ระเบียบภาษาไทยและประเภทวลี

Socail Like & Share

ระเบียบภาษาไทยที่เป็นหลัก

(๑) ตำราไวยากรณ์ไทยเรา ตั้งขึ้นตามรูปโครงไวยากรณ์ภาษาอังกฤษบ้าง ภาษาบาลีและสันสกฤตบ้าง เพราะในสมัยนั้นไทยเราเริ่มนิยมภาษาอังกฤษเป็นส่วนมาก ส่วนศัพท์ที่ใช้ในทางไวยากรณ์นั้น เราใช้ตามบาลีและสันสกฤต ซึ่งแพร่หลายอยู่ในหมู่ผู้เรียนภาษาบาลีทางศาสนามาก่อนแล้ว เราจึงเรียกตามนั้น เพื่อความสะดวก แต่ระเบียบของภาษาไทยเรานั้นหาได้ตรงกับภาษาที่เราถ่ายรูปโครงมานั้นไม่ กล่าวคือ ภาษาไทยเราเป็นภาษาพวกเดียวกับภาษาจีน ซึ่งมีระเบียบใช้คำโดดๆ ไม่นิยมชนิดของคำมากนัก เช่นตัวอย่าง คำ ดี ของเราใช้ เป็นนามก็ได้ เช่น “เขาไม่รัก ดี ก็ตามใจ” ใช้เป็นวิเศษณ์ก็ได้ เช่น “ของ ดี มีราคา” เป็นกริยาก็ได้เช่น “เด็กนี้ต่อไปจัก ดี” เป็นต้น ไม่เหมือนกับระเบียบของภาษาอังกฤษ ฯลฯ ซึ่งมีรูปต่างกันตามชนิดของคำ เช่น คำ ดี ของเขา ถ้าเป็นคุณศัพท์เขาใช้ กู๊ด (good) เป็นนามเขาใช้ กู๊ดเนส (goodness) เป็นกริยาวิเศษณ์เขาใช้ เว็ลลฺ (well) เป็นต้น ถึงภาษาบาลีและสันสกฤตก็เป็นทำนองนี้เหมือนกัน และเพราะเหตุว่าภาษาไทยเราไม่มีที่สังเกตว่าเป็นคำชนิดไร และซ้ำไม่มีที่สังเกตว่ารูปไหนเป็น กรรตุ (ผู้ทำ) รูปไหนเป็น กรรม (ผู้ถูก) เป็นต้นด้วย เราจึงยึดเอาตำแหน่งที่เรียงคำก่อนหลังเป็นสำคัญ เช่น ประธานอยู่หน้า กริยาอยู่กลาง กรรมอยู่หลัง เช่น เสือกินคน ถ้าเราเปลี่ยนตำแหน่งเสีย เป็น คนกินเสือ ความหมายก็ผิดไปด้วย หรือบางทีก็ไม่ได้ความเลย เช่น กินคนเสือ หรือ เสือคนกิน เป็นต้น แต่ในภาษาบาลีเขามีรูปเฉพาะชนิดและเฉพาะหน้าที่ คือ กรรตุ รูปหนึ่ง กรรม รูปหนึ่ง เป็นต้น ถึงเขาจะเปลี่ยนลำดับกัน เช่น ตามปรกติ เสือกินคน เขาพูดว่า พฺยคฺโฆ นรํ ภุณฺชติ, และจะเปลี่ยน

silapa-0197 - Copyเพราะฉะนั้น ขอให้ผู้ศึกษาจงสังเกตระเบียบของภาษาไทยเราดังแสดงมานี้ไว้ เพื่อเป็นหลักในการวินิจฉัยชนิดของคำและหน้าที่ของคำ เช่น กรรตุการก หรือกรรมการก เป็นต้นต่อไป

(๒) นอกจากเราจะใช้ตำแหน่งเรียงหน้าหลัง เพื่อบอกชนิด หน้าที่ ฯลฯ ของคำแล้ว เรายังมีระเบียบเอาคำอื่นมาประกอบกันเพื่อบอกชนิดและหน้าที่ ฯลฯ ของคำอีก ตัวอย่างเครื่องหมายบอกเพศ เช่น บาลี-ทารโก(เด็กชาย) ทาริกา (เด็กหญิง) ฯลฯ ซึ่งเป็นคำเดียวกัน แต่เปลี่ยนรูปเล็กน้อย แต่ภาษาไทยใช้เอาคำอื่นมาประกอบเข้าเป็นสองคำว่า เด็ก-ชาย, เด็ก-หญิง หรือจะใช้เป็นพจน์อะไรก็เอาคำมาประกอบเข้าอีกเป็น เด็ก-ชาย-คน-เดียว, เด็ก-หญิง-สอง-คน ดังนี้เป็นต้น ดังนั้นภาษาไทยเราจึงเป็นกลุ่มๆ ที่เรียกว่า วลี โดยมาก ซึ่งผิดกับภาษาอังกฤษ บาลี และสันสกฤตอยู่เป็นพื้น ดังจะชักตัวอย่างมาให้สังเกตต่อไปนี้

อชฺช บาลีคำเดียว ไทยใช้เป็นวลีว่า วัน-นี้
สาลิกา บาลีคำเดียว ไทยใช้เป็นวลีว่า นก-ขุนทอง
สฺวิม อังกฤษคำเดียว ไทยใช้เป็นวลีว่า ว่าย-น้ำ
เวอรฺก อังกฤษคำเดียว ไทยใช้เป็น วลี ว่า ทำ-การ ดังนี้เป็นต้น

เมื่อระเบียบใช้คำแตกต่างกันเช่นนี้ เราจะยึดเอาภาษาอังกฤษ หรือบาลีสันสกฤต มาเป็นแบบเปรียบเทียบใช้ในภาษาไทยเราหาได้ไม่ ดังนั้นไวยากรณ์ภาษาไทย ก็ต้องยึดระเบียบในภาษาไทยเป็นหลักสำคัญ จริงอยู่ ไวยากรณ์ของภาษาไทยเราตั้งขึ้นตามรูปโครงของภาษาอังกฤษ บาลี และสันสกฤตดังกล่าวแล้ว แต่ที่จะถือภาษาอังกฤษและภาษาอื่นเป็นหลัก ก็ได้เพียงรูปโครงหยาบๆ เท่านั้น จะยึดเอาเป็นแบบเปรียบเทียบเคียงให้ละเอียดหาได้ไม่ เพราะภาษาไทยของเราต่างระเบียบแบบแผน (ตระกูลภาษา) กับเขา ขอให้ผู้ศึกษาสังเกตข้อนี้ไว้เป็นแบบอีกหลักหนึ่ง

ชื่อของวลี เมื่อภาษาไทยเราใช้ วลี มากดังกล่าวแล้ว เราจึงจำเป็นจะต้องรู้ประเภทวลีที่ใช้อยู่ในภาษาไทยเราให้ละเอียดจึงจะควร และวลีที่ใช้อยู่ในภาษาไทยนั้น มีประเภทต่างกันตามชื่ออย่างหนึ่ง และตามหน้าที่ ซึ่งหมายความว่าเรานำเอาวลีเหล่านั้นไปใช้ในหน้าที่เช่นไรอีกอย่างหนึ่ง ต่อไปนี้จะอธิบายชื่อของวลีก่อน ดังนี้

ตามที่ได้อธิบายมาแล้ว วลี นั้นได้แก่กลุ่มคำหมู่หนึ่งๆ มีจำนวนคำตั้งแต่ ๒ คำขึ้นไป และไม่มีความครบที่จะเป็นประโยคได้ จะขึ้นต้นด้วยคำชนิดไรก่อนก็ได้ และมีคำพ่วงท้ายออกไปอีกำหนึ่ง หรือมากกว่าก็ได้ เรียกว่า วลี ทั้งสิ้น ข้อสำคัญที่จะสังเกตก็คือ ไม่ใช่คำประสม คือเป็นคำต่อคำที่ใช้ติดต่อกัน และมีเนื้อความเกี่ยวเนื่องกันด้วย เพื่อสะดวกแก่การจดจำ ท่านจึงตั้งชื่อตามชนิดของคำที่อยู่ข้างหน้า ตัวอย่าง-วลีที่มีนามอยู่หน้า เช่น นก-ขุนทอง ก็เรียก นามวลี สรรพนามอยู่หน้า ข้าพระบาท-ยุคล ก็เรียก สรรพนามวลี เป็นต้น ดังจะจำแนกชื่อวลีต่างๆ ไว้พอเป็นที่สังเกตต่อไปนี้

ก. นามวลี มีลักษณะต่างกันดังนี้
(๑) นามวลี  ซึ่งมีสามานยนามชนิดย่อยตามหลัง เช่น:
ไก่-แจ้, นก-เขา, นก-เขา-ชวา, นก-ยาง-โทน ฯลฯ

(๒) นามวลีซึ่งมีวิสามานยนามตามหลัง เช่น:-
นาย-ยง, นาง-ละออ, นางสาว-ละออ, พระ-ยง, สามเณร-ยง, เศรษฐี-โชดึก, เมือง-ตรัง, อำเภอ-บางรัก, เรือ-เสือคำรนสินธุ์, ทะเล-จีน ฯลฯ

(๓) นามวลี ซึ่งมีลักษณะนามนำหน้าสังขยา เช่น:
รูป -เดียว, รูป-ที่ ๑, ลำ-หนึ่ง, ลำที่ ๘ ฯลฯ (ถ้ามีสังขยาขึ้นหน้า เช่น สองลำ เรียกวิเศษณ์วลี ซึ่งจะกล่าวต่อไป)

(๔) นามวลี ซึ่งมีคำประกอบส่วนท้ายของคำประสม เช่น:-
ชาวนา-ข้าวสาลี, ชาวเมือง-ระยอง, ผู้ทำ-ความดี, ความบ้า-ตัณหา, ผู้นอน-สาย, การกิน-ข้าว-จุ ฯลฯ

ข. สรรพนามวลี คำสรรพนามในภาษาไทย นอกจากเป็นคำเดียวโดดๆ เช่น ท่าน เขา เธอ ข้า เอ็ง พัน เป็นต้น แล้วยังมีคำประสมซึ่งโดยมากใช้ตามยศอีก เช่น

บุรุษที่ ๑ ข้าพเจ้า, ข้าพระเจ้า, ข้าพระบาท, ข้าพระพุทธเจ้า ฯลฯ
บุรุษที่ ๒ ใต้เท้า, ใต้เท้ากรุณา, ฝ่าพระบาท, ใต้ฝ่าพระบาท, ใต้ฝ่าละอองพระบาท, ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ฯลฯ
บุรุษที่ ๓ ท้าวพระกรุณา, พระองค์, ท้าวเธอ ฯลฯ

แต่ถ้าเอาคำอื่นมาแต่งต่อสรรพนามเหล่านี้ออกไปก็ดี หรือเอาคำอื่นมา แทนส่วนท้ายของสรรพนามเหล่านี้ให้ยืดยาวออกไปก็ดี จัดว่าเป็นสรรพนามวลีทั้งนั้น ดังตัวอย่าง
ข้าพระบาท -ยุคล,     ข้าพระบาท – บงกชมาศ,
ข้า – เบื้องบทมาลย์,     ข้า – เบื้องยุคลบาท ฯลฯ

ข้อสังเกต  คำสรรพนามที่เป็นคำประสมนั้น คือ คำสรรพนามที่ใช้กันอยู่ตามธรรมดา แต่สรรพนามวลีนั้น คือคำที่นักประพันธ์แต่งประดิษฐ์ขึ้นแทนสรรพนามที่ใช้กัน เพื่อให้เหมาะกับคำประพันธ์ จะเป็นรูปผิดเพี้ยนไปอย่างไรก็ตาม นับว่าเป็น สรรพนามวลี ทั้งนั้น

ค. กริยาวลี ได้แก่วลี ซึ่งมีกริยานำหน้า ซึ่งมีความหมายเป็นเรื่องเดียวกัน มีลักษณะดังต่อไปนี้

(๑) กริยาวลี ที่เป็นภาคแสดง ซึ่งบางทีมีคำกริยานุเคราะห์ประกอบข้างหน้าบ้างข้างหลังบ้าง เพื่อแสดง มาลา กาล และ วาจก ของภาคแสดงนี้ ดังนี้

มาลา เช่น:- คง-กิน, ต้อง-กิน, จง-กิน, อย่า-กิน, กิน-เถอะ, กิน-เถิด ฯลฯ

กาล เช่น:- กำลัง-กิน, กิน-อยู่, จัก-กิน, จะ-กิน, กิน-แล้ว คง-กิน-แล้ว, ได้-กิน, ได้-กิน-แล้ว, จัก-ได้-กิน-แล้ว ฯลฯ

วาจก เช่น:- ถูก-ตี, ให้-ตี, ให้-ถูก-ตี ฯลฯ

หมายเหตุ กริยาวลีพวกนี้บางทีไม่อยู่ติดต่อกัน คือ มีคำอื่นมาคั่นอยู่ในระหว่าง เช่น:- ถูก-ตี, กิน-เถิด และ ให้-ตี ฯลฯ ซึ่งมีคำอื่นคั่นอยู่ในระหว่างดังนี้ “ถูก พ่อ ตี” “กิน ข้าว เถิด” “ให้ คน ตี” เป็นต้น กริยาวลีซึ่งมีคำอื่นมาแทรกกลางเช่นนี้ เรียกว่า กริยาวลีคาบ

(๒) กริยาวลี ที่เป็นภาคแสดงติดต่อกันของประโยครวม เช่น “เขา อุตส่าห์เดิน” หรือ “เขา นั่งร้องเพลง” ฯลฯ ดังนี้ บท อุตส่าห์เดิน ก็ดี และ นั่งร้องเพลง ก็ดี เป็นกริยาติดต่อกัน นับว่าเป็นกริยาวลี เพราะกริยาหลัง คือ เดิน และ ร้องเพลง ต่างก็ขยายกริยาข้างหน้า คือ อุตส่าห์ และ นั่ง ซึ่งรวมกันเป็นภาคแสดงของประโยครวม

(๓) กริยาวลี ที่เนื่องมาจากคำประสม ซึ่งมักจะเป็นกริยาเกี่ยวด้วยยศ เช่น กริยาเป็นคำประสมว่า ถึงแก่กรรม, สวรรคต, สิ้นพระชนม์ ฯลฯ

คำประสมเหล่านี้ ถ้าเกี่ยวกับคำประพันธ์ ท่านกวีแต่งต่อให้ยืดยาวออก ไปอีกก็ดี เอาคำอื่นมาใช้แทนก็ดี ทำให้รูปคำไม่คงที่อย่างที่ใช้กัน ตามธรรมดาก็รวมเรียกว่า กริยาวลีทั้งนั้น อย่างเดียวกับสรรพนามวลีที่กล่าวมาแล้ว เช่น:- ถึงแก่กรรมวิบากบันดาล, เสด็จสวรรคาลัยสุรโลก, สิ้นพระชนมายุสังขาร ซึ่งเอาความว่าตายทั้งนั้น ดังนี้เป็นตัวอย่าง

(๔) กริยาวลี ที่เกี่ยวกับกริยาสภาวมาลา ตามธรรมดากริยาสภาวมาลา ย่อมใช้เป็นส่วนใดๆ ของประโยคได้ อย่างเดียวกับคำนาม หรือสรรพนาม ดังกล่าวแล้วในวจีวิภาค ถ้ากริยาสภาวมาลานี้มีคำประกอบยืดยาวออกไปก็เรียกว่า กริยาวลี เหมือนกัน เช่นตัวอย่าง

ภาคประธาน “ทำงานหนัก ไม่ดี”
เป็นหนังหน้าไฟ ไม่ดี”

ภาคกรรม “ฉันไม่ชอบ ทำงานหนัก
“ฉันไม่ชอบ เป็นหนังหน้าไฟ

ภาคขยาย “คน ทำงานหนัก ไม่ดี”
“คน เป็นหนังหน้าไฟ ไม่ดี”

กลุ่มแห่งกริยาสภาวมาลา ว่า ทำงานหนัก ก็ดี ว่า เป็นหนังหน้าไฟ ก็ดี ข้างบนนี้เรียกว่า กริยาวลี ทั้งนั้น

ข้อสังเกต คำกริยาทั้งหลาย ถ้ามีคำ การ หรือ ความ นำหน้าก็กลายเป็นอาการนามไป ดังนั้น กริยาวลีที่ว่านี้ ถ้ามีคำ การ หรือ ความ นำหน้าเป็น การทำ-งานหนัก ก็ดี ความเป็น-หนังหน้าไฟ ก็ดี หรือมีคำอื่น เช่น ผู้ที่เครื่อง ฯลฯ ประกอบข้างหน้า ทำให้กริยานั้นๆ เป็นนามคำประสม เช่น ผู้ทำ-งานหนัก ที่ทำ-งานหนัก เป็นต้นก็ดี วลีเหล่านี้ก็กลายเป็นนามวลีไปตามรูปคำประสมข้างหน้า ให้ผู้ศึกษาสังเกตไว้ด้วย

ฆ. วิเศษณ์วลี คือ วลีที่มีคำวิเศษณ์นำหน้า ซึ่งมีหน้าที่ประกอบ คำอื่น อย่างเดียวกับคำวิเศษณ์ธรรมดา จึงใช้เป็นภาคขยายของประโยคได้อย่างเดียวกับคำวิเศษณ์ทั้งหลาย จะจำแนกไว้พอเป็นตัวอย่างให้สังเกตดังต่อไปนี้

(๑) วิเศษณ์วลีที่ประกอบนาม ซึ่งเคยเรียกกันว่า คุณวลี ตัวอย่าง
“หญิง งามเลิศเหลือประมาณ เดินมาโน่น”
“คน โง่บัดซบ ทำงานไม่ได้ดี ”
“นายหาญ เป็นเด็กกล้าสมชื่อ”
“คน ตาบอดทั้งสองข้าง ไปไหนไม่สะดวก” เป็นต้น

(๒) วิเศษณ์วลี ที่ประกอบคำกริยา ตัวอย่าง:-
“เขากินข้าว จุเหลือประมาณ”
“ เขามา สายสามนาที ”
“เขาดูแลเด็ก ดีเหลือเกิน”
“เขาพูด ดังลั่นไปทั้งบ้าน” เป็นต้น

(๓) วิเศษณ์วลี ที่ประกอบคำกริยาวิเศษณ์ด้วยกัน ซึ่งมีหน้าที่เป็นกริยาในภาคแสดงของประโยค ข้อนี้รูปร่างก็คล้ายกับข้อ (๑) แต่ต้องแบ่งเอาคำวิเศษณ์ข้างหน้ามาเป็นกริยาของประโยคเสีย บทต่อไปถ้าเป็นวิเศษณ์วลีก็ต้องนับว่าเป็นวิเศษณ์วลีอย่างข้อ (๒) แต่ถ้าเหลือคำวิเศษณ์อยู่คำเดียวก็ไม่ใช่วลีให้ดูตัวอย่างต่อไปนี้เทียบกับข้อ (๑)

“เขา คงงาม เลิศเหลือประมาณ” (วิเศษณ์วลี)

“เขา จักโง่ บัดซบ” (ไม่ใช่วิเศษณ์วลี)
“เขา คงตาบอด ทั้งสองข้าง” (วิเศษณ์วลี)
“หล่อนจักสวย นักหนา” (ไม่ใช่วิเศษณ์วลี) เป็นต้น

(๔) วิเศษณ์วลี ที่มีประมาณวิเศษณ์บอกจำนวนนับนำหน้าลักษณนาม วลีพวกนี้ก็เป็นอย่างเดียวกับวิเศษณ์วลีข้อ (๑) นั่นเอง ที่แยกมากล่าวไว้อีกแผนกหนึ่ง ก็เพื่อจะให้เข้าใจเป็นพิเศษว่าภาษาไทยเรา ใช้ประมาณวิเศษณ์ บอกจำนวนนับต่างกับภาษาอื่นๆ โดยมาก แต่ละม้ายกับภาษาจีน กล่าวคือ ใช้เป็นวลีมีสังขยานำหน้าลักษณนามเป็นพื้นเช่น:-“ภิกษุ สามรูป, เรือห้าลำ,ม้า หกตัว ฯลฯ ซึ่งต่างกับภาษาอื่นๆ ซึ่งมีแต่สังขยานำหน้านามเท่านั้น เช่น:- “สาม ภิกษุ, ห้า เรือ, หก ม้า” ฯลฯ

วิเศษณ์วลี ที่มีประมาณวิเศษณ์บอกจำนวนนับนำหน้าลักษณนาม เช่น สามรูป, ห้าลำ, หกตัว ฯลฯ นี้ท่านเรียก สังขยาวลี ก็มี และลักษณนาม เหล่านี้ ท่านเรียกว่า ‘นาม’ ท้ายสังขยา ก็มี อย่างไรก็ตาม วลีพวกนี้ก็เป็นอย่างเดียวกับวิเศษณ์วลีอื่นๆ เช่นเดียวกัน ดังจะชักตัวอย่างย่อๆ มาให้ดูต่อไปนี้

ประกอบนามหรือสรรพนาม เช่น:- คน สามคน, ช้าง สามเชือก, กรรม การ สามชุด, ลูกเสือ สามกอง, เขา สามคน, เรา สามคน, ท่าน สามคน ฯลฯ

ประกอบกริยา เช่น:- กินข้าว สามหน, นอน สามพัก, ต่อยกัน สามยก, ตี สามที ฯลฯ

ประกอบวิเศษณ์ด้วยกัน อย่างข้อ (๓) เช่น:- เขาจักชั่ว เจ็ดที เขาจักดี เจ็ดหน เป็นต้น

หมายเหตุ ตามแบบแผนภาษาไทย สังขยา หนึ่ง หรือเดียว ก็ดี คำปุรณสังขยา เช่นที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ฯลฯ ก็ดี ต้องใช้ลักษณนามนำหน้า เช่น  พระรูปหนึ่ง, ช้าง เชือกเดียว, เรือ ลำที่ ๑, รถ คันที่ ๕ ฯลฯ วลีเหล่านี้มีนามอยู่ข้างหน้า ต้องเรียกว่า นามวลี ดังกล่าวแล้วในข้อ ก. (๓)

ง. บุพบทวลี ได้แก่วลีที่มีคำบุพบทอยู่ข้างหน้า กล่าวคือคำนามก็ดี คำสรรพนามก็ดี หรือคำกริยาสภาวมาลาก็ดี ถ้ามีบุพบทนำหน้า ก็ได้ชื่อว่า บุพบทวลีทั้งนั้น เช่นตัวอย่าง :-

(๑) บุพบทนำหน้านาม เช่น:- ข้าแต่-สมาชิกทั้งหลาย, ดูกร-สาธุชนทั้งหลาย, ของ-คน, ด้วย-ความรู้, จาก-ที่อยู่, ใน-บ้าน ฯลฯ

(๒) บุพบทนำหน้าสรรพนาม เช่น:- ข้าแต่-ท่านทั้งหลาย, ดูกร-ท่านทั้งหลาย, ของ-ฉัน, ซึ่ง-กันและกัน, จาก-ฉัน, ใน-เราทั้งหลาย ฯลฯ

(๓) บุพบทนำหน้าสภาวมาลา เช่น:- เพื่อ-ชมเล่น, สำหรับดูเล่นเป็นขวัญตา, เพื่อ-จะเห็นสะดวกๆ ดังนี้เป็นต้น

หมายเหตุ คำพูดในภาษาไทยเรามักนิยมทิ้งบุพบทเสีย ซึ่งเป็นพื้นเดิมของภาษาไทยเรา ตัวอย่างเช่น

นอนเตียง    คือ “นอน บนเตียง”
นั่งเก้าอี้    คือ “นั่ง บนเก้าอี้”
นกเกาะต้นไม้ คือ “นกเกาะบนต้นไม้”

ยังมีคำพูดที่ไม่ใช้บุพบทเลยก็มี เช่น ว่ายน้ำ ว่ายฟ้า (คำประพันธ์) กินตะเกียบ กินช้อนส้อม ฯลฯ คำนามที่อยู่ท้ายกริยาข้างบนนี้มีหน้าที่ประกอบกริยาข้างหน้า อย่างคำที่มีบุพบทนำหน้าเหมือนกัน คือ นํ้า ฟ้า มีหน้าที่แสดงเครื่องใช้ (ในน้ำ บนฟ้า) และ ตะเกียบ กับ ช้อนส้อม ก็มีหน้าที่แสดงสถานที่ (ด้วยตะเกียบ ด้วยช้อนส้อม) เป็นต้น เมื่อนามเหล่านี้ไม่มีบุพบทนำหน้า ก็ไม่ต้องเรียกว่าบุพบทวลี ให้เป็นการลำบาก ควรเรียกว่า นามวิเศษณ์การกดังแสดงไว้ในวจีวิภาคเท่านั้นก็พอ

จ. สันธานวลี หมายถึง คำสันธานที่คำประกอบให้ยืดยาวออกไป แต่ไม่ใช่เป็นคำประสม ดังจะอธิบายต่อไปนี้:-

ตามปกติคำสันธาน มีหน้าที่เชื่อมคำ เชื่อมวลี เชื่อมประโยค หรือเชื่อมข้อความให้ติดต่อกัน แต่สันธานโดดๆ ที่เชื่อมประโยคตัวอย่างคำ และ เช่น:- “เขานั่ง และ เขานอน”

แต่ เช่น:- “ตานั่ง แต่ ยายนอน”
จึง เช่น:- “นาเน่ายุง จึง ชุม”

ดังนี้เป็นต้นก็ดี หรือสันธานเชื่อมข้อความ ที่ขึ้นต้นด้วยคำสันธาน และ
หรือ แต่ ฯลฯ แล้วก็กล่าวข้อความต่อไปอีกก็ดี คำสันธานโดดๆ เช่นนี้ นับว่าเป็นสันธานเชื่อมประโยค หรือเชื่อมข้อความ

ส่วนสันธานวลี หมายถึงคำสันธานที่เชื่อมกับคำอื่นให้ยืดยาวออกไป จะเป็นเชื่อมกับสันธานด้วยกันก็ได้ เชื่อมกับคำอื่นหรือวลีก็ได้เพื่อใช้ในหน้าที่สันธานเช่นเดิม จำแนกเป็น ๒ ประเภทด้วยกัน ดังนี้

(๑) สันธานวลีที่มีคำ หรือ วลีเชื่อมท้าย แต่ส่วนท้ายนั้นไม่ใช่ประโยค เป็นแต่บทขยายของบทข้างหน้าเท่านั้น ตัวอย่าง:- “เขามีความรักในลูกและ เมีย” ซึ่งคำ เมีย ที่นี้ ไม่เป็นประโยค เป็นแต่บทขยายคำ ลูก สันธานวลีที่สันธานประกอบหน้าบทเช่นนี้ เป็นทำนองเดียวกับบุพบทวลีเหมือนกัน

(๒) สันธานวลีที่เอาวลีต่างๆ มาใช้เป็นสันธาน ซึ่งบางทีก็มีสันธานอยู่ ด้วย บางทีก็ไม่มีคำสันธานอยู่ด้วย ดังตัวอย่างต่อไปนี้

แต่กระนี้ก็ดี, ถึงกระนั้นก็ดี, หรืออย่างไรก็ดี, เพราะอย่างไรก็ตาม, แต่จะอย่างไรก็ตาม เป็นต้น

สันธานวลีพวกนี้ ใช้เชื่อมประโยคและข้อความเป็นพื้น

(๓) สันธานวลีคาบ สันธานวลีที่กล่าวนี้ ถึงจะมีความติดต่อเป็นกลุ่ม เดียวกันก็จริง แต่โดยปกติมักอยู่ห่างกัน คือมีคำอื่นเขาแทรกอยู่ระหว่างกลางโดยมาก มีทั้งเชื่อมประโยคและไม่ใช่ประโยค ดังนี้:-
“ถึง – – ก็” ตัวอย่าง “ถึง ฝนตก ก็ จะไป”
“พอ- -ก็” ตัวอย่าง “พอ ฝนตก ฉัน ก็ นอน”
‘‘ทั้ง – – และ” ตัวอย่าง “ทั้ง แม่ และ ลูก”
“ถึง – – ก็ตาม – – ก็” ตัวอย่าง – “ถึง เขาจะว่า ก็ตาม ฉัน ก็ จะทำ” “ฉะนั้น – – จึง” ตัวอย่าง “ฉะนั้น ฉัน จึง ทำตามเขา” ฯลฯ

สันธานวลีพวกนี้ บางทีก็ใช้สันธานด้วยกัน บางทีก็ใช้คำวิเศษณ์เข้าช่วย แต่อยู่ห่างกัน ถ้าย่อเข้าแล้วก็อยู่ติดกันได้

ฉ. อุทานวลี หมายถึงคำอุทานที่มีคำอื่นประกอบท้ายให้เป็นวลียืดยาว ออกไป เช่นตัวอย่าง
โอ้ อกเอ๋ย! โอ๊ย ตายแล้ว! ฯลฯ

หรือเอาบทวลีต่างๆ มาเป็นอุทาน เช่น
อกเอ๋ยอกกู! ลูกรักเจ้าแม่เอ๋ย! เป็นต้น
ไม่ลืมตา ลืมหู, ผู้หญิง ริงเรือ, แม่หม้าย ไร้ทาน ฯลฯ บทว่า ลืมหู  ริงเรือ ไร้ทาน ข้างบนนี้ ได้ชื่อว่า อุทานวลีเสริมบท เพราะไม่ต้องการความหมาย

ข้อ ๓. หน้าที่ของวลี ตามที่แสดงมาแล้วว่า ภาษาไทยเรานิยมใช้วลีแทนคำเป็นพื้น ดังนั้นคำมีหน้าที่อย่างไร วลีก็มีหน้าที่อย่างเดียวกับคำเหมือนกัน ดังจะเห็นได้ตามตัวอย่างต่อไปนี้

ก. “นกเขาชวา บิน” นก-เขา-ชวา เป็น นามวลี บทประธาน
ข. “ฉันพบสามเณร-ยง” สามเณร-ยง เป็น นามวลี บทกรรม
ค. “ข้าเบื้องยุคลบาท ขอถวายชีวิต” ข้า-เบื้องยุคลบาท เป็น สรรพ นามวลี บทประธาน
ฆ. “เขา จักได้กิน ข้าวร้อน” จัก-ได้-กิน เป็น กริยาวลี ในภาคแสดง
ง. “ฉันไม่ชอบ ทำงานหนัก” ทำ-งาน-หนัก เป็น กริยาวลี บทกรรม
จ. “เขาสร้างถนน ยาวสามกิโลเมตรเศษ” ยาว-สามกิโลเมตร- เศษ เป็น วิเศษณ์วลี ขยายบทกรรม
ฉ. “คน ในบ้าน หลับแล้ว” ใน-บ้าน เป็น บุพบทวลี ขยายบทประธาน
ช. “ถึง ฝนตก ฉัน ก็ จักไป” ถึง-ก็ เป็น สันธานวลี (คาบ) เชื่อมประโยค

ตัวอย่างข้างบนนี้ ชักมาไว้พอเป็นที่สังเกตย่อๆ ขอให้ผู้ศึกษาดูต่อไปในข้อที่ว่าด้วยภาคของประโยค ซึ่งจะกล่าวข้างหน้า

หมายเหตุ:- ความหมายของคำว่า “บท” คำ บท นี้ในภาษาบาลี
(๑) หมายถึงคำที่ใช้ในวจีวิภาคก็ได้ เช่น เรานำมาใช้ว่า ปทานุกรม แปลว่า ลำดับแห่งบท ก็หมายถึงลำดับแห่งคำนั้นเอง และ

(๒) หมายถึงความข้อหนึ่งๆ ก็ได้ เช่น ธรรมบท แปลว่า บทแห่งธรรม หมายถึงข้อความแห่งธรรม

ดังนั้น จะขอให้คำว่า บท ให้มีความหมายกว้างๆ สำหรับ เรียกคำพูดว่า บท ก็ได้ เรียก วลี ว่า บท ก็ได้ หรือเรียกประโยคว่า บท ก็ได้ ดังตัวอย่างที่ใช้ต่อไปนี้

ก. บทว่า กิน เป็นคำกริยา
ข. บทว่า ของเขา เป็นบุพบทวลี
ค. บทว่า วัวกินหญ้า เป็นประโยค

ขอให้ผู้ศึกษาสังเกตตามความหมายข้างบนนี้ต่อไป

ที่มา:พระยาอุปกิตศิลปสาร