สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์พระบรมราชเทวี

Socail Like & Share

เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจ้าจอมมารดาเปี่ยม ซึ่งต่อมาได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา ทรงพระราชสมภพเมื่อวันเสาร์ แรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีวอก โทศก จ.ศ. ๑๒๒๒ ตรงกับวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๐๓ เมื่อแรกพระราชสมภพพระนางเรือล่มพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมชนกนาถ ทรงโสมนัสมาก ได้มีพระราชหัตถเลขาส่งข่าวให้พระองค์เจ้าปัทมราช ซึ่งประทับอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช ทรงทราบว่า

“…ปีนี้กระหม่อมฉันมีบุตรชายอีก ๒ คน บุตรหญิง ๑ คน…
… หญิงคนหนึ่งนั้นชื่อสุนันทากุมารีรัตน์ เป็นน้องมารดาเดียวกับชายอุณากรรณ และชายเทวัญอุทัยวงศ์ ออกเมื่อเดือน ๑๒”

พระนาม “สุนันทากุมารีรัตน์” นี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งพระราชทานแด่พระราชธิดาด้วยพระองค์เอง โดยพระราชนิพนธ์เป็นคาถาภาษาบาลี มีคำแปลเป็นภาษาไทย ความว่า

“พระองค์เจ้าหญิงองค์นี้ ทรงนามว่า สุนันทากุมารีรัตน์ อย่างนี้ดังนี้ จงอย่ามีโรค จงมีความสุข ปราศจากทุกข์และความวุ่นวายเถิด พระองค์เจ้าหญิงนั้นจงมั่นคงด้วยทรัพย์มาก มีโภคมาก มียศและบริวารไม่แปรผัน ขอพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ กับทั้งอารักขเทพดา จงช่วยอภิบาลรักษาพระองค์เจ้าหญิงสุนันทากุมารีรัตน์นั้น ให้พ้นไปจาก
อันตรายเป็นนิตย์ ขอความสัมฤทธิ์จงมีแก่พระองค์เจ้าหญิงสุนันทากุมารีรัตน์เทอญ”

นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชทรัพย์จำนวนหนึ่งไว้สำหรับพระองค์ เป็นทุนสำหรับประกอบกิจการเป็นผลประโยชน์เมื่อเจริญพระชนมายุ เนื่องจากทรงพระราชดำริว่า ขณะเมื่อพระราชธิดาประสูตินั้น พระองค์เจริญพระชนมพรรษามากแล้ว หากเสด็จสวรรคตในขณะที่พระราชธิดายังทรงพระเยาว์ พระราชธิดาจะทรงลำบาก จึงพระราชทานเงินพร้อมทั้งมีพระราชหัตถเลขาเป็นหลักฐานกำกับไว้ ตลอดจนพระราชทานพระบรมราโชวาทให้พระราชธิดาประพฤติแต่การอันสมควร ซึ่งนับว่าได้ทรงเตรียมการไว้อย่างรอบคอบ เพราะหลังจากพระราชธิดาประสูติได้ ๘ ปี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เสด็จสวรรคตลงในปี พ.ศ. ๒๔๑๑ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี มีพระประยูรญาติร่วมพระชนนีดังนี้

๑. พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชย

๒. พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ ภายหลังได้รับสถาปนาเป็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เป็นต้นราชสกุล เทวกุล

๓. สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี

๔. พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา ภายหลังได้รับสถาปนาเป็น สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

๕. พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี ในรัชกาลที่ ๖ ทรงสถาปนาเป็น สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง

๖. พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ ภายหลังได้รับสถาปนาเป็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฏ์ เป็นต้นราชสกุล สวัสดิวัตน์

การศึกษาของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี นั้น สันนิษฐานว่าคงจะทรงศึกษาอักขรวิธี ภาษา สรรพวิชาต่างๆ จารีตประเพณี ตลอดจนวิชาการต่างๆ อันสมควรแก่ขัตติยราชกุมารี จากพระตำหนักพระบรมวงศ์ฝ่ายใน ในพระบรมมหาราชวัง ต่อมาเมื่อเจริญพระชนมายุขึ้นจึงได้เป็นพระอัครมเหสี ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

กล่าวกันว่าสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี มีพระสิริโฉมงดงาม พระอัธยาศัยอ่อนโยน เรียบร้อย เป็นที่รักใคร่ของเจ้านายทั่วไป และเป็นที่สนิทสนมของพระราชสวามีอย่างยิ่ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่างพระราชกิจ มักเสด็จประทับสำราญพระราชอิริยาบถ ณ พระตำหนักของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวีเสมอ และโปรดเกล้าฯ ให้ตามเสด็จ เมื่อเสด็จประพาสเนืองๆ

ใน พ.ศ. ๒๔๒๑ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี มีพระสูติกาลพระราชธิดาพระองค์แรก คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ ปรากฏหลักฐานในจดหมายเหตุพระราชกิจ รายวันในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังนี้

“วันอาทิตย์ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๙ ปีขาล สัมฤทธิศก ๑๒๔๐…
เวลา ๔ ทุ่ม พระองค์เจ้าสุนันทาประชวรครรภ์ เสด็จลงประทับอยู่ที่ตำหนักจันทร รุ่งยังไม่ประสูติ

วันจันทร์ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๙ ปีขาล สัมฤทธิศก ๑๒๔๐
ประทับอยู่ที่ตำหนักพระองค์เจ้าสุนันทา ไม่เข้าที่เมื่อจวนรุ่งจนเช้า ๕ โมง

เวลาบ่าย ๔ โมง มิสเตอร์ริชแมนกับภรรยาเข้ามาเฝ้า ท่านกาพย์เป็นผู้พาเข้ามา สมเด็จพระองค์น้อยทูลไว้แต่วานนี้ เสด็จกลับมาจากพระที่รับเขา แล้วประทับตรัสอยู่กับเราเรื่องประชวรพระครรภ์หน่อยหนึ่ง แล้วเสด็จลงอีก

เวลา ๕ ทุ่ม ๑๑ นาที กับ ๒๕ วินาที พระองค์เจ้าสุนันทาประสูติพระราชบุตรี รกติดอยู่ประมาณ ๑๕ นาทีจึงออก เรา อยู่ที่วังสมเด็จกรมพระๆ กับเราเข้าไป รับสั่งให้เราแขวนกระโจมอย่างคราวก่อน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าหญิงนั้น มีติ่งที่พระกรรณข้างขวา หน้าออกมาตรงพระปราง ติ่งนั้นยาวประมาณ ๓ กระเบียดน้อย เมื่อเรากลับออกมากับสมเด็จกรมพระนั้นฝนตก เวลา ๗ ทุ่ม ๔๕ มินิตถึงบ้าน”

ในการประสูติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์นี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานสายนาฬิกาเพชรราคา ๑๕ ชั่ง และแหวน ๒ วง ราคา ๓๘ ชั่ง เป็นของขวัญ แก่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ต่อมาเมื่อมีพระราชพิธีสมโภชเดือนพระราชธิดา ตามราชประเพณี ได้พระราชทานทองคำจากเมืองกบินทร์บุรี เป็นของขวัญแด่พระราชธิดา ดังความใน จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันว่า

“โปรดเกล้าฯ ให้เราเขียนหนังสือปิดทองคำแท่งเมืองกบินทร์บุรี ๒ แท่ง ความว่า ทองคำบ่อเมืองกบินทร์ เนื้อ ๘ หนัก พระราชทานสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ โสภางค์ทัศนิยลักษณ อรรควรราชกุมารี ในการสมโภชเดือนวัน ๖ ๒ ๑๐ ค่ำ ปีขาล สัมฤทธิศก ศักราช ๑๒๔๐ ดังนี้ ๒ แท่งๆ หนึ่งที่ ๓๑ หนัก silapa-0115 - Copy1 แท่งหนึ่งที่ ๑๓ หนัก silapa-0115 - Copy2 รวมหนัก silapa-0115 - Copy3 ขาดจำนวนไม่เท่าสมเด็จเจ้าฟ้าสุทธา
ทิพยรัตนอยู่ silapa-0115 - Copy4 โปรดเกล้าฯ พระราชทานทองใบให้มาเติมลง กับมีทองใบจำนวนพระราชทานอีกส่วนหนึ่งหนัก silapa-0115 - Copy5 รวมทองใบ silapa-0115 - Copy6 รวมทองทั้งสิ้น silapa-0115 - Copy7

จากหลักฐานต่างๆ ดังกล่าวมาแล้ว แสดงให้เห็นว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสนิทเสน่หาในพระบรมราชเทวีและสมเด็จพระเจ้าลูกเธออย่างลึกซึ้ง ดังนั้น ๒ ปีต่อมา เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ทำให้สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ซึ่งกำลังทรงพระครรภ์ได้ ๕ เดือน ต้องสวรรคตลงพร้อมกับสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ จึงทรงเศร้าเสียพระทัยอย่างยิ่ง ทรงใช้เวลานานกว่าจะตัดพระทัยได้

อุบัติเหตุอันเศร้าสลดนี้ เกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๒๓ ในเดือนพฤษภาคมอันเป็นเวลาเสด็จพระราชดำเนินจากกรุงเทพฯ แปรพระราชฐานไปประทับ ณ พระราชวังบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในปีนี้ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ ได้เสด็จด้วย โดยประทับในเรือพระประเทียบเก๋ง มีเรือปานมารุตจูง นอกจากนี้ยังมีพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน เสด็จในเรือพระประเทียบอื่นๆ มีเรือยนต์จูงเป็นกระบวน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ขบวนเรือพระประเทียบล่วงหน้าขึ้นไปบางปะอินก่อนเมื่อเวลาประมาณ ๘ นาฬิกา ของเช้าวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๒๓ เนื่องจากมีพระราชภารกิจ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ปรากฏว่าเมื่อขบวนเรือพระประเทียบแล่นไปถึงตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ได้เกิดอุบัติเหตุ เรือพระประเทียบของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ชนกับเรือโสรวาร ซึ่งจูงเรือพระประเทียบของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ เรือพระประเทียบล่มลง สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ และคุณแก้ว พระพี่เลี้ยงติดอยู่ภายในเก๋งเรือ กว่าจะกู้เรือขึ้นได้ก็สวรรคตและสิ้นพระชนม์แล้วทั้ง ๒ พระองค์ รวมทั้งพระพี่เลี้ยงก็ถึงแก่กรรมด้วย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโทมนัสอย่างยิ่ง มีพระบรมราชโองการให้สอบสวนพระยามหามนตรีผู้ควบคุมเรือโสรวาร ตลอดจนผู้ร่วมเหตุการณ์ทั้งหมด และเชิญพระศพพระบรมราชเทวีพร้อมทั้งพระราชธิดาขึ้นเรือพระที่นั่งเวสาตรี กลับกรุงเทพมหานครในวันนั้น ส่วนพระบรมวงศานุวงศ์ที่ล่วงหน้าไปบางปะอินก่อนหน้าเรือพระที่นั่งนั้น โปรดให้ตามเสด็จกลับลงมาทั้งหมด ขณะเมื่อประสบอุบัติเหตุจนถึงแก่พระชนมชีพนั้น สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี มีพระซนมายุ ๑๙ ปี ๖ เดือน ๒๐ วัน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ มีพระชนมายุ ๑ ปี ๙ เดือน ๒๐ วัน

เรือพระที่นั่งออกจากตำบลบางพูดเวลา ๒๒ นาฬิกา ล่องลงมาถึงตำหนักแพกรุงเทพฯ เวลา ๒ นาฬิกา ครั้นย่ำรุ่งของวันอังคารที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๒๓ จึงสรงนํ้าพระศพและเชิญเข้าพระโกศ จาก นั้นตั้งกระบวนแห่เชิญไปประดิษฐานบนแว่นฟ้า ณ หอธรรมสังเวช เช่นเดียวกับพระบรมศพสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี พระโกศสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ประกอบพระลองทองน้อย พระโกศสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ ทรงพระฉลองมณฑปเล็ก ประดับเฟื่องดอกไม้ที่ฝาและเอวเต็มที่ทั้งสองพระโกศ ตั้งเครื่องสูงเครื่อง ๕ ชุมสาย และข้างพานพระภูษาโยงตั้งเหมเข้าปักแว่นด้วย โปรดให้ยกพระแท่นประสูติของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ มาตั้งสำหรับพระสวดอภิธรรม และโปรดให้ไว้ทุกข์แก่พระศพ โดยเจ้านายทรงดำ ข้าราชการพันแขน ในระหว่างที่เศร้าเสียพระทัยนี้ ไม่เสด็จเข้าประทับในพระที่ แต่ประทับ ณ พระที่นั่งสมมติเทวราชอุปบัติ ซึ่งเรียกกันว่า ห้องเขียว ไม่ค่อยทรงสบายนัก โปรดให้มีเจ้าพนักงานประจำเพียงไม่กี่คน ได้แก่ แพทย์หลวง และมหาดเล็ก คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ พระยานรรัตนราชมานิต หลวงราโชแพทย์ เจ้าหมื่นไวยวรนารถ และนายเล่ห์อาวุธ อย่างไรก็ตาม ยังทรงปฏิบัติพระราชกิจต่างๆ ตามปกติ

สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี นั้น ทรงมีฐานะเป็นพระอัครมเหสีที่เป็นลูกหลวงเอก คือเป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้า เมื่อมีพระราชธิดากับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชธิดาจึงทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้า แต่ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังมิได้สถาปนาพระอิสริยยศแก่พระอัครมเหสี ยังเรียกพระนามว่า พระองศ์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ เมื่อสวรรคตแล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระนามเป็นพระเกียรติว่า สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี และพระราชทานเงินเดือนเพิ่มจากเดิมเดือนละ ๗ ตำลึง เป็นเดือนละ ๑ ชั่ง ไปจนกว่าพระราชทานเพลิง ซึ่งเงินนี้ต่อมาได้สมทบใช้ในงานพระศพและการสร้างสุนันทาลัยด้วย

นอกจากบำเพ็ญพระราชกุศลพระศพตามราชประเพณีแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองศ์เจ้าประดิษฐวรการ สร้างพระพุทธรูป นาคปรกประจำวันสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี พระพุทธรูปห้ามสมุทรประจำวัน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ กับพระพุทธรูปฉลองพระองค์ของทั้งสองพระองค์ด้วย ในส่วนที่เกี่ยวกับการพระศพนั้น ได้เสด็จพระราชดำเนินไปบำเพ็ญพระราชกุศล ณ หอธรรมสังเวชทุกวัน ทรงพระราชวินิจฉัยเกี่ยวกับการจัดสร้างพระเมรุ การจัดทำของพระราชทานเป็นที่ระลึกในการพระเมรุ การจัดทำสังเค็ต การจัดสร้างพระโกศพระอัฐิ และอื่นๆ ด้วยพระองค์เองทุกเรื่อง เนื่องจากมีพระราชประสงค์จะให้ปรากฏพระเกียรติยศแก่พระอัครมเหสี พระเมรุเป็นพระเมรุขนาดใหญ่ เสาสูง ๑๕ วา เสด็จพระราชดำเนินในพิธียกเสาพระเมรุ ณ ท้องสนามหลวง ในวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๒๔ และเสด็จทอดพระเนตรการก่อสร้างแทบทุกวัน

ถึงวันที่ ๑๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๒๓ ได้อัญเชิญพระโกศพระศพสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี และพระโกศพระศพสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ จากพระบรมมหาราชวัง ขึ้นสู่พระเมรุท้องสนามหลวง โปรดให้บำเพ็ญพระราชกุศลและมีมหรสพสมโภช ๓ วัน และพระราชทานเพลิงพระศพในวันที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๒๓ ปรากฏความในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน พ.ศ. ๒๔๒๓ ดังนี้

“เวลาเที่ยง เชิญพระศพสมเด็จพระนางเจ้าและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอจากพระเบญจา มาตั้งในห้องซึ่งกันรักแร้ เมรุ มุขตะวันตกและใต้ต่อกัน เจ้าพนักงานภูษามาลาชำระพระศพเสร็จแล้ว เวลาเกือบค่ำจึงได้เชิญพระศพขึ้นตั้งบนที่พระราชทานเพลิง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมวงศานุวงศ์ สมเด็จเจ้าพระยา ท่านเสนาบดี กงสุลต่างประเทศ เฝ้าพร้อมกันอยู่ด้วยด้านตะวันออก ครั้นเรียบร้อยแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปพระราชทานเพลิงพระศพทั้ง ๒ และพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการฝ่ายหน้าและกงสุลต่างประเทศพร้อมกันขึ้นไปถวายพระเพลิง และสมเด็จพระนางเจ้า พระนางเธอ พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาทฝ่ายในและคนอื่นๆ ก็ขึ้นไปถวายพระเพลิงเป็นอันมาก เสียงร้องไห้กึกก้องไปทั้งนั้น”

วันที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๒๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา สมเด็จพระนางเธอเสาวภาผ่องศรี เสด็จพระราชดำเนินทรงเก็บพระอัฐิ เจ้าพนักงานเชิญลงพระลองโมรา แล้วลองพระมณฑปทองคำลงยาประดับเนาวรัตน์ ตั้งบนพานทองคำ ๒ ชั้น ประดิษฐานในบุษบกทองคำ และเชิญขึ้นตั้งบนพระเบญจา ๓ ชั้น บำเพ็ญพระราชกุศลและมีงานมหรสพสมโภชพระอัฐิ ๓ วัน ส่วนพระอังคารนั้น เจ้าพนักงานเชิญขึ้นพระยานมาศ มีกระบวนเทวดาแห่เครื่องสูงกลองชนะ ไปลงเรือชัย ๒ ลำที่ท่าพระ มีเรือแห่ไปลอยที่หน้าวัดปทุมคงคาตามโบราณราชประเพณี

วันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๒๓ เชิญพระโกศพระอัฐิสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ ขึ้นบุษบกประดิษฐานบนพระยานมาศ สามลำคาน มีเครื่องสูงกลองชนะคู่แห่ดังเช่นแห่พระธาตุ กลับเข้าสู่พระบรมมหาราชวัง

ด้วยความอาลัยในสมเด็จพระบรมราชเทวีและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้สร้างอนุสาวรีย์และอนุสรณ์สถานไว้หลายแห่ง บางแห่งได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงคัดเลือกสถานที่และทอดพระเนตรการก่อสร้างด้วยพระองค์เอง คือเป็นสถานที่ซึ่งสมเด็จพระบรมราชเทวีเคยโปรดเมื่อเสด็จประพาสบ้าง หรือสถานที่ที่พระองค์ทรงเห็นว่าเหมาะสมบ้าง แต่ทุกแห่งนั้น ได้ทรงพระ

๑. สุนันทานุสาวรีย์
ตั้งอยู่ในบริเวณสุสานหลวง ทิศตะวันตกของวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นอาคารขนาดเล็ก ยอดเป็นปรางค์ ภายในบรรจุพระสรีรางคารลมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์

๒. สุนันทาลัย
ใน พ.ศ. ๒๔๒๓ เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี สวรรคตลง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริจะสร้างอนุสรณ์สถานให้แก่พระบรมราชเทวี เรียกว่า “สุนันทาลัย” และสถานที่นั้น จะให้เป็นที่ตั้งโรงเรียนด้วย ได้ทรงเลือกสถานที่ริมแม่นํ้าเจ้าพระยา ตำบลปากคลองตลาด แขวงพระบรมมหาราชวัง ตรงข้ามวัดกัลยาณมิตร เป็นสถานที่ก่อสร้าง บริเวณนี้เคยเป็นที่ตั้งวัง ๒ วัง คือ วังของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมวงศ์ ซึ่งต่อมาเป็นที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูบดีราชหฤทัย แล้วเป็นที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ อยู่ระยะหนึ่ง จึงทรงย้ายไปประทับวังใหม่ที่สะพานถ่าน อีกวังหนึ่งเป็นวังเดิมของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์หลังจากสิ้นพระชนม์แล้ว เป็นที่ประทับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอุดมรัตนราษี เมื่อ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างสุนันทาลัยขึ้นนั้น วังทั้งสองว่างอยู่

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงใช้เงินส่วนพระองค์ส่วนหนึ่งของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ที่ทรงแบ่งจากค่าใช้จ่ายในงานพระศพและจัดทำของแจกในงานพระเมรุ มาสมทบเป็นค่าก่อสร้างสุนันทาลัย โปรดให้สร้างเป็นตึกใหญ่ ๒ ชั้น ๒ หลัง ตามสถาปัตยกรรมแบบยุโรป ตึกหลังที่อยู่ริมแม่นํ้ามีตราแผ่นดินที่หน้าจั่ว และมีข้อความจารึกถัดลงมาว่า “ROYAL SEMINARY” สุนันทาลัยที่แม่นํ้า สมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในปีมะโรง โทศก ๑๒๔๒”

พ.ศ. ๒๔๒๙ เมื่อสร้างเสร็จโปรดให้ย้ายโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษที่วังนันทอุทยาน จากฝั่งธนบุรีมาตั้งที่สุนันทาลัย และระหว่าง พ.ศ. ๒๔๔๔ – ๒๔๔๙ ใช้เป็นที่ทำการกระทรวงธรรมการระยะหนึ่ง พ.ศ. ๒๔๔๙ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ได้กราบบังคมทูล พระกรุณา ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ย้ายโรงเรียนราชินี จากตึกแถวมุมถนนอัษฎางค์ และจักรเพชรมาตั้งที่สุนันทาลัย จากนั้นได้เป็นโรงเรียนราชินีสืบมา ปัจจุบันอาคารสุนันทาลัย ของเดิมเหลืออยู่เพียงริมนํ้าหลังเดียว ส่วนตึกหลังในสภาพทรุดโทรมเกินกว่าจะบูรณะได้ ทางโรงเรียนจึงรื้อลงเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๖

๓. พระอนุสาวรีย์ที่พระราชวังบางปะอิน
พระอนุสาวรีย์ตั้งอยู่ในพระราชอุทยาน สร้างด้วยหินอ่อนสีขาว ลักษณะส่วนยอดเป็นเสาเหลี่ยม ปลายเรียวแหลม ส่วนกลางเป็นสี่เหลี่ยม มีคำจารึก ๒ ด้าน ด้านหนึ่งเป็นภาษาไทย ด้านหนึ่งเป็นภาษา อังกฤษ แสดงถึงความอาลัยรัก ส่วนอีก ๒ ด้าน เป็นอักษรพระนามาภิไธยย่อของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทา กุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๔

๔. พระอนุสาวรีย์ที่นํ้าตกพริ้ว อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๔ เพื่อเป็นอนุสรณ์ แด่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี เนื่องจากเคยเสด็จประพาสนํ้าตกพริ้วใน พ.ศ. ๒๔๑๗ และโปรดสถานที่นี้มาก ลักษณะอนุสาวรีย์ก่อด้วยศิลาเป็นรูปพีระมิดขนาดย่อม ภายในบรรจุพระสรีรางคาร มีแผ่นจารึกบอกประวัติการสร้าง

๕. พระอนุสาวรีย์ในพระราชอุทยาน สราญรมย์
ประดิษฐานอยู่กึ่งกลางพระราชอุทยาน สร้างด้วยหินอ่อนสีขาว ทรงสี่เหลี่ยมย่อมุม ยอดเป็นปรางค์ มีคำจารึกไว้อาลัยที่ฐานทั้ง ๔ ด้าน ด้านทิศเหนือเป็นคำไว้อาลัยภาษาไทย ทิศใต้เป็นภาษาอังกฤษ ทิศตะวันออกเป็นคำฉันท์ไว้อาลัยแด่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ทิศตะวันตกเป็นคำฉันท์ไว้อาลัยแด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์ พระนิพนธ์ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จแทนพระองค์ไปทรงเปิดพระอนุสาวรีย์ เมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๒๖

๖. สวนสุนันทาในพระราชวังดุสิต
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้สร้างขึ้นทางทิศตะวันตกของพระราชวังดุสิต เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๑ เพื่อเป็นที่สำราญพระอิริยาบถ มีลักษณะเป็นสวนป่าคล้ายสวนของพระราชวังเบินสตอป ประเทศเดนมาร์ก มีเนื้อที่ ๑๑๒ ไร่ พระราชทานชื่อว่า “สวนสุนันทา” เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่สมเด็จพระนางเจ้า สุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จสวรรคตลงก่อนที่การสร้างจะแล้วเสร็จ

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เป็นผู้อำนวยการสร้างตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๔ – ๒๔๖๒ และจัดเป็นที่ประทับของพระมเหสี พระราชธิดา และบาทบริจาริกา ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สภาพพื้นที่ประกอบด้วยสระ คูคลอง เกาะแก่ง และเนินดิน มีพระตำหนักใหญ่น้อยสร้างตามสถาปัตยกรรมแบบ Italian Renaissance รวม ๓๒ หลัง ตั้งอยู่ริมนํ้า บนเนิน หรือที่ราบ และต่างก็ปลูกไม้ดอกไม้ประดับอย่างงดงาม

พ.ศ. ๒๔๗๕ หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน เจ้านายฝ่ายในและเจ้าจอมทั้งหลาย ต่างก็ย้ายไปสร้างที่ประทับและที่อยู่ภายนอกพระราชวัง สวนสุนันทาจึงร้างมีแต่โขลนจ่าเฝ้าดูแล พ.ศ. ๒๔๘๐ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลได้มอบสวนสุนันทาให้แก่นายปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรี เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของนายกรัฐมนตรีและผู้แทนราษฎร แต่สภาผู้แทนราษฎร ชี้แจงว่ายังไม่พร้อมที่จะใช้สถานที่ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้เป็นที่ตั้งสถานศึกษาของชาติ คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จึงมอบสวนสุนันทาให้กระทรวงธรรมการ ปัจจุบันบริเวณสวนสุนันทาเป็นที่ตั้งของสถาบันราชภัฏสวนดุสิต สถาบันราชภัฏสวนสุนันทา โรงเรียนอนุบาลลอออุทิศ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นกระทรวงมหาดไทย

สถาบันราชภัฏสวนสุนันทาได้จัดสร้างพระอนุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ประดิษฐานไว้บนเนินภายในบริเวณสถาบัน มีลักษณะเป็นพระรูปเหมือนหล่อด้วยโลหะ ขนาดเท่าพระองค์จริง ประทับบนพระแท่น มีจารึกหินอ่อนบอกพระนาม วันพระราชสมภพและสวรรคต ตลอดจนการเปิดพระอนุสาวรีย์อยู่ด้านล่างของเนิน พระอนุสาวรีย์นี้ออกแบบปั้นหล่อโดยกรมศิลปากร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพระอนุสาวรีย์เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๕

นอกจากพระอนุสาวรีย์ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างขึ้น ยังมีที่ประชาชนร่วมใจกันสร้างขึ้นด้วย คือ

๗. ศาลที่วัดกู้ ตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
เมื่อเรือพระประเทียบของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์พระบรมราชเทวีประสบอุบัติเหตุล่ม ณ ตำบลบางพูด ใน พ.ศ. ๒๔๒๓ นั้น ได้กู้เรือและอัญเชิญพระศพขึ้นที่วัดนี้ ทางวัดจึงเปลี่ยนชื่อจาก วัดท่าสอน เป็น วัดกู้ และสร้างศาลขึ้นริมฝั่งแม่นํ้าเจ้าพระยา ต่อมาเมื่อพระครูนันทาภิวัฒน์เป็นเจ้าอาวาส ได้สร้างศาลใหม่ใกล้ต้นโพธิ์ ณ บริเวณศาลาท่านํ้าเดิม โดยจำลองลงมาจากศาลาของพระราชวังบางปะอิน และได้ให้กรมศิลปากรหล่อพระรูปยืนของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ขนาดเท่าพระองค์จริง ประดิษฐานไว้ภายใน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวิชราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงพระสุหร่ายและทรงเจิม เมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๒ ศาลนี้ประชาชนทั่วไปเรียกว่า “ศาลพระนางเรือล่ม” เป็นที่เคารพสักการะของประชาชนทั้งในท้องถิ่นและผู้มาเยือน

สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี นับว่าเป็นพระอัครมเหสีที่มีพระอนุสาวรีย์ และอนุสรณ์สถานที่พระราชสวามีทรงสร้างเป็นที่ระลึกแห่งความรักความอาลัยมากกว่าพระองค์ใด นอกจากนี้ ที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาทยังมีพระสาทิสลักษณ์สีนํ้ามัน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ช่างเขียนขึ้น ประดิษฐานอยู่ที่ผนังห้องโถง มุขกระสันด้านตะวันตกด้วย

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: ฉวีงาม มาเจริญ