ผลจากสมาธิที่เห็นประจักษ์

Socail Like & Share

สมาธิ1

สามัญผล – ที่เห็นประจักษ์
ความสามารถของสมาธิขั้นต้น อำนาจจิตขั้นต้น จะช่วยให้มีความสามารถทั้งทางกายและทางจิตใจดีขึ้นกว่าปกติ เพิ่มความเข้มแข็งความอดทนและความขยันหมั่นเพียร ช่วยให้มีความจำดีมีสุขภาพดี เพิ่มความรู้ความเข้าใจในวิชาการต่างๆ ดีขึ้น ขวัญและกำลังใจดีขึ้น ในกรณีพิเศษหรือการทดสอบอำนาจจิตขั้นนี้ สามารถ ทดลองฟันหรือแทงด้วยแรงคนไม่เข้า ไม่มีอันตราย น้ำมันที่กำลังเดือดเอามือจุ่มลงไปได้ตักกินได้โดยไม่มีอันตราย สามารถเดินลุยไปบนถ่านที่ติดไฟโดยไม่ต้องใส่รองเท้าสามารถเอามือจับโซ่ขนาดใหญ่ที่เผาไฟจนแดงได้ หรือเอามือกอบขึ้นได้ ใช้ในการรักษาโรคได้ หรือช่วยส่งเสริมการรักษาอย่างอื่นให้โรคหายเร็วขึ้น ใช้ในการสะกดจิตได้ ช่วยให้มองเห็นภาพสิ่งของหรือเหตุการณ์ในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ได้ แต่ก็เป็นภาพเงาๆ ยังไม่ชัดเจนเหมือนสมาธิขั้นกลาง จึงมีส่วนผิดบ้างถูกบ้าง การใช้อำนาจจิตได้ต่างๆ ดังกล่าวมานี้ สามารถเรียนรู้และทำได้เองหลายอย่างในวันเดียว เรียนได้ทั้งชายหญิง โดยไม่ต้องเปลี่ยนศาสนา ความสามารถในทางธรรม สมาธิขั้นต้นช่วยให้ละกิเลสขั้นต้นได้หรือมีศีล

ความสามารถของสมาธิขั้นกลาง อำนาจจิตขั้นกลางสามารถเพิ่มพูนความเข้มแข็ง ความอดทนและความขยันหมั่นเพียร ช่วยให้เกิดขวัญและกำลัง ช่วยให้มีความจำและความรู้ความเข้าใจได้ดีกว่าอำนาจจิตขั้นต้น ส่วนในกรณีอื่นๆ ก็มีความสามารถสูงกว่าอำนาจจิตขั้นต้น ตัวอย่างเช่น ในการทดลองฟันหรือแทงแรงๆ อำนาจจิตขั้นต้นยังปรากฏผลว่ามีอาการบวมแดง และมีอาการเจ็บชํ้าได้ บางทีก็มีเลือดซึมออกมาบ้าง แต่อำนาจจิตขั้นกลางจะไม่มีอาการเจ็บไม่ช้ำบวม มองเห็นวัตถุในที่กำบังระยะไกล หรือเห็นเหตุการณ์ปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ชัดเจนและถูกต้องมีส่วนจะผิดพลาดน้อยมาก ในด้านความจำก็สามารถจำได้มากในระยะเวลาอันสั้น สามารถรับส่งข่าวด้วยกระแสจิตได้ (ถามและตอบกันได้ทางจิต) สะเดาะกุญแจให้หลุดได้ สามารถ รักษาโรคได้ผลดีกว่าอำนาจจิตขั้นต้น สามารถเปลี่ยนธาตุหรือวัตถุอย่างหนึ่งให้เป็นอีกอย่างหนึ่งได้ และทำให้เป็นตัวสัตว์ที่มีชีวิตและวิญญาณได้ เช่น การทำใบไม้ ให้เป็นแมลงภู่หรือเป็นนก และทำข้าวสารให้เป็นกุ้ง ความสามารถดังกล่าวมานี้อาจารย์ในประเทศไทยได้แสดงต่อหน้าที่ประชุมหลายครั้งมาแล้ว ในปัจจุบันก็มีทำได้หลายท่าน ในทางธรรมสมาธิขั้นกลางช่วยให้ละกิเลสขั้นกลาง (นิวรณ์ ๕) ได้ชั่วคราว

ความสามารถของสมาธิขั้นสูง อำนาจจิตขั้นสูง ย่อมใช้ประโยชน์ต่างๆ ได้เหมือนอำนาจขั้นต้นและขั้นกลาง แต่มีขีดความสามารถสูงกว่า เช่น ทำได้ดี ทำได้เร็ว ถูกต้องแม่นยำกว่า และนอกนั้นยังมีขีดความ สามารถนอกเหนือไปจากอำนาจจิตขั้นต้น และขั้นกลาง อีกมากมายหลายอย่าง ตัวอย่างการแสดงอำนาจจิต ตลอดจนหลักการและวิธีการที่จะใช้อำนาจจิตขั้นสูงมีอยู่ในพระไตรปิฎกหลายแห่ง จะขอยกมาเพียงบางแห่ง เช่น จากพระโตรปิฎก เล่ม ๑ เล่ม ๑๔ และ เล่ม ๑๙ น้อมจิต ไปเพื่ออิทธิวิธีหลายประการคือคนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ ทำให้หายไปก็ได้(หายตัว) หรือทำให้วัตถุอื่นหายไป เดินทะลุฝากำแพงหรือภูเขาไปได้ น้อมจิตให้เกิดทิพยโสต ได้ยินเสียงทิพย์กับเสียงมนุษย์ใกล้ไกลได้ เจโตปริยญาณ กำหนดรู้ใจของผู้อื่นได้ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึก ชาติก่อนได้เป็นอันมาก ผุดขึ้นดำลงแม่ในแผ่นดิน เหมือนในนํ้าก็ได้ เดินบนนํ้าเหมือนเดินบนดินก็ได้ เหาะไปในอากาศเหมือนนกก็ได้น้อมใจทำกองไม้ให้เป็นดินได้ หรือให้เป็นนํ้าได้ เป็นลมก็ได้ ทำให้ปรากฏคือมองเห็นอะไรไกลใกล้ได้แม้จะมีอะไรปิดบังก็เห็นได้ และอำนาจจิตขั้นสูงแม้ถูกเผาทั้งเป็นก็ไม่มีอันตราย โจรไล่ฟันก็ไม่ได้ สัตว์ร้ายก็ไม่กล้าทำอันตราย จิตขั้นสูงสุดก็อาจสำเร็จวิชา ๓ อภิญญา ๖ หรือ วิชชา ๘ ประการ (ดูจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถานและพระไตรปิฎก) พระอาจารย์สายต่างๆ ในดงลึกล้วนแต่ฝึกและสอนทาง เจโตวิมุตติเพราะช่วยให้มีอำนาจจิตใช้ประโยชน์ได้ดี ทั้งทางโลกและทางธรรมช่วยให้คนหายโรค หายทุกข์ หายโศกได้ ช่วยให้รํ่ารวยมีความสุขได้ ฯลฯ ในทางธรรมช่วยให้ละกิเลสขั้นกลางคือนิวรณ์ ๕ ได้เป็นระยะนาน และจะละกิเลสขั้นละเอียดได้ก็รวมวิปัสสนาเข้าด้วย
เรื่องการใช้พลังจิต อำนาจจิต อำนาจคุณพระ ในระดับสมาธิขั้นต้น ขั้นกลาง หรือการแสดงฤทธิ์ แสดงปาฏิหาริย์ ซึ่งเป็นการใช้อำนาจจิตระดับฌานนั้นมีผู้รู้และผู้แตกฉานทางปริยัติหลายท่านไม่เชื่อว่ามีได้จริงบ้าง บางท่านว่าไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า เป็นการต่อเติมแต่งเอาภายหลัง บางท่านว่าเป็นวิชาขั้นต่ำที่ไม่ควรเรียนรู้ บางท่านก็เลยเถิดเป็นมิจฉาทิฏฐิไปเสียเองก็มี เข้าสุภาษิตที่ว่า “สี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง” แต่ผู้เขียนรวบรวมมานี้ได้พบเห็นเรื่องจริงมามาก และได้สอนสมาธิวิปัสสนาให้ด้วย ถึงอย่างไรก็ดีท่านผู้รู้ส่วนมากยังเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง หรือมีประโยชน์ ในพระไตรปิฎกก็มีมากมายหลายตอนที่กล่าวถึงการใช้อำนาจจิต และการแสดงฤทธิ์ พร้อมทั้งมีคำสอนวิธีทำไว้หลายแห่ง พระพุทธเจ้าสอนและทรงใช้ให้พระภิกษุแสดงฤทธิ์ก็มี หลายตอน ในพระไตรปิฎก ในบทสวดพาหุง (ถวายพรพระ) กล่าวถึงการแสดงฤทธิ์ทั้ง ๘ ครั้ง พระพุทธองค์ ทรงสอนอุปเท่ห์หรืออุบายในการสู้กับพญานาคให้พระโมคคัลลา แล้วทรงใช้พระโมคคัลลาแสดงฤทธิ์สู้กับพญานาค ส่วนการแสดงฤทธิ์อีกเจ็ดครั้ง พระพุทธองค์ ทรงแสดงเอง จะว่าการใช้อำนาจจิตและการแสดงฤทธิ์มีจริง แต่ว่าเป็นเรื่องไม่ดีไม่ควร ย่อมไม่ใช่ฐานะที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์จะกระทำ ถ้าคิดว่าการใช้อำนาจจิต การแสดงฤทธิ์ไม่มี ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะมี ตัวอย่างที่ทำได้มากมาย ในพระไตรปิฎกมีทำได้ทั้งพระภิกษุและฆราวาส แม้ในปัจจุบันก็มีผู้ทำได้หลายท่าน จะว่าแต่งเติมเอาเองก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ จะกลายเป็นความเห็นผิดซึ่งเป็นอกุศลเป็นบาป และเป็นการไม่เคารพนับถือพระรัตนตรัยไปในตัว

การที่จะรู้จะมีความเห็นจะมีความสามารถเพียงใด จะใช้อำนาจจิตใช้ฤทธิ์ได้มากน้อยเพียงใด ก็อยู่ที่ระดับของจิต ระดับของสมาธิ พระอาจารย์ใหญ่ในดงลึก ท่านแบ่งระดับของสมาธิจากขั้นต้นจนถึงปลายสุดของอรูปฌานออกเป็น ๑๗ ระดับสมาธิระดับไหนจะทำอะไร ได้ท่านก็สอนและให้ทำดู เมื่อได้ถึงระดับนั้นแล้ว ทำดู พิจารณาดูให้เห็นธรรมชัดแจ้งทุกระดับ ทำแล้วก็ผ่านไป ไม่ให้ยึดติดไม่ให้ยึดมั่นถือมั่น เพราะแม้สิ่งที่ถูกที่ดีที่สมควร ถ้าไปยึดติดก็ให้โทษ เป็นการผิด ตัดความก้าวหน้า การใช้อำนาจจิตเป็นการกระตุ้นผลักดันให้เกิดสมาธิดีขึ้น เช่นจะตักนํ้ามันเดือดกินหรือจะกอบเหล็กที่เผาไฟแดงๆ ขึ้นมารู้ว่าอันตรายก็ตั้งใจจริงจังเป็นสมาธิเพื่อไม่ให้มีอันตรายท่านให้ทำใบไม้เป็นตัวสัตว์มีชีวิตดู ก็เพื่อให้เข้าใจชัดในเรื่องอวิชชาเป็นเหตุปัจจัยทำให้เกิดสังขาร สังขารทำให้เกิดวิญญาณ และวิญญาณทำให้เกิดนามรูป สอนให้เหาะได้ หายตัวได้ เดินบนน้ำได้ ดำดินได้ เดินผ่านทะลุภูเขาหรือกำแพงไปได้ ก็เพียงเพื่อให้รู้เห็นธรรมระดับสูงสุดคือ อนัตตา ความไม่มีตัวตนของทุกสิ่งทุกอย่าง ธรรมะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนลึกซึ้ง จึงต้อง อาศัยการรู้ทะลุ รู้ตลอด รู้โยงเกี่ยวไปหากันจึงจะเข้าใจได้ เช่น อานิสงส์หรือประโยชน์ของเมตตามีถึง ๑๑ อย่าง ในข้อที่ว่า เมตตาช่วยให้ไฟไม่ไหม้ ยาพิษไม่ทำอันตรายได้ จะเข้าใจได้ก็ต้องอ่านต้องพิจารณาพระไตรปิฎกหลายเล่ม คือดูการฝึกสมาธิ ๔๐ วิธีนั้น เมตตาก็เป็นวิธี ฝึกสมาธิหรือสมถะอย่างหนึ่ง เล่มต่อไปก็ดูอานิสงส์ของเมตตา เจริญเมตตาถึงขั้นสุดจะได้ถึงฌานที่ ๔ ไปดูอีกเล่มหนึ่งในพระอภิธรรมปิฎก จะเห็นข้อความว่า
“….เมื่อเข้าฌาน อัปปนาชวนะจิตช่วยคํ้าชูให้ตั้งอยู่ในอิริยาบทได้เป็นปกติไม่ให้กำเริบ เมื่อเกิดภัยต่างๆ เป็นต้นว่า ไฟไหม้ และช้างเสือโจร งูร้ายจะมาทำร้าย อัปปนาชวนะจิตก็ห้ามอันตรายได้ไม่ให้มีมาถึงโยคา- วะจร…” พูดให้ฟังง่ายก็คือเมื่อเข้าฌาน ๔ จะมีพลังหรืออำนาจจิตสูงสุดไปในตัว มีแรงผลักดันทำลายหรือป้องกันอันตรายต่างๆ ได้ แต่จะให้เข้าใจแจ่มชัดขึ้นอีก ก็ต่อเมื่อได้เห็นการแสดงการทดลองให้เห็นจริง หรือทำได้เอง เรื่องแปลกๆ ทำนองนี้มีตัวอย่างและวิธีทำในพระไตรปิฎกหลายแห่ง กระผมผู้เขียนได้ประสบพบเห็นมามากจึงไม่สงสัย

ยอดปรัชญา คือยอดความจริงในทางพระพุทธศาสนาเขียนไว้มีใจความว่า “ที่ว่าจริงนั้นก็จริง ที่ว่าไม่จริง นั้นก็จริง แต่ที่จริงแน่ๆ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่มีข้อขัดแย้งได้จึงจะเรียกว่า จริงแท้ จริงแท้นั้นคือพระอริยสัจ ๔ (ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค) ที่ว่าไม่จริงนั้น ก็จริงนั้น ก็เพราะทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งรูปทั้งนามไม่เที่ยง เป็นอนิจจัง เปลี่ยนแปลงได้เสมอ จะว่าถูกก็ได้ ผิดก็ได้ จะว่าจริงก็ได้ไม่จริงก็ได้จะว่ามีคุณมีประโยชน์หรือมีโทษ ไม่มีประโยชน์ก็ได้ และถูกต้องทั้ง ๒ ฝ่าย มีแต่ฝ่ายใดจะถูกจะจริงมากกว่า เช่น ยิงนกถูกนก แต่ถ้าถูกที่ปลายขนที่ผิดมากกว่าถูก หรือจะว่ายิงผิดก็ได้ ถูกกับผิด ดีกับชั่ว จริงหรือไม่จริงก็อยู่ที่เดียวกัน เมื่อเป็นอนิจจังก็เป็นทุกขัง เป็นอนัตตาอยู่ในที่เดียวกันในขณะเดียวกัน ถ้าจะพูดอีกสำนวนหนึ่งก็ว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีข้อยกเว้น

มรรคมีองค์ ๘ เป็นทางสายกลาง นำไปสู่พระนิพพาน ก็มีความหมายได้หลายระดับ ระดับแรกของทางสายกลาง คือวิธีปฏิบัติไม่มัวเมาเพลิดเพลินในกาม และไม่ทรมานตนแบบโยคี ซึ่งเรียกว่า เป็นทางสุดโต่ง ๒ อย่าง หรือ ๒ ฝั่ง งดเว้นการปฏิบัติทั้ง ๒ ฝั่ง ระดับที่ ๒ ดีขึ้นอีก ก็ให้เว้นจากการเสพกามในทางเพศ และเว้นจากการหลงติดมัวเมาในวัตถุกามทั้งหลายโดยการถือศีล ฝึกสมาธิและวิปัสสนา ระดับที่ ๓ ดีขึ้นไปอีกก็คือถือศีลให้ดีขึ้น ประณีตขึ้น ฝึกสมาธิวิปัสสนาโดยเคร่งครัดเอาจริงเด็ดเดี่ยว มีสัจจะธรรม (ความจริงจังจริงใจ ๕ ประการ คือ จริงต่อหน้าที่ จริงต่อการงาน จริงต่อวาจา จริงต่อบุคคล จริงต่อความดี) และการทรมานตนแบบพระพุทธศาสนาได้แก่ การ “ถือธุดงค์”

จงเชื่อมั่นเถิดว่า ขณะนี้แม้ท่านยังไม่เคยลงมือฝึกสมาธิ ท่านก็มีอำนาจจิตอยู่ในตัวแล้ว และอาจนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง ในเมื่อท่านรู้ วิธีและจังหวะในการทำ ซึ่งจะทราบได้โดยแจ่มแจ้งจากผู้เขียนหรือท่านผู้รู้อื่นๆ

เหตุให้มั่งมี
๑.    มีความขยันหมั่นเพียร
๒.    รู้จักรักษาของที่หามาได้
๓.    มีคนดีเป็นมิตร ไม่คบคนชั่ว
๔.    เลี้ยงชีวิตตามควรแก่กำลังทรัพย์ที่หาได้

ถ้าอยากมั่งมีก็ทำจิตให้นิ่ง พิจารณาทำความเข้าใจเป็นข้อๆ จะขยันหมั่นเพียรได้ต่อเนื่องเป็นเวลายาวนานก็ต้องอาศัยกำลังใจหรืออำนาจจิตช่วยคุม การรักษาของ รักษาเงินที่หาได้ ดูธรรมว่าด้วยการรักษาและการใช้ทรัพย์ คนดีคนชั่วก็ดูจากลักษณะมิตรดีมิตรชั่วและดูมิตรสัมพันธ์ วิธีเชื่อมไมตรีให้ยาวนาน

ที่จริงการฝึกสมาธิหรือวิปัสสนาก็เป็นเรื่องที่ฝึกไปพร้อมๆ กัน ไม่ใช่แยกกันดังจะเห็นจากสติปัฏฐานสี่ ขึ้นต้นก็ฝึกกำหนดลม พระอาจารย์ลี สอนว่า การเอาจิต (สติ) จดจ่อแนบแน่นดูลมหายใจอยู่นั่นคือ สมาธิ (สมถะ)การรับรู้หรือพิจารณารู้ว่าลมหายใจสั้นหรือยาวหนักหรือเบา เย็นหรือร้อน นั่นคือ วิปัสสนา ที่ว่า ไม่ฝึกแยกกันนั้นมีหลักฐานในพระไตรปิฎก เล่ม ๕๑ หน้า ๔๗๒ (ดูชุด ๘๐ เล่ม) มีใจความว่า “ภิกษุย่อมเจริญสมถะและวิปัสสนาคู่กันไปด้วยอาการ ๑๖ คือ…..” พระอาจารย์พุทธทาสกล่าวว่า “วิธีอานาปานสตินั้น มีทั้งสมถะและวิปัสสนาอยู่ในตัว”

ที่มา:ชม  สุคันธรัต