สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี

Socail Like & Share

สมเด็จนางเจ้าพระ        บรมะรา ชินีเอย
อัคระมะหิษีสมญา         เยี่ยมลํ้า
รำไพพรณีสวา              มินีนาถ อะนงค์แฮ
ปรากฏพระยศะก้ำ         เกียรติสิ้นสยามสุรางค์

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ มีพระนามเดิมว่าหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี สวัสดิวัตน์ เป็นพระธิดาพระองค์เดียวของสมเด็จพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิสิษฎ์ พระราชอนุชาในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีราชินีนาถ พระมารดาคือ พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาภาพรรณี ประสูติเมื่อวันอังคารที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๔๗ มีพระเชษฐาและพระอนุชาร่วมพระมารดา ๔ พระองค์

เมื่อหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี หรือ “ท่านหญิงนา” มีพระชันษาครบ ๒ ปี พระบิดาได้ทรงพาไปถวายตัวอยู่ในพระบรมราชินูปถัมภ์ของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ซึ่งขณะนั้นเสด็จประทับอยู่ที่สวนสี่ฤดู ในพระราชวังดุสิต และหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสด็จสวรรคตแล้ว สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ได้เสด็จกลับไปประทับที่พระที่นั่งสุทธาศรีอภิรมย์ ในพระบรมมหาราชวัง หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี ก็ได้ตามเสด็จไปประทับที่พระบรมมหาราชวังด้วย ครั้นต่อมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ได้ตามเสด็จ สมเด็จฯ พระบรม ราชินีนาถ ไปประทับที่วังพญาไท ซึ่งเป็นที่ที่สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ประทับอยู่ตลอดพระชนมชีพ

หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี เป็นพระราชนัดดาพระองค์หนึ่งที่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงเมตตาและเอาพระทัยใส่อย่างใกล้ชิด ในชั้นต้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี ทรงศึกษาเบื้องต้นในเขตพระราชฐานที่พระตำหนักสวนสี่ฤดู ในพระราชวังดุสิต ครั้นเมื่อตามเสด็จฯ ไปประทับที่พระบรมมหาราชวัง ซึ่งขณะนั้นมีพระชันษา ๖ ปี ได้เสด็จเข้าศึกษาที่โรงเรียนราชินี และเมื่อตามเสด็จฯ ไปประทับที่วังพญาไท ต้องทรงลาออกจากโรงเรียนราชินี เนื่องจากที่ประทับและโรงเรียนอยู่ไกลกันเกินไป อย่างไรก็ตามก็ได้ทรงศึกษาวิชาการต่างๆ ที่วังพญาไท โดยมีพระอาจารย์มาถวายพระอักษร ที่พระตำหนักจนมีพระชันษาได้ ๑๑ ปี ทรงได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการประกอบพิธีเกศากันต์ ตามโบราณราชประเพณี เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๗ ใน พ.ศ. ๒๔๖๑ หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี ทรงอภิเษกสมรสกับสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปก ศักดิเดชน์ (ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗) พระราชโอรสในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ขณะนั้นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯ มีพระยศชั้นนายร้อยเอก ประจำกรมทหารบกปืนใหญ่ที่ ๑ รักษาพระองค์ ทั้งสองพระองค์ทรงได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพระราชพิธีอภิเษกสมรสพระราชทาน ณ พระที่นั่งวโรภาสพิมาน พระราชวังบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ หลังการอภิเษกสมรส ทั้งสองพระองค์เสด็จไปประทับที่พระตำหนักวังศุโขทัย สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกฯ มีประชวรพระโรคเรื้อรังมาตั้งแต่สมัยที่ทรงผนวช แพทย์ผู้ถวายการรักษากราบทูลถวายคำแนะนำให้เสด็จฯ ไปรักษาพระองค์ในต่างประเทศ ดังนั้นในเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๖๓ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯ พร้อมด้วยพระชายา คือหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี จึงได้เสด็จฯ ไปยังทวีปยุโรป โดยทรงแวะประทับแรมที่ประเทศอียิปต์ก่อน ทั้งสองพระองค์เสด็จฯ ถึงทวีปยุโรปเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๔ หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี ได้ตามเสด็จพระสวามีไปยังที่ต่างๆ และถวายการดูแลอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา โดยได้ตามเสด็จไปอิตาลี ฝรั่งเศส อังกฤษ และสวิตเซอร์แลนด์ และเมื่อสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯ ทรงรักษาพระองค์แล้ว และได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ศึกษาต่อทางวิชาทหารชั้นสูงที่ฝรั่งเศส หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี ก็ได้เสด็จไปประทับอยู่กับพระสวามีด้วย และพระองค์เองก็ทรงศึกษาภาษาฝรั่งเศสด้วยเช่นกัน จนกระทั่งสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯ ทรงสำเร็จการศึกษาเป็นนายทหารฝ่ายเสนาธิการ จึงตามเสด็จกลับประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๖๗ โดยผ่านทางสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น เมื่อเสด็จฯ ถึงประเทศไทย ได้เสด็จฯ ไปประทับที่วังศุโขทัยตามเดิม

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ในวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘ นั้น นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงวิถีการดำรงพระชนมชีพของหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณีอย่างแท้จริง เนื่องด้วยสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกฯ ต้องเสด็จขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อจาก สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช เป็นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ หม่อมเจ้าหญิง รำไพพรรณี จึงทรงได้รับพระมหากรุณาธิคุณสถาปนาพระอิสริยยศเป็นพระอัครมเหสี เฉลิมพระนามว่า สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี

ในฐานะสมเด็จฯ พระบรมราชินี สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ได้อย่างเพียบพร้อมสมบูรณ์ พระราชกรณียกิจที่สำคัญยิ่งประการหนึ่งคือ การโดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปทรงเยี่ยมราษฎรตามจังหวัดต่างๆ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙ เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ และมณฑลพายัพ และใน พ.ศ. ๒๔๗๑ เสด็จเลียบมณฑลภูเก็ต นอกจากนี้ยังได้โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปเจริญพระราชไมตรีกับนานาประเทศ ตลอดจนทอดพระเนตรกิจการต่างๆ เพื่อทรงนำมาเป็นแนวพระราชดำริในการพัฒนาประเทศ ได้เสด็จพระราชดำเนินรวมทั้งสิ้น ๔ ครั้ง คือ พ.ศ. ๒๔๗๒ เสด็จพระราชดำเนินยังประเทศสิงคโปร์ ชวา และบาหลี พ.ศ. ๒๔๗๓ เสด็จฯ อินโดจีน พ.ศ. ๒๔๗๔ เสด็จฯ เยือนอินโดจีนบางส่วน เซี่ยงไฮ้ ฮ่องกง ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และแคนาดา และใน พ.ศ. ๒๔๗๖ เสด็จฯ เยือนบางประเทศในทวีปยุโรป ในระหว่างการเสด็จพระราชดำเนิน สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ได้ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจในฐานะพระบรมราชินีของประเทศไทยได้อย่างเหมาะสมงดงาม เป็นที่ชื่นชมของทุกคนที่ได้เฝ้าชมพระบารมี

เหตุการณ์อย่างหนึ่งที่นับว่ามีผลกระทบต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินี เป็นอย่างยิ่ง นั่นคือการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ใน พ.ศ. ๒๔๗๕ ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และสมเด็จพระบรมราชินี เสด็จแปรพระราชฐานไปประทับที่พระตำหนักเปี่ยมสุข พระราชวังไกลกังวล จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในท่ามกลางสถานการณ์อันไม่เป็นที่น่าไว้วางใจ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ได้ประทับเคียงข้างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และตามเสด็จไปทุกแห่ง แม้จะเสี่ยงอันตราย ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวร อย่างไรก็ตามหลังจากนั้นได้เกิดเหตุการณ์ยุ่งยากทางการเมืองหลายประการ ทำให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวตัดสินพระทัยเสด็จออกจากพระราชอาณาจักรเพื่อไปทรงรับการรักษาพระเนตรที่ประเทศอังกฤษเมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๖ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ก็ได้โดยเสด็จด้วย ในระหว่างนี้ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรปก่อนจะเสด็จไปประทับที่ประเทศอังกฤษ และหลังจากนั้นไม่นาน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงสละราชสมบัติใน พ.ศ. ๒๔๗๗

เมื่อสละราชสมบัติแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินี ยังคงประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ทรงดำเนินพระชนมชีพพร้อมด้วยพระราชสวามี อย่างสงบท่ามกลางพระญาติสนิท และข้าราชบริพารจำนวนหนึ่ง ทรงเฝ้าดูแลและถวายการรักษาพยาบาล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีพระพลานามัยไม่สมบูรณ์ พร้อมกับมีพระราชภาระในการดูแลพระตำหนักที่ประทับด้วย จนกระทั่งใน พ.ศ. ๒๔๘๔ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ต้องทรงประสบกับความวิปโยคอย่างยิ่ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตอย่างสงบ ณ พระตำหนักที่ประทับ เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม

หลังการสวรรคต สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ยังคงประทับที่ประเทศอังกฤษอย่างสงบเงียบ และเรียบง่ายกับพระญาติสนิทและข้าราชบริพาร เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ใน พ.ศ. ๒๔๘๔ นั้น สมเด็จ พระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ได้เสด็จจากพระตำหนักที่ประทับไปยังกรุงลอนดอนท่ามกลางภัยสงคราม เพื่อทรงช่วยจัดสิ่งของบรรจุหีบห่อส่งไปยังแนวหน้า อันแสดงให้เห็นถึงนํ้าพระทัยอันประเสริฐ ที่ทรงมีต่อผู้ประสบทุกข์ภัยไม่เลือกหน้า หลังจากนั้น ในพ.ศ. ๒๔๙๒ พระองค์ตัดสินพระทัยเสด็จกลับมาตุภูมิ หลังจากที่ประทับอยู่ในประเทศอังกฤษเป็นเวลานานถึง ๑๕ ปี พร้อมกันนี้ได้อัญเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกลับมาด้วย ซึ่งรัฐบาลไทยได้จัดการรับเสด็จพระบรมอัฐิ และมีพระราชพิธีถวายพระราชกุศลอย่าง สมพระเกียรติ

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ เสด็จประทับ ณ วังสระปทุมเป็นเวลา ๒ ปี แล้วจึงเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับที่พระตำหนักสวนบ้านแก้ว จังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นสถานที่ที่โปรดว่ามีอากาศดีและอยู่ไม่ไกลจากพระนคร โดยโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระราชทรัพย์จัดซื้อที่ดินและสร้างพระตำหนักขึ้น พระราชทานนามว่า “สวนบ้านแก้ว” ระหว่างที่ประทับอยู่ที่จังหวัดจันทบุรี ได้ทรงเอาพระทัยใส่ในความเป็นอยู่ของราษฎรอยู่เสมอ มีพระราชดำริให้สวนบ้านแก้วเป็นไร่ตัวอย่าง โปรดเกล้าฯ ให้เลี้ยงสัตว์และปลูกพืชทดลองหลายชนิด เช่น พืชสวนครัวและผลไม้ต่างๆ ที่สำคัญคือหลังจากที่ประทับที่สวนบ้านแก้วนี้ได้ประมาณ ๕ ปี สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ทรงพัฒนาการทอเสื่อจันทบูรณ์ ซึ่งเป็นหัตถกรรมที่สำคัญของชาวจันทบุรี โดยโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงงานทอเสื่อขึ้น แบ่งเป็นแผนกต่างๆ และยังโปรดเกล้าฯ ให้ทำผลิตภัณฑ์จากเสื่ออีกด้วย เรียกขานกันเป็นสามัญว่า “ผลิตภัณฑ์เสื่อสมเด็จ” พระมหากรุณาธิคุณต่อชาวจันทบุรีอีกอย่างหนึ่ง คือ การพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์แก่โรงพยาบาลจันทบุรี ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงพยาบาลพระปกเกล้า” และทรงรับโรงพยาบาลฯ และวิทยาลัยพยาบาลนี้ไว้ในพระบรมราชินูปถัมภ์ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๙ เป็นต้นมา ต่อมา เมื่อเสด็จกลับมาประทับที่กรุงเทพมหานครแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ขายที่ดินสวนบ้านแก้วให้แก่กระทรวงศึกษาธิการในราคาย่อมเยา เพื่อสร้างเป็นวิทยาลัยครูจันทบุรี ต่อมาคือสถาบันราชภัฏจันทบุรี และโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายโรงงานทอเสื่อจากสวนบ้านแก้วมาไว้ที่บริเวณพระตำหนักนํ้าวังศุโขทัย

นอกจากนี้ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ยังได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชในโอกาสต่างๆ หลายครั้ง เช่น การเสด็จออกให้บุคคลสำคัญเฝ้าฯ และงานบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ เป็นต้น นับว่าสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ เป็นพระบรมราชินี ที่มีพระมหากรุณาธิคุณต่อปวงชนชาวไทยอย่างสม่ำเสมอ สภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงมีมติ ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์แด่พระองค์ เมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๖

โดยปกติสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ มีพระพลานามัยแข็งแรงด้วยโปรดการออกพระกำลังอยู่เป็นนิจ โดยเฉพาะกีฬาเทนนิสและกอล์ฟ สมเด็จฯ ได้ทรงกอล์ฟมาตั้งแต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า เจ้าอยู่หัวยังไม่ได้เสด็จสวรรคต ซึ่งนับได้ว่าทั้งสองพระองค์มีพระมหากรุณาธิคุณต่อวงการกอล์ฟมาตั้งแต่แรกเริ่ม แต่เมื่อสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ทรงเจริญพระชนมายุมากขึ้น ก็ทรงเริ่มมีพระอาการประชวร เมื่อพระชนมายุได้ ๗๑ พรรษา ใน พ.ศ. ๒๕๑๘ ทำให้ทรงต้องอยู่ในความดูแลของคณะแพทย์นับแต่บัดนั้น หลังจากนั้นพระอาการก็มิได้คืนสู่สภาวะปรกติ จนเสด็จสวรรคตด้วยอาการพระหทัยวาย เมื่อ วันที่ ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๗ รวมพระชนมายุได้ ๗๙ พรรษา ๕ เดือน ๑ วัน มีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง เมื่อวันอังคารที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๘

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ เป็นพระบรมราชินีพระองค์แรกในระบอบประชาธิปไตย และเป็นพระบรมราชินีที่มีพระจริยวัตรที่งดงามเพียบพร้อม ทรงดำรงพระชนมชีพอย่างเรียบง่าย ด้วยพระอัธยาศัย อันนุ่มนวลอ่อนโยน ในขณะเดียวกันในยามที่ทรงเผชิญวิกฤติการณ์ต่างๆ ก็มีพระทัยที่เข้มแข็งเด็ดเดี่ยว ทรงเป็น “คู่ทุกข์คู่ยาก” ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังทรงเปี่ยมด้วยพระมหากรุณาธิคุณแก่พสกนิกรทั่วไปอย่างสม่ำเสมอตลอดพระชนมายุ ความดีงามแห่งพระราชอัธยาศัย เหล่านี้จึงเป็นที่ประทับใจผู้ที่เคยเฝ้าใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท ตลอดจนชาวไทยทั่วไปอย่างไม่รู้ลืมเลือน

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย:นุชนารถ กิจงาม