ช้างตระกูลต่างๆ ๑๐ ตระกูล

Socail Like & Share

๑. ช้างตระกูลฉัททันต์ มีผิวกายขาวบริสุทธิ์ดุจสีเงินยวง ว่ามีฤทธิ์เดชมาก แม้นจะเหาะไปในนภากาศก็ได้ ถ้าจะไปทางบกก็ไปได้รวดเร็ว คือในระยะทางสามล้านหกแสนหนึ่งหมื่นสามร้อยสิบโยชน์นั้น ช้างฉัททันต์ใช้เวลาเดินทางเพียง ๓ นาทีเท่านั้นเอง เร็วกว่าจรวดที่สหรัฐช้างฉัททันต์อเมริกา หรือรัฐเซียส่งไปโลกพระจันทร์มากมายนัก และกำลังของช้างตระกูลฉัททันต์นี้ เหนือกว่าช้างใดๆ ช้างตระกูลอุโบสถ ๑๐ เชือก จึงจะมีกำลังเท่าพญาช้าง ฉัททันทต์นี้เชือกหนึ่ง

๒. ช้างตระกูลอุโบสถ มีลักษณะสูงใหญ่สง่างาม ผิวดังสีทอง มีฤทธิ์เหาะไปในอากาศไค้ เดินทางบกช้ากว่าช้างฉัททันต์ มีช้างสีเหลืองเป็นบริวาร อยู่ในป่าหิมพานต์ พญาช้างอุโบสถย่อมจะนำเอาลูกมายกให้เป็นภรรยาพญาช้างฉัททันต์ และถือกันว่าพญาช้างอุโบสถนั้น สมควรเป็นพาหนะของพระมหาจักรพรรดิ์เท่านั้น

๓. ช้างตระกูลเหมหัตถี คือช้างทอง มีลักษณะสูงใหญ่ มีสีตัวเหลืองดังทอง มีหมู่ช้างพลายพังเป็นบริวารเป็นอันมาก แต่กำลังน้อยกว่าช้างอุโบสถ ช้างเหมหัตถี ๑๐ เชือก จึงจะเท่าช้างอุโบสถเชือกหนึ่ง

๔. ช้างตระกูลมงคลหัตถี รูปสูงสง่า ผิวตัวดังสีดอกอัญชัญ ฤทธิ์น้อยกว่าช้างเหมหัตถี

๕. ช้างตระกูลคันธหัตถี ร่างสูงใหญ่ ผิวตัวดังไม้กฤษณา กลิ่นตัวและมูตรคูตหอมหวนชื่นใจ แต่จะมีกลิ่นอย่างไร ขนาดไหนก็ไม่ทราบเหมือนกัน ใครเลี้ยงช้างชนิดนี้ไว้ก็เห็นจะรวยเป็นมหาเศรษฐีไปเลย เพราะไม่ต้องทำอะไร คอยเก็บมูตรและคูตช้างทำเครื่องหอมอย่างเดียวก็เห็นจะพอกิน ช้างตระกูลคันธหัตถีนี้ว่ามีกำลังมากเหมือนกัน แต่ยังน้อยกว่าช้างมงคลหัตถี

๖. ช้างตระกูลปิงคถหัตถี ลักษณะสูงสง่างาม สีตัวเหลืองอ่อนดังสีตาแมวมีช้างเป็นบริวารมากแต่กำลังน้อยกว่าพญาช้างคันธหัตถี

๗. ช้างตระกูลตัมพหัตถี คือช้างสีทองแดง มีกำลังและบริวารมาก แต่กำลังน้อยกว่าพญาช้างปิงคลหัตถี

๘. ช้างตระกูลปัณฑรนาเคนทร์หรือปัณฑรหัตถี ว่ามีสีตัวดังเขาไกรลาส ไกรลาส คือ หมายถึงสีขาวนั่นเอง เพราะเขาไกรลาสนั้นว่ากันว่ามีหิมะจับขาวไปหมด

๙. ช้างคับเคยยนาเคนทร์ หรือ คังไคย สีกายดังสีอุทกวารี

๑๐. ช้างกาฬวกะหัตถี หรือ กาลาวกหัตถี มีสีกายดังสีปีกกา

ช่างทั้ง ๑๐ ตระกูลนี้เป็นช้างที่พระอิศวรทรงสร้างขึ้น แต่ช้างในทางพุทธศาสนาของเราก็มีอยู่เหมือนกัน จะเป็นของพุทธแท้หรือเรื่องของศาสนาพราหมณ์เข้ามาแทรกก็โปรดใช้วิจารญาณดูเอาเถิด ช้างที่กล่าวนี้คือช้างเอราวัณ หรือ ไอยราวัณ ว่าเป็นช้างทรงของพระอินทร์ ซึ่งเป็นเจ้าแห่งสวรรค์ชั้นดาวดึงนั่นเอง

เขียนมาถึงตอนนี้ ใคร่จะเขียนถึงเรื่องของพระอินทร์สักเล็กน้อย จึงขอยกเรื่องช้างเอราวัณ หรือไอยราวัณไปเขียนตอนท้าย ท่านเสฐียรโกเศศ เล่าถึงเรื่องพระอินทร์ไว้ว่า

“เดิมพระอินทร์เป็นมนุษย์ชื่อมฆมาณพ มีเพื่อนสนิทอยู่ ๓๒ คน ได้ทำบุญกุศลไว้มากเมื่อตายจึงไปเกิดเป็นเทวดาผู้ใหญ่อยู่บนสวรรค์ ซึ่งมีเมืองหลวงอยู่ตรงกลางเป็นของพระอินทร์โดยเฉพาะ ชื่อว่าเมืองสุทัศน์ แปลว่าดูงาม เป็นชื่อมีมาแล้วแต่ครั้งพวกอสูรอยู่ เมื่อพระอินทร์กับพวกแย่งเมืองนี้ได้ จึงคงชื่อเดิมไว้ เมืองสุทัศน์นี้มีอีกชื่อหนึ่งว่า อมรวดี แปลว่าเมืองของผู้ไม่ตายคือเทวดา ส่วนสหาย ๓๒ คนที่ไปเกิดเป็นเทวดาด้วยต่างก็มีเมืองของตนตั้งอยู่รอบเมืองสุทัศน์ของพระอินทร์ แบ่งกันอยู่ ๔ ทิศๆ ละ ๘ เมือง จึงมีเมืองทั้งหมดด้วยกัน ๓๓ เมือง เทวดาผู้ใหญ่สหายของพระอินทร์ ๓๒ องค์นี้ ที่รู้จักกันดีก็มีหลายองค์ เช่น มาตุลี ซึ่งมีหน้าที่เป็นสารถีขับรถให้พระอินทร์ เวสนุกรรม ซึ่งเป็นนายช่างของเทวดา (เทวดาสององค์นี้มีบทบาทอยู่ในเรื่องสังข์ทองของเราด้วย) พระจันทรเทพบุตร พระสุริยเทพบุตร พระพิรุณ ซึ่งเป็นเจ้าแห่งฝน เป็นต้น”

เรื่องจำนวน ๓๓ เข้าใจว่าจะไม่ใช่มาแต่เรื่องอย่างที่เล่าข้างต้น เพราะ ๓๓ เป็นจำนวนเทวดาดั้งเดมสืบแต่สมัยพระเวทซึ่งเขาแบ่งเทวดาออกเป็น ๓ พวก พวกละ ๑๑ องค์ คือเทวดาที่อยู่บนสวรรค์พวก ๑ มีพระวรุณ (พระพิรุณในไทย) พระสูรย (พระสุริย) เป็นต้น อยู่กลางฟ้ากลางอากาศพวกหนึ่ง มีพระอินทร์เป็นต้น และอยู่บนแผ่นดินอีกพวกหนึ่ง มีพระอัคนีเป็นต้น พระอินทร์มีหน้าที่คอยขับไล่และประหารพวกอสูร ซึ่งทำความมืดมัวให้แก่โลก โดยใช้สายฟ้าเป็นอาวุธเรียกวชิราวุธ เป็นเครื่องทำลายขจัดให้หมดสิ้นไป ถ้าอสูรตนใด ได้ทำความแห้งแล้งให้เกิดมีขึ้น พระอินทร์ก็ล้างผลาญอสูรตนนั้นเสีย แล้วก็ให้นํ้าฟ้าหรือ ฝนตกลงมา เมื่อพระอินทร์คอยให้ความสว่างและความชุ่มชื่นเป็นประโยชน์แก่การเพาะปลูก ซึ่งเป็นงานการสำคัญของคนสมัยโบราณดังนี้ มนุษย์ย่อมมีความนิยมยินดีนับถือพระอินทร์ ยิ่งกว่าเทพองค์อื่น ในที่สุดพระอินทร์ก็ได้เป็นใหญ่เหนือเทวดาอื่นทั้งหมด แม้พระวรุณ ซึ่งเป็นเจ้าแห่งฝนและน้ำโดยตรง ก็สู้พระอินทร์ไม่ได้เพราะทำการไม่โฆษณาออกหน้าเหมือนพระอินทร์ คนจึงไม่ใคร่รู้จัก แล้วคำว่าอินทร์มีความหมายขยายออกไปว่าผู้เป็นใหญ่ ใช้ผสมเข้ากับคำอื่น แปลว่าเป็นใหญ่แก่สิ่งนั้น เช่นผสมกับคำว่าสุระ เป็นสุรินทร์ แปลว่า เป็นใหญ่ในสุระคือเทวดา ได้แก่พระอินทร์นั่นเอง (เมืองสุรินทร์จึงมีรูปเป็นเทวดาทรงช้างเอราวัณ) ผสมกับคำว่านร เป็น นรินทร์ แปลว่าเป็นใหญ่ใน นร คือคนได้แก่พระเจ้าแผ่นดิน ดังนี้เป็นต้น

ต่อมาลัทธิศาสนาพราหมณ์ คลี่คลายเป็นลัทธิศาสนาฮินดู หรือไสยศาสตร์ทุกวันนี้เทวดาครั้งพระเวทลางองค์ซึ่งไม่ใช่เทวดาสำคัญอะไร กลับได้เป็นใหญ่กลายเป็นพระ- เป็นเจ้าขึ้นน คือพระอิศวรและพระนารายณ์ ส่วนพระอินทร์ซึ่งเคยเป็นใหญ่อยู่ในสมัยพระเวท ก็ถูกลดฐานะลง (แสดงให้เห็นถึงความไม่เทียงแท้แน่นอนของสังขารตามหลักทางพระพุทธศาสนาว่า ทุกอย่างล้วนเปลี่ยนแปลงไปไม่คงที่ แม้แต่ตำแหน่งของเทวดาก็อาจเสื่อมถอยลงได้) แม้ยังมีเค้ายอมให้เป็นเทพบดีหรือหัวหน้าเทวดาดั่งเดิมอยู่แต่ต้องเป็นรองลงมาจากพระเป็นเจ้า และมีเรื่องกล่าวถึงพระอินทร์เป็นไปในทางไม่งดงาม มีความประพฤติเลวทราม เพราะไปผิดเมียของฤษีตนหนึ่งเป็นต้น จนต้องถูกฤษีสาปให้พระอินทร์มีนิมิตลับหรือเครื่องหมายของผู้หญิงติดพราวไปทั้งองค์ (จึงถูกเรียกชื่อว่า สหัสโยนี) ภายหลังฤษีตนนั้นหายโกรธแล้วจึง สาปแบ่งเบาเสียใหม่ ให้สิ่งนั้นกลายเป็นตาไป เหตุฉะนี้พระอินทร์จึงได้ชื่อว่าท้าวสหัสนัยน์ แปลว่าท้าวพันตา นอกจากนี้พระอินทร์ยังต้องระวังฤษีและยักษ์ที่บำเพ็ญตบะคือการทรมานกายอย่างยิ่งยวด เพื่อหวังผลให้เกิดฤทธิอำนาจต่างๆ ตามที่ต้องการ ถ้าบำเพ็ญตบะสำเร็จได้เมื่อใด พระอินทร์และเทวดาทั้งปวงจะได้รับความเดือดร้อนเมื่อนั้น เมื่อฤษีหรือยักษ์ตนใด บำเพ็ญตบะแก่กล้าเห็นท่าไม่ดีจะเดือดร้อนแก่เทวดาแน่แล้ว พระอินทร์ก็ใช้ให้นางเทพอัปสร ผู้เป็นนางบำเรอของเทวดาตนหนึ่งลงไปทำลายตบะด้วยวิธียั่วยวนชวนฤษียักษ์ตนนั้นให้ลุ่มหลงต่อความกำหนัดยินดีในสตรีเพศ เลิกความเพียรที่จะบำเพ็ญตบะต่อไป พระอินทร์และเทวดา ก็รอดตัวพ้นภัยไปคราวหนึ่ง

ส่วนพระอินทร์ของพุทธศาสนาผิดกับพระอินทร์ของลัทธิศาสนาฮินดู เพราะพระอินทร์ของศาสนาพุทธมีลักษณะเป็นพระอินทร์ของสมัยพระเวทมากกว่า ไม่มีเรื่องเลอะเทอะ หรือเรื่องตกต่ำอย่างในลัทธิศาสนาฮินดู พระอินทร์ในเรื่องรามเกียรติ์มีลักษณะปนๆ กัน ทั้งที่เป็นพระอินทร์พุทธและพระอินทร์ฮินดู ยิ่งกว่านี้พระอินทร์ของพุทธศาสนาไม่เป็นตำแหน่งประจำตายตัว ใครทำบุญกุศลไว้มาก อาจขึ้นไปเกิดเป็นพระอินทร์ เพราะด้วยบุญบารมีที่ทำไว้ เป็นพระอินทร์อยู่ตลอดเวลาที่บุญกุศลยังส่งให้อยู่ หมดบุญเมื่อใดก็ต้องจุติ คือเคลื่อนจากความเป็นอยู่เดิมหรือตายจากเทวดา ลงไปเกิดยังภพอื่น จะไปเกิดยังภพใดภูมิใด แล้วแต่กรรมที่ทำไว้ ส่วนตำแหน่งพระอินทร์ คนอื่นที่เขามีบุญสมควรกันก็ขึ้นไปแทน และเป็นตำแหน่งคอยป้องกันและส่งเสริมพุทธศาสนาให้เจริญถาวรสืบไป

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี