คำอุทาน

Socail Like & Share

คำอุทาน คำ “อุทาน”  แปลว่าเสียงที่เปล่งออกมาและคำอุทานในที่นี้หมายความถึงคำพวกหนึ่ง ที่ผู้พูดเปล่งออกมา แต่ไม่มีความแปล เหมือนคำชนิดอื่น เป็นแต่ให้ทราบความต้องการ หรือนิสัยใจคอว่าเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ เท่านั้น เช่นตัวอย่าง ‘เออ! เอ๊ะ! โอย! เอย!’ ดังนี้เป็นต้น บางทีก็เอาคำที่มีคำแปลมาเปล่งเป็นอุทานก็มี เช่น พุทโธ่! อนิจจา! อกเอ๋ย! เจ้าเอ๋ย! ดังนี้เป็นต้น แต่ก็ไม่มีกำหนดเนื้อความอย่างคำชนิดอื่นๆ เป็นแต่บอกอาการหรือความรู้สึกของผู้กล่าวเท่านั้น คำอุทานนี้แบ่งออกเป็น ๒ พวก คือ (๑) อุทาน บอกอาการ (๒) อุทานเสริมบท ดังจะอธิบายต่อไปนี้:-

อุทานบอกอาการ คือ คำอุทานที่ผู้พูดเปล่งออกมาเพื่อให้รู้จักอาการต่างๆ ของผู้พูด มีเป็น ๒ อย่างคือ:-
(๑) ใช้บอกอาการในเวลาพูดจากัน เซ่น

ก. แสดงอาการร้องเรียกหรือบอกให้รู้ตัวได้แก่คำ เฮ้ย! แน่ะ! โว้ย!
แฮ้! นี่แน่! หนา! เป็นต้น

ข. แสดงอาการโกรธเคือง ได้แก่คำ ดูดู๋! เหม่! ชๆ! ชิ๋ะๆ! เป็นต้

ค. แสดงอาการประหลาดใจหรือตกใจ ได้แก่คำ เอ๊ะ! เอ! โอ!
คุณพระ! แหม! เออแน่ะ! แม่เจ้าโว้ย! เป็นต้น

ฆ. แสดงอาการสงสาร หรือปลอบโยน ได้แก่คำ พุทโธ่! พุทโธ่เอ๋ย! อนิจจา! เจ้าเอ๋ย! น้องเอ๋ย! เป็นต้น

ง. แสดงอาการเข้าใจหรือรับรู้ ได้แก่คำ อ้อ! หื้อ! เออ! เออน่ะ! เป็นต้น

จ. แสดงอาการเจ็บปวด ได้แก่คำ อุ๊ย! อุ๊ยหน่า! โอย! โอ๊ย! เป็นต้น

ฉ. แสดงอาการสงสัยหรือไต่ถาม ได้แก่คำ หือ! แห! หา! หนอ! เป็นต้น

ช. แสดงอาการห้ามหรือทักท้วง ได้แก่คำ ไฮ้! หื้อหือ! ฮ้า! เป็นต้น

ที่แสดงอาการอื่นๆ นอกจากนี้ก็ยังมีอีก คำเหล่านี้บางทีก็อยู่หน้าคำพูด บางทีก็อยู่หลังคำพูด เช่นตัวอย่าง ‘เฮ้ย! ไปไหน, ข้าไม่รู้ด้วย เน้อ!’ ดังนี้เป็นต้น และต้องใช้เครื่องหมายอัศเจรีย์ (!) กำกับข้างท้ายด้วย เพื่อให้ผู้อ่านทำเสียงให้เหมือนกับที่เป็นจริง

(๒) ใช้สอดลงในระหว่างถ้อยคำ เพื่อให้ถ้อยคำนั้นสละสลวยยิ่งขึ้น ได้แก่คำ ‘อ้า โอ้ แฮ เฮย แล อา เฮย นอ’ เหล่านี้เป็นต้น คำพวกนี้มักจะใช้ในคำประพันธ์ต่างๆ เช่นตัวอย่างที่ใช้ในสร้อยโคลงว่า ‘เถิด นา จริงแฮ พ่อ เฮย’ ดังนี้เป็นต้น ที่จริงคำพวกนี้เดิมก็เป็นอย่างเดียวกับคำในข้อ (๑)  แต่เอามาใช้เปลี่ยนแปลงวรรณยุกต์เสีย เช่น หนา เป็น นา, ฮ้า เป็น ฮา, แฮ้ เป็น แฮ เป็นต้น เพื่อให้เสียงวรรณยุกต์เข้าระเบียบของคำประพันธ์๑  และอุทานพวกนี้ไม่ต้องมีเครื่องหมายอัศเจรีย์ เพราะไม่ต้องทำให้เหมือนเสียงพูดจริงๆ

อุทานเสริมบท๒ คำอุทานที่ผู้พูดกล่าวเพิ่มเติมถ้อยคำเสริมขึ้น เรียกว่า ‘อุทานเสริมบท’ อุทานพวกนี้มักจะนิยมใช้แต่ในภาษาไทย เพราะ ภาษาไทยมีน้อยพยางค์พูดหมดเสียงเร็ว จึงมีวิธีใช้ลากหางเสียงเลียนคำเดิมเยิ่นออกไปอีก เช่นตัวอย่าง ลูก เต้า, แขน แมน, เลข ผา, เป็นต้น ดังนี้คำ ‘เต้า แมน, ผา’ ย่อมไม่มีใจความเลย เรียกว่า คำอุทานเสริมบท บางทีก็เป็นคำธรรมดาเรานี่เอง แต่ผู้พูดไม่ประสงค์เนื้อความของคำนั้นเลย เช่นกล่าวว่า ‘ไม่ลืมตา ลืมหู บ้างเลย, ไม่มีเรือ แพ จะไปเที่ยว’ ดังนี้คำ ‘ลืมหู’ หรือ ‘แพ’ ในที่นี้ต้องเป็นอุทานเสริมบท เพราะผู้พูดไม่ต้องการความหมายของคำเสริมนั้นเลย แต่ต้องการให้คำหน้านั้นแน่นอนยิ่งขึ้น ซึ่งแต่เดิมก็เอาคำที่มีความหมายคล้ายคลึงกันมาเสริม เช่น’ ‘เสื่อ สาด, เรือ แพ, ม้า ลา ฯลฯ’ ครั้นต่อมา คำเสริมเหล่านี้ก็เลอะเลือนไป โดยไม่มีใครเอาใจใส่ จึงไม่ใคร่รู้ความหมาย เช่น ลูก เต้า, แขน แมน ฯลฯ ครั้นต่อมาก็ใส่คำเสริมเอาเองพอให้คล้องจองเท่านั้น, ‘ชามแซม, ผู้หญิงยิงเรือ’ เป็นต้น

ข้อสังเกต คำอุทานเสริมบทนี้ ให้สังเกตว่า ผู้พูดกล่าวโดยไม่ต้องการ เนื้อความเลย เป็นแต่กล่าวให้คล้องจองเท่านั้น แต่ถ้าคำที่กล่าวต่อออกไปนั้น มีเนื้อความเข้ารูปเป็นเรื่องเดียวกันได้ ก็ไม่นับว่าเป็นอุทานเสริมบท ดังกล่าวว่า ‘ไม่ดูไม่แล’ หรือ ‘เขาเป็นลูกเป็นหลาน’ ดังนี้ เนื้อความเข้ากันได้ ต้องนับว่าเป็นคำชนิดอื่น ทั้งนี้ต้องเอาความเป็นใหญ่ตามที่เรียนมาแล้ว และอุทานพวกนี้ไม่ต้องใช้เครื่องหมายอัศเจรีย์ เพราะไม่ต้องดัดเสียงอย่างอุทานข้อต้น
………………………………………………………………………………………….
๑. การใช้เสียงวรรณยุกต์เข้าระเบียบคำประพันธ์นี้ หนังสือโบราณใช้มาก เช่น อย่า เป็น ยา, ทั้ง เป็น ทัง, เพี้ยง เป็น เพียง เป็นต้น

๒. อุทานเสริมบทนี้ เดิมคงติดมาจากภาษาจีนซึ่งมีเป็นพื้น เขาเรียกว่า ‘คำซ้อน หรือ คำร่วม’ เพื่อให้ความหมายแน่นอน เพราะภาษาของเขามีคำพ้องมากอย่างของเรา เช่น หยูกยา, เยียวยา, เชื้อเชิญ, เชื้อสาย ฯลฯ ถ้าจะใช้คำเดียวว่า‘ ยา ’หรือ ‘ เชื้อ ’คงเลอะ
………………………………………………………………………………………….

ที่มา:พระยาอุปกิตศิลปสาร