พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

Socail Like & Share

พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ  ในสมัยโบราณคงจะเป็นพิธีที่มีความมุ่งหมายเพื่อบำรุงขวัญและเตือนให้เริ่มเพาะปลูกพืชผลโดยเฉพาะคือการทำนา  ซึ่งเป็นธัญญาหารหลักสำคัญยิ่งของการดำรงชีวิต ผู้ปกครองหรือผู้เป็นประมุขของประเทศเมื่อถึงฤดูกาลที่ควรจะเริ่มลงมือเพาะปลูกพืชผล จึงต้องประกอบกรณียกิจเป็นผู้นำโดยลงมือไถ หว่าน พืชพันธุ์ธัญญาหารเป็นตัวอย่างเพื่อเตือนว่าถึงเวลาประกอบการเพาะปลูกตามฤดูกาลแล้ว

ต่อมากาลเวลาได้เปลี่ยนแปลงไป ได้มีการพิธีเรียกว่า จรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ซึ่งพราหมณ์ผู้เป็นเจ้าลัทธิส่งเสริมการให้มีอำนาจและความสวัสดีต่าง ๆ เป็นผู้แนะนำประกอบพิธีตามลัทธิไสยศาสตร์ของพราหมณ์ ในพิธีนี้พระมหากษัตริย์หรือประมุขของประเทศอาจจะทรงมีพระราชภารกิจอื่น จึงโปรดแต่งตั้งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดให้ทำแทนพระองค์ เรียกว่า พระยาแรกนา ทำหน้าที่ ไถ หว่านธัญญพืช พระมเหสีหรือชายาที่เคยร่วมการไถ หว่าน ก็เปลี่ยนเป็นจัดให้นางใน คือท้าวนางใน ราชสำนักออกไปทำหน้าที่หาบกระบุงพันธุ์พืชช่วยพระยาแรกนาไถ หว่าน เรียกว่า เทพี

พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญมีมานานนับพันๆ ปีและมีเกือบทุกชาติ เช่น จีน อินเดีย เป็นต้น สำหรับประเทศไทยมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยและสืบต่อมาในสมัยอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญที่ทำในรัชกาลที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ เป็นพิธีพราหมณ์ตามแบบในสมัยอยุธยา ไม่มีพิธีสงฆ์ประกอบ

ครั้งถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงพระราชดำริโปรดให้มีพิธีสงฆ์ทางพระพุทธศาสนาร่วมประกอบในพิธีด้วย เพื่อเป็นสิริมงคลแก่พืชพันธุ์ธัญญาหารที่นำเข้ามาตั้งในมณฑลพิธี แล้วจึงนำไปไถหว่านในการแรกนาขวัญ เรียกพระราชพิธีในตอนนี้ว่า พืชมงคล เมื่อรวม ๒ พิธีแล้ว เรียกว่า พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นราชประเพณีสืบมาโดยจัดเป็นงาน ๒ วัน วันแรกเป็นพระราชพิธีพืชมงคลซึ่งเป็นพิธีสงฆ์ วันรุ่งขึ้นเป็นพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญซึ่งเป็นพิธีพราหมณ์

พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นพิธีสิริมงคล เพื่อบำรุงขวัญแก่เกษตรกร จึงเป็นวันที่มีความสำคัญ โบราณาจารย์จึงได้วางหลักเกณฑ์ให้ประกอบพิธีในวันดีที่สุดของแต่ละปี ประกอบด้วยขึ้น แรม ฤกษ์ยาม ให้ได้วันอันเป็นอุดมฤกษ์ตามตำราโหราศาสตร์แต่ต้องอยู่ในระหว่างเดือน ๖ โดยที่มีประเพณีต้องหาฤกษ์ตามตำราทางจันทรคติ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญจึงไม่ได้กำหนดวันเวลา ไว้ตายตัว ตามปรกติแล้วจะตกอยู่ในระหว่างเดือนพฤษภาคม การที่ต้องกำหนดให้อยู่ในเดือน ๖ ก็เพราะเดือนนี้เริ่มจะเข้าฤดูฝนเป็นระยะเวลาเหมาะสมสำหรับเกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา จะได้เตรียมทำนาอันเป็นอาชีพหลักสำคัญของชาวไทยมาแต่โบราณ เมื่อโหรหลวงคำนวณได้วันอุดมมงคลพระฤกษ์ที่จะประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญแล้ว สำนักพระราชวังจะได้ลงไว้ในปฏิทินหลวงที่พระราชทาน ในวันขึ้นปีใหม่ทุกปี และได้ลงกำหนดไว้ว่า วันใดเป็นวันพืชมงคล วันใดเป็นวันจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ วันแรกนาขวัญเป็นวันสำคัญของชาติ คณะรัฐมนตรีมีมติให้หยุดราชการ ๑ วัน และมีประกาศให้ชักธงชาติตามระเบียบทางราชการ

พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญได้ปฏิบัติเป็นราชประเพณีตลอดมาจนถึง พ.ศ.๒๔๗๙ แล้วได้เว้นว่างไป ต่อมา พ.ศ. ๒๔๘๓ ทางรัฐบาลสั่งให้กำหนดมีการพระราชพิธีเฉพาะแต่พืชมงคล ที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตามราชประเพณีที่เคยปฏิบัติมา

พระราชพิธีพืชมงคลเป็นส่วนประกอบเพื่อสิริมงคลแก่พันธุ์พืชสำหรับนำไปใช้ในการพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ กำหนดงานก่อนวันพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ๑ วัน มีอ่านประกาศ ถึงความสำคัญที่จะเริ่มพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ในประกาศนั้นอ้างหลักธรรมทางพุทธศาสนาสมัยพุทธกาลคราวเกิดฝนแล้ง ด้วยพุทธานุภาพทรงบันดาลให้ฝนตก ทำนา ทำไร่ หว่านพืชผลได้ตามปรกติ และกล่าวถึงตำนานการสร้างพระคันธารราษฎร์อันเกี่ยวด้วยพุทธานุภาพที่ทรงบันดาลให้มีฝนตกจึงได้สร้างขึ้น ณ เมืองคันธารราษฎร์ครั้งอดีตกาล แล้วประกาศสดุดีเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก องค์ปฐมกษัตริย์ที่ได้ทรงสร้างพระพุทธคันธารราษฎร์ขึ้นไว้เพื่อประกอบการพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญตามตำนานที่มีมาแต่โบราณกาล ซึ่งเป็นราชประเพณีที่พระมหากษัตริย์ทรงอนุวัติจัดงานพระราชพิธีนี้สืบมา สุดท้ายประกาศถวายพระพรชัยมงคล และขอ อำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยสิ่งศักดิ์สิทธี่ที่เคารพบูชา เทพยดาทั้งปวง ประสิทธิประสาทให้พืชพันธุ์ธัญญาหารในราชอาณาจักรอุดมสมบูรณ์งอกงามเจริญดี ตลอดจนขอให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล จบประกาศแล้ว พระสงฆ์ ๑๑ รูปเจริญพระพุทธมนต์เป็นคาถาพิเศษสำหรับพืชมงคลโดยเฉพาะเพื่อเสก พืชพันธุ์ต่างๆ ที่ได้นำมาตั้งเข้าพิธีมณฑล มีข้าวเปลือกพันธุ์ดีต่างๆ ถั่วทุกชนิด ข้าวโพด งา ฟัก แฟง แตงกวา เผือก มัน ฝ้าย เป็นต้น

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๐๓ เลขาธิการพระราชวังรับพระบรมราชโองการเหนือเกล้าฯ สั่งว่าพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ แต่เดิมมาจัดเป็นงาน ๒ วัน แล้วได้ระงับไปคงไว้แต่พิธีพืชมงคลจัดเป็นงานประจำปีทุกปี สำหรับปี พ.ศ. ๒๕๐๓ ทางรัฐบาลเห็นควรจัดให้มีการแรกนาขวัญขึ้นอย่างเดิมเพื่อรักษาบูรพประเพณีอันเป็นมิ่งขวัญของการเกษตรไว้สืบไป สำนักพระราชวังและกระทรวงเกษตรจึงได้กำหนดงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ตามราชประเพณีเดิมขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๓ จนถึงปัจจุบันนี้ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานการพระราชพิธีทุกปี ทรงมีพระราชกระแสให้ปรับปรุงพระราชพิธีเพื่อความเหมาะสมตาม ยุคสมัยด้วย พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญแต่เดิมมาทำที่ทุ่งนาพญาไท เมื่อได้มีการฟื้นฟูพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญขึ้นใหม่ จึงจัดให้มีขึ้นที่ท้องสนามหลวงซึ่งเคยเป็นที่ประกอบพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในรัชกาลที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓

ส่วนผู้ที่จะเป็นพระยาแรกนาในสมัยก่อนเคยโปรดเกล้าฯ ให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวง เกษตราธิการ เป็นพระยาแรกนา และผู้ที่เป็นเทพีหาบกระบุงทอง กระบุงเงิน บรรจุข้าวเปลือกหว่านนั้น โปรดเกล้าฯ ให้จัดท้าวนางฝ่ายใน เมื่อเวลาได้เปลี่ยนเเปลงหน้าที่ตำแหน่งไปแล้วเช่นนี้ เมื่อเริ่มฟื้นฟูพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญขึ้นมาใหม่ พระยาแรกนาจึงได้แก่อธิบดีกรมการข้าว กระทรวงเกษตร เทพีได้คัดเลือกจากข้าราชการสตรีผู้มีเกียรติในกระทรวงเกษตร ในปีต่อมาจนถึงปัจจุบันผู้เป็นพระยาแรกนาได้แก่ผู้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่วนเทพีนั้นคัดเลือกจากข้าราชการสตรีโสดในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ระดับ ๓-๕ คือชั้นโทขึ้นไป

พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นพิธีเพื่อสิริมงคลแก่พืชพันธุ์ธัญญาหาร สนับสนุนส่งเสริมชาวไร่ชาวนาในการประกอบอาชีพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง ได้เสด็จฯ มาทรงเป็นประธานอธิษฐานขอความสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารให้มีแก่อาณาจักรไทยและได้ทรงปลูกพันธุ์ข้าวทดลองในนาทดลองบริเวณสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต ซึ่งเป็นพระราชฐานที่ประทับ เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วพระราชทานนำมาเข้าในพระราชพิธีประมาณ ๔๐-๕๐ กิโลกรัม เมล็ดพันธุ์ข้าวที่พระราชทานมาเข้าพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้แบ่งไปหว่านที่ลานประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งจัดบรรจุซองส่งไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วราชอาณาจักรสำหรับแจกจ่ายแก่เกษตรกรเพื่อเป็นสิริมงคลตามพระราชประสงค์ที่ทรงส่งเสริมการเกษตรพระราชพิธีพืชมงคล

พระราชพิธีพืชมงคล
ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เจ้าหน้าที่เชิญพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์รัชกาลปัจจุบัน  พะพุทธคันธารราษฎร์ของรัชกาลที่ ๑ พระพุทธรูปปางสมาธิทรงภาวนาให้ต้นข้าวเกิดงอกงามรอบพุทธ บัลลังก์ รัชกาลที่ ๑ ทรงสร้าง พระชัยนวโลหะรัชกาลที่ ๔ พระชัยนวโลหะรัชกาลที่ ๕ พระคันธารราษฎร์ขอฝนแบบจีน พระบัวเข็ม
เทวรูปพระพลเทพ พระโคอุศุภราช ตั้งบนม้าหมู่ในธรรมาสน์ศิลาหน้าฐานชุกชีพุทธบัลลังก์บุษบกพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ใต้ธรรมาสน์ศิลาตั้งกระบุงทอง กระบุงเงินอย่างละคู่บรรจุข้าวเปลือกพันธุ์ดีที่เป็นของพระราชทานจากนาทดลอง และมีถุงบรรจุพันธุ์พืชต่างๆ
คือ ผักกาดกวางตุ้ง ดอกผักกาดหอม ข้าวโพดขาว ผักกาดขาวปลี แตงกวา พริกชี้ฟ้า แตงกวาผสม ละหุ่ง ผักกาดหัว บวบเหลี่ยม มะระจีน คะน้าใบ ผักกาดขาวกวางตุ้ง คะน้ายอด มะเขือเทศสีดา แตงร้าน แตงโม ฟักทอง พริกขี้หนู มันแกว แตงไทย ผักบุ้งจีน ผักกาดขาวใหญ่ ถั่วฝักยาว ถั่วแขก ตั้งโอ๋ นํ้าเต้า ข้าวโพดเกษตร ถั่วเหลือง ถั่วเขียว เมล็ดงา ผักปวยเล้ง กระเจี๊ยบ ขึ้นฉ่าย ชุนฉ่าย ฟักเขียว ผักกาดขาวปลี ผักชี ผักกาดเขียวกวางตุ้ง แฟง ผักขมจีน เผือก มัน แล้ววงสายสิญจน์จากพระพุทธรูปสำคัญโยงไปถวายพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ หน้าธรรมาสน์ศิลาทอดเครื่องนมัสการพุ่มพานดอกไม้ ธูปเทียนไว้พร้อม

ก่อนเวลาเสด็จพระราชดำเนิน พระยาแรกนาแต่งกายเครื่องแบบครึ่งยศ ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เทพีทั้ง ๔ แต่งกายชุดไหมไทยห่มสไบผ้าไหมประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ มายังพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม จุดธูปเทียนสักการบูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร แล้วไปนั่งเก้าอี้ที่เฝ้าฯ ตามลำดับ

เวลา ๑๖ นาฬิกา ๓๐ นาที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ไปยังพระบรมมหาราชวัง เสด็จพระราชดำเนินขึ้นสู่พระอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปทรงจุดเทียนท้ายที่นั่งบูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระสัมพุทธพรรณี พระพุทธรูปฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระพุทธรูปฉลองพระองค์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการที่หน้าธรรมาสน์ศิลา ทรงกราบ ทรงรับการถวายความเคารพของผู้มาเฝ้าฯ แล้วประทับพระราชอาสน์ เจ้าหน้าที่กองศาสนูปถัมภกรมการศาสนา อาราธนาศีล พระราชาคณะถวายศีล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงศีล เมื่อทรงศีลแล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ไปที่ธรรมาสน์ศิลา ทรงพระสุหร่ายสรงพระพุทธปฏิมาชัยวัฒน์ และพระพุทธรูปสำคัญแล้วทรงประพรมพืชต่างๆ ทรงโปรยดอกไม้มีดอกมะลิและกลีบกุหลาบ แล้วถวายพวงมาลัยที่พระพุทธรูปทุกองค์โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้ทูนเกล้าถวาย แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจุดเทียนบูชาพระคันธารราษฎร์ ๒ คู่ และทรงจุดเทียน ที่พระคันธารราษฎร์จีนอีก ๑ เล่ม ทรงกราบอธิษฐานขอความสมบูรณ์แห่งพืชผลของราชอาณาจักร แล้วประทับพระราชอาสน์ หัวหน้าพราหมณ์อ่านประกาศพระราชพิธีพืชมงคล

เมื่อหัวหน้าพราหมณ์อ่านประกาศพระราชพิธีพืชมงคลจบ พระสงฆ์ ๑๑ รูป มีพระราชาคณะวัดระฆังโฆสิตารามเป็นประธานสงฆ์ และพระเปรียญ ๙ ประโยคจากวัดต่างๆ อีก ๑๐ รูป รวมเป็น ๑๑ รูป เจริญพระพุทธมนต์คาถาพืชมงคลจบ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระยาแรกนา เข้าไปเฝ้าฯ คุกเข่าถวายบังคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหลั่งนํ้าสังข์พระราชทานรดที่ศีรษะ ทรงเจิมแป้งกระแจะที่หน้าผาก พระราชทานใบมะตูมทัดที่ซอกหูขวา และพระราชทานธำมรงค์นพเก้าสำหรับสวมที่มือขวา ๑ วง ที่มือซ้าย ๑ วง แล้วพระราชทานพระแสง ปฏักที่จะถือใช้ในวันจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ แล้วลุกขึ้นถวายคำนับ กลับไปนั่งเฝ้าฯ ที่เดิม ต่อจากนี้ ข้าราชการสตรีในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเทพี ๔ คน ถวายความเคารพ เดินเข้าไปหมอบเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหลั่งนํ้าสังข์พระราชทานรดที่ศีรษะ ทรงเจิม พระราชทานใบมะตูมทัดที่ซอกหูขวาตามลำดับ ขณะที่พระยาแรกนาและเทพีรับพระราชทานนํ้าสังข์นั้น พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถาจนเสร็จการพระราชทานนํ้าสังข์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมซึ่งบรรจุในถาดมีคนโทแก้วบรรจุน้ำฝนด้วย เป็นราชประเพณีที่จะต้องจัดภาชนะบรรจุนํ้าฝนถวายพระสงฆ์เฉพาะงานพระราชพิธีพืชมงคลตามที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงพระราชดำริไว้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถวายจตุปัจจัยไทยธรรมแล้ว ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก แล้วออกจากพระอุโบสถ

เมื่อพระสงฆ์ออกจากพระอุโบสถแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปทรงกราบที่หน้าเครื่องนมัสการ ทรงรับการถวายความเคารพของผู้มาเฝ้าฯ เสด็จพระราชดำเนินกลับ

หลังจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินกลับแล้ว คณะพราหมณ์เชิญเทวรูปสำคัญที่ตั้งในมณฑลพิธี คือ พระพลเทพ พระโคอุศุภราช ไปเข้าเบญจาพิธีมณฑล ณ โรงพิธีพราหมณ์ที่ท้องสนามหลวง ที่แท่นมณฑลพิธีนี้ พราหมณ์ได้เชิญเทวรูปสำคัญจาก เทวสถานเสาชิงช้า มาตั้งเข้าพิธี คือพระอิศวร พระนารายณ์ พระอุมา พระพรหม และพระพิฆเณศวร์ พร้อมด้วยกระบุงทอง กระบุงเงินบรรจุข้าวเปลือกที่ได้เข้าพิธีในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามรวมทั้งพืชพันธุ์ต่างๆ และเครื่องพิธีตามลัทธิธรรมเนียมของพราหมณ์ คณะพราหมณ์ประกอบพิธีกรรมสวดบูชาพระเวทย์ตลอดคืน

วันนี้แต่งกายเครื่องแบบครึ่งยศ

พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
เวลาประมาณ ๖ นาฬิกา พระยาแรกนาพร้อมด้วยเทพีแต่งกายที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พระยาแรกนาสวมสนับเพลาปลายขอบปักดิ้นทอง ถุงเท้าขาว รองเท้าหุ้มส้นสีดำไม่ผูกเชือกมีกรอบทำด้วยโลหะสีทองติดคล้ายโบ นุ่งผ้าเยียรบับชายพกพับจีบ ไม่จีบโจง ใช้เชือกสายแถบรัดเอว สวมเสื้อเยียรบับพื้นเขียวลายทองแขนยาวแบบราชการ กระดุม ๕ เม็ด สวมสายสะพายและประดับราชอิสริยาภรณ์ คาดเข็มขัดทำด้วยโลหะสีทองรัดเอวนอกเสื้อ สวมเสื้อครุยผ้าโปร่งปักดิ้นทองแล้วกลัดดวงตราปักอักษรย่อ จจจ.เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ส่วนเทพีนุ่งจีบหน้านางผ้าเยียรบับหรือผ้าไหมไทยทอยกดอกลายสีทองพื้นสีตามความเหมาะสม สวมเสื้อไหมไทยรัดรูปแขนยาว คาดเข็มขัดทำด้วยโลหะเป็นเกลียวเกี่ยวขัดสีทอง ห่มผ้าสไบปักทองแล่ง ประดับอาภรณ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ได้รับพระราชทาน สวมถุงเท้าสีเนื้อ รองเท้าหนังหุ้มส้นสีทองปลายงอน เสร็จแล้วพระยาแรกนาขึ้นรถยนต์หลวงออกจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปยังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เทพีและข้าราชการ (แต่งเครื่องแบบเต็มยศประดับราชอิสริยาภรณ์) เชิญเครื่องยศขึ้นรถตามเป็นกระบวน เมื่อเข้าสู่พระ อุโบสถแล้วพระยาแรกนาและเทพีจุดธูปเทียนถวายนมัสการบูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร แล้วไปที่ปราสาทพระเทพบิดรถวายสักการะพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช แล้วไปขึ้น รถยนต์หลวงเป็นกระบวนออกจากวัดพระศรีรัตนศาสดารามไปยังท้องสนามหลวง

เวลา ๗ นาฬิกา เจ้าพนักงานจัดตั้งริ้วกระบวนอิสริยยศตามแบบประเพณีโบราณรับพระยาแรกนา พระยาแรกนาลงจากรถยนต์หลวงแล้วสวมลอมพอกเดินเข้าประจำที่ในกระบวนพร้อมด้วยคู่เคียง ๒ ข้างๆ ละ ๘ นาย ผู้เชิญเครื่องยศและเทพีจัดเป็นรูปกระบวนยาตราไปยังโรงพิธีพราหมณ์ ประโคมกลองชนะ สังข์ แตร ตลอดทาง

ริ้วกระบวนอิสริยยศ พระยาแรกนา

นำริ้ว ๑    นุ่งผ้าม่วงเชิง เสื้อนอกขาว หมวกทรงประพาสดำ
จ่าปี่ ๒    สวมกางเกงมัสรู่ไหมเหลือง เสื้อเข้มขาบ หมวกทรงประพาสโหมดเทศยอดเกี้ยว
กลองชนะ    แถวละ ๑๐ คน ๒ แถว สวมกางเกงปัสตูแดงปลายขาขลิบขอบเหลือง เสื้อปัสตูแดง ปลายแขนขลิบขอบเหลือง หมวกกลีบลำดวนขลิบเหลือง
แตรฝรั่ง ๑๐    สวมกางเกงปัสตูแดงปลายขาขลิบขอบเหลือง เสื้อปัสตูแดงแขนบาน ขลิบปลายลูกไม้กระจังสีทอง หมวกทรงกรวยปัสตูสีแดงขอบขลิบลูกไม้กระจัง ยอดจุกขาว
แตรงอน ๑๐    สวมกางเกงปัสตูแดงปลายขาขลิบขอบเหลือง เสื้อปัสตูแดงแขนบาน ขลิบปลายลูกไม้กระจังสีทอง หมวกทรงกรวยปัสตูสีแดงขอบขลิบลูกไม้กระจัง ยอดจุกขาว
สังข์ ๒        พราหมณ์
พราหมณ์เป่าสังข์ ๒    เดินนำในกระบวน หน้ากรรชิง
กรรชิง หน้า ๒     สวมกางเกงมัสรู่ริ้วไหมสีเหลืองพื้นแดง เสื้อมัสรู่แขนยาวปลายแขนขลิบ
กรรชิง หลัง ๒    กระจังสีทอง หมวกหูกระต่ายแดงขลิบขอบเหลือง
คู่เคียง ข้างละ ๘ คน ๒ ข้าง ข้าราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระดับ ๕-๖ แต่งเครื่องแบบเต็มยศพระยาแรกนาเข้ากระบวนเดินอยู่กลางระหว่างคู่เคียงมีพนักงานเชิญบังสูรย์และสัปทนกางกั้น    พนักงานนุ่งผ้าม่วงสีน้ำเงิน เสื้อนอกขาว คาดรัดประคดแดง

หลังพระยาแรกนาข้าราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระดับ ๕ – ๖ แต่งเครื่องแบบเต็มยศ เชิญเครื่องยศของพระยาแรกนาซึ่งได้ราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า มีพานหมากทองคำลงยาเครื่องพร้อม (มี จอกหมาก จอกยาฝอย ซองพลู ตลับภู่ มีดเจียนหมากทำด้วยทองคำ) กระโถนทองคำขอบสลัก กานํ้าทองคำทรงมันมีพานรอง คนโททองคำมีพานรอง

เมื่อพระยาแรกนาเข้าสู่โรงพิธีพราหมณ์ หัวหน้พราหมณ์เชิญพระยาแรกนาไปที่แท่นเบญจามณฑลพิธี จุดธูปเทียนบูชาเทวรูปพระผู้เป็นเจ้าซึ่งเชิญมาประดิษฐานในการประกอบพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ คือพระอิศวร พระนารายณ์ พระอุมา พระพรหม พระพิฆเณศวร์ พระพลเทพ พระโคอุศุภราช พระยาแรกนาจุดธูปเทียนสักการบูชาแล้วไปนั่งพัก ณ เก้าอี้ที่จัดไว้พร้อมด้วยเทพี และผู้เชิญเครื่องยศ หัวหน้าพราหมณ์เข้าไปหลั่งนํ้าสังข์ที่มือและให้ใบมะตูมแก่พระยาแรกนาและเทพีทั้ง ๔ ต่อจากนี้หัวหน้าพราหมณ์เชิญโต๊ะเงินใส่ผ้านุ่งสำหรับเสี่ยงทายมีผ้าคลุมให้พระยาแรกนาสอดมือ เลือกหยิบดึงออกมา เมื่อเลือกได้แล้วเข้าไปในห้องเพื่อนุ่งทับผ้าที่นุ่งอยู่เดิม ผ้านุ่งเสี่ยงทายมี ๓ ผืน ขนาดกว้าง ๔ คีบ ๕ คีบ ๖ คีบ มีคำพยากรณ์ ดังนี้
ผ้า ๔ คืบ พยากรณ์ว่านํ้าจะมากสักหน่อย นาในที่ดอนจะได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่มอาจจะเสียหายบ้างได้ผลไม่เต็มที่
ผ้า ๕ คืบ พยากรณ์ว่านํ้าในปีนี้จะมีปริมาณพอดี ข้าวกล้าในนาจะได้ผลสมบูรณ์และผลาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี
ผ้า ๖ คืบ พยากรณ์ว่านํ้าน้อย นาในที่ลุ่มจะได้ผลบริบูรณ์ดี แต่นาในที่ดอนอาจจะเสียหายบ้าง ได้ผลไม่เต็มที่

ครั้นพระยาแรกนานุ่งผ้าเสี่ยงทายทับอีกชั้นหนึ่งแล้วออกมานั่งรอ ณ ที่เดิม

เวลา ๘ นาฬิกา ๓๐ นาที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต มาถึงพลับพลา ณ ท้องสนามหลวง พระบรมวงศานุวงศ์ องคมนตรี นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา ประธานรัฐสภา รัฐมนตรี ข้าราชการ ทหาร พลเรือน และคณะทูตานุทูตเฝ้าฯ รับเสด็จ นอกจากนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดที่นั่งไว้ในปะรำ ให้กลุ่มชาวนาเกษตรกรเฝ้าฯ และชมพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญด้วย

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ถึงแถวทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์เป่าแตรถวายความเคารพ ดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ขึ้นประทับ ณ มุขกลางพลับพลา

ส่วนทางโรงพิธีพราหมณ์ตั้งแถวแตรกลองชนะยืนอยู่กับที่ และได้ตั้งกระบวนสำหรับพระยาแรกนาจะเข้าสู่ลานแรกนา มีราชบัณฑิต ๑ (ผู้เป็นเปรียญธรรม) เชิญพระเต้าเทวบิฐบรรจุน้ำพระพุทธมนต์ พระเต้านี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงสร้างขึ้น และโปรดให้ใช้ประพรมพื้นแผ่นดินในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นราชประเพณีสืบมา ถัดจากราชบัณฑิตมีพราหมณ์เป่าสังข์ ๑ คู่ พราหมณ์เชิญพระโคอุศุภราช ๑ คนนำ และมีกรรชิงหน้า ๑ คู่ กรรชิง หลัง ๑ คู่ แล้วถึงพระยาแรกนาถือพระแสงปฏักที่ได้รับพระราชทาน หลังพระยาแรกนา หัวหน้าพราหมณ์เดินตามแล้วเทพีทั้ง ๔ หาบกระบุงทอง ๑ คู่ เงิน ๑ คู่ บรรจุข้าวเปลือกตามเมื่อถึงพลับพลาที่ประทับ พระยาแรกนาส่งพระแสงปฏักให้หัวหน้าพราหมณ์ถือไว้ พระยาแรกนาเข้าไปเฝ้าฯ ที่ชานชั้นลดพลับพลาตรงที่ประทับ คุกเข่าถวายบังคม ๓ ครั้ง แล้วถอยออกมารับพระแสงปฏักจากหัวหน้าพราหมณ์ เดินเข้าสู่ลานแรกนาตรงไปที่พระโค ๒ ตัวที่เทียมแอก พระยาแรกนาเจิมคันไถแล้วเจิมพระโคทั้งคู่

ครั้นได้มงคลอุดมฤกษ์ โหรหลวงบูชาพระฤกษ์และลั่นฆ้องชัย เจ้าพนักงานพิธียํ่ามโหระทึก ประโคมแตรฝรั่ง ปี่พาทย์ทำเพลงพร้อมกัน พระยาแรกนาจับหางคันไถมือหนึ่ง อีกมือหนึ่งถือพระแสง ปฏัก บัณฑิตถือพระเต้าเทวบิฐสาดพรมนํ้าพระพุทธมนต์ลงในพื้นดินนำ และพราหมณ์เชิญเทวรูปพระโคอุศุภราชและพระพลเทพเดินนำหน้าพระโค พระยาแรกนาเดินไถดะไป ๓ รอบ โดยขวาง ๓ รอบ แล้วส่งพระแสงปฏักให้หัวหน้าพราหมณ์ถือไว้ พระยาแรกนาหยิบพันธุ์ข้าวเปลือกในกระบุงทองกระบุงเงิน ที่เทพีหาบตามหว่านลงในลานแรกนาจนครบ ๓ รอบ แล้วไถกลบอีก ๓ รอบ เมื่อครบแต่ละรอบ โหรหลวงลั่นฆ้องชัย เจ้าพนักงานประโคมแตรงอนแตรฝรั่ง ส่วนปี่พาทย์และมโหระทึกบรรเลงและยํ่าพร้อมกันตลอดเวลา

ครั้นหว่านกลบเสร็จแล้ว พระยาแรกนารับพระแสงปฏักจากหัวหน้าพราหมณ์กลับเข้าโรงพิธีพราหมณ์พร้อมด้วยเทพีโดยกระบวนไม่ผ่านหน้าพลับพลา ราชบัณฑิตเชิญพระเต้าเทวบิฐและพราหมณ์เชิญเทวรูปพระพลเทพ พระโคอุศุภราช ไปตั้งยังแท่นเบญจาตามเดิม พนักงานผู้ทำหน้าที่ดูแลพระโคปลดพระโคออกจากแอกแล้วจูงพระโคทั้งคู่ไปยืนที่ขอบลานแรกนาตรงหน้าพลับพลาที่ประทับ พราหมณ์ถือถาดวางกระทงบรรจุของเลี้ยงพระโคเป็นการเสี่ยงทายถาดละ ๗ สิ่ง คือ ข้าวเปลือก ข้าวโพด ถั่ว งา เหล้า น้ำ หญ้า พระโคกินอะไรพราหมณ์ผู้ถือถาดกระทงอาหารจะได้แจ้งแก่โหรหลวง แล้วโหรหลวงจดรายงานพยากรณ์ให้รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่ออ่านกราบบังคมทูลในการพระโคกินอาหาร แล้วรองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กราบบังคมทูลถึงผ้านุ่งเสี่ยงทายและการเสี่ยงทายพระโคกินเลี้ยง

เมื่อจบคำกราบบังคมทูลแล้ว รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กราบบังคมทูลเบิกชาวนา ผู้ชนะการประกวดผลผลิตข้าวแต่ละภาค รวม ๔ คน เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานรางวัลตามลำดับแล้ว ต่อจากนี้เบิกเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานสหกรณ์ดีเด่นเข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานโล่เกียรติคุณ พระยาแรกนาจะได้ยาตรากระบวนอิสริยยศออกจากโรงพิธีพราหมณ์ผ่านหน้าพลับพลาที่ประทับ เมื่อถืงหน้าพลับพลาพระยาแรกนาเข้าไปคุกเข่ากราบถวายบังคม ๓ ครั้งแล้วถอยออกมาเข้ากระบวนต่อไป กระบวนผ่านพลับพลาแล้วพระยาแรกนาขึ้นรถยนต์หลวงไปรอเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่แปลงนาทดลองในบริเวณสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต พร้อมด้วยเทพี

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งออกจากพลับพลาพิธี ณ ท้องสนามหลวง ไปยังแปลงนาทดลองในสวนจิตรลดาอันเป็นพระราชฐานที่ประทับ แล้วโปรดเกล้าฯ พระราชทานพันธุ์ข้าวให้พระยาแรกนาหว่านในแปลงนาทดลองสำหรับนำไปใช้ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญปีต่อไป หลังจากนั้นทรงพระราชปฏิสันถารเกี่ยวกับการเกษตร ประมง ปศุสัตว์ แล้วเสด็จขึ้น

วันนี้แต่งกายเครื่องแบบปรกติขาว

ที่มา:กรมศิลปากร