ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม

Socail Like & Share

“ดอกเอย ดอกมะลิ                  ไร้ตำหนิขาวสะอาดชวนมาดหมาย
บริสุทธิ์ผุดผ่องละอองกาย        จวบกระจายกลิ่นโรยรารักษานวล
ระรวยรินกลิ่นออมอบหอมหวาน ตลอดกาลนานทนสุคนธ์หวน
แต่แรกแย้มกลิ่นตลบอยู่อบอวล มิผันผวนสุคนธ์รื่นทุกคืนวัน
สรรพคุณสมค่าดอกมะลิ            เมื่อแรกผลิสลับร้อยมาลัยขวัญ
ลอยอบนํ้าปรุงบุหงาสารพัน       เหี่ยวแห้งแล้วยังสรรค์สร้างความดี
เป็นกระสายแทรกยารักษาไข้    ดับร้อนในชื่นวิญญาณพาสุขี
จึงขอยกขึ้นขั้นชั้นมาลี ประดับกายหมายแม่ที่เราบูชา”

คำประพันธ์ร้อยกรองข้างต้นนี้ เป็นผลงานรังสรรค์ของท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลลงคราม ซึ่งได้เรียงร้อยด้วยถ้อยคำที่สื่อความหมายถึงพันธุ์ไม้ดอกที่มีคุณค่าหลากหลาย ควรแก่การยกย่องบูชาประดุจท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงครามเช่น “มารดา” ผู้ทรงพระคุณยิ่งใหญ่ที่บุตรธิดาต่างเคารพเทิดทูนบูชา ด้วยเหตุผลดังกล่าว “ชาวไทย” จึงนำ “ดอกมะลิ” มาเป็นสัญลักษณ์ในการจัดงาน “วันแม่” สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ผลงานร้อยกรองดังกล่าวจึง เป็นที่ประจักษ์ชัดแจ้งว่า “ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลลงคราม” เป็นสตรีไทยผู้เล็งเห็นความสำคัญใน “บทบาท” และ “ภาระหน้าที่” ของมารดาผู้ประเสริฐสุด ควรค่าแก่การเทิดทูนบูชา นอกจากเป็นผู้สร้างสรรค์งานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ โดยเฉพาะเล็งเห็นความสำคัญของ “สตรี” ที่จักทำประโยชน์เอื้อต่อชาติบ้านเมืองได้ ตลอดจนเป็นผู้จรรโลงและสืบสานขนบประเพณีนิยมตามครรลองแห่งวัฒนธรรมของไทยสืบไป

ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม สกุลเดิมคือ “พันธุ์กระวี” สืบสายสกุลบรรพบุรุษนับแต่ปูชวด มีนามว่า “ศรีจันทร์” ซึ่งได้รับบรรดาศักดิ์เป็น “จ่าอัศวราช” ท่านผู้หญิงเกิดเมื่อปีเถาะ วันอาทิตย์ที่ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๔๖ ณ ตำบลดอนพุทรา จังหวัดนครปฐม เป็นบุตรคนโตของนายเจริญ และนางแช่ม พันธุ์กระวี มีน้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๘ คน ปรากฏนามตามลำดับดังนี้

นายโอฆบุรี                    เด็กหญิงจำรูญ (ถึงแก่กรรมในวัยเยาว์)

นางประไพ วโรจน์ศิริ       เด็กชายจำลอง (ถึงแก่กรรมในวัยเยาว์)

นายสมัย                        นาวาอากาศโท ทินกร

เด็กหญิงประภา (ถึงแก่กรรมในวัยเยาว์) และนายพจน์

ชีวิตครอบครัว ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม สมรสกับร้อยตรีแปลก ขีตตะสังคะ (จอมพลแปลก หรือจอมพล ป. พิบูลสงคราม) ณ จังหวัดพิษณุโลก เมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๕๙ มีบุตรธิดารวม ๖ คน คือ

พลตรีอนันต์ พิบูลสงคราม สมรสกับหม่อมหลวงพร้อมศรี สนิทวงศ์

พลเรือโท ประสงค์ พิบูลสงคราม สมรสกับนางเรืองยศ (สกุลเดิมคือ เกตุนุติ)

นางจีรวัสส์ ปันยารชุน สมรสกับพันตรี ดร. รักษ ปันยารชุน

นางรัชนิบูล ปราณีประชาชน สมรสกับพลตำรวจโท ชูลิต ปราณีประชาชน

นางพัชรบูล เบลซ์ สมรสกับนายปีเตอร์ เบลซ์

นายนิตย์ พิบูลสงคราม สมรสกับนางพัชรินทร์ (แพทริเชีย สกุลเดิมคือออสมอนด์)

นอกจากนี้ท่านผู้หญิงยังมีหลานย่า ๗ คน หลานยาย ๘ คน และเหลน ๖ คน

ชีวิตในวัยเยาว์ ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลลงคราม เติบโตจากครอบครัวที่มีฐานะปานกลาง แต่มีความเป็นอยู่สุขสบาย ไม่เดือดร้อน หรือทุกข์ใจประการใด ครั้นถึงวัยศึกษาเล่าเรียน เริ่มเรียนรู้การหัดอ่าน เขียนเองที่บ้าน มีบิดาเป็นครูอบรมสั่งสอนเบื้องต้น ตำราที่ใช้ฝึกอ่านเขียน ได้แก่ แบบเรียนเร็วเล่ม ๑ – ๒ และจินดามณี ทั้งนี้สามารถอ่านจินดามณีได้ตลอดเล่ม โดยยังอ่านหนังสือแบบเรียนเร็วเล่ม ๒ ไม่จบเล่ม

ต่อมาเมื่อถึงวัยศึกษาเล่าเรียนในสถานศึกษา ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม เข้ารับการศึกษา ณ โรงเรียนสตรีวิทยา ถนนดินสอ กรุงเทพมหานคร เป็นนักเรียนประจำระยะหนึ่ง แล้วจึงเป็นนักเรียนไป – กลับเหมือนเด็กทั่วไป พักอาศัยอยู่บ้านป้าชื่อ “อนงค์” ณ บริเวณสี่แยกคอกวัว ด้วยเหตุที่ป้าไม่มีบุตรธิดา จึงรักและเอ็นดูท่านผู้หญิงละเอียดมาก เมื่อศึกษาครบปีจึงกลับบ้าน ต่อมาเกิดเหตุการณ์ผันผวนในวงศาคณาญาติ ทำให้ท่านผู้หญิงไม่มีโอกาสศึกษาต่อในสถานศึกษาเดิม ต้องกลับไปศึกษา ณ จังหวัดพิษณุโลก คือ “โรงเรียนตัวอย่างพิทยาคม” เป็นโรงเรียนชายประจำจังหวัด จนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ใน พ.ศ. ๒๔๓๕ ขณะอายุ ๑๑ ปี จึงย้ายไปศึกษาต่อ ณ “โรงเรียนผดุงนารี” เป็นสถานศึกษาหญิงแห่งแรกในจังหวัด ที่คณะมิชชันนารีอเมริกันเป็นผู้จัดตั้ง

เมื่ออายุ ๑๔ ปี ท่านผู้หญิงละเอียดพิบูลสงคราม ได้พบรักกับจอมพล ป.พิบูลสงคราม จนได้สมรสกัน จึงย้ายติดตามสามีไป – มาระหว่างกรุงเทพมหานคร และจังหวัดพิษณุโลก เนื่องจากสามีรับราชการทหาร และอยู่ระหว่างศึกษาตามหลักสูตรตามลำดับ เช่น โรงเรียนในกรมทหารปืน ๑ รักษาพระองค์ กรมทหารปืน ๗ ที่พิษณุโลก ประจำปืน ๑ ร.อ. และโรงเรียนเสนาธิการ จนกระทั่งจอมพล ป. พิบูลสงครามได้รับบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงพิบูลสงคราม” ได้รับทุนไปศึกษาต่อ ณ ประเทศฝรั่งเศส ท่านผู้หญิงจึงเป็นครูสอน ณ โรงเรียน “ผดุงนารี” เป็นเวลา ๓ ปี แล้วย้ายติดตามสามีมาอยู่กรุงเทพมหานคร ขณะที่สามีกลับจากประเทศฝรั่งเศส เข้าปฏิบัติการเป็นผู้บังคับกองตรวจอากาศในกรมจเรทหารปืนใหญ่ พ.ศ. ๒๔๗๐ ขณะนั้นดำรงยศเป็น “พันตรี หลวงพิบูลสงคราม” ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕

ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว จอมพล ป. พิบูลสงคราม มีตำแหน่งทางการเมืองสูงขึ้นตามลำดับ จนเป็นนายกรัฐมนตรี ๒ สมัย คือ ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๘๑ – ๒๔๘๗ และพ.ศ. ๒๔๙๐ – ๒๕๐๐ ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม จึงเริ่มมีบทบาททางการเมืองในฐานะภริยานักการเมือง ต้องคอยดูแลปรนนิบัติสามีพร้อมกันไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่จอมพล ป. ถูกลอบปองร้ายระยะกระชั้นชิดถึง ๒ ครั้ง คือ ถูกลอบยิงที่สนามหลวง และในห้องนอนของบ้านพัก ทั้งยังมีผู้ลอบวางยาพิษ ณ บ้านพักกรมทหารปืนใหญ่ เป็นเหตุให้ท่านผู้หญิงต้องคอยระมัดระวังความปลอดภัยเป็นพิเศษ โดยเตรียมการทำอาหาร ให้สามีรับประทานเอง

ระหว่างที่รัฐบาลตั้งสภาวัฒนธรรมแห่งชาติเป็นกันชน มิให้ต่างชาติเข้าครอบงำประเทศไทยใน พ.ศ. ๒๔๘๕ นั้น เปิดโอกาสให้ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม มีบทบาทในสังคมไทยเป็นครั้งแรกเช่นกัน ท่านผู้หญิงจึงมีภาระหน้าที่สนองนโยบายด้านวัฒนธรรม เช่น ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นกรรมการสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๕ เป็นประธานกรรมการสาขาสงเคราะห์สตรีไทย เมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๖ จัดตั้งสโมสรวัฒนธรรมฝ่ายหญิง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๖ เป็นหัวหน้าชักชวนสตรีไทยออกมากระทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะสนับสนุนให้รักเกียรติของสตรีไทย การตั้ง “โรงเรียนกำพร้าสงคราม” ณ เขาเอราวัณ จังหวัดลพบุรี เพื่อช่วยเหลือเด็กที่บิดาตายในสงคราม ให้ประจำโรงเรียนตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๗ สถานศึกษาแห่งนี้ ต่อมาเปลี่ยนนามเป็น “โรงเรียนชาติสงเคราะห์” ในบริเวณบ้านราชวิถี ตลอดจนสนับสนุนโครงการต่างๆ ของรัฐบาล และอุปถัมภ์ด้านอื่นๆ อีกหลายด้าน นอกจากนี้ ยังเป็นผู้ทำตามแบบฉบับในการแต่งกายสตรีแบบตะวันตก ส่วนการปฏิบัติหน้าที่สมัยหลังนั้น ท่านผู้หญิงละเอียดได้เชิญบรรดาสตรีชั้นนำของจังหวัดจัดตั้ง “สมาคม ส่งเสริมวัฒนธรรมหญิง” ให้ภริยาผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นนายกสมาคม ครูใหญ่โรงเรียนประจำจังหวัด เป็นเลขานุการสมาคม ท่านผู้หญิงจะเดินทางไปประกอบพิธีเปิดแต่ละแห่งทุกครั้ง โดยมอบเงินให้จำนวนหนึ่ง ทั้งยังให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์อย่างสม่ำเสมอ บางครั้งสมาคมจะเลือกเป็นภาคเข้ามากรุงเทพฯ ร่วมสัมมนาเพื่อโต้ตอบข้อข้องใจในส่วนกิจกรรมของตน หรือให้ความสำคัญร่วมอภิปรายปัญหาต่างๆ พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง งานดังกล่าวจึงบังเกิดผลดีทำให้สตรีไทยมีความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ในการปฏิบัติงานอันเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เป็นการประสานสามัคคีภายในประเทศ

งานสำคัญด้านต่างประเทศนั้น ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ได้ส่งเสริมสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ โดยให้สโมสรวัฒนธรรมหญิงเป็นสมาชิกของสมาคมสตรีในต่างประเทศหลายสมาคม รับนโยบายของรัฐบาลเพื่อสนับสนุนกิจการในส่วนขององค์การสหประชาชาติ ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิของกระทรวงการต่างประเทศตั้ง “สมาคมสหประชาชาติแห่งประเทศไทย” เป็น “สมาชิกของสหพันธ์สมาคม สหประชาชาติแห่งโลก” ซึ่งประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพในการประชุมสหพันธ์สมาคมสหประชาชาติแห่งโลก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๘ และท่านผู้หญิงได้รับเลือกเป็นประธานสหพันธ์สมาคมสหประชาชาติแห่งโลก (World Federation of United Nations Ascociations เรียกย่อว่า W F U N A) เป็นประธานในการประชุม ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ๒ วาระ ผลจากการปฏิบัติงานครั้งนั้นได้นำเกียรติภูมิอันสูงส่งสู่ประเทศไทย กระทรวงการต่างประเทศจึงทูลเกล้าฯ ขอพระราชทาน “เหรียญดุษฎีมาลาเข็มศิลปวิทยา” เพื่อเป็นเกียรติแก่ท่าน เมื่อวันที่ ๒๕ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๙๙

ผลจากการรังสรรค์งานของท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม เป็นที่ประจักษ์ว่า ท่านได้บุกเบิกงาน เพื่อพัฒนาสตรีไทยเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน เช่น เสนอความเห็นชอบให้สตรีไทย ได้รับสิทธิเสมอภาค ในการรับราชการในกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ทัดเทียมชายจนประสบความสำเร็จ ในการยกสถานภาพสตรี ดังปรากฏในปัจจุบัน ก่อตั้งสภาสตรีแห่งชาติ พ.ศ. ๒๔๙๗ เชิญสมาคมสตรีร่วมกันร่างข้อบังคับสภาสตรีแห่งชาติ แต่ยังมิทันจดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย ท่านได้พ้นหน้าที่ไปก่อน (หม่อมงามจิตร บุรฉัตร เลขานุการสโมสรวัฒนธรรมหญิงได้ดำเนินการต่อจนสำเร็จ) นอกจากนั้นท่านยังส่งเสริมสถานภาพของสตรีไทยด้านการเมือง เช่น เสนอยกเลิกกฎ ก.พ. บางประการ ที่จำกัดความก้าวหน้าของสตรีผู้มีความรู้สูง ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเรื่องครอบครัว สนับสนุนการก่อตั้งศาลคติเด็กและเยาวชนกลาง เป็นต้น สนับสนุนการจัดตั้งสหพันธ์กรรมกรหญิง เพื่อช่วยเหลือกรรมกรในยามเจ็บไข้ มีครรภ์ ถึงแก่กรรม และเปิดโรงเรียนส่งเสริมอาชีพ เช่น สอนตัดเสื้อ ทำอาหาร ตัดผม ฯลฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๔ ส่งเสริมอาชีพพิเศษ เพื่อช่วยเหลือครอบครัวโดยได้รับความช่วยเหลือจากกรมประชาสงเคราะห์ กรมอาชีวศึกษา รวมทั้งก่อตั้งโรงเรียนพิบูลประชาสรรค์ ที่ถนนดินแดง เพื่อให้บุตรกรรมกรได้ศึกษาเล่าเรียนโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ เป็นต้น

ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลลงคราม ได้ริเริ่มจัดการสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยเพื่อให้ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข ตั้งกรมประชาสงเคราะห์เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ตกทุกข์ได้ยากให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น โดยท่านผู้หญิงได้อบรมผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการสงเคราะห์ประชาชน และก่อตั้งสถานศึกษาการสังคมสงเคราะห์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๗ (ต่อมารัฐบาลได้ตั้งคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๑) แล้วริเริ่มตั้งโรงพยาบาลสงเคราะห์หญิงมีครรภ์และบุตร บริบาลทารกสงเคราะห์ เพื่อให้ได้พลเมืองแข็งแรงมีคุณภาพดีเป็นกำลังของประเทศชาติ รวมทั้งตั้งโรงพยาบาลหญิง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๓ แล้ว ขยายไปจนถึงโรงพยาบาลเด็ก ซึ่งปัจจุบันรวมเรียกกันว่า “โรงพยาบาลราชวิถี” หลังจากนั้นจึงเริ่มระบบงานอาสาสมัครช่วยทำงานในโรงพยาบาลดังกล่าว แพร่ไปถึงโรงพยาบาลอื่นๆ เช่น โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลสงฆ์ ฯลฯ ซึ่งได้สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

นอกจากนั้นท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ยังสงเคราะห์ให้หญิงชายที่ร่วมชีวิตกันได้ก่อสร้างตัวเป็นครอบครัวที่ดี เพื่อรักษาประเพณีอันดีงามของไทย โดยตั้งองค์การส่งเสริมการสมรสเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๖ จัดพิธีสมรสหมู่ ณ ทำเนียบรัฐบาล แล้วจึงจัดพร้อมกันทั่วทุกจังหวัด ในวันที่ ๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๗ พิธีดังกล่าวได้สืบเนื่องต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร มีสำนักวัฒนธรรมหญิงเป็นผู้จัดทุกปี

ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ยังเป็นผู้สนับสนุนการจัดกิจกรรมวันแม่สืบต่อจากกระทรวงสาธารณสุข ที่ริเริ่มไว้ครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๖ แล้วยุติไประยะหนึ่ง เนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ และ รื้อฟื้นใหม่ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๓ โดยคณะกรรมการสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ อนุมัติให้สำนักวัฒนธรรมฝ่ายหญิง ร่วมกับกระทรวงการสาธารณสุข จัดงานวันแม่ ณ บริเวณสวนอัมพร เมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๓ ซึ่งในปีนั้น ท่านผู้หญิงได้รับคัดเลือกเป็น “แม่แห่งชาติ” ต่อมาสำนักวัฒนธรรมฝ่ายหญิงได้รับอนุมัติเป็นผู้จัดงานวันแม่ ที่สภาวัฒนธรรมแห่งชาติ ณ บ้านพิษณุโลก นับแต่ปี ๒๔๙๖ เป็นต้นไป การจัดกิจกรรมวันแม่ เป็นการปลูกฝังให้บุตรธิดาระลึกถึงพระคุณแห่งมารดา แล้วแสดงความรัก ความกตัญญูกตเวที และเทิดทูนบูชาพระคุณ รวมทั้งยังปลุกจิตสำนึกของมารดา ได้ตระหนักในหน้าที่ของความเป็น “แม่” ที่จะอบรมเลี้ยงดู บุตรธิดาให้เป็นพลเมืองที่ดีของสังคม มีสุขภาพพลานามัยแข็งแรง ปราศจากโรคภัย มีศีลธรรมและวัฒนธรรมที่ดีงาม

ปัจจุบันสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ได้ดำเนินการจัดงานวันแม่ในวันที่ ๑๒ สิงหาคมของทุกปี อันเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ด้วยเหตุที่ชาวไทย ต่างพร้อมใจกันยกย่องเทิดทูนว่า พระองค์ประดุจดัง “แม่ของแผ่นดิน”

ส่วนผลงานรังสรรค์เชิงวรรณศิลป์นั้น เป็นที่ประจักษ์ว่าท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ได้สั่งสมสายเลือดสืบทอดจากบรรพบุรุษผู้สืบสายสกุล “พันธุ์กระวี” เป็นเหตุให้ท่านมีความสามารถ เชี่ยวชาญ และสนใจในการประพันธ์อย่างมาก โดยเฉพาะชื่นชอบผลงานทั้งร้อยกรอง และวรรณคดีไทย มีผลงานที่สร้างสรรค์ไว้ ระหว่างพุทธศักราช๒๔๘๕-๒๔๘๗ เป็นจำนวนมาก ใช้นามปากกาว่า “ละเอียด พิบูลสงคราม” “ปราณีต” ทั้งคำประพันธ์อวยพร เนื่องในวันคล้ายวันเกิดของผู้ที่เกี่ยวข้อง วันขึ้นปีใหม่ งานประพันธ์ที่มอบให้นิตยสารและหนังสือพิมพ์ต่างๆ ตลอดจนประพันธ์เนื้อเพลงรำวง ที่เป็นแบบอย่างมาตรฐานให้กรมศิลปากร จำนวน ๖ เพลง เช่น เพลงดอกไม้ของชาติ บูชานักรบ หญิงไทยใจงาม ดวงจันทร์วันเพ็ญ ดวงจันทร์ขวัญฟ้า และยอดชายใจหาญ เนื้อเพลงเหล่านั้นมีความไพเราะ และเรียงร้อยด้วยถ้อยคำลึกซึ้งกินใจ ซึ่งชาวไทยได้ร้องรำและนำเป็นแบบฉบับของรำวงมาตรฐานสืบทอดมาถึงปัจจุบัน

ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม เป็นสตรีไทยที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น “วุฒิสมาชิก” ครั้งแรก เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๒ ดำรงตำแหน่งกรรมาธิการเปิดเผยรายงานการ ประชุมลับระหว่าง พ.ศ. ๒๔๙๒ – ๒๔๙๔ และได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครนายก สังกัดพรรคเสรีมนังคศิลา เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๐ ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครนายก แม้เพียงระยะเวลาอันสั้นเพียงครึ่งปีเศษก็ตาม ท่านตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษา จึงให้ดำเนินการสร้างโรงเรียนรัฐบาล ๓ แห่ง คือ “โรงเรียนสตรีนครนายก” ปัจจุบันคือโรงเรียนนครนายกวิทยาคม “โรงเรียนสาริกา” เป็นโรงเรียนประถมศึกษา และ “โรงเรียนองครักษ์” เป็นอาคารไม้ ปัจจุบันได้รื้อถอนไป เนื่องจากผุพัง นอกจากนั้นยังมีโรงเรียนเอกชน เช่น โรงเรียนนายกวัฒนากร “วัดอุดมธานี” และโรงเรียน นายกวัฒนากร “วัดทองย้อย” เป็นต้น

ตลอดชีวิตของท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม นั้นได้ปฏิบัติภารกิจอันเป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองนานัปการ จึงได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์และเหรียญอิสริยาภรณ์ตามลำดับดังนี้

เหรียญรัตนาภรณ์ อปร. ชั้น ๑
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ
เหรียญช่วยราชการเขตภายใน
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ประถมาภรณ์มงกุฎไทย
เหรียญช่วยราชการเขตภายในสงครามมหาเอเชียบูรพา เครื่องราชอิสริยาภรณ์ประถมาภรณ์ช้างเผือก
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้า
เหรียญรัตนาภรณ์ ภปร. ชั้น ๑
เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ
และเหรียญดุษฎี มาลาเข็มศิลปวิทยา

ทั้งยังได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากต่างประเทศหลายประเทศ เมื่อครั้งเดินทางเยี่ยมประเทศเหล่านั้นอย่างเป็นทางการ ในฐานะภริยานายกรัฐมนตรี พ.ศ. ๒๔๙๘ เป็นต้นว่า ประเทศราชอาณาจักรเบลเยี่ยม ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ราชอาณาจักรสเปน และสาธารณสังคมนิยมสหภาพพม่า

ส่วนการปฏิบัติภารกิจด้านทหาร ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ได้รับยศ “ว่าที่ร้อยตรี” เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ และ “นายพันโท” เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ปีเดียวกัน ตลอดจนดำรงตำแหน่ง “นายพันโทเหล่าทหารปืนใหญ่” “นายทหารพิเศษประจำกองทัพบก และเป็น “ราชองครักษ์พิเศษ” ในวันเดียวกันนั้น

ต่อมาภายหลังที่จอมพล ป. พิบูลสงครามถึงแก่อสัญกรรม ณ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๗ ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ได้เดินทางกลับมาตุภูมิพร้อมอัฐิของสามี และได้นำไปบรรจุที่พระเจดีย์ ณ วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหารแล้ว ท่านผู้หญิงได้ดำรงชีวิตในบั้นปลายอย่างสงบ มีความสุขสมถะพร้อมบุตรหลาน นิยมเข้าวัดพังธรรม ฟังพระเทศนาอบรมในวันธรรมสวนะ ณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร และวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร ทั้งยังบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคมและส่วนรวมอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะทางพุทธศาสนานั้น ได้เป็นกำลังสำคัญในการตั้ง “มูลนิธิวัดไทยพุทธคยา” ณ ประเทศอินเดีย บริจาคเงินตั้งทุน “มูลนิธิประชาสุขสันต์” เป็นองค์กรช่วยชาติบ้านเมืองทางศาสนา บริจาคทุนทรัพย์บำรุงพระพุทธศาสนา การศึกษา ตลอดจนตั้ง “มูลนิธิจอมพล ป. พิบูลสงคราม” เพื่อสนับสนุนการศึกษาของเยาวชนที่เรียนดี ประพฤติดีทุกประเภท เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๐ โดยเฉพาะงานสำคัญที่ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ได้ร่วมปฏิบัติการเพื่อสามีเป็นสิ่งสุดท้าย นั่นคือ พิธีเปิดอนุสาวรีย์จอมพล ป. พิบูลสงคราม ณ หน้าศูนย์ปืนใหญ่ ค่ายพหลโยธิน ตำบลโคกกระเทียม เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๕ และยังรับทราบเรื่องการสร้างอนุสาวรีย์ อีกแห่ง ณ โรงเรียนพิบูลประชาสรรค์ ซึ่งมีพิธีเปิดในเวลาต่อมา เมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๗

ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ถึงแก่อนิจกรรมด้วยภาวะโรคหัวใจล้มเหลว เมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๗ เวลา ๑๓.๓๐ นาฬิกา สิริรวมอายุได้ ๘๐ ปี ๑๙๑ วัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อม ด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร เมื่อวันอังคารที่ ๑๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๗ เวลา ๑๗.๐๐ นาฬิกา

ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม จึงเป็นสตรีไทยที่บำเพ็ญคุณประโยชน์ให้แก่ชาติบ้านเมืองนานัปการ ตลอดจนเป็นกุลสตรีที่มีวัตรปฏิบัติงดงามต่อครอบครัว ทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างแท้จริง

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย:ผกาวรรณ เดชเทวพร