ธรรมะที่สำคัญยิ่ง

Socail Like & Share

ธรรมะ(๑) สำหรับคนทั่วไป การธุดงค์ไปอยู่ในป่าช้าและในป่าลึกที่มีสัตว์ร้าย โดยการฝึกเป็นขั้นๆ จากง่ายไปยาก ดังกล่าวมาแล้วจะได้สมาธิขั้นสูงง่าย แต่ต้องไม่ใช่เข้าไปอยู่ด้วยความประมาท ข้ามขั้น เพราะการอยู่ในป่าลึกนั้นพระพุทธองค์ทรงกล่าวว่า “……เมื่อเราเข้ามาอาศัยป่าทึบ
อยู่ สติยังไม่ปรากฏ ก็ปรากฏจิตที่ยังไม่ตั้งมั่นก็ตั้งมั่น อาสวะที่ยังไม่สิ้นไปก็ถึงความสิ้นไป….’’ได้กล่าวตอนต้น
ว่า เสือเป็นครูที่ดี ให้ได้สมาธิวิปัสสนาระดับสูง เพราะต้องตั้งใจฝึกอย่างจริงจัง ตั้งใจอย่างแรงกล้าจึงไม่มีการปวดการเมื่อยหรือการง่วงตลอดคืน

(๒) ผู้สร้างสมบุญบารมี ทาง ทาน ศีล ภาวนา ฯ (กุศลกรรมบท ๑๐) มามากทั้งในชาตินี้และในชาติก่อนๆ ก็จะได้บรรลุมรรคผลนิพพานได้เร็ว

(๓) ขอทำความเข้าใจในคำสอนที่พูดที่เขียนกันมากและบ่อยครั้งก็คือ “การฝึกสมาธิวิปัสสนาฝึกที่ไหนก็ได้” จริงอยู่ฝึกที่ไหนก็ได้ แต่จะได้ผลน้อยดีกว่าไม่ฝึก เพราะขัดกับพระไตรปิฎกอันเป็นคำสอนของพระพุทธองค์หลายหมวด ขอยกตัวอย่าง หมวดสัปปายะ การฝึกให้ได้ ผลดี ๔ ประการ คือ หนึ่ง – สถานที่ฝึก สงบเงียบ อากาศดี กังวลน้อย สอง – อาหารเหมาะกับการฝึก ได้แก่ อาหารที่ย่อยง่าย เคี้ยวละเอียด ไม่เป็นอาหารที่ส่งเสริมให้เกิดกามารมณ์ กินพอควรเพียง ๓ คำจะอิ่มก็พอ สาม – มีครูฝึกที่ดีที่มีความสามารถมาก มีมิตรที่ดี สี่-วิธีฝึกที่เหมาะกับตน ตัวอย่างการฝึกที่วัดแต่ได้ผลดี คือ ท่านเจ้าคุณนรรัตนภิกษุ วัดเทพสิรินทราวาส ฝึกได้ผลดีมากก็เพราะทำตามสัปปายะทั้ง ๔ ข้อ ข้อแรก – สถานที่สงบเงียบ ท่านเจ้าคุณนร ฯ อยู่กุฏิผู้เดียว ไม่รับนิมนต์ไปไหน ไม่รับแขกที่กุฏิ ไม่มีโทรศัพท์ วิทยุ ทีวี และเครื่องกังวล ข้อสอง – อาหารท่านฉันอาหารมังสวิรัติ วันหนึ่งฉันมื้อเดียว ฉันไม่มาก ข้อสาม – มีครูฝึกที่ดีมีความสามารถมากมีมิตรที่ดี มีครูฝึกคือพระอาจารย์ในดงที่ได้อภิญญา ได้แก่ท่านเจ้ามาสอนเป็นประจำ ข้อสี่ – วิธีฝึกที่เหมาะกับตนคือฝึกวิธีอานาปานสติ โดยมีการพิจารณาอสุภะและเจริญเมตตาประกอบซึ่งเหมาะกับคนทั่วไปทุกจริต ดังที่กล่าวมาแล้ว ที่กุฏิท่านมีโครงกระดูกคนไว้พิจารณาอสุภะ มีการเจริญเมตตาทุกวันหลายครั้ง นอกจากนี้ท่านมีการดัดตนเป็นประจำทุกวันได้เขียนบันทึกวิธีฝึกตนไว้เพื่อประโยชน์ผู้อื่นด้วย การฝึกก็ทำตามตารางกำหนดโดยเคร่งครัดเพราะไม่รับแขกจึงทำได้ บางโอกาสได้ไปฝึกในป่า

การจะฝึกให้ได้สมาธิขั้นสูงหรือฌานนั้นต้องมีลำดับขั้นตามหลักสูตรของพระอาจารย์ใหญ่ในดงลึก ซึ่งจะจบฌานไม่เกิน ๕ ปี ทุกคน ตามที่กล่าวไว้แล้ว ส่วนการฝึกให้ได้ถึงขั้นเหาะล่องหนหายตัวได้ จ่อใกล้นิพพาน ก็ได้ กล่าวถึงหลักสูตรที่พระอาจารย์ในดงลึกใช้ฝึก ซึ่งได้ผล สำเร็จทุกคน บางกรณีผู้มีความเพียรอย่างแรงกล้าจะมีโอกาสไปเรียนกับอาจารย์ในดง ตัวอย่างเช่น พระเดช พระคุณ หลวงพ่อจรัญ วัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี อายุ ๔๕ ปี ได้ไปเรียนและเดินธุดงค์กับพระอาจารย์ในดงเพียง ๓ เดือน ก็ได้สมาธิขั้นสูง ท่านไม่เปิดเผยมากว่า ๒๐ ปี จึงเล่าความจริงนี้ต่อหน้าผู้รวบรวมและประชาชน เมื่อต้น พ.ศ.๒๕๓๗ หลวงปู่โง่น วัดเขารวก คูบาลุ่ม อ.หล่มสัก และปู่โทน อ.ตาคลี ทั้ง ๓ ท่านก็เป็นศิษย์พระอาจารย์ในดงองค์เดียวกันกับหลวงพ่อจรัญ  ที่มีการเปิดเผยกันมากเรื่องพระอาจารย์ในดง เพราะเป็นเวลาที่สมควรเป็นระยะเวลาที่อาจารย์ในดงจำนวนมากเริ่มออกมาแสดงตัวและสอนเพื่อความอยู่รอดของผู้ศรัทธา

(๔) การสวดมนต์ ยังมีหลายคนเข้าใจว่ามีประโยชน์น้อย เสียเวลามาก หรือฟังไม่รู้เรื่อง ความจริงมีคุณประโยชน์มาก เพราะการสวดมนต์เป็นการกล่าวธรรม เป็นการกล่าวมนต์คาถา กล่าวถึงคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ทำให้ความหวาดกลัวหายไปและหายจากโรค ขับไล่ภูติผีปีศาจได้ ป้องกันอันตรายต่างๆ ได้ สวดมนต์เพื่อทำนํ้ามนต์จะได้ผลดีเพียงใดอยู่ที่ความเชื่อมั่น และจิตที่จดจ่อเป็นสมาธิ และความเร็วในการสวดให้พอเหมาะ ความยาวในการสวดพอเหมาะ ผล ประโยชน์สูงสุดในการสวดมนต์ก็คือทำให้ได้ผลจนถึงสำเร็จเป็นพระอรหันต์ได้ ดังมีหลักฐานในพระธรรมกล่าวไว้ว่า

โอกาสจะบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์มี ๕ โอกาส คือ
→ เมื่อฟังธรรม มีตัวอย่างมากในพระไตรปิฎก
→ เมื่อแสดงธรรมอยู่
→ เมื่อสาธยายธรรมอยู่ คือการสวดมนต์กล่าวคือ ภาวนาคาถา
→ เมื่อตริตรองธรรมอยู่ หรือเพ่งธรรมอยู่

→ เมื่อเจริญสมาธิวิปัสสนาอยู่

ตัวอย่างการแสดงธรรมอยู่ได้แก่พระนาคเสนเทศนาให้โยมสูงอายุฟัง โยมได้ดวงตาเห็นธรรม คือสำเร็จเป็นพระโสดาบันขณะฟังธรรมก่อนพระนาคเสน อาศัยการพิจารณาข้อความที่ตนเองเทศน์ ด้วยพระนาคเสนก็ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบันในขณะแสดงธรรมนั้นด้วย

เมื่อตริตรองธรรมหรือเพ่งธรรมอยู่ เช่น เพ่งกายคตาสติ หรืออสุภะ ก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์ได้ ตัวอย่าง เช่น อานิสงส์ของกายคตาสติ มีผลถึง ๑๐ ข้อ ข้อสุดท้ายได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ตามที่กล่าวมาแล้ว

(๕) การแปลพระธรรม การอธิบายธรรม และการปฏิบัติธรรม ต้องพิจารณาดูธรรมหลายหมวดที่ขยายความหรือส่งเสริมกัน หรือขัดแย้งกัน เช่น “สันโดษ” ทรงสอนให้สันโดษในปัจจัย ๔ แต่อีกหมวดหนึ่งสอน ไม่ให้สันโดษในกุศลธรรม คือ ธรรมในส่วนดี ไม่ให้สันโดษต้องทำให้ดีขึ้นเรื่อยไปจนถึงนิพพาน ถ้าสันโดษในธรรมที่ยังไม่ถึงนิพพานก็เป็นการประมาท ธรรมของพระพุทธเจ้าทุกหมวดทุกข้อย่อมไม่ขัดแย้งกัน ถ้า ขัดกันก็จะผิดไปข้างหนึ่ง เช่นคำว่า “สัมภเวสี” ในพระไตรปิฎกและในหนังสือสวดมนต์แปล ได้แปล สัมภเวสี ว่า ผู้กำลังแสวงหาภพ (ที่เกิด) จึงขัดแย้งกับพระอภิธรรม ที่ว่าตายแล้วจะเกิดทันที ไม่มีระวาง ไม่มีการรีรออยู่ แต่พระอาจารย์ใหญ่ในดง แปลสัมภเวสีว่า วิญญาณ ประจำร่าง ซึ่งประจำกายในหรือกายทิพย์ คนตาย วิญญาณประจำร่างพร้อมกายในก็แยกออกจากกายหยาบที่ตาย คือเกิดทันทีไม่ขัดกับพระอภิธรรมและพิสูจน์ลงเอยกันได้ดังที่กล่าวมาแล้ว และพระอาจารย์ ประยุทธ์ ปยุตฺโต นักปราชญ์ทางศาสนาก็กล่าวตอบเรื่องสัมภเวสีว่า ภาษาบาลีไม่ใช่ภาษาเรา บางคำมีความหมายหลายอย่าง เลือกเอาความหมายที่ผิดมาเขียนก็มีดังที่กล่าวมาแล้ว

การอธิบายธรรม การปฏิบัติธรรม ที่สอนเรื่อง มหาสติปัฏฐานสูตร ขั้นที่ ๑ ให้กำหนดลมหายใจ ให้เห็นกายในกาย มีประเด็นสำคัญอยู่ ๔ ข้อ สองข้อหลัง คือ การระงับลมหายใจให้น้อยลง (ระงับกายสังขาร) และให้เห็นการเกิดและการดับของกายทั้งภายในและภายนอก ไม่ได้สอน ไม่ได้อธิบายไว้ ส่วนมากกล่าวว่า ให้ปฏิบัติไปแล้วจะเห็นเอง แล้วจึงให้ปฏิบัติข้ามขั้นไป พิจารณา เวทนา จิต และธรรม เป็นการข้ามขั้นที่ง่าย ไปยาก กล่าวคือ กายเป็นของหยาบเห็นได้ แต่จิตเป็นนามละเอียดอ่อนมาก จึงควรพิจารณากายให้เห็นชัดก่อน เพราะการพิจารณากายเป็นทางให้ถึงนิพพาน ซึ่งมีกล่าวในพระไตรปิฎกเล่ม ๒๘ หน้า ๕๗๕ ว่า“….กายคตาสติ นี้เรียกว่าทางให้ถึงอสังขตะ” (คือถึงนิพพาน) บางหมวด ก็กล่าวว่า ผู้ไม่ได้พิจารณากายคตาสติ ย่อมไม่ถึงนิพพาน โดยกล่าวไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลายผู้ไม่ได้เสพกายคตาสติ ย่อมไม่ถึงอมตะ” พระอาจารย์มั่น สอนว่า “กายเป็นเครื่องก่อเหตุ ตาเห็นรูป ทำให้ใจกำเริบ จึงต้องพิจารณากายนี้ก่อน จะได้เป็นเครื่องดับนิวรณ์ ทำให้ใจสงบได้
พึงทำให้มาก พิจารณาไม่ถอยทีเดียว…..” พระอาจารย์มหาบัว วัดป่าบ้านตาด จ.อุดร สอนว่า “สมาธิขั้นต้น ให้พิจารณากายเสียก่อน ส่วนเวทนาและจิตพิจารณาโดยใช้สมาธิขั้นกลางหรือขั้นสูงประกอบกัน”

การพิจารณากายให้ถึงนิพพานได้มีกล่าวไว้ใน อาสวะสูตร ว่าให้พิจารณากายให้เห็นเป็นไม่งาม คือ เป็นสิ่งไม่สะอาด น่ารังเกียจ น่าขยะแขยง น่าสะอิดสะเอียน ทรงสอนไว้หลายสำนวนหลายแห่ง เช่น ร่างกายกำลังเน่าเปื่อยอยู่ ร่างกายกำลังเคลื่อนไหวอยู่เป็นนิจ ร่างกายเต็มไปด้วยหลุมฝังศพ ร่างกายเกิดและดับอยู่ตลอดเวลา ร่างกายเต็มไปด้วยอุจจาระปัสสาวะ(มูตรคูถ) ร่างกายมีของเน่าไหลออกตลอดเวลา ร่างกายเต็มไปด้วยแผลเน่า กายมีการแยกออกปลิวออกตลอดเวลา ร่างกายเป็นของไม่เที่ยง (อนิจจัง) เป็นทุกข์ (ทุกขัง) ไม่ใช่ตัวตน (อนัตตา) ที่กล่าวทั้งหมดนี้ถ้าพิจารณาตามความเป็นจริง คือร่างกายประกอบไปด้วยตัวชีวิต คือ เซลล์ซึ่งมีชีวิต จึงต้องกินอาหาร ถ่ายออก เคลื่อนไหว เกิดขึ้นและตาย สืบพันธุ์ หายใจ ตัวที่ตายก็ถูกธาตุลม พัดพาออกทางผิวหนัง มีธาตุไฟเผาให้แห้ง ลมพัดเอาตัวชีวิตที่ตายออกมาทางทวารทั้ง ๙ ตัวที่เป็นก็มีการเคลื่อนไหวยุบยับทั่วไป แต่ตาเราเห็นนิ่งอยู่ไม่ตรงตามความจริง ได้กล่าวมาแล้วโดยละเอียด สรุปว่า ที่เราหลง รักหลงชอบนั้นคือซากศพของตัวชีวิต ซึ่งเป็นผิวหนัง ที่แห้งและทยอยปลิวออก

การฝึกสมาธิวิปัสสนาให้ได้ผลดีต้องทำอย่างจริงจัง เด็ดขาดตามตารางที่กำหนด นั่งสมาธิประมาณวันละ ๓ ครั้ง เดินจงกรมประมาณวันละ ๓ ครั้ง เวลาที่เหลือก็พิจารณาอสุภะและเจริญเมตตา ที่สำคัญที่สุดคือรักษาร่างกายให้แข็งแรงปราศจากโรคโดยมียาช่วยซ่อมส่วนที่เสื่อม ฝึกในป่าช้าและที่เงียบสงัด ฝึกในทางเสือเดินนับว่าเป็นเครื่องช่วยให้ได้สมาธิระดับสูงในระยะสั้นๆ เพราะกระตุ้นให้ตั้งใจอย่างแรงกล้าในการปฏิบัติสมาธิอย่างต่อเนื่องจริงจัง แต่ต้องฝึกเป็นขั้นตอนจากง่ายไปยาก
ดังได้กล่าวมาแล้ว เวลาไม่มีเสือเป็นครูบังคับจิตก็ใช้ อำนาจคุณพระอำนาจจิตหรือฤทธิ์ของสมาธินั่นแหละ เป็นผู้บังคับให้ตั้งใจฝึกอย่างแรงกล้าเด็ดเดี่ยวจนลืมความปวดเมื่อย ไม่ง่วง จิตตื่นอยู่ตลอดวันตลอดคืนได้ จุดมุ่งก็คือให้หมดกิเลส

ผู้ได้สมาธิชั้นกลาง (อุปจารสมาธิ) เมื่อถึงเวลาตาย จะได้เกิดในสวรรค์ชั้นต้น ๖ ชั้น ตามระดับของสมาธิชั้นกลาง ผู้ที่ได้สมาธิชั้นสูง (อัปปนาสมาธิ) ตายแล้วได้เกิดในสวรรค์ชั้นสูง ๒๐ ชั้น (ชั้นพรหม) ในชั้นใดชั้นหนึ่ง ตามขั้นของสมาธิหรือตามขั้นของฌาน

ผลของการทำทานตามหลักฐานในพระไตรปิฎก สังคีติสูตร ทานสูตร ฯลฯ ทานที่หวังผลจะได้เกิดในสวรรค์ชั้นแรกคือ ชั้นจาตุมหาราช ทานที่ให้โดยไม่หวังผล โดยคิดว่าเป็นความดี ความประเสริฐ จะได้เกิดใน
สวรรค์ชั้นที่ ๒ คือ ชั้นดาวดึงส์ ให้ทานโดยไม่นึกคิดว่าเป็น ความดีความประเสริฐ แต่ทำตามปูย่าตายายพ่อแม่ทำมาไม่ควรให้เสียประเพณี จะได้เกิดในสวรรค์ชั้นที่ ๓ คือ ชั้นมายา ให้ทานโดยไม่คิดว่าทำตามประเพณี แต่คิดว่า สมณะพราหมณ์ไม่ได้หุงหากินเหมือนเรา ฉะนั้นจึงควรให้ทานจะได้เกิดในสวรรค์ชั้นที่ ๔ คือ ชั้นดุสิต การทำทานโดยไม่คิดว่าควรให้ทานเพราะสมณะไม่ได้หุงหาเช่นเรา แต่คิดว่าจะให้ทานตามฤๅษีในปางก่อน จะได้เกิดในสวรรค์ชั้นที่ ๕ คือ ชั้นนิมมานรดี ให้ทานโดยไม่คิดว่าทำตามฤๅษีในปางก่อน แต่ทำทานด้วยความเลื่อมใส ทำเพื่อความโสมนัสยินดีจะได้เกิดในสวรรค์ชั้น ๖ คือ ชั้น ปรนิมมิตวสวัตตี การให้ทานโดยไม่คิดว่าทำตามฤๅษีในปางก่อน แต่ทำเพื่อเป็นเครื่องปรุงแต่งจิต จะบังเกิดในชั้นพรหมโลก ได้กล่าวแล้วว่าการพิจารณาธรรมนั้นควรพิจารณาหมวดอื่นๆ ประกอบ เพื่อให้รู้รายละเอียด รู้ว่าถูกหรือผิด รู้ครบถ้วนสมบูรณ์ เช่นการทำทานที่จะได้ ผลดีเต็มที่ก็ต้องประกอบด้วยการริเริ่มด้วยจิตศรัทธา เต็มใจของทำทานนั้นดี ผู้รับทานเป็นผู้มีศีลดีมีศีลบริสุทธิ์ หลังจากทำทานไม่โอ้อวด ไม่นึกเสียดาย และให้ระลึกถึงบุญที่ทำแล้วบ่อยๆ เป็นต้น แม้เป็นพระอรหันต์แล้วก็ยังต้องทำทาน แต่ไม่ประสงค์จะเพิ่มเติมบุญกุศล เพราะมีเต็มแล้วทำเพื่อสงเคราะห์ ทำเพื่อความอยู่เป็นสุขในชาตินี้และเพื่อเป็นตัวอย่างทำด้วยความเมตตากรุณา ทำเพื่อสติสัมปชัญญะ

ที่มา:ชม  สุคันธรัต