พระราชชายาเจ้าดารารัศมี

Socail Like & Share

พระราชชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จ พระปิยมหาราช เป็นขัตติยนารี ผู้เป็นศรีสง่าแห่งนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ ทรงเป็นบุคคลสำคัญในการประสานสัมพันธ์พระราชไมตรีระหว่างพระราชอาณาจักรสยามกับอาณาจักรล้านนาให้มีความสมานฉันท์กันอย่างแนบแน่นเป็นแผ่นดินเดียวกัน นั่นหมายถึงการดำรงคงไว้ซึ่งเอกราชพระราชชายา เจ้าดารารัศมีของชาติในท่ามกลางวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่กำลังถูกก้าวลํ้ารุกราน จากมหาอำนาจตะวันตก และทรงได้รับยกย่องว่ามีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างภาค ได้ทรงอนุรักษ์ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมล้านนาที่เกือบจะเสื่อมสูญให้กลายเป็นเอกลักษณ์เชิดหน้าชูตาของชาวเหนือจนทุกวันนี้

พระราชชายา เจ้าดารารัศมี มีพระนามเรียกขานในพระประยูรญาติว่า “เจ้าอึ่ง” และเรียกขานกัน ภายในพระบรมมหาราชวังว่า “เจ้าน้อย” ซึ่งหมายถึง เจ้านายฝ่ายเหนือที่ยังเยาว์วัย เป็นพระธิดาองค์สุดท้าย ลำดับที่ ๑๑ ของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ พระเจ้าเชียงใหม่องค์ที่ ๗ กับพระเทวีแม่เจ้าเทพไกรสร ประสูติเมื่อวันอังคาร ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๘ ปีระกา เวลา ๐๓.๐๐ น.เศษ ตรงกับวันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๑๖ ณ คุ้มหลวงนครเชียงใหม่ (ที่ตั้งโรงเรียนยุพราชวิทยาลัยปัจจุบัน) มีพระเชษฐภคินีร่วมพระมารดาเดียวกัน คือ เจ้านางจันทรโสภา ซึ่งสิ้นพระชนม์แต่ยังเยาว์ และเป็นพระขนิษฐภคินีต่างพระมารดากับเจ้าอินทวโรรส สุริยวงศ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ ๘ และเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ ๙ การที่เป็นพระธิดาพระองค์เล็ก จึงทรงเป็นดวงพระหทัยของพระบิดาและพระมารดามักจะตรัสเรียกว่า “อึ่งเอ๋ย” เสมอ เมื่อทรงพระเยาว์ได้รับการศึกษาอักษรไทยเหนือควบคู่ไปกับอักษรไทยกลาง จนนับได้ว่าทรงเป็นกุลสตรีที่ได้รับการศึกษาอย่างดียิ่งในสมัยนั้น จากการที่ทรงเจริญพระชันษาในครอบครัวที่ยึดมั่นศรัทธาต่อการทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา ทำให้ได้รับการอบรมปฏิบัติเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ทางด้านพระศาสนาเสมอและได้ทรงยึดมั่นปฏิบัติสืบต่อมาจนตลอดพระชนมชีพ อีกทั้งในฐานะที่เป็นพระธิดาพระเจ้าเชียงใหม่ การประทับภายในคุ้มหลวง ซึ่งแวดล้อมด้วยความหรูหราสง่างามดุจจะเทียบได้กับบรรยากาศแห่งพระบรมมหาราชวัง การที่ทรงมีโอกาสได้พบปะกับเจ้านายข้าราชการชั้นสูงจากกรุงเทพฯ และการได้ทรงสดับรับฟังข่าวสารต่างๆ จากราชสำนักสยามมาบ้าง สิ่งเหล่านี้ช่วยให้ทรงคุ้นเคยกับราชประเพณีและ พิธีการต่างๆ ที่เกี่ยวกับกรุงเทพฯ ราวกับเป็นการเตรียมพระองค์ไว้เพื่อเสด็จมาดำรงพระอิสริยยศอันสูงส่ง โดยมิได้ทรงคาดคิดมาก่อน

ช่วงระยะเวลาที่ประสูติและทรงพระเยาว์อยู่นั้น นครเชียงใหม่มีฐานะเป็นประเทศราชของราชอาณาจักรสยาม หากแต่เจ้าผู้ครองนครมีสถานะค่อนข้างจะเป็นอิสระในการปกครองตนเอง ในขณะนั้นเป็น เวลาที่มหาอำนาจตะวันตก คืออังกฤษขยายอาณานิคมเข้าครอบครองพม่าและมีทีท่าแผ่ขยายอิทธิพลคืบคลานมาสู่อาณาจักรล้านนา ในรูปของการติดต่อทำการค้าและกิจการป่าไม้กับเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ แม้ว่าทางกรุงเทพฯ จะมีนโยบายไม่ยุ่งเกี่ยวกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของทางล้านนา หากแต่ปัญหาการขัดแย้งกันในกิจการป่าไม้อาจก่อให้เกิดปัญหาทางการเมืองตามมา ด้วยอังกฤษจะถือโอกาสแทรกแซงเข้าควบคุมกิจการ และครอบครองอาณาจักรล้านนาโดยปริยาย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงภัยทางการเมืองดังกล่าวจึงทรงดำเนินวิเทโศบายเร่งการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินเพื่อรวบรวมบ้านเมืองให้เป็นปึกแผ่น เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันโดยเร็วที่สุด ผลกระทบทางการเมืองเหล่านี้น่าจะมีผลสะท้อนให้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแก่วิถีชีวิตของพระราชชายา เจ้าดารารัศมี อย่างใหญ่หลวงในกาลต่อมา ด้วยปรากฏว่า ในปี พ.ศ. ๒๔๒๖ ขณะมีพระชนมายุย่างเข้า ๑๑ ชันษาเศษ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าอินทวิชยานนท์ จัดพิธีโสกันต์พระธิดาเจ้าดารารัศมี ตามแบบอย่างราชประเพณีของเจ้านายในมหาจักรีบรมราชวงศ์ พร้อมกับพระราชทานเครื่องโสกันต์ระดับเจ้าฟ้าให้เป็นเครื่องทรง ซึ่งมิเคยมีปรากฏในประวัติศาสตร์หรือราชประเพณีของเจ้านายฝ่ายเหนือมาก่อนเลย และในวาระดังกล่าวนี้ได้ โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร ขณะดำรงตำแหน่งเทียบได้กับผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในภาคพายัพ อัญเชิญตุ้มพระกรรณระย้าเพชรและพระธำมรงค์เพชรไปพระราชทานทำขวัญ เป็นการส่วนพระองค์ ของพระราชทานเหล่านี้ได้ถึงเมืองเชียงใหม่ใน พ.ศ. ๒๔๒๗ พระเจ้าอินทวิชยานนท์ โปรดให้มีงานฉลองเป็นพิธีใหญ่ โดยแห่แหนรอบเมือง พร้อมกันนี้ยังได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานตำแหน่งพระพี่เลี้ยงหญิงชาย คือ ตำแหน่งแม่นางกัลยารัตน์ และตำแหน่งพญาพิทักษ์เทวีให้อีกด้วย

ครั้นถึงวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ ๒๔๒๙ หลังจากพิธีโสกันต์ผ่านไปเป็นเวลา ๓ ปี ได้มีพระราชพิธี สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ขึ้นดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เป็นประเพณีแต่โบราณที่เจ้าเมืองประเทศราช และเจ้านายบุตรหลานต้องเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ในวโรกาสที่มีการพระราชพิธีสำคัญต่างๆ พระเจ้าอินทวิชยานนท์ ได้เสด็จนำพระ ราชธิดาเจ้าดารารัศมีมาจากเชียงใหม่เพื่อเข้าเฝ้าถวายของสมโภชแด่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราซฯ สยามมกุฎราชกุมาร และในวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๒๙ ก็ทรงนำพระธิดาเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อฉลองพระเดชพระคุณรับราชการฝ่ายใน ครั้งนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการสมโภชอย่างสมพระเกียรติพระธิดาเจ้าประเทศราช พร้อมกับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้าแก่พระเจ้าอินทวิชยานนท์ จึงทรงเป็นเจ้าประเทศราชพระองค์แรก และพระองค์เดียวที่ทรงได้รับ ในชั้นแรกโปรดเกล้าฯ ให้พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ประทับ ณ ห้องผักกาด บนพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ภายในพระบรมราชินูปถัมภ์ของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ต่อมามีพระราชดำริที่จะสร้างที่ประทับพระราชทานให้ใหม่ เมื่อพระเจ้าอินทวิชยานนท์ทราบกระแสพระราชดำริจึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต สร้างพระตำหนักน้อมเกล้าฯ ถวาย โดยมีพระบรมราชานุญาตให้สร้างขึ้นภายในเขตพระราชฐานชั้นใน พระบรมมหาราชวัง พระตำหนักใหม่หลังนี้สร้างตามรูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตก ขนาดใหญ่โอ่โถงสง่างามสูงสามชั้น เพียงพอแก่การอยู่อาศัยของข้าราช บริพารฝ่ายเหนือที่ตามเสด็จจากเชียงใหม่

ตลอดระยะเวลาที่พระราชชายา เจ้าดารารัศมีรับราชการในพระบรมมหาราชวัง ทรงดำรงรักษาวัฒนธรรมประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์แห่งเมืองเหนือไว้อย่างเคร่งครัด และไม่เคยทอดทิ้งเลยตลอดพระชนมชีพ พระตำหนักของพระองค์จึงแตกต่างไปจากตำหนักอื่นๆ กล่าวคือ บรรดาข้าหลวงทั้งปวงจะนุ่งซิ่น กินเมี่ยง เกล้ามวย พูดคำเมืองที่อ่อนหวาน นุ่มนวล และยังมีชื่อเสียงว่าเป็นสำนักดนตรีที่ดีแห่งหนึ่งในสมัยนั้น เนื่องจากทรงสนพระทัยในการเรียนรู้วัฒนธรรมภาคกลางโดยเฉพาะดนตรีไทย จึงทรงสนับสนุนพระญาติและข้าราชบริพารฝึกหัดดนตรีไทยกันอย่างจริงจัง จนสามารถตั้งเป็นวงเครื่องสายได้ พระองค์เองก็ทรงเชี่ยวชาญการเล่นจะเข้ ซอด้วง ซออู้ แม้ดนตรีสากล เช่น เปียโน แมนโดลิน ก็ทรงเล่นได้เป็นอย่างดี เมื่อมีวิทยาการสมัยใหม่จากตะวันตกเข้ามา เช่นการถ่ายภาพก็ทรงสนพระทัยมากเช่นกัน การที่มีพระทัยใฝ่เรียนรู้สิ่งแปลกใหม่อย่างกว้างขวางล้วนเป็นคุณประโยชน์ที่จะทรงนำไปสู่บ้านเกิดเมืองนอนได้ภายภาคหน้า จนทรงได้รับยกย่องว่าเป็นผู้ส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างภาคขึ้น

พระราชชายา เจ้าดารารัศมี เป็นเจ้าจอมอยู่ประมาณปีเศษ ได้ประสูติพระราชธิดาเมื่อวันพุธ เดือน ๑๑ ขึ้น ๘ ค่ำ ปีฉลู ตรงกับวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๒ได้รับพระราชทานพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าหญิงวิมลนาคนพีสี ซึ่งข้าราชบริพารชาวเหนือเรียกขานพระนามว่า เสด็จเจ้าน้อย การประสูติพระราชธิดาอันเนื่องจากองค์พระมหากษัตริย์ทำให้ทรงได้รับพระเกียรติยศสูงขึ้นตามราชประเพณีเป็นเจ้าจอมมารดา งานพระราชพิธีสมโภชเดือนสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระศรีพัชรินทราพระบรมราชินีนาถ จัดละครเรื่องขุนช้างขุนแผนพระราชทานให้ เมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกเธอมีพระชนมายุเพียง ๓ พรรษาเศษก็ประชวรสิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๓๕ ทรงประจักษ์ชัดในพระทัยถึงความทุกข์โทมนัสของมารดาผู้สูญเสียบุตรว่าหนักหนาแสนสาหัสเพียงใด ดังต่อมาภายหลังเมื่อทรงทราบข่าวการสิ้นพระชนม์ของพระองค์เจ้าอุรุพงศ์รัชสมโภชแล้ว ได้มีพระโทรเลขกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลงวันที่ ๒๕ กันยายน ร.ศ. ๑๒๘ (พ.ศ. ๒๔๕๒) แสดงความเห็นใจเจ้าจอมมารดาเลื่อนที่สูญเสียพระโอรสว่า “มีความเศร้าโศกมาก นึกเห็นใจแม่เลื่อนความทุกข์เช่นนี้เคยรู้จักมาแล้ว” เหตุการณ์สิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงวิมลนาคนพีสีครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสแก่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า “ฉันผิดเอง ลูกเขาควรเป็นเจ้าฟ้า แต่ฉันลืมตั้งจึงตาย” หากพิเคราะห์ความหมายอย่างลึกซึ้งถึงกระแสพระราชดำรัสนี้ อาจจะทรงตระหนักในพระราชหฤทัยตลอดเวลา ถึงพระฐานะของพระราชชายา เจ้าดารารัศมีว่า มิได้เป็นบุคคลในชั้นสามัญชน หากทรงยกย่องว่าเป็นเจ้าด้วยเป็นพระธิดาของพระเจ้าแผ่นดินแห่งอาณาจักรล้านนา นับตั้งแต่นั้นมามิได้มีพระราชโอรสพระราชธิดาอีกเลย แต่ยังคงรับราชการฝ่ายในสนองพระมหากรุณาธิคุณ ด้วยความจงรักภักดีเป็นที่โปรดปราน จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๔๓๖ เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างตราปฐมจุลจอมเกล้าฝ่ายในขึ้นเป็นครั้งแรกนั้น มีผู้ที่ได้รับพระราชทานเป็นพิเศษเพียงสองท่าน ซึ่งมิได้เป็นพระภรรยาเจ้าคือ พระราชชายา เจ้าดารารัศมี และเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ งานสำคัญงานหนึ่งที่ทรงมีโอกาสรับสนองพระมหากรุณาธิคุณ คือ การร่วมเสด็จพระราชดำเนินออกรับแขกเมือง เจ้าหญิงแห่งแคว้นแสนหวี ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เนื่องจากแคว้นแสนหวีมีเขตแดนใกล้ชิดกับล้านนา จึงมีสำเนียงภาษาและวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน ในวันนั้นทรงฉลองพระองค์ในชุดเจ้านายฝ่ายเหนืออย่างเต็มพระยศ

พ.ศ. ๒๔๔๙ ขณะมีพระชนมายุ ๓๓ พรรษา เริ่มประชวรด้วยพระโรคปอดในระยะเริ่มแรก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แพทย์หลวงถวายการรักษาพยาบาลโดยรีบด่วน ทั้งยังโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จไปประทับรับอากาศบริสุทธิ์ที่อ่างศิลา จังหวัดชลบุรี อันเป็นกรณีพิเศษสำหรับฝ่ายใน พร้อมทั้งโปรดเกล้าฯ ส่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่นตามไปถวายการรักษา

พ.ศ. ๒๔๕๑ เมื่อเจ้าอินทวโรรส เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ ๘ เสด็จเข้ามาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ได้ตัดสินพระทัยกราบถวายบังคมลากลับไปเยี่ยมพระประยูรญาติพร้อมพระเชษฐา เพราะนับแต่เสด็จประทับอยู่ ณ กรุงเทพฯ เป็นเวลาถึง ๒๒ ปีแล้ว ก็ยังมิเคยเสด็จกลับอีกเลย แม้แต่เมื่อพระบิดาถึงแก่พิราลัยในปี พ.ศ. ๒๔๔๐ ก็ตาม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตพร้อมกับทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยยศเป็นพระราชชายา เจ้าดารารัศมี โดยมีพระฐานะเป็นพระภรรยาเจ้า อันเป็นพระอิสริยยศที่ทรงสถาปนาเป็นครั้งแรกในรัชกาล ครั้นถึงวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๑ จึงกราบถวายบังคมลาเสด็จสู่นครเชียงใหม่ทางรถไฟเพื่อลงเรือที่ปากนํ้าโพ มีพระมหากรุณาธิคุณส่งเสด็จที่สถานีรถไฟสามเสน ตลอดระยะเสด็จพระดำเนินทรงได้รับการต้อนรับอย่างสมพระเกียรติเสมอพระอัครชายา จนกระทั่งถึงนครเชียงใหม่ ในวันที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๕๒ รวมระยะเวลาเดินทางทั้งสิ้น ๓ เดือน ข้าราชการตลอดจนประชาชนชาวเชียงใหม่พร้อมใจกันจัดขบวนกองเกียรติยศถวายการต้อนรับอย่างมโหฬารยิ่ง

ตลอดระยะเวลาที่ประทับอยู่ ณ นครเชียงใหม่เป็นเวลา ๗ เดือนเศษนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระมหากรุณาธิคุณส่งพระราชหัตถเลขาและพระราชโทรเลขหลายสิบฉบับ มีข้อความแสดงถึงนํ้าพระทัยที่ทรงมีความรักความห่วงใยและความระลึกถึง มีพระทัยใส่ในการธุระต่างๆ ให้แก่พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ตลอดจนทรงแสดงไมตรีจิตต่อพระประยูรญาติทางเชียงใหม่อีกด้วย นอกจากนี้ยังโปรดเกล้าฯ พระราชทานสิ่งของต่างๆ ส่งขึ้นไปยังเมืองเหนือเสมอ ดังเช่น ได้พระราชทานหีบพระศรีทองคำลงยาประดับเพชรจารึกพระปรมาภิไธย จปร. ที่หลังหีบ ส่วนฝาหีบมีคำจารึกว่า

“หีบบรรจุคำอำนวยพรแลความ
คิดถึงของจุฬาลงกรณ์ ส่งไปให้
แก่ดารารัศมีผู้เป็นที่รัก เมื่อ
อายุครบสามรอบบริบูรณ์”

พร้อมกับหีบพระศรีใบนั้น ได้มีพระราชหัตถเลขาที่พระราชทานปรากฏข้อความดังนี้

วันที่ ๖ มีนาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๗

ดารา

ด้วยนึกถึงอายุเจ้าเต็มสามรอบ ได้คิดไว้แล้วว่าจะให้ของขวัญเผอิญประจวบเวลาไม่อยู่จะให้ก่อนขึ้นไป ทำไม่ทัน จึงได้จัดของส่งขึ้นมาด้วยหวังว่าจะได้รับที่เชียงใหม่ไม่ช้ากว่าวันไปถึงเท่าใด ขออำนวยพรให้มีอายุยืนยาวหายเจ็บไข้ กลับลงมาโดยความสุขสบาย ทุกประการ ขอให้ดูหนังสือที่เขียนไว้ข้างในหลังหีบหน่อย เผลอไปจะไม่ได้อ่าน ขอบอก ความคิดถึงอยู่เสมอไม่ขาด ตัวไปเที่ยวเองทิ้งอยู่ข้างหลังไม่ห่วง แต่ครั้นเวลาเจ้าจากไป รู้สึกเป็นห่วงมากจริงๆ

(พระบรมนามาภิธัย) จุฬาลงกรณ์ ปร.

พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ได้ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจที่เป็นการเสริมสร้างพระบารมีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้แผ่ไพศาลทั่วมณฑลพายัพ ก่อให้เกิดคุณประโยชน์นานัปการ อาทิเช่น เสด็จเยี่ยมราษฎรในท้องถิ่นอำเภอที่ทุรกันดาร ทรงเป็นผู้แทนพระองค์เสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีกับเจ้านายฝ่ายเหนือและเหล่าข้าราชการทั้งปวง และทรงนำศิลปวัฒนธรรมของภาคกลางไปเผยแพร่ให้ชาวเหนือได้ชื่นชม เมื่อประทับอยู่จนสมควรแก่เวลาแล้ว จึงกำหนดเสด็จจากนครเชียงใหม่ ในวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๒ โดยกระบวนเรือราว ๑๐๐ ลำ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนิน โดยเรือยนต์พระที่นั่งไปรับที่จังหวัดอ่างทอง จากนั้น เสด็จฯ ไปประทับพักผ่อน ณ พระราชวังบางปะอิน พระนครศรีอยุธยา เป็นเวลา ๒ คืน ในครั้งนี้ทรงได้รับพระราชทานสร้อยพระกรประดับเพชรเป็นของขวัญ ครั้นเสด็จถึงกรุงเทพฯ ในวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๒ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จไปประทับ ณ พระตำหนักสวนฝรั่งกังไส ซึ่งสร้างขึ้นพระราชทานพระราชชายา เจ้าดารารัศมี ในพระราชวังดุสิต แต่หลังจากเสด็จฯ ประทับที่กรุงเทพฯ เพียง ๑๑ เดือน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ได้ประทับ ณ พระตำหนักแห่งใหม่ต่อมาอีก เป็นเวลาหลายปี การดำเนินพระชนมชีพในช่วงระยะเวลานี้แม้จะมีความผาสุกและสะดวกสบายภายใต้ พระบารมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ แต่ก็คงจะไม่ทรงสำราญพระหฤทัยนัก ดังนั้น ใน พ.ศ. ๒๔๕๗ เมื่อเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ ๙ เสด็จลงมากรุงเทพฯ เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท จึงทรงตัดสินพระทัยกราบถวายบังคมลาเพื่อเสด็จกลับนครเชียงใหม่พร้อมกับพระเชษฐา ดังทรงมีหนังสือกราบบังคมทูล มีใจความสะท้อนถึงความรู้สึกส่วนลึกในพระหฤทัยและเหตุผลส่วนพระองค์ ดังนี้

วันที่ ๓ ธันวาคม พระพุทธศักราช ๒๔๕๗

ขอพระราชทานกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท

ด้วยข้าพระพุทธเจ้าขอรับพระราชทานพระราชวโรกาสกราบบังคมทูลตามความจริงใจชีวิตอยู่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท พระราชอาญาไม่พ้นเกล้าฯ ข้าพระพุทธเจ้าไม่มีที่จะแลเห็นแลที่หวังที่ไหน นอกจากพระมหากรุณาธิคุณใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ตามที่ได้ทรงพระกรุณาชุบเกล้าชุบกระหม่อมให้คงยศถาบรรดาศักดิ์ความสุขสำราญพร้อม ไม่มีสิ่งใด บกพร่อง เป็นพระเดชพระคุณอย่างรู้สึกซึ้ง ไม่มีคำใดที่จะกราบบังคมทูลให้พอกับความรู้สึกในใจได้ แต่ความเป็นไปในชีวิตของข้าพระพุทธเจ้าทุกวันนี้ไม่มีอะไรเลย นอกจากรับประทานแล้วนั่งๆ นอนๆ คอยท่าความตาย เวลาสบายร่างกายเป็นปรกติ ก็ได้รับความสุข ไม่มีสิ่งใดจะเดือดร้อน ถ้าเวลาไหนไม่สบายโรคภัยเบียดเบียนทำให้คับใจแลทรุดโทรมมากกว่าที่ควรโทรม ตัวข้าพระพุทธเจ้าต้องนับว่าตัวคนเดียวแท้ๆ ลูกก็ไม่มี พี่น้องที่พอจะอาศัยได้ก็อยู่ห่างไกลกัน เวลากลุ้มขึ้นมาคิดไปไหนก็ไม่สำเร็จ ที่สวนที่บ้านซึ่งพอจะได้ไปยืดเส้นยืดสายแก้รำคาญก็ไม่มี ครั้นจะไปตากอากาศตามที่ต่างๆ ก็ไม่มีผู้รับรองแลพาหนะกำลังพอที่จะไปเองได้ นอกจากจะต้องอาศัยของหลวง ทำให้เปลืองพระราชทรัพย์แลทั้งส่วนตัวด้วยโดยไม่จำเป็น โดยความขัดข้องตามที่ได้กราบบังคมทูลมานี้เวลานี้ก็เป็นโอกาสอันดีที่เจ้า
แก้วนวรัฐลงมา ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานกราบถวายบังคมลาขึ้นไปเชียงใหม่พร้อมกับเจ้าแก้วนวรัฐชั่วคราว พอจะได้เปลี่ยนอิริยาบถเสียอีกสักครั้งหนึ่ง การที่จะขึ้นไปนี้เจ้าแก้วนวรัฐก็รับรอง

ข้าพระพุทธเจ้าได้ลงมาอยู่เป็นข้าตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจนตลอดมาถึงใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเกือบ ๓๐ ปีแล้ว ยังไม่เคยได้ทำความเสื่อมเสียเกียรติยศ ซึ่งได้ทรงพระมหากรุณาชุบย้อมมาเลย แลทั้งแน่ใจแลเชื่อใจตนเองว่าคงจะไม่ประพฤติในสิ่งที่เสื่อมเสียให้ขุ่นเคืองมาถึงใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเป็นอันขาด

การที่ข้าพระพุทธเจ้ากราบบังคมทูลมานี้ ก็โดยหวังในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท เป็นร่มโพธิร่มไทร และเชื่อในพระมหากรุณาธิคุณว่าทรงหวังดีต่อพวกข้าพระพุทธเจ้าทั่วไป ชีวิตจิตใจความสุขแลทุกข์โดยพระมหากรุณา

ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้า
ดารา

พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ได้เสด็จฯ จากกรุงเทพฯ ในวันที่ ๘ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๗ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดขบวนเสด็จอย่างสมพระเกียรติดังเช่นครั้งก่อน หากแต่พระราชชายาฯ ทรงขอพระราชทานให้งดเสีย เนื่องจากมีพระประยูรญาติฝ่ายเหนือรับผิดชอบอยู่แล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพญาพิทักษ์เทวีคนใหม่เพื่อเป็นพระเกียรติยศ สืบแทนพญาพิทักษ์เทวีคนเดิมซึ่งถึงแก่กรรม การเดินทางโดยขบวนรถไฟทรงแวะพิษณุโลก แพร่ ลำปาง ลำพูน จนกระทั่งถึงเขียงใหม่ ในวันที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๗ เสด็จประทับ ณ คุ้มท่าเจดีย์กิ่ว ริมแม่น้ำปิง

การเสด็จกลับสู่ปิตุภูมิครั้งนี้ ทรงได้รับการยกย่องว่าเสด็จมาเป็นศรีแห่งเมืองเชียงใหม่โดยแท้ ด้วยทรงสละความสุขสบายส่วนพระองค์ออกบำเพ็ญพระกรณียกิจอันเป็นคุณประโยชน์นานัปการ คือ

ด้านพระศาสนา

การที่ทรงเลื่อมใสศรัทธาต่อพระพุทธศาสนามาแต่ทรงพระเยาว์ ดังนั้นเมื่อทรงดำรงพระฐานะที่จะประกอบพระกรณียกิจทางด้านนี้ได้อย่างเต็มที่แล้ว จึงทรงมุ่งทะนุบำรุงกิจการในพระศาสนาเป็นจำนวนมาก เช่น ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์ รวมทั้งสร้างถาวรวัตถุต่างๆ ถวายเป็นพระศาสนสมบัติแก่พระอารามต่างๆ นอกจากนี้ยังทรงถวายปวารณาช่วยเหลือพระภิกษุชาวเหนือให้ได้ลงไปศึกษา พระปริยัติธรรมทางใต้ และทรงอุปสมบทพระภิกษุสามเณรอยู่เสมอมิได้ขาด

ด้านการศึกษา

ทรงเล็งเห็นความสำคัญด้านการศึกษาของเยาวชน จึงประทานที่ดินสร้างโรงเรียน คือ โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ทรงสละเวลาส่วนพระองค์ประทานคำปรึกษา แนะนำ รับเป็นกรรมการจัดตั้งโรงเรียนต่างๆ ในเชียงใหม่ ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์โรงเรียนดาราวิทยาลัย โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ โรงเรียนมหาดเล็กหลวงเชียงใหม่ ประทานทุนทรัพย์เป็นทุนการศึกษาแก่นักเรียน ทรงรับภาระส่งเด็กเข้าศึกษาที่โรงเรียนฝึกหัดกสิกรรม ที่อำเภอทับกวาง จังหวัดสระบุรี และทรงเป็นประธานจัดตั้งหอสมุดประจำจังหวัดเชียงใหม่

ด้านการเกษตร
ทรงสนพระทัยในการปลูกต้นไม้แต่งสวนตั้งแต่ประทับภายในพระบรมมหาราชวัง เมื่อเสด็จมาประทับยังเชียงใหม่ทรงริเริ่ม บุกเบิก และพัฒนาการเกษตรภาคเหนือให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น โดยทรงซื้อที่ดินบริเวณอำเภอแม่ริม สร้างเป็นสวนทดลองเกษตรกรรมประทานนามว่าสวนเจ้าสบาย และปลูกพระตำหนักดาราภิรมย์ ณ ที่นั้น ทรงริเริ่มโครงการปลูกพืชผักเมืองหนาว เช่น แคนตาลูป เชอรี่ แอปเปิล บิทรูท แครอท กะหลํ่าปลีสีม่วง ข้าวโพดพันธุ์ต่างประเทศ และไม้ดอกประดับ ไม้ดอกกลิ่นหอมนานาพันธุ์ ประสบผลสำเร็จเผยแพร่ไปสู่ชาวเมือง กลายเป็นสินค้าสำคัญของเชียงใหม่ การทรงเป็นสมาชิกสมาคมกุหลาบแห่งประเทศไทยจึงทรงได้รับกิ่งพันธุ์จากต่างประเทศหลายพันธุ์ มีพันธุ์ที่โปรดที่สุดเนื่องจากมีดอกใหญ่ สีชมพูสวยสด กลิ่นหอมเย็น จึงทรงตั้งชื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์ว่า “จุฬาลงกรณ์”

ด้านศิลปวัฒนธรรม
ในด้านนาฏศิลป์ ดนตรี และละคร ทรงสนพระทัยยิ่งด้วยโปรดการฟ้อนรำมาแต่ทรงพระเยาว์ เนื่องจากทรงได้รับการถ่ายทอดจากพระบิดา ซึ่งเชี่ยวชาญด้านนาฏศิลป์ และเป็นผู้ริเริ่มแบบแผนนาฏศิลป์ของเชียงใหม่ พระองค์เองก็ได้ทรงคิดประดิษฐ์การฟ้อนพื้นเมืองเหนือเป็นที่นิยมจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ การฟ้อนเล็บ ฟ้อนเทียน ฟ้อนม่านเม่เล้ ฟ้อนมอญหรือฟ้อนผีมด ฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา ที่ทรงดัดแปลงจากการฟ้อนในราชสำนักพม่า ทรงเอาพระทัยใส่จนแทบจะยึดถือเป็นกิจวัตรประจำวันในการฝึกหัด ลูกหลานเจ้านายฝ่ายเหนือเป็นช่างฟ้อนประจำวังเพื่อแสดงในวันเฉลิมฉลองต่างๆ และยังโปรดให้จัดส่งครูสอนการฟ้อนไปถ่ายทอดให้แก่นักเรียนในโรงเรียนสตรีของเชียงใหม่ ด้านการละคร ทรงสนพระทัยมาแต่ครั้งประทับที่กรุงเทพฯ มีพระอุตสาหะจัดละครรำจากบทพระราชนิพนธ์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ นราธิปประพันธ์พงศ์ เช่น เรื่องอิเหนา พระลอ สาวเครือฟ้า ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่งขึ้นไปพระราชทานมาฝึกซ้อมให้คณะละครรำของเจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ ๘ แสดงให้ชาวเชียงใหม่ชม ด้านดนตรีก็ทรงสนับสนุนพระญาติวงศ์ฝ่ายเหนือรํ่าเรียนวิชาดนตรีไทยและการขับร้องเพลงไทยจากครูผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่าน และท่านเหล่านี้เมื่อตามเสด็จกลับเชียงใหม่แล้วได้มีส่วนในการถ่ายทอดวิชาดนตรีไทยให้แพร่หลายในภาคเหนือ นอกจากนี้ยังโปรดให้จัดหาครูดนตรีไทยขึ้นไปประจำวังหลายท่านเพื่อสอนด้านมโหรีและปี่พาทย์อีกด้วย

ด้านวรรณกรรม
มีพระปรีชาในด้านการแต่งบทประพันธ์ทั้งโคลง กลอน สักวา ทรงมีผลงานพระนิพนธ์บทขับร้องเพลงซอที่ไพเราะถวายพระราชสดุดีพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว คราวเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลภาคพายัพ ปี พ.ศ. ๒๔๖๙ และพระนิพนธ์บทระบำซอสมโภชช้างพลายสำคัญ ซึ่งทางเชียงใหม่น้อมเกล้าฯ ถวายในวาระนี้ ทรงสนับสนุนศิลปะพื้นบ้านคือค่าวซอ ด้วยการฝึกหัดช่างซอ หรือนักร้องเพลงพื้นเมือง และทรงให้ความอุปถัมภ์แก่กวีล้านนาผู้มีความสามารถในการแต่งบทค่าวซอ

ด้านหัตถกรรม
การที่เคยเสด็จประทับ ณ พระบรมมหาราชวัง ซึ่งเป็นศูนย์รวมของศิลปหัตถกรรมชั้นเลิศหลายแขนง จึงเกิดความสนพระทัย ประกอบกับมีฝีพระหัตถ์ในเรื่องการเย็บปกถักร้อย เช่น การปักสดึง การถักนิตติ้ง อยู่แล้ว จึงมีพระดำริที่จะทำการอุปถัมภ์ฟื้นฟูงานด้านศิลปหัตถกรรม โดยเฉพาะศิลปะพื้นบ้าน การทอซิ่นยกดอก ซิ่นตีนจกของล้านนา ได้ทรงนำซิ่นยกดอกจกด้วยมือใช้ไหมทอง พระมรดกจากพระมารดา ซึ่งมีเพียงผืนเดียวเป็นตัวอย่างในการเก็บลายและประดิษฐ์ลายด้วยพระองค์เอง ทรงรวบรวมผู้ชำนาญในการทอซิ่นจากหมู่บ้านวัดดวงดีมาสอนการทอกี่ ในบริเวณพระตำหนักที่ประทับประทานโอกาสให้บุคคลต่างๆ ที่สนใจสามารถเข้ามาเรียนการทอผ้าแบบนี้ได้ เป็นผลให้ศิลปะการทอซิ่นยกดอกจกแบบโบราณ ที่เกือบจะสูญหายได้กลับแพร่หลายเป็นที่นิยมไปยังจังหวัดอื่นๆ ในภาคเหนือ แม้งานด้านฝีมือเย็บใบตอง และดอกไม้สด เช่น การทำบายศรี ร้อยมาลัย จัดพุ่ม ร้อยตาข่าย ก็ทรงรวบรวมผู้มีฝีมือมาฝึกสอนที่พระตำหนักเช่นกัน โดยใช้ดอกไม้สดที่ปลูกไว้ในสวนของพระองค์เอง ทรงฝึกหัดข้าหลวงให้ชำนาญด้านการแกะสลักผัก ปอกผลไม้ เคี่ยวขี้ผึ้งทำเทียน เป็นต้น พระตำหนักของพระองค์จึงเป็นเสมือนศูนย์การฝึกศิลปาชีพ อันก่อให้เกิดช่างฝีมือและผลงานสืบสานมรดกทางศิลปวัฒนธรรมที่เป็นสิ่งเชิดหน้าชูตาแก่ทาง เชียงใหม่ต่อไป

ด้านสาธารณประโยชน์อื่นๆ
ได้ทรงบริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างตึกที่โรงพยาบาลแมคคอมิค และซื้อรถยนต์ประทานสถานีอนามัย เป็นต้น

ด้านโบราณคดี
พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ทรงมีสุขภาพพลานามัยแข็งแรง พระทัยกล้าหาญ โปรดที่จะทรงช้างหรือม้า เสด็จประพาสตามอำเภอท้องถิ่นต่างๆ เพื่อทอดพระเนตรภูมิประเทศชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎร และมีโอกาสชมโบราณสถาน นมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์ บางครั้งต้องประทับแรมในป่า ได้เคยทรงม้าเสด็จถึงยอดดอยอ่างกาหลวง ซึ่งสูงที่สุดในประเทศไทย และได้นำพระอัฐิเจ้าอินทวิชยานนท์พระบิดา ขึ้นไปประดิษฐานในพระสถูปบนยอดดอยแห่งนี้ ด้วยเหตุนี้ชื่ออ่างกาหลวงจึงเปลี่ยนเป็นดอยอินทนนท์จนทุกวันนี้ จากการที่สนพระทัยใฝ่ศึกษาเรื่องราวต่างๆ อยู่เสมอ จึงทรงรอบรู้และเชี่ยวชาญวิชาการด้านโบราณคดี โดยเฉพาะเรื่องเงินตราโบราณของทางเหนือ ทรงได้รับยกย่องจากสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า มีความชำนาญเกี่ยวกับพงศาวดารเมืองเหนือ และโบราณคดีในภาคเหนือดีกว่าใครๆ ในมณฑลพายัพ ทรงเป็นผู้มีชื่อเสียงและได้รับการเคารพยกย่องจากนักโบราณคดี ตลอดจนชาวต่างประเทศที่ทำการศึกษา ค้นคว้าวิจัยเรื่องราวของภาคเหนือเป็นอย่างยิ่ง

พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ทรงมีความจงรักภักดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทุกพระองค์ ตลอดจนเจ้านายในพระราชวงศ์จักรีอย่างไม่เสื่อมคลาย ทรงพร้อมที่จะอุทิศพระองค์เพื่อรับใช้เมื่อมีโอกาส ดังเช่นเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินี เสด็จเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ พ.ศ. ๒๔๖๙ พระราชชายาฯ ก็ทรงเป็นองค์ประธานและที่ปรึกษาในการจัดเตรียมงานรับเสด็จอย่างสมพระเกียรติแห่งพระมหากษัตริยาธิราช ด้วยทรงรอบรู้ในขนบธรรมเนียมทั้งฝ่ายเหนือ และฝ่ายใต้เป็นอย่างดี การจัดริ้วกระบวนถวายการรับเสด็จนั้นดำเนินในรูปแบบอันเป็นเอกลักษณ์ของล้านนาโดยเฉพาะ อาทิ ขบวนแห่บายศรีทูลพระขวัญ ขบวนรำฟ้อน และการโปรยข้าวตอกดอกไม้ ของเจ้านายฝ่ายเหนือ ขบวนแห่ช้างแต่งเครื่องอย่างโบราณ ขบวนชาวเขาเผ่าต่างๆ กล่าวกันว่า เป็นงานที่งดงามเป็นที่ประทับใจ ซึ่งการวางรูปแบบการจัดงานในครั้งนั้นได้กลายเป็นแบบแผนแก่ชาวเชียงใหม่ได้ใช้ในการจัดเตรียมงานรับเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมทั้งพระราชอาคันตุกะที่มาเยือนเชียงใหม่ในปัจจุบัน ในส่วนพระอัธยาศัยทรงวางพระองค์ได้เหมาะสมกับกาลเทศะ สงบเสงี่ยมและสง่างามอยู่เสมอ ทรงได้รับพระเมตตาปรานีจากพระบรมวงศานุวงศ์แห่งมหาจักรีบรมราชวงศ์หลายพระองค์ ซึ่งได้ทรงติดต่ออย่างใกล้ชิดเสมอมา แม้เสด็จกลับยังนครเชียงใหม่แล้วก็ตาม นํ้าพระทัยที่โอบอ้อมอารี เอื้อเฟ้อเผื่อแผ่ ช่างรับสั่งโอภาปราศรัย ทำให้ทรงเป็นที่รักใคร่นับถือของบรรดาพระสนมกำนัลใหญ่น้อยตลอดจนข้าราชบริพารทุกระดับ แม้จะเสด็จประทับอยู่ ณ กรุงเทพฯ เกือบจะกึ่งพระชนมชีพ แต่ก็ไม่ทรงลืมบ้านเกิดเมืองนอน ทรงให้การอุปการะแก่พระญาติวงศ์ทางฝ่ายเหนือตลอดเวลา และจากการที่ทรงมีความสามารถพิเศษในการเป็นผู้นำ จึงทรงได้รับความนิยมยกย่องจากประชาชน พ่อค้าคฤหบดี ตลอดจนชาวต่างประเทศที่พากันมาเฝ้าแหนด้วยความเคารพอยู่เสมอ ในด้านกิจการงานบ้านเมืองก็มีพระกรณียกิจ ประทานคำปรึกษาแก่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่มารับราชการมณฑลพายัพอย่างเต็มพระทัย

เกี่ยวกับพระจริยวัตรและพระอัธยาศัยอันประเสริฐนั้น หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ได้ทรงพระนิพนธ์ไว้ว่า

“ทุกคนที่เคยได้เฝ้าพระราชชายา เจ้าดารารัศมี ที่ในพระบรมมหาราชวัง ในเวลาที่ประทับอยู่ในหมู่เจ้าจอมมารดาผู้ใหญ่ด้วยกันก็ดี ได้เฝ้าในเวลาเสด็จประทับเป็นประธาน อยู่ในหมู่ข้าราชการทั้งใต้และเหนือ ในเมืองเชียงใหม่ก็ดี ถ้าไม่ดูให้ดีก็จะรู้ไม่ได้เลยว่า พระราชชายาฯ ในที่ ๒ แห่งนั้นพระองค์เดียวกัน ทั้งนี้เพราะทรงสามารถแยกกาลเทศะได้เป็นยอดเยี่ยม พระราชชายาฯ ในพระบรมมหาราชวัง ไม่ทรงมียศมีศักดิ์ ไม่มีความสำคัญอันใด สมกับคำที่พวกเจ้าจอมด้วยกันเรียกว่า เจ้าน้อย เจ้าน้อยไม่มีความรู้อะไร เจ้าน้อยนั่งนิ่งๆ อมยิ้มในสิ่งที่ไม่มีสาระรอบๆ ตัวเองได้อย่างสบาย ทุกคนในที่นั้นก็ไม่มีใคร รู้จักพระองค์ท่านได้ นอกจากคำว่า เจ้าน้อย แต่ถ้าผู้ใดขึ้นไปเฝ้าที่เมืองเชียงใหม่ ผู้นั้นจะได้เฝ้าเจ้าหญิงผู้เป็นหลักของบ้านเมือง ประทับอยู่ในระหว่างข้าราชการทั้งฝ่ายใต้และเหนือ เวลาตรัสกับพวกใต้ก็ตรัสภาษาใต้อย่างชัดเจน ถ้าหันไปตรัสทางฝ่ายเหนือก็ชัดเป็นฝ่ายเหนือไม่มีแปร่ง ตรัสไต่ถามทุกข์สุขและแนะนำทั้งในทางราชการและส่วนตัวด้วยความ เหมาะสมแก่พระเกียรติยศ ทรงชนะใจผู้ที่ได้เฝ้าแล้วได้เกือบหมดไม่เว้นตัวข้าราชการฝ่ายใต้ถวายความเคารพและใช้คำเพ็ดทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าใต้ฝ่าพระบาท และพ่ะย่ะค่ะ เช่นเดียวกับทูลเจ้านายฝ่ายใต้ในพระราชวงศ์จักรี แม้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็ตรัสสั่งพระธิดาว่า “กราบเจ้าป้าลงกับพื้นเถิดลูก เพราะไม่มีสิ่งใดที่ควรจะรังเกียจ แม้กำเนิดท่านก็เกิดมาในเศวตฉัตรเหมือนกัน”

พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ทรงได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ดังนี้คือ

ปฐมจุลจอมเกล้าฯ พร้อมด้วยดาราจุลจอมเกล้าฯ
มหาวชิรมงกุฎ
ปถมาภรณ์มงกุฎสยาม
เหรียญรัตนาภรณ์ จ.ป.ร. ลงยากรอบประดับเพชรรัชกาลที่ ๕
เหรียญรัตนาภรณ์ ว.ป.ร. ลงยากรอบประดับเพชรรัชกาลที่ ๖
เหรียญรัตนาภรณ์ ป.ป.ร. ลงยากรอบประดับเพชรรัชกาลที่ ๗
เข็มพระปรมาภิไธย รัชกาลที่ ๖ ประดับเพชรล้วน

นอกจากนี้ ในครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนพระอิสริยยศพระราชชายา เจ้าดารารัศมี ขึ้นเป็นที่พระอัครชายาเธอ แต่ทรงกราบบังคมทูลขอรับพระราชทานพระอิสริยยศเพียงเท่าเดิม ด้วยเกรงว่าจะทรงรักษาพระเกียรติยศที่สูงยิ่งขึ้นไปไม่ได้งดงามพอ

ในบั้นปลายพระชนมชีพได้ประทับอย่างสงบสุขตลอดมา ณ พระตำหนักดาราภิรมย์ สวนเจ้าสบาย อำเภอแม่ริม มีพระวรกายสูงโปร่ง พระฉวีค่อนข้างขาวนวล พระเนตรดุแต่ก็แฝงไปด้วยความเมตตาปรานี มักจะแต่งองค์ด้วยซิ่นลายขวางตามแบบชาวเหนือ และทรงเสื้อสีขาว แขนยาว เกล้าพระเกศาทรงสูง มักมีหวีสับหรือปิ่นทองปักพระเกศา มีพระพลานามัยแข็งแรง จนกระทั่งวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๖ พระโรคปับผาสะพิการ ซึ่งเคยเป็นอยู่เดิมกำเริบขึ้น แพทย์ทั้งชาวไทยและต่างประเทศถวายการรักษาอย่างเต็มความสามารถ พระอาการไม่ทุเลา เจ้าแก้วนวรัฐพระเชษฐา เชิญเสด็จประทับที่คุ้มรินแก้วเพื่อสะดวกต่อการถวายการดูแลรักษา พร้อมทั้งสั่งซื้อเครื่องเอกซเรย์จากชวามาช่วยตรวจการรักษา แต่ไม่เกิดผลดีประการใด จนถึงวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ ได้สิ้นพระชนม์เมื่อเวลา ๑๕.๑๔ น. ท่ามกลางความเศร้าสลดพระทัย และความเศร้าโศกเสียใจอาลัยรักของบุคคลทุกฐานันดรที่เฝ้าห่วงใยในพระอาการตลอดมา จนถึงวาระสุดท้ายแห่งพระชนมชีพ สิริรวมพระชนมายุ ๖๐ พรรษา ๓ เดือน ๑๓ วัน รวมระยะเวลาที่ประทับที่นครเชียงใหม่ครั้งสุดท้าย ๑๘ ปี ๑๑ เดือนเศษ

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระศพเป็นงานหลวง พระราชทานเครื่องประกอบพระเกียรติยศ อันได้แก่ นํ้าพระสุคนธ์สรงพระศพ พระโกศอัฐิทองคำ กระบวนแห่ เครื่องสูงประกอบพระเกียรติยศ สร้างพระเมรุพระราชทานเพลิงที่วัดสวนดอก นอกจากนี้ยังโปรดเกล้าฯ ให้มีการไว้ทุกข์ในพระราชสำนักถวายเป็นเวลา ๗ วัน พระอัฐิภายหลังจากพระราชทานเพลิงส่วนหนึ่งบรรจุไว้ที่พระกู่สุสานหลวงของราชวงศ์เชียงใหม่ อีกส่วนหนึ่งนำมาบรรจุไว้ในอาคารเดียวกันกับที่บรรจุพระอัฐิพระราชธิดา ณ สุสานหลวงวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ได้ทรงปฏิบัติพระราชภาระหน้าที่ในฐานะพระธิดาพระเจ้าแผ่นดินแห่งอาณาจักรล้านนาได้อย่างสมพระเกียรติยศ ด้วยพระทัยเด็ดเดี่ยว มั่นคง การที่ทรงเสียสละละจากบ้านเกิดเมืองนอนไปประทับในถิ่นฐานที่ต่างด้วยผู้คน ระเบียบแบบแผน วัฒนธรรม ประเพณี ที่มิได้ทรงคุ้นเคย เป็นเวลานานเกือบจะกึ่งหนึ่งของพระชนมชีพ เป็นเครื่องแสดงว่ามีพระขันติบารมีอันเปี่ยมล้นอุดม ด้วยพระสติปัญญาอันแสดงด้วยพระอัจฉริยภาพอันสูงส่ง ตราบจนทุกวันนี้แม้จะสิ้นพระชนม์นานกว่า ๕๐ ปี แล้วก็ตาม พระนามของพระองค์ยังคงเป็นที่กล่าวขานยกย่องและเคารพเทิดทูนจากอาณาประชาราษฎร์ ทั้งปวงมิเฉพาะแต่ชาวเชียงใหม่ ได้มีการก่อตั้งอนุสรณ์ต่างๆ เพื่อรำลึกถึงอยู่เสมอ ได้แก่

-พระอนุสาวรีย์ประทับนั่งเต็มพระองค์ ประดิษฐานหน้าตำหนักดาราภิรมย์ ค่ายดารารัศมี อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๕

-ค่ายดารารัศมี กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ ๕ ซึ่งตั้งอยู่ที่บริเวณตำหนัก ดาราภิรมย์ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ อัญเชิญพระนามมาตั้งเป็นชื่อค่ายเพื่อเทิดพระเกียรติ

-โรงเรียนดาราวิทยาลัย โรงเรียนสตรีขนาดใหญ่ของเชียงใหม่ ซึ่งพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์มาจนตลอดพระชนม์ชีพ ทางโรงเรียนจะจัดวันดารารัศมีเพื่อน้อมระลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ทุกวันที่ ๙ ธันวาคม ของทุกปี นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งมูลนิธิดารารัศมี เป็นทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนของโรงเรียน

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย: ฤดีรัตน์ กายราศ