ฐานในภาษาวัดหมายถึงอะไร

Socail Like & Share

เมื่อพูดถึงฐานแล้ว ก็อดพูดถึงฐานอีกชนิดหนึ่งไม่ได้ ฐานในที่นี้เป็นภาษาวัด เมื่อท่านเข้าไปในวัดจะได้พบคำว่าฐานในความหมายว่าส้วม ทำไมจึงเรียกว่าส้วมของพระว่า ฐาน ก็ยังไม่พบคำอธิบายเห็นจะเป็นเพราะว่าส้วมหรือเว็จกุฏีของพระนั้นในสมัยก่อนได้ก่อสร้างโดยใช้อิฐถือปูน และมีที่รองรับจึงเรียกว่าฐานก็เป็นได้

ไหนๆ ก็พูดถึงส้วมหรือฐานกันแล้วก็เห็นจะต้องพูดถึงส้วมทั่วๆ ไปสักเล็กน้อย

ส้วมนั้นคนส่วนมากสมัยก่อนไม่ได้ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเมื่อเกิดความจำเป็นขึ้นแล้วจะไปปล่อยที่ไหนๆ ก็ได้ เพราะบ้านคนยังมีอยู่น้อย เป็นป่าและทุ่งเสียส่วนใหญ่จนเรามีคำว่าไปทุ่งแทนไปส้วมก็เพราะว่าไปถ่ายกันไว้ตามทุ่งนั่นเอง

ต่อมาเมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้น การจะไปปล่อยไว้ตามทุ่งก็ลำบาก จึงเกิดมีการสร้างส้วมให้เป็นที่เป็นทางขึ้น แต่ก็เป็นส้วมหลุมคือขุดหลุมแล้วปลูกห้องคร่อมหลุมไว้ นานเข้าหลุมก็เต็มต้องเดือดร้อนอีกจึงเกิดมีส้วมถังเทขึ้นคือใช้ถังรองรับ แล้วมีคนคอยเก็บเอาไปเททิ้งหรือทำปุ่ญไปเลย สมัยเมื่อสัก ๔๐ ปีมานี้ตามเมืองทั่วๆ ไปยังใช้ส้วมถังเทอยู่แม้ใน กรุงเทพฯ เองก็ยังมีส้วมถังเท มีบริษัทออนเหวงเป็นผู้รับเหมาจากทางการทำความสะอาดเกี่ยวกับเรื่องนี้จนร่ำรวยไป ต่อมาก็ถึงยุคส้วมซึมและชักโครกอย่างที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้

ในกรุงเทพฯ นั้น สมัยที่ยังใช้ส้วมถังเทอยู่ทางการยังไม่เข้มงวดเรื่องการทำส้วมลงแม่น้ำ มีผู้เล่าให้ฟังว่า ส้วมริมแม่น้ำเจ้าพระยานั้นเรียงรายไปตามชายฝั่ง เพียงชั่วระยะเวลาที่น้ำลงพ้นชายฝั่งไป ก็มีคนไปถ่ายไว้กองสูงตั้งศอก คงจะสกปรกสิ้นดี แต่จะทำอย่างไรได้ของอย่างนี้สมัยหนึ่งการจัดขนาดนี้ก็นับว่าดีแล้ว คือเหมาะสมเป็นสมัยๆ ไป เราจะเอาสายตาของเราไปมองของในอดีตนั้น จะให้สวยงดงามอย่างที่เราเห็นในปัจจุบันย่อมไม่ได้อยู่เอง

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี