ชีวิตรักและครอบครัวของสุนทรภู่

Socail Like & Share

สุนทรภู่เป็นกวีที่ได้ชื่อว่าเป็นนักเลงผู้หญิงคนหนึ่ง มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับผู้หญิงหลายคน ตั้งแต่รุ่นหนุ่มเป็นต้นมา แม้แต่เมื่อบวชเป็นพระก็ยังไม่ได้งดเว้นที่จะกล่าวถึงเรื่องความรักและผู้หญิง ได้มีผู้ตั้งเป็นข้อสังเกตว่า ข้อความหรือเรื่องราวที่สุนทรภู่กล่าวอ้างถึงความสัมพันธ์กับผู้หญิงตามที่ปรากฎในผลงานต่างๆ นั้น น่าจะเกินความเป็นจริงไปบ้างเพื่อต้องการสร้างความสะเทือนใจ แต่ก็น่าจะเชื่อได้ว่ามีเค้าความจริงอยู่มากเพราะนิสัยสุนทรภู่นั้นเจ้าชู้มากอยู่แล้ว แม้ว่าสุนทรภู่จะมีความสัมพันธ์กับผู้หญิงหลายคน ปรากฎว่าใช้ชีวิตครองคู่อย่างจริงจังเพียง ๓ คนเท่านั้น คือ แม่จัน แม่นิ่ม และแม่ม่วง

ชีวิตครองคู่กับแม่จัน

แม่จันเป็นภรรยาที่สุนทรภู่นำมากล่าวไว้ในนิราศมากกว่าภรรยาคนอื่นๆ ความสัมพันธ์ระหว่างสุนทรภู่กับแม่จันเริ่มตั้งแต่ตอนที่สุนทรภู่อาศัยอยู่ที่พระราชวังหลัง และขณะนั้นแม่จันเป็นข้าในกรมพระราชวังหลัง แต่ความรักของคนทั้งสองเป็นเหตุให้กรมพระราชวังหลังทรงกริ้ว ถึงกับให้จำคุกทั้งสองคน และเมื่อกรมพระราชวังทิวงคตจึงพ้นโทษ

สุนทรภู่ได้แม่จันมาเป็นภรรยาเมื่อเป็นมหาดเล็กในพระองค์เจ้าปฐมวงศ์แล้ว เป็นเพราะพระอัครชายาในกรมพระราชวังหลัง หรือที่เรียกกันว่าเจ้าครอกข้างในประทานให้ แต่ใช้ชีวิตคู่อยู่ด้วยกันไม่นานก็มีเรื่องทะเลาะวิวาทจนต้องแยกทางกัน ซึ่งอาจจะมีสาเหตุมาจากเรื่องดื่มเหล้าจนเมามายหรือเรื่องเจ้าชู้ก็เป็นได้ เมื่อสุนทรภู่ตามเสด็จพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ไปนมัสการพระพุทธบาทที่จังหวัดสระบุรี ยังเป็นระยะที่ไม่ได้คืนดีกัน สุนทรภู่ได้เขียนคร่ำครวญถึงแม่จันเอาไว้ในนิราศพระบาทหลายตอน เช่น

“เห็นจันทน์สุกลูกเหลืองตลบกิ่ง        แมงภู่บินร่อนร้องประคองหวง
พฤกษาพ้องต้องนามกานดาดวง        พี่ยลพวงผลจันทน์ให้หวั่นใจ
แมงภู่เชยเหมือนพี่เคยประคองชิด        นั่งพินิจนึกน่าน้ำตาไหล
เห็นรักร่วงผลิผลัดสลัดใบ            เหมือนรักใจขวัญเมืองพี่เคืองเรา”

อีกตอนหนึ่งในนิราศพระบาท สุนทรภู่ยังกล่าวถึงแม่จันในทำนองว่าเกรงความสัมพันธ์ที่มีต่อกันจะขาดสะบั้นลง

“พี่พูดพูดเขาขาดแล้วหวาดจิต    พี่ขาดมิตรมาไกลถึงไพรสัณฑ์
นึกเฉลียวเสียวทรวงถึงดวงจันทร์    จะขาดกันเสียเหมือนเขาพี่เศร้าใจ”

เมื่อกลับจากพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรีแล้ว สุนทรภู่ก็ยังไม่ได้คืนดีกับแม่จัน อาจจะเป็นด้วยความมีนิสัยทิฐิทั้งสองคน ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วสุนทรภู่ยังรักและอาลัยแม่จันมาก ในปีพ.ศ. ๒๓๕๙ สุนทรภู่ถูกสงสัยว่าเป็นผู้ทิ้งบัตรสนเท่ห์ จึงต้องหนีไปหลบซ่อนตัวอยู่ที่ถํ้าเขาหลวง จังหวัดเพชรบุรี ในปลายปีพ.ศ. ๒๓๖๐ ในช่วงระยะเวลาก่อนหน้านี้ สุนทรภู่คงจะได้คืนดีกับแม่จันแล้ว เพราะได้พาแม่จันไปหลบซ่อนตัวที่เพชรบุรีด้วยกัน แสดงว่าสุนทรภู่โกรธกับแม่จันและแยกทางกันอยู่นานประมาณ ๙-๑๐ ปี คือตั้งแต้ปีพ.ศ. ๒๓๕๐-๒๓๕๙ หรือ ๒๓๖๐

สุนทรภู่พาแม่จันไปหลบซ่อนตัวที่จังหวัดเพชรบุรีได้ไม่นาน ถึงปีพ.ศ. ๒๓๖๓ ก็เดินทางกลับกรุงเทพฯ ต่อมาสุนทรภู่ได้รับราชการเป็นขุนสุนทรโวหารในราชสำนักพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในระหว่างที่รับราชการ สุนทรภู่ได้ภรรยาอีกคนหนึ่งชื่อนิ่ม ชาวบางกรวย จังหวัดธนบุรี ทำให้แม่จันโกรธมากถึงกับขอแยกทางกันอยู่ เมื่อสุนทรภู่ถูกจำคุกอีกครั้งหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ ๒ ในข้อหาทำร้ายร่างกายญาติผู้ใหญ่ แม่จันทร์เลยขอหย่าจากสุนทรภู่ และไปได้สามีใหม่แต่ก็ต้องเลิกร้างไปอีก

สุนทรภู่กับแม่จันไม่เคยประสบความราบรื่นในชีวิตครอบครัวเลย ต้องมีเหตุการณ์ต่างๆ ที่ทำให้ทั้งคู่ต้องโกรธเคืองกันและต้องหย่าร้างกันในที่สุด สุนทรภู่มีลูกกับแม่จันหนึ่งคนคือหนูพัด และได้ทิ้งไว้ให้สุนทรภู่เลี้ยงดู ถึงแม้จะเลิกร้างกันไปแล้ว แต่สุนทรภู่ก็ยังครํ่าครวญถึงแม่จันอยู่เสมอ โดยกล่าวแทรกเอาไว้ในนิราศเรื่องต่างๆ ที่แต่งขึ้น เช่น ในโคลงนิราศสุพรรณ สุนทรภู่ได้กล่าวถึงแม่จันว่า

ยนย่านบ้านบุตั้ง            ตีขัน
ขุกคิดเคยชมจรร            แจ่มฟ้า

ในนิราศพระประธมก็ได้กล่าวถึงแม่จันว่า

เห็นต้นรักหักโค่นต้นสนัด        เป็นรอยตัดรักขาดให้หวาดไหว
เหมือนตัดรักหักสวาทขาดอาลัย    ด้วยเห็นใจเจ้าเสียแล้วเจ้าแก้วตา

ชีวิตครองคู่กับแม่นิ่ม

สุนทรภู่มีความสัมพันธ์กับแม่นิ่มตั้งแต่ยังครองคู่อยู่กับแม่จัน คือได้แม่นิ่มเป็นภรรยาในปี พ.ศ. ๒๓๖๔ เมื่อสุนทรภู่ถูกจำคุกเนื่องจากทำร้ายญาติผู้ใหญ่ แม่นิ่มก็เป็นผู้ส่งเสียสุนทรภู่ แม่นิ่มคลอดบุตรชายชื่อตาบ และคลอดในระยะที่สุนทรภู่จวนจะพ้นโทษหรือพ้นโทษออกมาแล้ว เมื่อสุนทรภู่พ้นโทษก็ได้อยู่ด้วยกันจนสิ้นรัชกาลที่ ๒

เมื่อสุนทรภู่ถูกถอดบรรดาศักดิ์ และถูกให้ออกจากราชการในรัชกาลที่ ๓ แล้วออกบวช แม่นิ่มคงจะพาหนูตาบกลับไปอยู่บ้านเดิมที่คลองบางกรวยนนทบุรี จนกระทั่งปีพ.ศ. ๒๓๗๗ แม่นิ่มก็ถึงแก่กรรมหนูตาบจึงได้มาอยู่กับสุนทรภู่ที่วัดโพธิ์

“บางกรวยตรวดน้ำแบ่ง    บุญทาน
ส่งนิ่มนุชนิพพาน        ผ่องแผ้ว
จำจากพรากพลัดสถาน    ทิ้งพี่ หนีเอย
เห็นแต่คลองน้องแคล้ว    คลาดเคลื่อนเดือนปี”

เมื่อคราวสุนทรภู่ไปนมัสการพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม ปีพ.ศ. ๒๓๘๕ สุนทรภู่ได้จารึกถึงแม่นิ่มไว้ในนิราศพระประธม (พระปฐม) ว่า

“ถึงคลองขวางบางกรวยระรวยจิต        ไม่ลืมคิดนิ่มน้อยละห้อยหา
เคยร่วมสุขทุกข์ร้อนแต่ก่อนมา        โอ้สิ้นอายุเจ้า ได้เก้าปี
แต่ก่อนกรรมนำสัตว์ให้พลัดพราก        จึงจำจากนิ่มน้องให้หมองศรี
เคยไปมาหาน้องในคลองนี้            เห็นแต่ที่ท้องคลองนองน้ำตา
สงสารบุตรสุดเศร้าทุกเช้าเย็น        ด้วยเป็นกำพร้าแม่ชะแง้หา
เขม้นมองคลองบ้านดูมารดา        เช็ดน้ำตาโทรมซาบลงกราบกราน”

สุนทรภู่ได้เก็บรักษาแหวนและแพรสีของแม่นิ่มไว้เป็นที่ระลึก เก็บไว้นานถึง ๙ ปี จึงได้นำไปถวายพระปฐมเพื่ออุทิศผลบุญแด่เจ้าของผ้า ดังที่ปรากฎในนิราศพระประธมว่า

“ยังมิคุ้นอุ่นจิตไม่บิดเบือน    มาเป็นเพื่อนทุกข์ยากเมื่อจากจร
ยังเหลือแต่แพรสีที่พี่ห่ม    ขึ้นประธมจะถวายให้สายสมร”

และนิราศพระประธมอีกตอนหนึ่งว่า

“โอ้คิดไปใจหายเสียดายนัก            ที่เคยรักเคยเคียงเรียงหมอน
มาวายวางกลางชาติถึงขาดรอน        ให้ทุกข์ร้อนรนร่ำระกำตรอม
ยังเหลือแต่แพรชมพูของคู่ชื่น        ทุกค่ำคืนเคยชมได้ห่มหอม
พี่ยอมเหลืองเปลื้องปลดสู้อดออม        เอาคลุมห้อมหุ้มห่มประธมทอง
กับแหวนนางต่างหน้าบูชาพระ        สาธุสะถึงเขาผู้เจ้าของ
ได้บรรจงทรงเครื่องให้เรืองรอง        เหมือนรูปทองธรรมชาติสะอาดตา”

จะเห็นได้ว่าในนิราศพระประธม สุนทรภู่ได้กล่าวถ้อยคำแสดงความอาลัยรักแม่นิ่มตลอดทั้งเรื่อง แม้แม่นิ่มจะถึงแก่กรรมไปแล้ว สุนทรภู่ก็ยังตัดใจไม่ได้ แสดงว่าสุนทรภู่ได้มอบความรักให้แม่นิ่มมากถึงขนาดลืมไม่ลงเช่นเดียวกัน

ชีวิตครองคู่กับแม่ม่วง

สุนทรภู่มีความสัมพันธ์จนได้ครองคู่อยู่กินกับแม่ม่วงภายหลังจากสึกจากพระครั้งแรก ในต้นปีพ.ศ. ๒๓๗๘ ขณะที่สุนทรภู่อายุย่างเข้า ๕๐ ปี นับว่าแม่ม่วงเป็นคู่ทุกข์คู่ยากของสุนทรภู่ เพราะอยู่ด้วยกันในช่วงที่สุนทรภู่ถึงขนาดไม่มีบ้านเรือนอาศัย จนมีบุตรชายด้วยคนหนึ่ง

การครองคู่กับแม่ม่วงต้องหยุดชะงักลงเมื่อสุนทรภู่บวชพระครั้งที่ ๒ ในต้นปีพ.ศ. ๒๓๘๓ และเมื่อสึกจากพระครั้งที่ ๒ ก็ได้กลับมาครองคู่กับแม่ม่วงอีก เมื่อสุนทรภู่ถวายตัวแด่สมเด็จฯเจ้าฟ้า กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ก็ได้พาแม่ม่วงมาอยู่ที่พระราชวังเดิมด้วย ในงานนิราศสุนทรกู่ได้กล่าวพาดพิงถึงแม่ม่วงอยู่บ้าง แต่ไม่ได้แสดงความอาลัยอาวรณ์เหมือนที่มีความรู้สึกต่อแม่จันและแม่นิ่ม

ในโคลงนิราศสุพรรณ สุนทรภู่ได้กล่าวถึงแม่ม่วงดังนี้

“บางม่วงทรวงเศร้าคิด            เคยชวน
ม่วงเก็บมะม่วงสวน            สุกระย้า
ม่วงอื่นรื่นรันจวน            จิตไม่ ใคร่แฮ
ม่วงหม่อมหอมหวนหน้า        เสน่เนื้อ เจือจรร”

ในนิราศพระประธม ก็ได้กล่าวถึงว่า

“ถึงบางง่วงจิตคิดถึงม่วง            แต่จากทรวงเสียใจอาลัยเหลือ
มะม่วงงอมหอมหวนเหมือนนวลเนื้อ    มิรู้เบื่อบางม่วงเหมือนดวงใจ”

นอกจากภรรยาทั้งสามคนดังกล่าวแล้ว สุนทรกู่ยังมีความสัมพันธ์กับผู้หญิงอื่นอีกหลายคน ตามที่ปรากฎมีดังนี้

ครั้งที่สุนทรภู่เดินทางไปหาบิดาที่เมืองแกลงแล้วไปป่วยอยู่ที่นั่น ก็ได้มีความสัมพันธ์กับม่วงและคำซึ่งสุนทรภู่อ้างว่าเป็นหลาน จนเป็นเหตุให้ม่วงกับคำโกรธเคืองกัน เพราะความหึงหวงในตัวสุนทรภู่ ดังปรากฎในคำกลอนดังนี้

“ทุกเช้าเย็นเห็นแต่หลานที่บ้านกร่ำ    ม่วง กับ คำ กลอยจิตขนิษฐา
เห็นเจ็บปวดนวดฟั้นช่วยฝนยา        ตามประสาซื่อตรงเป็นวงศ์วาน
ครั้นหายเจ็บเก็บดอกไม้มาให้บ้าง        กลับระคางเคืองข้องกันสองหลาน
จะว่ากล่าวน้าวโน้มประโลมลาน        ไม่สมานสโมสรเหมือนก่อนมา
ก็จนจิตคิดเห็นว่าเป็นเคราะห์        จงจำเพาะหึงหวงพวงบุปผา”

ในโคลงนิราศสุพรรณได้กล่าวถึงผู้หญิงที่ชื่อสร้อยและพลับ ดังที่กล่าวไว้ว่า

“สารหลวงแลสล่างล้วน    พฤกษา
เคยเสด็จวังหลังมา        เมื่อน้อย
ข้าหลวงเล่นปิดตา        ต้องอยู่ โยงเอย
เห็นแค่ พลับ กับ สร้อย    ซ่อมซุ้มคลุมโปง”

ในนิราศวัดเจ้าฟ้า สุนทรภู่ได้กล่าวถึงผู้หญิงที่ชื่องิ้วว่า

“ถึงบ้านงิ้วงิ้วต้นแต่พงหนาม    ไม่ออกงามเหมือน แม่งิ้ว ที่ผิวเหลือง
เมื่อแลพบหลบพักตร์ลักชำเลือง    ดูปลดเปลื้องเปล่งปลั่งกำลังโลม
มาลับนวลหวนให้เห็นไม่งิ้ว        เสียดายผิวพักตร์ผ่องจะหมองโฉม
เพราะเสียรักหนักหน่วงน่าทรวงโทรม    ใครจะโลมเลียมรสช่วยชดเจือ”

ในนิราศวัดเจ้าฟ้า ยังได้กล่าวถึงหญิงที่ชื่อแตง อิน และแก้ว ดังนี้

“…ถึงโพแตงคิดถึง แตง ที่แจ้งจัก        ดูน่ารักรสชาติประหลาดเหลือ
แม้นลอยฟ้ามาเดี๋ยวนี้ที่ในเรือ        จะฉีกเนื้อนั่งกลืนให้ชื่นใจ”
“…ถึงเกาะเรียงเคียงคลองเป็นสองแยก    ป่าละแวกวังราชประพาสสินธุ์
ได้นางห้ามงามพร้อมชื่อ หม่อมอิน    จึงตั้งถิ่นที่เพราะเสนาะนาม
หวังถวิลอินน้องละอองเอี่ยม            แสนเสงี่ยมงามพร้อมเหมือนหม่อมห้าม
จะหายศอุตส่าห์พยายาม            คงจะงามพักตร์พร้อมเหมือนหม่อมอิน…”
“…ตลาดแก้วแล้วแต่ล้วนสวนสล้าง        เป็นชื่ออ้างออกนามตามวิสัย
แม้นขาย แก้ว แววฟ้าที่อาลัย            จะซื่อใส่บนสำลีประชีรอง
ประดับเรือนเหมือนหนึ่งเพชรสำเร็จแล้ว        ถนอมแก้วกลอยใจมิให้หมอง
ไม่เหมือนนึกตรึกตราน้ำตานอง            เห็นแต่น้องหนูแนบแอบอุรา”

นอกจากผู้หญิงดังได้กล่าวรายชื่อข้างต้นแล้ว สุนทรภู่ยังได้กล่าวถึงผู้หญิงอื่นๆ อีกได้แก่ นกน้อย ศุข ม่วง บางคนก็เป็นแม่หม้ายเช่น ศรีสาคร

อนึ่ง สุนทรภู่ยังใฝ่รักหญิงสูงศักดิ์ เช่น มณฑาทิพ ดังปรากฏในนิราศวัดเจ้าฟ้า ดังนี้
“นารีใดไร้รักอย่าหนักหน่วง        จะโรยร่วงรกเรี้ยวแห้งเหี่ยวหาย
ที่เมตตาอยู่ก็อยากจะฝากกาย        อย่าหมิ่นชายเชิญตรึกให้ลึกซึ้ง
เหมือนภุมรินบินหาซึ่งสาโรช        ถึงร้อยโยชน์แย้มกลิ่นคงบินถึง
แต่ดอกไม้ไทท้าวในดาวดึงษ์        ไม่พ้นซึ่งพวกหมู่แมลงภู่ชม
เช่นกระต่ายกายสิทธิ์นั้นผิดเผื่อน        ขนแต้มเตือนได้จนชิดสนิทสนม
เสน่หาอาลัยใจนิยม                จะใคร่ชมเช่นกระต่ายไม่วายตรอม
แต่เกรงเหมือนเดือนแรมไม่แจ่มแจ้ง    สุดจะแฝงฝากเงาเฝ้าถนอม
ขอเดชะจะได้พึ่งให้ถึงจอม            ขอให้น้อมโน้มสวาทอย่าคลาดคลา
ไม่เคลื่อนคลายหน่ายแหนงจะแฝงเฝ้า    ให้เหมือนเงาตามติดขนิษฐา
ทุกค่ำคืนชื่นชุ่มพุ่มผกา            มิได้แก้วแววตาอนาทร
มณฑาทิพ กลีบบานตระการกลิ่น        ภุมรินหรือจะร้างห่างเกสร
จงทราบความตามใจอาลัยวอน        เดชะกลอนกล่าวปลอบให้ตอบคำ
จะคอยฟังดังคอยสอยสวาท            แม้นเหมือนมาดหมายจะชิมให้อิ่มหนำ
ถ้าครั้งนี้มิได้เยื้อนยังเอื้อนอำ        จะต้องคร่ำคร่าเปล่าแล้วเราเอย”

ในเรื่องรำพันพิลาปสุนทรภู่ได้พร่ำรำพันถึงผู้หญิงสูงศักดิ์อีกผู้หนึ่ง คือแม่เทพธิดา แม้ว่าในเรื่องนี้สุนทรภู่จะเขียนไปในทำนองความฝัน แต่ในความฝันนั้นย่อมมีความหมาย สุนทรภู่ต้องหมายถึงใครคนหนึ่งที่สูงกว่าตนอย่างสุดเอื้อม ดังที่กล่าวไว้ในรำพันพิลาปว่า
“เมื่อยามฝันนั้นว่านึกนั่งตรึกตรอง        เดือนหงายส่องสว่างดังกลางวัน
เห็นโฉมยงองค์เอกเมขลา            ชูจินดาดวงสว่างมากลางสวรรค์
รัศมีสีเปล่งดังเพ็งจันทร์            พระรำพันกรุณาด้วยปรานี
ว่านวลหงค์องค์นั้นอยู่ชั้นฟ้า            ชื่อโฉมเทพธิดามิ่งมารศรี
วิมานเรียงเคียงกันทุกวันนี้            เหมือนหนึ่งพี่น้องสนิทร่วมจิตใจ
จะให้แก้วแล้วก็ว่าไปหาเถิด            มิให้เกิดการระแวงแหนงไฉน
ที่ขัดข้องหมองหมางเป็นอย่างไร        จะผันแปรแก้ไขด้วยใกล้เคียง”

“เทพธิดา” ที่สุนทรภู่รำพันถึงนี้ สันนิษฐานกันว่าน่าจะหมายถึงกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ในเรื่องนี้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงตรัสเอาไว้ในสาส์นสมเด็จฉบับวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๔๘๐ ความว่า

“เมื่อ ๒ สัปดาห์มานี้ พระยาอนุมานฯ เขาคัดสำเนาเพลงยาว “รำพันพิลาป” ของสุนทรภู่ ที่เขาเพิ่งได้มาใหม่ส่งมาให้หม่อมฉันฉบับ ๑ เขาบอกว่าไดคัดส่งไปถวายท่านด้วยฉบับ ๑ เพลงยาวบทนี้สำนวนและกระบวนกลอนควรนับว่าอยู่ในชั้นดีของสุนทรภู่อีกเรื่อง ๑ ทั้งได้รู้เรื่องประวัติของแกชัดเจนกว่าเมื่อหม่อมฉันแต่งประวัติสุนทรภู่บางข้อ คือพอพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เสวยราชย์ ก็ถอดสุนทรภู่ในปีวอก พ.ศ. ๒๓๖๗ นั้นเอง พอถูกถอดสุนทรภู่ก็บวช (คงเป็นด้วยกลัวจะติดคุก) บวชแล้วหนีไปเที่ยวเตร็ดเตร่ซ่อนตัวอยู่ทางเมืองเพชรบุรี เมืองกาญจนบุรี ไปจำพรรษาอยู่ตำบลสองพี่น้อง แขวงเมืองสุพรรณ แล้วขึ้นไปเมืองพิษณุโลก เที่ยวหาแร่แปรธาตุอยู่กว่า ๕ ปี (ครั้นเห็นถ้อยความ สงบเงียบ) จึงกลับลงมาอยู่วัดราชบูรณะ อยู่ได้ไม่ช้าก็ต้องถูกกำจัดจากวัดราชบูรณะ ครั้งขึ้นไปกรุงศรีอยุธยา (คราวแต่งนิราศภูเขาทอง) แล้วกลับลงมาอยู่วัดอรุณหน่อยหนึ่ง ผู้หญิงมีบรรดาศักดิ์คนหนึ่งชวนไปอยู่วัดเทพธิดา อยู่ได้ ๒ พรรษาก็เกิดความอะไรอีก ต้องทิ้งวัดเทพธิดาไปเมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๓๗๘ เพลงยาวรำพันพิลาปแต่งพรรณนาตอนที่มาอยู่วัดเทพธิดานี้ เล่าส่อให้เห็นเหตุที่สุนทรภู่อยู่วัดไหนไม่ได้นานนอกจากที่กล่าวกันมาว่า เรื่องที่อดสุราไม่ได้ในเวลาแต่งกลอน ยังปรากฎในเพลงยาวบทนี้ว่าไปอยู่ไหนพวกเจ้าชู้ “นักเลงเพลงยาว” มักไปมาหาสู่ทั้งผู้ชายผู้หญิง และบ่นในเพลงยาวว่า ถูกพวกผู้หญิงชาววังหลอก แกคงประพฤติเกี่ยวข้องกับการประโลมโลกทั้งเป็นพระจึงถูกไล่ทั้ง ๒ คราว จนลงปลายได้พึงพระองค์ลักษณาจึงอยู่ประจำที่แล้วสึกออกเป็นคฤหัสถ์ ในเพลงยาวแกใช้นามแฝงหลายแห่ง แต่พอทายได้ พระสิงหไตรภพคือ เจ้าฟ้าอาภรณ์ พระอภัยมณี เจ้าฟ้ากลาง ศรีสุวรรณ เจ้าฟ้าปิ๋ว นางเทพธิดา จะหมายว่ากรมหมื่นอัปสรหรือใครอื่นสงสัยอยู่” (ศิลปากร กรกฎาคม ๒๕๐๑)

ประมวลงานของสุนทรภู่

งานวรรณกรรมของสุนทรภู่ตลอดเวลาที่เขียนอยู่ราว ๕๐ ปีนั้นมีค่ามาก นับเป็นกวีที่สร้างวรรณกรรมไว้มากที่สุดคนหนึ่ง นิพนธ์ของท่านได้พิมพ์แพร่หลายในสมัยรัชกาลที่ ๕ ทั้งหมดแทบทุกเรื่อง ทำให้ผู้พิมพ์จำหน่ายรํ่ารวยไปตามๆ กัน เช่นหมอสมิธเจ้าของโรงพิมพ์ที่บางคอแหลม เป็นต้น เพียงแต่พิมพ์เรื่องพระอภัยมณีจำหน่ายก็ได้กำไรสร้างตึกได้ทีเดียว ทั้งนี้แสดงว่าเรื่องของสุนทรภู่เป็นที่นิยมชมชื่นกันมาก

ในที่นี้จะขอเรียงงานของสุนทรภู่ตามลำดับเวลาแต่งก่อนแต่งหลัง คือ

๑. โคบุตร (แต่งในรัชกาลที่ ๑) เป็นวรรณกรรมประโลมโลก และเป็นเรื่องแรกในงานทั้งหมดของสุนทรภู่เท่าที่โลกวรรณกรรมประเทศไทยทราบ
๒. นิราศเมืองแกลง (พ.ศ. ๒๓๕๐) เป็นนิราศเรื่องแรกในจำนวน ๘ เรื่องที่สุนทรภู่แต่ง เป็นนิราศเรื่องยาวที่สุดของท่าน
๓. นิราศพระบาท (พ.ศ. ๒๓๕๐)
๔. พระอภัยมณี (แต่งในขณะติดคุกในรัชกาลที่ ๒ และแต่งต่อเรื่อยไปจนรัชกาลที่ ๓ รวม ๙๔ เล่มสมุดไทย แต่ตอนหลังเข้าใจกันว่ามิใช่สำนวนสุนทรภู่ทั้งหมด) รับรองกันว่าพระอภัยมณีเป็นวรรณกรรมเยี่ยมยอดของสุนทรภู่
๕. เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนกำเนิดพลายงาม (แต่งในรัชกาลที่ ๒)
๖. สวัสดิรักษา (ราว พ.ศ. ๒๓๖๔-๗) แต่งเมื่อเป็นครูเจ้าฟ้าในรัชกาลที่ ๒
๗. นิราศภูเขาทอง (ราวพ.ศ. ๒๓๗๑) เป็นนิราศเยี่ยมยอดของท่าน สั้นที่สุดแต่จับใจที่สุด เพราะเอาชีวิตเศร้ามาเสนอโลก
๘. นิราศเมืองสุพรรณ (แต่งขณะบวชในรัชกาลที่ ๓ ราวพ.ศ. ๒๓๘๔) เป็นวรรณกรรมเรื่องเดียวของท่านสุนทรภู่ที่แต่งเป็นโคลง
๙. พระไชยสุริยา (น่าจะแต่งคราวเป็นครูเจ้าฟ้า) แต่งเป็นกาพย์
๑๐. นิราศวัดเจ้าฟ้า (แต่งพ.ศ. ๒๓๗๙) เป็นนิราศที่สุนทรภู่ใช้สำนวนหนูพัดแทนตนเอง
๑๑. นิราศอิเหนา (แต่งตอนพึ่งพระคุณพระองค์เจ้าลักขณานุคุณในรัชกาลที่ ๓ ราวพ.ศ. ๒๓๘๕) เป็นนิราศเรื่องเดียวที่สุนทรภู่มิได้พูดถึงตนเอง เป็นนิราศของอิเหนาดาราเอกของสมัยละครรำ
๑๒. สุภาษิตสอนหญิง (ราวพ.ศ. ๒๓๘๐-๓) เป็นตำรับรักของหญิงไทย ๑๓. ลักษณวงศ์ ประโลมโลกลือชื่ออีกเรื่องหนึ่ง สุนทรภู่แต่งเพียง ๙ เล่มสมุดไทย มีคนแต่งต่ออีก ๓๐ เล่ม
๑๔. สิงหไกรภพ เป็นนิยายประโลมโลกอีกเรื่องหนึ่ง สุนทรภู่แต่งเพียง ๙ เล่มสมุดไทยยังไม่จบ
๑๕. นิราศพระประธม (พระปฐม) พ.ศ. ๒๓๘๔
๑๖. นิราศเมืองเพชร เป็นนิราศเรื่องสุดท้ายของท่าน มีมาตรฐานดีเท่าเทียมกับนิราศภูเขาทอง (แต่งปลายรัชกาลที่ ๓ ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๘๘-๒๓๙๒)
๑๗. บทละครเรื่อง อภัยนุราช (แต่งในรัชกาลที่ ๔) เป็นบทละครเรื่องเดียวของท่าน และนับว่าเป็นวรรณกรรมที่ไม่สู้จะได้รับความนิยม ขนาด ๑ เล่มสมุดไทย
๑๘. เสภาพระราชพงศาวดาร (แต่งในรัชกาลที่ ๔) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้แต่งถวาย ขนาด ๒ เล่มสมุดไทย นับเป็นเรื่องสุดท้ายของท่านเท่าที่ปรากฎ
๑๙. รำพันพิลาป (แต่งราว พ.ศ. ๒๓๖๗) เป็นเพลงยาว
๒๐. เพลงยาวถวายโอวาท (แต่งราว พ.ศ. ๒๓๗๓)

นอกจาก ๒๐ เรื่องที่กล่าวมานี้ ยังมีเรื่องย่อยๆ อีก เช่น ราชนิติ เรื่องนี้ยังหาต้นฉบับไม่ได้ รวมทั้งนิทานคำกลอนเรื่องดาราวงศ์และจันทรวงศ์ กำลังค้นหาต้นฉบับกันอยู่ นอกจากนั้นก็มีบทกลอนย่อยอื่นๆ ของท่านคือ บทเห่กล่อมพระเจ้าลูกเธอ ๔ เรื่อง คือ เห่เรื่องจับระบำ, เห่เรื่องพระอภัยมณี, เห่เรื่องกากี และเห่เรื่องโคบุตร

หนังสือของสุนทรภู่ได้เริ่มพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๑๓ ในรัชกาลที่ ๕ และได้พิมพ์ในรัชกาลนี้หมดทุกเรื่อง เว้นเพลงยาวถวายโอวาทเพิ่งพิมพ์ในรัชกาลที่ ๖

ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด