ศัตรูของผึ้ง

Socail Like & Share

ปัญหาในการเลี้ยงผึ้งประการหนึ่ง ได้แก่โรคแมลง ซึ่งเป็นศัตรูที่คอยทำความเสียหาย เป็นสาเหตุให้ผึ้งเกิดการตาย หรือมีการอพยพไปได้ ผู้เลี้ยงจึงต้องใช้การศัตรูของผึ้งสังเกตดูเป็นประจำ ผึ้งไทยยังไม่ค่อยพบว่าเป็นโรคมากนัก ส่วนมากศัตรูได้แก่แมลงต่างๆ คือ

๑. ตัวชีปะขาว (ชีผ้าขาว) เป็นศัตรูที่สำคัญที่สุด โดยจะวางไข่ภายในรังผึ้ง เมื่อกลายเป็นตัวอ่อนจะกัดกินขี้ผึ้ง บางชนิดจะชักใยห่อหุ้มปิดรังตัวอ่อนของผึ้ง ทำให้ผึ้งตายต้องหมั่นตรวจตราอยู่เสมอ อย่าให้แมลงพวกนี้มาวางไข่ในรังผึ้งเป็นอันขาด ป้องกันได้โดยก่อนนำหีบล่อไปใช้ควรรมด้วยกำมะถันเสียก่อน ส่วนหีบเลี้ยงก็ควรต่อให้สนิทแน่น อย่าให้มีรอยแตกที่แมลงชนิดนี้เข้าไปวางไข่ได้สะดวก ในระหว่างการเลี้ยงก็ควรสลับให้คอนนอกสุดเป็นคอนที่มีผึ้งหุ้มเต็มอยู่เสมอ ถ้าใช้คอนใหม่ๆ อยู่ส่วนนอกก็ควรจะต้องใส่แผ่นไม้หรือกระดาษแข็ง ซึ่งมีขนาดความกว้างยาวปิดด้านข้างได้เต็มหีบพอดีใส่ปิดไว้ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ศัตรูผึ้งเข้ารบกวนรวงรัง ด้านที่มีผึ้งน้อยตัวได้ (คุณวิพัฒน์ กิวานนท์ ทดลองใช้น้ำเกลือเค็มจัดราดพื้นรัง และทาตามรอยต่อของหีบได้ผลน่าพอใจ)

๒. แมงมุม  ชอบชักใยเหนียวแน่นดักตัวผึ้งเวลาบินออกไปหากิน แมงมุมสามารถจับผึ้งที่ติดใยนั้นเป็นอาหารได้ แก้ไขได้โดยการกำจัดแมงมุมในบริเวณใกล้เคียงกับที่ตั้งรังให้หมดสิ้นไป และทำความสะอาดปัดกวาดบริเวณที่เลี้ยงอยู่เสมอ

๓. ปลวก  ทำอันตรายแก่รังและหีบเลี้ยงได้ กำจัดโดยใช้สารหนูตะกั่วโรยที่ขาตั้งหีบเลี้ยง

๔. แมลงปอ  ชอบจับตัวผึ้งกินในขณะบินออกหาอาหาร แมลงปอบินได้เร็วกว่าผึ้งมากและตัวหนึ่งสามารถจับผึ้งกินได้หลายตัว ควรกำจัดโดยการใช้สวิงทำด้วยผ้าโปร่งดักจับทำลายเสียและควรกำจัดแหล่งที่วางไข่ของแมลงปอ อันได้แก่แหล่งน้ำนิ่งๆ ด้วย

๕. จิ้งจกและตุ๊กแก  ชอบจับผึ้งกินเป็นอาหาร สามารถกระโดดข้ามสิ่งกีดขวางที่เราทำไว้กันมดปลวกได้ แต่บางทีก็เสียท่าผึ้งเหมือนกัน ทางที่ดีเราควรดักและทำลายให้หมดสิ้นไปเสียเลย

๖. มดต่างๆ เช่น มดแดง มดดำ มดคันไฟ พวกนี้จะไปแย่งน้ำหวาน และกัดกินตัวอ่อนในรังผึ้ง ต้องป้องกันโดยการหล่อขาที่ตั้งหีบเลี้ยงด้วยน้ำหรือผงปูนขาว และกำจัดด้วยการทำลายรังมดให้หมด

๗. หนู  ทำลายทั้งตัวผึ้งและกัดกินรังน้ำหวาน กำจัดโดยใช้กับดักหรือใช้ยาเบื่อหนู

๘. คางคก กบ อึ่งอ่าง  เป็นศัตรูที่ร้ายแรงของผึ้งเช่นกัน เพราะมันจะใช้ลิ้นตวัดอย่างรวดเร็ว จับตัวผึ้งกินเป็นอาหารได้ ในตอนเช้าตรู่ และตอนย่ำค่ำมักจะกระโดดไปอยู่บริเวณปากรังคอยกินผึ้ง ต้องกำจัด

๙. นกต่างๆ  มีอยู่หลายชนิดที่ชอบโฉบจิกกินตัวผึ้งที่กำลังบินอยู่ เช่น นกแล่นลม และนกกิ้งโครง เป็นต้น แต่ไม่มากนัก

๑๐. แมลงสาบ กิ้งก่า จิ้งเหลน ตั๊กแตน ต่อ ชันรงหรือชันโรง(ขโมยน้ำผึ้ง) ไรผึ้ง และแมลงอีกหลายชนิด ควรระมัดระวังป้องกันกำจัดเสียก่อน

ในกรณีที่นางพญาตาย
การเลี้ยงผึ้งในบางครั้งนางพญาอาจจะตายหรือหายไป หากพบว่าผึ้งนางพญาในรังตายหรือหายไปด้วยเหตุใดๆ ก็ตาม ให้ปฏิบัติดังนี้ คือ

๑. หากรังผึ้งนั้นมีไข่หรือตัวหนอนผึ้งงานที่นางพญาได้ไข่ทิ้งไว้ก่อนที่จะตาย มีอายุไม่เกิน ๓ วัน ผึ้งงานจะสร้างรังนางพญาของมันขึ้นมาเองทดแทนทันที ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ ๑๕ วัน หลังจากนั้นก็จะมีนางพญาตัวใหม่ขึ้นมาแทนที่ และผึ้งงานจะไข่ซึ่งฟักออกเป็นตัวผู้ แล้วผสมพันธุ์เพื่อตั้งต้นชีวิตใหม่ต่อไป

๒. หากผึ้งรังนั้นไม่มีไข่หรือตัวหนอนที่มีอายุไม่เกิน ๓ วันดังข้อแรก เราอาจจะเอาไข่หรือตัวหนอนจากรังอื่นมาให้ โดยยกคอนมาทั้งหมด หรือเพียงคอนเดียว ใช้แปรงปัดตัวผึ้งที่ติดมาออกให้หมด แล้วนำมาใส่ไว้กลางๆ รัง เพื่อให้ผึ้งงานสร้างนางพญาขึ้นใหม่

๓. เอาตัวนางพญาจากรังที่มี ๒ ตัวมาให้ โดยขังนางพญาและผึ้งงานเดิมให้อยู่ด้วยกันประมาณ ๑๐ ตัว ในกลักขังนางพญา ใช้กลักที่มีรูเล็กที่สุดที่ผึ้งงานจะออกมาไม่ได้ และมีรูใหญ่อยู่ด้วย อุดรูใหญ่ไว้ด้วยน้ำตาลปึกแข็งๆ เมื่อผึ้งงานข้างในกลักและนอกกลักดูดกินน้ำตาลที่อุดไม่นานก็จะทะลุถึงกัน และนางพญาก็จะออกมาอยู่ร่วมกันได้ หรือไม่เช่นนั้นก็จะใช้น้ำเชื่อมพ่นตัวผึ้งงานทั้งรัง แล้วปล่อยนางพญาใหม่เข้าไป ก็ได้

๔. หากไม่สามารถทำได้ตามข้อ ๑-๓ ให้เอารวมกับรังอื่นเสีย โดยเอาน้ำเชื่อมพ่นใส่ที่ตัวผึ้งทั้งรังที่มีตัวนางพญาและจากรังที่ไม่มีนางพญา แล้วเอามารวมไว้เสียในรังเดียวกัน หรือจะรวมกันโดยวิธีเอารังซ้อนกัน โดยใช้กระดาษหนังสือพิมพ์คั่นกลาง ปล่อยให้ผึ้งกัดทะลุถึงกันเองก็ได้

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี