ฉันทลักษณ์

Socail Like & Share

ฉันทลักษณ์ คือตำราไวยากรณ์ว่าด้วยลักษณะของคำประพันธ์ ที่เป็น กลอน กาพย์ โคลง ฉันท์ ต่างๆ ซึ่งโบราณเรียกว่า “บทกานท์๒” หรือ “คำกานท์” ซึ่งต่อไปจะใช้เช่นนี้

ตำราวากยสัมพันธ์ว่าด้วย การเรียงถ้อยคำเข้าเป็นประโยคและบอกลักษษะเกี่ยวข้องของถ้อยคำ ตลอดจนเรียบเรียงเป็นเรื่องยืดยาว ซึ่ง มักเรียกในหนังสือว่า “บทประพันธ์” แต่กล่าวเฉพาะการเรียบเรียงตามภาษาที่ใช้เขียนหรือพูดจากันทั่วๆ ไปซึ่งรวมเรียกว่า “บทประพันธ์ร้อยแก้ว” หรือ “ คำร้อยแก้ว ” ฉะนั้นจึงควรสังเกตข้อแตกต่างกันดังนี้

บทประพันธ์ ได้แก่เรื่องที่เรียบเรียงไว้ทั่วๆ ไป ไม่เลือกว่าชนิดไร และ  แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ:-

ก. “บทร้อยแก้ว” หรือ “คำร้อยแก้ว” ได้แก่เรื่องที่แต่งขึ้นตามภาษาที่ใช้กันทั่วไป ดังกล่าวมาแล้วในตำราวากยสัมพันธ์

ข. “บทกานท์” หรือ “คำกานท์” ได้แก่เรื่องที่แต่งขึ้นเป็น กลอน กาพย์ โคลง ฉันท์ ที่จะกล่าวต่อไปในตำราฉันทลักษณ์นี้

ประโยชน์ของบทประพันธ์ การแต่งบทประพันธ์ทั้งหลายก็หวังประโยชน์ที่จะเอาความคิดความเห็นในใจของตนออกมาเรียบเรียงเป็นเรื่องราว ให้ผู้อ่านผู้ฟังเข้าใจแจ่มแจ้งและถูกต้องตามความคิดเห็นของตนเป็นข้อใหญ่ ซึ่งจะเห็นได้ว่าบทประพันธ์ประเภทคำร้อยแก้วเป็นเหมาะที่สุด เพราะผู้แต่งอาจเลือกใช้ถ้อยคำได้ตามใจตนตามที่เห็นควร ดังนั้นหนังสือที่เกี่ยวกับวิทยาการต่างๆ มีอาทิ เช่น ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ฯลฯ ตลอดคำสั่งสอนในทางศาสนา ก็ใช้เรียบเรียงเป็นคำร้อยแก้วเป็นพื้น แม้หนังสือวรรณคดีต่างๆ ก็มีคำร้อยแก้วอยู่มากเหมือนกัน
………………………………………………………………………………………….
๑“ฉันท์” ในที่นี้หมายถึงบทกานท์ในภาษาทั่วไป กล่าวคือ “ฉันทลักษณ์” ก็หมายถึงลักษณะของบทกานท์ คือ กลอน กาพย์ โคลง ฉันท์ ทั่วๆไป แต่คำ “ฉันท์” ในข้อ “โคลงฉันท์” หมายความเฉพาะบทกานท์ที่เราได้แบบมาจากบาลี และที่ว่าสันสกฤตเท่านั้น ไม่กินความตลอดไปถึง กลอน กาพย์ โคลง อย่างคำ “ฉันทลักษณ์” ข้างต้น

๒. “กานท์” โบราณท่านกล่าวว่าเป็นคำเรียกบทประพันธ์ที่คล้องจองกัน แต่มักเอาไว้ท้าย ถ้าเป็นกลอน ก็เรียก “กลอนกานท์” เป็นโคลง ก็เรียก “โคลงกานท์” เป็นกลบท ก็เรียก “กลกานท์” ฯลฯ มักใช้ในหนังสือโบราณ เช่น ยวนพ่าย ฯลฯ เป็นคำเก่าของเรา จึงขอนำมาใช้
………………………………………………………………………………………….
ส่วนประโยชน์ของบทประพันธ์ที่เป็นคำกานท์ก็มีอยู่ไม่น้อยเช่นกัน เพราะคำกานท์ทั้งหลายที่เกี่ยวกับข้อบังคับ เป็นต้นว่า สัมผัสคล้องจองกัน และวรรคตอนได้จังหวะเป็นเหตุให้เอาไปร้องรำทำเพลงได้เป็นอย่างดี เป็นที่ดูดดื่มหัวใจผู้อ่านผู้ฟังได้ดีกว่าคำร้อยแก้วมาก และเป็นเหตุให้จดจำไว้ได้นานหลายชั่วคนด้วย ดังจะเห็นได้ในคำกล่อมลูกต่างๆ ซึ่งยังจดจำกันได้ตลอดมาจนบัดนี้

คำกานท์ของไทย หนังสือวรรณคดีของไทยเรา ย่อมมีคำกานท์อยู่มากมาย และคำกานท์ของไทยก็มีหลายประเภทด้วย ต่างก็มีลักษณะไม่เหมือนกัน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ศึกษาภาษาไทยจะต้องเรียนโดยแท้ เพราะคำกานท์โดยมากมีข้อบังคับควบคุมมาถึงการอ่านการเขียนด้วย ถ้าไม่รู้ก็นับว่า ยังอ่านเขียนภาษาไทยไม่ถูกต้องสมบูรณ์

ความมุ่งหมายในการเรียนตำราฉันทลักษณ์นี้ มีเพียงให้รู้จักลักษณะของคำกานท์ต่างๆ ตามชั้นภูมิรู้ของนักเรียน ซึ่งอย่างสูงที่สุดก็ควรให้รู้จักแต่งคำกานท์ได้ถูกต้อง แต่การที่จะแต่งดีหรือไม่ดีนั้น เป็นศิลปะอีกส่วนหนึ่ง ไม่ควรจะนำมาเป็นหลักสำคัญในการสอนตำรานี้

ประเภทคำกานท์ไทย คำกานท์ของไทยมีหลายประเภทด้วยกัน เป็นของเดิมของเราก็มี เป็นของปรับปรุงขึ้นตามภาษาอื่นก็มี ดังจะนำมาชี้แจงย่อต่อไปนี้

๑. ร่าย เป็นคำกานท์โบราณของไทย จะเห็นได้จากคำกานท์ของไทย เหนือ เช่นกาพย์พระมุนี หรือคำแอ่วของเขาซึ่งเป็นคำร่ายทั้งสิ้น

๒. โคลง เป็นคำกานท์โบราณของเราเช่นกัน แต่มักมีเฉพาะแต่ในวรรณคดีสูงๆ เพราะแต่งยาก

๓. กาพย์๑   เป็นคำกานท์ที่ไทยเราปรับปรุงขึ้นภายหลัง โดยอาศัยแบบแผนทางบาลี สันสกฤต ปนกับของไทย

๔. ฉํนท์๒ เป็นคำกานท์ที่ไทยเราปรับปรุงขึ้นต่อจากกาพย์ลงมา โดยใช้ตำราบาลีที่ชื่อว่า “วุตโตทัย” เป็นหลัก

๕. กลอน เป็นคำกานท์ที่ปรับปรุงขึ้นภายหลังที่สุด และโดยมากใช้เป็นคำร้องต่างๆ เช่น เสภา บทละคร เป็นต้น

๖. เพลงต่างๆ คำกานท์พวกนี้ไม่ใคร่มีในหนังสือวรรณคดี แต่ใช้ร้องกันอยู่ทั่วไป และมีข้อบังคับต่างกันกับข้อต้น สมควรผู้ศึกษาจะรู้ไว้เป็นเค้า

คำกานท์ทุกประเภทนี้ มีข้อบังคับต่างๆ กันควรจะศึกษาทั้งนั้น จะได้ อธิบายทีละประเภทต่อไป แต่จะไม่อธิบายตามลำดับนี้ คือจะยกเอาประเภทที่ใช้กันดาษดื่นเป็นสามัญมาอธิบายก่อนตามที่เห็นควร

ข้อบังคับคำกานท์ทั่วไป คำกานท์ทุกประเภทย่อมต่างกันด้วยข้อบังคับ แต่ข้อบังคับที่สำคัญของคำกานท์ของไทยที่ใช้ทั่วไปก็มีอยู่ ๒ อย่างเท่านั้น คือ คณะ กับ สัมผัส ดังจะได้อธิบายต่อไปนี้

๑. คณะ หมายความว่าการจัดเป็นหมวดหมู่ คำกานท์ทุกประเภทจะ ต้องมีข้อบังคับคือคณะนี้ทั้งนั้น กล่าวคือ การจัดคำกานท์ออกเป็นส่วนใหญ่ และส่วนย่อยเป็นลำดับกันลงไปดังนี้

ก. บท คือกำกานท์ตอนหนึ่งๆ มีมากน้อยแล้วแต่ประเภทของคำกานท์

ข. บาท คือส่วนที่แยกมาจากบทอีกทีหนึ่ง คำกานบางประเภท บทหนึ่งมีบาท ๑ ก็มี ๒ บาทก็มี ๔บาทก็มี แล้วแต่ข้อบังคับ

ค. วรรค คือส่วนย่อยแยกออกมาจากบาทอีกทีหนึ่ง ซึ่งบาทหนึ่งมีวรรค ๑ ก็มี ๒ วรรคก็มี มากกว่าก็มี แล้วแต่ข้อบังคับ
………………………………………………………………………………………….
๑ กาพย์ ออกจากคำ “กวี” นักปราชญ์ แปลตามรูปก็ว่า “คำของกวี” เท่านั้น แต่ความหมายถึงคำกานท์ของเขาทั้วไปอย่างเดียวกับคำ “ฉันท์” ของเขา แต่กาพย์ของเราในที่นี้หมายความเฉพาะคำกานท์ไทยประเภทหนึ่ง ซึ่งจะกล่าวต่อไปเท่านั้น

๒ ฉันท์ ในที่นี้ก็หมายถึงคำกานท์ไทยประเภทหนึ่งเช่นกัน ดังอธิบายมาแล้ว
………………………………………………………………………………………….
ฆ. คำ หรือ พยางค์ คือเสียงที่เปล่งออกมาครั้งหนึ่งๆ แต่ในตำรา
ฉันทลักษณ์ท่านใช้เรียกว่าคำเป็นพื้น ซึ่งเป็นส่วนย่อยของวรรคอีกทีหนึ่ง คือ วรรคหนึ่งจะมีกี่คำก็แล้วแต่ข้อบังคับ

อนึ่ง การจัดคำในตำราฉันทลักษณ์ มิได้นับว่าพยางค์หนึ่งตามอักขรวิธี เป็นคำหนึ่งเสมอไป ท่านมักถือเอาคำหนัก (ครุ) คำเบา (ลหุ) เป็นเกณฑ์ บางทีพยางค์เบา ๒ พยางค์ ท่านนับเป็นคำหนึ่งก็ได้ เช่น ภริยา นับเป็น ๒ คำ หรือพยางค์เบา ๓ คำ นับเป็น ๒ คำก็ได้ เช่น สุริยะ นับเป็น ๒ คำ เป็นต้น ถือเอาความเหมาะเจาะเป็นเกณฑ์

๒. สัมผัส แปลตามศัพท์ว่า “การถูกต้อง” แต่ในที่นี้หมายความว่า “การคล้องจอง” ซึ่งเป็นข้อสำคัญยิ่งในคำกานท์ของไทยเรา เพราะภาษาไทย เราย่อมนิยมพูดให้คล้องจองเป็นพื้น ไม่ว่าคำร้อยแก้วหรือคำกานท์ แม้แต่คำภาษิตเล็กๆ น้อยๆ ก็มักจะพูดให้คล้องกัน เช่น “ป่าพึ่งเสือ เรือพึ่งพาย นายพึ่งบ่าว เจ้าพึ่งข้า ” ดังนี้เป็นต้น

สัมผัสที่นิยมกันในภาษาไทยเรามี ๒ ชนิด คือ:-
ก. สัมผัสสระ คือเสียงสระพ้องกันตามมาตรา เช่น สระอะ ก็ต้องพ้อง กับพยางค์ที่ประสมกับสระอะด้วยกัน และต้องให้อยู่ในมาตราเดียวกันด้วย ตัวอย่าง

มาตรา กะกา – กะ กับ จะ, ดี กับ มี, แข กับ แล ฯลฯ
มากรา กก -กัก กับ ดัก, ฉีก กับ หลีก, แจก กับ แทรก ฯลฯ
มาตรา กัง -กัง กับ ตั้ง, ขึง กับ ดึง, แต่ง กับ แจ้ง ฯลฯ
และมาตราต่อๆ ไปก็อย่างเดียวกัน ถึงเสียงวรรณยุกต์จะต่างกัน เช่น เต็ม กับ เข้ม, ชัย กับ ได้ ฯลฯ ก็นับว่าใช้ได้ แต่ถ้าสระไม่พ้องตามมาตรา แม้ต่างกันเพียงสระสั้นกับสระยาว เช่น จัง กบ จาง หรือ ชัย กับ ชาย ฯลฯ ก็ไม่นิยมใช้ เว้นแต่จะมีข้อยกเว้น

ข. สัมผัสอักษร คือใช้เสียงตัวอักษรพ้องกัน และอักษรในที่นี้หมายถึง เสียงพยัญชนะ ซึ่งไม่กำหนดเสียงสระหรือเสียงวรรณยุกต์สูงต่ำ สักแต่ว่ามีเสียงพยัญชนะพ้องกัน เช่นตัวอย่าง:- “เขา, ขัน, คู, ค่ำ” ดังนี้ก็ได้  หรือเขียนรูปต่างกัน แต่เสียงพยัญชนะร่วมกัน เช่น “ซุง ทราบ, สร้างสรรค์ ศร” ดังนี้ก็ได้ นับว่าเป็นสัมผัสอักษรทั้งนั้น

ค. ประเภทของสัมผส สัมผัส ๒ ชนิดข้างบนนี้ ยังแบ่งเป็น ๒ ประเภทอีก คือ

สัมผัสใน หมายถึงสัมผัสที่คล้องจองกันอยู่ในวรรคเดียวกัน ตามธรรมดา คำกานท์ของไทยย่อมนิยมสัมผัสเป็นพื้น ในวรรคหนึ่งๆ ถ้าแต่งให้มีสัมผัสในได้ทุกวรรคยิ่งดี และนิยมทั้งใช้สัมผัสสระและสัมผัสอักษร มีวิธีผูกสัมผัสเป็น ๒ วิธี คือ :-

สัมผัสชิด คือผูกสัมผัสติดกันไป นิยมใช้ทั้งสัมผัสสระและสัมผัสอักษร ตัวอย่างสัมผัสสระชิด เช่น:- “ขึ้น กก ตก ทุกข์ ยาก, แสน ลำ บาก จากเวียงชัย” เป็นต้น คำ กก กับ ตก และ บาก กับ จาก เป็นสัมผัสชิด และใช้เป็นคู่ๆ กันไปเช่นนี้ แต่ในวรรคจะใช้หลายคู่ได้ก็ยิ่งดี เช่น:- “ควรจะอยู่ดูเขาเอาเป็นแบบ” ดังนี้คำอยู่ดู กับ เขาเอา เป็นสัมผัสชิด ๒ คู่เป็นต้น ส่วนสัมผัสอักษรชิดก็เป็นทำนองนี้ แต่ไม่กำหนดเป็นคู่ๆ อย่างสระ คือจะชิดกันเท่าไรก็ได้ ตัวอย่างชิดกัน ๒ คำ “เอกองค์” ๓ คำ- “ทรงสงสาร” มากกว่าก็มี บางทีมีเต็มทั้งวรรค ซึ่งท่านเรียกกลบทอักษรล้วน เช่นตัวอย่าง- “โมง โมก มะม่วงไม้ มูกมัน” เป็นต้น

สัมผัสคั้น คือคำสัมผัสไม่ติดกัน มีคำที่ไม่สัมผัสเข้ามาคั่นอยู่หว่างกลาง เช่นตัวอย่างสัมผัสคั่นสระ คือ อางขนาง, เรา จะ เอา, ไป ก็ ได้ ดังนี้คำ อาง กับ นาง, เรา กับ เอา และ ไป กับ ได้ สัมผัสกัน แต่มีคำ ข, จะ และก็ เข้ามาคั่นอยู่

ส่วนสัมผัสคั่นอักษร ก็ทำนองเดียวกัน ตัวอย่างคือ นางขนิษฐ์, โศก ใน ทรวง ดังนี้คำ นาง กับ นิษฐ์ และ โศก กับ ทรวง สัมผัสอักษรกัน มีคำ ข และ ใน เข้ามาคั่น และสัมผัสคั่นอักษรนี้มีวิธีผูกหลายอย่างแล้วแต่เห็นเพราะตัวอย่างคำคั่น ๒ คำ เช่น- อ่อนวรองค์, ทรงพระกันแสง ฯลฯ คำสัมผัสไขว้กันเช่น “สวยดุจสีดา หลับตาเล่ห์ตาย ฯลฯ” หรือ “นั่งตรึกนึกตรับนับตรวจ” ดังนี้เป็นต้น กวีโบราณชอบผูกเล่นแปลกๆ เรียกว่ากลบทและตั้งชื่อต่างๆ กัน

สัมผัสนอก ได้แก่สัมผัสนอกวรรค คือคำท้ายวรรคต้นไปสัมผัสกับคำใน วรรคต่อไปตามแบบและต้องไม่ซ้ำเป็นคำเดียวกันด้วย สัมผัสนอกนี้เป็นสัมผัสบังคับ คือจะต้องเป็นสัมผัสสระ และจะต้องมีตามข้อบังคับของคำกานท์นั้นๆ ดังจะกล่าวพิสดารเฉพาะคำกานท์เป็นชนิดๆ ไป

ที่จริงสัมผัสนอกที่ไม่ใช่ข้อบังคับก็อาจจะมีได้บ้างทั้งสระและอักษร แล้ว แต่กวีจะแต่งเล่นเป็นกลบทดังกล่าวแล้ว

ข้อบังคับคำกานท์เฉพาะบท ยังมีข้อบังคับคำอีกหลายอย่างที่ใช้เฉพาะบทกานท์บางชนิด กล่าวคือไม่ใช้ทั่วไป อย่างคณะและสัมผัส ดังอธิบาย มาแล้ว ซึ่งจะนำมาอธิบายย่อๆ ต่อไปนี้

๑. คำเป็นคำตาย หมายถึงคำเป็นคำตายที่กล่าวไว้ในอักขรวิธี คือ
คำเป็น ได้แก่พยางค์เสียงสระยาวในมาตรา ก กา เช่น กา กี กือ ฯลฯ กับพยางค์ที่ประสม อำ, ใอ, ไอ, เอา และพยางค์ที่เป็นมาตรา กัง, กัน, กัม, เกย และเกอว

คำตาย ได้แก่พยางค์เสียงสั้นในมาตรา ก กา เช่น กะ, กิ, กึ ฯลฯ กับ พยางค์ที่เป็นมาตรา กัก, กัด, กับ

คำเป็นคำตายนี้ ใช้ในคำโคลง และคำร่ายเป็นพื้น เช่นคำตาย บังคับ ใช้แทนคำเอกได้เป็นต้น และในคำกลอนก็มีใช้บ้าง เช่นกลบทที่มีคำตายล้วน เป็นต้น

๒. เสียงวรรณยุกต์ หมายถึงเสียงวรรณยุกต์ทั้ง ๕ เสียง ตามอักขรวิธี
คือ

เสียงสามัญ ได้แก่พื้นเสียงคำเป็นของอักษรกลาง และต่ำ เช่น กา มี จึง แดง แมน ความ กลาย วาว เป็นต้น

เสียงเอก ได้แก่เสียงอักษรสูง อักษรกลาง ที่เป็นคำตาย เช่น ฉะ เปะ ขาด แกลบ ฯลฯ และที่บังคับไม้เอก เช่น:- ข่า แต่ เข่ง ก่อน เป็นต้น

เสียงโท ได้แก่ เสียงอักษรสูง อักษรกลาง ที่บังคับไม้โท เช่น ข้าว แกล้ม แจ้ดๆ อ้วก ฯลฯ อักษรต่ำ ที่บังคับไม้เอก เช่น ค่ะ พ่าย ทึ่ด แคล่ว ฯลฯ คำตายอักษรต่ำที่เป็นสระยาว เช่น คาด แพทย์ เลิศ เป็นต้น

เสียงตรี ได้แก่อักษรกลางบังคับไม้ตรี เช่น เก๊ เปา จ๊อก อ๊าย ฯลฯ คำตายอักษรต่ำที่เป็นเสียงสระสั้น เช่น ละ มัด ชิด เพชร เมล็ด เป็นต้น

เสียงจัตวา ได้แก่พื้นเสียงคำเป็นของอักษรสูงหรืออักษรต่ำที่มี ห นำ เช่น ขา ฉัน หนา หมอน ฯลฯ พยางค์ที่บังคับไม้จัตวา เช่น จ๋า อ๋อย แจ๋ว (น๋ะ, จ๋ะ, ม๋าก, ก๋าก) เป็นต้น

หมายเหตุ คำในวงเล็บเป็นเสียงจัตวาก็จริง แต่เป็นวิธีใหม่ (แบบเรียนเร็ว) จึงไม่ปรากฏในคำกานท์ ถ้าจะใช้ก็ได้ตามวิธีใหม่

เสียงวรรณยุกต์นี้มีบังคับใช้ในคำกลอน เช่น สัมผัสรับ ห้ามเสียงสามัญ หรือไม่ให้เสียงวรรณยุกต์ซ้ำกับสัมผัสส่งเป็นต้น

๓. คำเอกคำโท หมายถึงพยางค์ที่บังคับด้วยไม้เอก และไม้โท ข้อนี้มิได้หมายถึงเสียงเอกเสียงโทดังข้อ (๒) ท่านบังคับไว้ดังนี้

คำเอก ได้แก่พยางค์ที่มีไม้เอกบังคับ เช่น ข่า เก่า ก่อน น่า ว่าย ไม่ ฯลฯ คำตายทั้งหมดจะเป็นเสียงวรรณยุกต์ใดๆ ก็ตาม เช่น จะ ริ ขัด มาด ชิด เป็นต้นเหล่านี้ นับว่าเป็นคำเอกได้ทั้งนั้น

คำโท ได้แก่ พยางค์ที่มีไม้โทบังคับ มิได้กำหนดเสียงวรรณยุกต์เช่นกันเช่นคำ ข้า ช้า ค้าน เศร้าฯลฯ นับว่าเป็นคำโททั้งนั้น

คำเอกคำโทนี้ ใช้ในคำโคลงและคำร่ายเท่านั้น และถือเป็นข้อบังคับสำคัญ ถึงแก่ยอมให้เอาคำที่ไม่เคยใช้เอก ใช้โท เอามาแปลงใช้ เอก ใช้ โท ได้ เช่น “เข้า ข้าม” ใช้เป็น “เค่า ค่าม” ได้เรียกว่า “เอกโทษ” และคำ “ช่วย ลุ่ย” ใช้เป็น “ฉ้วย หลุ้ย” ได้ เรียกว่า “โทโทษ” ดังนี้เป็นต้น แต่บัดนี้ไม่ใคร่นิยมใช้กันแล้ว

๔. คำครุคำลหุ หมายถึงคำหนักคำเบา ใช้ในตำราฉันท์ของบาลีและสันสกฤต ซึ่งเรานำมาปรับปรุงใช้ในภาษาไทยเรา นับว่าเป็นคำกานท์ขึ้นอีกประเภทหนึ่ง

คำครุ คือคำหนัก หมายถึงพยางค์ที่ผสมสระยาว เช่น กา แพ เซ โต ฯลฯ และคำที่มีเสียงสะกด เช่น จัก กาก คิด ฉุน ฯลฯ และคำสระ อำ  ไอ ใอ เอา ก็นับว่าเป็นครุเพราะมีเสียงสะกด

คำลหุ คือคำเบา หมายถึงพยางค์ที่ผสมสระสั้นที่ไม่มีเสียงสะกด เช่น ก็ ติ เถอะ เผียะ ฤ เป็นต้น

คำครุ ท่านใช้เครื่องหมายรูปไม้ผัดดังนี้ ั และ ลหุ ใช้เป็นตีนอุ ดังนี้ ุ แทน และเพื่อสะดวกแก่การอธิบาย ท่านจัด ครุ ลหุ นี้สลับกันต่างๆ เป็นคณะๆ ละ ๓ พยางค์ ดังนี้
silapa-0355 - Copy

ท่านแต่งโคลงไว้ให้จำดังนี้
silapa-0355 - Copy1
การจัด ครุ ลหุ เป็น ๘ คณะนี้ เป็นการย่อให้ใช้คำพูดสั้นเข้า เหมาะแก่การอธิบายด้วยปาก ซ้ำคัมภีร์วุตโตทัยที่ว่าด้วยฉันท์ต่างๆ นั้นท่านได้แต่งเป็นคำฉันท์ทั้งนั้น จึงเป็นของจำเป็นยิ่งขึ้น เช่น ท่านจะอธิบายถึงฉันท์อินทวิเชียร มี ครุ ลหุ อย่างไร ก็พูดได้ย่อๆ ว่า “ต ต ช ค ค” ซึ่งกระจายเป็นครุลหุตามคณะ ดังนี้
silapa-0355 - Copy2
เฉพาะการอธิบายฉันท์ในภาษาไทยเรา เพียงแต่ทำเครื่องหมายกำกับ ฉันท์เท่านี้ก็พอ ไม่จำเป็นต้องจัดเป็นคณะอย่างบาลีให้ยุ่งยากโดยไม่จำเป็น ดังนั้นการจัดเป็นคณะ ๘ ดังกล่าวแล้ว จะอธิบายเพื่อเป็นความรู้ในที่นี้เท่านั้น เมื่อถึงข้ออธิบายฉันท์จะไม่กล่าวให้ฟั่นเฝือต่อไป

๖. คำขึ้นต้นและลงท้าย คำกานท์บางชนิด เกี่ยวกับการบรรจุคำ ข้างหน้าบทบ้าง ท้ายวรรคบ้าง ท้ายบาทบ้าง ท้ายบทบ้าง ดังนี้

คำขึ้นต้นและลงท้าย หมายถึงคำหรือวลีซึ่งใช้ขึ้นต้นบท เช่น กลอนสักวา๑ ใช้คำ “สักวา” ขึ้นต้นบท กลอนดอกสร้อย ใช้คำซ้ำ มีคำ “เอ๋ย” สลับเช่น “ดอกเอ๋ยดอก, น้องเอ๋ยน้อง ฯลฯ” ขึ้นต้น และคำลงท้ายว่า “เอย” บทละครใช้วลีเช่น “เมื่อนั้น บัดนั้น ฯลฯ” ขึ้นต้น ลงท้ายไม่กำหนด ดังนี้เป็นต้น

คำสร้อย หมายถึงคำที่เติมลงท้ายวรรคบ้าง ท้ายบาทบ้าง และ ท้ายบทบ้าง เพื่อความไพเราะ หรือเพื่อให้เต็มข้อความ เช่น คำร่ายใช้เติมได้ท้ายวรรคหรือท้ายบท คำโคลงเติมได้ท้ายบาทตามบังคับ สร้อยของร่ายและโคลงนี้มีเฉพาะ ๒ คำเท่านั้น และคำท้ายมักจะเป็นคำจำกัด เช่น แฮ เฮย นา นอ ฯลฯ ดังจะอธิบายต่อไป

มีคำสร้อยอีกประเภทหนึ่งใช้ในกลอนขับร้อง คำสร้อยพวกนี้ไม่จำกัดมากน้อย จะมีเพียง ๒ คำว่า “น้องเอ๋ย, พี่เอย” ฯลฯ ก็ได้ หรือจะมี มากๆ เช่น “ช่อดอกรัก หัวอกจะหักเพราะรักแล้วเอย” ดังนี้หรือมากกว่านี้ ก็ได้ แล้วแต่เพลงร้องบังคับ

ที่มา:พระยาอุปกิตศิลปสาร