พระพุทธเจ้าไม่ใช่เทพไม่ใช่มนุษย์

Socail Like & Share

พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระองค์มิใช่เทพ มิใช่คนธรรพ์ มิใช่ยักษ์ มิใช่มนุษย์ ข้อนี้มีหลักฐานจากบาลีในจตุกกนิบาต อังคุตตรนิกาย ความไทยโดยย่อว่า

ที่ระหว่างเมืองอุกกัฏฐะกับเมืองเสตัพยะ โทณพราหมณ์ได้พบพระพุทธเจ้า แต่ไม่รู้จัก เห็นพระพุทธองค์มีลักษณะ คือ มีรอยพระบาทอันน่าอัศจรรย์ จึงทูลถามว่า เป็นเทพหรือ เป็นคนธรรพ์หรือ เป็นยักหรือเป็นมนุษย์หรือ พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า ไม่ใช่ๆ ทุกคำถาม

พราหมณ์จึงทูลถามว่า แล้วเป็นอะไร พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า เพราะละอาสวะเหล่าใดไม่ได้ เราจึงต้องเกิดเป็นเทวดา ต้องเกิดเป็นคนธรรพ์ ต้องเกิดเป็นยักษ์ ต้องเกิดเป็นมนุษย์ ดังนี้ อาสวะเหล่านั้น เราละได้ขาดแล้ว ดอกบัวเกิดในน้ำ ขึ้นพ้นน้ำ น้ำไม่ติดมาฉันใด เราเกิดในโลก โลกไม่ติดเรา เราไม่ติดโลกฉันนั้น จงรู้ว่าเราเป็นพุทธะเถิด

ข้อนี้แสดงว่า ทางพระพุทธศาสนาถือว่า เมื่อยังมีกิเลสอยู่ ก็เรียกว่าเป็นเทวดา เป็นมนุษย์ เป็นสัตว์ เป็นต้น แล้วแต่จะเกิดเป็นอะไร พอละกิเลส ไร้กิเลสแล้ว ก็พ้นจากความเป็นเทวดา เป็นต้น

ในพระพุทธศาสนาแสดงว่า เทพเจ้านั้น คือ ผู้เป็นตัวอย่างของผู้ได้รับผลของการกระทำดี(กุศลกรรม) อย่างสูง มิใช่เป็นเทพเจ้าผู้สร้างสิ่งทุกๆ อย่าง ทั้งมีมากองค์ และยังแบ่งเป็น ๓ ประเภท คือ อุปปัตติเทพ สมมติเทพ และวิสุทธิเทพ

อุปปัติเทพ คือ เทพเจ้าในสวรรค์ หรือวิมานนั้นๆ เป็นพวกอทิสสมานกาย คือ ไม่เห็นตัว(ด้วยตาธรรมดา)

สมมติเทพ คือ พระมหากษัตริย์หรือคนชั้นสูง

วิสุทธิเทพ คือ ผู้ไร้กิเลส เป็นเทพที่วิเศษที่สุด สูงกว่าเทพชนิดอื่น ข้อนี้แสดงว่า ในพระพุทธศาสนานี้ถือว่า

๑. คนมีโอกาสเป็นเทพเจ้าได้ทั้งเป็น โดยมิต้องรอให้ตายก่อนแล้วจึงไปเกิดเป็น

๒. เทพเจ้าบนสวรรค์ มิใช่จะวิเศษเสมอไป ยังสู้คนบางประเภท คือ ผู้ไร้กิเลสไม่ได้

๓. ศาสนานี้ ถือความดีเป็นสำคัญ

ความกลัว
เรื่องความกลัวนี้มีมาก แต่พระพุทธองค์ทรงสอนให้กลัวเกรงตัวเอง เพราะเมื่อกลัวเกรงตัวเองแล้ว คนอื่นสิ่งอื่นก็ไม่มีปัญหา หรือมีก็น้อย และการที่ทรงสอนเรื่องความละอายตนเอง(หิริ) เกรงกลัวตนเอง(โอตตัปปะ) ย่อมเป็นการแสดงว่า การอายตนเอง การเกรงกลัวตัวเองสำคัญกว่าการอายและเกรงกลัวคนอื่น สิ่งอื่น การเกรงเขาว่านั้น เมื่อเขาไม่รู้ไม่เห็น คนก็ทำชั่วได้ แต่ถ้าเกรงตัวเองแล้ว คนอื่นจะเห็น ไม่เห็น ตนเองก็ไม่ทำชั่ว เพราะเกรงตัวเอง

ตนเอง-ใจ
เรื่องเกี่ยวกับตนและใจนี้ เพียงในธรรมบท ขุททกนิกายเท่านั้น ก็ได้มีกล่าวไว้เป็นอันมาก ความไทยเป็นต้นว่า

๑. ตนเป็นที่พึ่งของตน
๒. สอนคนอื่นอย่างไร ต้องทำตนอย่างนั้น
๓. ก่อนจะสอนผู้อื่น ตนต้องทำตัวให้ดีก่อน
๔. พึงเตือนตนเอง พึงพิจารณาตนเอง
๕. ผู้ใดมีปัญญาทราม อาศัยมิจฉาทิฏฐิ คัดค้านคำสอนของพระอริยเจ้าผู้เป็นอรหันต์ผู้เป็นอยู่โดยธรรม ทิฏฐิของเขาย่อมให้ผลฆ่าตนเอง ดุจขุยไผ่ฆ่าต้นไผ่

เกี่ยวกับการรับผิดชอบในการกระทำของตนเองนั้น มีพระบาลีในธรรมบท ขุททกนิกาย ความไทยว่า เขาทำชั่วด้วยตนเอง เขาก็เศร้าหมองเอง เขามิได้ทำความชั่วเอง เขาก็บริสุทธิ์(จากความชั่ว)เอง ความบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์เป็นของเฉพาะตน คนอื่นจะทำให้เขาบริสุทธิ์ไม่ได้

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา