วิธีกระจายคำ

Socail Like & Share

วิธีกระจายคำ คือ วิธีแยกเนื้อความออกเป็นคำๆ แล้วบอกชนิด บอกระเบียบต่างๆ เช่น บุรุษ ลึงค์ พจน์ ฯลฯ และบอกหน้าที่เกี่ยวข้องของคำนั้นๆ ตามที่เรียนมาแล้ว วิธีนี้เป็นประโยชน์ในการฝึกหัดความสังเกตให้แม่นยำยิ่งขึ้น และบำรุงความคิดที่จะพิจารณาหาหลักฐานวินิจฉัยถ้อยคำดีมาก เพราะฉะนั้นครูควรจะฝึกหัดให้นักเรียนกระจายคำให้มากๆ ถึงแม้จะเรียนยังไม่จบ ก็ผ่อนให้กระจายเฉพาะแต่ข้อที่ได้เรียนแล้ว หรือจะเลือกให้กระจายเฉพาะเป็นคำๆ ก็ได้ เบื้องต้นต้องระวังอย่างให้ยากเกินไป ค่อยผ่อนให้ยากและละเอียดขึ้นเป็นลำดับ ต่อเมื่อนักเรียนได้เรียนจบบริบูรณ์ จึงให้ฝึกหัดกระจายละเอียดเต็มที่ตามตัวอย่างต่อไปนี้ ข้อสำคัญเมื่อก่อนกระจาย ควรให้นักเรียนสังเกตหน้าที่เกี่ยวข้องของคำนั้นๆ เสียก่อน แล้วจึงลงมือกระจาย

ตัวอย่างที่ ๑
“นกน้อยทำรังแต่พอตัว”
นก เป็น สามานยนาม บุรุษที่ ๓ อลึงค์ อพจน์ เป็นกรรตุการกของกริยา “ทำ”

น้อย เป็น ลักษณวิเศษณ์ ประกอบคำ “นก”

ทำ เป็น สกรรมกริยา นิเทศมาลา อนุตกาล เป็น กรรตุวาจกของ “นก”

รัง เป็น สามานยนาม บุรุษที่ ๓ นปุงสกลึงค์ อพจน์ เป็นกรรมการกของกริยา “ทำ”

แต่ เป็น นิยมวิเศษณ์ทำหน้าที่บุพบทนำหน้าคำ “พอ” ประกอบกริยา “ทำ”

พอ เป็น ประมาณวิเศษณ์ ทำหน้าที่อกรรมกริยา สภาวมาลาประกอบ “รัง”

(กับ) ตัว เป็น สามานยนาม บุรุษที่ ๓ นปุงสกลึงค์ อพจน์ เป็นวิเศษณการก ประกอบ “พอ”

ตัวอย่างที่ ๒
“ชาววังนั่งในห้อง ชักจ้องหน่องดังโหนงเหน่ง”
ชาววัง เป็น สามานยนาม บุรุษที่ ๓ อลึงค์ อพจน์ เป็น กรรตุการกของกริยา “นั่ง”

นั่ง เป็น อกรรมกริยา นิเทศมาลา อนุตกาล เป็น กรรตุวาจกของ “ชาววัง”

ใน เป็น บุพบท นำหน้า “ห้อง” บอกสถานที่

ห้อง เป็น สามานยนาม บุรุษที่ ๓ นปุงสกลึงค์ อพจน์ เป็น วิเศษณการก บอกสถานที่ของกริยา “นั่ง”

ชัก เป็น สกรรมกริยา นิเทศมาลา อนุตกาล เป็น กรรตุวาจกของ “ชาววัง” เป็นกริยารองของกริยา “นั่ง”

จ้องหน่อง เป็น สามานยนาม บุรุษที่ ๓ นปุงสกลึงค์ อพจน์ เป็น กรรมการกของกริยา “ชัก”

ดัง เป็น ลักษณะวิเศษณ์ ประกอบกริยา “ชัก”

โหน่งเหน่ง เป็น อุทานบอกอาการ

ตัวอย่างที่ ๓
“ตาสีผู้ใหญ่บ้าน กำลังนั่งทำกรงนกสีชมพูให้หลานแกเล่น”
ตา เป็น สามานยนาม บุรุษที่ ๓ ปุลลึงค์ เอกพจน์ เป็น กรรตุการกของกริยา “กำลังนั่ง”

สี เป็น วิสามานยนาม บุรุษที่ ๓ ปุลลึงค์ เอกพจน์ เป็น วิกัติการกของคำ “ตา” บอกชื่อเฉพาะ

ผู้ใหญ่บ้าน เป็น สามานยนาม บุรุษที่ ๓ ปุลลึงค์ เอกพจน์ เป็น วิกัติการกของ “ตาสี” บอกตำแหน่ง

กำลัง เป็น กริยานุเคราะห์ ช่วยกริยา “นั่ง” บอกปรัตยุบันกาล

นั่ง เป็น อกรรมกริยา นิเทศมาลา ปรัตยุบันกาล เป็น กรรตุวาจก ของ “ตาสี”

ทำ เป็น สกรรมกริยา นิเทศมาลา ปรัตยุบันกาล เป็น กรรตุวาจก ของ “ตาสี” เป็นกริยารองของกริยา “นั่ง”

กรง เป็น สามานยนาม บุรุษที่ ๓ นปุงสกลึงค์ อพจน์ เป็น กรรมการกของกริยา “ทำ”

นก เป็น สามานยนาม บุรุษที่ ๓ อลึงค์ อพจน์ เป็น วิเศษณการก บอกความเป็นเจ้าของ

สีชมพู เป็น สามานยนาม บุรุษที่ ๓ อลึงค์ อพจน์ เป็น วิกัติการกของ “นก” บอกชนิดย่อย

ให้ เป็น กริยานุเคราะห์ ช่วยกริยา “เล่น” ให้เป็น การิตกรรตุวาจก

หลาน เป็น สามานยนาม บุรุษที่  ๓ อลึงค์ อพจน์ เป็น การิตการกของกริยา “ให้-เล่น”

แก่ เป็น บุรุษสรรพนาม บุรุษที่ ๓ ปุลลึงค์ เอกพจน์ เป็น วิเศษณการก บอกความเป็นเจ้าของ

เล่า (กรง) เป็น สกรรมกริยา นิเทศมาลา อนุตกาล เป็น กรรตุวาจกของ “หลาน”

ตัวอย่างที่ ๔
“พระเสด็จโดยแดนชล ทรงเรือต้นงามเฉิดฉาย”
พระ เป็น บุรุษสรรพนาม บุรุษที่ ๓ ปุลลึงค์ อพจน์ เป็น กรรตุการกของกริยา “เสด็จ” เป็นราชาศัพท์ แทนชื่อพระราชา

เสด็จ เป็น อกรรมกริยา นิเทศมาลา อนุตกาล เป็น กรรตุวาจกของ “พระ” เป็นราชาศัพท์สำหรับพระราชา

โดย เป็น บุพบทนำหน้าวิเศษณการก บอกสถานที่

แดน เป็น สามานยนาม บุรุษที่ ๓ นปุงสกลึงค์ อพจน์ เป็น วิเศษณการก บอกสถานที่

ชล เป็น สามานยนาม บุรุษที่ ๓ นปุงสกลึงค์ อพจน์ เป็น วิเศษณการก บอกความเป็นเจ้าของ

ทรง เป็น สกรรมกริยา นิเทศมาลา อนุตกาล เป็น กรรตุวาจกของ “พระ” เป็นกริยารองของ “เสด็จ” และเป็นราชาศัพท์สำหรับพระราชา

เรือ เป็น สามานยนาม บุรุษที่ ๓ นปุงสกลึงค์ อพจน์ กรรมการกของกริยา “ทรง”

ต้น เป็น ลักษณวิเศษณ์ ประกอบ “เรือ” เป็นราชาศัพท์สำหรับพระราชา

งาม เป็น ลักษณวิเศษณ์ ประกอบ “เรือ”

เฉิดฉาย เป็น ลักษณวิเศษณ์ ประกอบ “งาม”

ที่มา:พระยาอุปกิตศิลปสาร