พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวันถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้า

Socail Like & Share

วันถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้าเป็นคำที่บุคคลทั่วไปใช้ แต่ตามศัพท์ของพุทธศาสนาหรือฝ่ายสงฆ์ เรียกว่า วันอัฏฐมีบูชา คือการบูชาในดิถีที่ ๘ ซึ่งเป็นวันแรม ๘ คํ่า วันอัฏฐมีบูชาเดือน ๖ ตามจันทรคติ การที่มีประเพณีบูชาในวันนี้เพราะพระพุทธเจ้าเสด็จสู่พระปรินิพพานเมื่อวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ บรรดาพระอรหันตสาวกและมัลละกษัตริย์ได้มีการบำเพ็ญกุศลถวายตลอดมาจนครบ ๗ วัน ครั้นถึงวันที่ ๘ เป็นดิถีอัฏฐมี จึงเชิญพระบรมศพแห่ไปประดิษฐาน ณ มกุฎพันธเจดีย์ แล้วเตรียมการถวายพระเพลิง

ในตำนานกล่าวว่าพระอานนท์อรหันตสาวกได้ชี้แจงแก่มัลละกษัตริย์ให้ทราบว่า พระบรมศพพระพุทธเจ้าห่อด้วยผ้าเนื้อดี ๒ ชั้น แล้วเอาด้ายมัดพันให้แน่น และเอาผ้าห่อหุ้มพระบรมศพอีกว่ามีถึง ๕๐๐ ชั้น เสร็จแล้วเชิญพระบรมศพลงสู่หีบทอง โปรยปรายด้วยเครื่องหอมนํ้าหอมแล้วครอบด้วยหีบทองอีกชั้นหนึ่ง แห่เชิญไปประดิษฐานในพระจิตกาธารทำด้วยไม้แก่นจันทน์ ครั้นได้เวลาถวายพระเพลิงมัลละ กษัตริย์ ๔ พระองค์ก็เชิญไฟเข้าไปจุดแต่ปรากฏว่าไฟไม่ติด จึงตรัสถามพระอนิรุทธพุทธสาวกก็ได้ทราบว่าเทพยดาที่รักษาพระบรมศพปรารถนาจะให้คอยพระมหากัสสปพุทธสาวกผู้เป็นใหญ่ก่อน ในวันนั้นคือวันอัฏฐมี ๘ คํ่า เดือน ๖ พระมหากัสสปพร้อมด้วยพระภิกษุ ๕๐๐ รูปเดินทางมาจะเฝ้าพระพุทธเจ้าก็ได้ทราบว่าพระพุทธเจ้าได้เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว ๗ วัน และในวันนี้จะได้ถวายพระเพลิงพระบรมศพ ต่างก็โศกเศร้าเมื่อระงับความโศกเศร้าแล้วก็รีบเดินทางไปยังพระจิตกาธารที่ประดิษฐานพระบรมศพถวายสักการบูชา พระมหากัสสปได้กล่าวสรรเสริญพระพุทธคุณและอาลัยถวายสักการะ ณ ปลายพระบาท เสร็จแล้วพระเพลิงก็พวยพุ่งขึ้นบนเชิงตะกอนพระจิตกาธารเป็นการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีรฌาปนกิจ

ดังนั้นพุทธศาสนิกชนจึงถือเป็นประเพณีเมื่อถึงวันแรม ๘ คํ่า เดือน ๖ ดิถีอัฏฐมีบูชาซึ่งเป็นวันคล้ายวันถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้า คือหลังจากการพระราชกุศลวิสาขบูชาแล้ว ๘ วัน การบำเพ็ญกุศล มีแสดงพระธรรมเทศนาและเวียนเทียนบูชาพระรัตนตรัยทุกวัด

ส่วนการพระราชกุศลของหลวงนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชอุทิศเทียนรุ่ง บูชาพระรัตนตรัยพระอารามละ ๒ เล่ม พร้อมด้วยเทียนเดินสำหรับเวียนเทียนพระอารามละ ๓๐๐ เล่ม และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชวงศ์เสด็จไปทรงจุดเทียนรุ่งและถวายเทียนแด่เจ้าอาวาส ตามที่ทรงพระราชอุทิศไว้ ณ พระอารามหลวง ๗ อาราม คือ
๑. วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
๒. วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม

๓. วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม
๔. วัดบวรนิเวศวิหาร
๕. วัดนิเวศธรรมประวัติ
๖. วัดบรมนิวาส
๗. วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

ที่มา:กรมศิลปากร