คำเมืองในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง

Socail Like & Share

คำเมืองในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง

ในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง  ที่ได้เคยเห็น เคยอ่านกันมา  ทั้งของจริงและที่ท่านผู้รู้ แกะออกมาเป็นหนังสือปัจจุบันแล้วนั้น  มีอยู่หลายแห่งที่มีคำเมืองปนอยู่ด้วย  บางคำก็ยังใช้พูดกันอยู่ในภาคเหนือขณะนี้

ผมมีความเห็นว่าหากจะถอดคำเมืองเหล่านั้น  ออกมาเป็นภาษากลาง หรือภาษาที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้  ก็อาจจะเป็นประโยชน์ในด้านการค้นคว้า  หาความหมายของคำนั้น ๆ เพิ่มขึ้นอีก  แต่ก็ไม่แน่ใจว่าจะทำได้ถูกต้อง เพียงใด หรือไม่ ผมจะรู้สึกขอบพระคุณอย่างสูง  หากบรรดาท่านผู้รู้จะได้กรุณาท้วงติงหรือแนะนำ

คำแรกคือคำว่า เตียม ในประโยคที่ว่า “……ที่เผือผู้อ้าย  ตายจากเผือ เตียม แต่ยังเล็ก….” เตียมคำนี้ ในความหมายของคำเมือง มิได้หมายความว่าตั้งแต่ เตียมมาจากคำว่า เทียม (คำเมืองออกเสียง ท.เป็น ต.)  ซึ่งมีความหมายว่า เท่า ๆ กัน หรือเทียม ๆ กัน  ศิลาจารึกประโยคนั้น ถ้าให้คนเมืองอ่าน  ก็เห็นจะมีความหมายทำนอง  พี่เผือผู้อ้ายนั้น  ตายจากเผือไปในเวลา ที่เท่ากับ เผือยังเล็กอยู่

ลู่ท่าง บางคนมาดัดแปลงเป็น ลู่ทาง อันที่จริงคำว่า  ลูท่างหรือดูท่างนั้น  คำเมืองเขาก็มีใช้อยู่  ถึงปัจจุบันนี้ก็ยังใช้ มีความหมายว่ามีอิสระเสรีที่จะทำการสิ่งนั้น ๆ ได้โดยสะดวก  “…เจ้าเมืองบ่เอาจกอบในไพร่  ลูท่างเพื่อนจูงวัวไปค้า  ขี่ม้าไปขาย…” ก็คือ เจ้าเมืองไม่เรียกเก็บภาษีอะไรแหละเพื่อนจะจูงวัวไปค้า ขี่ม้าไปขาย ก็ทำได้อย่างสะดวก  อย่างอิสระเสรี ว่างั้น

พาเมืองมาสู่ คำว่าสู่นี้ คำเมือง บางทีก็แปลว่า มาร่วมกัน “เอาข้าวมาสู่กันกิน” แปลว่า เอาข้าวมาร่วมกันกิน  หมายความว่า  นำเอาบ้านเอาเมืองมาร่วม  หรือมอบให้ปกครองร่วมกัน

กู้ แปลว่า เก็บ เช่นเอาเสื้อผ้าไปตากไว้  แห้งแล้วก็ไปกู้เสื้อผ้า “….ช่วยเหลือเฟือกู้…” ก็เห็นจะมีความหมายว่าช่วยเก็บ   ช่วยรักษาบ้านเมืองที่เขานำมาสู่กันนั้นไว้ให้ดี

เมือ คำเมืองหมายถึง กลับ มิได้ หมายความว่า ไป ไปตลาด เขาว่า “ไปกาด” กลับบ้าน เขาว่า “เมือบ้านหรือปิ๊กบ้าน”

มน แปลว่า กลม  มะนาวลูกกลม เรียก มะนาวหน่วย(ลูก)มน

กม แปลว่า คร่อม  ขึ้นกม  หมายความว่า ขึ้นคร่อม

“….มีพิหารอันหนึ่งมน…สูงงามแก่กม…” ก็มีพิหารที่สร้างหลังคาคร่อมเอาไว้  ในลักษณะรูปกลม (คล้ายสุเหร่า?)

ราม คำนี้คนเมืองเขาตัดหรือย่อมาจากคำว่า ทะราม(ทราม) คือไม่ใหญ่ ไม่เล็ก อย่างทรามวัย อย่างนี้ บางครั้งก็ออกเสียงเป็น ฮาม  “…..มีพระพุทธรูปอันใหญ่ มีพระพุทธรูปอันราม….” ก็มีทั้งพระพุทธรูปองค์ใหญ่ และองค์ย่อม

หลวก อันนี้ไม่มีปัญหา  คนหลวกก็คือ คนฉลาดนั่นเอง

ใคร่ใจ แปลว่าเร่งรีบ  ใคร่ใจกิน ก็คือ รีบ ๆ กิน  “….หาใคร่ใจในใจ….” ก็คือ เร่งรีบและสนใจที่จะใส่(ลายสือไท)

ขอเอาเพียงเท่านี้ก่อนเถอะนะครับ ที่จริงก็ยังพอจะแกะออกมาได้อีกบ้าง ไว้โอกาสหน้าจะบรรเลงต่อ  สำหรับตอนนี้ผิดถูกอย่างไร  เชิญท่านผู้รู้ วิจารณ์ได้ตามอัธยาศัย

เสรี  ชมภูมิ่ง

26  ถนนคำแสน  แพร่

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *