คำสันธาน

Socail Like & Share

คำว่า สันธาน แปลว่าการต่อหรือเครื่องต่อ หมายความถึงคำพวกหนึ่ง ซึ่งใช้ต่อเชื่อมถ้อยคำให้ติดต่อเป็นเรื่องเดียวกัน ซึ่งทำหน้าที่เป็นบท เชื่อมมี ๓ อย่างด้วยกัน คือ:-

(๑) ใช้เชื่อมคำให้ติดต่อกัน เช่น คำ “กับ และ” ในความต่อไปนี้

ก. อ่าน กับ เขียน ข. ลูก และ หลาน และเหลน เป็นต้น (ถ้าเชื่อมคำมาก กว่า ๒ คำขึ้นไป มักละสันธานข้างหน้าที่ซ้ำกันออกเสีย เช่น ข้อ ข. คงกล่าวแต่ว่า ‘ลูกหลาน และ เหลน’)

(๒) ใช้เชื่อมประโยคให้ติดต่อกัน คือ:
เชื่อมประโยคที่มีใจความเท่ากันดังคำ ‘และ’ ในความต่อไปนี้ ‘ผัวเดิน ข้างหน้า และ เมียเดินข้างหลัง ฯลฯ

(๓) เชื่อมให้ความติดต่อกันมี ๒ อย่าง คือ:-
ก. เชื่อมความตอนต้นกับตอนต่อไปให้ติดต่อกัน เช่นกล่าวเนื้อความ ตอนต้นจบแล้ว ก็ใส่สันธานบางคำ เช่น ‘เพราะฉะนั้น เหตุฉะนี้ แต่แท้จริง’ เป็นต้น คั่นลงแล้วก็กล่าวเนื้อความต่อไป ให้ติดต่อกับความตอนต้นอย่างหนึ่ง

ข. กับให้เชื่อมความในประโยคเดียวกัน หรือเรื่องเดียวกันให้ได้ความติดต่อกัน สละสลวยขึ้น เช่น ตัวอย่าง ‘เขา ก็ เป็นคนดีเหมือนกัน คนเราก็ต้องมีผิดพลาดบ้างเป็นธรรมดา’ ดังนี้เป็นต้นอีกอย่างหนึ่ง

คำสันธานทั้งหลายไม่จำเป็นจะต้องอยู่ระหว่างประโยค หรือระหว่างความเสมอไป จะสอดลงไว้ในที่แห่งใดก็ได้ และจะใช้กี่คำก็ได้แล้วแต่เหมาะ คำสันธานบางคำไม่อยู่ในที่แห่งเดียว มีคำอื่นคั่นอยู่ เช่นคำ ‘ทั้ง…และ ถึง…ก็’ ฯลฯ ในความต่ไปนี้ ‘ ทั้ง ลูก และหลาน ถึง ฝนตก ก็ ต้องไป’ ดังนี้เป็นต้น

เชื่อมความคล้อยตามกัน มีอยู่ ๒ อย่างคือ:-
๑. เชื่อมความที่มีเวลาต่อเนื่องกัน ได้แก่ คำว่า ‘ก็…จึง ครั้น…จึง ครั้น…ก็ เมื่อ…ก็ พอ…ก็ เป็นต้น ตัวอย่าง เขาทำอะไรก็มักสรรเสริญเขา เขาอาบน้ำแล้ว จึง กินข้าว ครั้น ถึง จึง อาบน้ำ พอ ฝนตกฉัน ก็ นอน เป็นต้น

๒. เชื่อมความให้รวมกัน ได้แก่คำว่า ‘กับ และ ก็ได้ ก็ดี ทั้ง ทั้ง…ก็ ทั้ง…และ ทั้ง…กับ’ เป็นต้น ตัวอย่าง ‘ยายกินข้าว กับ กินขนม ยานี้ใช้กิน ก็ได้ ทา ก็ได้ เขาจะตี ก็ดี ด่า ก็ดี ฉันไม่โกรธเขา วันนี้ ทั้ง ฝน ก็ ตก ทั้งแดด ก็ ออก’ เป็นต้น

เชื่อมความที่แย้งกัน ได้แก่คำว่า แต่ แต่ว่า แต่ทว่า ถึง..ก็ กว่า…ก็’ เป็นต้น ตัวอย่าง เช่น ‘น้ำขึ้น แต่ ลมลง เขานอน แต่ว่า เขาไม่หลับ ปากเขาร้าย แต่ทว่า ใจเขาดี ถึง เขาสู้ไม่ได้เขา ก็ ไม่กลัว กว่า ถั่วจะสุกก็ งาไหม้’ ดังนี้เป็นต้น

เชื่อมความต่างตอนกัน  สันธานพวกนี้มักจะใช้เชื่อมข้อความที่กล่าวถึงตอนหนึ่งจบแล้ว กับข้อความที่จะกล่าวอีกตอนหนึ่งให้ติดต่อกัน ได้แก่คำว่า ‘ฝ่าย ส่วน ฝ่ายว่า ส่วนว่า อนึ่ง อีกประการหนึ่ง’ เป็นต้น ตัวอย่างเช่น ‘นาย ก นาย ข สองคนพี่น้อง นาย ก ช่วยบิดาทำงานที่บ้าน ฝ่าย นาย ข นั้นบิดาส่งไปเรียนหนังสือ’ ดังนี้เป็นต้น

เชื่อมความที่เป็นเหตุผลแก่กัน คือ :-
เชื่อมความที่เป็นผลของความเบื้องต้น ได้แก่คำว่า ‘จึง ฉะนั้น ฉะนี้ ฉะนั้น…จึง เพราะฉะนั้น เหตุฉะนี้ เป็นต้น ตัวอย่าง เช่น ‘นาเน่ายุง จึง ชุม เขาไม่อยากเกี่ยวข้องกบใคร ฉะนั้น เขา จึง ไม่เคยคบเพื่อน ดังนี้เป็นต้น

เชื่อมความที่เลือกเอา ได้แก่คำว่า ‘หรือ มิฉะนั้น ไม่เช่นนั้น หรือมิฉะนั้น ไม่…ก็’ เป็นต้น มีที่ใช้เป็น ๒ อย่าง คือ:

(๑) ใช้ในความถาม เช่น ตัวอย่าง ‘ท่านจะอยู่หรือจะไป? ท่านชอบ หรือไม่ชอบ?’ เป็นต้น บางทีก็ย่อความข้างท้ายที่ตรงกันข้ามไว้ในที่เข้าใจ เช่น กล่าวว่า ‘ท่านชอบขาว หรือ ดำ (หรือ ท่านชอบคนดำ) ท่านจะยอม หรือ ไม่ (หรือท่านไม่ยอม) ท่านจะไป หรือ (หรือท่านจะไม่ไป)’ ดังนี้เป็นต้น คำ ‘หรือ”ไม่’ พูดเร็วเข้ากลายเป็น ‘ไหม’ เช่น ‘กินไหม?’‘นอนไหม?’ ดังนี้ คำ ‘ไหม’ เลยแยกออกไม่ได้ ต้องเป็นปฤจฉาวิเศษณ์

(๒) ใช้ในที่ไม่ใช่คำถาม เช่นตัวอย่าง ‘นาย ก หรือ นาย ข ต้องมาหาฉัน ท่านต้องทำงาน มิฉะนั้น ต้องลาออก อย่านั่งเปล่า อ่านหนังสือไป ไม่ ก็ นอนเสีย’ ดังนี้เป็นต้น

เชื่อมความที่แบ่งรับรอง ได้แก่คำสันธานที่ใช้เชื่อมความซึ่ง บอกคาดคะเน หรือบอกแบ่งรับแบ่งสู้ ได้แก่คำว่า ‘ถ้าและ ถ้า…ก็’ เป็นต้น ตัวอย่าง ‘ถ้า และ ฝนไม่ตก ฉันจะไป ถ้า ฝน ไม่ตกฉัน ก็ จะไป’ ดังนี้เป็นต้น

ชนิดที่เชื่อมเพื่อให้ความสละสลวย ได้แก่คำสันธานใช้เชื่อมความ เพื่อช่วยเนื้อความให้บริบูรณ์เรียบร้อยตามโวหารที่ใช้พูดกัน, คำพวกนี้บาง ทีก็ใส่ไว้ในต้นข้อความ เช่นตัวอย่างำ ‘ทำไม กับ’ และคำ ‘อันว่า ’ ในความต่อไปนี้ ‘ทำไมกับ หูแหว่งจมูกวิ่น ถึงจะด้วนไปสิ้นก็ของข้า ’ และ อันว่า อรรถคดีอันโบราณกษัตราธิราชได้ทรงบัญญัติไว้’ เป็นต้น บางทีก็สอดลงในที่ต่างๆ เช่นคำ ‘ก็’ ในความต่อไปนี้ ‘เรา ก็ เป็นมนุษย์คนหนึ่งนี่นา เรา ก็ ไม่เลวทีเดียวนัก ดังนี้เป็นต้น บางทีก็เป็นคำประสม เช่น ‘อย่างไรก็ดี’ ‘อย่างไรก็ตาม’ เป็นต้น สอดลงในที่ต่างๆ แล้วแต่ความจะเหมาะ สันธานพวกนี้มีที่ใช้มาก ให้พึงสังเกตว่า นอกจากคำสันธานที่มีลักษณะดังกล่าวแล้วข้างบน ต้องนับเข้าในสันธานพวกนี้ทั้งสิ้น

ข้อสังเกต คำสันธาน บางทีก็มีลักษณะคล้ายกับคำชนิดอื่นๆ ข้อสำคัญ ให้สังเกตว่า คำใดถ้านำมาใช้เชื่อมถ้อยคำตามลักษณะที่อธิบายมาแล้ว ต้องนับว่าเป็นสันธานทั้งสิ้น มีชื่อต่างกันตามวิธีที่กล่าวข้างบนนี้

ที่มา:พระยาอุปกิตศิลปสาร