ประเพณีทำบุญพระเวส

Socail Like & Share

การจัดเครื่องสักการบูชา  การทำบุญพระเวสชาวอีสานถือว่าเป็นพิธีกรรมใหญ่และสำคัญยิ่ง คนโบราณถือว่า ถ้าทำพิธีหรือแต่งเครื่องสักการบูชาไม่ถูกไม่ครบ  มักเกิดอุบาทว์ต่าง ๆ เช่น เกิดฝนแล้ง เป็นต้น  หรืออาจเกิดภัยพิบัติต่าง ๆ แก่ชาวบ้านได้ดังได้กล่าวแล้วข้างต้น  ดังนั้น  ชาวบ้านจึงพิถีพิถันในการทำพิธีกรรมและแต่งเครื่องสักการะบูชากันมาก  มีพิธีรีตองกันมาก  จนต้องใช้เวลาเตรียมงานเป็นเดือน ๆ  ถ้าคนไม่สนใจจริง ๆ ก็ยากที่จะจดจำได้และปฏิบัติได้ถูกต้อง  ฉะนั้น เพื่อสะดวกในการทำบุญนี้  ชาวบ้านจึงต้องจัดเตรียมกิจกรรมไว้แต่เนิ่น ๆ คือ

๑.  ก่อนวันงานประมาณ ๑๕ วัน ทุกวัน  เวลาประมาณ ๒ ทุ่มกว่า ๆ หลังจากชาวบ้านกินข้าวเย็นเสร็จแล้ว  ทางวัดจะตีกลองเพื่อเรียกชาวบ้านหนุ่มสาวมาชุมนุมกันทำงานเพื่อเตรียมงาน  เรียกว่า ตีกลองงัน  ตีกลองงัน  ก็คือตีกลองใหญ่ ที่พระใช้ตีบอกเวลาฉันเพลนั่นเอง  เมื่อชาวบ้านหนุ่มสาวมาพร้อมกันแล้ว  พระเจ้าอาวาสก็จะให้เขาหั่นลำโน(ลำต้นโสน) หรือลำมอน(ลำต้นหม่อน)  โดยฝานเป็นรูปดอกไม้  เรียกสั้น ๆ ว่าฝานอกโน มีการมาชุมนุมกันฝานทุกวัน เมื่อใกล้ถึงวันงาน จึงพร้อมกันเอาดอกโนที่ฝานแล้วนั้นมาย้อมเป็นสีต่าง ๆ ให้สวยงาม  โดยย้อมเป็นสีเดียวทั้งดอก  อาจเป็นสีเขียว สีแดง สีฟ้า หรือ สีเหลือง ก็ได้

การตีกลองงัน  เพื่อให้ชาวบ้านหนุ่มสาวมาทำงานเพื่อเตรียมงานนี้  ชาวบ้าน เรียกว่า ไปลงวัด  ในการลงวัดนี้ หนุ่มสาวชอบไปกัน เพราะวัดเป็นเสมือนที่ที่ให้หนุ่มสาวมีโอกาสพบปะสังสรรค์กัน  มีโอกาสพูดหยอกล้อเกี้ยวพาราสีกันเป็นที่สนุกสนาน  เมื่อได้เวลากลับบ้านหนุ่ม ๆ ที่พอใจสาวใด  ก็จะถือโอกาสตามสาวนั้นไปคุยต่อที่บ้านของเธออีกด้วย  หนุ่มสาวจึงมีโอกาสรักใคร่ชอบพอกัน  ด้วยเหตุนี้มากมาย อนึ่ง  เป็นที่น่าสังเกตว่าชาวอีสานมักจะมีเรื่องความสนุกสนานเข้ามาเกี่ยวข้องในงานบุญใหญ่ ๆ เสมอ เช่น บุญบั้งไฟ และบุญพระเวส เป็นต้น  ถ้าประเพณีการทำบุญใด  ชาวบ้านได้รับทั้งความสนุกสนานและได้ทำบุญไปด้วย ประเพณีนั้นมักจะอยู่สืบมาได้ยืนนาน  ถ้าประเพณีใดไม่ค่อยมีเรื่องความสนุกสนานควบคู่ไปกับการทำบุญ ประเพณีนั้นมักจะค่อย ๆ หายไป เช่น ทำบุญคูนลาน เป็นต้น

ลำดับต่อไปหลังจากทำดอกโนแล้ว  เมื่อใกล้วันงานชาวบ้านจะทำราวไม้รอบบริเวณศาลาโรงธรรมชั้นในสูงเลยศีรษะประมาณ ๑ ศอก  สำหรับแขวนดอกไม้ และเทียนพันน้ำมันหมื่นและเครื่องประดับอื่น ๆ(คำว่าเทียนพันน้ำมันหมื่น ก็คือเทียนที่ใช้เส้นด้ายชุบขี้ผึ้งที่ต้มให้เหลวแล้ว)ดังนั้นบริเวณศาลาโรงธรรม จึงเต็มไปด้วยเครื่องประดับ  เช่น ดอกโน ก็ใช้ด้ายร้อยเป็นสายและเทียนที่ใช้ฝ้ายชุบขี้ผึ้ง  ห้อยระย้าเต็มไปหมด  ส่วนธรรมมาสน์เทศน์ จะตั้งอยู่ตรงกลาง มีการมัดฟางติดกับราวให้รอบ  ใช้ดอกไม้ไผ่ยาวประมาณ ๑ ศอก  เสียบดอกในสีต่าง ๆสลับกันขัดเป็นตาข่ายโดยรอบ เพื่อให้ดูสวยงาม

๒.  สำหรับเครื่องบูชามหาชาตินั้น ต้องแต่งให้ครบ เรียกกันว่าเครื่องร้อยเครื่องพัน  นิยมเรียกอีกอย่างว่า เครื่องคุรุพันธ์  มีสิ่งต่อไปนี้ คือ

ธูป ๑๐๐๐ ดอก  บัวอีแบ้ (บัวผัน) ๑๐๐๐ ดอก  บัวทอง(บัวเผื่อน) ๑๐๐๐ ดอก ดอกผักตบชวา ๑๐๐๐ ดอก  ดอกก้านขวง (ดวงปีบ) ๑๐๐๐ ดอก  เมี่ยง ๑๐๐๐ คำ  หมากพลู ๑๐๐๐ คำ  มวนยา(ยาเส้นที่พันด้วยใบกล้วยแห้ง) ๑๐๐๐ มวน ข้าวตอกใส่กระทงน้อยใหญ่ ๑๐๐๐ กระทง  ข้าวพันก้อน(ข้าวเหนียวนึ่งทำเป็นก้อนเล็ก ๆ) ๑๐๐๐ ก้อน  ธุง(ธง)กระดาษ ๑๐๐๐ อัน  ธุงชัย ๘ ทิศ(ธงหางยาวทำด้วยผ้าขัดลายด้วยดอกไม้ไผ่ ผูกติดกับปลายไม้ไผ่รอบใน ๘ ทิศ)  ที่วางข้าวพันก้อน สานด้วยฝาขัดแตะผูกติดกับหลักเสาธุง  ๘ อัน  ฉัตรใหญ่ ๘ อัน ฝังติดกับหลักเสาธุงขันหมากเบ็ง (ขันบายศรี) ๘ อัน  ตั้งไว้ติดกับหลักธุงรอบบริเวณขันหมากเบ็ง ๒ อัน  ตั้งไว้ที่หออุปคุต ธงช่อ(ธงทำเป็นช่อระย้า) ทำให้ได้เท่าจำนวนกับธุงชัย

นอกจากนี้  ก็มีการทำพวงมาลัยด้วยดอกแสบง (ดอกยางกวาด) ลูกหวาย ลูกเดือย และ ลูกเม็ดเพกาแห้ง  คือเอาเฉพาะข้างในฝักเพกา  นอกนั้นก็ตัดกระดาษเป็นพวงมาลัย  และยังทำพวงมาลัยข้าวตอก  คือเอาด้ายชุบแป้งเปียกคลุกด้วยข้าวตอก  แขวนห้อยย้อยไว้ในบริเวณศาลาโรงธรรม

๓. รอบธรรมาสน์ มีการตั้งโอ่งน้ำไว้ ๔ โอ่ง  สมมุตเป็นสระ ๔ สระ แต่ละโอ่งจะมีจอกแหน หัวอีแบ้ ใบบัวหลวง ปลา กุ้ง ปูนา หอย ใส่ให้ครบทุกโอ่ง  โดยทำตาข่ายล้อมไว้ให้ดี

๔.  ทำรูปสัตว์ต่าง ๆ แขวนไว้ในศาลาโรงธรรม มีรูปนกกระจิบ นกกระจาบ เสือ สิงห์ แรด ช้าง นกยูง นกเค้า เต่า ปลา มังกร จระเข้ รวงผึ้ง รวงมิ้ม เป็นต้น  นอกจากนี้ ก็มีการนำต้นกล้วย ต้นอ้อย มาผูกติดต้นเสาชั้นในให้ได้ ๘ ทิศ  มีทลายมะพร้าว ทลายตาล เครือกล้วย ผูกแขวนไว้บนขื่อศาลาโรงธรรม  ทั้งนี้ เพื่อจะทำให้บรรยากาศในบริเวณศาลาโรงธรรมคล้ายป่า  เป็นเครื่องระลึกถึงเมื่อครั้งพระเวสสันดรถูกเนรเทศออกไปอยู่ป่าเขาคีรีวงกต

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *