การเลี้ยงปลาสวายและปลาเทโพ

Socail Like & Share

๑. ลักษณะทั่วไป
ปลาสวาย (Pangasius Sutchi) และปลาเทโพ (Pangasius larnaueii) เป็นปลาน้ำจืด มีรูปร่างลักษณะคล้ายคลึงกัน และอยู่ในสกุลเดียวกัน มีขนาดความเป็นอยู่ และกินอาหารอย่างเดียวกันด้วย ปลาชนิดนี้เป็นปลาที่ไม่มีเกล็ด ลำตัวยาวเพรียว หลังค่อมข้างตรงส่วนหน้าลาดลงถึงปาก และปากกว้างทู่ มีหนวดสั้นๆ ๒ คู่ มีกระโดงครีบหลัง ๑ อัน และครีบอกข้างละ ๑ อัน ปลายหางยาวและเว้าลึกเป็น ๒ แฉก

คำว่า ปลาสวาย บางทีก็ทำให้ฉงน คือ ในภาษาไทยมีปลาเรียกว่า ปลาสวายหนู และถ้าไม่สังเกตแล้วจะเข้าใจว่า ปลาสวายหนูเป็นปลาสวายที่จะกล่าวในที่นี้ ปลาสวายหนู (Helcophagus wander) ดูเผินๆ แล้วจะเหมือนปลาสวาย แต่มีข้อแตกต่างที่เห็นได้ชัด คือ ปลาสวายหนูมีหนวด ๔ คู่ ปากค่อนข้างกลม ส่วนปลาสวายมีหนวด ๒ คู่ ปากค่อนข้างทู่

ปลาสวายมีสีหม่นเข้มที่หลัง และมีสีเหลืองอ่อนตามครีบส่วนที่ปลายหางที่ครีบหลังและที่ครีบอกมีสีค่อนข้างดำ ปลาเทโพก็มีลักษณะอย่างเดียวกับปลาสวาย แต่ที่ต่างกันสังเกตได้ง่ายๆ ก็คือ ปลาเทโพมีจุดดำที่ข้างกระโดงครีบอก หรือตามที่ชาวบ้านเรียกกันว่าหูอีกข้างละ ๑ จุด

ฉะนั้น ในการสังเกตลักษณะปลาเทโพ ปลาสวายธรรมดาและปลาสวายหนูโดยง่ายๆ จึงมีวิธีสังเกตดังนี้

ก. ปลาเทโพ มีหนวด ๒ คู่ หูมีจุดดำ ปากมนกลมและกว้าง

ข. ปลาสวาย มีหนวด ๒ คู่ หูไม่มีจุดดำ ปากค่อนข้างทู่

ค. ปลาสวายหนู มีหนวด ๔ คู่ หูไม่มีจุดดำ ปากค่อนข้างกลม

๒. ขนาดและน้ำหนัก
ปลาสวายและปลาเทโพ โดยปกติมีขนาดยาว ๒๕-๔๕ เซนติเมตร แต่ปลาทั้งสองชนิดนี้ ดร. ฮิว ม. สมิธ ชาวอเมริกัน ซึ่งเคยเป็นที่ปรึกษาของกรมประมง ได้พบและวัดขนาดเป็นสถิติบันทึกไว้ว่า “ในปี ๒๔๗๒ ได้พบปลาเทโพที่บ้านพระยาสุริยวงษ์ฯ จังหวัดธนบุรี มีขนาดถึง ๑.๒๗-๑.๓๐ เมตร ส่วนปลาสวายที่เคยพบมีขนาด ๙๐ เซนติเมตร” แต่เท่าที่สถานีประมงจังหวัดนครสวรรค์ และแผนกทดลองและเพาะเลี้ยงบางเขนได้ทำการทดลองเลี้ยงในระยะ ๓ ปี พร้อมกับได้สอบสวนจากชาวประมง และผู้เคยเลี้ยงปลาชนิดนี้ปรากฏว่า

ปลาสวายปลาสวาย1
เพิ่มน้ำหนักในปีที่ ๑ เฉลี่ยตัวละ ๒.๖๐ กิโลกรัม ตัวใหญ่ที่สุดยาวจาก ๓๐ เซนติเมตร เป็น ๗๖ เซนติเมตร และเพิ่มน้ำหนักจาก ๑ กิโลกรัมเป็น ๕.๔๐ กิโลกรัม เพิ่มน้ำหนักในปีที่ ๒-๓ เฉลี่ยตัวละ ๓.๐๗ กิโลกรัม แต่ตัวใหญ่ที่สุดยาวจาก ๗๖ เซนติเมตรเป็น ๘๘.๕๐ เซนติเมตร และเพิ่มน้ำหนักจาก ๕.๔๐ กิโลกรัม เป็น ๙.๑๐ กิโลกรัม

ปลาเทโพปลาเทโพ
เพิ่มน้ำหนักในปีที่ ๑ เฉลี่ยตัวละ ๐.๓๐ กิโลกรัม ตัวใหญ่ที่สุดยาวจาก ๓๐ เซนติเมตร เป็น ๔๘ เซนติเมตร และเพิ่มน้ำหนักจาก ๖๐.๐ กิโลกรัม เป็น ๑.๓๐ กิโลกรัม เพิ่มน้ำหนักในปีที่ ๒-๓ เฉลี่ยตัวละ ๐.๒๐๔ กิโลกรัม ตัวใหญ่ที่สุดยาวจาก ๔๖ เซนติเมตรเป็น ๕๑ เซนติเมตร และเพิ่มน้ำหนักจาก ๑.๓๐ กิโลกรัม เป็น ๑.๖๐ กิโลกรัม จะเห็นว่า ถ้าเลี้ยงปลาสวายในปีแรก น้ำหนักเพิ่มขึ้นตัวละ ๒.๖๐ กรัม ในปีที่ ๒-๓ จะได้น้ำหนักเพิ่มขึ้นอีก ๓.๐๗ กิโลกรัม ส่วนปลาเทโพจะเพิ่มน้ำหนักน้อยกว่าปลาสวาย

๓. ชีวิตและความเป็นอยู่
ปลาทั้งสองชนิดนี้มีชุกชุมมากในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณภาคกลางของประเทศไทย คือตามลำน้ำ ลำคลอง ตั้งแต่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ถึงจังหวัดนครสวรรค์ ปลาชนิดนี้มักจะว่ายรวมกันไปเป็นฝูงๆ ชอบอยู่ในที่น้ำลึกและน้ำไหลถ่ายเทได้ ชอบพักอยู่ในที่มีร่มพันธุ์ไม้น้ำ เช่น ตามใต้แพผักบุ้งที่มีกร่ำหรือแพสนุ่น ผักตบชวา ปลาชนิดนี้ตกใจง่าย เมื่อถูกรบกวนหรือถูกทำอันตราย

โดยการสอบสวนจากผู้ที่ได้เคยทำการทดลองเลี้ยงด้วยกระชังก็ดี และโดยการทดลองเลี้ยงในบ่อของแผนกทดลองและเพาะเลี้ยงบางเขนก็ดี ในชั่วระยะเวลา ๒-๓ ปี ไม่ปรากฏว่าทั้งสองชนิดนี้วางไข่แพร่พันธุ์ในบ่อหรือในกระชังที่เลี้ยงไว้เลย การเลี้ยงปลาทั้งสองชนิดนี้มักจะจับเอาลูกปลาตัวเล็กๆ ซึ่งมีความยาวเพียง ๕-๑๒ เซนติเมตร จากแหล่งน้ำธรรมชาติมาเลี้ยง เมื่อเจริญเติบโตได้ขนาดก็จำหน่ายไปเท่านั้น

การจับลูกปลามักจะใช้เครื่องมือจับปลาที่เรียกว่า “ไซมอน” หรือใช้แหอีกอย่างหนึ่ง บางโอกาสก็ใช้ลอบยืนโดยใช้กล้วยสุกหรือปลาเน่าเป็นเหยื่อล่อ การจับปลาทั้งสองชนิดนี้มักจะจับตั้งแต่ฤดูน้ำลด คือในราวเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม ทั้งนี้แม่ปลาจะวางไข่ในระยะตั้งแต่เดือนเมษายนหรือเดือนพฤษภาคม จนกระทั่งถึงเดือนสิงหาคม เมื่อไข่ฟักออกเป็นตัว ลูกปลาก็เข้ามารวมกันเป็นฝูงๆ ปลาชนิดนี้ชอบผุดขึ้นเหนือผิวน้ำอยู่เสมอๆ ฉะนั้นจะสังเกตเห็นได้ง่ายว่าปลาชนิดอื่นๆ และยิ่งในเวลาที่ได้รับอาหารด้วย ก็มักจะผุดขึ้นบ่อยครั้ง ปลาชนิดนี้ไม่กระโดดขึ้นเหนือผิวน้ำเลย ฉะนั้นจึงเหมาะที่จะเลี้ยงในกระชัง เพราะแม้ปาก
ของกระชังจะอยู่สูงกว่าระดับน้ำเล็กน้อย ปลาก็ไม่สามารถกระโจนออกมาได้ แม้จะไม่มีฝาปิดปากกระชังก็ตาม แต่การเลี้ยงในกระชังนี้ก็ต้องอยู่ในแม่น้ำลำคลองที่ค่อนข้างสงบ ไม่มีเรือแพสัญจรไปมา เพราะปลาสวายและปลาเทโพเป็นปลาที่ตื่นตกใจง่าย ฉะนั้นหากจะเลี้ยงในบ่อที่มีทางระบายถ่ายเทน้ำได้ ก็เหมาะกว่าที่เลี้ยงด้วยกระชังตามแม่น้ำลำคลองที่มีคลื่นอยู่เนืองๆ

๔. การเลี้ยง
การเลี้ยงปลาสวายและปลาเทโพนั้น ควรจะพิจารณาและปฏิบัติดังต่อไปนี้

ก. บ่อ ปลาสวายและปลาเทโพเป็นปลาขนาดใหญ่ ศัตรูที่เป็นปลาด้วยกันจึงมีน้อยเพราะส่วนมากปลาอื่นๆ ที่มีอายุไล่เลี่ยกันจะมีขนาดเล็กกว่าไม่อาจทำอันตรายได้ แต่ควรให้มีน้ำลึกอยู่เสมอไม่น้อยกว่า ๒.๐๐ เมตรเป็นเหมาะ แต่ที่ดีที่สุดควรอยู่ติดกับแม่น้ำลำคลอง หรือที่มีทางน้ำไหลถ่ายเทได้ในบางโอกาส เมื่อน้ำเสียจะได้ถ่ายเทได้สะดวก บ่อไม่จำเป็นต้องมีชาน เพราะไม่หวังให้ปลาทั้งสองชนิดนี้วางไข่ในที่ตื้น เช่น ปลาสลิด เพียงแต่ให้ขอบบ่อเทลาด และมีชานคอยรับคันดินขอบบ่อไว้ มิให้พังทลายลงไปในบ่อซึ่งจะทำให้บ่อตื้นเท่านั้นก็พอแล้ว คันดินขอบบ่อนั้นจะไม่มีก็ได้ เพราะไม่จำเป็นต้องป้องกันศัตรูจำพวกปลาด้วยกัน เหมือนกับเพาะเลี้ยงปลาสลิด ปลาหมอตาล และปลาไน

บ่อที่ติดต่อกับทางน้ำอื่นได้ ควรสร้างบานประตูสอดตะแกรงเพื่อให้น้ำไหลถ่ายเทได้สะดวก บานประตูนี้ควรกว้างไม่น้อยกว่าช่องละ ๑ เมตร ส่วนบานตะแกรงที่สอดกับบานประตูทำด้วยไม้จริง หรือไม้ไผ่สานที่แน่นหนาแข็งแรงก็ได้ บานตะแกรงที่ใช้นี้ต้องพิจารณาดูอีกด้วยว่า ตาตะแกรงจะโตเท่าใดที่ลูกปลาจะเล็ดรอดหนีออกไปได้อย่างหนึ่ง อีกอย่างต้องช่วยป้องกันศัตรู คือปลาที่ใหญ่กว่าจะเข้ามาได้ เมื่อปลาที่เลี้ยงโตแล้วก็ขยายตาตะแกรงให้ใหญ่ตามขนาดได้ ส่วนปลาอื่นๆ ที่จะผ่านตาตะแกรงเข้ามานอกจากจะเป็นอาหารของปลาที่เลี้ยงแล้ว ยังอาจจะจับจำหน่ายได้ในเมื่อจับปลาสวายและปลาเทโพที่เลี้ยงขึ้นเพื่อจำหน่ายทั้งหมด เพราะปลาอื่นๆ ที่เข้ามาอาศัยตั้งแต่ตัวเล็กๆ เช่น ปลาตะเพียน หรือปลาดุก ฯลฯ จะเจริญเติบโตไปพร้อมกับปลาสวายและปลาเทโพที่เลี้ยงด้วย

ข. น้ำ น้ำที่จะใช้เลี้ยงปลาสวายและปลาเทโพนี้จะต้องเป็นน้ำที่จืดสนิท ถ้าน้ำนั้นกร่อยหรือมีรสเฝื่อน ปลาจะไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร

ค. พันธุ์ปลา การเลือกพันธุ์ปลาที่จะนำมาเพาะเลี้ยงนี้ควรคัดปลาที่ไม่มีแผล ตาไม่บอก และไม่เป็นปลาที่แคระแกร็น สำหรับปลาที่มีแผลนั้น ถ้าเป็นแผลเล็กน้อยที่เกิดขึ้นใหม่ก็ไม่สู้กระไรนัก ปล่อยลงในบ่อดินปลาอาจจะหายไปได้ แต่ถ้าเลี้ยงในกระชังก็ควรคัดเอาออก เพราะเชื้อโรคจะระบาดติดตัวอื่นๆ

ปลาตัวใดที่ตาบอดจะสังเกตได้ โดยที่ตรงนัยน์ตามีจุดฝ้าขาว ไม่ควรนำมาเลี้ยงเพราะไม่เห็นอาหารที่ให้ ปลาจะได้กินบ้างไม่ได้กินบ้างก็ไม่เจริญเติบโตหรืออาจจะตายได้

อีกประการหนึ่ง ในการคัดพันธุ์ปลาลงไปเลี้ยงในบ่อนี้ต้องพยายามคัดปลาที่มีขนาดโตไล่เลี่ยกันจึงจะดี เพราะปลาตัวที่โตกว่าจะรบกวนและแย่งอาหารตัวที่เล็กกว่า ในเมื่อให้อาหารไม่เพียงพอ

อนึ่งในการเลี้ยงปลาชนิดนี้ หากจะใส่ปลาดุกลงไปเลี้ยงปนด้วยก็ได้ การที่ใส่ปลาดุกลงไปเลี้ยงปนกัน ก็เพื่อหวังจะให้ปลาดุกกินเศษอาหารที่เหลือจากปลาสวายและปลาเทโพ โดยกำหนดอัตราปลาดุก ๑ ตัวต่อปลาสวายและปลาเทโพ ๒ ตัว

ง. อัตราการปล่อยปลา ในการเลี้ยงปลาสวายและปลาเทโพบ่อที่มีเนื้อที่ผิวน้ำ ๑ ตารางเมตร ควรปล่อยปลาสวาย ๑ ตัว หรือปลาเทโพ ๒ ตัว ซึ่งเป็นปลาที่มีอายุราว ๑ ปี มีขนาดยาว ๒๕ เซนติเมตร ถึง ๓๕ เซนติเมตร

จ. อาหาร ปลาสวายและปลาเทโพเป็นปลาที่กินอาหารง่าย ไม่เลือกอาหาร ชอบกินอาหารทั้งประเภทเนื้อสัตว์และพืชผัก แต่ปรากฏว่าปลาทั้งสองชนิดนี้ชอบกินเนื้อสัตว์มากกว่าพืชผัก เช่น ปลาเล็กๆ เป็นต้น นอกจากนี้รำปนกับผักบุ้งก็ใช้ได้ ส่วนเนื้อปลานั้นเท่าที่ได้สังเกต เช่น ปลาสร้อยเป็นๆ ก็ไม่ค่อยชอบเท่ากับปลาสร้อยที่ตายและมีกลิ่นเน่าบ้าง สำหรับอาหารของปลาทั้งสองชนิดนี้ จะขอกล่าวแยกไว้ดังนี้คือ

(ก) อาหารธรรมชาติได้แก่ พวกพืชและสัตว์เล็กๆ ที่อยู่ในน้ำ เช่น ตัวแมลงเล็กๆ ลูกหอย ไส้เดือน หนอน ลูกกุ้ง ฯลฯ นอกจากนี้ถ้าหากจะใส่ปุ๋ย มูลโค กระบือ ม้า หมู ฯลฯ ลงไปในบ่อในอัตรา ๑๐ กิโลกรัมต่อเนื้อที่ ๑ ไร่ จะช่วยเพิ่มอาหารโดยตรงต่อปลาและช่วยให้เกิดอาหารธรรมชาติในบ่อทำให้ปลาเจริญเติบโตยิ่งขึ้นด้วย

(ข) อาหารสมทบมีดังนี้
(๑) พวกผักต่างๆ และแหน ได้แก่ผักบุ้ง ผักกาดและเศษผักต่างๆ ใช้โปรยให้กินสดๆ ไม่ควรต้มให้สุก
(๒) ใบแค สับให้ละเอียดแล้วโปรยให้กินสดๆ
(๓) รำ ใช้คลุกปนกับน้ำข้าวที่เย็นแล้ว หรือจะปนกับผักและปลาป่นได้ก็ยิ่งดี คลุกเคล้าให้เข้ากันดีและปั้นเป็นก้อนแล้วโยนให้กิน
(๔) ปลายข้าว ใช้ต้มแล้วปนกับผักหรือปลาป่นก็ได้ แต่ผักและปลาป่นนั้นไม่จำเป็นต้องต้มทำนองเดียวกับข้อ (๓)
(๕) กากถั่วเหลือง ทำให้ละเอียดผสมกับรำโปรยให้กินดิบๆ
(๖) กากมะพร้าว โปรยให้กินดิบๆ หรือจะคั่วเก็บไว้ใช้ในมื้ออื่นที่ขาดแคลนอาหารก็ได้
(๗) เศษเนื้อสัตว์ตัดเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วโยนให้กินดิบๆ
(๘) จำพวกหอยต่างๆ ทุบเปลือกแล้วแกะเอาแต่เนื้อให้กินสดๆ
(๙) ปลาต่างๆ แกะเนื้อปลาสับเป็นชิ้นๆ หากเป็นปลาเล็กให้ทั้งตัว เช่น ปลาสร้อย ปลาแปบ ปลาซิว เป็นต้น

อาหารต่างๆ ที่กำหนดให้นี้จะสังเกตได้ว่า มิได้แนะนำให้ต้มหรือลวกแต่อย่างใด เพราะการต้มหรือทำให้สุกย่อมทำลายวิตามินทำให้คุณภาพของอาหารนั้นหมดไปโดยใช่เหตุ

การให้อาหารควรให้เป็นเวลา เพราะปลาจะได้เคยชินและจะเชื่องได้เร็ว ควรให้อย่างมากวันละ ๒ ครั้ง ในเวลาเช้าและเวลาเย็น อาหารที่ให้นี้จะสังเกตได้ว่าเพียงพอแต่ละมื้อหรือไม่ โดยจะเห็นได้จากการฮุบของปลา คือ ถ้าโยนอาหารลงไปตอนหลังๆ นั้น ถ้าปลาไม่ฮุบอีกก็หมายความว่าพอแล้วไม่ต้องให้อีกต่อไป การให้อาหารนี้ในระยะเวลาใกล้จำหน่ายควรจะปนด้วยเนื้อสัตว์ ข้าว จะทำให้ปลาอ้วนและมีน้ำหนักดีกว่าให้อาหารจำพวกผักแต่อย่างเดียว

๕. การจับ
การจับปลาที่เลี้ยงเพื่อใช้เป็นอาหารประจำก็ดี หรือจำหน่ายเป็นจำนวนน้อยก็ดีการใช้เครื่องมือจับปลาต้องระวังให้มาก เพราะปลาชนิดนี้มีประสาทเข็ดกลัวและตื่นตกใจง่าย และจะไม่กินอาหารไปหลายวัน ฉะนั้นในการจับปลาด้วยสวิงก็ดี ด้วยแหก็ดี ปลาที่ติดเครื่องมือแล้วไม่ควรปล่อยไปปนกับปลาที่เลี้ยงไว้อีก เพราะปลาที่ถูกจับมักเข็ดหรืออาจจะทำให้ปลาอื่นเข็ดไปด้วย ฉะนั้นควรจะแยกขังไว้เพื่อใช้เป็นอาหารต่อไป แต่ถ้าหากจับปลาจำหน่ายก็ควรจำหน่ายเป็นจำนวนมากๆ ไม่ควรจำหน่ายจำนวนน้อยๆ ทยอยกันไป เพราะปลาที่ถูกจับทีหลังมักไม่ค่อยกินอาหาร ทำให้น้ำหนักลดลง

การจับปลาจำนวนมากๆ ควรใช้อวนหรือเฝือกล้อมสกัดตัดตอนของบ่อที่เลี้ยงให้พอเหมาะ เพื่อป้องกันมิให้ปลาที่ถูกจับตื่นตกใจมาก

๖. การลำเลียง
การขนส่งปลาสวายและปลาเทโพนั้น การขนส่งทางน้ำได้ผลดีกว่าทางบกมาก เพราะการขนส่งทางบกการถ่ายเทน้ำจากภาชนะไม่สะดวก เนื่องจากปลาชนิดนี้มีเมือกมาก ทำให้น้ำที่หล่อเลี้ยงเกิดเมือกจัด ปลามักจะตายเร็ว ส่วนมากการขนส่งทางน้ำ การลำเลียงด้วยเรือ การถ่ายเทน้ำได้ง่ายอันตรายจึงมีน้อยกว่า เคยมีราษฎรบางรายในจังหวัดนครสวรรค์ลำเลียงมาขายในกรุงเทพฯ แล้ว

อีกวิธีหนึ่งใช้ลำเลียงด้วยกระชัง ซึ่งได้ผลดีมาก โดยปล่อยกระชังล่องลอยมาตามกระแสน้ำ ปลาจะไม่มีอันตรายเลย แต่ถ้าหากใช้เรือยนต์ลากจูง ทำให้น้ำในกระชังปั่นป่วนปลาจะว่ายเลาะข้างกระชัง ปากปลาจะเป็นแผลและนัยน์ตาจะบอดหมด สถานีประมงจังหวัดนครสวรรค์ได้เคยทดลองด้วยวิธีนี้มาแล้ว โดยนำพันธุ์ปลาสวายและปลาเทโพจากจังหวัดนครสวรรค์มาเพาะเลี้ยงที่บางเขน จังหวัดพระนคร ปรากฏว่าปลาส่วนมากที่ปากจะเป็นแผลและนัยน์ตาบอดดังได้กล่าวมาแล้ว

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี