะปรากฏผลต่างๆ ที่แปลก ในปัจจุบันประเทศที่เจริญทุ่มงบประมาณระดับชาติค้นคว้าทางจิตเพื่อใช้พลังจิตในทางวิทยาศาสตร์ เช่น ใช้การเห็นทางจิตดูเหตุการณ์ล่วงหน้าหาแหล่งแร่ธาตุและนํ้ามัน ใช้พลังจิตบังคับกลไกต่างๆ ใช้ติดต่อทางจิตเพื่อการสื่อสารระยะไกล และติดต่อหาความรู้จากโลกอื่นที่เจริญมากกว่า

ที่มา:ชม  สุคันธรัต