นิราศพระบาท

Socail Like & Share

“แสนอาลัยใจหายไม่วายห่วง
ดังศรสักปักช้ำระกำทรวง
เสียดายดวงจันทราพะงางาม
เจ้าคุมแค้นแสนโกรธพิโรธพี่
แต่เดือนยี่จนย่างเข้าเดือนสาม
จนพระหน่อสุริยวงศ์ทรงพระนาม
จากอารามแรมร้างทางกันดาร
ด้วยเรียมรองมุลิกาเป็นข้าบาท
จำนิราศร้างนุชสุดสงสาร
ตามเสด็จโดยแดนแสนกันดาร
ไปมัสการรอยบาทพระศาสดา”

สุนทรภู่แต่งนิราศพระบาทในวัยหนุ่ม นับเป็นเรื่องที่ ๒ รองจากนิราศเมืองแกลง อาจารย์ ธนิต อยู่โพธิ์ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร ได้เขียนอธิบายไว้ในคำนำหนังสือนิราศพระบาท ฉบับกรมศิลปากรพิมพ์ เนื่องในการจัดวรรณคดีสัญจรสู่พระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๓ ตอนหนึ่งว่า

“สุนทรภู่ ท่านผู้แต่งหนังสือนิราศพระบาท เกิดเมื่อ พ.ศ.๒๓๒๙ บิดาเป็นชาวเมืองแกลง จังหวัดระยอง มารดาเป็นแม่นม อยู่ในพระราชวังหลัง สุนทรภู่ก็คงจะมีชีวิตเกี่ยวข้องเข้าๆ ออกๆ อยู่ในพระราชวังหลังมาตั้งแต่เด็ก และอาจเป็นข้าอยู่ในพระราชวังหลังด้วย ครั้นโตเป็นหนุ่มขึ้นก็เกิดรักใคร่กับหญิงชาววังหลังผู้หนึ่ง ชื่อจันทร์ เมื่อสุนทรภู่ไปเมือง-
แกลงในต้น พ.ศ. ๒๓๕๐ และพรรณนาไว้ในนิราศเมืองแกลงที่ท่านแต่งขึ้น แสดงว่ายังมิได้ร่วมเป็นสามีภรรยากันกับหญิงชื่อจันทร์ แต่เมื่อกลับ มาจากเมืองแกลงแล้ว จึงได้อยู่กินกันฉันท์สามีภรรยา แต่น่าจะอยู่ด้วยกันได้ไม่เท่าไร ก็เกิดเรื่องแตกร้าว และแยกกันอยู่ คงจะเนื่องจากสุนทรภู่ก็มีนิสัยเป็นคนเจ้าชู้และนางจันทร์ภรรยาก็เป็นคนขี้หึง ครั้นใน ปลายปี พ.ศ. ๒๓๕๐ นั้น สุนทรภู่ต้องตามเสด็จพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ พระโอรสในกรมพระราชวังหลัง ซึ่งทรงผนวชอยู่วัดระฆังโฆสิตาราม ขึ้นไปนมัสการพระพุทธบาทในเดือน ๓ ประจวบกับเป็นเวลาที่สุนทรภู่กับนางจันทร์อยู่ในระยะโกรธเคืองแยกกันอยู่มาแต่เดือน ๒ สุนทรภู่ตามเสด็จคราวนี้ ได้แต่งนิราศพระบาทขึ้นไว้เรื่องหนึ่ง ครวญครํ่ารำพันถึงนางจันทร์อยู่มาก นอกจากจะได้อ่านรู้เรื่องชีวิตรัก ระหว่างสุนทรภู่กับนางจันทน์แล้ว นิราศพระบาทของสุนทรภู่ยังช่วยให้เรารู้เรื่องการเดินทางไปพระพุทธบาทและสภาพของพระพุทธบาทในสมัยนั้นดีไม่น้อย
สุนทรภู่แต่งนิราศพระบาทเรื่องนื้ขึ้นเมื่อท่านมีอายุ ๒๑ ปี และแต่งกลอนดี อ่านแล้วเลื่อนไหลไปตามกลอนด้วยความไพเราะโดยตลอด จนลืมจับเนื้อความ เป็นอย่างที่สุนทรภู่เตือนไว้ว่า

“อย่าฟังเปล่าเอาแต่กลอนสุนทรเพราะ
จงพิเคราะห์คำเลิศประเสริฐศรี”

สุนทรภู่ตามเสด็จพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ไปพระบาท เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๐ ในฐานะมหาดเล็ก การเดินทางไปโดยทางเรือจนถึงท่าเรือขึ้นเดินบกโดยขบวนช้าง สุนทรภู่ขี่ช้างตกมันนำทางไปถูกเพื่อนแกล้งเกือบตกช้าง ไปจนถึงพระพุทธบาท สุนทรภู่อธิษฐานโดยเล่าว่า

“พี่เข้าเคียงเบื้องขวาฝ่าพระบาท    อภิวาทหัตถ์ประนังขึ้นทั้งสอง
กราบกรานแล้วก็ตรึกรำลึกปอง    เดชะกองกุศลที่ตนทำ
มาคำรพพบพุทธบาทแล้ว        ขอคุณแก้วสามประการช่วยอุปถัมภ์
ฉันเกิดมาชาตินี้ก็มีกรรม        แสนระยำยุบยับด้วยอับจน
ได้เคืองแค้นยากลำบากบอบ    ไม่สมประกอบทรัพย์สินก็ขัดสน
แม้นกลับชาติเกิดใหม่เป็นกายคน   ชื่อว่าจนแล้วจงจากกำจัดไกล
สตรีหึงหนึ่งแพศยาหญิง        ทั้งสองสิ่งอย่าใกล้ชิดพิสมัย
สัญชาติชายทรชนที่คนใด        ให้หลีกไกลร้อยโยชน์อย่าร่วมทาง
ถ้ารักใครขอให้ได้คนนั้นด้วย      บุญจงช่วยปฏิบัติอย่าขัดขวาง
อย่ารู้มีโรคาในสารพางค์        ทั้งรูปร่างขอให้ราวกับองค์อินทร์
หนึ่งบิดรมารดาคณาญาติ        ให้ผุดผาดผาสุกเป็นนิจสิน
ความระยำคำใดอย่าได้ยิน        ให้สุดสิ้นสูญหายละลายเอง
ทั้งหวายตรวนล้วนเครื่องที่ลำบาก   ให้ปราศจากทั้งคนเขาข่มเหง
ใครปองร้ายขอให้กายมันเป็นเอง   ให้ครื้นเครงเกียรติยศปรากฏครัน”

ถ้าท่านสังเกตให้ดีจะปรากฏว่ากวีเอกของเรานำเอาเรื่องชีวิตของท่านมาตีแผ่แทบทั้งนั้น สุนทรภู่ได้พบ (พระองค์) เจ้าสามเณรองค์หนึ่ง (ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า คงจะเป็นกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส จอมกวีแบบฉบับของชาติอีกพระองค์หนึ่ง) กางกลดที่เขา ขาด สุนทรภู่ได้ไปลงถ้ำปทุมคีรีกับผู้หญิง มอมหน้ากันอย่างสนุก ไปเที่ยวบ่อพรานล้างเนื้อ ไปผูกชิงช้าให้ผู้หญิงเล่นที่ริมธารเกษมสนุกสนานดังเปรียบได้ว่า “สนุกคือเรื่องอิเหนาเสน่หา เมื่อใช้บนเล่นชลธารา อันเรื่องราวว่ากับเราก็เช่นกัน” หลังจากนั้นก็เดินทางกลับกรุงเทพฯ

ศิลปะการประพันธ์

สุนทรภู่มีความชำนาญมากขึ้นในศิลปะของการประพันธ์ของท่าน ในนิราศพระบาทเราจึง ได้เห็นความดีในทุกกระบวน จะว่าถึงกลอนก็บรรเจิดบรรจง ชัดเจนแจ่มใสเต็มไปด้วยสัมผัสใน บทพรรณนาและบรรยายลักษณะก็ชื่นช้อยชวนเพลิน ยิ่งเป็นโวหารทำนองพิศวาสด้วยแล้วเราจะรุ้สึกดื่มดํ่า เห็นอกเห็นใจเป็นอย่างยิ่ง

เมื่อพูดถึงบทพรรณนาและบรรยายลักษณะ สุนทรภู่เจ้าแห่งนิราศได้เขียนอย่างสมเป็นแบบฉบับ พรรณนาถี่ถ้วนแทรกประวัติ ความคิดความรู้สึกของตนลงไปเปรียบเทียบด้วยคารมคมคาย เช่น

“เจ้าของตาลรักหวานขึ้นปีนต้น        ระวังตนตีนมือระมัดมั่น
เหมือนคบคนคำหวานรำคาญครัน    ถ้าพลั้งพลันเจ็บอกเหมือนตกตาล”

และได้ปลงสังเวชพระนครศรีอยุธยาด้วยโวหารที่สะท้อนใจว่า

“กำแพงรอบขอบคูก็ดูลึก        ไม่น่าศึกอ้ายพม่าจะมาได้
ยังให้มันข้ามเข้าเอาเวียงชัย    โอ้อย่างไรเหมือนบุรีไม่มีชาย’’

ในนิราศพระบาท สุนทรภู่แสดงประวัติสามเสน บางปะอิน, เขาขาด ฯลฯ อย่างอ่านไม่เบื่อ ท่านจะรู้เรื่องของมอญขาขาวที่สามโคก จังหวัดปทุมธานี แม่ค้าเสื้อตึงที่ตลาดขวัญ สาวชาววังกลัวช้าง นกตะกรุมหัวล้านประจานคน ฯลฯ

บทบรรยายลักษณะที่เด่นและแสดงภูมิ คือบทชมมณฑปที่พระทุทธบาท ขอคัดมาให้ดูดังนี้

ประณมหัตถ์ทักษิณเกษมสันต์
แต่เวียนเดินเพลินชมมาตามกัน
ตามช่องชั้นกำแพงแก้วอันแพรวพราย
ทั้งซุ้มเสามณฑปกระจกแจ่ม
กระจ่างแซมปลายเสาเป็นบัวหงาย
มีดอกจันทน์ก้านแย่งสลับลาย
กลางกระจายดอกจอกประจำทำ
พื้นผนังหลังบัวที่ฐานปัทม์
เป็นครุฑอัดยืนเหยียบภุชงค์ขยำ
ขยิกขยุ้มกุมวาสุกรีกำ
กินนรรำลายเทพประณมกร
ใบระกาหน้าบันบนชั้นมุข
สุวรรณสุกเลื่อนแก้วประภัสสร
ดูยอดเยี่ยมเทียมยอดยุคุนธร
กระจังซ้อนแซมใบระกาบัง
นาคสะดุ้งรุงรังกระดึงห้อย
ใบโพธิ์ย้อยระเรงอยู่เหง่งหงั่ง
เสียงประสานกังสดาลกระดึงดัง
วิเวกวังเวงในหัวใจครัน
บานทวารลานแลล้วนลายมุก
น่าสนุกในกนกดูผกผัน
เป็นนาคครุฑยุคเหนี่ยวในเครือวัลย์
รูปยักษ์ยันยืนกอดกระบองกุม
สิงห์โตอัดกัดก้านกนกเกี่ยว
เทพเหนี่ยวเครือกระหวัดหัตถ์ขยุ้ม
ชมพูพานกอดก้านกนรุม
สุครีพกุมขรรค์เงื้อในเครือวงศ์
รูปนารายณ์ทรงขี่ครุฑาเหิน
พรหมเจริญเสด็จยังบัลลังก์หงส์
รูปอมรกรกำพระธำมรงค์
เสด็จทรงคชสารในบานบัง
ผนังในมณฑปทั้งสี่ด้าน
โอฬาฬารทองทาฝาผนัง
จำเพาะมีสี่ด้านทวารบัง
ที่พื้นนั่งดาดด้วยแผ่นเงินงาม
มณฑปน้อยสวมรอยพระบาทนั้น
ล้วนสุวรรณแจ่มแจ้งแสขงอร่าม
เพดานดาดลาดล้วนกระจกงาม
พระเพลิงลามพร่างพร่างสว่างพราย
ตาข่ายแก้วปักกรองเป็นกรวยห้อย
ระย้าย้อยแวววามอร่ามฉาย
หอมควันธูปเทียนตลบอยูอบอาย
ฟุ้งกระจายรื่นรื่นทั้งห้องทอง”

ทีนี้ขอให้เราพิจารณาถึงศิลปะในกระบวนพิศวาสอันเป็นลักษณะสำคัญของนิราศเป็นธรรมดา การแต่งนิราศ สำนวนโวหารต้องเจือไปด้วยรสพิศวาสจึงจะมีรส เพราะผู้แต่งบางคนก็จากเมียหรือคู่รักจริง บางคนก็ไม่ได้จากจริง สุนทรภู่แต่งนิราศพระบาทโดยเอาความรู้สึกอันเกิดขึ้นในอารมณ์แท้จริงของตนมาลงไว้ในนิราศทำนองพิศวาส จึงดูดดื่มมีชีวิตชีวา เต็มไปด้วยความห่วงใยอาลัยหนักในทางหวงแหน ทะนุถนอม พร้อมไปด้วยคำอธิษฐานให้เมียรัก “เป็นใจเดียว’’ อนึ่งเมื่อสุนทรภู่ไปนิราศพระบาท คุณจันกำลังโกรธ สุนทรภู่จึงหวั่นๆ รำพึงไว้ว่า

“นี่ดูดูเขาขาดก็หวาดจิต        พี่ขาดมิตรมาไกลถึงไพรสัณฑ์
นึกเฉลียวเสียวทรวงถึงดวงจันทร์    จะขาดกันเสียเหมือนเขาพี่เศร้าใจ”

อนึ่ง น่าสังเกตในเรื่องชื่อของสุนทรภู่กับคุณจัน ชื่อทั้งสองเผอิญไปสมกันในศิลปะของการกวีเสียด้วย ภู่หมายถึงแมลงภู่ (สุนทรภู่เปรียบตัวเองเป็นภุมริน) จันทำให้หวนคะนึงถึงทั้งจันทร์และจันทน์ อมตกวีจึงเอาชื่อทั้งสองแฝงเข้าในศิลปะแห่งวรรณคดีของตนบ่อยครั้ง เช่น

“เห็นไม้จันทน์พี่ยิ่งฟั่นอารมณ์เฟือน    เหมือนจันทน์เตือนใจตัวให้ตรอมใจ
โอ้นามไม้หรือมาพ้องกับน้องพี่        ขณะนี้นึกน่านํ้าตาไหล
เจ้าอยู่เรือนชื่อเชือนมาอยู่ไพร        เหมือนเตือนใจให้พี่ทุกข์ทุกอย่างเดิน”

และอีกแห่งหนึ่ง

เห็นจันทน์สุกลูกเหลืองตลบกลิ่น       แมลงภู่บินรุมน้องประคองหวง
พฤกษาพ้องต้องนามกานดาดวง       พี่ยลพวงผลจันทน์ให้หวั่นใจ
แมลงภู่เชยเหมือนที่เคยประคองชิด    นิ่งพินิจนึกน่านํ้าตาไหล
เห็นรักร่วงผลิผลัดสลัดใบ            เหมือนรักใจขวัญเมืองที่เคืองเรา
ที่เวียนเตือนเหมือนอย่างน้ำค้างย้อย    ให้แช่มช้อยชื่อช่อเช่นกอเก่า
โอ้รักต้นเข้าระคนกับรักเขา           จงใจเจ้าโกรธไปไม่ได้นาน”

ช่างเปรียบสนิทสนมกลมกลืนและชื่นช้อยเสียจริงๆ    ตลอดนิราศท่านจะได้ชมศิลปะอันสง่างามทางวรรณคดี เป็นศิลปะที่จารึกชีวิตแท้ของมหากวีเจ้าทุกข์

“ถึงบ่อโพงถ้ามีโพงค่อยผาสุก       จะโพงทุกข์เสียให้สิ้นที่โศกศัลย์
นี่แลแลก็เห็นแต่ตลิ่งชัน           ถึงปากจันตละเตือนให้ตรอมใจ
โอ้นามน้องหรือมาพ้องกับชื่อบ้าน    ลืมรำคาญแล้วมานึกระลึกได้
ถึงบางระกำโอ้กรรมระกำใจ        เคราะห์กระไรจึงมาร้ายไม่วายเลย
ระกำกายมาลงท้ายระกำบ้าน       ระกำย่านนี้ยาวนะอกเอ๋ย
โอ้คนผู้เขาช่างอยู่อย่างไรเลย      หรืออยู่เคยความระกำทุกค่ำคืน”

ช่างเล่นคำได้อย่างงดงาม

อนึ่ง สุนทรภู่ได้อ้างวรรณคดีหลายเรื่องในบทพิศวาสของตน แสดงให้เห็นว่าวรรณคดีเหล่านั้น มีอิทธิพลในชีวิตการประพันธ์ของท่านอย่างมาก ดังได้พรรณนาไว้เมื่อเขาเห็นเขาจับคู่กันที่ธารเกษมว่า

“เห็นคู่รักเขาสมัครสมานกัน      คิดถึงวันพี่มาดสวาทนาง
แต่วอนเวียนเจียนวายชีวิตพี่      จงไค้ศรีเสาวภาคย์มาแนบข้าง
เจ้าเคืองขัดตัดสวาทขาดระวาง    จนแรมร้างออกมาราวอรัญวา
ครั้งอิเหนาสุริยวงศ์อันทรงกฤช    พระทรงฤทธิ์แรมร้างจินตะหรา
พระสุธนร้างนางมโนห์รา        พระรามร้างแรมสีดาพระทัยตรอม
องค์พระเพชรปาณีท้าวตรีเนตร    เสียพระเวทผูกทวารกรุงพาณถนอม
สุจิตราลาตาย ไม่วายตรอม      ล้วนจอมธรณีทั้งสี่องค์
แสนสุขุมรุ่มร้อนด้วยร้างรัก       ยังไม่หนักเหมือนพี่โศกสุดประสงค์
ไม่ถึงเดือนเพื่อนรักเขาทักทรง    ว่าซูบลงกว่าก่อนเป็นค่อนกาย”

นี่คือศิลปะอันไม่รู้จักตายของมหากวีไทยที่ชาติเทิดทูน

สุนทรภู่บรรยายถึงการละเล่นต่างๆ พร้อมทั้งการแสดงอย่างครึกครื้น จบตอนท้ายของนิราศพระบาทไว้ว่า
“ละคอนหยุดอุตลุดด้วยมวยปล้ำ
ยืนประจำหมายสู้เป็นคู่ขัน
มงคลใส่สวมหัวไม่กลัวกัน
ตั้งประจันจดจับกระหยับมือ
ตีเข่าปับรับโปกสองมือปิด
ประจบติดเตะผางหมัดขว้างหวือ
กระหวัดหวิดหวิวผวาเสียงฮาฮือ
คนดูอื้อเออเอาสนั่นอึง
ใครมีชัยได้เงินบำเหน็จมาก
จมูกปากบอบบวมอลึ่งฉึ่ง
แสนสนุกสุขล้ำสำมดึงษ์
พระผู้ถึงนฤพานด้วยการเพียร
แต่รอยบาทอนุญาตไว้ยอดเขา
บุญของเราได้มาเห็นก็เย็นเศียร
บังคมคัลวันละสองเวลาเวียน
แต่จำเนียรนับไว้ได้สี่วัน
จอมนรินทร์เทวราชประภาษสั่ง
จะกลับยังอาวาสเกษมสันต์
วันรุ่งแรมสามค่ำเป็นสำคัญ
อภิวันท์ลาบาทพระชินวร

ถึงท่าเรือลงเรือไม่แรมหยุด
ก็เร็วรุดตั้งหน้ามาหาสมร
แต่ตัวพี่ยังมาในสาคร
น้ำใจจรมาถึงเสียก่อนกาย
ได้วันครึ่งถึงเวียงประทับวัด
โทมนัสอาดูรค่อยสูญหาย
นิราศนี้ปีเถาะ เป็นเคราะห์ร้าย
เราจดหมายตามมีมาชี้แจง
ที่เปล่าเปล่ามิได้เอามาเสกใส่
ใครไม่ไปก็จงจำคำแถลง
ทั้งคนฟังคนอ่านสารแสดง
ฉันขอแบ่งส่วนกุศลทุกคนเอยฯ

สถานที่กล่าวถึงในนิราศพระบาท

บางจาก
ถึงคลองขวางบางจาก ยิ่งตรมจิต    ใครช่างคิดชื่อบางไว้กางกั้น
ว่าชื่อจากแล้วไม่รู้จักกัน        พิเคราะห์ครันฤามาพ้องกับคลองบาง

คลองบางจาก อยู่ฝั่งตะวันตกของแม่นํ้าเจ้าพระยาใต้วัดภคินีนาถ แขวงบางพลัด เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร

สามเสน
ถึงสามเสนแจ้งความตามสำเหนียก    เมื่อแรกเรียกสามแสนทั้งกรุงศรี
ประชุมฉุดพุทธรูปในวารี            ไม่เคลื่อนที่ชลธารบาดาลดิน
จึงสาปนามสามแสนเป็นชื่อคุ้ง        เออชาวกรุงกลับเรียกสามเสนสิ้น
นี่หรือรักจะมิน่าเป็นน่าคิน            แต่ชื่อดินเจียวยังกลายเป็นหลายคำ
ขอใจนุชที่ฉันสุจริตรัก              ในแน่นหนักเหมือนพุทธรูปเลขาขำ
ถึงแสนคนจะมาวอนชะอ้อนนำ        สักแสนคำอย่าให้เคลื่อนจงเหมือนใจ

บ้านสามเสน เดิมเรียกกันว่า สามแสน ปัจจุบันเป็นชื่อตำบล คือ ตำบลสามเสนนอก และตำบลสามเสนใน ขึ้นเขตดุสิต กรุงเทพมหานคร มีคลองสามเสน ซึ่งแยกจากแม่นํ้าเจ้าพระยาทางฝั่งตะวันออกที่วัดขวิด เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ผ่านโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ถนนพหลโยธิน ไปออกคลองแสนแสบที่ตำบลบางกะปิ เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร

บางพลัด
ถึงบางพลัดยิ่งอนัตอนาถจิต        นิ่งพินิจนึกน่าน้ำตาไหล
พี่พลัดนางร้างรักมาแรมไกล       ประเดี๋ยวใจพบบางริมทางจร

บ้านบางพลัด แขวงบางพลัด เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร

บางซื่อ
ถึงบางซื่อชื่อบางนี้สุจริต        เหมือนซื่อจิตที่พี่ตรงจำนงสมร

บ้าน บางซื่อ แขวงบางซื่อ เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

บางซ่อน
ถึงบางซ่อนเหมือนเขาซ่อนสมรพี่        ซ่อนไว้นี่ดอกกระมังเห็นกว้างขวาง

บ้านบางซ่อน แขวงบางซื่อ เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

ตลาดแก้ว
ถึงน้ำวนชลสายที่ท้ายย่าน        เขาเรียกบ้านวัดโบสถ์ตลาดแก้ว
จะเหลียวกลับลับวังมาลิบแล้ว    พี่ลับแก้วลับบ้านมาย่านบาง

บ้านตลาดแก้ว อยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่นํ้าเจ้าพระยาตรงข้ามปากคลองบางสีทอง ตำบลสวนใหญ่ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี

ตลาดขวัญ
ถึงแขวงแควแพตลอดตลาดขวัญ        เป็นเมืองจันตประเทศรโหฐาน
ตลิ่งเบื้องบูรพาศาลาลาน            เรือขนานจอดโจษกันจอแจ
พินิจนางแม่ค้าก็น่าชม                ท้าคารมเร็งเร่งอยู่เซ็งแซ่
ใส่เสื้อตึงรึงรัดดูอัดแอ                พี่แลแลเครื่องเล่นเป็นเสียดาย

บ้านตลาดขวัญ อยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่นํ้าเจ้าพระยา ตรงข้ามกับปากคลองบางใหญ่ ขึ้นตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี คู่กับตลาดแก้ว ตัวเมืองนนทบุรีเก่า ตั้งขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๒๐๙๒ ในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์

ต่อมาภายหลังได้ย้ายมาตั้งอยู่ที่ตลาดแก้ว คือที่ตั้งศาลากลางจังหวัดนนทบุรี ตำบลสวนใหญ่ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๑ ในสมัยรัชกาลที่ ๗

ปากเกร็ด
ชมคณาฝูงนางมากกลางชล        สุริยนเยี่ยมฟ้าเวลาสาย
ถึงปากเกร็ดเสร็จพักผ่อนฝีพาย    หยุดสบายบริโภคอาหารพลัน

บ้านปากเกร็ด ตำบลปากเกร็ด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

บางพูด
ถึงหาดขวางบางพูดเขาพูดกัน        พี่คิดฝันใจฉงนอยู่คนเดียว
เป็นพูดชื่อหรือผีภูตปีศาจหลอก        ใครช่วยบอกภูตผีมานี่ประเดี๋ยว
จะสั่งฝากขนิษฐาสุดาเดียว            ใครเกินเกี้ยวแล้วอย่าไว้กำไรเลย

บ้านบางพูด อยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่นํ้าเจ้าพระยา ขึ้นตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี มีวัดเกาะบางพูด ต.ปากเกร็ด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี วัดบางพูดนอก ต.บางพูด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี และคลองบางพูด เป็นสำคัญ คลองนี้ตั้งต้นที่ ต.สีกัน เขตบางเขน กรุงเทพฯ ไหลเข้าเขตจังหวัดนนทบุรี ผ่าน ต.บ้านใหม่ อ.ปากเกร็ด ไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยาที่ ต.บางพูด อ.ปากเกร็ด คลองนี้กว้าง ๘ เมตร ยาว ๘ กม. มีน้ำตลอดทั้งปี ที่ปากคลองมีอนุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทา-กุมารีรัตน์กับพระราชโอรส พระราชธิดา ซึ่งสิ้นพระชนม์คราวเรือล่มเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๘

อนึ่ง ที่ ต.บางพูดนี้ ได้มีเหตุการณ์กล่าวไว้ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ พระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ฉบับองค์การค้าคุรุสภาพิมพ์จำหน่าย พ.ศ. ๒๕๐๕ หน้า ๑๙๔ (เล่ม ๒) ว่า “ปีมะเมีย โทศก จุลศักราช ๑๑๗๒ (พ.ศ. ๒๓๕๓) เดือน ๓ นํ้าในแม่นํ้าเจ้าพระยาเค็มขึ้นไปถึงบางพูดเหนือปากเกร็ด”

บางพัง
ถึงบางพังน้ำพังลงตลิ่ง            โอ้ช่างจริงเหมือนเขาว่านิจจาเอ๋ย
พี่จรจากดวงใจมาไกลเชย        โอ้อกเอ๋ยแทบพังเหมือนฝั่งชล

บ้านบางพัง อยู่ในจังหวัดนนทบุรี

บางหลวง
ถึงบางหลวงทรวงร้อนดังศรปัก        พี่ร้างรักมาด้วยราชการหลวง

บ้านบางหลวง อยู่ฝั่งตะวันตกของแม่นํ้าเจ้าพระยา ตำบลบางหลวง อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี มีวัดบางหลวงอยู่ปากคลองเป็นสำคัญ

บ้านกระแชง
เมื่อคิดไปใจหายเสียดายดวง        จนเรือล่วงมาถึงย่านบ้านแระแชง

บ้านกระแชง อยู่ในท้องที่อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี

สามโคก
พี่เร่งเตือนเพื่อนชายพายกระโชก        ถึงสามโคกต้องแดดยิงแผดแสง

บ้านสามโคก ปัจจุบัน คือ ตำบลสามโคก อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี

บ้านกระบือ
ถึงทุ่งขวางกลางย่านบ้านกระบือ        ที่ลมอื้อนั้นค่อยเหือดด้วยคุ้งขวาง
ถึงย่านหนึ่งน้ำเซาะเป็นเกาะกลาง        ต้องแยกทางสองแควกระแสชบ

บ้านกระบือหรือบางกระบือ เป็นชื่อตำบลบางกระบือ อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี

เกาะใหญ่ราชคราม
ปางบุรำคำบุราณขนานนาม            ราชครามเกาะใหญ่เป็นไพรสณฑ์
ในแนวทางกลางย่านกันดารคน        นาราดลเดินเบื้อบูรพา
โอ้กระแสแควเดียวที่เดียวหนอ        มาเกิดก่อเกาะถนัดสกัดหน้า
ต้องแยกคลองออกเป็นสองทางคงคา    นี่หรือคนจะมิน่าเปนสองใจ

เกาะใหญ่ราชคราม คือ อำเภอราชครามเดิม ปัจจุบันคือ อำเภอบางไทร จังหวัดพระนคร¬ศรีอยุธยา

เกาะเกิด
ถึงเกาะเกิดเกิดเกาะขึ้นกลางน้ำ    เหมือนเกิดกรรมเกิดราชการหลวง
จึงเกิดโศกขัดขวางขึ้นกลางทรวง    จะตักตวงไว้ก็เติบกว่าเกาะดิน

เกาะเกิด เป็นชื่อตำบล ขึ้นอำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีเกาะชื่อเกาะเกิดเป็นสำคัญ บนเกาะเกิดนี้เคยมีไร่แตงโมรสดีมีชื่อเสียง เรียกกันติดปากว่า แตงโมเกาะเกิด

บางปะอิน
สักครู่หนึ่งก็มาถึงบางปะอิน        กระแสสินธุ์สายชลเป็นวนวัง
อันเท็จจริงสิ่งนี้ไม่รู้แน่            ได้ยินแต่ยุบลแต่หนหลัง
ว่าที่เกาะบางอออินเป็นถิ่นวัง    กษัตริย์ครั้งครองศรีอยุธยา
พาสนมออกมาชมคณานก        ก็เรื้อรกรั้งร้างเป็นทางป่า
อันคำแจ้งกับเราแกล้งสังเกตตา    ก็เห็นน่าที่จะแน่กระแสความ

ประวัติเกาะบางปะอิน” เกาะบางปะอินเป็นเกาะอยู่กลางแม่นํ้าเจ้าพระยา ครั้งโบราณเรียกว่า เกาะบ้านเลนหรือเกาะบางนางอิน มีเรื่องเกร็ดเล่ามาแต่โบราณว่า เมื่อสมเด็จพระเอกาทศรถยังเป็นพระมหาอุปราชอยู่นั้น วันหนึ่งเสด็จประพาสทางลำนํ้า เมื่อเรือพระที่นั่งมาถึงเกาะบางปะอินก็ถูกพายุใหญ่ล้มลง สมเด็จพระเอกาทศรถทรงว่ายน้ำไปขึ้นที่เกาะบางปะอิน แล้วเสด็จไปอาศัยชาวบ้านอยู่ที่เกาะนี้ เป็นเหตุให้ได้หญิงสาวชาวเกาะที่มีรูปร่างหน้าตาสะสวยคนหนึ่งเป็นบาทบริจาริกา นางนั้นมีครรภ์คลอดบุตรออกมาเป็นชาย สมเด็จพระเอกาทศรถจะทรงรับเป็นพระราชโอรสก็ทรงละอายพระทัย จึงเป็นแต่รับตัวไปชุบเลี้ยงตั้งแต่ยังเยาว์ โดยทรงมอบให้พระยาศรีธรรมาธิราช ซึ่งเป็นพระญาติของพระองค์ไปเลี้ยงดู ครั้นเติบโตขึ้นก็โปรดให้รับราชการเป็นมหาดเล็ก และได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเรื่อยไป จนได้เป็นที่จมื่นศรีสรรักษ์ ตำแหน่งหัวหมื่นมหาดเล็ก

ครั้นต่อมาในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม จมื่นศรีสรรักษ์ได้เลื่อนขึ้นเป็นพระยาศรีวรวงศ์ ตำแหน่งจางวางมหาดเล็ก และเป็นคนสนิทของพระองค์ วันวลิตซึ่งเป็นชาวฮอลันดาเข้ามาค้าขายครั้งแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม เขียนจดหมายเหตุเล่าเรื่องในตอนนี้ไว้ว่า สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม คือพระองค์อินทราชา พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับภาษามคธ ซึ่งหอสมุดวชิรญาณได้ฉบับมาจากกรุงกัมพูชาก็เรียกพระนามสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมว่าพระองค์อินทราชา ดังข้อความต่อไปนี้
“ในปีจอ พระราชโอรสของสมเด็จพระราเมศวรนั้น พระนามว่าพระอินทราชา เป็นผู้มีบุญญาภิสมภารมหายศ ปรากฏด้วยอานุภาพใหญ่แผ่ไปในนานาประเทศ ข้าศึกย่อมเกรงขามคร้ามพระเดชานุภาพ พระองค์ได้เศวตรกุญชร ๓ เชือก เสวยราชสมบัติได้ ๑๙ ปี ก็สวรรคาลัยไปตามยถากรรมในกาลสิ้นพระชนม์”

พระอินทราชาเป็นโอรสของสมเด็จพระเอกาทศรถอันเกิดแต่พระสนมซึ่งเป็นชนนีของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม เป็นน้องเมียพระยาศรีธรรมาธิราช ซึ่งเป็นพ่อ (พ่อเลี้ยง) จมื่นศรีสรรักษ์ และจมื่นศรีสรรักษ์นี้เรียกกันเป็นสามัญว่าพระองค์ไล เพราะฉะนั้นความสนิทสนมจึงมีในระหว่าง สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมกับจมื่นศรีสรรักษ์มาก ส่วนหนังสือพระราชพงศาวดารที่กล่าวว่า พระศรีศิลป์ คือสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมนั้นน่าจะเป็นการสำคัญผิดไปก็ได้ วันวลิตซึ่งเข้ามาอยู่ในกรุงศรีอยุธยาครั้งนั้นกล่าวว่า พระศรีศิลป์เป็นอนุชาของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม

เมื่อสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมได้ราชสมบัติแล้ว ในพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวว่า ได้ทรงตั้งจมื่นศรีสรรักษ์เป็นพระมหาอุปราชอยู่ได้ ๗ วัน พระมหาอุปราชประชวรสวรรคต ตอนนี้ไม่ทราบว่าเป็นจมื่นศรีสรรักษ์คนใด ซึ่งถ้าเป็นจมื่นศรีสรรักษ์ที่ได้เลื่อนเป็นพระยาศรีวรวงศ์ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ต่อมาได้เลื่อนเป็นเจ้าพระยากลาโหม และเสด็จปราบดาภิเษกเป็นสมเด็จพระเจ้าปราสาททองแล้ว ก็ไม่น่าจะเป็นคนเดียวกันได้เลย เพราะจมื่นศรีสรรักษ์คนนั้นยังไม่ตาย แต่อยู่ต่อมาจนได้ราชสมบัติทรงพระนามว่าสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง จึงน่าจะเป็นเรื่องเข้าใจผิดของผู้เขียนพระราชพงศาวดารสักอย่างหนึ่ง แต่ไม่ได้กล่าวถึงพระศรีศิลป์ซึ่งเป็นพระมหาอุปราชเลย จมื่นศรีสรรักษ์ ไม่ได้เป็นพระมหาอุปราช แต่ได้เลื่อนเป็นพระยาศรีวรวงศ์ ตามจดหมายเหตุวันวลิตกล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมทรงตั้งพระศรีศิลป์ซึ่งเป็นพระอนุชาขึ้นเป็นพระมหาอุปราช เมื่อสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมจวนจะสวรรคตใน พ.ศ. ๒๑๗๐ ทรงปรึกษากับพระยาศรีวรวงศ์ว่าจะทรงมอบราชสมบัติแก่พระราชโอรสจะเป็นอย่างไร พระยาศรีวรวงศ์เห็นดีด้วย เนื่องจากตนมีเรื่องผิดใจกับพระมหาอุปราชในเรื่องลบหลู่พระเกียรติยศพระชายาของพระองค์ จึงได้ทูลสนับสนุนสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมว่า ควรจะมอบราชสมบัติให้พระเชษฐาธิราช ราชโอรสองค์ใหญ่ของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมๆ จึงมอบหมายให้ไปปรึกษากันกับเสนาบดีทั้งหลาย แต่เสนาบดีหลายคนมีความเห็นว่า ควรจะรักษาประเพณีของบ้านเมืองไว้ พระมหาอุปราชไม่มีความผิดอย่างใด ราชสมบัติควรจะตกอยู่แก่พระองค์ตามโบราณราชประเพณี แต่พระยาศรีวรวงศ์จะยอมตามไม่ได้ เพราะถ้ายอมตามความเห็นของข้าราชการผู้ใหญ่ส่วนมากแล้ว เมื่อพระมหาอุปราชเสด็จขึ้นครองราชย์สืบต่อจากสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ตนก็จะต้องถูกประหารชีวิตอย่างแน่นอน จึงทูลยุยงสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมให้ทรงตั้งพระเชษฐาธิราช ราชโอรสองค์ใหญ่เป็นผู้สืบราชสมบัติต่อจากพระองค์ทีเดียว การที่ทรงตั้งรัชทายาทซ้อนตำแหน่งที่มีผู้ครองอยู่แล้วเช่นนี้ เป็นการผิดประเพณีอย่างยิ่ง ขุนนางผู้ใหญ่หลายคนจึงไม่เห็นด้วย และผู้ที่แสดงความไม่พอใจจนออกนอกหน้ามีหลายคนเช่น เจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ (คือพระมหาอำมาตย์คนที่เป็นผู้มีอำนาจยิ่งใหญ่ในสมัยนั้น) พระท้ายนํ้าและพระจุฬาราชมนตรี เป็นต้น แต่พระยาศรีวรวงศ์พยายามจุกช่องล้อมวง ไม่ ให้ข้าราชการเข้าเฝ้าและทราบพระอาการของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมโดยแท้จริง และกระจายข่าวว่า อาการประชวรของสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมดีขึ้นจนไม่เป็นที่น่าวิตกอย่างใดแล้ว แต่หลังจากนั้นมาไม่กี่วัน สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมก็สวรรคต พระยาศรีวรวงศ์จึงแจ้งให้ข้าราชการทราบและประกาศว่า สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมทรงตั้งพระเชษฐาธิราช ซึ่งเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ให้เป็นพระเจ้าแผ่นดินสืบแทนพระองศ์

ในตอนนี้วันวลิตกล่าวว่า พระยาศรีวรวงศ์ออกอุบายจับพระมหาอุปราชได้ และนำไปทิ้งไว้ในเหวแห่งหนึ่งในแขวงเมืองเพชรบุรี แต่ออกหลวงมงคลทหารเอกของพระองศ์ไปช่วยไว้ได้ และนำกองทัพยกเข้ามาจะชิงเอาราชสมบัติ แต่สู้กองทัพของพระเชษฐาธิราชไม่ได้ จึงถูกตีแตกกลับไป ในที่สุดพระมหาอุปราชก็ถูกจับอีกครั้งหนึ่ง และถูกนำตัวไปสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ตามราชประเพณี

ต่อมาพระยาศรีวรวงศ์ก็เป็นคนโปรดของพระเชษฐาธิราช และได้ครองตำแหน่งแทนเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์คนเก่า ซึ่งพระยาศรีวรวงศ์ออกอุบายจับฆ่าเสีย ในขณะที่สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม จวนจะสวรรคต แล้วต่อมาก็บำเพ็ญบารมีจนเป็นที่ยำเกรงแก่ข้าราชการทั้งปวง จะเห็นได้จากการปลงศพมารดาเจ้าพระยากลาโหม (ใหม่) ที่วัดกุฏิ ข้าราชการพากันไปช่วยจนหมด ถึงกับยอมขาดเวร เฝ้าพระเจ้าแผ่นดินประจำวัน และด้วยเหตุนี้เองเป็นชนวนที่ช่วยให้เจ้าพระยากลาโหมคิดขบถขึ้น เพราะเห็นว่าตนเป็นผู้ที่ข้าราชการกลัวเกรงยิ่งเสียกว่าพระเจ้าแผ่นดิน

เมื่อจับพระเจ้าแผ่นดินสำเร็จโทษ และให้พระอาทิตยวงศ์พระอนุชาของพระเจ้าแผ่นดินซึ่งมีพระชนมายุเพียง ๙ พรรษา ขึ้นครองราชสมบัติแทนพอเป็นพิธีแล้ว ต่อมาตนก็หาเรื่องถอดออกเสีย จากตำแหน่งและขึ้นครองราชสมบัติเสียเองเมื่อ พ.ศ. ๒๑๗๓ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง

เนื่องจากสกุลวงศ์ของสมเด็จพระเจ้าปราสาททองมีนิวาสถานอยู่ที่เกาะบางปะอินอย่างหนึ่ง และอีกอย่างหนึ่งสมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงสมภพที่เกาะนี้ด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อพระองค์ได้เถลิงราชสมบัติใน พ.ศ. ๒๑๗๓ จึงถวายที่บ้านเดิมของพระองค์เป็นพุทธบูชา แล้วโปรดให้สร้างวัดขึ้นที่ตรงนั้น เมื่อ พ.ศ. ๒๑๗๕ พระราชทานนามว่า “วัดชุมพลนิกายาราม” ยังปรากฎอยู่จนทุกวันนี้ และโปรดให้ขุดสระใหญ่และสร้างตำหนักขึ้นที่กลางเกาะนั้น เพื่อทรงใช้เป็นที่สำหรับเสด็จประพาส พระราชวังที่เกาะบางปะอินจึงได้มีขึ้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

เกาะบางปะอินเป็นที่สำหรับเสด็จประพาสของพระราชาธิบดี ซึ่งครองกรุงศรีอยุธยาภายหลัง สมเด็จพระเจ้าปราสาททองต่อมาทุกรัชกาล เพราะอยู่ไม่ห่างไกลพระนครเท่าใดนัก ครั้นย้ายราชธานีมาอยู่ที่กรุงเทพฯ ราชธานีอยูห่างไกลเกาะบางปะอินมาก พระราชาธิบดีจึงมิได้เสด็จประพาส เกาะนี้คงทิ้งร้างมากกว่า ๘๐ ปี จนถึงรัชกาลที่ ๔ เกิดมีเรือกลไฟเป็นพาหนะสำหรับใช้ในประเทศขึ้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเสด็จประพาสทางชลมารค และได้ไปเสด็จประพาสเมืองซึ่งอยู่ตามลำนํ้าและตามชายทะเลทุกแห่ง ครั้งหนึ่งเสด็จไปประพาสที่พระนครศรีอยุธยาขากลับทรงล่องเรือผ่านเกาะบางปะอิน ทอดพระเนตรเห็นดงมะม่วงร่มรื่นเป็นที่พอพระราชหฤทัย จึงโปรดให้สร้างพระตำหนักขึ้นที่ในบริเวณวังเก่าครั้งกรุงศรีอยุธยาพระราชทานนามพระตำหนักที่ทรงสร้างใหม่นี้ว่า พระที่นั่ง ไอสวรรค์ทิพยอาสน์ ตามนามปราสาททององค์เดิมที่สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงสร้างไว้ริมสระ และเมื่อได้สร้างพระตำหนักขึ้นแล้วก็เสด็จไปประพาสเนืองๆ เกาะนี้จึงกลับชีวิตขึ้น เนื่องจากเป็นที่เสด็จประพาสของพระราชาธิบดีในกรุงรัตนโกสินทร์อีกครั้งหนึ่ง แต่ในรัชกาลที่ ๔ ยังหาได้สร้างพระราชวังขึ้นใหม่ คงสร้างเพียงแต่พระตำหนักเท่านั้น จนถึงรัชกาลที่ ๕ จึงโปรดให้สร้างพระราชวังขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๕ แล้วเสร็จและมีงานมหกรรมสมโภชใน พ.ศ. ๒๔๑๙ และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เสด็จไปประพาสแทบทุกปี โดยเสด็จทั้งทางเรือและทางรถไฟ จนถึงกับมีสถานีรถไฟพิเศษสำหรับพระองค์และเจ้านายที่ตามเสด็จโดยเฉพาะอีกแห่งหนึ่งที่บางปะอิน ยังปรากฏอยู่ทุกวันนี้

เกาะพระ
ถึงเกาะพระที่ระยะสำเภาล่ม    เภตราจมอยู่ในแควกระแสไหล

เกาะพระ อยู่ตรงทางแยกแม่นํ้าเจ้าพระยา มีคลองล้อมรอบเกาะ อยู่ตรงข้ามกับวัดโพธิ์ ตำบลโรงช้าง อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

เกาะเรียน
ถึงเกาะเรียนโอ้เรียมยิ่งเกรียมใจ        ที่เพื่อนไปเขาก็โจษกันกลางเรือ
ว่าคุ้งหน้าท่าเสือข้ามกระแส            พี่แลแลหาเสือไม่เห็นเสือ
ถ้ามีจริงก็จะวิ่งลงจากเรือ            อุทิศเนื้อให้เป็นภักษ์พยักฆา

เกาะเรียน เป็นชื่อตำบล ขึ้นอำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นอกจากจะเป็นชื่อตำบลแล้ว ยังมีเกาะที่เกิดขึ้นกลางแม่นํ้าเจ้าพระยาเรียกว่า เกาะเรียน

วัดธรรมาราม
ถึงวัดธารมาใหม่ใจระย่อ        ของพระหน่อสุริย์วงศ์พระวังหลัง
อุตส่าห์ทรงศรัทธามาประทัง    อารามรั้งหรือมางามอร่ามทอง
สังเวชวัดธารมาที่อาศัย        ถึงสร้างใหม่ชื่อยังธาระมาหมอง
เหมือนทุกข์พี่ถึงจะมีจินดาครอง   มงกุฎทองสร้อยสะอิ้งมาใส่กาย

วัดธารมา ปัจจุบันคือ วัดธรรมาราม ตำบลบ้านป้อม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัด พระนครศรีอยุธยา
คลองสระปทุม
พระราชวังโบราณและวังหลัง
วัดแม่นางปลื้ม
หัวรอ
ท่าศาลาเกวียน
บ่อโพง
ปากจั่น
บางระกำ
นครหลวง (อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา)
แม่ลา
อรัญญิก
ตะเคียนด้วน
ศาลาลอย
วังตะไล
บ้านขวาง
นาประโคน
บางโขมด
ตำบลบ่อโศก
หนองคนที
ศาลาเจ้าสามเณร
เขาตก
สระยอ
(ลำดับการเดินทางจากท่าเรือไปพระพุทธบาทตามเส้นทางเสด็จประพาสแต่ก่อนจะมีระยะดังนี้ ๑. บ่อโศก ๒. ศาลาเจ้าสามเณร ๓. หนองคนที ๔. ศาลเจ้าพ่อเขาตก ๕. พระตำหนักและสระยอ แต่สุนทรภู่ เดินทางไม่ตรงตามนี้.)
พระพุทธบาท
ธารเกษม

ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด