มลทินที่ทำให้หมองและสิ่งที่ใจต้องระวัง

Socail Like & Share

พระพุทธองค์ทรงนำเรื่องที่เรารู้ๆ มาตรัสสอน เพราะจะได้ทำให้ผู้ฟัง ฟังง่าย เข้าใจง่าย พระองค์ไม่ทรงสนพระทัยว่า คนฟังเขาจะว่านำเรื่องที่รู้อยู่แล้วมาสอน แล้วเขาจะไม่สนใจฟัง เพราะทรงมุ่งประโยชน์คือ เขาจะได้เข้าใจง่าย เพราะทรงรู้อยู่แล้วว่า เขาได้แต่รู้ แต่รู้ไม่จริง หรือไม่ได้คิด ดังนั้นเรื่องที่ทรงนำมาสอน บางครั้งก็เป็นเรื่องธรรมดาจริงๆ เช่น เรื่องฝน หนู งู ม้า ช้าง น้ำ ดิน ไฟ ลม เป็นต้น ทรงนำมาเป็นเครื่องประกอบกับธรรมแล้วทรงสอน โดยที่สุดมลทินของร่างกาย(เหงื่อไคล) ก็ทรงนำมาประกอบในการสอนได้ เช่น ตรัสไว้ในธรรมบท ขุททกนิกาย ความไทยว่า

๑. การไม่ท่อง ไม่ทบทวน เป็นมลทินของความรู้(มนต์)
๒. การไม่ขยันเช็ดถูดูแล เป็นมลทินของเรือน
๓. ความเกียจคร้าน(ชำระ) เป็นมลทินของผิวพรรณ
๔. ความประมาท เป็นมลทินของผู้รักษา
๕. ความนอกใจ เป็นมลทินของหญิง
๖. ความตระหนี่ เป็นมลทินของผู้ให้
๗. บาปธรรม เป็นมลทินของสัตว์
๘. อวิชชา เป็นบรมมลทิน

ไสยา
แม้แต่การนอนที่เป็นเรื่องใครๆ ก็ต้องรู้ พระองค์ก็ทรงนำมาสอนไว้ว่า การนอนมี ๔ อย่างคือ

๑. เปตไสยา นอนอย่างเปรต หรือคนตาย คือนอนหงาย

๒. กามโภคีไสยา นอนอย่างชาวบ้านทั่วไป คือนอนตะแคงซ้าย และนอนคว่ำ

๓. สีหไสยา นอนอย่างราชสีห์ คือนอนตะแคงขวา

๔. ตถาคตไสยา นอนอย่างพระตถาคต คือนอนตะแคงขวา ซ้อนเท้า มือขวาหนุนศีรษะ

สิ่งที่ใจต้องระวัง
สิ่งที่ต้องใช้สติสัมปชัญญะคอยกำกับใจอยู่เสมอมีอยู่มากมาย สิ่งเหล่านี้เป็นอารมณ์ของใจ ถ้าไม่ใช้สติสัมปชัญญะกำกับ หรือมีสติไม่ทันอารมณ์เหล่านี้แล้ว ก็จะทำให้เกิดเรื่องราวใหญ่โตได้ หรืออย่างน้อยก็ทำให้เศร้าหมอง ดังนั้น จึงต้องใช้สติสำรวจดูใจว่า มีอารมณ์เหล่านี้อยู่ในใจหรือเปล่าอยู่เสมอๆ เพื่อความปลอดโปร่งทางใจ สิ่งที่ควรระวังเหล่านั้น ทางพระพุทธศาสนาได้แสดงไว้จำนวนหนึ่งเรียกว่า อุปกิเลส ดังปรากฏในมูลปัณณาสก์ มัชฌิมนิกาย ความไทยมีดังนี้

๑. อยากได้ของเขา
๒. คิดร้ายต่อเขา
๓. โกรธ
๔. ผูกใจเจ็บ
๕. ลบหลู่คุณท่าน
๖. ตีเสมอ
๗. ริษยา เห็นคนอื่นดี ทนอยู่ไม่ได้
๘. ตระหนี่

๙. เจ้าเล่ห์
๑๐. โอ้อวด
๑๑. ดื้อด้าน ดึงดัน
๑๒. แข่งดี
๑๓. ถือตัว
๑๔. ดูหมิ่นความสามารถของตน และดูหมิ่นผู้อื่น
๑๕. มัวเมา งมงาย
๑๖. เลินเล่อ ลืมตัว

สิ่งเหล่านี้ควรระหวังอย่าให้เกิดกับใจ จะทำให้เสียงานเสียการ ผู้มีอารมณ์ร้ายเหล่านี้ ถ้าเป็นฆราวาสก็เข้ากับใครเขาได้ยาก เมื่อเข้ากับใครเขายาก ก็หาพวกพ้องได้ยาก ทำให้ลำบากต่อการดำเนินชีวิต ถ้าเป็นบรรพชิตก็จะเป็นคนมีใจห่างเหินจากความเป็นบรรพชิต สิ่งเหล่านี้จะเป็นเครื่องกั้นคุณงามความดีทางใจ และดึงใจให้ตกต่ำ เครื่องกั้นสิ่งเหล่านี้ คือ สติ สัมปชัญญะ ดังนั้น จึงต้องใช้สติสัมปชัญญะคอยระวังสำรวจดูใจอยู่เสมอ

วิธีแก้ง่วง
ความง่วงจัดเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งในการทำงาน ความง่วงอาจเกิดขึ้นเพราะเหตุหลายประการ เช่น เพราะร่างกายอ่อนเพลีย กินมากเกินไป กินยาง่วง เป็นต้น สำหรับผู้ที่ต้องการไม่ให้ง่วงแล้วเกิดง่วงขึ้น ทางพระพุทธศาสนาสอนวิธีแก้ง่วงไว้ดังนี้

๑. เมื่อคิดสิ่งใดในขณะง่วง ให้สนใจในสิ่งนั้นให้มากยิ่งขึ้น

๒. ถ้ายังง่วงอยู่ ก็พิจารณา ตรึกตรอง สิ่งที่ตนเคยฟังเคยเรียนมาให้มากๆ

๓. ถ้ายังง่วงอยู่ ก็ให้ท่องเรื่องที่ตนได้ยิน หรือเรียนมา

๔. ถ้ายังง่วงอยู่ พึงยอนหูทั้งสองข้าง ตาก็จะสว่าง

๕. ถ้ายังง่วงอยู่ ให้ลุกขึ้นยืน ใช้น้ำลูบหน้า มองดูทิศดูดาว

๖. ถ้ายังง่วงอยู่ พึงทำใจว่าสว่างไสว

๗. ถ้ายังง่วงอยู่ จงอธิษฐานเดินจงกรมกลับไปกลับมา

พระพุทธศาสนากับความเป็นทาส
ในประเทศไทยได้ประกาศเลิกทาสเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๘ แต่ในพระพุทธศาสนาไม่เห็นด้วยกับความเป็นทาสมานานกว่า ๒๕๐๐ ปีมาแล้ว ดังมีข้อความปรากฏในจุลวรรคแห่งวินัย ความไทยว่า ทรงห้ามมิให้ภิกษุมีทาสไว้ใช้สอย

ในระเบียบของการบรรพชาอุปสมบทก็ทรงห้ามมิให้รับคนเป็นทาสเข้ามาบวชเป็นภิกษุ ดังมีคำถามว่า ภุชิสฺโสสิ แปลว่า เจ้าเป็นไทมิใช่ทาสหรือ

ใจของ ๕ อย่าง ที่พระพุทธองค์ทรงห้ามมิให้ผู้นับถือพระพุทธศาสนาขาย ก็มีอยู่ข้อหนึ่งคือ ห้ามมิให้ขายคน(ทาส)

ในมูลปัณณาสก์ มัชฌิมนิกาย และในทสกนิบาตรอังคุตตรนิกาย พระพุทธองค์ทรงแสดงว่านักบวชคือ บรรพชิต ต้องไม่รับทาสหญิง-ชาย ที่มีผู้มอบให้

พระพุทธองค์ทรงขัดขวางการนำบุคคลมาเป็นทาสด้วยวิธีการเท่าที่พระองค์จะทรงทำได้ในขอบเขตแห่งพุทธจักรดังนี้ และที่สำคัญยิ่งคือ ทรงสอนให้คนอย่าเป็นทาสของกิเลส

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา