พรหมลิขิต กรรมลิขิต

Socail Like & Share

บางคนเข้าใจว่า คนจะดีจะเลวแล้วแต่ชะตาชีวิตที่พระพรหมลิขิต คือ เขียนไว้ ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ทุกคนก็ต้องเป็นคนดี มีสติปัญญาดี มีรูปดี มีอะไรๆ ดีทุกอย่าง จะไม่ดีบ้าง ชั่วบ้าง จนบ้าง มั่งมีบ้าง รูปงามบ้าง ขี้เหร่จนดูไม่ได้บ้าง เป็นอัมพาตบ้าง เป็นมะเร็งทนทุกข์ทรมานบ้าง อย่างที่เห็นและเป็นกันอยู่ ทั้งนี้เพราะอะไร ก็เพราะพระพรหมนั้น ตามที่พูดๆ กันว่า ท่านมีเมตตา กรุณา ปรารถนาดีต่อผู้อื่น เป็นเอกลักษณะของท่าน เมื่อท่านเป็นผู้สามารถลิขิตเองได้จริงๆ ทุกคนก็ต้องไม่ดีบ้าง เลวบ้าง อย่างที่เป็นอยู่นี้ เพราะผิดเอกลักษณะของท่าน คนที่มีเมตตากรุณานั้น มีแต่อยากให้ผู้อื่นเป็นสุข ก็เมื่อไม่ใช่พระพรหมลิขิตแล้ว ใครเล่าจะลิขิต ผู้ลิขิตนั้นในพระพุทธศาสนาแสดงว่ามนุษย์เองเป็นผู้ลิขิตด้วยการกระทำของมนุษย์เอง จึงเรียกว่า กรรมลิขิต

ข้อนี้พระองค์ได้ตรัสไว้ ความไทยว่า กรรม คือการกระทำ ย่อมจำแนกสัตว์(หมายรวมทั้งคนทั้งสัตว์) ให้ดีบ้าง เลวบ้าง เป็นต้น ดังที่กล่าวไว้ในเรื่องกรรม(ดูเรื่องกรรม)

มตินี้ใครจะเชื่อหรือไม่ก็แล้วแต่ เพราะเป็นสิทธิของแต่ละคนที่จะมีมติหรือเชื่อ พระพุทธเจ้าก็ไม่เคยทรงบังคับใครให้เชื่อพระองค์

มีผู้หนึ่งทูลพระพุทธองค์ว่า น่าจะประทับนั่งบนอาสน์ที่มีค่า พระพุทธองค์ตรัสว่า พระองค์ประทับนั่งบนทิพยอาสน์บ้าง บนพรหมอาสน์บ้าง บนอริยอาสน์บ้าง(ซึ่งวิเศษกว่าอาสน์ที่ท่านผู้นั้นกล่าว) และทรงอธิบายว่า เมื่อพระพุทธองค์ประทับบนอาสน์ใด บำเพ็ญฌาน ๔ อาสน์นั้นก็เป็นทิพยอาสน์ ประทับบนอาสน์ใด บำเพ็ญพรหมวิหาร อาสน์นั้นก็เป็นพรหมอาสน์ ประทับบนอาสน์ใด พิจารณากิเลสที่ทรงละได้แล้ว อาสน์นั้นก็เป็นอริยอาสน์

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา