วิวัฒนาการของปรัชญาจีน

Socail Like & Share

อรรถาธิบายของวิวัฒนาการของปรัชญาจีน
1. ปรัชญาขงจื๊อ เสื่อมโทรมลงหลังจากสมัยของเม่งจื๊อ ระหว่าง รัชสมัยของราชวงศ์ฮั่น (206 ก ค.ศ.-ค.ศ. 220) ปรัชญาขงจื๊อ ฟื้นคืนชีพขึ้นมา และเจริญขึ้นเป็นวิทยาการคู่บ้านคู่เมือง

2. ปรัชญาเก่า ปรัชญาคู่แข่งอันสำคัญของปรัชญาขงจื๊อมีอิทธิพล อย่างสำคัญในหมู่วงการนักการปกครองของบ้านเมือง ในรัชสมัยราชวงศ์ฮั่นตอนต้น คำสอนเรื่อง หวู เว่ย ของ ปรัชญาเต๋า ได้รับการนับถือเอาเป็นนโยบายของรัฐ ส่วนความลึกลับของปรัชญาเต๋านั้นถือเอาว่าเป็นเรื่องความเชื่อและศรัทธาของบุคคลแต่ละคน

3. ปรัชญาม่อจื๊อ ไม่อาจฟื้นตัวขึ้นมาเป็นปรัชญาที่สำคัญได้อีกต่อไปหลังจากการเผาของพระเจ้าจิ๋น ในปี 213 ก่อน ค.ศ.

4. ปรัชญานิติธรรม ต่อมาเสื่อมอิทธิพลลง เพราะว่ามีความเกี่ยวพันกับการปกครองแบบทรราชย์ของราชวงศ์ จิ๋น (221-207 ก่อน ค.ศ.)

5. พุทธศาสนา ถูกนำมาเผยแพร่จากประเทศอินเดียในศตวรรษที่หนึ่ง ของคริสตศักราช หรือก่อนหน้านั้นเล็กน้อย ได้ปะทะกับปรัชญาเต๋า กลายเป็นพุทธศาสนาแบบจีน วิวัฒนาการขึ้นมาเป็นพุทธศาสนาแบบฌาน หรือ แบบเซ็น

6. มาถึงสมัยที่ปรัชญาขงจื๊อ ได้ตั้งมั่นคงดีแล้ว ระหว่างรัชสมัยราชวงศ์ฮั่น และราชวงศ์อื่นๆ ต่อมา ปรัชญาขงจื๊อได้ปะทะกับคำสอนของปรัชญาเต๋า และพุทธศาสนา ผลคือในรัชสมัยของราชวงศ์ซ้อง (ค.ศ 960-1279) ได้เผยโฉมหน้าขึ้นมาเป็นปรัชญา หลี่ เสว เจีย Li Hsueh Chia หรือการศึกษาคัมภีร์หลี่ ซึ่งตะวันตกเรียกกันว่า Neo-Confucianism หรือ ปรัชญาขงจื๊อรูปแบบใหม่ เป็นการผสมของปรัชญาขงจื๊อ ปรัชญาเต๋า และพุทธศาสนานี้ เป็นปรัชญาขงจื๊อในแบบที่ใกล้ เคียงกับปรัชญาขงจื๊อ ที่ตกทอดมาถึงเวลาปัจจุบันนี้

7. ระหว่างรัชสมัยของราชวงศ์เช็ง หรือ แมนจู ได้มีปรัชญาเชิงวิจารณ์และสงสัย (criticism and Skepticism) เกิดขึ้นเป็นอิสระ โจมตีปรัชญาขงจื๊อใหม่ในสมัยต่อไป นักวิจารณ์พวกนี้ ซึ่งยังคงมีปรากฏอยู่ จนกระทั่งทุกวันนี้ อุทิศตนให้แก่การศึกษาด้านภาษาและวิจารณ์เนื้อหาของคำสอน โดยไม่สนใจเรื่องการแสวงหาความรู้ทางปรัชญาเลย ด้วยเหตุนี้ จึงไม่อาจกำหนดเอาว่าเป็น สำนักปรัชญาที่แท้จริงได้

8. แนวโน้มของความคิดในการเคลื่อนไหวของวัฒนธรรมใหม่ (New Culture Movement) ซึ่งเจริญถึงขีดสูงสุดใน ค.ศ. 1919  มุ่งสู่การปรับตนเป็นแบบตะวันตก ดังที่แสดงออกในรูปของปรัชญาปฏิฐานนิยม (positivism) ปรัชญาปฏิบัตินิยม (pagmatism) และปรัชญาสสารนิยม (materialism) กระบวนการวัฒนธรรมใหม่นี้นำไปสู่การซักถามและการวิจารณ์สถาบันทางสังคมและทรรศนะต่างๆ ที่นับถือกันมาตามประเพณีอย่างกว้างขวาง ในรูปของทรรศนะของปรัชญาประโยชน์นิยม (utilitarianism) และปรัชญาปฏิบัตินิยม (pragmatism)

9. กระบวนการชาตินิยม (Nationalism) เริ่มกันใน ค.ศ. 1926 เป็นผลทำให้เกิดการสถาปนารัฐบาลคณะชาติขึ้น ภายใต้การเป็นผู้นำของเจียง ไค เช็ค และคณะพรรคกั๊กมินตั้งหลักสามประการของประชาชน (san Min Chu I-ซาน หมิน จู่ อี้) เป็นหลักมูลฐานของกระบวนการชาตินิยมในสมัยนี้ คำสอนของขงจื๊อได้รับการเผยแพร่ว่าเป็นหลักทางจิตใจของขบวนการคณะชาติเพื่อต่อต้านลัทธิคอมมูนิสต์

10. กระบวนการวัฒนธรรมใหม่ที่เกิดขึ้น ใน ค.ศ. 1919 เป็นเครื่องกรุยทางให้แก่ลัทธิคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งเป็นเรื่องแปลกที่มีลักษณะหลายประการเหมือนปรัชญานิติธรรม (Legalism) ทั้งคอมมิวนิสต์และปรัชญานิติธรรม ปฏิเสธสิ่งทั้งหลายที่เคยมีมาตามประเพณี ปรัชญาทั้งสองตำหนิปรัชญาขงจื๊อ ปรัชญาทั้งสองสนับสนุนการปกครองแบบใช้อำนาจและแบบเผด็จการ ฉะนั้นในสายตาของประชาชนชาวจีนนั้น ลัทธิคอมมิวนิสต์นั้น คือ การฟื้นตัวของปรัชญานิติธรรมนั้นเอง

ที่มา:สกล  นิลวรรณ