เรื่องราวเกี่ยวกับพระวิศวกรรม

Socail Like & Share

พระวิศวกรรม

วิศวกรรม, พระ
พระวิศวกรรมเทพองค์นี้ ผมหาที่ค้นยากจริงๆ ครับ เห็นจะต้องแทรกเรื่องอื่นๆ บ้าง แต่กระนั้นก็คงไม่ยาวนักหรอก ตั้งแต่เขียนมาก็เห็นจะเป็นเรื่องนี้ละที่สั้นที่สุด จนด้วยเกล้าครับ จะทำเป็นไม่รู้แล้วข้ามไปก็เกรงบอกอต่วยจะว่าได้ เพราะบอกอต่วยน่ะสำเร็จสถาปัตย์ พระวิศวกรรมเป็นเทพการช่างครับ เป็นเทพที่บอกอต่วยนับถือเอามากๆ

พระวิศวกรรมนี้ เห็นเรียกกันต่างๆ เช่น วิษณุกรรม เวสสุกรรม วิศุกรรม วิศวกรมัน เพชฉลูกรรม และ วิศวกรรมัน

วิทยานิพนธ์เรื่องเทวดาพระเวท ของอุดม  เรืองศรี อธิบายเรื่องนี้ไว้นิดเดียวว่า

“ในฤคเวท มีบทสดุดีที่พรรณนาถึงพระวิศวกรมันโดยเฉพาะ และนามของท้าวเธอมีกล่าวไว้ในตอนที่สิบของคัมภีร์นี้อีกห้าแห่งด้วยกัน”

“จากการบรรยายลักษณะนั้นกล่าวว่า เทพวิศวกรมันเป็นผู้เห็นสรรพสิ่ง ทรงไว้ซึ่งดวงตา ใบหน้า แขนและขาอยู่รอบข้าง ซึ่งทั้งนี้เป็นลักษณะของพระพรหมในยุคหลังพระเวท นอกเหนือจากนั้นยังกำหนดให้วิศวกรมันมีปีกอีกด้วย ท้าวเป็นเทพแห่งการพูดและเป็นต้นเคาของลาภผลทั้งปวง มาในยุคพราหมณะถือว่าเป็นองค์เดียวกับประชาบดี แต่ครั้นถึงสมัยหลังพระเวทแล้วก็ลดความสำคัญลงมาเป็นเทพแห่งการช่างเท่านั้น”

ก็เท่านี้ละครับ ส่วนพระวิศวกรรมเป็นลูกของใครนั้น เอาแน่ไม่ได้หรอกบางแห่งก็ว่าเป็นลูกของ ภูวน บางตำนานก็ว่าเป็นลูกของ ประภาส ซึ่งเป็นหนึ่งของพวกวสุเทพซึ่งเป็นบริวารของพระอินทร์ วสุเทพนี้มี ๘ องค์ คือ ธร(ดิน) อาป(น้ำ) อนิล(ลม) อนล (ไฟ) โสม (เดือน) ธรุระ (ดาวเหนือ) ปรัตยุษ (รุ่ง) ประภาส (แสงสว่าง) อ้อ พระวิศวกรรมมีธิดาชื่อสัญญา หรือศรันยา ซึ่งเป็นชายาของพระอาทิตย์องค์ที่เป็นพระสุริยเทพ เรื่องพระอาทิตย์หลายดวงนี้ได้เล่าไว้ในเรื่องพระวรุณบ้างแล้วนะครับ

เรื่องราวของพระวิศวกรรมกับพระอินทร์มักจะเกี่ยวข้องกันเสมอ เห็นจะเป็นเพราะพระวิศวกรรมเป็นเทพบริวารฝ่ายช่างของพระอินทร์ ผมก็เลยจำเป็นแทรกเรื่องพระอินทร์ไว้ตรงนี้สักนิดเหอะ แล้วค่อยว่าให้ละเอียดตอนถึงหมวด ออ=อินทร์ เรื่องพระอินทร์นั้นน่ะมีเรื่องยืดยาวเล่ากันไม่หวาดไม่ไหวหรอกครับ

ในหนังสือชุมนุมนิพนธ์ อ.น.ก. ของพระยาอุปกิตศิลปสารได้กล่าวถึงเรื่องพระอินทร์ตามคติพุทธศาสนาไว้ว่ามีในคัมภีร์อรรถกถาธรรมบท ว่าเดิมทีน่ะพระอินทร์ก็เป็นคนธรรมดาๆ อย่างเรานี่แหละ มีนามกรว่า มฆะ หรือ มฆมาณพ อยู่ที่ตำบลจุลคาม แคว้นมคธ ได้ร่วมมือกับเพื่อนอีก ๓๒ คน รวมเป็น ๓๓ คน ได้ทำกุศลไว้มากครับเช่น สร้างถนน ศาลาพักร้อน บ่อน้ำ โดยเฉพาะมฆมาณพได้ประพฤติปฏิบัติธรรม ๗ ประการ

๑. เลี้ยงบิดามารดาตลอดชีวิต
๒. ประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูลตลอดชีวิต
๓. พูดจาอ่อนหวานตลอดชีวิต
๔. ไม่พูดส่อเสียดตลอดชีวิต
๕. ไม่ตระหนี่ ให้ทานและยินดีให้ทาน
๖. กล่าวคำสัตย์ตลอดชีวิต
๗. ไม่โกรธเลยตลอดชีวิต

เมื่อตายไปจึงได้ขึ้นสวรรค์ มฆมาณพน่ะเป็นพระอินทร์ พรรคพวกอีก ๓๒ คนก็เป็นเทวดาชั้นผู้ใหญ่กันทั้งนั้น เช่น พระอาทิตย์ พระพิรุณและพระเวสสุกรรม หรือวิศวกรรมเทพการช่างนี่แหละ เรื่องนี้มีอยู่ในพระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับหลวงด้วยครับ และมีเรื่องยืดยาวมาก เอาไว้ผมเล่าเรื่องพระอินทร์โดยเฉพาะก็แล้วกัน เป็นอันว่าพระอินทร์กับพระวิศวกรรมเป็นเพื่อนกันมาก่อนก็แล้วกัน และพระวิศวกรรมนั้นเป็นเทพฝ่ายช่าง

ก็เพราะพระวิศวกรรมเป็นเทพฝ่ายช่างนี่แหละ ในเรื่อง มัทนะพาธา พระราชนิพนธ์พระมงกุฎเกล้าฯ ตอนท้าวชัยเสนตะลึงในความงามของนางมัทนา พรรณาถึงเทพวิศวกรรมไว้ด้วยว่า

“ยืนเพ่งและนั่งพิศ    วรพักตร์ บ หมางเมิน
งามใดบงามเกิน        มะทะนา ณ โลกสาม
แลวิศวะกรรมัน        ผิวะปั้นวะธูตาม
แบบอีกก็ไม่งาม        ดุจะโฉมอนงค์นี้
เหตุนี้สินงคราญ        ณ สถานพิภพตรี
จึงไม่ประสบที่        สิริรูปะเทียมทัน”

เห็นไหมล่ะครับ ท้าวชัยเสนว่านางมัทนาน่ะงามนักหนา พระวิศวกรรมปั้นขึ้น และจะปั้นใหม่อีกสักครั้งก็จะไม่ทรงทำให้งามได้อีกหรอก

ไม่เฉพาะเกี่ยวกับการปั้นรูปเท่านั้นนะครับ การสร้างบ้านก็เชี่ยวชาญเหมือนกัน ในเรื่อง มหาเวสสันดรชาดก ก็มีเรื่องพระวิศวกรรมนี่แหละ คือตอนพระเวสสันดรเสด็จมาบำเพ็ญพรต ณ เขาวงกต พระอินทร์ได้มีเทวบัญชาให้พระเวสสุกรรมเนรมิตอาศรมให้

“พระเวสสุกรรมเทวบุตรรับเทวบัญชาว่าสาธุดังนี้แล้ว ก็คลาดแคล้วจากเทวโลกโดยพลัน ถึงเขาวังกบรรพตนั้นมิช้า ด้วยเทพฤทธิ์ก็นิรมิตพระบรรณศาลาสองหลังตั้งไว้ และถิ่นที่ทั้งปวงสำหรับใช้คือที่จงกรม และถิ่นที่สมควรทุกประการ อนึ่งได้บันดาลด้วยเทพฤทธิ์ ให้กอไม้น้อยๆ มีดวงดอกอันวิจิตรหลายอย่างต่างๆ กัน และกัทลีวันป่ากล้วยมีผลอันหวานงอกขึ้นทันใจในที่นั้นๆ ทำให้เป็นที่สำคัญเหมือนกับมนุษย์บุรุษที่อยู่มาแต่ก่อนปลูกไว้ เป็นเครื่องประดับในพระอาศรมสถาน แล้วนิรมิตบรรพชิตบริขารทุกประการ ตั้งไว้ให้บริบูรณ์พร้อมมูลในบรรณศาลา อกฺขเร ตตฺถ ลิขิตฺวา แล้วเขียนหนังสือเป็นสัญญาประกาศไว้ว่า เยเกจิ ใครๆ จะใคร่บรรพชาก็จงอย่ามีสงกาเลย แล้วจงรับสรรพสิ่งพร้อมสรรพสมณบริขาร อีกถิ่นสถานอาศรมบทนี้ด้วยความยินดีเป็นของตนเถิด พรหมจรรย์อันประเสริฐจงเป็นไปโดยสวัสดี แล้วทำเทวอิทธาธิฏฐานบันดาลให้อมนุษย์ร้ายราวี และมฤคปักษีมีเสียงอันไม่เป็นที่เจริญใจ ให้หนีไปไกลจากที่นั้น กำชับสั่งเทพเจ้าในไพรสัณฑ์ โดยบัญชาสมเด็จท้าวเทวาธิราช ให้รักษาสี่กษัตริย์ให้เสวยสวัสดีอยู่ อย่ามีความประมาทเปิดช่องให้ไพรีมีมา การตามเทพบัญชาพระเวสสุกรรมจัดเสร็จแล้ว ก็คลาดแคล้วคลาไคล คืนพิภพเทวาลัยนั้นแล”

เห็นไหมล่ะครับ พระวิศวกรรมสร้างเก่งกว่านักสถาปัตย์ซะอีก เพราะไม่ต้องมัวสร้างกันละ เนรมิตเอาเลย

ก็ในเรื่องร่ายยาวมหาเวสสันดรนั่นแหละ ตอนท้ายว่าด้วยการกลับชาติ พระวิศวกรรมนี้ได้กลับชาติมาเป็นพระโมคคัลลานะ อัครสาวกของพระพุทธองค์

ในเรื่อง สังข์ทอง พระวิศวกรรมก็เกี่ยวข้องกับเขาเหมือนกัน คือเจ้าเงาะเล่นตัวนัก ไม่ยอมถอดเงาะสักที พ่อตาเกลียดนัก รจนาก็มีแต่ความทุกข์ที่พ่อและลูกเขยไม่กินเส้นกัน ร้อนถึงพระอินทร์อีก ต้องแปลงตัวยกทัพมาล้อมเมือง ชวนเล่นพนันตีคลีกัน ตอนแรกพระวิศวกรรมมีบทบาทถือสารไปตามเทวบัญชาของพระอินทร์

“เมื่อนั้น                                 พระวิศณุกรรมแกล้วกล้า
ผาดแผลงสำแดงฤทธา           เท้าถีบทวาราทลายลง

เห็นพวกรักษาหน้าที่               วิ่งหนีเกลื่อนกลาดตวาดส่ง
แกล้งทำสิงหนาทอาจอง          เดินตรงเข้าโรงรจนา
เห็นท้าวสามานต์อยู่บนอาสน์   หมู่อำมาตย์เฝ้าแหนอยู่แน่นหนา
แกล้งกรายหัวข้าเฝ้าเข้ามา        ยืนอยู่ตรงหน้าเจ้าธานี
ฯลฯ
เมื่อนั้น                                พระวิศณุกรรมแกล้วกล้า
เสแสร้งแกล้งกล่าววาจา        เหวยเหวยพระยาเจ้าธานี
จงก้มเกล้าเคารพอภิวาท       คอยสดับรับราชสารศรี
นายเราให้มาว่าโดยดี            แล้วคลี่ราชสารออกอ่านไป”

ทีนี้ตีคลีพนันกัน หกเขยก็แพ้ ถึงคราวเจ้าเงาะบ้างเจ้าเงาะแกล้งยั่งพ่อตาเล่นติดเครื่องทรงไม่ได้เรื่อง ร้อนถึงพระอินทร์ต้องให้พระวิศวกรรมนี้แหละเอาเครื่องทรงไปให้

เมื่อนั้น                               จึงองค์เจ้าไตรตรึงษา
แจ้งใจในทิพย์วิญญาณ์         จะนิ่งดูอยู่ท่าเห็นช้าที
จึงตรัสสั่งพระวิศณุกรรม์        จงจัดสรรเครื่องทรงเรืองศรี
เอาไปให้พระสังข์ครั้งนี้         จะได้ใส่ตีคลีอวดพ่อตา

เรื่องพระวิศวกรรมปรากฎในวรรณคดีหลายเรื่องครับ โดยมากก็รับเทวบัญชาจากพระอินทร์นั่นแหละ ผมจะเล่าอีกเรื่องเดียวครับ คือ เรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนกำเนิดนางพิม นางศรีประจันฝันเห็นพระวิศวกรรม กลอนตอนนี้บ่งเลยว่าพระวิศวกรรมเป็นเทวดาช่าง มีดังนี้ครับ

“มาจะกล่าวถึงนางศรีประจัน    เที่ยงคืนนอนฝันในเคหา
ว่าพระพิศณุกรรม์เหาะดั้นฟ้า    ถือแหวนประดับมาสวมนิ้วนาง
แล้วก็กลับสถานพิมานมาศ        แสนสนิทพิศวาสจนสว่าง
ตื่นลุกปลุกยังยิ้มหัวพลาง        ล้างหน้าแล้วพลันแก้ฝันไป
ท่านขาคืนนี้ข้าเจ้าฝัน            ว่าพิศณุกรรม์นายช่างใหญ่
ถือแหวนประดับงามจับใจ        เอามาส่งให้ไว้กับเรา
แล้วก็กลับไปสถานพิมานฟ้า    เมียจะเกิดโรคาหรือพ่อเจ้า
ให้เมียรู้ประจักษ์ว่าหนักเบา        ความฝันนั้นเล่ายังติดตา
พันศรโยธาผู้ผัวแก้ว            ฟังเมียเล่าแล้วหัวเราะร่า
จึงทำนายฝันไปมิได้ช้า        ว่าเจ้าฝันนั้นหนาจะมีครรภ์
ได้แหวนประดับลูกจะเป็นหญิง    รูปร่างงามจริงตละแกล้งสรร
ด้วยเป็นแหวนของพระวิศณุกรรม์    จะเป็นช่างใครนั้นไม่ทันเลย
ศรีประจันรับพรหัวเราะร่า        ให้ได้เหมือนปากว่าเถิดพ่อเอ๋ย
ถ้าฉันนี้มีลูกได้ชมเชย            ไม่อุ้มลูกใครเลยให้นินทา”

เอ เรื่องพระวิศวกรรมผมแก่เรื่องวรรณคดีไปแยะเลย เห็จะต้องจบตอนนี้เสียทีแฮะ

จะเป็นไรมี ง่ายนิดเดียว ในหนังสือเทพเจ้าและสิ่งน่ารู้ พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ทรงอธิบายไว้นิดเดียว ผมก็ขอคัดมาเป็นการจบเรื่องเทพองค์นี้นะครับ

“พระวิศุกรรม ฤาเรียกตามภาษาสันสกฤตว่าวิศวกรรมและตวัสตฤก็เรียก นับว่าเป็นศิลปินเอกในหมู่เทวดา

ในรูปชาวมัชฌิมประเทศ เขียนพระวิศุกรรมมีสีกายขาวมี ๓ เนตร ทรงชฎา และอาภรณ์ทอง ถือคทา (ของไทยเราเป็นสีเขียวโพกผ้า)”

ที่มา:รองศาสตราจารย์ประจักษ์  ประภาพิทยากร