ปลามีความสำคัญแก่มนุษย์อย่างไร

Socail Like & Share

ปลานั้นคือสัตว์น้ำที่หายใจด้วยเหงือก บางชนิดก็มีเกล็ดบางชนิดก็ไม่มีเกล็ด อาศัยอยู่ในน้ำจืดก็มีเรียกรวมว่าปลาน้ำจืด อาศัยอยู่ในน้ำเค็มก็เรียกว่าปลาน้ำเค็ม

ปลานั้นมีอยู่หลายร้อยหลายพันชนิด มีทั้งชนิดที่เป็นการหาปลาอาหารของคน และชนิดที่กินคนเป็นอาหาร

พูดถึงอาหารปลา คนไทยเราเห็นจะนิยมปลาเป็นอาหารมาแต่โบราณ ส่วนอาหารประเภทเนื้อสัตว์นั้น เห็นจะไม่ค่อยนิยมรับประทานกันนัก เพราะเรานับถือศาสนาซึ่งห้ามไม่ให้ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต สัตว์ที่ตัวโตซึ่งเป็นอาหารได้ ก็มีวัวควาย ซึ่งเราใช้ทำนา ซึ่งถือว่ามีบุญคุณ เราก็ไม่นิยมรับประทานสัตว์จำพวกนี้มาก่อน ส่วนหมูนั้นเล่า จะเลี้ยงไว้ฆ่ากินก็ไม่กล้าทำด้วยกลัวบาป ก็เห็นจะมีแต่ปลานี้แหละถึงบาปก็ฆ่าสะดวกหน่อย และปลาก็มีอยู่ชุกชุมในประเทศของเรา จนถึงกับพ่อขุนรามคำแหงมหาราช โปรดให้จารึกไว้ในศิลาแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของกรุงสุโขทัยว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” และคนไทยเราสมัยก่อนก็ไม่ค่อยรับประทานอาหารอย่างอื่น “นอกจากกินข้าวกินปลา” หรือถ้าแต่งงานกันใหม่อยู่กันอย่างมีความสุขก็ว่า “ข้าวใหม่ปลามัน” ซึ่งคำพูดหรือคำพังเพยเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าเรารับประทานข้าวกับปลาเป็นอาหารหลักกันมาแต่โบราณ เพิ่งมาเปลี่ยนอาหารหลักเป็นจำพวกเนื้อสัตว์เมื่อไม่นานมานี้เอง ที่เปลี่ยนจากปลามาเป็นพวกเนื้อสัตว์ก็เพราะปลานั้นหาได้ยากในฤดูแล้ง แต่สำหรับชาวชนบทที่ห่างไกลแล้ว อาหารปลายังนับว่าเป็นอาหารหลักอยู่เช่นเดิม เพราะไม่มีที่ซื้อหาพวกเนื้อสัตว์ได้ทุกเวลา อย่างพวกที่อาศัยอยู่ในเมือง และพวกอาหารสัตว์เป็นอาหารที่แพงเกินกว่าที่ชาวบ้านทั่วไปจะซื้อหามาทำอาหารได้ทุกวัน ส่วนพวกปลานั้นชาวบ้านหาเอาเองได้ตามห้วยหนองคลองบึงหรือทะเล

ปลานั้น คงจะมีความสำคัญแก่มนุษย์เรามานาน เพราะปรากฏว่าในเรื่องนารายณ์ ๑๐ ปาง มีปางหนึ่งซึ่งพระนารายณ์อวตารเป็นปลา เรียก มัสยาวตาร เพื่อไปนำเอาพระเวทของพระพรหมาซึ่งอสูรลักไปไว้ และเพื่อช่วยเหลือให้มนุษย์รอดอยู่คราวน้ำท่วมใหญ่ นอกจากนี้พวกชาวชมพูทวีปยังเชื่อกันว่าโลกหรือพื้นแผ่นดินที่เราอาศัยอยู่นี้ลอยอยู่บนพื้นน้ำ และมีปลาอานนท์หนุนอยู่ หากว่าปลาอานนท์นี้พลิกตัวทีหนึ่ง แผ่นดินจะไหวทีหนึ่ง อย่างคำกลอนที่ว่า “ปลากระดิกพลิกครีบทวีปไหว เมรุไกรโยกยอดเพียงถอดถอน” และในหนังสือไตรภูมิพระร่วงยังได้กล่าวถึงปลาใหญ่ว่ามีอยู่ ๗ ตัว คือ ๑. ติรณะ ๒. ติปังคละ ๓. ติรปิงคละ ๔. อานนท์ ๕. นิรยะ ๖. อัชนาโรหะ ๗. มหาติ ปลาเหล่านี้ตัวยาวตั้งแต่ ๗๕ โยชน์ จนถึง ๕๐๐ โยชน์ ปลาเหล่านี้แต่ละตัวเห็นจะใหญ่กว่าปลาวาฬที่เราพบเห็นในปัจจุบันนี้มาก

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี