วิธีเพาะพันธุ์ปลา

Socail Like & Share

การเพาะพันธุ์ปลาช่วยลดภาระในอันที่จะต้องเตรียมเครื่องมือ และเสาะหารวบรวมด้วยตนเองเป็นอันมาก การซื้อพันธุ์ปลาจากผู้อื่นแม้จะสะดวกแต่ก็มีราคาแพงและอาจไม่ได้ขนาดและจำนวนที่ประสงค์ ดังนั้นผู้เลี้ยงปลาจึงควรเพาะพันธุ์ปลาขึ้นเองเพื่อตัดทอนรายจ่าย แต่ทำให้มีปริมาณปลาและรายได้วิธีเพาะพันธุ์ปลา

ปลาที่ควรเลี้ยงมีบางชนิดที่สามารถจะเพาะพันธุ์ในบ่อได้ก็คือ ปลาไน ปลาสลิด ปลาดุก ปลาแรด และปลาหมอตาล

ปลาไน
การเพาะพันธุ์ปลาไนทำได้ตลอดปี โดยผู้เลี้ยงต้องช่วยเหลือคัดพ่อแม่ปลา และช่วยทำรังไข่ ปลาที่ใช้ทำพันธุ์ ควรเลือกที่ขนาดใหญ่สมบูรณ์ขนาดหนักประมาณ ๕๐๐ กรัม (ครึ่ง ก.ก.) ขึ้นไป

ปลาไนตัวผู้นั้น เมื่อเอามือลูบจากหัวไปหางจะสากระคายมือ ส่วนตัวเมียลื่น แต่ถ้าขังไว้นานจะสังเกตความแตกต่างนี้ได้ยาก ลักษณะที่บอกเพศอีกประการหนึ่งก็คือ ถ้ารีดท้องปลาแต่เบาๆ ตัวผู้จะมีน้ำสีขาวๆ ขุ่นไหลออกมาจากช่องทวาร ส่วนตัวเมียจะมีไข่ไหลออกมา

รับไข่ที่ทำ ให้ใช้สาหร่ายหางม้า ผักที่มีรากยาว เช่น ผักตบและผักแพงพวย จะใช้ฝอยของกาบตาลก็ได้ ถ้าเป็นผักก็จะรวมให้เป็นกำยาวประมาณ ๖๐ ซ.ม. แล้วผูกเรียงเป็นแพไว้ระยะห่างกันราว ๒๐ ซ.ม. หรือล้อมไว้ในคอกสี่เหลี่ยม ถ้าใช้ฝอยของกาบตาล ก็นำมาเรียงแล้วแผ่ให้เป็นแพยาวประมาณ ๑๕๐ ซ.ม. ประกอบตรงกลางด้วยซีกไม้ไผ่ แล้วยึดกับหลักบังคับให้ลอยอยู่ใต้ผิวน้ำเล็กน้อย

บ่อที่จะใช้เป็นที่เพาะพันธุ์ ควรเป็นขนาด ๕๐ ตารางเมตร ลึก ๑ เมตร มีท่อระบายน้ำได้สะดวกตามต้องการ เมื่อล้างและตากบ่อกำจัดศัตรูและใส่ปุ๋ยแล้วก็ปล่อยน้ำผ่านตะแกรงตาถี่เข้าบ่อ แล้วจึงปล่อยพ่อปลาแม่ปลาที่แยกไว้ลงรวมกัน โดยใช้ตัวผู้ ๓ ตัวต่อตัวเมีย ๑ ตัว

ปลาได้ที่อยู่ใหม่และอาหารดีก็เริ่มสืบพันธุ์ จะเห็นตัวผู้ไล่ตัวเมีย เวลาไข่มักเป็นตอนเช้าตรู่ ไข่สีเหลืองอ่อน ติดกับสาหร่าย รากผักหรือฝอยกาบตาลที่เตรียมไว้ให้ แล้วฟักเป็นตัวภายหลัง ๔๘ ชั่วโมง เมื่อลูกปลามีขนาด ๓ ซ.ม. ก็แยกไปเลี้ยงได้ การช่วยให้พ่อแม่ปลาสืบพันธุ์ ทำได้ทุกๆ ๒-๓ เดือน

ปลาสลิด
วางไข่ในฤดูฝน คือ เมษายนตลอดไปจนถึงสิงหาคม ปลาที่จะสืบพันธุ์ได้มีอายุราว ๗ เดือน และมีขนาด ๑๐ ซ.ม. ขึ้นไป แต่พ่อแม่ปลาที่จะใช้ทำพันธุ์ ควรเลือกขนาดใหญ่ อวัยวะดีครบถ้วน แข็งแรง ไม่มีโรคพยาธิ

ปลาสลิดตัวผู้มักยาวเรียว สันหลังกับสันท้องเกือบขนานกัน ครีบหลังมีปลายแหลมยาวถึงหรือเลยโคนหาง มีสีและลวดลายเข้ม ส่วนตัวเมียป้อม ครีบหลังมนและไม่ยาวถึงโคนหางสีจางกว่าตัวผู้ เมื่อมีไข่ส่วนท้องจะเป่ง

เมื่อปลาตัวเมียมีไข่แก่ ตัวผู้จะก่อหวอดในกอผักหญ้า แล้วรัดตัวเมียให้วางไข่ เชื้อตัวผู้ผสมกับไข่แล้วตัวผู้ก็อมไข่พ่นติดกับหวอด ไข่สีเหลืองขนาด ๑ ม.ม. ฟักเป็นตัวในเวลา ๔๘ ชั่วโมง ไข่ที่ไม่ได้ผสมจะมีสีขุ่นขาวเป็นรา

ลูกปลาโตได้ขนาด ๒ ซ.ม. ก็แยกไปเลี้ยงบ่ออื่นได้

บ่อที่จะใช้เป็นที่เพาะพันธุ์ ควรมีขนาดยาว ๑๐ เมตร กว้าง ๕ เมตร ลึก ๑ เมตร มีท่อระบายน้ำเข้าออกได้สะดวก ปลูกผักบุ้ง ผักกะเฉดไว้ริมบ่อให้เป็นที่อาศัยก่อหวอด เมื่อจะปล่อยปลาลงสืบพันธุ์ ควรได้ล้างบ่อและตากบ่อให้แห้งสัก ๗ วันก่อน แล้วกำจัดศัตรูและฆ่าเชื้อโรคด้วยโลติ๊นและปูนขาวเสร็จแล้วปล่อยน้ำเข้าบ่อใหม่และปล่อยปลาลงไป ใช้ตัวผู้ ๓ ตัว ตัวเมีย ๒ ตัว

ปลาดุก
ปลาดุกวางไข่ในระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงพฤศจิกายน เดือนที่มีฝนตกชุกปลาจะวางไข่มาก พ่อแม่ปลาที่จะเพาะควรมีขนาดยาวไม่น้อยกว่า ๒๐ ซ.ม. เป็นปลาที่เติบโตเร็ว ไม่มีโรคและพยาธิมีไข่หรือน้ำเชื้อแก่เต็มที่พ่อแม่ปลาควรมีขนาดไล่เลี่ยกัน ใช้พ่อแม่ปลาประมาณ ๑๐ คู่ ต่อเนื้อที่บ่อเพาะ ๒๐๐ ตารางเมตร

อวัยวะแสดงเพศผู้อยู่บริเวณใกล้กับช่องทวารมีลักษณะเรียวยาวยื่นออกมาทางด้านหาง ปลาเพศเมียลักษณะดังกล่าวจะสั้นกว่าค่อนข้างกลม ในฤดูวางไข่ปลาเพศเมียจะมีส่วนท้องอูมเป่งกว่าปกติ เมื่อไข่เจริญเต็มที่เอามือรีดท้องเบาๆ ไข่จะไหลออกมา

บ่อที่ใช้เพาะปลาดุกควรมีขนาดกว้าง ๕ เมตร ยาว ๑๐ เมตร ลึก ๗๕ ซ.ม. อยู่ในที่เงียบสงัด อาจใช้คูแทนบ่อก็ได้ ต้องเตรียมโพรงตามชายตลิ่งใต้ระดับน้ำประมาณ ๒๐ ซ.ม. โพรงมีขนาดปากกว้างประมาณ ๓๐ ซ.ม. ลึกประมาณ ๓๕ ซ.ม. ก้นโพรงควรเป็นแอ่งกว้างกว่าปากโพรงเล็กน้อย อาจดัดแปลงฝังหม้อนมแขก โอ่งปากกว้าง หม้อดินหรือหวดนึ่งข้าวเหนียวก็ได้ขุดโพรงเหล่านี้เท่าจำนวนคู่ของพ่อแม่ปลาและให้ห่างกันพอสมควร

ปล่อยพ่อแม่ปลาเป็นคู่ในฤดูวางไข่ ปลาดุกจะวางไข่ประมาณ ๓-๗ วันหลังวันปล่อยในฤดูวางไข่ปีหนึ่งๆ ปลาจะวางไข่ประมาณ ๒ ครั้ง ปลาคู่หนึ่งจะให้กำเนิดลูกได้ประมาณ ๒,๐๐๐-๕,๐๐๐ ตัว

เมื่อเริ่มจะวางไข่ สังเกตได้จากตัวผู้และตัวเมียจะว่ายเข้าออกในบริเวณโพรงบ่อยๆ ไข่จะติดกับดินหรือรากหญ้าบริเวณก้นหลุม ไข่สีเหลืองอ่อนขนาดประมาณ ๑ ม.ม. ปลาเพศผู้จะเฝ้าดูแลรักษาไข่จนกระทั่งฟักออกเป็นตัวและถุงไข่แดงบริเวณท้องยุบแล้ว ทั้งนี้จะเป็นเวลาประมาณ ๕-๗ วัน ในระหว่างนี้ลูกปลาจะผุดขึ้นลงผุดเพื่อหายใจ ลูกปลาขนาด ๒-๓ ซ.ม. จึงแยกไปเลี้ยงในบ่ออนุบาล

อนึ่งปลาดุกอาจหาพันธุ์ จากแหล่งน้ำธรรมชาติตามสภาพสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมได้ด้วยลูกปลาขนาดโตจะสามารถรวบรวมได้จากแอ่งน้ำที่ปลาตกคลักในฤดูน้ำลด

วิธีรวบรวมลูกปลาดุก ปกติแล้วผู้รวบรวมจะใช้มือคลำตามชายน้ำในทำเลดังกล่าว เมื่อพบโพรงก็ใช้มือค่อยๆ คลำลงไป ถ้าก้นหลุมหรือโพรงลื่นแสดงว่าปลาดุกกำลังกัดแอ่งเพื่อวางไข่ หรือสังเกตเห็นพ่อแม่ปลาว่ายเข้าออกบริเวณนั้นบ่อยๆ ถ้าปลาวางไข่แล้ว ไข่จะติดอยู่ที่ผิวดินเป็นเม็ดเล็กๆ สีเหลืองอ่อน ขนาดประมาณเท่าเม็ดสาคูขนาดเล็ก เมื่อฟักออกเป็นตัวแล้ว หากเอามือคลำลงไปจะรู้สึกว่ามีสิ่งที่เคลื่อนไหวมากระทบมือหยุบๆ หยิบๆ ผู้รวบรวมมักจะเอากระชอนผ้าช้อนขึ้นมาดู ถ้าเห็นว่าลูกปลามีถุงไข่แดงติดอยู่ที่ส่วนท้องจะทิ้งไว้ในโพรงอีกประมาณหนึ่งสัปดาห์ จึงมาช้อนไปเลี้ยงในบ่ออนุบาล

ปลาแรด
ไข่อย่างน้อยปีละ ๒ ครั้ง โดยมากมักไข่ในเดือนเมษายนถึงเดือนสิงหาคม แต่ละครั้งมีจำนวนถึง ๑,๐๐๐ ฟอง ปลาแรดที่จะสืบพันธุ์ได้อายุ ๓ ปี ขนาด ๑๑ นิ้ว ปลาแรดตัวผู้มีนอใหญ่และแถบขาวรอบฐานครีบอก

ในการเพาะพันธุ์ปลาควรปลูกผักหญ้าริมบ่อ หรือไม่ก็หารกตาลทิ้งไว้ให้ปลาแรดจะทำรังคล้ายรังนกขนาดใหญ่ โดยใช้ผักหรือต้นหญ้าทำรัง ปลาจะวางไข่ในรังที่ทำไว้นั้นบ่อขนาด ๕๐ เมตร ลึก ๑.๕ เมตร เลี้ยงพ่อแม่ให้สืบพันธุ์ได้คราวละ ๒๐ ตัว คือ ตัวเมีย ๑๐ ตัว ตัวผู้ ๑๐ ตัว

เมื่อปลาวางไข่แล้วจะย้ายรังมาฟักไข่ในหม้อดินหรือปล่อยให้ฟักเองก็ได้ ถ้าใช้หม้อดินควรใช้ชนิดปากกว้างขนาดใหญ่ ในหม้อมีน้ำอยู่ราวครึ่งหนึ่ง แบ่งไข่ลงในหม้อ ๒-๓ ใบ แล้วให้ลอยอยู่ในบ่อตอนริมๆ หรือมุมบ่อที่ร่มเงาเล็กน้อย ไข่ปลาจะฟักเป็นตัวภายใน ๓ วัน เมื่ออายุได้ ๒ อาทิตย์ก็ย้ายไปเลี้ยงในบ่อได้

อาหารของลูกปลาเป็นพืช ไรน้ำ และตัวปลวก

ปลาหมอตาล
ปลาหมอตาลเริ่มวางไข่ในเดือนมิถุนายน ชอบวางไข่ในที่ตื้นในบริเวณที่มีผักหญ้า ปลาหมอตาลอยู่ใน ๑ ปี ก็มีไข่ ไข่จะลอยขึ้นบนผิวน้ำและฟักเป็นตัวใน ๑๒ ชั่วโมง

ปลาหมอตาลตัวผู้ตัวเรียวแคบกว่าตัวเมีย ในฤดูปลาวางไข่ ปลาหมอตาลตัวเมียจะมีท้องใหญ่ ลักษณะที่ควรสังเกตอีกประการหนึ่งคือ ตัวผู้มีก้านครีบท้องยาวเสมอกัน ส่วนของตัวเมียก้านครีบท้องอันที่สามยาวพ้นอันอื่นๆ

ในบ่อขนาด ๕๐ ตารางเมตร การเลี้ยงปลาหมอตาลที่มีขนาดสืบพันธุ์ได้ ตัวเมีย ๒๐ ตัว ตัวผู้ ๒๐ ตัว เมื่อปลาวางไข่แล้วจะช้อนไข่ไปฟักในบ่ออื่น หรือในถังไม้ขนาดใหญ่ก็ทำได้

เมื่อลูกปลาอายุได้ ๒ อาทิตย์ก็ปล่อยลงบ่อเลี้ยง ให้พืชไรน้ำเป็นอาหาร

ศัตรูของปลาและวิธีกำจัด
ปลาก็เป็นพวกหนึ่งที่ต้องสู้เอาชีวิตรอดเยี่ยงเดียวกับสัตว์อื่นๆ แต่ปลาที่เลี้ยงในบ่อโดยมากเป็นปลาที่มีธรรมชาติไม่เก่งกาจในการต่อสู้เลย แต่มีศัตรูภัยธรรมชาติและเหตุที่ทำให้ตายหรือโตช้ามากมาย ดังนั้น ผู้เลี้ยงจึงควรป้องกันและกำจัดศัตรูให้ด้วย เมื่อมีโรคพยาธิก็รักษาพยาบาลเพื่อปลาจะได้เลี้ยงรอด เติบโตไม่ขาดหาย และสืบพันธุ์เพิ่มปริมาณยิ่งขึ้น

ศัตรูและโรคพยาธิของปลา จำแนกออกเป็นพวก ดังนี้
๑. โรคพยาธิ มีเชื้อโรค รา หนอน เห็บน้ำ เหาน้ำ เชื้อโรค เชื้อรานั้นเห็นได้ยากและรักษายาก อาจเกิดจากน้ำเสียบูดเน่า ขาดอาหาร ปลามากเกินไป เมื่อปรากฏว่ามีปลาเป็นโรคก็ควรจับแยกออก หรือทำลายเสีย ส่วนที่มีพยาธิ เช่น หนอน เห็บ และเหา ถ้ามีไม่มากควรแยกปลาออกและเก็บทำลายเสีย

๒. หอย  มีหอยบางชนิดแย่งอาหารกิน ควรเก็บทำลายด้วยมือ

๓. ปลา เช่น ปลาไหล ปลาดุก ปลาช่อน ปลาบู่ และปลาที่ดุร้ายอื่นๆ นอกจากดักตกหรือวิดบ่อ จับทำลายแล้ว ควรป้องกันไม่ให้เข้าบ่อโดยใช้ตะแกรงตาถี่กรุกั้นทางเข้าออกปลาที่ไม่ทำลายโดยตรงก็มีมาก แม่ปลาเมื่อมีอยู่ในบ่อก็แย่งอาหารของปลาที่เลี้ยงเป็นศัตรูทางอ้อม จึงควรกำจัดด้วย

๔. กบ เขียด ลูกปลาถูกทำลายโดยกบ เขียด ก็มีมาก จึงควรป้องกันกบ เขียดอย่าให้มีในบ่อ

๕. สัตว์เลื้อยคลาน ได้แก่ งู เต่า ตะพาบน้ำ เหี้ย และจระเข้ควรจับหรือยิงทำลายเสีย

๖. นก นกกินปลา นกกาน้ำ นกเป็ด นกกระทุง เหล่านี้กินปลาในบ่อ ป้องกันโดยใช้เชือกขึงขวางบ่อให้ถี่ หรือจับทำลายด้วยเครื่องดักและปืน

๗. สัตว์ดูดนม ได้แก่ นากและเสือปลา ก็ควรจับทำลายโดยใช้ปืนยิง

๘. ภัยธรรมชาติ จากลมฟ้าอากาศ เช่น ร้อนจัด หนาวจัด ขาดน้ำ น้ำเค็ม น้ำเสียเพราะแร่ธาตุเคมี อาจทำให้ปลาเป็นโรคหรือตายได้ก็ควรแก้ไข เช่น เปลี่ยนน้ำใหม่

๙. พิการแต่กำเนิด เช่น ปากเบี้ยว มีครีบไม่ครบ และตัวคดควรคัดออก

๑๐. บาดเจ็บ บาดแผลที่ปลาได้รับจากการต่อสู้ป้องกันตัวหรือจากการจับของผู้เลี้ยงก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ปลาไม่เติบโตหรือตายไป ทำให้การเลี้ยงปลาไม่ได้ผล ควรคัดออกรักษาพยาบาล

วิธีกำจัดศัตรู เช่น โรคพยาธิบางอย่าง รวมทั้งศัตรูพวกหอย ปลาและลูกกบ เขียด ควรใช้โล่ติ๊น อัตราส่วน ๑ ก.ก. ต่อน้ำ ๑๐ ลูกบาศก์เมตร ทุบให้ละเอียด แล้วแช่น้ำ ๑ ปีบ ให้ยางโล่ติ๊นละลายดีแล้วเทลงในบ่อหรือจะสับโล่ติ๊นทิ้งลงในบ่อเลยก็ได้ นอกจากนี้ควรใช้ปูนขาวโรยพื้นบ่อด้วย ใช้ปูนขาว ๖ ก.ก. ต่อเนื้อที่บ่อ ๕๐ ตารางเมตร เมื่อศัตรูของปลาตายหมดสิ้นแล้วจึงปล่อยน้ำออกแล้วใส่น้ำใหม่เก็บไว้ประมาณ ๗ วันแล้วตากบ่ออีกครั้งหนึ่ง

ในการป้องกันน้ำเสีย ควรระวังอย่าใส่ปุ๋ยมากเกินไปและอย่าให้มีเศษหญ้า เศษอาหาร ทับถมหมักหมมอยู่ก้นบ่อเกินควร ส่วนเศษอาหาร มูลสัตว์และเศษมูลที่อยู่ใกล้บ่อก็ควรกำจัดทำความสะอาดเสีย อย่าให้น้ำฝนชะพัดพาลงบ่อมากเกินต้องการจะทำให้น้ำเสียเช่นกัน

การขุดบ่อล่อปลา
การขุดบ่อล่อปลาทำได้ง่ายกว่าการเลี้ยงปลา การล่อปลาอาศัยบ่อที่ขุดขึ้นเป็นเครื่องล่อจับปลาทุกชนิดที่เข้าบ่อ เมื่อน้ำท่วมทุ่ง ปลาก็จะเข้าบ่อ ครั้นน้ำลดปลาที่ตกค้างอยู่ก็ถูกจับเป็นอาหารประจำครัวเรือนและสินค้า เป็นอาชีพที่ช่วยให้ร่ำรวยได้ดียิ่งของผู้ที่อาศัยอยู่ในที่ลุ่มใกล้ทางน้ำ เช่นในอำเภอบางพลี บางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ สำหรับผู้ที่ไม่สามารถเลี้ยงปลาก็ควรขุดบ่อล่อปลาบ้าง

วิธีขุดบ่อล่อปลามีดังนี้
๑. เลือกที่อยู่ใกล้แม่น้ำหรือคูคลองที่มีน้ำขึ้นถึงเสมอ
๒. ขุดเป็นบ่อจะเป็นขนาดใดก็ได้ บ่อใหญ่ก็ได้ปลามากขึ้น บ่อควรเป็นสี่เหลี่ยมลึก ๒ เมตร
๓. ทำทางน้ำ ๑ หรือ ๒ ทางให้ติดต่อกับแหล่งน้ำ ให้ลึกพอส่งน้ำเข้าบ่อได้สะดวก

๔. ปักกิ่งไผ่เป็นกร่ำ หรือปลูกผักหญ้า เช่น ผักบุ้งและผักกะเฉดไว้ในบ่อให้เป็นที่ปลาเข้าอาศัย
๕. เมื่อปลาเข้าอยู่แลวจะให้อาหาร เช่น ข้าวสุก รำ และเศษอาหารบ้าง ก็เป็นการล่อให้ปลาเข้ามากขึ้น
๖. ครั้นถึงฤดูน้ำ ปลาต่างๆ ที่วางไข่แล้วหรือจะวางไข่เข้าบ่อตกค้างจะจับขายก็ปิดทางน้ำเสีย แล้ววิดจับแต่ปลาใหญ่ปลาเล็กจะขังเลี้ยงต่อไปก็ได้

การขุดบ่อล่อปลา ถ้าเป็นที่ชายทะเลก็จะได้ทั้งกุ้งและปลาทะเล บางแห่งได้กุ้งมากกว่าปลา

ประโยชน์จากการเลี้ยงปลาในนา
๑. ชาวนาสามารถใช้ประโยชน์จากผืนนาได้เต็มที่ ตามปกติในผืนนาจะมีอาหารธรรมชาติซึ่งได้แก่พืชและสัตว์เล็กๆ ทั้งที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าและที่ปรากฏอยู่ทั่วไปอย่างอุดมสมบูรณ์ อาหารธรรมชาติเหล่านี้ตามปกติแล้วมิได้มีการใช้ประโยชน์แต่อย่างใด ยิ่งถ้าหากชาวนาทำนาตามแบบที่ทางราชการแนะนำ คือมีการใส่ปุ๋ยในแปลงนาด้วยแล้ว อาหารธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์อยู่ดังกล่าวแล้วก็จะยิ่งสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น แต่อาหารธรรมชาติอันมีประโยชน์นี้ถูกทอดทิ้งโดยมิได้ใช้ประโยชน์แต่อย่างใด หากชาวนาสนใจหันมาเลี้ยงปลาในนาข้าว ปลาที่เลี้ยงก็จะสามารถใช้อาหารธรรมชาติอันเป็นอาหารของปลาโดยเฉพาะให้เป็นประโยชน์อย่างคุ้มค่า โดยเปลี่ยนเป็นอาหารจำพวกโปรตีนในสภาพของเนื้อปลาให้แก่เจ้าของนาและผู้เลี้ยงตลอดจนอาจเพิ่มรายได้ให้อีกด้วย

๒. ปลาช่วยกำจัดวัชพืช ชาวนาย่อมตระหนักดีถึงความยุ่งยากในการกำจัดวัชพืชที่ขึ้นรกในแปลงนาในระหว่างทำนา วัชพืชจะแย่งอาหารของต้นข้าว ทำให้ต้นข้าวเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่ นาจะให้ผลผลิตต่ำ ชาวนาจะต้องเสียทั้งเวลา และทั้งเหน็ดเหนื่อยในการกำจัดวัชพืชดังกล่าว หากมีการเลี้ยงปลาในนาข้าวแล้ว ปลาจะช่วยกำจัดโดยกินวัชพืชนานาชนิดในแปลงนาเป็นอาหาร โดยชาวนาไม่ต้องเหนื่อยยากอีกด้วย

๓. ปลาช่วยกำจัดศัตรูของต้นข้าว หนอนและตัวอ่อนของแมลงทั้งที่ยังดำรงชีวิตอยู่ในน้ำและที่ร่วงหล่นลงไปในนาอันเป็นศัตรูร้ายแรงของต้นข้าวจะกลับเป็นอาหารวิเศษสุดของปลา

๔. ปลาช่วยพรวนดินในนา จากการที่ปลาว่ายน้ำวนเวียนในน้ำรอบๆ กอข้าวบนผืนนา การเคลื่อนไหวของครีบและหางปลาจะช่วยพัดโบกมวลดินในผืนนามิให้ทับอัดแน่นอันเป็นเสมือนการพรวนดินให้แก่ต้นข้าว ซึ่งจะช่วยทำให้ต้นข้าวเจริญงอกงามขึ้นกว่าปกติ

๕. ปลาช่วยเพิ่มปุ๋ย มูลและสิ่งขับถ่ายจากปลาซึ่งประกอบด้วยธาตุไนโตรเจนอื่นๆ จะเป็นปุ๋ยโดยตรงสำหรับต้นข้าว

เลือกสถานที่
ผืนนาทุกแห่งมิใช่จะเหมาะสมสำหรับการเลี้ยงปลาในนาเสมอไป การเลี้ยงปลาในนาข้าว จึงมักจะมีอุปสรรคอยู่เสมอ โดยเฉพาะในเรื่องน้ำ เช่นในบางท้องที่อาศัยเฉพาะน้ำฝนหรือบางทีชาวนาไม่สามารถรักษาระดับน้ำในผืนนาไว้ในตลอดระยะเวลาที่ต้องการ ดังนั้นหากเพียงแต่นาที่จะเลี้ยงปลา สามารถเก็บกักน้ำในผืนนาไว้ให้ได้มากกว่าปกติเพียงประมาณ ๓๐ ซ.ม. เป็นอย่างน้อยตลอดฤดูกาลทำนาและทั้งสามารถควบคุมปริมาณน้ำโดยไม่ให้ท่วมผืนนาได้อีกด้วย แล้วนาแปลงนั้นก็สามารถที่จะเลี้ยงปลาในนาได้ผลดี จึงควรที่จะยึดหลักในการเลือกผืนนาให้มีสภาพดังนี้
๑. อยู่ใกล้แม่น้ำ ลำคลอง หรือคลองส่งน้ำชลประทาน
๒. ไม่เป็นที่ลุ่ม หรือที่ดอนเกินไป
๓. ดินควรเป็นดินที่มีคุณสมบัติเก็บน้ำได้หรือเป็นดินเหนียว
๔. อยู่ใกล้บ้าน สะดวกต่อการดูแลรักษา
๕. สามารถควบคุมปริมาณน้ำในผืนนาได้มากน้อยตามต้องการ

ขนาดของแปลงนา
จากผลของการทดลองปรากฏว่า แปลงนาที่มีขนาดประมาณ ๕ ไร่ เป็นแปลงนาที่มีขนาดเหมาะสมที่สุด ถ้าหากมีขนาดเล็กกว่านี้แล้วจะได้ผลไม่คุ้มค่าใช้จ่ายที่ต้องลงทุนและลงแรงไป

การเตรียมแปลงนา
การเตรียมแปลงนาเพื่อใช้เลี้ยงปลาในผืนนาไปด้วยนั้นควรเตรียมให้เสร็จก่อน ระยะที่เตรียมดินและไถคราด ฯลฯ โดยปฏิบัติตามระดับการดังนี้

๑. คันนา เสริมคันนาเดิมให้สูงกว่าระดับเดิมประมาณ ๕๐ ซ.ม. และต้องเสริมให้มั่นคงแข็งแรงพอที่จะเก็บกักน้ำให้สูงกว่าปกติอีกประมาณ ๓๐ ซ.ม. เป็นอย่างน้อย

๒. คูรอบนา ขุดคูภายในผืนนาให้กว้างประมาณ ๘๐ ซ.ม. และลึกประมาณ ๕๐-๘๐ ซ.ม. ทั้งนี้แล้วแต่สภาพของดินโดยขุดให้ลาดติดต่อกับคันนา ดินที่ได้จากการขุดคูภายในผืนนานี้ควรนำไปใช้เสริมคันนาให้ได้ขนาดและแข็งแรงตามความต้องการ คูรอบนานี้จะเป็นที่พักอาศัยของปลาตลอดฤดูทำนา

๓. บ่อรวมปลา  ตรงมุมใดมุมหนึ่งของแปลงนาที่ใกล้กับทางน้ำออกหรือเข้าและใกล้กับบ้านที่พักอาศัย ควรขุดเป็นบ่อสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดเล็ก กว้าง ๕ เมตร ยาว ๘ เมตร ลึกประมาณ ๑.๒๕ เมตร ทั้งนี้เพื่อให้เป็นที่พักอาศัยของปลาในขณะที่น้ำในนาอาจจะร้อนจัด หรือใช้เป็นที่หลบศัตรู นอกจากนี้ยังสะดวกในขณะที่จะจับปลาออกจากผืนนาหลังฤดูเก็บเกี่ยวแล้วอีกด้วย

๔. พันธุ์ข้าว ใช้พันธุ์ที่กรมการข้าวส่งเสริมในแต่ละถิ่น โดยเลือกใช้พันธุ์ข้าวที่สามารถอยู่ในคันนาได้นานวัน

หลังจากไถ คราด และปักดำ เสร็จเรียบร้อยแล้ว จากนั้นประมาณ ๑๐ วัน เมื่อเห็นว่าต้นข้าวแข็งแรงและรากยึดดินดีแล้ว จึงนำปลามาปล่อยลงเลี้ยง

พันธุ์ปลาที่ควรเลี้ยงในนาข้าว
พันธุ์ปลาที่ควรเลี้ยงในนาข้าวนั้น ได้แก่ ปลาไน ปลาสลิด เพราะปลาทั้งสองชนิดนี้เป็นปลาที่มีคุณสมบัติเหมาะสมแก่การเลี้ยงในนา คือ
๑. เลี้ยงง่าย
๒. เติบโตเร็ว
๓. อดทน
๔. หาพันธุ์ได้ง่าย
๕. สามารถวางไข่ได้ในผืนนา
๖. ไม่ทำลายต้นข้าวหรือผืนนา
๗. เนื้อมีรสดี
๘. ขายได้ราคา

นอกจากนี้ปลาไน และปลาสลิด ยังเป็นปลาที่สามารถใช้อาหารธรรมชาติ ซึ่งหมายถึงพืชและสัตว์เล็กๆ ที่อุดมสมบูรณ์ในผืนนาให้เป็นประโยชน์ได้มากที่สุดอีกด้วย

ขนาดและจำนวนของปลาที่จะปล่อยเลี้ยงในนาแปลงหนึ่งๆ นั้นควรใช้ปลาขนาดความยาว ๓-๕ ซ.ม. เพราะเป็นปลาขนาดที่จะเติบโตได้รวดเร็ว และพอที่จะอาศัยเลี้ยงตัว และหลบหลีกศัตรูได้ดี ทั้งปลาขนาดดังกล่าวเป็นขนาดที่สามารถขนลำเลียงไปได้ไกลๆ

จำนวนปลาที่ควรจะปล่อยลงเลี้ยงนั้น ควรปล่อยในอัตราที่เหมาะสมต่อเนื้อนา อย่าให้มากเกินไปหรือน้อยเกินไป หากมากเกินไปแล้วปลาจะเจริญเติบโตช้า เพราะปลาจะแย่งที่อยู่อาศัยและแย่งอาหารกันเอง ในเนื้อที่นา ๑ ไร่ ควรปล่อยปลาลงเลี้ยงประมาณ ๔๐๐-๖๐๐ ตัว

อาหารและการให้อาหาร
การเลี้ยงปลาในนาเป็นการคิดใช้อาหารธรรมชาติในผืนนาที่มีอยู่อย่างสมบูรณ์ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ปลาจะสามารถเลี้ยงตัวเองโดยเก็บกินอาหารธรรมชาติจากผืนนาดังนี้ การเลี้ยงปลาในนาจึงไม่ต้องให้อาหารแก่ปลา แต่หากผู้เลี้ยงปลารายใด ประสงค์จะให้ปลาที่เลี้ยงเจริญเติบโตรวดเร็วก็ควรที่จะให้อาหารสมทบ ซึ่งส่วนใหญ่ได้แก่อาหารจำพวกพืชและสัตว์ เช่นกากถั่ว พืชบางชนิดปลาป่นและเลือดสัตว์ผสมกันในอัตราที่เหมาะสม จากผลของการทดลองปรากฏว่าจะได้ผลเพิ่มเป็น ๑๐ เท่า เช่นจากที่คาดจะได้ ๒๐ ก.ก. เศษต่อไร่ จะเป็น ๒๐๐ ก.ก. เศษต่อไร่

การดูแลรักษา
การที่จะเลี้ยงปลาในนาข้าวให้ได้ผลดีนั้น ควรปฏิบัติดังนี้
๑. การใส่ปุ๋ย ปกตินาข้าวโดยทั่วๆ ไปมีการใส่ปุ๋ยเป็นประจำอย่างเพียงพออยู่แล้ว อาหารธรรมชาติจึงมีอย่างอุดมสมบูรณ์ ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปุ๋ยเพื่อเป็นการเลี้ยงปลาอีก แปลงนาที่เลี้ยงปลาด้วยนั้นการใส่ปุ๋ยควรจะระวังให้มาก โดยเฉพาะปุ๋ยวิทยาศาสตร์แล้ว ควรป่นให้ละเอียดและสาดให้ทั่วผืนนา

๒. ระดับน้ำ ควรจะรักษาระดับน้ำให้ท่วมผืนนาตลอดฤดูกาลทำนาก่อนระยะเก็บเกี่ยวอย่างน้อยประมาณ ๓๐ ซ.ม. ทั้งนี้ เพื่อปลาจะได้หากินบนผืนนาได้ทั่วถึง

๓. ศัตรู โดยทั่วๆ ไปได้แก่ปลาช่อน งู กบ เขียด และนกกินปลา ก่อนปล่อยปลาจึงควรกำจัดศัตรูภายในผืนนาออกให้หมดเสียก่อน และควรระมัดระวังโดยพยายามหาทางกำจัดศัตรูที่จะมาภายหลังอีกด้วย

๔. การฆ่าแมลง การใช้ยาฉีดฆ่าแมลงตามต้นข้าวนั้น ควรระวังให้มากเป็นพิเศษ เพราะยาฆ่าแมลงทุกชนิดเป็นอันตรายต่อปลา แม้แต่ใช้เพียงเล็กน้อยก็อาจทำให้ปลาถึงตายได้ หากจำเป็นจะต้องใช้ ควรใช้อัตราความเข้มข้นที่เจือจางพอที่จะไม่เป็นอันตรายแก่ปลา แต่ในกรณีที่ต้นข้าวเกิดโรคระบาดจำเป็นจะต้องฉีดยาฆ่าแมลง ควรจับปลาออกให้หมดเสียก่อน

ผลผลิตที่ได้
การเลี้ยงปลาในนาข้าวนั้น นอกจากจะได้ข้าวเป็นผลผลิตตามปกติแล้ว จากผลการทดลองค้นคว้าปรากฏว่านาข้าวที่เลี้ยงปลาด้วยจะได้ข้าวเพิ่มขึ้นจากปกติประมาณไร่ละเกือบร้อยละ ๓๐ และนอกจากนี้ยังจะได้ปลาอันเป็นผลพลอยได้เพิ่มอีกไร่ละประมาณ ๒๐ กิโลกรัมเศษ หรือกว่านั้น แต่ถ้าหากมีการให้อาหารสมทบด้วยแล้ว จะได้ปลาประมาณ ๑๐ เท่า

นอกจากนี้ การเลี้ยงปลาในนาเป็นอาชีพที่ชาวนาสามารถปฏิบัติได้เกือบตลอดปี เพราะนอกจากจะเลี้ยงปลาในนาในระยะที่ทำนาตามปกติแล้ว โดยหลังจากที่เก็บเกี่ยวข้าวในนาแล้วชาวนายังสามารถใช้ผืนนาเดิมนั้นเลี้ยงปลาในระยะหลังฤดูเก็บเกี่ยวได้อีก โดยระบายน้ำให้ท่วมผืนนาอย่างน้อยประมาณ ๓๐ ซ.ม. ตลอดระยะที่เลี้ยงปลา ผืนนาที่เคยถูกทอดทิ้งให้แห้งแล้งปราศจากประโยชน์ จะกลับกลายเป็นสภาพเป็นบ่อเลี้ยงปลาขนาดใหญ่ ซึ่งข้าวและวัชพืชบนผืนนาจะเปลี่ยนสภาพโดยเน่าสลายกลายเป็นอาหารอย่างดีและอุดมสมบูรณ์แก่ปลาเป็นการใช้ประโยชน์จากผืนนาอีกระยะหนึ่ง จนกว่าจะถึงฤดูทำนาปกติ

นอกจากการเลี้ยงปลาในนาร่วมกับการปลูกข้าวดังวิธีหารที่กล่าวแล้ว ชาวนาในบางท้องที่ยังได้นิยมดัดแปลงผืนนาใช้ในการเลี้ยงปลาแต่อย่างเดียวโดยเฉพาะ โดยไม่ปลูกข้าว วิธีการนี้เรียกว่าการทำนาปลา วิธีดำเนินการส่วนใหญ่คล้ายกับการเลี้ยงปลาในนาข้าว เพียงแต่พยายามเก็บกักน้ำในผืนนาให้ได้มากตลอดระยะที่เลี้ยง โดยไม่ปลูกข้าวเลยในผืนนานั้น ปลาที่นิยมเลี้ยงส่วนมากนิยมเลี้ยงปลาสลิด การเลี้ยงปลาตามวิธีการที่กล่าวมานี้ทำกันมากในแถบบริเวณ อำเภอบางพลี บางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นที่ๆ ค่อนข้างลุ่มและมีน้ำสมบูรณ์ โดยทำกันตั้งแต่ขนาด ๑๐ ไร่ ถึง ๓๐๐ ไร่ ผลผลิตปลาที่ได้นั้นมีผู้ได้ถึงไร่ละ ๑๐๐-๑๕๐ กิโลกรัม ซึ่งนับว่าได้ผลดีมาก ทำให้มีรายได้สูงกว่าการทำนาแต่อย่างเดียว การประกอบอาชีพด้วยการทำนาปลาดังกล่าวแล้วนี้นับวันกำลังเป็นที่สนใจมากยิ่งขึ้น

การเลี้ยงปลาในนาข้าวการเพิ่มประโยชน์สุขแก่พี่น้องชาวนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะสามารถช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนอาหารได้เป็นอย่างดี หรืออย่างน้อยที่สุดก็จะช่วยให้ชาวนามีการกินดีอยู่ดี กับทั้งจะเป็นการเสริมสร้างรายได้ของครอบครัวเพิ่มขึ้นอีกด้วย ยิ่งกว่านั้นยังสามารถให้ชาวนาคิดใช้ผืนนาในฤดูทำนาให้เกิดประโยชน์เต็มที่และแม้แต่หลังฤดูเก็บเกี่ยวแล้วชาวนายังจะสามารถใช้ผืนนาให้เป็นประโยชน์ด้วยการเลี้ยงปลาได้อีก จึงควรที่พี่น้องชาวนาจะได้ริเริ่มดัดแปลงผืนนาของตนให้เกิดประโยชน์สุขแก่ครอบครัว อันเป็นการช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้พัฒนาการยิ่งๆ ขึ้นไป

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี