วิธีใช้กริยาและวิเศษณ์

Socail Like & Share

วิธีใช้กริยา
คำกริยาทั้งหลายย่อมใช้ต่างกันตามระเบียบทั้ง ๕ คือ มาลา ๑ กาล ๑ วาจก ๑ การก ๑ (เฉพาะกริยาสภาวมาลา) และราชาศัพท์ และคำกล่าวเหล่านี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงรูปอย่างภาษาอื่นๆ เลย มักใช้คำกริยานุเคราะห์ประกอบบ้าง ใช้คำวิเศษณ์ประกอบบ้าง , ใช้เรียงลำดับคำบ้าง และใช้เนื้อความของคำบ่งบ้างตามวิธีเปลี่ยนแปลง ๔ ข้อ ข้างต้นนี้ ดังจะอธิบายต่อไปนี้:-

มาลา  กริยาที่ใช้ตามมาลานั้น โดยมากมักมีกริยานุเคราะห์ ประกอบข้างหน้าบ้าง ข้างหลังบ้าง หรือมิฉะนั้นก็ใช้เนื้อความของคำบ่ง ดังนี้:-

(๑) นิเทศมาลา ใช้ในความบอกความหมายจัดเป็น ๒ อย่าง คือ:-
ก. บอกความเพื่อให้ทราบอย่างหนึ่ง และบอกความหมายเพื่อขอทราบ ได้แก่ ซักถามอย่างหนึ่ง เช่น ฝนตก ฟ้าร้อง เขาไม่อยู่ เขาไปไหน? เขาสบายหรือ? เป็นต้น พวกนี้ไม่ต้องมีคำใดๆ ประกอบ

ข. บอกความหมายเพื่อแสดงความเห็นหรือความประสงค์ของตน พวก นี้มักใช้กริยานุเคราะห์ที่ช่วยให้ความบริบูรณ์ประกอบ เช่น ‘ควร น่า พึง’ เป็นต้น ตัวอย่าง เขา ควรไป เขา น่าชม เขา พึงไป เป็นต้น

(๒) ปริกัลปมาลา ใช้ในความ ๒ อย่าง คือ
ก. บอกความคาดคะเนใช้กริยานุเคราะห์ เช่น ‘ชะรอย’ เป็นต้น ประกอบข้างหน้า เช่นตัวอย่าง ชะรอย เขา จะมา เป็นต้น บางทีก็ใช้เนื้อความของคำวิเศษณ์บางคำ เช่น ‘กระมัง บางที’ ฯลฯ บ่ง ตัวอย่าง ‘เขาอยู่ กระมัง บางที เขาอยู่’ ดังนี้คำกริยา ‘อยู่’ นับว่าเป็นปริกัลปมาลา เพราะความหมายของคำ ‘กระมัง’ และ ‘บางที’ บ่งให้เป็นความคาดคะเน

ข. บอกความแบ่งรับแบ่งสู้ พวกนี้ใช้ความหมายของคำที่มีความหมาย แบ่งความรับรอง คือสันธาน เช่น ถ้า และ ถ้า ก็ ฯลฯ บ่ง ตัวอย่าง ‘ถ้า และ ฝนตกเขาจะอยู่บ้าน’ ดังนี้คำ ‘ตก’ เป็นปริกัลปมาลา เพราะเนื้อความของคำ ‘ถ้าและ’ บ่งความแบ่งโอกาสที่เขารับว่าจะอยู่เฉพาะแต่ฝนตกเท่านั้น ดังนี้เป็นต้น

(๓) ศักดิมาลา ใช้กริยานุเคราะห์ เช่น คง ต้อง ฯลฯ ประกอบตัวอย่าง เขา คงนอน เขา ต้องนอน เป็นต้นอย่างหนึ่ง ใช้ความหมายของนิยมวิเศษณ์บ่ง ตัวอย่าง เขานอน แน่นอน เขานอน มั่นคง ดังนี้เป็นต้น อย่างหนึ่ง

(๔) อาณัติมาลา ใช้กริยานุเคราะห์ เช่น จง ขอจง อย่า อย่าเพ่อ ฯลฯนำหน้า ตัวอย่าง ‘จงมา ขอจง เจริญ อย่าไป’ เป็นต้น อย่างหนึ่ง ใช้กริยานุเคราะห์ เช่น ‘ซิ เสีย เถิด’ ฯลฯ ประกอบข้างท้าย ตัวอย่าง ‘นอนซิ นอน เสีย นอน เถิด ’ เป็นต้นอย่างหนึ่ง

(๕) สภาวมาลา กริยาที่ใช้เป็นสภาวมาลา ไม่ใช้เป็นกริยาของประโยค อย่างมาลาอื่นๆ เป็นแต่ส่วนของประโยค มักใช้ลอยๆ เช่น ‘นอนนานๆ ไม่ดี เขาไม่ชอบ ทำงาน คนเดียว’ ดังนี้บ้าง ใช้ตามหลังบุพบท ‘เพื่อ สำหรับ’ เช่น ‘เขามาเพื่อ ทำงาน เขาเลี้ยงนกสำหรับ ดูเล่น’ เป็นต้น ดังนี้บ้าง

กาล กริยาที่ใช้ในกาลต่างๆ นั้น ใช้กริยานุเคราะห์ประกอบบ้าง ใช้เนื้อความของคำอื่นมีคำวิเศษณ์เป็นต้น บ่งบ้าง ดังต่อไปนี้

(๑) กาลสามัญ คือ
ก. ปรัตยุบันกาล ใช้กริยานุเคราะห์ เช่น ‘กำลัง กำลัง-อยู่ ยัง ยัง-อยู่’ ฯลฯ ประกอบตัวอย่าง เขา กำลังนอน เขา กำลังนอนอยู่ เขา ยัง ไม่ นอน เขา ยังนอนอยู่’ เป็นต้น ใช้เนื้อความของคำอื่นบ่ง ตัวอย่าง ‘เดี๋ยวนี้ เขา นอน เป็นต้น

ข. อดีตกาล ใช้กริยานุเคราะห์ เช่น ‘ได้เคย’ ประกอบ เช่น ‘เขา ได้มา ที่นี่ เขา เคยมา ที่นี่’ เป็นต้น ใช้เนื้อความของคำอื่นบ่ง เช่น ‘วานนี้ เขา มา ที่นี่ ’ เป็นต้น

ค. อนาคตกาล ใช้กริยานุเคราะห์ เช่น ‘จะ จัก’ ประกอบข้างหน้า ‘เขาจะกิน เขา จักสบาย’ เป็นต้น ใช้เนื้อความของคำอื่นบ่ง เช่น ‘เขา มาพรุ่งนี้’ เป็นต้น

ฆ. อนุตกาล ใช้กริยานุเคราะห์ เช่น ‘ย่อม’ ประกอบ เช่น “คนดี ย่อมประพฤติ ดี” เป็นต้น ก็ดี หรือไม่ต้องใช้กริยานุเคราะห์ที่บอกกาลเลยก็ดี หรือไม่มีเนื้อความบ่งให้รู้ว่าเป็นกาลใดแน่นอน ก็ดี เช่น ‘เขานอนเสมอ เขา ทำงาน’ ดังนี้เป็นต้น นับเข้าในพวกอนุตกาลทั้งสิ้น

(๒) กาลสมบูรณ์  ใช้กริยานุเคราะห์ เช่น ‘แล้ว เสร็จ’ ประกอบกาลสามัญอีกทีหนึ่ง ตัวอย่าง

ก. ปรัตยุบันกาลสมบูรณ์ เช่น เขา นอนอยู่แล้ว ฯลฯ
ข. อดีตกาลสมบูรณ์ เช่น เขา ได้นอนแล้ว ฯลฯ
ค. อนาคตกาลสมบูรณ์ เช่น เขา จะทำแล้ว ฯลฯ
ฆ. อนุตกาลสมบูรณ์ เช่น เขา นอนแล้ว ฯลฯ

(๓) กาลซ้อน ใช้วิธีประกอบกริยาอย่างกาลสามัญ หรือ กาลสมบูรณ์นั้นเอง แต่ใช้ซ้อนกันหลายกาล เช่น ‘ วาน นี้ฉันกินข้าว ’ เป็นอดีตกาลอยู่แล้ว’ ถ้าหาคำประกอบบอกกาลใดๆ ซ้ำลงไปอีก เช่น ‘วานนี้ฉัน กำลังกิน ข้าว’ ดังนี้นับว่าเป็นกาลซ้อน เรียกว่า ‘ปรัตยุบันกาลในอดีต’ เพราะเอากาลปรัตยุบัน ไปใช้ในกาลอดีต ดังนี้เป็นต้น กาลซ้อนนี้ยังมีชื่อต่างๆ กันอีกมาก ตามกาลที่ใช้ซ้อนกัน ดังตัวอย่างต่อไปนี้ เป็นต้น

ก. ‘เขา ได้กิน ข้าว อยู่’ เป็นปรัตยุบันกาลในอดีต
ข. ‘วานนี้ ฉัน กำลังกิน ข้าว แล้ว’ เป็นปรัตยุบันกาลสมบูรณ์ในอดีต
ค. ‘เขา จักกำลังเกี่ยว ข้าวกัน’ เป็นปรัตยุบันในอนาคต
ฆ. ‘เดือนหน้า เขา กำลังเกี่ยว ข้าว แล้ว’ เป็นปรัตยุบันกาลสมบูรณ์
ในอนาคต

ง. ‘เดี๋ยวนี้ เขา ได้ทำ งาน’ เป็นอดีตกาลในปรัตยุบัน
จ. ‘เดี๋ยวนี้ เขา ได้ทำ งาน แล้ว’ เป็นอดีตกาลสมบูรณ์ในปรัตยุบัน

วาจก กริยาที่ใช้ในวาจกนั้น ใช้สังเกตคำที่เป็นประธาน คือคำที่เรียงไว้หน้ากริยานั้นๆ เป็นหลัก และบางทีก็ใช้สังเกตกริยานุเคราะห์
ประกอบกริยานั้นๆ เป็นหลักบ้าง ดังนี้

(๑) กรรตุวาจก ใช้สังเกตประธานเป็นหลัก คือถ้าประธานเป็นกรรตุ การกแล้ว กริยานั้นก็เป็นกรรตุวาจก และวาจกนี้ไม่ใช้กริยานุเคราะห์ประกอบเลย เช่น ‘คน นอน คน กินข้าว’ เป็นต้น หรือในประโยคการิตที่มีการิตการกรับใช้อยู่ด้วย เช่น ‘ครู ให้ศิษย์อ่าน หนังสือ’ คำ ให้-อ่าน ก็นับว่าเป็น ‘กรรตุวาจก’ ของคำ ‘ครู’ เพราะบท ‘ครู’ ประธานนั้นเป็นกรรตุการก

(๒) กรรมวาจก ใช้สังเกตคำประธานเป็นกรรมการก และมีคำกริยานุเคราะห์ ‘ถูก’ หรือ “ถูก-ให้” นำหน้ากริยา เช่นคำ ‘ฉัน’ ในความต่อไปนี้ ‘ฉัน ถูก พ่อ ตี ฉัน ถูกตี ’ เป็นต้น คำ ‘ถูก ’ นี้มักจะใช้กับกริยาที่มีความไปในทางไม่ดี เช่น ถูกตี ถูกด่า ถูกเฆี่ยน ถูกทำโทษ เป็นต้น นอกจากนี้ไม่นิยมใช้ มักใช้แต่กริยาลอยๆ ละคำ ‘ถูก’ ไว้ในที่เข้าใจ เป็นแต่เอาคำประธานเป็นกรรมการกไว้ข้างหน้าเพื่อให้รู้ว่ากริยานั้นเป็นกรรมวาจก
ดังตัวอย่าง ‘ขนมนี้ กิน ดี บุหรี่นี้ ขาย ดี’ ดังนี้คำกริยา ‘กิน’ และ ‘ขาย’ ย่อมละคำ‘ถูก’ ไว้ในที่เข้าใจ นับว่าเป็นกรรมวาจก อย่างเดียวกับกล่าวว่า ‘ขนมนี้ถูกกินดี บุหรี่นี้ถูกขายดี’ เหมือนกัน

อีกประการหนึ่ง คำกริยา ‘ถูก-ให้’ หรือ ‘ถูกให้ – ในประโยคการิต ซึ่งมีกรรมการกเป็นประธานก็เรียกว่าเป็นกรรมวาจกด้วย ตัวอย่าง ‘หนังสือนี้ ถูก ครู ให้ เด็ก อ่าน’ หรือ ‘ถูกให้อ่าน’ นับว่าเป็นกริยา ‘กรรมวาจก’ ด้วย เพราะหลักอยู่ที่ประธานเป็นกรรมการก

ข้อสังเกต บทกริยาที่มีกริยานุเคราะห์ ‘ถูก-ให้’ หรือ ‘ถูกให้’ นำหน้านี้ ถ้าประธานเป็นการิตการก กริยาก็เป็นการิตวาจก แต่ถ้าประธานเป็นกรรมการก กริยาก็เป็นกรรมวาจก ดูต่อไป

(๓) การิตวาจก ใช้สังเกตคำประธานเป็นการิตการก และมีกริยานุ เคราะห์ ‘ถูก-ให้’ หรือ ‘ถูกให้’ นำหน้ากริยาอีกทีหนึ่ง ตัวอย่าง ‘ศิษย์ ถูก ครู ให้อ่าน หนังสือ’ หรือ ‘ศิษย์ถูกให้อ่าน หนังสือทั้งวัน’ หรือบางทีละคำ ‘ให้’ ไว้ในที่เข้าใจกัน กล่าวแต่เพียงว่า ‘ศิษย์ถูกอ่านหนังสือ’ ก็ได้ ดังนี้กริยา ‘ถูก-ให้อ่าน’ หรือ‘ถูกให้อ่าน’ หรือ‘ถูกอ่าน’ เป็นกริยา‘การิตวาจก’ เพราะมีคำศิษย์ซึ่งเป็นการิตการกเป็นบทประธาน

หมายเหตุ ตามระเบียบในภาษาไทย บทประธานต้องอยู่หน้าบทกริยา เสมอไป แต่ยกเว้นบางแห่งซึ่งต้องการให้คำกริยาเป็นส่วนสำคัญ จึงใช้เรียงคำกริยาไว้หน้าบทประธาน แต่มักจะใช้เฉพาะกริยาที่มีความว่า ‘เกิด มี ปรากฏ’ เท่านั้น เช่น ‘ เกิด กาฬโรคขึ้นที่โน่น ที่นี่ มี ยุงชุม ปรากฏ การฆาตกรรมขึ้นในเมืองนี้เนืองๆ’ เป็นต้น เช่นนี้ บทกริยาที่อยู่ข้างหน้าก็เป็นกรรตุการก เหมือนกัน เพราะบทประธานที่อยู่หลังกริยานั้นๆ เป็นกรรตุการก

การก ได้กล่าวแล้วว่ากริยาสภาวมาลา ไม่ใช้เป็นกริยาของประโยค แต่ใช้เป็นส่วนใดส่วนหนึ่งของประโยคก็ได้ เพราะฉะนั้น กริยาพวกนี้ จึงมีหน้าที่เป็นการกต่างๆ ได้อย่างเดียวกับนามและสรรพนาม เช่น ตัวอย่าง ‘นอน มากนักเป็นโทษ’ ดังนี้ คำกริยาสภาวมาลา ‘นอน’ ในที่นี้เป็นกรรตุการก และ ‘ฉันไม่ชอบ นอน นานๆ’ คำ ‘นอน’ ในที่นี้เป็นกรรมการก และ ‘เขาเลี้ยงนกไว้เพื่อ ชม เล่น’ คำ ‘ชม’ ในที่นี้เป็นวิเศษณการก ดังนี้เป็นต้น

กริยา ‘ไล่’ แจกเฉพาะปรัตยุบันกาล

silapa-0138
หมายเหตุ กริยาสภาวมาลาเหล่านี้ถึงแม้ว่าไม่มีประธานก็ดี แต่ก็ยังมีรูป ปรากฏอยู่ว่าเป็นกริยาชนิดไร และเป็นของประธานชนิดไร (คือ กรรตุการก กรรมการก หรือการิตการก) เพราะฉะนั้นคำกริยาพวกนี้ เมื่อกระจายคำต้องบอกระเบียบต่างๆ ด้วย อย่างคำกริยาอื่นๆ แล้วจึงบอกการก ตามหน้าที่ของกริยาพวกนี้ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

ก. ‘นอน นานๆ เป็นโทษ’ ‘นอน’ เป็นอกรรมกริยา สภาวมาลา กรรตุวาจก อนุตกาล เป็นกรรตุการกของกริยา ‘เป็น’
ข. ‘ถูกตี บ่อยๆ ไมดี’ ‘ถูกตี’ เป็นอกรรมกริยา สภาวมาลา กรรมวาจก อนุตกาล เป็นกรรตุการกของกริยา ‘ไมดี’
ค. ‘ถูกให้ตีเด็กบ่อยๆ ไม่ดี’ ‘ถูกให้ตี’ เป็นสกรรมกริยา สภาวมาลา การิตวาจก เป็นกรรตุการกของกริยา ‘ไม่ดี’ ดังนี้เป็นต้น

แบบแจกกริยา ต่อไปนี้จะทำแบบแจกกริยาตามระเบียบทั้ง ๓ คือ มาลา กาล วาจก ไว้ให้ดูเป็นตัวอย่าง ส่วนการกนั้นมีเฉพาะกริยาสภาวมาลาอย่างเดียวไม่เกี่ยวกับคำกริยาอื่นจึงยกเสีย และให้สังเกตด้วยว่า ระเบียบเหล่านี้ บางอย่างก็ขาดบ้าง เพราะติดขัดเนื้อความ เช่น อาณัติมาลา ย่อมมีในอดีตกาลไม่ได้ เป็นต้น

ส่วนกาลอื่นๆ ก็แจกเช่นเดียวกัน เป็นแต่เปลี่ยนคำประกอบให้เป็นกาล นั้นๆ เช่น อดีตกาล เป็น ‘คน ได้ ไล่กา’ อนาคตกาล เป็น ‘คน จัก ไล่กา’ และอนุตกาล เป็น ‘คน ไล่ กา’ ดังนี้เป็นต้น

วิธีใช้คำวิเศษณ์
คำวิเศษณ์ในภาษาบาลีและสันสกฤต ย่อมใช้เปลี่ยนแปลงไปตาม ลึงค์ พจน์ การก อย่างเดียวกับคำนาม และยังต้องใช้ต่างกันตามอุปมาน คือ เปรียบเทียบชั้นสูงต่ำของคำวิเศษณ์นั้นอีก เช่น ‘สุนฺทโร’ ดี (ธรรมดา) ‘สุนฺทรตโร’ ดีกว่า, และ ‘สุนฺทรตโม’ ดีที่สุด ส่วนในภาษาอังกฤษก็มีอย่างนี้เหมือนกัน เช่น ‘กู๊ค’ (Good) ดี (ธรรมดา), ‘เบ็ตเตอร์’ (Better) ดีกว่า,และ ‘เบ๊ส๎ต’ (Best) ดีที่สุด มีรูปแปลกกันเป็น ๓ ชั้น เป็นระเบียบเช่นนี้เราจึงควรจะต้องศึกษา แต่ในภาษาไทยไม่มีระเบียบเช่นนี้ เมื่ออยากจะให้ความเป็นอย่างไร ก็ใช้คำวิเศษณ์ด้วยกันประกอบเข้า เป็น ดียิ่ง ดีจริง ดีนัก เป็นต้น ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงรูปดังภาษานั้นๆ เพราะฉะนั้นจึงไม่ต้องมีระเบียบอย่างเขา ให้ยุ่งยาก ในส่วนพจน์นั้น มีคำวิเศษณ์บางคำบอกพจน์ได้ เช่น คน เดียว คนมาก คนนี้ ฯลฯ คำ เดียว, มาก, นี้’ ที่ประกอบข้างท้ายนั้นบอกพจน์ของนามข้างหน้า ถ้าจะให้เป็นพจน์อะไรก็ต้องหาคำวิเศษณ์อื่นที่มีความบอกพจน์นั้นๆ มาประกอบ หามีวิธีเปลี่ยนแปลงคำวิเศษณ์เหล่านี้ให้เบนพจน์ต่างๆ ไม่ เช่น คำ ‘นี้’ มีเนื้อความชี้เฉพาะสิ่งเฉพาะอัน เมื่อประกอบนามใดก็เป็น เอกพจน์ เช่น ‘คนนี้’ เมื่อจะให้เป็นพหูพจน์ ก็ใช้ว่า ‘คนเหล่านี้’ ฯลฯ ใน ที่นี้ คำ ‘คน’ เป็นพหูพจน์ เพราะอาศัยความของคำ ‘เหล่า’ แต่คำ ‘นี้’ ก็มีความชี้เฉพาะเป็นเอกพจน์อยู่นั่นเอง คือหมายความว่า เหล่านั้นเหล่าเดียว ไม่ใช่หลายเหล่า เหตุฉะนี้คำวิเศษณ์ถึงจะมีเนื้อความบอกพจน์อยู่บ้างก็เป็นไปตามเนื้อความของมัน ไม่มีวิธีเปลี่ยนแปลงอย่างภาษาอื่น เพราะฉะนั้นคำวิเศษณ์ในภาษาไทย จึงจำเป็นจะต้องใช้ตามระเบียบเพียง ๒ อย่างเท่านั้น คือ ลึงค์ กับราชาศัพท์ แต่ราชาศัพท์จะยกไว้กล่าวทีหลัง ในที่นี้จะกล่าวแต่ลึงค์อย่างเดียว คือ:-

(๑) ลักษณวิเศษณ์ คำวิเศษณ์ประกอบนามบอกลึงค์นั้น ได้แก่ ลักษณวิเศษณ์ ซึ่งเดิมเป็นนามเฉพาะลึงค์ เช่น ชาย หญิง สาว หนุ่ม สะใภ้ พลาย พัง (ช้าง) เป็นต้น แล้วเอามาทำหน้าที่เป็นวิเศษณ์ประกอบนามบอกลึงค์อีกทีหนึ่ง

(๒) คำประติชญาวิเศษณ์ นอกจากลักษณวิเศษณ์ที่มาจากนามข้อต้นแล้วยังมีประติชญฺาวิเศษณ์อีกพวกหนึ่งที่ใช้บอกลึงค์ได้ดังนี้

ก. ปุลลึงค์ เช่น พระพุทธเจ้าข้าขอรับใส่เกล้าใส่กระหม่อม พระพุทธเจ้าข้าขอรับ พระพุทธเจ้าข้า พระเจ้าข้า ขอถวายพระพรขอรับ เป็นต้น

ข. สตรีลึงค์ เช่น เพคะใส่เกล้าใส่กระหม่อม  เพคะ เจ้าข้า เป็นต้น
ค. อลึงค์ เช่น จ้ะ

คำประติชญาวิเศษณ์ที่เป็นนปุงสกลึงค์ไม่มี และคำพวกนี้จะต้องใช้ตามชั้นของบุคคล ดังจะกล่าวต่อไปในราชาศัพท์

คำที่ต้องใช้ต่างกันตามระเบียบทั้ง ๘ นั้น มีอยู่เพียง ๔ ชนิดเท่านั้น อีก ๓ ชนิด คือ บุพบท สันธาน อุทาน นั้น ไม่ต้องใช้ตามระเบียบ

ที่มา:พระยาอุปกิตศิลปสาร