วิธีใช้ถ้อยคำสำนวน

Socail Like & Share

เลขนอกเลขใน* ข้อความที่เป็นเลขนอกเลขในย่อมมีทุกภาษา จึงเป็นการจำเป็นที่ผู้ศึกษาจะต้องรู้ไว้เป็นหลักในการเรียงความ จึงได้นำมาแสดงไว้ย่อๆ ต่อไปนี้

เลขนอก คือข้อความที่เป็นพื้นเรื่องซึ่งผู้แต่งกล่าวเอง แต่ เลขใน นั้นเป็นข้อความที่ผู้แต่งนำมาพูดอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งผิดกับสำนวนของผู้แต่งที่กล่าวเป็นพื้นเรื่องนั้น ความที่เป็นเลขในนั้น ในสมัยนี้ท่านใช้เครื่องหมาย อัญประกาศ ดังกล่าวมาแล้วคร่อมข้อความที่เป็นเลขในเข้าไว้ มีที่สังเกตย่อๆ ดังต่อไปนี้

(๑) ข้อความที่เป็นความคิดของบุคคล แม้จนของผู้แต่งเอง ซึ่งเขานำมาเขียนไว้โดยไม่แปลงสำนวนของผู้แต่งที่เป็นเลขนอก ตัวอย่าง

ก่อนที่ข้าพเจ้าจะไปเที่ยวหัวหิน ได้คิดว่า “เงินเรามีน้อยไม่พอใช้จ่าย ควรจะขอคุณพ่อ ท่านคงให้” แล้วข้าพเจ้าไปขอท่าน

คำที่อยู่นอกอัญประกาศนั้นเป็นเลขนอก เป็นสำนวนที่พูดกับผู้อ่าน ส่วนคำที่อยู่ในอัญประกาศนั้นเป็นเลขใน ซึ่งเขาคิดพูดกับตัวเขาเอง

(๒) ข้อความที่เป็นคำพูดของบุคคล ที่พูดไว้กับใครๆ ในที่อื่น แม้จะเป็นคำของผู้แต่งก็ตาม ถ้าเขานำมาเขียนตามที่พูดเดิม ก็นับว่าเป็นเลขในตัวอย่าง

ข้าพเจ้าเข้าไปหาคุณพ่อ เห็นท่านทักทายดี จึงขอเงินท่าน “คุณพ่อขอรับ! ผมจะไปหัวหินคราวนี้เงินไม่พอ ผมขออีกสัก ๒๐ บาทเถิดขอรับ” ท่านยิ้มแล้วก็หยิบเงินมาให้ข้าพเจ้า ๒๐ บาท

………………………………………………………………………………………….
*การเรียกชื่อว่า “เลขนอก” และ “เลขใน” นี้เกิดจากการใช้เลขกำกับการแปลภาษาบาลี เพื่อจะให้ผู้แรกเรียนแปลภาษาบาลีถูกต้อง ท่านเขียนเลข ๑, ๒, ๓ ฯลฯ กำกับศัพท์ภาษาบาลีไว้ เพื่อเป็นเครื่องหมายให้แปลไปตามลำดับเลข ๑, ๒, ๓ ฯลฯ จนหมดประโยค ถ้ามีข้อความอื่นซ้อนอยู่ข้างใน ท่านก็ตั้งเลขกำกับขึ้นต้น ๑, ๒, ๓ ฯลฯ ขึ้นใหม่อีกชุดหนึ่งเฉพาะความข้างใน เลยเป็นธรรมเนียมเรียกข้อความภายนอกว่า เลขนอก และข้อความภายในที่มีเลขกำกับอยู่อีกชุดหนึ่งเรียกว่า เลขใน โดยสังเกตเลขกำกับคำนั้นเป็นหลัก
………………………………………………………………………………………….
ข้อความนอกอัญประกาศเป็น เลขนอก และภายในอัญประกาศเป็น เลขใน ซึ่งเขาพูดกับคุณพ่อเขา  หาได้พูดกับผู้อ่านอย่างเลขนอกไม่ เป็นแต่นำมาเขียนให้ผู้อ่านทราบว่าเขาพูดอย่างไรเท่านั้น

(๓) ข้อความที่ผู้แต่งนำมากล่าวจากเรื่องอื่นโดยไม่เปลี่ยนแปลงสำนวนเดิม  ถึงจะเป็นถ้อยคำที่เขาเรียกร้องกัน  แม้เป็นคำชื่อผู้แต่งคิดขึ้นเองก็ตาม ถ้าต้องการจะให้ผู้อ่านสังเกตผิดแผกไปจากเลขนอกที่เป็นพื้นเรื่องแล้ว ก็ใช้อัญประกาศคร่อมเป็นเลขในได้ทั้งนั้น ตัวอย่าง

ก. จากเรื่องอื่น  เช่นการใช้สีเสื้อผ้าตามวันนั้น ท่านกล่าวไว้ในเรื่องสวัสดิรักษาดังนี้ “วันอาทิตย์สิทธิโชคโฉลกดี เอาเครื่องสีแดงทรงเป็นมงคล ฯลฯ” ดังนี้เป็นต้น

ข. ข้อความสั้นๆ ที่ผู้แต่งคัดมาจากที่อื่น เช่น
(ก) เขาทำเช่นนี้ตรงกับสุภาษิตว่า “พุ่งหอกเข้ารถ” ทีเดียว
(ข) นามตำบลสามเสนนี้เขาว่ามาจากคำ “สามแสน”
(ค) วัดโพธิ์นี้ชื่อในราชการว่า “วัดพระเชตุพน”

ค. คำที่ผู้แต่งคิดขึ้น  เพื่อต้องการจะให้แปลกจากท้องเรื่อง เช่น
(ก) แม่สำอางผู้นี้เราควรตั้งชื่อเสียใหม่ว่า “แม่สำออย”
(ข) ตาแก่ “คนรกโลก” นั้นไปแล้วหรือ?
(ค) เขาเห็น “แม่ตาแจ๋ว” ของเขาเข้า เขาก็สร่างทุกข์

หมายเหตุ  คำที่อยู่ในอัญประกาศแห่งตัวอย่างของข้อ (๓) ทั้งหมดนี้นับว่าเป็นเลขในทั้งนั้น ส่วนคำนอกอัญประกาสนั้นเป็นเลขนอกดังกล่าวแล้ว แต่สังเกตไว้ด้วยว่ามีข้อความบางข้อ เช่นในข้อ ข. และ ค. ข้างบนนี้ ถ้าเราไม่ต้องการจะให้คำแปลกแก่ผู้อ่าน เราจะใช้เป็นเลขนอกก็ได้ คือไม่ใช้อัญประกาศคร่อม ทั้งนี้แล้วแต่ผู้แต่งจะเห็นเหมาะ

เลขในซ้อน  หมายถึงข้อความที่เป็นเลขในซ้อนกันหลายชั้น ที่จริงเรื่องความในภาษาไทยที่มีเลขในซ้อนกันโดยมากก็มีเพียง ๒ ชั้นเป็นพื้นถึงเครื่องหมายอัญประกาศก็มี ๒ ชั้นเช่นกัน แต่มีสำนวนบางเรื่องที่มีเลขในซับซ้อนกันมากกว่านี้ขึ้นไป ซึ่งโดยมากเป็นเรื่องที่แปลมาจากภาษาสันสกฤต เช่น หิโตประเทศ เป็นต้น จนไม่มีเครื่องหมายอัญประกาศจะใช้พอ ต้องใช้ตัวหนังสือให้ต่างกันบ้าง ใช้ขีดเส้นให้ต่างกันบ้าง แล้วแต่ความสะดวกของผู้แต่ง ดังจะผูกตัวอย่างไว้ให้เห็นเป็นที่น่าสังเกตดังนี้

เลขนอก  เมื่อสามีเห็นภรรยาพูดเหลวไหลเช่นนี้ จึงสอนว่า

เลขในชั้น ๑  “เจ้าไม่ควรพูดเหลวไหลเช่นนี้ จงจำคำพญาเต่าสอนบริวารว่าดังนี้

เลขในชั้น ๒  ‘นี่แน่พวกสูเจ้า ต้องระวังปาก เพราะปากทำให้พวกเราตกจากอากาศจนกระดูกออกนอกเนื้อ และสูเจ้าจงมีความเพียรอย่างที่เต่าพวกเราได้ทำมาจนกระต่ายกล่าวชมว่า-

เลขในชั้น ๓  ‘เต่าเอ๋ย ข้าขอชมความเพียรของเจ้าที่ชนะ การแข่งขันเดินทางไกลแก่ข้า”

เลขนอก  เมื่อภรรยาฟังนิยายยืดยาวมาได้เพียงนี้ จึงร้องขึ้นว่า-

เลขในชั้น ๑ “พอที พ่อทูนหัว ง่วงนอนเต็มทีแล้ว”

ตัวอย่างนี้ทำให้ดูเพียงเลขใน ๓ ชั้น ซึ่งอาจจะมี ๔-๕ ชั้นก็ได้เขามักทำเครื่องหมายให้แปลกกัน ดังกล่าวแล้วในเรื่องขีดเส้นใต้ น่าจะพ้องกับเครื่องหมายสัญประกาศของเรา และเรื่องย่อหน้าก็เปลืองหน้ากระดาษมาก ถ้าเราจำเป็นจะต้องใช้เลขในมากกว่า ๒ ชั้น  ก็ควรใช้ตัวหนังสือให้ต่างกันจะเหมาะกว่า เพราะตัวพิมพ์ก็มีหลายอย่างอยู่แล้ว เช่น เลขในชั้น ๑ ใช้อัญประกาศคู่ “….” ชั้น ๒ ใช้อัญประกาศเดี่ยว ‘….’ ชั้น ๓ ใช้อัญประกาศเดี่ยวกับตัวพิมพ์หนา (‘เต่าเอ๋ย’) และชั้น ๔ ใช้อัญประกาศเดี่ยวกับตัวพิมพ์จิ๋ว (‘ข้าพเจ้า…’) ดังนี้เป็นต้น

หมายเหตุ  ถ้าข้อความเลขในชั้น ๑ ชั้น ๒ หรือชั้นต่อๆ ไปจบลงในที่เดียวกัน ท่านใช้แต่อัญประกาสชั้น ๑ (”) รูปเดียวเท่านั้น ชั้น ๒ ชั้น ๓ ฯลฯ ไม่ต้องใช้ให้รุงรัง

ตัวอย่าง  สามีสอนภรรยาว่า “น้องจงจำคำพญาเต่าว่า ‘สูจงคิดเสียก่อนแล้วจึงพูด” ดังนี้ ไม่ต้องใช้ว่า …..จึงพูด’ ”

วิธีเปลี่ยนเลขในเป็นเลขนอก  ข้อนี้นับว่าเป็นข้อสำคัญส่วนหนึ่ง  ซึ่งรวมอยู่ในวิธี รวบรัดข้อความ  ซึ่งจะกล่าวต่อไป แต่ที่นี้จะกล่าวเฉพาะข้อเปลี่ยนเลขในเป็นเลขนอกเสียก่อน คือเรารู้อยู่แล้วว่าเลขในเป็นข้อความนอกเรื่อง เขาพูดว่ากระไรเราก็นำมาเขียนไว้ตามสำนวนของเขา ถ้าเอามาเปลี่ยนเป็นเลขนอก เราจะต้องแก้สำนวนเป็นเราพูดกับผู้อ่าน เช่นจะต้องแก้ สรรพนามที่เขาใช้พูดกันในเรื่องว่า ฉัน ผม หล่อน คุณ เธอ ฯลฯ มาเป็นบุรุษที่สาม (เขา ท่าน ฯลฯ) ให้สำนวนเข้ากันกับเลขนอกที่เราใช้มาข้างต้นเช่นตัวอย่าง

ข้อความที่มีเลขใน-ข้าพเจ้าได้ยินสามีพูดกับภรรยาว่า “พี่สงสารน้องมาก ที่ไม่มีคนใช้ ถ้ามีเงินพอจะจ้างคนใช้มาให้น้องสักคนหนึ่ง”

เปลี่ยนเป็นเลขนอกทั้งหมด-ข้าพเจ้าได้ยินสามีพูดกับภรรยาว่า เขาสงสารภรรยาเขามาก ที่ไม่มีคนใช้ ถ้าเขามีเงินพอเขาจะจ้างคนใช้มาให้เจ้าหล่อนสักคนหนึ่ง

และต้องแปลงใช้สำนวนสูงต่ำให้เข้ากันกับเลขนอกที่แต่งมาข้างต้นด้วย เช่นเลขนอกข้างต้นแต่งว่า-ข้าพเจ้าได้ยินผัวมันพูดกับเมียมันว่า “พี่สงสารน้องมาก ที่ไม่มีคนใช้ ถ้าพี่มีเงินพอจะจ้างคนใช้มาให้น้องสักคนหนึ่ง” ดังนี้เราจะต้องแปลงให้เหมาะสำนวนเลขนอกว่า-ข้าพเจ้าได้ยินผัวมันพูดกับเมียมันว่า มันสงสารเมียมันมากที่ไม่มีคนใช้ ถ้ามันมีเงินพอ มันจะจ้างคนใช้มาให้เมียมันสักคนหนึ่ง ดังนี้เป็นต้น

อนึ่ง เรื่องราวที่มีเลขซับซ้อนดังตัวอย่างข้างบนนั้น เราจะเปลี่ยนเป็นสำนวนเลขนอกเสียทั้งหมดก็ได้ หรือเห็นว่าเข้าในตอนไหนดี จะเหลือตอนนั้นให้คงเป็นเลขในอยู่ตามเดิมบ้างก็ได้ ทั้งนี้ย่อมเป็นหน้าที่ของผู้แต่ง ต่อไปนี้จะทำเป็นตัวอย่างไว้ให้ดูสัก ๒ แบบ ซึ่งแปลมาจากเลขในซ้อนข้างต้นนี้ แต่ต้องสังเกตเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย คือนอกจากเปลี่ยนสรรพนาม เช่น ฉัน ผม หล่อน คุณ เธอ ฯลฯ แล้ว แม้คำอาลปน์ที่เขาใช้พูดกันในระหว่างเขา เช่น ลูกเอ๋ย! เพื่อนเอ๋ย! เป็นต้น ก็ต้องทิ้งเสียด้วย เพราะเราไม่ได้ใช้สำนวนเช่นนั้นแก่ผู้อ่าน แต่จะต้องแสดงความหมายไว้ด้วย เช่น “เขาพูดว่า ลูกเอ๋ย” จะต้องเปลี่ยนว่า “เขาพูดด้วยความรัก” และ “เขาพูดว่า ‘ลูกระยำ” ก็เปลี่ยนว่า เขาพูดด้วยความโกรธ” และสำนวนอื่นๆ ก็ให้ดูเปรียบเทียบกันตามนัยนี้ จะได้รู้ว่าผิดแปลกกันอย่างไรบ้างดังนี้

ก. เปลี่ยนเป็นเลขนอกทั้งหมด
เมื่อสามีเห็นภรรยาพูดเหลวไหล จึงสอนภรรยาว่า เจ้าหล่อนไม่ควรพูดเหลวไหลเช่นนั้น และเขาให้ภรรยาจำคำของพญาเต่า ซึ่งสอนบริวารว่า พวกเต่าต้องระวังปาก เพราะปากทำให้เต่าพวกเดียวกันตกจากอากาศจนกระดูกออกนอกเนื้อ และพญาเต่าสอนให้พวกบริวารมีความเพียรอย่างที่เต่าพวกเดียวกันได้ทำมา จนกระต่ายมันกล่าวชมเป็นใจความว่า มันขอชมความเพียรของพวกเต่า ที่ได้ชนะการแข่งขันเดินทางไกลแก่มัน เมื่อภรรยาได้ฟังนิยายยืดยาวมาได้เพียงนั้น ก็ร้องอ้อนวอนโดยเคารพให้สามีหยุด โดยอ้างว่าหล่อนง่วงนอนเต็มทีแล้ว

ข. เปลี่ยนเป็นเลขนอกเฉพาะบางตอน (จากสำนวนเดิม)
เมื่อสามีเห็นภรรยาพูดเหลวไหล จึงสอนภรรยาว่า เจ้าหล่อนไม่ควรพูดเหลวไหลเช่นนั้น และเขาให้ภรรยาเขาจำคำพญาเต่า ซึ่งสอนบริวารว่า พวกเต่าต้องระวังปาก  เพราะปากทำให้เต่าพวกเดียวกันตกจากอากาศจนกระดูกออกนอกเนื้อ และพญาเต่าได้สอนต่อไปว่า “สูเจ้าจงมีความเพียรอย่างที่เต่าพวกเราได้ทำมา จนกระต่ายกล่าวชมว่า ‘เต่าเอ๋ย! ข้าขอชมความเพียงของเจ้า ที่เจ้าชนะการแข่งขันเดินทางไกลแก่ข้า”

ข้อสังเกต  ในเรื่องเปลี่ยนเป็นเลขนอกบ้าง เหลือไว้เป็นเลขในตามเดิมบ้าง มีข้อสำคัญอยู่ดังนี้ คือคำที่เขาพูดกันอย่างซาบซึ้ง หรืออย่างโกรธเกรี้ยว มักจะออกอุทานเป็นอาลปน์ “ที่รัก แก้วตาของพี่ ที่รักผู้มารดาที่สองของพี่” เมื่อเราแปลงมาเป็นเลขนอกโดยสำนวนของเรา โดยมากก็ต้องทิ้งหมด แล้วใช้สำนวนของเราว่า “สามีกล่าวอย่างอ่อนหวานว่า” ดังทำให้ดูในตัวอย่างข้างบนนี้ แต่ถ้อยคำหาซาบซึ้งให้รู้สูงต่ำเป็นชั้นๆ อย่างที่เขาพูดกันนั้นไม่ คือเมื่อเราเอามาแปลงเป็นเลขนอกเข้าความจับอกจับใจคลายไปหมด ดังนั้นคำเลขใน คำสำคัญจึงควรยกขึ้นมากล่าวคงที่ไว้ เพื่อช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจซาบซึ้งยิ่งขึ้น หรือขบขันยิ่งขึ้น หรือรู้สึกว่าเขาโกรธกันมากน้อยเท่าไรยิ่งขึ้น เช่นตัวอย่าง สามีกล่าวว่า “โอ้ที่รักผู้มารดาที่สองของพี่…” ดังนี้ เราจะแปลงเป็นเลขนอกก็ได้เพียงว่า “สามีกล่าวด้วยความรักและเคารพว่า…” ที่จริงความก็ถูกแต่หาดูดดื่มเท่ากันไม่  จึงต้องยอมให้เป็นเลขในอยู่อย่างเดิม หรือไม่ก็เอาคำพูดมาอ้างไว้ด้วยว่า “สามีกล่าวด้วยความรักและเคารพ โดยเรียกภรรยาว่า เป็นที่รักดังมารดาที่สองของเขา” ดังนี้ก็ได้แล้วแต่สะดวก นี่เป็นรสของภาษาอันสำคัญ ขอให้ผู้ศึกษาสังเกตไว้ด้วย

การแต่งเรื่อง  คือการเอาความรู้ ความคิดเห็น หรือความจำเรื่องราวต่างๆ มาปรับปรุงเรียบเรียงขึ้นเป็นเรื่องราวของตน โดยใช้ความรู้ทั่วๆ ไปยิ่งมีมากยิ่งดี และทั้งจะต้องใช้ศิลปะในเชิงเรียบเรียงนั้นเป็นเครื่องมืออันสำคัญด้วย ซึ่งนับว่าเป็นบทเรียนสำคัญของการเรียนภาษาชั้นสูงสุด ซึ่งจะต้องเรียนอีกแผนกหนึ่งต่างหาก  แต่ถึงกระนั้นก็จะต้องถือเอาหลักภาษาไทยเช่น ไวยากรณ์นี้เป็นบรรทัดฐานอันสำคัญอยู่ด้วยเหมือนกัน  เพราะฉะนั้นในที่นี้จึงต้องเลือกเอาความรู้ที่เห็นว่าเป็นหลักสำคัญในการเรียบเรียงภาษามากล่าวไว้ย่อๆ ในตอนท้ายตำราวากยสัมพันธ์นี้ด้วย ดังนี้

(๑) การแปลงสำนวน  หมายความว่าเอาสำนวนอย่างหนึ่งมาปรับปรุงให้เป็นสำนวนอย่างอื่น จำแนกออกได้ ดังนี้

ก. การแปลงสำนวนยากเป็นง่าย  ข้อนี้หมายถึงการถอดคำประพันธ์ต่างๆ ออกเป็นสำนวนร้อยแก้วสามัญง่ายๆ ซึ่งเป็นข้อสำคัญในการเรียนภาษาส่วนหนึ่ง ดังจะยกบางข้อมาอธิบายไว้ย่อๆ พอเป็นเค้า ดังนี้

คำประพันธ์นิยมใช้ถ้อยคำให้ถูกต้องข้อบังคับต่างๆ โดยใช้คำเปรียบแทนเรียกชื่อบ้าง ใช้คำสร้อยประกอบชื่อให้ยืดยาวออกไปบ้างเป็นต้น จึงทำให้ถ้อยคำผิดเพี้ยนไปจากภาษาธรรมดา แต่เพิ่มความไพเราะจับจิตใจผู้ฟังมากมายกลายเป็นศิลปะอีกอย่างหนึ่งทีเดียว  ดังนั้นหน้าที่ของการถอดคำประพันธ์จึงต้องเลิกความเพราะพริ้งยืดยาวนั้นเสีย ถอดเอาแต่เนื้อความมาพูดเป็นภาษาง่ายๆ เท่านั้น ดังตัวอย่างในเวสสันดรชาดก เมื่อนางมัทรีรำพันถึงพระชาลีกัณหา ผู้เป็นบุตรและธิดาว่า โอ้! เจ้าดวงสุริยันจันทรทั้งคู่ของแม่เอ๋ย ดังนี้ถ้าจะถอดคำประพันธ์เราควรใคร่ครวญว่า ที่นางยกเอาลูกทั้งสองมาเปรียบกับดวงอาทิตย์ดวงจันทร์นั้น จะต้องเป็นลูกที่รักที่นับถือของนาง เราจึงใช้คำพูดง่ายๆ ในทำนองนี้ว่า โอ้! ลูกที่รักทั้งสองของแม่ ก็พอแล้ว ไม่จำเป็นต้องถอดว่า โอ้! เจ้าคือดวงอาทิตย์ดวงจันทร์ทั้งคู่ของแม่เอ๋ย  ซึ่งเป็นวิธีของการแปลภาษา ดังจะกล่าวต่อไปข้างหน้า

อนึ่ง ชื่อคนในเรื่องคำประพันธ์ก็มักจะกล่าวเป็นคำเปรียบเทียบต่างๆ จะดีหรือชั่วตามแต่จะยกย่อง เช่นเรียกชูชกว่า เฒ่าชราลามกชาติ เรียก มัทรีว่า สมเด็จพระเยาวมาลย์มาศ เรียกพระเวสสันดรว่า พระบรมโพธิสัตว์ เป็นต้น เราควรใช้ชื่อตรงๆ ไม่แปลตามศัพท์ที่กล่าวแล้วถึงบางคำจะมีสร้อยพ่วงชื่อยืดยาว เช่น สมเด็จพระมัทรีศรีวิสุทธิกษัตริย์ มัททราชธิดา ดังนี้เป็นต้น ก็ควรใช้ว่า พระมัทรี เท่านั้น เพราะคำพ่วงเหล่านั้นไม่มีใจความ

ข. แปลงสำนวนง่ายเป็นยาก  ข้อนี้หมายถึงเอาคำร้อยแก้วไปแต่งเป็นคำประพันธ์อย่างหนึ่ง ซึ่งจะกล่าวต่อไปในตำราไวยากรณ์ฉันทลักษณ์ และอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งจะกล่าวไว้พอเป็นเค้าในที่นี้ ก็คือ การแปลงคำปากตลาดให้เป็นความเรียงอย่างสุภาพ ดังตัวอย่างย่อๆ ต่อไปนี้

คำสนทนากันที่เรียกว่าปากตลาด  มักเป็นคำโต้ตอบกันฉันสุภาพก็มี ฉันหยาบคายก็มี ถึงจะฟังง่ายก็จริง แต่เราจะต้องเรียงให้เป็นคำสุภาพ นอกจากเราจะทิ้งไว้ให้เป็นเรื่องขบขัน หรือฟังสำนวนของเขาอย่างเรื่องอ่านเล่นเท่านั้น และข้อความชนิดนี้ โดยมากจะต้องแปลงเป็นเลขนอก คือเป็นสำนวนของเรา แต่จะขอชี้แจงเพิ่มเติมไว้ในที่นี้อีกเล็กน้อย เพื่อเป็นเค้าของผู้ศึกษาต่อไป คือสำนวนที่เราแปลงมานั้น ยังจะต้องเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมแก่กาลเทศะหรือฐานะของผู้ฟังอีก  ดังตัวอย่างย่อๆ ว่า “นายสี ภารโรง หายไป ๒-๓ วัน ทางการให้เราไปสืบสวน เราไปที่บ้านนายสีพบตัวเขา และถามถึงเหตุที่เขาหายไป เขาพูดว่า “นายขอรับ ผมกลับจากทำงาน กลางคืนขี้ลงท้องหลายหน ผมนึกว่าอ้ายโรคอหิวาต์มันพาผมไปเมืองผีแล้ว แต่เคราะห์ดีเวลาเช้า แม่อีหนูมันไปซื้อยาหมออะไรมาให้กินก็ไม่รู้ กินเข้าไป ๒ ครั้งก็หาย เดี๋ยวนี้สบายดีขึ้นมากแล้ว อีก ๒ วัน ผมก็ไปทำงานได้” ดังนี้ เราจะต้องแปลงเป็นสำนวนเลขนอกตามทางราชการว่า “ข้าพเจ้าไปพบนายสี เขาชี้แจงว่า เขากลับจากทำงาน ในคืนนั้นเขาป่วยมีอาการท้องร่วงหลายหน เข้าใจว่าจะเป็นอหิวาตกโรคตายเสียแล้ว แต่ว่าเขาเคราะห์ดี คือเมื่อตอนเช้าภรรยาเขาไปซื้อยามาจากหมอผู้หนึ่ง เอามาให้เขารับประทาน ๒ ครั้ง อาการท้องร่วงก็หาย เดี๋ยวนี้เขาสายมากแล้ว อีก ๒ วันเขาจะมาทำงานได้” หรือจะกล่าวย่อๆ ว่า “ข้าพเจ้าไปพบนายสี เขาชี้แจงว่า คืนวันที่เขากลับจากทำงาน เขาป่วยมีอาการท้องร่วง ต่อรุ่งเช้าได้รับประทานยา จึงค่อยยังชั่ว เขาบอกว่าอีก ๒ วัน เขาจะมาทำงานได้” หรือจะย่อลงไปกว่านี้ว่า “นายสีบอกว่า เขาป่วยท้องร่วง บัดนี้ค่อยยังชั่วแล้ว อีก๒ วันจะมาทำงานได้” การย่อมากน้อยเท่าไรแล้วแต่ผู้แต่งจะเห็นควร

แต่เราจะใช้ต่อท่านผู้ใหญ่ไปจนถึงกราบถวายบังคมทูลพระเจ้าแผ่นดิน เราก็ต้องปรับปรุงข้อความตามยศศักดิ์และใช้ถ้อยคำให้สุภาพ  ดังกล่าวไว้ในตำราวจีวิภาค ข้อที่ว่าด้วยราชาศัพท์ไทยโดยถี่ถ้วน ดังจะทำตัวอย่างกราบทูลพระเจ้าแผ่นดินไว้ให้ดูในที่นี้อีก ดังนี้

“ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้าไปพบนายสี เขาชี้แจงว่า เขากลับจากทำงาน ในเวลากลางคืน เขาป่วยมีอาการซึ่งไม่สมควรจะกราบบังคมทูลพระกรุณา คือเขาท้องร่วงไปหลายครั้ง เขาเข้าใจว่าจะเป็นอหิวาตกโรคถึงแก่ชีวิตเสียแล้ว แต่เคราะห์ดี เมื่อตอนเช้าภรรยาเขาไปซื้อยามาจากหมอผู้หนึ่ง เมื่อเขาได้รับประทานเข้าไป ๒ ครั้ง อาการท้องร่วงนั้นก็หาย ด้วยพระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อม บัดนี้เขาค่อยสบายขึ้น เขากล่าวว่าอีก ๒ วันเขาจะมารับราชการสนองพระเดชพระคุณได้ ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ” ดังนี้เป็นต้น แบบแผนที่ใช้นั้นอธิบายไว้ในวจีวิภาคนั้นแล้ว ควรสอบดูอีก

หมายเหตุ  นอกจากจะแปลงให้ได้แบบแผนดังกล่าวแล้ว เราจะต้องแปลงสำนวนให้อ่อนหวาน องอาจ หรือเด็ดขาดเป็นต้น ตามควรแก่รูปการที่เป็นไปอีกด้วย  ตัวอย่างสำนวนอันรุนแรงว่า “ข้าไม่ยอมให้เจ้าเป็นอันขาด” ดังนี้ ถ้าเราเป็นผู้นำไปกล่าวแก่อีกฝ่ายหนึ่งในฐานะต้องการสุภาพแต่ให้ได้ใจความเท่ากัน ก็ต้องปรับปรุงสำนวนเสียใหม่ เช่น กล่าวเป็นเลขนอกคือสำนวนของตัวว่า “นายข้าพเจ้าท่านกล่าวด้วยความเสียใจว่า ท่านหาหนทางยินยอมให้แก่ท่านไม่ได้เลยทีเดียว” ดังนี้เป็นตัวอย่าง ให้ผู้ศึกษาจำไว้เป็นหลักสำคัญของตนทีเดียว

(๒) การแปล ข้อนี้มักจะหมายถึงการแปลต่างภาษา แต่แปลภาษาเดียวกันก็มีบ้าง เช่นการแปลศัพท์ ซึ่งเป็นวิธีของครูผู้สอนศัพท์และภาษาต่างๆ ไว้ฝึกหัดศิษย์เป็นพิเศษอยู่แล้ว ในที่นี้จะขอยกหลักกลางๆ มากล่าวพอเป็นคติทั่วไปเท่านั้น ดังนี้

การแปลมี ๒ อย่าง คือแปลตามรูปศัพท์ และแปลเอาความ แปลตามรูปศัพท์นั้น ได้แก่แปลตามรูปศัพท์เดิม เพราะศัพท์โดยมากประกอบขึ้นด้วยธาตุหรือคำมูล รวมแปลตามรูปเดิม ก็มีความหมายตรงไปตามเดิมไม่ได้ความแน่นอน จึงต้องแปลเอาความต่อไปอีกทางหนึ่ง ในการเรียนภาชั้นสูงจำเป็นต้องรู้ทั้ง ๒ ทาง เพื่อจะได้เข้าใจรากเหง้าของภาษานั้นๆ เช่นตัวอย่าง
silapa-0328 - Copy
ถึงภาษาอื่นๆ ก็มีเช่นนี้ จีนแต้จิ๋ว-จุ๋ยเกย (ไก่น้ำ) เอาความว่ากบ (สัตว์) อังกฤษว่า ฟาเทออินลอ (Father-in-law พ่อในกฎหมาย) เอาความว่าพ่อตาหรือพ่อผัว ดังนี้เป็นต้น เว้นไว้แต่ศัพท์ที่แปลกๆ เช่น นร (คน) นารี (นาง) เป็นต้น เหล่านี้ไม่ต้องค้นคว้าแปลศัพท์ ให้ฟั่นเฝือเกินควร นอกจากจะพิจารณาตามศัพท์นั้นๆ จริงจัง เพื่อการศึกษาชั้นสูงเท่านั้น ส่วนการแปลเรื่องราวต่างๆ นั้น ย่อมใช้แปลเอาความเป็นพื้น

อนึ่ง การแปลคำประพันธ์กับการถอดคำประพันธ์ที่กล่าวมาแล้วนั้น มีข้อแตกต่างกันควรจะสังเกตดังนี้ คือการแปลคำประพันธ์เป็นวิธีของครูที่จะฝึกหัดให้รอบรู้เชิงภาษา จึงควรแปลทุกคำที่มีอยู่ให้ได้ความติดต่อกัน แต่การถอดคำประพันธ์นั้น เป็นวิธีของล่ามผู้มุ่งจะให้เข้าใจเนื้อความตรงไปตรงมาเป็นข้อใหญ่ คำใดที่ใส่เข้ามาเพื่อให้เพราะพริ้งในเชิงประพันธ์ แต่ไม่มีใจความเลยก็ละทิ้งเสียได้ เพราะใส่เข้ามาก็ทำความฟั่นเฝือฟังยาก ดังจะผูกให้เห็นเป็นตัวอย่างต่อไปนี้

“เมื่อสมเด็จพระเยาวมาลย์ มาศมัทรีศริสุนทรนารีรัตน์ ได้ สดับ อรรถอันพระมหาบุรุษราชสามีตรัสบริภาษดังนี้”

การแปลคำประพันธ์- “เมื่อพระนางมัทรี ผู้เป็นดังดอกไม้ทองอันเยาว์ (เริ่มบาน) เป็นนางแก้วอันงามสง่า ได้ทรงฟังความที่พระราชาผัว (พระเวสสันดร) ผู้เป็นชายประเสริฐ ทรงกล่าวตัดพ้อดังนั้น”

การถอดคำประพันธ์- “เมื่อสมเด็จพระนางมัทรีได้ทรงฟังความที่พระเวสสันดรผู้พระราชสามีทรงกล่าวตัดพ้อดังนี้” ดังนี้เป็นตัวอย่าง

(๓) การแปลภาษาต่างประเทศ  ที่จริงข้อนี้ก็มีวิธีสอนเป็นพิเศษ สำหรับภาษานั้นๆ อีกแผนกหนึ่งอยู่แล้ว แต่ในที่นี้จะนำเอาหลักทั่วๆ ไปมาวางไว้ย่อๆ เฉพาะข้อความที่แปลเป็นภาษาไทย ดังนี้

ก. ควรใช้ศัพท์และสำนวนตามแบบภาไทยจริงๆ คือ ไม่ใช่ครึ่งๆ กลางๆ เช่นคำ ฟุต ซึ่งภาษาไทยใช้คำ ฟุต เป็นเอกพจน์คำเดียวไม่จำเป็นต้องใช้ ฟิต พหูพจน์ตามเขาไปด้วย เพราะตามหลักของภาษาไทยเรา เมื่อนำคำต่างประเทศมาใช้ย่อมใช้เฉพาะศัพท์เดิม เช่น-ราช, โยชน์ ฯลฯ หรือใช้ศัพท์ที่เป็นประธานเฉพาะเอกพจน์ เช่น-ราชา, บิดา, มัฆวาน ฯลฯ เท่านั้น หาได้ใช้ศัพท์พหูพจน์ของเขา เช่น ราชาโน ๒ องค์ ทาง ๒ โยชนานิ ดังนี้เป็นต้นด้วยไม่ นี่เป็นหลักควรสังเกตข้อหนึ่ง

อนึ่ง บางภาษาสำนวนไม่ลงรอยกัน เช่น ภาษาจีนกล่าวว่า สิบกว่าคนร้อยแปด (แป๊ะโป้ย ๑๘๐) เขาติดเงินฉัน (เขาเป็นลูกหนี้เงินฉัน) ฯลฯ ดังนี้เราควรใช้สำนวนไทยว่า สิบคนกว่า ร้อยแปดสิบ (๑๘๐) เขาเป็นหนี้ฉัน(เขาเป็นลูกหนี้เงินฉัน) ฯลฯ ดังนี้เป็นต้น

อนึ่ง บางภาษาใช้สำนวนยืดยาว เช่นภาอังกฤษ เขานำฟืนไปบนบ่า สุนัขนำชิ้นเนื้อไปด้วยปาก ฯลฯ ดังนี้เราควรใช้ตามสำนวนไทยว่า เขาแบกฟืนไป สุนัขคาบชิ้นเนื้อไป ดังนี้เป็นต้น

ข. แปลให้ถูกกาลเทศะ  ข้อนี้เกี่ยวกับการแปลข้อความที่เขาใช้พูดกันตามเวลาและตามถิ่นฐานของเขา จึงเป็นการสำคัญที่เราจะแปลให้ผู้อ่านทราบเวลาและที่ทางตรงตามความเป็นจริง เช่นตัวอย่างจากหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสว่า หน้าหนาวเมืองเราปีนี้หนาวจัด ปรอทลงต่ำกว่าศูนย์ ๒๕ องศา ดังนี้ถ้าเราแปลไว้เพียงเท่านี้ ก็คงทำให้ผู้อ่านเข้าใจยาก จึงควรชี้แจงในวงเล็บด้วย หน้าหนาวเมืองเรา (ฝรั่งเศส) และ ๒๕ องศา (เซนติเกรดตามฝรั่งเศสใช้) ดังนี้เป็นต้น

หรือถ้าจะปรับปรุงเรื่องของเขาให้เป็นเรื่องของไทยเรา เช่นเราแปลงชื่อถิ่นฐานมาเป็นไทยก็จำเป็นเปลี่ยนกาลเทศะและลักษณะของคนมาเป็นไทยจนครบถ้วน เช่นของเขา ตาเป็นสีน้ำเงิน เราก็ต้องแปลงเป็น ตาหล่อนดำดังนิล ดังนี้เป็นต้น ทั้งนี้นำมากล่าวพอเป็นตัวอย่างเท่านั้น ครูควรฝึกหัดในทางนี้เป็นพิเศษอีกมาก

(๔) การจำกัดความและอธิบายความ  จำกัดความ หมายถึงการอธิบายศัพท์หรือข้อความ ให้อยู่ในความหมายที่ต้องการ มักใช้ในตำราต่างๆ มีกฎหมายเป็นต้น เพราะตามธรรมดาศัพท์ก็ดี ข้อความที่ใช้พูดกันก็ดี มักมีความหมายต่างๆ นานาไม่แน่นอน  จึงต้องอธิบายจำกัดความไว้ด้วย เพื่อให้เข้าใจความหมายแน่นอน เช่นตัวอย่างในศีลข้อที่ ๑ “ห้ามไม่ให้ฆ่า สัตว์” คำ สัตว์ ในที่นี้ท่านจำกัดความว่า มนุษย์และดิรัจฉานตลอดจนครรภ์หรือไข่ ซึ่งจะออกเป็นตัวมนุษย์หรือดิรัจฉานต่อไป แต่ในคำ “สัตว์ พาหนะ” คำสัตว์ ในที่นี้ต้องจำกัดความว่า สัตว์ดิรัจฉานที่ใช้ขับขี่ลากขนอยู่ตามปกติ เป็นต้น ซึ่งครูจะต้องหาวิธีฝึกสอนอีกแบบหนึ่ง

ส่วน อธิบายความ นั้น หมายถึงการอธิบายความหมายของศัพท์หรือข้อความออกไปจนสิ้นเชิง ซึ่งมักจะใช้ในการเรียงความ หรือตอบคำถาม เช่นตัวอย่างอธิบายคำ สัตว์ ก็ต้องใช้ความรู้ของตนยิ่งมากยิ่งดีเช่น อธิบายรูปศัพท์ ออกจาก “สตฺ” (มี, เป็น) +“ตฺว” ปัจจัย=สัตว์ แปลว่า ผู้มีอยู่ ผู้เป็นอยู่ แปลเอาความว่า สิ่งมีชีวิตที่มีวิญญาณครอง ได้แก่สัตว์ดิรัจฉาน มนุษย์ อมนุษย์ คือ ภูตผี เช่น สัตว์นรก เปรต เทวดา ฯลฯ แล้วแต่ประเพณีนิยม ในวรรณคดีของเรา หรือตอบคำถามในกฎหมายว่า การฆ่าคนมีโทษอย่างไร ? เช่นนี้ก็จะต้องอธิบายถึงการฆ่าคนว่า อย่างไรผิดกฎหมาย อย่างไรไม่ผิด อย่างไรโทษน้อย อย่างไรโทษมาก ฯลฯ ตามที่กฎหมายกล่าวไว้ ตามความรู้ของตน มีข้อสำคัญอยู่ที่ต้องมีความรู้เพียงพอและต้องใช้ศิลป์ คือให้ผู้ฟังเข้าใจง่าย และพอใจ ฟังเช่นต้องใช้คำให้เหมาะ และตั้งข้อให้ได้ลำดับไม่ก้าวก่ายกัน ไม่มากน้อยกว่ากันจนเกินควร และให้เหมาะแก่กาลเทศะดังกล่าวมาแล้วด้วย ซึ่งครูจะต้องรวบรวมสอนในการแต่งเรื่องเป็นตำราแผนกหนึ่งดังกล่าวแล้ว

การย่อเรื่อง ที่จริงการย่อเรื่องนี้ ก็มีแบบแผนที่ครูใช้สอนอยู่แล้วอย่างแต่งเรื่องเหมือนกัน ดังนั้นในที่นี้จึงไม่กล่าวเรื่องแบบแผนให้พิสดารอีก แต่จะขอนำเอาวิธีย่อสำนวนบางอย่างมากล่าวไว้พอเป็นหลักย่อๆ เล็กน้อยเท่านั้น

ข้อสำคัญในการย่อเรื่อง ก็คือเอาเรื่องราวมากๆ มาแต่งเสียใหม่ให้สั้นกว่าของเดิม ยิ่งให้น้อยเท่าใดยิ่งดี แต่ต้องพยายามบรรจุเนื้อความให้ได้มากเท่าใด ก็ยิ่งดีดุจกัน การย่อนี้ไม่มีขอบเขตว่าย่อลงไปเท่าไรจึงจะเหมาะ เพราะเรื่องบางเรื่องมีพลความมากก็ย่อลงไปได้มาก แต่บางเรื่องมีใจความมาก เช่นเรื่องที่เขาย่อมาเสียครั้งหนึ่งแล้ว หรือเรื่องที่ผู้แต่งคิดเอาแต่ใจความมาแต่งไว้ เรื่องเช่นนี้ย่อมาก ถ้าย่อให้เหลือน้อยก็จะทิ้งใจความเดิมเสียบ้าง ซึ่งแล้วแต่ความคิดของผู้ย่อจะเห็นข้อไหนไม่สำคัญนัก ทั้งนี้ผู้ออกข้อสอบมักจะตรวจเรื่องเสียก่อน ว่าควรจะย่อลงไปได้เท่าไร แล้วจึงกะให้ย่อได้ ๑ ใน ๒, ๑ ใน ๓ หรือ ๑ ใน ๔ ของเรื่องเดิม ตามแต่จะเห็นควร เว้นแต่ย่อบางอย่าง เช่น ย่อบันทึกหรือย่อกระทงแถลงของศาล หรือย่อเพื่อเก็บเอาข้อความของเรื่อง มาตั้งชื่อเรื่อง หรือจ่าหน้าเรื่อง เหล่านี้มีหลักเกณฑ์ไปอีกทางหนึ่ง ซึ่งปรากฏอยู่ในแบบแผนของวิธีย่อความแล้ว จึงไม่กล่าวถึง

ข้อที่จะกล่าวเพิ่มเติมวิธีย่อต่อไปนี้ ก็คือต้องการให้ใช้ความรู้ในการแต่งเรื่องราวที่กล่าวมาแล้วข้างบนนี้ นำมาประกอบในการรวบรัดสำนวนให้สั้นเข้าอีกด้วย ไม่ใช่เพียงแต่คัดเอาพลความออก แล้วเอาใจความที่เหลืออยู่มาปรุงเข้าเป็นสำนวนย่อเท่านั้น ดังจะยกตัวอย่างมาไว้พอเป็นหลักต่อไปนี้

ก. จากการแปลภาษาอื่น ซึ่งต้องใช้คำยืดยาว เช่น เขานำฟืนไปบนบ่า สุนัขนำชิ้นเนื้อไปด้วยปากของมัน เช่นนี้ ควรใช้ภาษาไทยเราให้สั้นเข้าได้และถูกต้องดีด้วยว่า เขาแบกฟืนไป สุนัขคาบชิ้นเนื้อไป ดังนี้เป็นต้น

ข. มีสำนวนบางแห่ง  กล่าวยืดยาวและซ้ำซาก ซึ่งควรจะหาคำอื่นมาให้ได้ความเท่ากัน และรัดกุมดีด้วยเช่น
“ข้าพเจ้า ขอถือพระพุทธเจ้า ผู้ประเสริฐ ว่าเป็นที่ระลึกตลอดชีวิต ข้าพเจ้า ขอถือพระธรรมเจ้า อันประเสริฐ ว่าเป็นที่ระลึกตลอดชีวิต ข้าพเจ้าขอถือพระสงฆ์เจ้า ผู้ประเสริฐ ว่าเป็นที่ระลึกตลอดชีวิต” การย่อเพียงตัดพลความออกเสียว่า “ข้าพเจ้าขอถือพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า และพระสงฆ์เจ้า ว่าเป็นที่ระลึกตลอดชีวิต” ดังนี้ก็ใช้ได้ เมื่อหาคำใช้ให้รวบรัดกว่านี้ไม่ได้ แต่ข้อความนี้ยังหาใช้คำให้สั้นได้อีก คือ “ข้าพเจ้าขอถือ พระรัตนตรัย ว่าเป็นที่ระลึกตลอดชีวิต” ดังนี้เป็นต้น

ค. เรื่องราวปากตลาดที่พูดกันยืดยาว เราต้องหาถ้อยคำบันทึกเสียใหม่ให้เป็นข้อความรัดกุมและสุภาพ เช่น

ตัวอย่างที่ ๑  
นายดำ “เฮ้ย! แดง ผู้หญิงไทยเดี๋ยวนี้ต่างเห่อทาปากแดงกันใหญ่แล้ว ไม่ดีเลย”

นายแดง “ทำไมจะไม่ดี หญิงไทยโบราณก็กินหมากปากแดงเหมือนกันทั้งนั้น”

นายดำ “ทะลึ่ง ขัดคอบ้าๆ เดี๋ยวตบหน้าให้นี่”

นายแดง “เอ็งน่ะซี ทะลึ่ง พูดบ้าๆ ดีว่าไม่ดี”
นายดำโกรธจัดตรงเข้าตบหน้านายแดง และนายแดงก็ต่อยตอบเลยเกิดชกต่อยกันขึ้น

ตัวอย่างย่อ “นายดำกับนายแดงเถียงกันด้วยเรื่องหญิงไททาปากแดงดีหรือไม่ดี จนถึงชกต่อยกัน”

ตัวอย่างที่ ๒  
แม่สอนลูกว่า “นางหนู! เจ้าอย่าพูดพล่อยๆ เช่นนั้นซี”

ลูกสาว “ก็แม่ชอบพูดสบถพล่อยๆ เหมือนกัน”

แม่ “เจ้าจะเลวใหญ่แล้ว พูดคำหนึ่งก็สบถคำหนึ่งเสมอไปทีเดียว ให้ตายซี”

ลูกสาว “แม่ก็พูดคำหนึ่งสบถคำหนึ่งเหมือนกัน เดี๋ยวนี้ยังสบถอยู่เลย ให้ตายซี ไม่ต้องพูดว่าฉันหรอก”
แม่โกรธจัดจึงฉวยไม้เรียวตีลูกสาว

ตัวอย่างย่อ
“แม่สอนลูกสาวไม่ให้พูดคำหนึ่งสบถคำหนึ่ง แม่พูดทีไรลูกสาวก็พูดย้อนให้ทุกที แม่โกรธจึงฉวยไม้เรียวตีเอา”

ข้อสังเกต  ใจความของตัวอย่างที่ ๑ คือ ผล-นายดำกับนายแดงชกต่อยกัน เหตุ-มียืดยาวใจความว่า นายดำว่าหญิงไทยทาปากแดงไม่ดี นายแดงว่า ทาปากแดงดี เราจะย่อเพียงนี้ก็ได้ แต่ยังเปลี่ยนสำนวนให้รัดกุมเข้าอีก โดยใช้คำพูดเสียใหม่ว่า “เถียงกันด้วยเรื่องหญิงไทยทาปากแดงดีหรือไม่ดี” และในตัวอย่างที่ ๒ นั้น ผลคือ-แม่ตีลูกสาว แต่เหตุมียืดยาวเหมือนกัน จึงต้องหาคำแทนใหม่ โดยรวมความที่ลูกสาวกล่าวตอบแม่ทั้งหมดเป็นใจความย่อๆ ว่า “พูดย้อนให้” แม่ ใช้คำนี้ก็ได้ความพอกับผลแล้ว แต่ถ้าลูกสาวตอบเป็นอย่างอื่น ซึ่งทำให้แม่โกรธเหมือนกัน เช่นตอบว่า “ถูกจ้ะ! ลูกมันระยำ แต่แม่ดี๊ดีเหมือนเทวดา” เช่นนี้หาใช่พูดย้อนไม่ ต้องใช้ว่าลูกสา “พูดแดกให้” และยังมีอีกมากมาย ตัวอย่างที่นำมานี้พอให้ยึดเป็นหลักเท่านั้น

ที่มา:พระยาอุปกิตศิลปสาร