วรรณคดีในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕

Socail Like & Share

เรื่องเงาะป่า
ในรัชกาลนี้ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๑๑-๒๔๕๓ ในวงศ์วรรณคดีได้เจริญขึ้นเรื่อยๆ ในรัชกาลนี้มีการจัดตั้งโรงเรียนเพื่อศึกษาวรรณคดี คือมีผู้อ่านวรรณคดีกันมาก โรงเรียนเกิดในพระบรมมหาราชวังได้แก่ โรงเรียน
ตำหนักสวนกุหลาบ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๔ และได้ใช้ตำราเป็นร้อยแก้วมากขึ้น

ใน พ.ศ. ๒๔๔๘ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งหอสมุดวชิรญาณขึ้น โดยรวบรวมตำหรับตำราต่างๆ มาจัดไว้เป็นหมวดหมู่เพื่อการค้นคว้าศึกษา ภายหลังได้รวมเข้ากับหอสมุดมณเฑียรธรรม และหอสมุดพุทธสังคหะ จัดเป็นหอสมุดแห่งพระนคร

ใน พ.ศ. ๒๔๕๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งโบราณคดีสโมสร เพื่อรวบรวมหลักฐานทางประวัติศาสตร์ วรรณคดี และได้ออกหนังสือเผยแพร่ขึ้นเรียกว่า หนังสือวชิรญาณ ลงพิมพ์วรรณคดีสมัยใหม่ และ สมัยเก่าที่อ่านยาก เผยแพร่แก่ประชาชน

นอกจากนี้ ยังได้สร้างพจนานุกรม ซึ่งนับว่าได้ประโยชน์สำคัญเกี่ยวกับภาษาไทย ทั้งใหม่และเก่ามาก

พระราชพิธีสิบสองเดือน
พระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ ๕ ลักษณะเป็นร้อยแก้ว

ได้กล่าวถึงพระราชพิธีต่างๆ อันเป็นประเพณีไทยทั้ง ๑๒ เดือน ตั้งแต่เดือน ๑๒ จนถึงเดือน ๑๑ ทั้งพระราชประเพณีที่ยังคงกระทำอยู่และที่เลิกไปแล้ว อย่างครบถ้วน เริ่มตั้งแต่เดือน

เดือน ๑๒ มีพิธีพระราชพิธีจองเปรียง พระราชพิธีกะติเกยา พระราชกุศลฉลองไตรปี พระราชพิธีลอยพระประทีป พระราชกุศลกาลานุกาล การพระราชกุศลแจกเบี้ยหวัด การพระราชพิธีฉัตรมงคล

เดือนอ้าย พระราชพิธีไล่เรือ พิธีเฉวียนพระโคเลี้ยงครั้งกรุงเก่า การพระราชกุสลเลี้ยงขนมเบื้อง การพระราชกุศลเทศนามหาชาติ

เดือนยี่ พระราชพิธีบุษบาภิเษก พระราชพิธีตรียัมพวาย ตรีปวาย พระราชกุศลถวายผ้าจำนำพรรษา

เดือน ๓ พิธีธานยเพาะห์ผ้าขาว พิธีศิวาราตรี การพระราชกุศล มาฆบูชา การพระราชกุศลเลี้ยงพระตรุษจีน

เดือน ๔ พิธีรดเจตร พิธีตรุษ พระราชพิธีสัมพัจฉรฉินทร พระราชกุศลกาฉานุกาล

เดือน ๕ พระราชพิธีศรีสัจจปานกาล พระราชพิธีคเชนทร์ศวสนาน พิธีทอดเชือกตามเชือก พิธีสงกรานต์ การพระราชกุศลก่อพระทราย และตีข้าวบิณฑ์

เดือน ๖ พระราชพิธีพืชมงคล แฉะพิธีจรดพระนังคัล
พระราชพิธีวิสาขบูชา

เดือน ๗ พระราชพิธีเคณฑะทิ้งข่าง พระราชพิธีทูลน้ำล้างพระบาท การพระราชกุศลหล่อเทียนพรรษา

เดือน ๘ พระราชพิธีเข้าพรรษา การพระราชกุศลฉลองเทียนพรรษา การพระราชกุศลเสด็จถวายพุ่ม

เดือน ๙ พิธีตุลาภาร พระราชพิธีพรุณศาสตร์ พระราชกุศลวันประสูติ และสวรรคต สมเด็จพระบุรพการี

เดือน ๑๐ พระราชพิธีสารท พิธีกวนข้าวทิพย์ พระราชกุศลกาลานุกาลพระราชกุศลตักบาตรน้ำผึ้ง พระราชพิธีเฉลิมพระชนม์พรรษา พระราชกุศลปล่อยปลา

เดือน ๑๑ การอาษยุธ พิธีแข่งเรือสมรรถชัย และเรือไกรสมุทร สมโภชพระยาช้างเผือก

เป็นวรรณคดีที่ยกย่องว่า เป็นยอดของความเรียงเชิงอธิบาย ให้ประโยชน์ทั้งทางด้านโบราณคดี พระราชพิธีต่างๆ ใช้คำง่าย ชัดเจน ละเอียดถี่ถ้วน ให้ความรู้เป็นอย่างมาก

โคลงนิราศเมืองกาญจน์
โคลงนิราศเมืองกาญจน์นี้ รัชกาลที่ ๕ ทรงพระราชนิพนธ์ในนามของท้าวสุภัติการภักดี ทรงพระราชนิพนธ์ขณะที่เสด็จประพาสมณฑลราชบุรี ทรงบรรยายถึงการเดินทางทั้งทางเรือและทางบก เริ่มด้วยร่าย ๑ บท และโคลงสี่สุภาพ ๑๒๔ บท

ประโยชน์ ได้รับความรู้ในด้านภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ โบราณคดี วรรณคดี ขนบประเพณีของประชาชนในถิ่นนั้น บางโคลงก็เลียนแบบนักกวีรุ่นก่อน เช่น เลียนแบบนิราศนรินทร์ เลียนแบบเจ้าฟ้ากุ้ง กำสรวลศรีปราชญ์ เช่น

เลียนแบบกำสรวลศรีปราชญ์
โฉมแม่จักฝากไว้         แห่งใด  ดีฤา
ฝากกับใครฤาใคร        จักเว้น
ฟ้าดินพี่ตรวจไตร        ดูหมด มาแม่
โฉมแม่ชอบแต่เร้น        อยู่ห้องนฤพาน

เลียนแบบนิราศนรินทร์
แถลงปางบำราศเจ้า         จากเวียง
แสนเสนาะสำเนียง        นุชพร้อง
หนักทรวงพี่หนักเพียง        เทคว่ำ ลงแม่
จำจิตจำละน้อง            นาฎไว้เนาวัง

เลียนแบบเจ้าฟ้ากุ้ง
รอนรอนสุริยเยื้อง        สายัณห์
เรืองเรื่อรัศมีจันทร์        แจ่มฟ้า
รายรายพระพายผัน        พัดเมฆ หมดเฮย
เรื่อยเรื่อยดาเรศกล้า        เคลื่อนคล้อยหาโพยม

ที่ว่าพระราชนิพนธ์ในนามของ ท้าวสุภัติการภักดี โดยโคลงบทหนึ่งว่า
ร่ำเรืองนิราศให้            หาศรี
ท้าวสุภัติการภักดี        กล่าวอ้าง
แสดงศักดิ์สะสัตรี        ตรองตรึก ทำแฮ
ไร้เพื่อนภิรมย์อ้าง        รักเร้นแรมไกล

นอกจากนี้ก็ยังทรงเล่นคำได้อย่างไพเราะ เช่น
ห้วด้วนด่วนจากเจ้า        จำเป็น
ห้วยก็ด้วนดุจเห็น        หดห้วน
เห็นหาดหากคิดเย็น        ดูอก ดูนา
ดึงเด็ดสวาทถ้วน            ขาดด้วยด่วนมา

พระราชนิพนธ์ไกลบ้าน
รัชกาลที่ ๕ ทรงพระราชนิพนธ์ เป็นพระราชหัตถ์เลขาส่วนพระองค์ถึงเจ้าฟ้าหญิงนิภานพดล ซึ่งเป็นราชเลขานุการิณีในพระองค์ รวม ๔๓ ฉบับ ต่อมาเรียกว่า “ไกลบ้าน” ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อครั้งเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๔๙

เป็นพระราชหัตถ์เลขา บันทึกเรื่องราวต่างๆ ด้วยคำพรรณนาแจ่มแจ้งละเอียดชัดเจน ให้ความรู้ในด้านขนบประเพณีของบ้านเมืองต่างๆ ตลอดทั้งความรู้ทางภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ของบ้านเมืองที่พระองค์ทรงพบเห็นมา เป็นภาษาง่ายๆ อ่านเข้าใจได้ดี ดังเช่น

“เมื่อคืนนี้ถึงเสียยังรุ่ง นอนไม่หลับ มาหลับต่อเช้าสุด แต่พอเผลอๆ ลงไปก็ถึง มีความเสียใจที่จะตื่นขึ้น รู้ว่ากำหนดที่จะถึงนั้นเลื่อนออกไปอีกชั้นหนึ่ง แต่ถึงจะเลื่อนออกไปเท่าไดก็ไม่ประหลาดใจ เพราะไม่เคยเชื่อกำหนดที่เคยบอกแต่รักครั้งเดียว ความแน่ใจยินอยู่เสียว่าจะถึงต่อวันที่ ๗ เขาบอกอะไรก็ฟังไปกระนั้นเอง เพราะไม่เห็นแน่สักทีเดียว…”

พระราชวิจารณ์
เป็นบทพระราชนิพนธ์ วิจารณ์เกี่ยวกับจดหมายเหตุของเก่าฉบับหนึ่ง ซึ่งหอสมุดวชิรญาณได้นำทูลเกล้า ฯ ถวาย พระองค์เห็นว่าเป็นเรื่องที่มีหลักฐานสำคัญ เป็นบันทึกความจำเกี่ยวกับเหตุการณ์บ้านเมืองตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์

ทรงพระราชนิพนธ์เป็นร้อยแก้ว อธิบายข้อความในจดหมายเหตุเพื่อประโยชน์ในด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี นับว่าเป็นวรรณคดีที่มีประโยชน์เรื่องหนึ่ง

บทละครเรื่องเงาะป่า
เป็นบทพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ ๕ ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๙ เพื่อเป็นที่สำราญพระราชหฤทัย เนื่องจากทรงพระประชวร ประกอบพระราชกรณียกิจอื่นไม่ได้ เป็นบทละดรที่มี รัก โศก ผจญภัย โดยนำเอาเค้าโครงจากเงาะชาวพัทลุง    และภาษาเงาะจากนายคนัง เงาะมหาดเล็ก

ประโยชน์ นอกจากจะใช้เป็นบทละครแล้ว ยังได้ประโยชน์ ในการรู้จัก วัฒนธรรม ประเพณีของเงาะ มีคติ ตลก ขบขัน

เค้าเรื่อง นายคนังเงาะกำพร้า ได้ชวนไม้ไผ่ เพื่อนเงาะไปเที่ยวป่าพบซมพลาเงาะหนุ่มซึ่งหลงรักลำหับ พี่สาวของไม้ไผ่ ได้สอนวิชาเป่าลูกดอกให้
ไม้ไผ่ รับอาสาเป็นพ่อสื่อให้หนุ่มสาวทั้งสองได้พบ และรักกัน ครั้นถึงวันวิวาห์ของเฮนาคู่หมั้นของลำหับ ไม้ไผ่กับคนังได้พาลำหับหนีตามซมพลาไป เฮนามาพบซมพลาต่อสู้กัน ลำแก้วพี่ชายเฮนายิงซมพลาตาย ครั้นลำหับมาพบจึงฆ่าตัวตายตาม เฮนาเห็นดังนั้นก็เสียใจ
ฆ่าตัวตายบ้าง เรื่องจบเมื่อมีการฉลองรับขวัญคนัง ทรงใช้เวลาพระราชนิพนธ์เพียง ๘ วัน

กลอนและสำนวน สัมผัสได้ไพเราะ ทรงบรรยายให้เห็นเป็นภาพพจน์ เช่น
นั่งเหนือแผ่นผาที่หน้าถ้ำ         เท่ารานํ้าเอนอิงพิงพฤกษา
ตะวันชายฉายน้ำอร่ามตา         ตกตามซอกศิลาซ่ากระจาย
ที่น้ำอับลับช่องมองเห็นพื้น         ปลาน้อยน้อยลอยคืนอยู่แหล่หลาย
พ่นนํ้าฟูเป็นละอองต้องแมลงตาย ตกเรี่ยรายเป็นภักษาน่าเอ็นดู
ยามลมตกนกร้องซร้องแซ่เสียง     เสนาะเพียงลำนำเฉื่อยฉ่ำหู
ลำดวนดงส่งกลิ่นประทิ่นชู         นางโฉมตรูฟังเพลงวังเวงใจ

ลิลิตนิทราชาคริต
รัชกาลที่ ๕ ทรงพระราชนิพนธ์ จับเอาตอนท้าย นิยายอาหรับราตรี ทรงใช้เวลาพระราชนิพนธ์ทั้งหมด ๙   วัน พระราชนิพนธ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๒ เพื่อเป็นของขวัญวันขึ้นบีใหม่ แด่พระบรมวงศานุวงศ์ ได้จากเรื่อง The Sleeper a waken หนึ่งในจำนวนหลายเรื่องของนิยายอาหรับ

ลักษณะเป็นลิลิตสุภาพ กล่าวถึงการคบเพื่อนของอาบูหะซันพ่อค้าชาวแบกแดด ครั้งหนึ่งกาหลิบได้ปลอมพระองค์มากินเลี้ยงด้วย ได้ถูกลอบวางยาและพาไปเป็นกาหลิบ ๑ วัน วันรุ่งขึ้นเกิดสำคัญผิดคิดว่าเป็นกาหลิบจริง เพื่อนบ้านว่าบ้า จึงจับไปโรงคนบ้า เมื่อหายได้ถูกกาหลิบวางยาอีกครั้งหนึ่ง ในที่สุดจึงทราบความจริง ได้เป็นนายคลัง และได้คนโปรดของพระมเหสีเป็นภรรยา

ทั้งสองมีชีวิตฟุ่มเฟือยจนหมดตัว ได้ทำอุบายแกล้งตายไปหลอกกาหลิบและมเหสี ได้รับพระราชทานรางวัล ภายหลังกลับตัวได้ประพฤติความดี

เนื้อเรื่องเป็นประโยชน์ ตลกขบขัน ให้คติเตือนใจในการคบเพื่อนฝูง โวหารก็ไพเราะคมคาย เช่น
สุริยาเรื่องเรื่อพื้น         อัมพร แผ้วเอย
หวี่หวู่หมู่ภมร            มั่วร้อง
เชยกลํ้ากลีบเกสร        เสาวรส รวยนา
พรรณพิหคเหิรก้อง        เกริ่นเร้าระงมเสียง
คำเตือนใจ เช่น
เพื่อนกินสิ้นทรัพย์แล้ว        แหนงหนี
หาง่ายหลายหมื่นมี        มากได้
เพื่อนตายถ่ายแทนชี        วาอาตม์
หายากฝากผีไข้            ยากแท้จักหา

แบบเรียนภาษาไทย
พระยาสุนทรโวหาร (น้อย อาจาริยางกูล) เป็นผู้แต่งเป็นร้อยแก้ว เริ่มและจบด้วยโคลงสี่สุภาพ

ท่านเป็นชาวเมืองฉะเชิงเทรา ได้เข้ามาเรียนหนังสืออยู่วัดสระเกศ สอบไล่ได้เปรียญเอกหน้าพระที่นั่ง ในรัชกาลที่ ๓ เข้ารับราชการในรัชกาลที่ ๔ ในกรมพระอาลักษณ์ ครั้นถึงรัชกาลที่ ๕ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงสารประเสริฐ ได้แต่งแบบเรียนชุดมูลบทบรรพกิจ มี ๖ เล่ม คือ
๑. มูลบทบรรพกิจ
๒. วาห์นิติกร
๓. อักษรประโยค
๔. สังโยคพิธาน
๕. ไวยพจน์พิจารณ์ และ
๖. พิศาลการันต์

มูลบทบรรพกิจ
เป็นหนังสืออ่านขั้นต้นของเด็กนักเรียน กล่าวถึงพยัญชนะไทย
ไตรยางค์ สระ เครื่องหมายต่างๆ การแบ่งมาตราๆ นี้ เมื่อจบตอนใดก็จะนำกาพย์พระไชยสุริยามากล่าวสรุปคำอ่านนั้นๆ ทุกตอน

วาห์นิติกร
กล่าวถึงอักษรนำ ในลักษณะต่างๆ
อักษรประโยค
กล่าวถึงเรื่อง คำควบ ที่มาผสมกับพยัญชนะต้น
สำหรับประสมคำ ใช้ให้เต็มตามสำเนียงไทย

สังโยคพิธาน
กล่าวถึงตัวสะกดอย่างพิสดาร และตัวอย่างศัพท์ ในแม่ต่างๆ

ไวยพจน์พิจารณ์
เกี่ยวกับคำแปล คำพ้องเสียง คำพ้องรูป โดยยกศัพท์แปลไว้เป็นหมู่ๆ

พิศาลการันต์
เกี่ยวกับการเรียน การใช้ตัวการันต์

พรรณพฤกษากับสัตวาภิธาน
พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย) เป็นผู้แต่งขณะที่เป็นเจ้ากรมอาลักษณ์แต่งเป็นกาพย์ โคลงสี่สุภาพ และร้อยแก้ว เพื่อเป็นแบบเรียน โดยบรรยายชื่อต้นไม้ สัตว์นานาชนิด เสียงตามลำดับแม่ ก. กา จนถึงแม่ เกย

เป็นแบบเรียนที่ให้ความรู้ในเรื่องพฤกษาศาสตร์ สัตว์ศาสตร์ และให้ความเพลิดเพลิน ช่วยให้อ่านจำได้เร็ว
ตัวอย่าง เช่น
หมู่นกในแม่กบ        เข้าบรรจบสมทบกลอน
พิราบพิไรวอน        เหมือนหนึ่งว่าโศกาลัย
ตะขาบคาบตะขบ     คับแคพบแย่งขวักไขว่
ตะขาบแค้นขัดใจ    จิกคับแคแร่รนหนี
กระจาบไล่กระจิบ     บินลิบๆ เทียมเมฆี
กระจาบไล่จิกตี        กระจิบหนีลงดงดอน

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ นี้ วรรณคดีได้เจริญก้าวหน้าเรื่อยๆ โดยเฉพาะร้อยแก้ว ก็มีนักเขียนเกิดขึ้นหลายท่าน และมีผลงานที่ฝากไว้อีกมากมาย แม้แต่นักประพันธ์เอก เช่น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงริเริ่ม และมีบทบาทสำคัญต่อวรรณคดีไทย ในรัชกาลที่ ๕ นี้

ที่มา:โฆฑยากร