ลักษณะของข้อความ

Socail Like & Share

บทนี้ท่านอาจรู้สึกว่าเข้าใจยาก ฉะนั้น ขอให้อ่านด้วยความตรึกตรองระมัดระวัง จะคัดข้อความตอนหนึ่งจากเรื่อง รักษาชาติ ศาสนา ในหนังสือปลุกใจเสือป่า พระราชนิพนธ์ รัชกาลที่ ๖ ดังต่อไปนี้

๑. “คำว่า “ชาติ” นี้ ตามศัพท์เดิมแปลว่า ตระกูล หรือประเภทแห่งบุคคล เช่น ชาติพราหมณ์ คือ ตระกูลบุคคล ที่เป็นนักบุญติดต่อเนื่อง กันหลายๆ ชั่วคน ชาติกษัตริย์ คือ ตระกูลบุคคลที่เป็นนักรบตามกัน ดังนี้ เป็นต้น “ชาติ” ก็แปลตรงๆ ว่ากำเนิดเท่านั้น ชาติพราหมณ์ ก็คือเกิดมาเป็นพราหมณ์ ชาติกษัตริย์ก็คือเกิดมาเป็นกษัตริย์ ต่อมมาภายหลังไทยเราจึงมาใช้เรียกคณะชนที่อยู่รวมกันว่า ‘‘ชาติ” ซึ่งอันที่จริงก็ไม่ผิด เพราะคน “ชาติไทย” ก็คือเกิดเป็นไทย เกิดในหมู่ชนที่เรียกนามตนว่า “ไทย”

๒. ส่วนเหตุที่เราทั้งหลาย ควรจะรักชาติของเราอย่างไร ควรรู้สึกเป็นหน้าที่ต่อสู้ศัตรู เพื่อป้องกันรักษาชาติเราอย่างไร ควรกระทำหน้าที่ต่อชาติอย่างไร ไม่จำเป็นต้องมาอธิบายซ้ำอีก

๓. ภัยอันตรายที่จะเป็นเครื่องทำลายชาติอาจจะเกิดขึ้นและมีมาได้
ทั้งแต่ภายนอกทั้งที่ภายใน อันตรายที่จะมีมาแต่ภายนอกนั้น ก็คือข้าศึกศัตรูยกมาย่ำยีตีบ้านตีเมืองเรา การที่ข้าศึกศัตรูจะมาตีนั้น เขาย่อมจะต้องเลือกหาเวลาใดเวลาหนึ่ง ซึ่งชาติกำลังอ่อนอยู่ และมิได้เตรียมตัวไว้พร้อมเพื่อต่อสู้ป้องกันตน เพราะฉะนั้นในบทที่ ๒ ข้าพเจ้าจึงได้เตือนท่านทั้งหลายอย่างได้เผลอตัว แต่ข้อสำคัญที่สุด ซึ่งเป็นเครื่องทอนกำลัง และทำให้เสียหลักความมั่นคงของชาติ คือความไม่สงบภายในชาตินั่นเอง จึ่งควรอธิบายความข้อนี้สักหน่อย

๔. ความไม่สงบที่จะบังเกิดขึ้นภายในเมืองใด คงจะเป็นไปเพราะ
เหตุที่ราษฎรถูกกดขี่ และไม่ได้รับความยุติธรรมประการหนึ่ง……..ฯลฯ”
(ตัวเลขข้างหน้านั้น ได้เขียนกำกับไว้เพื่อสะดวกแก่การชี้แจง)

เมื่อท่านอ่านจบแล้ว จะเห็นได้ว่าข้อความที่ท่านอ่านนี้ ไม่ใช่เรื่อง บันเทิงคดี เป็นบทความ เป็นสารคดี ในฐานะที่ท่านจะบำเพ็ญตนเป็นนักเขียน ท่านอาจมีโอกาสเขียนเรื่องทำนองบทนำในหนังสือพิมพ์ เขียนบทความ สารคดีต่างๆ เขียนข่าว ฉะนั้น การศึกษาให้เข้าใจลักษณะของการเรียบเรียงข้อความ จึงเป็นสิ่งจำเป็น และแม้ในบันเทิงคดีในบางคราวก็ต้องเขียนเป็นข้อความดังกล่าวนี้เหมือนกัน

ให้สังเกตว่าตั้งแต่ข้อ ๑ ถึง ๔ มีย่อหน้า การย่อหน้านี้เรียกในภาษา ไวยากรณ์ว่ามหรรถสัญญา แปลว่า เครื่องหมายแสดงข้อความตอนหนึ่งๆ เมื่อเขียนจบข้อความตอนหนึ่ง ก็ต้องย่อหน้าครั้งหนึ่ง ตามตัวอย่างมีย่อหน้า ๔ แห่ง ก็คือ มีข้อความต่างๆ กันอยู่สี่ตอน

ท่านอ่านตอนเลข ๑ จะเห็นว่าความตอนนี้เกี่ยวกับเรื่องความหมาย ของคำว่า ชาติ ตอนเลข ๒ เท้าความที่ได้กล่าวมาแล้ว ตอนที่ ๓ กล่าว ถึงภัยของชาติ ตอนที่ ๔ กล่าวถึงความไม่สงบอันเป็นภัยอย่างหนึ่งของชาติ

ทั้ง ๔ ตอนนี้ ข้อความย่อมต่อเนื่องกัน และมีข้อความมุ่งที่จะให้ท่านเข้าใจถึงเรื่องรักชาติศาสนาอันเป็นหัวข้อของบทความบทนี้ ถ้าจะเปรียบก็เหมือนเรือน ส่วนใหญ่ที่ประกอบขึ้นเป็นเรือนก็คือ เสา พื้น ฝา หลังคา และสิ่งเหล่านี้ก็มีส่วนประกอบย่อยๆ ลงไปอีก บทความเรื่องหนึ่งย่อมประกอบด้วยข้อความหลายๆ ตอน ข้อความตอนหนึ่งย่อมประกอบด้วยประโยค ประโยคหนึ่งย่อมประกอบด้วยคำ เสา พื้น ฝา หลังคา เมื่อยังแยกกันอยู่ ก็จะเป็นรูปเรือนไม่ได้ฉันใด คำและประโยค ข้อความ ถ้าไม่เรียบเรียง ประกอบกันให้มีเนื้อความติดต่อกัน ก็จะเป็นบทความไม่ได้ฉันนั้น

ท่านได้ศึกษาเรื่อง คำ เรื่องประโยค มาแล้ว ในที่นี้ก็จะได้ศึกษา เรื่องการเรียบเรียงประโยคขึ้นเป็นข้อความ

ข้อความตอนหนึ่งๆ คือ ประโยค จะเป็นประโยคเดียวหรือหลาย ประโยคก็ได้ แสดงข้อความอย่างใดอย่างหนึ่งแต่เพียงอย่างเดียว

เช่นในตอนที่ ๑ กล่าวถึงเรื่องความหมายของชาติ ตอนที่ ๓ กล่าว ถึงภัยของชาติ ในการเรียบเรียงข้อความตอนหนึ่งๆ นั้น มีหลักดังนี้

ใจความ
เพื่อไม่ให้ท่านเข้าใจสับสน ขอให้สังเกตว่า บทความ คือ ตัวเรื่องๆ หนึ่ง ข้อความ คือเนื้อเรื่องตอนหนึ่งๆ ใจความ คือ จุดสำคัญของเรื่อง ในตอนที่ ๑ ตั้งแต่ “คำว่า ‘ชาติ’…ถึง… ‘ไทย” เป็นข้อความ ส่วนใจความ ก็คือ ความหมายของชาติ

เมื่อท่านมีใจความอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพูด ท่านจะต้องหาทางทำให้ คนเข้าใจ ซึ่งจะทำได้ดังนี้

ก. อธิบายความหมายของเรื่องที่จะพูด
ข. ยกตัวอย่างให้แลเห็น
ข้อ ก. และ ข. จะเห็นได้ในตอน ๑ คือ อธิบายคำว่า ชาติ พร้อมกับยกตัวอย่าง
ค. แสดงเหตุผลแห่งความคิดของท่าน
ง. อธิบายแจกแจงเรื่องให้ละเอียดออกไป
ข้อ ง. นี้ ท่านจะเห็นได้ในตอน ๓
จ. อ้างหลักฐานสนับสนุนความคิดของท่าน

ใจความ นี้เรียกในภาษาอังกฤษว่า Topic บ้าง Theme บ้าง ใน ข้อความตอนหนึ่งๆ ต้องมีประโยคสำคัญแสดงใจความที่ท่านต้องการพูด ประโยคนี้ท่านจะวางไว้ตอนต้น ตอนกลาง หรือตอนปลายก็ได้ แต่ที่ดีที่สุด คือ อยู่ตอนต้นของข้อความ เพราะดึงดูดความสนใจได้ดี ในตัวอย่าง ตอนหมายเลข ๑ และ ๓ ใจความของเรื่องอยู่ที่ประโยคแรกทั้งสองตอน ข้อความตอนหนึ่งๆ ต้องมีลักษณะ ๓ อย่าง คือ

๑. เอกภาพ (Unity)
ในข้อความตอนหนึ่งๆ เมื่อท่านจะพูดอะไรก็ให้พูดแต่เฉพาะเรื่องนั้นเรื่องเดียว ข้อความทุกอย่างจะต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องที่ท่านต้องการพูด เท่านั้น อย่างนี้เรียกว่า เอกภาพ ข้อความทุกตอนต้องมีเอกภาพ จึงจะนับว่า ดี วิธีที่ท่านจะตรวจว่า ข้อความที่ท่านเขียนมีเอกภาพหรือไม่นั้น ให้ถามตัวเองว่า ข้อความที่เขียนนั้นมีใจความสำคัญกี่อย่าง ถ้ามีแต่อย่างเดียวก็ เรียกว่ามี เอกภาพ

๒. สัมพันธภาพ (Coherence)
สัมพันธภาพ ได้แก่ความเกี่ยวเนื่องของประโยค ประโยคที่เขียนต้องมีความต่อเนื่องเท้าถึงกัน ท่านจะต้องรู้จักเรียงประโยคให้มีความคิดติดต่อ เป็นลำดับ อย่าให้สับสนกัน

การที่ข้อความจะเกี่ยวโยงกันได้นั้นโดยปกติเราใช้คำต่อซึ่งเรียกใน ไวยากรณ์ว่าคำสันธาน

๓. สารัตถภาพ (Emphasis)
สารัตถภาพ ได้แก่การเน้นใจความสำคัญ ในข้อความตอนหนึ่งๆ ย่อมประกอบด้วยใจความและพลความ ใจความนั้นเป็นสิ่งที่เราต้องการให้ ผู้อ่านเข้าใจชัดเจน ฉะนั้น อะไรที่เป็นใจความ เราต้องพูดสิ่งนั้นให้มาก ส่วนพลความกล่าวเฉพาะที่จำเป็น การที่เขากล่าวกันว่า พูดนํ้าท่วมทุ่ง ผักบุ้งโหรงเหรงนั้นคือ พูดพลความมากมายเกินสมควร ที่เป็นใจความมีนิดเดียว

อีกประการหนึ่ง ใจความต้องอยู่ในที่เด่น ในข้อความตอนหนึ่งที่เด่น คือ ตอนต้นกับตอนท้าย

เอกภาพ (Unity) สัมพันธภาพ (Coherence) สารัตถภาพ (Emphasis) สามอย่างนี้เป็นหลักสำคัญแห่งการเรียบเรียงข้อความตอนหนึ่งๆ แต่คำ สามคำนี้เป็นคำบัญญัติเฉพาะ เมื่อท่านอ่านคำอธิบายแล้ว บางท่านคงจะรู้สึกว่าเข้าใจยาก จึงขอยกตัวอย่างมาชี้ให้เห็นอีกอันหนึ่ง

ตัวอย่างนี้คัดมาจาก “เรื่องของนักเรียนเมืองอังกฤษ” ซึ่ง น.ม.ส. (กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์) ทรงนิพนธ์ไว้เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๙ แต่นับถือกันว่า เป็นความเรียงที่ดีเรื่องหนึ่ง

ก. ๑. เมืองเวนิสเป็นเมืองประหลาดเมืองหนึ่งในโลกนี้ คือเป็นเมืองที่มีคลองแทนถนนไปทุกแห่งทุกถนน ๒. คนบางจำพวกเขาว่ากรุงเทพฯ เรานี้เป็นเมืองเวนิสในทิศตะวันออก เพราะมีคลองมากเหมือนกัน ส่วนตัว ข้าพเจ้าเองนั้นจะได้เห็นกรุงเทพฯ เหมือนเมืองเวนิสมากกว่าเรือนยายกะตาในดวงพระจันทร์นั้นหามิได้ ถ้าจะเรียกกรุงเทพฯ ว่าเหมือนเมืองเวนิส เหตุต่างเมืองต่างมีคลองแล้ว จะเรียกกรุงเทพฯ ว่าเหมือนลอนดอนก็ได้ เพราะต่างเมืองก็ต่างมีถนนเหมือนกัน

ข. ๓. คลองในเมืองเวนิสนั้นมีประมาณ ๑๕๐ คลอง มีสะพาน ๓๗๘ สะพาน ทำให้เมืองที่ยาว ๑๐,๐๐๐ เส้น กว้างถึง ๓,๖๐๐ เส้น เป็น เกาะเล็ก ๆ ๆ ๆ ไปถึง ๑๑๗ เกาะ ๔. เรือที่ใช้นั้นคือ เรือโบด หัวงอน ท้ายงอน ที่เรียกกอนโดลา มีประมาณ ๕,๐๐๐ ลำ ทาดำทั้งสิ้น ด้วยมี กฎหมายบังคับให้เป็นดังนั้น เวลามีงานอะไรแล้วเรือเหล่านี้มาประชุมกัน ดูงามมาก ๕. ตึกบ้านเรือนทั้งหลายนั้นเป็นอย่างที่เขาเรียกว่า หัวกะไดลงนํ้า โดยมาก และขอให้ผู้อ่านคิดดูว่าคลองแคบๆ ขนาดสักครึ่งคลองตลาดดังนี้ มีกำแพงเรือนลงมาจดน้ำทั้งสองข้าง และกำแพงนั้นเป็นกำแพงสูงอย่างเกลี้ยงๆ ไกลจากความสะอาดเป็นอันมาก ดังนี้ คลองนั้นจะงามหรือไม่

ค. ๖. คลองทั้งเวนิสเป็นคลองเล็กๆ เช่นนี้ทั้งนั้น มีใหญ่อยู่ที่เรียก แกรนด์คแนลคลองเดียว ๗. ใครจะเห็นว่าเมืองเวนิสเป็นเมืองงามก็ตามใจ ข้าพเจ้าเองเป็นไม่เห็นด้วยคนหนึ่ง ถ้าจะไปเที่ยวแต่สามวันสี่วันแล้ว จะว่าสนุกก็ตามที แต่ถ้าไปอยู่ตั้งสองอาทิตย์ขึ้นไปแล้ว ถ้าใครชอบคนนั้นก็ไม่มีความเห็นอย่างเดียวกับข้าพเจ้า

ง. ๘. ถนนในเมืองเวนิสนั้น ใหญ่สักเท่าถนนสำเพ็งเรานี้เอง มีที่เขื่องหน่อยอยู่แต่ถนนริมคลอง ที่เรียก แกรนด์คแนล เท่านั้น ๙. ร้านขายของมีดีๆ พอใช้ๆ ได้ เพราะการช่างประเทศอิตาลีเป็นเก่งทีเดียว ของ
ที่ซื้อนั้นราคาไม่สู้เสมอกันนัก บางร้านก็ยังต่อลดราคากันได้อยู่

จ. ๑๐. เมืองเวนิสเป็นเมืองมีชื่อเสียง มีคนไปมามาก และเป็นเมือง
มีอำนาจมาแต่โบราณดังที่กล่าวมาแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าจะเล่าให้ละเอียดแล้วเห็นจะเต็มสมุดสามก๊ก เป็นอันต้องเขียนแต่เล็กน้อย ที่ระลึกได้ในเวลานี้เท่านั้น

ตอน ก. ข. ค. ง. และ จ. รวมกันเป็นบทความเรื่องหนึ่ง

ถาม-ใจความของบทความเรื่องนี้คืออะไร ?
ตอบ-คือเรื่องพรรณนาเมืองเวนิส

ถาม-ใจความของตอน ก. ข. ค. ง. คืออะไร ?
ตอบ-ใจความตอน ก. เมืองเวนิสเป็นเมืองประหลาด ตอน ข. เมืองเวนิส มีคลองมาก ตอน ค. คลองใหญ่ของเมืองเวนิส ตอน ง. ถนนในเมืองเวนิส

ถาม-อะไรเป็นพลความในตอน ก. ?
ตอบ-พลความในตอน ก. คือประโยคต่างๆ ที่อยู่ในหมายเลข ๒ พลความเหล่านี้ อธิบายแจกแจงข้อความออกไป เพื่อให้ผู้อ่านได้ความรู้ความเข้าใจเรื่องเมืองเวนิสมากขึ้น โดยการนำเมืองเวนิสมาเปรียบกับกรุงเทพฯ และพลความเหล่านี้ล้วนเพ่งจะเสริมความในประโยคหมายเลข ๑ ให้ชัดเจนกว้างขวางขึ้น

ถาม-อะไรเป็น เอกภาพ สัมพันธภาพ และสารัตถภาพ ในตอน ข. ?
ตอบ-เอกภาพในตอน ข. นี้คือ การกล่าวด้วยเรื่องคลอง ไม่มีเรื่องอื่น ปนเลย แม้ในประโยคหมายเลข ๕ จะกล่าวถึงตึกบ้านเรือน ก็เกี่ยว เนื่องกับคลองนั้นเอง สัมพันธภาพ จะเห็นได้ว่าเนื้อเรื่องติดต่อกันเป็นลำดับ คือ พูดเรื่องคลอง-สะพาน-เกาะ-เรือ-และตึกที่อยู่ริมคลอง สารัตถภาพนั้น จะเห็นว่าในตอน ข. นี้พูดเรื่องคลอง ตอนที่เด่น ก็คือตอนต้น ขึ้นถึงก็กล่าวเรื่องคลองทีเดียว และประโยคต่อมาก็พูด เรื่องคลอง ขยายความตอนต้นอีกหลายประโยค

ถาม-อะไรเป็นคำต่อให้ข้อความเกี่ยวโยงกันบ้าง ?
ตอบ-คำต่อไปนี้เป็นคำที่ทำให้ข้อความต่อกัน มีคำว่า “เพราะ-ส่วน-ถ้า-ที่- ด้วย-และ-แต่-บาง-เพราะฉะนั้น” ถ้าเอาคำเหล่านี้ออกเสียแล้ว ความจะขาดห้วน

อนึ่งขอให้สังเกตคำที่ว่า “เป็นเกาะเล็กๆๆๆ”ใช้ไม้ยมกถึง ๓ อัน ความผิดกับ “เล็ก ๆ ” มากทีเดียว

ที่มา:เปลื้อง ณ นคร