ชีวิตสุดยอดของสุนทรภู่ในรัชกาลที่ ๔

Socail Like & Share

ปีพ.ศ. ๒๓๙๔ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต สิริพระชนมายุได้ ๖๔ พรรษา สมเด็จเจ้าฟ้ามงกฎได้เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ในรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ชะตาชีวิตของสุนทรภู่ก็พุ่งโรจน์ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาสมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า คือสมเด็จเจ้าฟ้า กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ให้มีพระยศยิ่งใหญ่เทียบเท่าพระองค์ พระราชทานพระนามาภิไธยว่า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยให้เสด็จมาประทับที่พระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ข้าราชบริพารทั้งหลายรวมทั้งสุนทรภู่ได้ตามเสด็จมาอยู่ที่นี่ด้วย

ในปีพ.ศ. ๒๓๙๔ นี้ สุนทรภู่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระสุนทรโวหาร ตำแหน่งเจ้ากรมอาลักษณ์ฝ่ายพระบวรราชวัง ขณะนั้นมีอายุได้ ๖๖ ปี คู่กับพระสุนทรโวหาร (ฟัก) เจ้ากรมพระอาลักษณ์ฝ่ายพระบรมมหาราชวัง

ชีวิตสุนทรภู่ในช่วงนี้นับเป็นระยะแห่งความรุ่งโรจน์ ไม่ตกทุกข์ได้ยากดังเช่นครั้งก่อน จึงไม่ได้แต่งนิราศอีก หนังสือที่สุนทรภู่แต่งในสมัยรัชกาลที่ ๔ ได้แก่บทละครเรื่องอภัยนุราช แต่งถวายพระองค์เจ้าดวงประภาพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เสภาพระราชพงศาวดารเรื่องนี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรับสั่งให้แต่ง นอกจากนี้ยังมีบทเห่กล่อมพระบรรทม เรื่องจับระบำ เรื่องกากี เรื่องพระอภัยมณี และเรื่องโคบุตร บทเห่เหล่านี้ใช้กล่อมบรรทมเจ้านายทั่วทั้งพระราชวังในรัชกาลที่ ๔

สุนทรภู่ได้ครองตำแหน่งเจ้ากรมพระอาลักษณ์อันมีเกียรติอยู่ ๕ ปี ก็หมดวาสนา ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อพ.ศ. ๒๓๙๘ รวมอายุได้ ๗๐ ปี น่าจะถึงแก่กรรมในบ้านที่ได้รับพระราชทานให้อยู่ ณ บริเวณพระบวรราชวัง และคงจะได้รับพระราชทานเพลิงศพที่วัดสระเกศหรือวัดสุวรรณารามวัดใดวัดหนึ่ง

เมื่อสุนทรภู่ถึงแก่กรรม ปรากฎว่าบุตรของสุนทรภู่มีอายุดังนี้คือ หนูพัดอายุ ๓๖ ปี หนูตาบ อายุ ๓๔ ปี และหนูน้อยอายุ ๑๘-๑๙ ปี ส่วนภรรยาที่ชื่อม่วงไม่ทราบว่าจะอยู่ด้วยกันจนกระทั่งสุนทรภู่ถึงแก่กรรมหรือไม่ สำหรับหนูพัดและหนูน้อยไม่ทราบว่าในระยะเวลาต่อมาจะดำเนินชีวิตอย่างไร ทราบแต่เพียงว่าหนูตาบได้รับราชการในรัชกาลที่ ๕ ได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คราวเสด็จประพาสพระนครศรีอยุธยาราวพ.ศ. ๒๔๑๖ และได้แต่งกลอนเพลงยาวไว้เรื่องหนึ่ง
ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด